Flowers For Algernon ดอกไม้แด่อัลเกอร์นอน




ดอกไม้แด่อัลเกอร์นอน Flowers For Algernon (1966)
โดย Daniel Keyes
สนพ.เออาร์ (aR) แปลโดย กานต์สิริ โรจนสุวรรณ

"ฉันมีลูกชายอยู่คนหนึ่ง แกฉลาดเหลือเกิน จนบรรดาแม่ๆพากันอิจฉา เลยเสกของเข้าไปในตัวแก พวกนั้นเรียกมันว่า ไอคิว แต่ที่จริงมันเป็นไอคิวปืศาจต่างหาก..."

เมื่อมีการวิจัยทดลองผ่าตัดสมองที่ทำให้ "อัลเกอร์นอน" หนูทดลองกลายเป็นหนูอัจฉริยะได้สำเร็จ 

ทั้งศาสตราจารย์เนเมอร์ผู้คิดค้นทฤษฏีและดอกเตอร์สเตราส์ ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดสมอง จึงมุ่งมั่นที่จะทดลองวิทยาการนี้กับมนุษย์และคนๆนั้นก็คือ...

ชาร์ลี กอร์ดอน หนุ่มวัย 32 ปี ระดับไอคิว 68 สติปัญญาของเขาจัดอยู่ขั้นคนปัญญาอ่อน แม้จะถือว่าเป็นคนปัญญาอ่อนในระดับสูง ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างก็ตาม แต่เขาเป็นเพียงคนนอกสังคมครอบครัวทอดทิ้ง ไม่มีตัวตน ไม่อยู่ในสายตาใคร ไม่มีเครื่องมือทางจิตที่จะช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีอดีต ไม่มีการเชื่อมโยงกับปัจจุบัน แล้วก็ไม่มีความหวังสำหรับอนาคต 

พวกเขาหวังว่าผลลัพธ์ของการทดลองจะนำมาซึ่งชื่อเสียง ขณะที่ชาร์ลีหวังปีนป่ายไปสัมผัสกับความปกติของความเป็นมนุษย์ 
เปิดประตูแห่งความรักที่เขาสามารถตอบสนองได้ ไม่ใช่เพียงพึ่งพาคนรอบข้างอยู่ร่ำไป รวมถึงแย้มบานหน้าต่างแห่งความหวังให้กับ
คนที่เป็นเหมือนเขา

แต่การทดลองนี้จะนำเขาและอัลเกอร์นอนไปสู่หนทางใด ความอัจฉริยะที่มนุษย์ทุกผู้คนใฝ่ฝันหา จะเป็นคำตอบและนำพาความสุขแก่ทั้งคู่จริงหรือ

"เมื่อก่อนพวกเขาต่างก็หัวเราะเยาะผม เหยียดหยามผม เพราะผมมันไม่รู้เรื่องรู้ราวและโฉดเขลา แต่ตอนนี้พวกเขาเกลียดชังผม เพราะผมมีความรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ล่ะ ให้ตายเถอะ! พวกเขาต้องการอะไรจากผมกันแน่" 

......................................................................................

นิยายที่ชนะรางวัล Nebula Award ในปี ค.ศ.1966 และต่อเติมขยายความจากเรื่องสั้นในชื่อเดียวกัน ซึ่งก็ชนะรางวัล Hugo Award ในปี ค.ศ.1960 เช่นกัน 

Keyes ผู้เขียนใช้การเล่าเรื่องผ่านบันทึกของตัวละครอย่าง ชาร์ลี กอร์ดอน การเล่าเรื่องแบบนี้ เราอาจจะคุ้นเคยจากหนังสือชื่อดังอย่าง "บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์" ซึ่งเป็นเรื่องจริง ส่วนเรื่องนี้เป็นนิยายที่แต่งขึ้น แต่ก็มีจุดร่วมที่เหมือนกันตรงที่ แอนน์ แฟร้งค์ ถูกกักขังไว้ในห้องด้วยสภาวะจำยอมของสงครามที่มนุษย์ก่อขึ้น ส่วนชาร์ลี ถูกกักขังไว้ในร่างกายที่ด้อยปัญญาซึ่งไม่มีใครปรารถนาด้วยสภาวะจำยอมของธรรมชาติที่เขาก่อกำเนิดมา

Keyes มีกลเม็ดในการเล่าเรื่องที่ลื่นไหล ชวนให้เห็นชะตากรรมที่น่าสงสารของชาร์ลี มีการใช้ภาษาแบบจงใจให้เราเห็นภาพถึง
ความบกพร่องในสติปัญญาด้วยการสะกดคำผิดในการเขียนบันทึกของเขาในช่วงต้นๆของเรื่อง ก่อนที่จะคลี่คลายตามสติปัญญาที่สูงขึ้น แต่ช่วงที่เขาอัจฉริยะนี่แหละที่เราจะเห็นภาพทางอารมณ์ของชาร์ลีมากขึ้น ฉายผ่านเรื่องราวในอดีตที่ผุดขึ้นมาจากจิตใต้สำนึกที่ถูกกักเก็บไว้  ทั้งการเผชิญกับอีกตัวตนเดิมของตนเอง ทั้งเรื่องความรัก ทั้งเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในอดีต ที่สำคัญนั่นคือฉากที่เขาเจอกับพ่อและแม่ รวมถึงน้องสาวชวนให้สะเทือนใจยิ่งนัก 

