14.4 พระสูตรหลักถัดไป คือกกจูปมสูตรและอลคัททูปมสูตร.
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
14.3 พระสูตรหลักถัดไป คือกกจูปมสูตรและอลคัททูปมสูตร.

ความคิดเห็นที่ 4-31
GravityOfLove, 7 มีนาคม เวลา 22:11 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             ๓. โอปัมมวรรค          
             ๒. อลคัททูปมสูตร ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยอสรพิษ
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=4443&Z=4845&bgc=aliceblue&pagebreak=0

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
             พระอริฏฐภิกษุมีความเห็นผิดว่า ตนรู้ืทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว
ธรรมที่พระองค์ตรัสว่า เป็นอันตรายแก่ผู้ซ่องเสพ แท้จริงแล้วไม่เป็นอันตราย

             [อรรถกถา]
             ธรรมเป็นอันตราย (อันตรายิกธรรม) หมายถึงธรรมเป็นอันตรายต่อสวรรค์และ
นิพพาน ๕ อย่าง คือ
             (๑) กรรม (กัมมนตรายิกธรรม) ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕
             (๒) กิเลส ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ (นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าผลกรรมไม่มี,
อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ, อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ)
             (๓) วิบาก ได้แก่ การเกิดเป็นบัณเฑาะก์ สัตว์ดิรัจฉาน และสัตว์ ๒ เพศ
(อุภโตพยัญชนก)
             (๔) อริยุปวาท (อุปวาทันตรายิกธรรม) ได้แก่ การว่าร้ายพระอริยเจ้า
             (๕) อาณาวีติกกมะ (อาณาวีติกกมันตรายิกธรรม) ได้แก่ อาบัติ ๗ กองที่
ภิกษุจงใจล่วงละเมิด
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=662#ว่าด้วยธรรมกระทำอันตรายแก่ผู้เสพ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อนันตริยกรรม_5
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อาบัติ_๗&detail=on

             ภิกษุจำนวนหลายรูปเมื่อได้ยินดังนั้น ก็ต้องการจะแก้ไขความเห็นผิดนี้
จึงเข้าไปหา ซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวน แล้วกล่าวว่า
             ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่
พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระองค์ไม่ตรัสอย่างนี้ พระองค์ตรัสแล้วว่า
             ธรรมที่ทำอันตรายโดยประการต่างๆ (เอนกปริยาย) ธรรมเหล่านั้นสามารถทำ
อันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง
             กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกาม
เหล่านั้นมีอยู่มาก
             อุปมาด้วยร่างกระดูก ด้วยชิ้นเนื้อ ด้วยคบหญ้า ด้วยหลุมถ่านเพลิง
ด้วยความฝัน ด้วยของขอยืม ด้วยผลไม้ ด้วยเขียงหั่นเนื้อ ด้วยหอกและหลาว
ด้วยศีรษะงูพิษ
             แม้อริฏฐภิกษุจะถูกกล่าวตักเตือนอยู่อย่างนี้ก็ไม่ละทิฏฐิตน
             ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลเล่่าให้ฟัง พระองค์จึงตรัส
ให้ไปเรียกอริฏฐภิกษุมา
             ตรัสถามว่า เธอมีทิฏฐิเช่นนั้นจริงหรือ
             ทูลตอบว่า จริง
             พระองค์ตรัสว่า บุรุษเปล่า เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ต่อมาจากใครหรือ
เรากล่าวธรรมที่ก่ออันตรายว่า เป็นธรรมก่ออันตรายโดยประการต่างๆ มิใช่หรือ
             ธรรมเหล่านั้นสามารถทำอันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย
มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามเหล่านั้นมีอยู่มาก
             เธอกล่าวตู่เรา ทำลายตนเอง (ขุดตนเอง) และประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก
กรรมนั้นจะไม่เป็นประโยชน์แก่เธอ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน (มีวิบากเป็นทุกข์)
จะกระทำญาณให้สูงขึ้นในพระธรรมวินัยนี้ไม่ได้เลย (หมดโอกาสบรรลุธรรม)
             อริฏฐภิกษุเมื่อได้ฟังดังนี้แล้ว ก็นิ่ง เก้อเขิน นั่งคอตก ก้มหน้า ซบเซา
หมดปฏิภาณ
             ตรัสกับอริฏฐภิกษุว่า บุรุษเปล่า เธอจะปรากฏ (ในนรก เป็นต้น) ด้วยทิฏฐิ
อันชั่วของตนนั่นเอง เราจะสอบถามภิกษุทั้งหลายในที่นี้
             ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า พวกเธอรู้ทั่วถึงธรรมดังเช่นที่อริฏฐภิกษุเข้าใจหรือ
             ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น
             ตรัสว่า ดีแล้ว ที่พวกเธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วว่า ธรรมที่ทำอันตราย
โดยประการต่างๆ ธรรมเหล่านั้นสามารถทำอันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง กามทั้งหลาย
มีความยินดีน้อย ... อุปมาด้วย ...
             เป็นไปไม่ได้เลยที่เธอจักเสพกามทั้งหลายนอกจากกาม นอกจากกามสัญญา
นอกจากกามวิตก (เป็นไปไม่ได้ที่จะเสพกามโดยไม่มีความกำหนัด ความสำคัญว่าน่าใคร่)

บุรุษเปล่าเรียนธรรม (อลคัททูปริยัตติ)
             บุรุษเปล่าบางพวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
             บุรุษเปล่าย่อมไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา
ธรรมเหล่านั้นจึงไม่ประจักษ์ชัดแก่พวกเขา มักข่มผู้อื่น เรียนเพื่อไม่ให้ถูกนินทา
             ธรรมที่เรียนมานั้นจึงไม่เป็นประโยชน์ เพราะเรียนธรรมไม่ถูกต้อง
             เปรียบเหมือนคนต้องการจับงูพิษ แต่จับไม่ถูกวิธี คือจับที่ขนดหรือ
หาง จึงถูกงูพิษฉกถึงตายหรือปางตาย
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=คำสอนของพระศาสดามีองค์_9&detail=on

กุลบุตรเรียนธรรม (นิตถรณปริยัติ)
             กุลบุตรบางพวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม (เพื่อมุ่งออกจากวัฏฏะ)
คือ สุตตะ ฯลฯ
             ย่อมไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นจึง
ประจักษ์ชัดแก่พวกเขา ไม่ข่มผู้อื่น ไม่ได้เรียนเพื่อไม่ให้ถูกนินทา
             ธรรมที่เรียนมานั้นจึงเป็นประโยชน์ เพราะเรียนธรรมอย่างถูกต้อง
             เปรียบเหมือนคนต้องการจับงูพิษ โดยใช้ไม้กดที่หัวก่อนแล้วค่อยจับที่คอ
ให้แน่น แม้งูจะใช้หางรัดที่แขนก็ไม่เป็นอันตรายเพราะไม่โดนงูฉก

             [อรรถกถา]
             ปริยัติมี ๓ นัย คือ
             (๑) อลคัททูปริยัตติ การเล่าเรียนเปรียบด้วยงูพิษ
ได้แก่การเล่าเรียนมุ่งลาภสักการะด้วยคิดว่า เราเล่าเรียนแล้วจะได้จีวร หรือคนอื่น
จะรู้จักเราในท่ามกลางบริษัท ๔ - ปริยัติของปุถุชน
             (๒) นิตถรณปริยัตติ การเล่าเรียนมุ่งประโยชน์คือการออกจากวัฏฏะ
ได้แก่ การเล่าเรียนด้วยตั้งใจว่า เราเล่าเรียนพุทธพจน์แล้วจะบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์
ให้ได้สมาธิ เริ่มเจริญวิปัสสนาแล้ว จะอบรมมรรค จะทำผลให้แจ้ง - ปริยัติของปุถุชน,
ปริยัติของพระเสขะทั้ง ๗
             (๓) ภัณฑาคาริกปริยัตติ การเล่าเรียนประดุจขุนคลัง ได้แก่
การเล่าเรียนของพระขีณาสพ เพราะท่านกำหนดรู้ขันธ์แล้วละกิเลสได้แล้ว อบรมมรรค
ทำให้แจ้งผลแล้ว เมื่อเล่าเรียนพุทธพจน์ เป็นผู้ทรงแบบแผน รักษาประเพณี
ตามรักษาอริยวงศ์ - ปริยัติของพระขีณาสพ

             ขอให้ทรงจำเนื้อความภาษิตของพระองค์ หากไม่ทราบก็สอบถามพระองค์
หรือถามภิกษุที่ฉลาดก็ได้

ธรรมเปรียบเหมือนแพ
             แล้วทรงแสดงธรรมอุปมาด้วยแพ แสดงถึงการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อยึดถือ ดังนี้
             เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการข้ามฝั่ง ฝั่งข้างนี้มีภัย ต้องการข้ามไปฝั่งโน้นซึ่ง
ไม่มีภัย แต่เรือหรือสะพานสำหรับข้ามแม่น้ำ (โอฆะ ๔) ไม่มี
             เขาจึงทำแพขึ้นเอง และพยายามด้วยมือและเท้าจนข้ามมาถึงอีกฝั่งหนึ่งได้
             เมื่อมาถึงฝั่งแล้ว เขาก็ควรวางแพนั้นไว้บนบกหรือลอยไว้ในน้ำอย่างนั้น แม้จะ
คิดว่า แพนี้มีอุปการะมาก ก็ไม่ควรแบกไปด้วย เพราะหมดหน้าที่แพแล้ว ฉันใด
             ธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็ฉันนั้น ทรงแสดงเพื่อให้สลัดออก ไม่ใช่ให้ยึดถือ
พึงละแม้ซึ่งธรรม (ละฉันทราคะในสมถะและวิปัสสนา) ทั้งหลาย จะป่วยกล่าวไปไยถึง
อธรรม
//www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=โอฆะ_4
//www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ภาวนา_2

เหตุแห่งทิฏฐิ ๖  ประการ คือ
             ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่เห็น ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะหรือสัตบุรุษ
ไม่ได้รับแนะนำ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะหรือสัตบุรุษ
             ๑. ย่อมพิจารณาเห็นรูปว่า นั่นของเรา (ตัณหา) เราเป็นนั่น (มานะ) นั่นเป็นอัตตา
ของเรา (ทิฏฐิ)
             ๒. ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา
             ๓. ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาว่า นั่นของเรา เราเป็นนั้น  นั่นเป็นอัตตาของเรา
             ๔. ย่อมพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตา
ของเรา
             ๕. ย่อมพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว
อารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจ (วิญญาณขันธ์) ว่า
             นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั้นเป็นอัตตาของเรา
//www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ขันธ์_5#find1 #find1
//www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ปปัญจธรรม_3
             ๖. ย่อมพิจารณาเห็นเหตุแห่งทิฏฐิว่า นั้นโลก นั้นอัตตาในปรโลก เรานั่นจะเป็น
ผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวน
             จะตั้งอยู่เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตา
ของเรา
             ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็น ฉลาดในธรรมของพระอริยะหรือสัตบุรุษ ได้รับ
แนะนำดีแล้ว ฉลาดในธรรมของพระอริยะหรือสัตบุรุษ ย่อมพิจารณาเห็นตรงข้ามกับ ๖
ประการข้างบน
            พระอริยสาวกนั้นพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีความยึดถือ ย่อมไม่สะดุ้ง
ในสิ่งที่ไม่มีอยู่ (ไม่สะดุ้งด้วยภัยและตัณหา)

ความสะดุ้ง ๒ (ตรัสแสดงสุึญญตา ๔ เงื่อน)
             มีภิกษุรูปหนึ่งทูลถามว่า
             ๑. เมื่อไม่มีสิ่งภายนอก ความสะดุ้งพึงมีได้หรือ
             ตรัสว่า พึงมีได้
             บุคคลบางคนในโลกนี้มีความคิดอย่างนี้ว่า
             เราเคยมีสิ่งใด บัดนี้เราไม่มีสิ่งนั้น เราควรมีสิ่งใด เราก็ไม่ได้สิ่งนั้น
             บุคคลนั้นย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร คร่ำครวญตีอกถึงความลุ่มหลง

             ๒. เมื่อไม่มีสิ่งภายนอก ความไม่สะดุ้งจะพึงมีได้หรือ
             ตรัสว่า พึงมีได้
             บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า
             เราเคยมีสิ่งใด บัดนี้เราไม่มีสิ่งนั้น เราควรมีสิ่งใด เราก็ไม่ได้สิ่งนั้น
             บุคคลนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ...

             ๓. เมื่อไม่มีสิ่งภายใน ความสะดุ้งจะพึงมีได้หรือ
             ตรัสว่า พึงมีได้
             บุคคลบางคนในโลกนี้ เคยมีความคิดอย่างนี้ว่า
             นั้นโลก นั้นอัตตาในปรโลก เรานั้นตายแล้วจะเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มี
ความแปรผันเป็นธรรมดา จะตั้งอยู่เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้น
             เมื่อได้ยินตถาคตหรือสาวกของตถาคตแสดงธรรมเพื่อถอนทิฏฐิ
เหตุแห่งทิฏฐิ ความตั้งมั่นแห่งทิฏฐิ ความกลัดกลุ้มทิฏฐิ ความยึดมั่นและอนุสัยกิเลส
ทั้งหมด เพื่อระงับสังขารทั้งหมด เพื่อสลัดคืนอุปธิ (กาม กิเลส เบญจขันธ์ และ
อภิสังขาร) ทั้งหมด เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับ
และเพื่อนิพพาน
             จึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะขาดสูญแน่แท้ จะพินาศแน่แท้ จะไม่มีแน่แท้
             บุคคลนั้นย่อมเศร้าโศก ...
//www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อุปธิ

             ๔. เมื่อไม่มีสิ่งภายใน ความไม่สะดุ้งจะพึงมีได้หรือ
             ตรัสว่า พึงมีได้
             บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า
นั้นโลก นั้นอัตตาในปรโลก เรานั้นตายแล้วจะเป็นผู้เที่ยง ฯลฯ
             เมื่อได้ยินตถาคตหรือสาวกของตถาคตแสดงธรรม เพื่อถอนทิฏฐิ ฯลฯ
             เขาจึงไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจักขาดสูญ ฯลฯ
             บุคคลนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร คร่ำครวญตีอกถึงความลุ่มหลง
//www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สุญญตา

(มีต่อ)

ความคิดเห็นที่ 4-32
(ต่อ)           
ตรัสแสดงสุญญตา ๓ เงื่อน
             -  เธอทั้งหลายพึงกำหนดสังขาร (เครื่องบริขาร) ใดๆ ถ้าเครื่องบริขารเป็นของเที่ยง
ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา (ทิฏฐิปริคคหะ)
             เธอทั้งหลายเห็นเครื่องบริขารว่า เป็นของเที่ยง ฯลฯ หรือ?
             ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ไม่เห็นสังขารอะไรๆ ว่าเที่ยง ฯลฯ เลย
             ตรัสว่า ดีแล้ว เราก็ยังไม่พิจารณาเห็นว่าสังขารอะไรๆ เที่ยง ฯลฯ

             - เธอทั้งหลายพึงเข้าไปยึดถืออัตตวาทุปาทาน (สักกายทิฏฐิ ๒๐) ถ้ายึดถือแล้ว
จะไม่เกิดโสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย)
โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ)
             เธอทั้งหลายยึดถืออัตตวาทุปาทาน แล้วไม่เกิดโสกะ ฯลฯ หรือ?
             ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ไม่เห็นว่าการยึดถืออัตตวาทุปาทานจะไม่เกิดโสกะ ฯลฯ
             ตรัสว่า ดีแล้ว เราก็ยังไม่พิจารณาเห็นว่าการยึดถืออัตตวาทุปาทานจะไม่
เกิดโสกะ ฯลฯ
//www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อัตตวาทุปาทาน&detail=on
             สักกายทิฏฐิ ๒๐
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=0&Z=105#4top #4top
( //2g.pantip.com/cafe/religious/topic/Y12560599/Y12560599.html#78 #78 )

             - เธอทั้งหลายพึงอาศัยทิฏฐินิสสัย (ทิฏฐิ ๖๒ ประการ) ถ้าอาศัยแล้ว
จะไม่เกิดโสกะ ฯลฯ
             เธอทั้งหลายอาศัยทิฏฐินิสสัย แล้วไม่เกิดโสกะ ฯลฯ หรือ?
             ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ไม่เห็นว่าการอาศัยทิฏฐินิสสัยจะไม่เกิดโสกะ ฯลฯ
             ตรัสว่า ดีแล้ว เราก็ยังไม่พิจารณาเห็นว่าการอาศัยทิฏฐินิสสัยจะไม่เกิด
โสกะ ฯลฯ
            ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=5#ปุพฺพนฺตกปฺปิกา #ปุพฺพนฺตกปฺปิกา
             อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๔๔
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=6#อปรันตกัปปิกทิฏฐิ #อปรันตกัปปิกทิฏฐิ  
( //topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2011/12/Y11442477/Y11442477.html#291 #291)

พาลธรรม (ธรรมของคนโง่)(ตรัสแสดงสุญญตา ๒ เงื่อน)
             เมื่ออัตตามีอยู่ ย่อมจะยึดถือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาว่าของเรา
             เมื่อสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตามีอยู่ ย่อมยึดถืออัตตาว่าของเรา
             แต่เนื่องจากทั้งอัตตาและสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา ตามความเป็นจริงแล้ว
บุคคลถือเอาไม่ได้
             ดังนั้นทิฏฐิที่ว่า นั้นโลก นั้นอัตตาในปรโลก เรานั้นจักเป็นผู้เที่ยง
ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่ด้วยความเที่ยงอย่างนั้น
ย่อมเป็นพาลธรรมโดยสมบูรณ์
             รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณ (ขันธ์ ๕) ล้วนไม่เที่ยง
             สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
จึงไม่ควรเห็นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา
             เพราะเหตุนี้ ขันธ์ ๕ ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือ
ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้
             เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

สมัญญาผู้หมดกิเลส
             พระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น
             เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ ไม่มีอีก
             ตรัสว่าภิกษุนี้
             ๑. เป็นผู้ถอนลิ่มคืออวิชชาได้แล้ว
             ๒. เป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อม คือกัมมาภิสังขาร (สังขารคือชาติ) ได้แล้ว
ปัจจัยแห่งขันธ์ที่จะเกิดในภพใหม่ไม่มีแล้ว
             ๓. เป็นผู้ถอนเสาระเนียดคือตัณหาได้แล้ว
             ๔. เป็นผู้ไม่มีบานประตูคือสังโยชน์ ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้แล้ว
             ๕. เป็นผู้ประเสริฐ ลดธงคือมานะได้แล้ว ละอัสมิมานะ (การถือตัวว่านี่เรา)
ได้แล้ว
//www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=โอรัมภาคิยสังโยชน์&detail=on

การวางใจเป็นกลางในลาภสักการะ
             เทวดา พระอินทร์ พรหม ปชาบดี (มาร) ย่อมไม่พบจิตของพระขีณาสพ
(ผู้สิ้นอาสวะ) ไม่ใช่เฉพาะแต่พระขีณาสพที่ยังดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่
รวมถึงท่านที่ปรินิพานแล้วด้วย
             สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวตู่พระองค์ที่ตรัสอย่างนี้ ว่า
             พระสมณโคดมเป็นผู้ให้สัตว์พินาศ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ
ความไม่มีภพของสัตว์ผู้มีอยู่
             พระองค์ไม่ได้ทรงทำให้สัตว์พินาศ และไม่ได้ทรงบัญญัติการทำสัตว์ให้พินาศ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวตู่พระองค์ด้วยคำเท็จอันเลื่อนลอย ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง
             พระองค์ย่อมบัญญัติทุกข์ และความดับทุกข์ ไ่ม่ว่าในกาลก่อน (เมื่อตรัสรู้)
หรือในบัดนี้ (ในเวลาแสดงธรรม)
             ถ้ามีคนด่า บริภาษ โกรธ เบียดเบียนพระองค์ในการประกาศอริยสัจจ์ ๔
พระองค์ก็ไม่มีความอาฆาต ไม่มีความโทมนัส ไม่มีจิตยินร้าย
             ถ้ามีคนสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระองค์ในการประกาศอริยสัจจ์ ๔
พระองค์ก็ไม่มีความยินดี ไม่มีความโสมนัส ไม่มีใจเย่อหยิ่งในปัจจัยทั้งหลาย
//www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อริยสัจจ์_4

             แต่จะทรงดำริว่า สักการะ (ปัจจัย) เห็นปานนี้ บุคคลกระทำแก่เราเพราะ
ขันธปัญจก (ขันธ์ ๕) ที่เรากำหนดรู้แล้วในกาลก่อน
(ทรงกำหนดรู้มาก่อนแล้วว่า ขันธปัญจกเหล่านี้นั้น นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น
นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา)
             สิ่งใดไม่ใช่ของเรา จงละสิ่งนั้นเสีย จะเป็นประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน
             สิ่งที่ไม่ใช่ของเรา คือ ขันธ์ ๕
             ดังนั้น แ้ม้คนจะนำใบไม้ในพระวิหารเชตวันไปเผาทำลาย ก็ไม่พึงคิดว่าเขาเผาเรา
เพราะว่าใบไม้นั้นไม่ใช่อัตตา หรือบริขารที่เนื่องด้วยอัตตาของเรา

ผลแห่งการละกิเลส
             ในธรรมที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ชัดเจน ทำให้เข้าใจง่ายแล้วนั้น
             ๑. ภิกษุเหล่าใด เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว มีสัญโญชน์ (สังโยชน์)
ในภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ
             ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อจะบัญญัติต่อไป
             ๒. ภิกษุเหล่าใดละโอรัมภาคิยสัญโญชน์ทั้ง ๕ ประการ ได้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดเป็นโอปปาติกะ (พระอนาคามี) ปรินิพพานในภพนั้น
             ๓. ภิกษุเหล่าใดละสัญโญชน์ ๓ ประการได้แล้ว กับราคะ โทสะ
และโมหะบางเบา ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้
อีกคราวเดียวเท่านั้นแล้วจะกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ (ปรินิพพาน)
             ๔. ภิกษุเหล่าใดละสัญโญชน์ ๓ ประการได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น
ทั้งหมด เป็นพระโสดาบัน ไม่ไปสู่อบายอีก จะตรัสรู้ในภายหน้า
             ภิกษุเหล่าใด เป็นธัมมานุสารี เป็นสัทธานุสารี ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด
จะตรัสรู้ในภายหน้า
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สังโยชน์_10
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มรรค_4
             คำว่า ธัมมานุสารี, สัทธานุสารี
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ธัมมานุสารี&detail=on

             บุคคลเหล่าใด มีเพียงความเชื่อ เพียงความรักในพระองค์ บุคคล
เหล่านั้นทั้งหมด จะได้ไปสวรรค์ในภายหน้า
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
             ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น มีใจชื่นชมเพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค

[แก้ไขตาม #4-33, 4-36]

ความคิดเห็นที่ 4-33
ฐานาฐานะ, 8 มีนาคม เวลา 23:58 น.

GravityOfLove, 15 ชั่วโมงที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             ๓. โอปัมมวรรค
             ๒. อลคัททูปมสูตร ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยอสรพิษ
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=4443&Z=4845&bgc=aliceblue&pagebreak=0
10:10 PM 3/7/2013

             ย่อความได้ดี รวบรวมประเด็นได้ครบถ้วน
             ข้อติงย่อความมีดังนี้ :-
             ตรัสว่า ดีแล้ว ที่รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วว่า ธรรมที่ทำอันตรายโดยประการ
ต่างๆ ธรรมเหล่านั้นสามารถทำอันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง กามทั้งหลาย มีความ
ยินดีน้อย ... อุปมาด้วย ...
             ควรแก้ไขให้เนื้อความชัดเจนว่า
             ตรัสว่า ดีแล้ว ที่พวกเธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วว่า ธรรมที่ทำอันตราย
โดยประการต่างๆ ธรรมเหล่านั้นสามารถทำอันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง กามทั้งหลาย
มีความยินดีน้อย ... อุปมาด้วย ...
- - - - - - - - - - - - - - - - -
             บุรุษเปล่าเรียนธรรม (ในที่นี้หมายถึงนิตถรณปริยัติ)
             กุลบุตรเรียนธรรม
ควรแก้ไขเป็น
             บุรุษเปล่าเรียนธรรม (อลคัททูปริยัตติ)
             กุลบุตรเรียนธรรม (นิตถรณปริยัติ)
- - - - - - - - - - - - - - - - -
             พระอริยสาวกนั้นพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่สะดุ้งในสิ่งที่ไม่มีอยู่ (ภัยและตัณหา)
ควรแก้ไขเป็น
             พระอริยสาวกนั้นพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีความยึดถือ ย่อมไม่สะดุ้ง
ในสิ่งที่ไม่มีอยู่ (ไม่สะดุ้งด้วยภัยและตัณหา)
- - - - - - - - - - - - - - - - -
             ตรัสแสดงสุญญตา ๓ เงื่อน
             - ถ้าเธอทั้งหลายเห็นสังขาร (เครื่องบริขาร) ใดๆ ว่าเป็นของเที่ยง ยั่งยืน
คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา (ทิฏฐิปริคคหะ) เธอจะถือเอาไว้หรือ
             ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ไม่เห็นสังขารอะไรๆ ว่าเที่ยง ฯลฯ เลย
             ตรัสว่า ดีแล้ว เราก็ยังไม่พิจารณาเห็นว่าสังขารอะไรๆ เที่ยง ฯลฯ

             [๒๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงกำหนดถือเอาเครื่องบริขารที่ควรกำหนด
ถือเอา ซึ่งเป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ตั้งอยู่เสมอด้วยความ
เที่ยงอย่างนั้น เธอทั้งหลาย ย่อมเห็นเครื่องบริขารที่ควรกำหนดถือเอา ซึ่งเป็นของเที่ยง ยั่งยืน
คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ตั้งอยู่เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้นหรือไม่?

             เนื้อความในพระไตรปิฎกไม่มีเงื่อนไขว่า ถ้า
             แต่เป็นเนื้อความ 2 ข้อ คือ ควรกำหนดหรือ? เห็นหรือ?

             เธอทั้งหลายจะกำหนดเอาสังขาร (เครื่องบริขาร) ที่ควรกำหนดถือเอาว่า
เป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา หรือ?
             เธอทั้งหลายเห็นสังขาร (เครื่องบริขาร) ที่ควรถือเอาว่า เป็นของเที่ยง ... หรือ?
             ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ไม่เห็นสังขารอะไรๆ ว่าเที่ยง ฯลฯ เลย
             ตรัสว่า ดีแล้ว เราก็ยังไม่พิจารณาเห็นว่าสังขารอะไรๆ เที่ยง ฯลฯ

หรือถ้าหากมีคำว่า ถ้า ก็ควรมีนัยดังนี้ :-
             เธอทั้งหลายพึงกำหนดเครื่องบริขาร ถ้าเครื่องบริขารเป็นของเที่ยง
             เธอทั้งหลายเห็นเครื่องบริขารว่า เป็นของเที่ยง ... หรือ?
             ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ไม่เห็นสังขารอะไรๆ ว่าเที่ยง ฯลฯ เลย
             ตรัสว่า ดีแล้ว เราก็ยังไม่พิจารณาเห็นว่าสังขารอะไรๆ เที่ยง ฯลฯ

ความคิดเห็นที่ 4-34
GravityOfLove, 9 มีนาคม เวลา 00:21 น.

คุณฐานาฐานะเสนอมา ๒ แบบ ใช่ไหมคะ ให้เลือกแบบใดก็ได้

             ๑. เธอทั้งหลายจะกำหนดเอาสังขาร (เครื่องบริขาร) ที่ควรกำหนดถือเอาว่า
เป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา หรือ?
             เธอทั้งหลายเห็นสังขาร (เครื่องบริขาร) ที่ควรถือเอาว่า เป็นของเที่ยง ... หรือ?
             ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ไม่เห็นสังขารอะไรๆ ว่าเที่ยง ฯลฯ เลย
             ตรัสว่า ดีแล้ว เราก็ยังไม่พิจารณาเห็นว่าสังขารอะไรๆ เที่ยง ฯลฯ

หรือถ้าหากมีคำว่า ถ้า ก็ควรมีนัยดังนี้ :-
             ๒. เธอทั้งหลายพึงกำหนดเครื่องบริขาร ถ้าเครื่องบริขารเป็นของเที่ยง
             เธอทั้งหลายเห็นเครื่องบริขารว่า เป็นของเที่ยง ... หรือ?
             ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ไม่เห็นสังขารอะไรๆ ว่าเที่ยง ฯลฯ เลย
             ตรัสว่า ดีแล้ว เราก็ยังไม่พิจารณาเห็นว่าสังขารอะไรๆ เที่ยง ฯลฯ

ความคิดเห็นที่ 4-35
ฐานาฐานะ, 9 มีนาคม เวลา 00:33 น.

คุณฐานาฐานะเสนอมา ๒ แบบ ใช่ไหมคะ ให้เลือกแบบใดก็ได้
             ใช่ครับ เลือกแบบใดก็ได้ ทั้งสุญญตา ๓ เงื่อนเลยครับ
เรียบเรียงใหม่ทั้งหมด หรือเรียบเรียง 2 เงื่อนที่เหลือก็ได้.

ความคิดเห็นที่ 4-36
GravityOfLove, 9 มีนาคม เวลา 00:56 น.

แก้ไข จาก
             - ถ้าเธอทั้งหลายเห็นสังขาร (เครื่องบริขาร) ใดๆ ว่าเป็นของเที่ยง ยั่งยืน
คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา (ทิฏฐิปริคคหะ) เธอจะถือเอาไว้หรือ

เป็น
             -  เธอทั้งหลายพึงกำหนดสังขาร (เครื่องบริขาร) ใดๆ ถ้าเครื่องบริขารเป็นของเที่ยง
ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา (ทิฏฐิปริคคหะ)
             เธอทั้งหลายเห็นเครื่องบริขารว่า เป็นของเที่ยง ฯลฯ หรือ?

------------------------
แก้ไขจาก
              - ถ้าเธอทั้งหลายเห็นว่า การเข้าไปยึดถืออัตตวาทุปาทาน (สักกายทิฏฐิ ๒๐)
จะไม่เกิดโสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย)
โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) เธอจะยึดถือไว้หรือ

เป็น

             - เธอทั้งหลายพึงเข้าไปยึดถืออัตตวาทุปาทาน (สักกายทิฏฐิ ๒๐) ถ้ายึดถือแล้ว
จะไม่เกิดโสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย)
โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ)
             เธอทั้งหลายยึดถืออัตตวาทุปาทาน แล้วไม่เกิดโสกะ ฯลฯ หรือ?
----------------------------
แก้ไขจาก
             - ถ้าเธอทั้งหลายเห็นว่า การอาศัยทิฏฐินิสสัย (ทิฏฐิ ๖๒ ประการ)
จะไม่เกิดโสกะ ฯลฯ เธอจะยึดถือไว้หรือ

เป็น

             - เธอทั้งหลายพึงอาศัยทิฏฐินิสสัย (ทิฏฐิ ๖๒ ประการ) ถ้าอาศัยแล้ว
จะไม่เกิดโสกะ ฯลฯ
             เธอทั้งหลายอาศัยทิฏฐินิสสัย แล้วไม่เกิดโสกะ ฯลฯ หรือ

ความคิดเห็นที่ 4-37
ฐานาฐานะ, 9 มีนาคม เวลา 01:25 น.

             คำถามในอลคัททูปมสูตร
//84000.org/tipitaka/v.php?B=12&A=4443&Z=4845

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             2. ประทับบทธรรมส่วนใดมากที่สุด และรองที่สุด.


ย้ายไปที่



Create Date : 03 เมษายน 2556
Last Update : 21 มิถุนายน 2557 11:05:00 น.
Counter : 1303 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



เมษายน 2556

 
1
2
5
6
7
8
9
10
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
27
28
29
30
 
 
All Blog