และเราจะไม่แปลกใจเลยว่าทำไม Keyes ถึงเขียนเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาได้ดี รวมถึงมีการบรรยายในบางฉากบางช่วงที่ใช้ภาษาได้เห็นภาพแบบสวยงามดีทีเดียว เช่น ฉากเลิฟซีนตอนท้ายๆที่บรรยายเปรียบเปรยไปถึงการหลอมจิตวิญญาณแลกเปลี่ยนอนุภาคกันเลย หรือฉากที่พ่อแม่ทะเลาะกันแล้ว ชาร์ลีได้ยินเสียงทะเลาะเดินทางทอดผ่านแสงที่เล็ดรอดเข้ามาทางประตูที่แง้มไว้ เพราะ  Keyes จบจิตวิทยาและวรรณคดีมาโดยเฉพาะนั่นเอง

กลับมาที่ตัวชาร์ลีเอง ถ้ามองเขาเป็นผลิตผลชิ้นหนึ่ง คงเป็นผลผลิตที่มีตำหนิในกระบวนการสร้าง คงต้องถูกทำลายทิ้งลงถังขยะไป แต่ในแง่ความเป็นมนุษย์ เขาก็เป็นเหมือนมนุษย์ทุกๆคนที่โหยหาความรัก ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสายใยครอบครัว ไม่ต้องการถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว (เช่นเดียวกับ Pollyanna ที่ผมเพิ่งอ่านจบไปไม่นาน ขอแค่มีใครสักคนที่เป็นสายใยให้ผูกพัน) ถ้าเรามองแบบผิวเผินเขาคงไม่มีประโยชน์ แต่เขาก็มีชีวิต มีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งทดลอง ทำให้คนรอบข้างหัวเราะหรือมีความสุขได้ (ถึงแม้จะมาจากการถูกแกล้งอันน่าสงสารที่ตอนนั้นเขาก็ยิ้มหัวเราะไปกับมันด้วย เพราะไม่รู้เรื่องรู้ราว) มีรอยยิัมที่อบอุ่นในช่วงที่เขายังเบาปัญญาได้ หรือแม้เพียงเสี้ยวเดียวของช่วงหนึ่งแห่งอัจฉริยภาพ ก็พยายามอุทิศตนทำสิ่งที่ก่อเกิดประโยชน์แก่มวลมนุษย์ให้ดีที่สุด 

ถ้ามนุษย์ทุกผู้คนเหมือนชาร์ลี ไม่ว่าจะด้อยสติเบาปัญญาหรืออัจฉริยะ เพียงแค่ทำให้ผู้คนรอบข้าง มีเสียงหัวเราะ มีรอยยิ้ม ก่อกำเนิดความสุข มีความปรารถนาที่อยากจะฉลาดขึ้น เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และพยายามเข้าใจตนเองและผู้อืน นั่นก็น่าจะถือได้ว่าเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตมีคุณค่าแก่การชื่นชมแล้ว 

อนึ่ง โรคดาวน์ ซินโดรม เพิ่งจะค้นพบว่า ไม่ได้เป็นการป่วยและบกพร่องทางจิตในศตวรรษที่ 20 นี่เอง ก่อนหน้านั้นเด็กที่เกิดมามักจะถูกฆ่าและทอดทิ้ง ภายหลังในปี ค.ศ.1959 คณะวิจัยและแพทย์ชาวฝรั่งเศสหาสาเหตุเจอว่ามันเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม เรื่องสั้นและนิยายของ Keyes ก็อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวนี้ล่ะ แต่ Keyes บอกว่า เขาได้แรงบันดาลใจในการเขียนมาจากความขัดแย้งกับพ่อที่อยากให้เขาเรียนเตรียมแพทย์ แต่เขาอยากเป็นนักเขียน ไม่งั้นเราอาจจะไม่ไดัอ่านเรื่องราวของชาร์ลี กอร์ดอน ก็เป็นได้และเขายังยืนหยัดความคิดไม่ให้ใครเปลี่ยนตอนจบของเรื่องทั้งในแบบเรื่องสั้นและนิยายอีกด้วย

"ผมเรียนรู้มาว่าความฉลาดอย่างเดียวไม่มีความหมายอะไรแม่งเลยสักอย่าง ที่นี่ ในมหาวิทยาลัยของคุณนี่ ความฉลาด การศึกษาและความรู้ต่างก็เป็นสิ่งที่ใครๆก็คลั่งไคล้ แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่ามีอยู่อย่างหนึ่งที่พวกคุณพากันมองข้าม... ก็ความฉลาดและการศึกษาที่ไม่ได้รับการกล่อมเกลาจากความรักใคร่ของมนุษย์น่ะ มันไม่มีค่าเลยแม้แต่น้อย"

ปล.อ่านเล่มนี้จบแล้วอยากอ่านหนังสือแปลผลงาน ของ Daniel Keyes อีกเล่มนึง คือ บิลลี่ มิลลิแกน ชาย 24 บุคลิก (The Minds of Billy Milligan) เลยเพราะเขาเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับจิตวิทยาได้ดี อ่านง่ายเลยครับ

คะแนน 8.7/10



Create Date : 22 มกราคม 2561
Last Update : 22 มกราคม 2561 20:58:44 น.
Counter : 2742 Pageviews.

2 comments
  
เหมือนเคยอ่านสมัยที่เป็น "ดอกไม้สำหรับอัลเจอนอน" น่ะค่ะ เล็งบิลลี่ มัลลิแกนอยู่เหมือนกัน ^^
โดย: Froggie วันที่: 23 มกราคม 2561 เวลา:7:35:01 น.
  
น่าจะเป็นฉบับรวมเรื่องสั้นแน่ๆเลยครับ เล่มนี้เป็นนิยายเรื่องยาวแล้วครับ
โดย: leehua (สมาชิกหมายเลข 755059 ) วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:17:55:01 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 755059
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]



New Comments
มกราคม 2561

 
1
2
3
4
5
6
7
8
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog