17.10 พระสูตรหลักถัดไป คือมหาตัณหาสังขยสูตร
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
17.9 พระสูตรหลักถัดไป คือมหาตัณหาสังขยสูตร

ความคิดเห็นที่ 3-106
ฐานาฐานะ, 2 มิถุนายน เวลา 00:03 น.

GravityOfLove, 4 ชั่วโมงที่แล้ว
             คำถามจูฬเวทัลลสูตร
             กรุณาอธิบายค่ะ
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9420&Z=9601&bgc=papayawhip
             วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอันเดียวกัน หรืออุปาทาน
เป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕?
             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ หาใช่อันเดียวกันไม่
อุปาทานเป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ก็หาใช่ไม่ ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕
เป็นอุปาทาน ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นั้น.

อธิบายว่า
             อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ คือขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน, ขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทาน
ได้แก่ เบญจขันธ์ คือ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณที่ประกอบด้วยอาสวะ
             กล่าวคือ มีทั้งรูปธรรม และนามธรรม.
             อุปาทาน เป็นนามธรรมอย่างเดียว น่าจะเป็นสังขารขันธ์
             ดังนั้น อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ หาใช่อันเดียวกันไม่

             คำว่า อุปาทานเป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ก็หาใช่ไม่
             นัยที่ 1 อุปาทาน เป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่อะไรๆ ที่นอกจากขันธ์ 5 เลย
             นัยที่ 2 อุปาทาน ก็มีขันธ์ 5 นั่นแหละเป็นอารมณ์.
------------------------------------------------------------------------------

             [๕๑๐] วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นอย่างไร?
             ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจัก
เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ว่าเรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ว่าเราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว
ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วตั้งแต่แรก.

อธิบายว่า นัยนี้น่าจะเป็นขณะแห่งการตั้งอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธ
จะไม่มีความคิดอย่างนั้นอย่างนี้เลย เพราะดับทั้งสัญญาเวทนาและวิญญาณ
แต่เมื่อก่อนจะเข้า ความดำริอย่างนั้นย่อมเกิดได้.
----------------------------------------
              วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ผัสสะเท่าไร ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ?

อธิบายว่า สันนิษฐานว่า คำว่า ผัสสะ น่าจะหมายถึง เมื่อออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว
มีอะไรเป็นอารมณ์ กล่าวคือกระทบอารมณ์อารมณ์อะไร?
              อารมณ์ที่กระทบก็น่าเป็นพระนิพพาน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า
น่าจะเป็นผลสมาบัติอันมีนิพพานเป็นอารมณ์
              คำว่า อัปปณิหิต เป็นต้น
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อัปปณิหิต&detail=on
---------------------------------------
              วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ราคานุสัยตามนอนอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมด ปฏิฆานุสัยตามนอน
อยู่ในทุกขเวทนาทั้งหมด อวิชชานุสัยตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หรือหนอแล?
              ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคานุสัย ตามนอนอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้
ปฏิฆานุสัย ตามนอนอยู่ในทุกขเวทนาทั้งหมด หามิได้ อวิชชานุสัย ตามนอนอยู่ใน
อทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้.
อธิบายว่า ในกรณีของปุถุชน
              ราคานุสัย มักจะร่วมกับสุขเวทนา
              ปฏิฆานุสัย มักจะร่วมกับทุกขเวทนา
              อวิชชานุสัย มักจะร่วมกับอทุกขมสุขเวทนา
              แต่กรณีของพระอริยบุคคล ขอกล่าวถึงพระอรหันต์ เพื่อนัยที่ชัดเจน
คือ พระอรหันต์ แม้เสวยสุขเวทนา ก็ไม่มีราคะในสุขนั้น, แม้เสวยทุกขเวทนา
ก็ไม่มีปฏิฆะ, แม้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่มีอวิชชา.
---------------------------------------
              วิ. ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ราคานุสัยจะพึงละเสียได้ในสุขเวทนาทั้งหมด ปฏิฆานุสัยจะพึง
ละเสียได้ในทุกขเวทนาทั้งหมด อวิชชานุสัยจะพึงละเสียได้ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หรือ
หนอแล?
              ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ราคานุสัยจะพึงละเสียได้ในสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้
ปฏิฆานุสัยจะพึงละเสียได้ในทุกขเวทนาทั้งหมด หามิได้ อวิชชานุสัยจะพึงละเสียได้ในอทุกขม-
*สุขเวทนาทั้งหมด หามิได้ ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม
สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ย่อม
ละราคะด้วยปฐมฌานนั้น ราคานุสัย มิได้ตามนอนอยู่ในปฐมฌานนั้น อนึ่ง ภิกษุในพระธรรม
วินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นอยู่ว่า เมื่อไร เราจะได้บรรลุอายตนะที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุแล้วอยู่
ในบัดนี้ ดังนี้ เมื่อภิกษุนั้นเข้าไปตั้งความปรารถนาในวิโมกข์ทั้งหลายอันเป็นอนุตตรธรรมอย่างนี้
โทมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละปฏิฆะได้ด้วยความโทมนัสนั้น
ปฏิฆานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในความโทมนัสนั้น อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน
อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็น
เหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌานนั้น อวิชชานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในจตุต
ฌานนั้น.

อธิบายว่า
              คำถามนี้ อาจจะมีความต่อเนื่องจากคำถามก่อนดังนี้ว่า
              ราคานุสัยมักเกิดในขณะแห่งสุขเวทนา เมื่อราคานุสัยเกิดแล้ว
ย่อมเห็นได้อันเป็นเหตุให้ประจักษ์ลักษณะของราคะ ซึ่งให้กำหนดเหตุเกิดได้
อันเป็นทางให้ละราคานุสัย จึงเกิดคำถามนี้ว่า
              ก็ราคานุสัยจะพึงละเสียได้ในสุขเวทนาทั้งหมด หรือหนอ?
              ปฏิฆานุสัยมักเกิดในขณะแห่งทุกขเวทนา เมื่อ ...
จึงเกิดคำถามนี้ว่า
              ปฏิฆานุสัยจะพึงละเสียได้ในทุกขเวทนาทั้งหมด หรือหนอ?
              แม้อวิชชานุสัย ก็นัยนี้.
              หรือคำถามเหล่านี้ เกิดขึ้นโดยตรงอันไม่เกี่ยวกับคำถามข้อก่อน.
              คำตอบก็คือ
              ไม่ใช่ทุกกรณี แต่เป็นบางกรณีเท่านั้น.
              ในขณะแห่งสุขเวทนา เช่น กามสุข บุคคลย่อมตกไปในราคะแรงกล้า
มักไม่อาจเห็นอรรถ เห็นธรรมได้เลย.
              แต่ในฌานที่ 1 ถึง 3 อันมีสุขเวทนา ในฌานเหล่านี้สงัดจากกาม
หรือกามราคานุสัยนั่นเอง.
              ในขณะแห่งความเสียใจ ก็ไม่อาจเห็นอรรถ เห็นธรรมได้เลย
              แต่พระโยคาวจรที่เสียใจว่า มรรคผลที่เราปรารถนา เรายังไม่บรรลุ
ดังนี้แล้ว ก็พากเพียรพยายามในสมณธรรม บรรลุอนาคามิมรรคแล้ว
ก็ย่อมสามารถละปฏิฆานุสัยได้.
              ในขณะแห่งอทุกขมสุขเวทนา อันไม่ประกอบด้วยญาณ ก็ไม่สามารถ
ก็ไม่อาจเห็นอรรถ เห็นธรรมได้เลย
              แต่ในฌานที่ 4 อันมีอุเบกขาเวทนา มีสติบริสุทธิ์ ย่อมละอวิชชานุสัยได้.

              ในขั้นนี้ ขอทยอยตอบเพียงเท่านี้ก่อน

ความคิดเห็นที่ 3-107
ฐานาฐานะ, 2 มิถุนายน เวลา 14:51 น.

GravityOfLove, 30 พฤษภาคม เวลา 07:35 น.
อรรถกถา
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=505&bgc=papayawhip
กรุณาอธิบายค่ะ
               (ตั้งแต่นี่ ... ถึงนี่)
               คำว่า "ย่อมพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน" คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
ย่อมพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมพิจารณาเห็นรูปและตนเป็นสิ่งไม่ใช่สองว่า
"รูปอันใดฉันก็อันนั้น ฉันอันใดรูปก็อันนั้น".
               ...
               ในบทว่า "ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน" นี้ได้แก่ ย่อมพิจารณาว่า
"ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน" ด้วยอาการทุกอย่าง คือย่อมไม่พิจารณาเห็น ๕ อย่างเหล่านี้
ด้วยแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง อันได้แก่ไม่พิจารณาเห็นรูปว่าเป็นตน แต่พิจารณาเห็นว่า
"ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน ไม่พิจารณาเห็นตนมีรูป ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นตนในวิญญาณ" ดังนี้.
7:34 AM 5/30/2013

             คำว่า "ย่อมพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน" คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมพิจารณา
เห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมพิจารณาเห็นรูปและตนเป็นสิ่งไม่ใช่สองว่า
"รูปอันใดฉันก็อันนั้น ฉันอันใดรูปก็อันนั้น".
             เปรียบเหมือน เมื่อตะเกียงน้ำมันกำลังลุกไหม้อยู่ เปลวอันใดสีก็อันนั้น สีอันใดเปลว
ก็อันนั้นแม้ฉันใด, ฉันนั้นนั่นแล บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตนแล
พิจารณาเห็น...ไม่ใช่สองอย่าง" ดังนี้ ฉะนั้นจึงชื่อว่าย่อมเห็นด้วยวิปัสสนาในทิฏฐิว่า
"รูปเป็นตัวตน" อย่างนี้.
อธิบายว่า
             คำว่า เป็นสิ่งไม่ใช่สอง หรือ ไม่ใช่สองอย่าง
             เมื่อกล่าวถึงคำ 2 คำคือ รูปและตน หรือ รูปและฉัน (I ไอ)
คำว่า เป็นสิ่งไม่ใช่สอง หรือ ไม่ใช่สองอย่าง จึงควรแปลว่า เป็นสิ่งเดียวกัน.
             เมื่อแปลดังนี้แล้ว ก็เป็นอันเข้าใจได้ง่าย เพราะผ่านสำนวนนี้แล้ว.
- - - - - - - - - - - - - -
             หรือย่อมพิจารณาเห็นว่าตัวตนมีรูป จึงถือเอารูปว่าเป็นตนแล้วย่อมพิจารณาเห็นตนมีรูป
เหมือนเห็นต้นไม้มีร่ม หรือเห็นว่ารูปในตนจึงถือเอาอรูปนั่นแหละว่าเป็นตน จึงชื่อว่าย่อมพิจารณา
เห็นรูปในตน เหมือนดมกลิ่นในดอกไม้ หรือเห็นว่าตนในรูปจึงถือเอาอรูปนั่นแหละว่าเป็นตน
จึงชื่อว่าย่อมพิจารณาเห็นตนนั้นในรูปเหมือนเห็นแก้วมณีในขวด.

อธิบายว่า
             ทิฏฐิในข้อรูปว่า รูปเป็นตน เป็นการถือรูปเป็นตน
             ทิฏฐิอื่นในข้อรูป อีก 3 เป็นอันถือเอาอรูปเป็นตน.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
             แม้ในการพิจารณาว่าเวทนาโดยความเป็นตนเป็นอาทิ ก็มีทำนองอย่างเดียวกันนั่นเอง.
             ในคำเหล่านั้น คำว่า "ย่อมพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน" ท่านกล่าวถึงรูปล้วนๆ
เท่านั้นว่าเป็นตน. ท่านกล่าวถึงอรูปว่าเป็นตนในที่เจ็ดแห่งเหล่านี้ คือ ย่อมพิจารณาเห็นตนมีรูป,
หรือรูปมีในตน, หรือตนมีในรูป, เวทนาโดยความเป็นตน, สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นตน
ท่านกล่าวถึงรูปและอรูปที่ปนกันว่าเป็นตน. ในที่สิบสองแห่งด้วยอำนาจแห่งขันธ์ทั้งสามในจำนวน
สี่ขันธ์อย่างนี้ คือ ตนมีเวทนา เวทนามีในตน ตนมีในเวทนาดังนี้.

             สักกายทิฏฐิ ๒๐
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=17&A=51&w=สักกายทิฏฐิ_๒๐

             สรุปความสักกายทิฏฐิ 20 ว่า
             1.1 เห็นรูปโดยความเป็นตน
             1.2 เห็นตนมีรูป
             1.3 เห็นรูปในตน
             1.4 เห็นตนในรูป
                2.1 เห็นเวทนาโดยความเป็นตน
                2.2 เห็นตนมีเวทนา
                2.3 เห็นเวทนาในตน
                2.4 เห็นตนในเวทนา
             3.1 เห็นสัญญาโดยความเป็นตน
             3.2 เห็นตนมีสัญญา
             3.3 เห็นสัญญาในตน
             3.4 เห็นตนในสัญญา
                4.1 เห็นสังขารโดยความเป็นตน
                4.2 เห็นตนมีสังขาร
                4.3 เห็นสังขารในตน
                4.4 เห็นตนในสังขาร
             5.1 เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน
             5.2 เห็นตนมีวิญญาณ
             5.3 เห็นวิญญาณในตน
             5.4 เห็นตนในวิญญาณ

             ในคำเหล่านั้น คำว่า "ย่อมพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน" ท่านกล่าวถึงรูปล้วนๆ เท่านั้นว่าเป็นตน.
อธิบายว่า ข้อ 1.1 เป็นรูปล้วนๆ
             ท่านกล่าวถึงอรูปว่าเป็นตนในที่เจ็ดแห่งเหล่านี้ คือ ย่อมพิจารณาเห็นตนมีรูป,
หรือรูปมีในตน, หรือตนมีในรูป, เวทนาโดยความเป็นตน, สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นตน
อธิบายว่า
             ข้อ 1.2 1.3 1.4 2.1 3.1 4.1 5.1 รวม 7 ข้อ
             ข้อ 1.2 1.3 1.4 เป็นอรูป เพราะว่า รูป อยู่ในข้อ 1.1 แล้ว
             ข้อ 2.1 3.1 4.1 5.1 เป็นอรูป ชัดเจนอยู่

             ท่านกล่าวถึงรูปและอรูปที่ปนกันว่าเป็นตน ในที่สิบสองแห่งด้วยอำนาจแห่งขันธ์ทั้งสาม
ในจำนวนสี่ขันธ์อย่างนี้ คือ ตนมีเวทนา เวทนามีในตน ตนมีในเวทนาดังนี้.
             ได้แก่
                ข้อ 2.2 2.3 2.4
                ข้อ 3.2 3.3 3.4
                ข้อ 4.2 4.3 4.4
                ข้อ 5.2 5.3 5.4
             รวมเป็น 12 ข้อ
             เพราะเหตุใด อรรถกถาจึงกล่าวว่า รูปและอรูปที่ปนกันว่าเป็นตน
             อธิบายโดยการยกข้อ 2.2 เป็นตัวอย่างว่า
             ข้อ 2.2 เห็นตนมีเวทนา
             มีนัยว่า เห็นขันธ์อื่นจากเวทนา อันได้แก่รูป สัญญา สังขาร วิญญาณ
ว่าเป็นตนมีเวทนา เป็นอันกล่าวรูปและอรูปที่ปนกันว่าเป็นตน.
             11 ข้อต่อไป ก็นัยเดียวกับข้อ 2.2
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

             ในคำว่า "ย่อมพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมพิจารณาเห็นเวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ โดยความเป็นตน" นั้น ท่านแสดงความเห็นว่าขาดสูญในที่ห้าแห่ง. ในแห่งที่เหลือ
ท่านแสดงความเห็นว่าเที่ยง. ด้วยประการฉะนี้ ในที่นี้จึงมีภวทิฏฐิ (ความเห็นว่ามีว่าเป็น) ๑๕ อย่าง
วิภวทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่มีไม่เป็น) ๕ อย่าง.

             ในคำว่า "ย่อมพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมพิจารณาเห็นเวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ โดยความเป็นตน" นั้น ท่านแสดงความเห็นว่าขาดสูญในที่ห้าแห่ง.

อธิบายว่า
             สันนิษฐานนัยนี้อย่างนี้ว่า
             บุคคลที่เห็นรูปเป็นตน ... วิญญาณเป็นตน (ข้อ 1.1 2.1 3.1 4.1 และ 5.1)
             เมื่อเขาเห็นอย่างนั้น เขาเองก็เคยเห็นคนตาย
คนที่ตายแล้ว ร่างกายก็เน่าสลายไป คนที่ตายแล้วไม่พูด ไม่รู้สึก
             เมื่อเป็นเช่นนั้น รูปก็ตามที่เขาเห็นว่าเป็นตน ก็ขาดสูญเมื่อตาย
คนที่ตายแล้วไม่พูด ไม่รู้สึกร้อน แม้ถูกไฟเผา ดังนั้น นามขันธ์ 4 อย่างนี้
ที่เขาเห็นว่าเป็นตน ก็ขาดสูญเมื่อตาย เพราะไม่พูด ไม่รู้สึกร้อน ฯลฯ.

             ในแห่งที่เหลือ ท่านแสดงความเห็นว่าเที่ยง. ด้วยประการฉะนี้
ในที่นี้จึงมีภวทิฏฐิ (ความเห็นว่ามีว่าเป็น) ๑๕ อย่าง
วิภวทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่มีไม่เป็น) ๕ อย่าง.
อธิบายว่า
             สันนิษฐานนัยนี้อย่างนี้ว่า
             บุคคลที่เห็นตนมีรูป (ข้อ 1.2) เมื่อตายแล้ว ตนนั้นจะเที่ยง เพียงแต่แสวงรูปใหม่เป็นต้น.

             นี้เป็นการสันนิษฐานนัยของคำว่า ภวทิฏฐิ 15, วิภวทิฏฐิ 5 รวมเป็น 20
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

             ในบทว่า "ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน" นี้ได้แก่ ย่อมพิจารณาว่า "ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน" ด้วยอาการทุกอย่าง คือย่อมไม่พิจารณาเห็น ๕ อย่างเหล่านี้ด้วยแบบอย่างใด
อย่างหนึ่ง อันได้แก่ไม่พิจารณาเห็นรูปว่าเป็นตน แต่พิจารณาเห็นว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน
ไม่พิจารณาเห็นตนมีรูป ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นตนในวิญญาณ" ดังนี้.
อธิบายว่า
             นัยนี้เป็นการพิจารณาขันธ์ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

             อนิจจลักษณะ, ทุกขลักษณะ, อนัตตลักษณะ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อนิจจ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ทุกขลักษณะ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อนัตตลักษณะ

               ในขั้นนี้ ขอทยอยตอบเพียงเท่านี้ก่อน

ความคิดเห็นที่ 3-108
ฐานาฐานะ, 2 มิถุนายน เวลา 17:24 น.

               Gravity ก๊อปของเดิมมาวาง พร้อมเติมตามความเข้าใจดังนี้ (กรุณาเติมต่อได้เลยค่ะ)
1 ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน (พิจารณาเห็นรูปและตนเป็นสิ่งไม่ใช่สอง)-ขาดสูญ ไม่มีภพ
ตัวอย่างนายหนูทดลอง
เห็นรูปกายว่าเป็นอะไรสักอย่างที่แท้เที่ยง
ร่างกายของเรานี้ ต่างจากโต๊ะเก้าอี้ ก็เพราะมีอะไรสักอย่างที่แท้เที่ยง
เพิ่มเติมว่า เป็นสิ่งไม่ใช่สอง คือเป็นสิ่งเดียวกัน
               นัยของอรรถกถา เห็นรูปเป็นตน เป็นความเห็นว่าขาดสูญ
               คำว่า อะไรสักอย่างที่แท้เที่ยง เป็นคำที่ยกมาอธิบายให้เข้าใจคำว่า ตน
แต่ว่า เมื่อมีทั้งความเห็นว่าขาดสูญและความเห็นว่าเที่ยง จึงควรกลับไปใช้คำเดิม
หรือคำอื่น เช่น อะไรๆ ที่เป็นตน.
<<<<<<<<
2 ย่อมเห็นตนมีรูป (ร่มเป็นตน)
อะไรสักอย่างที่แท้เที่ยง เป็นเจ้าของร่างกายนี้

3 ย่อมเห็นรูปในตน (กลิ่นดอกไม้)
อะไรสักอย่างที่แท้เที่ยง มีอะไรมากมาย เช่นร่างกายนี้.

อะไรสักอย่างที่แท้เที่ยง ประกอบด้วยสิ่งต่างๆ มากมาย
เช่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เขาจึงเห็นรูปในตน.

4 ย่อมเห็นตนในรูป (กลิ่นดอกไม้)
ร่างกายนี้มีหลายสิ่งหลายอย่าง เช่นอาหารเก่า อาหารใหม่
แต่ก็มีอะไรสักอย่างที่แท้เที่ยง.
เพิ่มเติมว่า 4 ย่อมเห็นตนในรูป (กลิ่นดอกไม้)
               น่าจะเป็น 4 ย่อมเห็นตนในรูป (แก้วมณีในขวด)
<<<<<<<<
    เพิ่มเติมเพียงเท่านี้.

ความคิดเห็นที่ 3-109
ฐานาฐานะ, 2 มิถุนายน เวลา 17:30 น.

GravityOfLove, 30 พฤษภาคม เวลา 07:35 น.
           คำถามจูฬเวทัลลสูตร
...
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9420&Z=9601&bgc=papayawhip
ถ้าไม่รบกวนมาก ก็อยากให้คุณฐานาฐานะอธิบายจนจบอรรถกถาเลยค่ะ (ยกเว้นตอนสุดท้ายเรื่องพระราชลัญชกร) - -"
แต่ถ้าคิดว่า รอความเข้าใจอื่นๆ ก่อน ตอนนี้ข้ามไปก่อนก็ได้
ก็ยังไม่ต้องอธิบายตอนนี้ก็ได้ค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ
7:34 AM 5/30/2013
            ขอให้ยกมาเป็นส่วนๆ จะดีกว่า เพราะจะได้รู้ว่า
ส่วนไหนที่ไม่เข้าใจ หากยกมาแล้วอธิบายความเข้าใจไว้
ด้วยว่าเข้าใจอย่างไร ก็เป็นการดี เพราะจะได้รู้ว่า
ส่วนนี้ๆ เข้าใจอย่างไร ถูกต้องหรือไม่อย่างไร?

ความคิดเห็นที่ 3-110
GravityOfLove, 2 มิถุนายน เวลา 21:59 น.

ราคานุสัย มิได้ตามนอนอยู่ในปฐมฌานนั้น
ปฏิฆานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในความโทมนัสนั้น
อวิชชานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในจตุตฌานนั้น.

มิได้ตามนอน หมายความว่า ไม่มีเลย ละได้เด็ดขาดเลย หรือไม่คะ

ความคิดเห็นที่ 3-111
ฐานาฐานะ, 2 มิถุนายน เวลา 22:20 น.

GravityOfLove, 7 นาทีที่แล้ว
ราคานุสัย มิได้ตามนอนอยู่ในปฐมฌานนั้น
ปฏิฆานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในความโทมนัสนั้น
อวิชชานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในจตุตฌานนั้น.
มิได้ตามนอน หมายความว่า ไม่มีเลย ละได้เด็ดขาดเลย หรือไม่คะ
9:59 PM 6/2/2013
             ตอบว่า
             ราคานุสัย มิได้ตามนอนอยู่ในปฐมฌานนั้น
             โดยนัยว่า เพียงปฐมฌาน เป็นการข่มไว้ (โดยสมัย)
หรือขณะที่อยู่ในฌาน. หากเจริญวิปัสสนาจนบรรลุอนาคามิมรรค
เป็นอันละขาดได้.
             คือได้ทั้งสองนัย 1. ข่มในขณะ 2. ละขาดด้วยอนาคามิมรรค.
             แม้นัยของอวิชชานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในจตุตฌานนั้น
ก็ตามนี้ คือได้ทั้งสองนัย.
             ปฏิฆานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในความโทมนัสนั้น
             พระสูตรกล่าวว่า
             อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นอยู่ว่า
             เมื่อไร เราจะได้บรรลุอายตนะที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุแล้วอยู่ในบัดนี้ ดังนี้
เมื่อภิกษุนั้นเข้าไปตั้งความปรารถนาในวิโมกข์ทั้งหลายอันเป็นอนุตตรธรรมอย่างนี้
โทมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละปฏิฆะได้ด้วยความโทมนัสนั้น
ปฏิฆานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในความโทมนัสนั้น
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=9420&Z=9601
<<<<
             ท่านละปฏิฆะได้ด้วยความโทมนัสนั้น << น่าจะโดยการบรรลุอนุตตรธรรม
คือโลกุตตรธรรม และอรรถกถาก็กล่าวว่า ก็ย่อมถอนปฏิฆะด้วยอนาคามิมรรคได้เด็ดขาด
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=505
             เป็นอันว่า น่าจะมี 1 นัยคือ
             บรรลุอนาคามิมรรค จะละปฏิฆานุสัย ได้เด็ดขาด.

ความคิดเห็นที่ 3-112
GravityOfLove, 3 มิถุนายน เวลา 11:50 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
แต่ยังไม่จบค่ะ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว
รูปและตน หรือ รูปและฉัน (I ไอ) << ที่วงเล็บไว้คือ กลัว Gravity เข้าใจว่า ฉัน แปลว่า กิน หรือคะ

ความคิดเห็นที่ 3-113
ฐานาฐานะ, 3 มิถุนายน เวลา 12:42 น.

             ป้องกันไว้ก่อนครับ.

ความคิดเห็นที่ 3-114
GravityOfLove, 3 มิถุนายน เวลา 12:45 น.

รับทราบค่ะ รอบคอบดี (ว่าคิดว่า Gravity เป็นขนาดนั้น)

ความคิดเห็นที่ 3-115
ฐานาฐานะ, 3 มิถุนายน เวลา 12:50 น.

             อยู่ดีๆ ขึ้นคำว่า ฉัน ก็เกรงไว้จะแปลเป็นอื่น
ปกติใช้คำว่า เรา.

ความคิดเห็นที่ 3-116
GravityOfLove, 3 มิถุนายน เวลา 13:14 น.

อธิบายว่า
             ข้อ 1.2 1.3 1.4 2.1 3.1 4.1 5.1 รวม 7 ข้อ
             ข้อ 1.2 1.3 1.4 เป็นอรูป เพราะว่า รูป อยู่ในข้อ 1.1 แล้ว << ดูๆ แล้วไม่เหมือนเ็ป็นอรูปเลยค่ะ กรุณาอธิบาจ
             ข้อ 2.1 3.1 4.1 5.1 เป็นอรูป ชัดเจนอยู่ << ok

             1.1 เห็นรูปโดยความเป็นตน << รูป ok
1.2 เห็นตนมีรูป
1.3 เห็นรูปในตน
1.4 เห็นตนในรูป

ความคิดเห็นที่ 3-117
ฐานาฐานะ, 3 มิถุนายน เวลา 14:04 น.

             1.2 เห็นตนมีรูป
             1.3 เห็นรูปในตน
             1.4 เห็นตนในรูป

             3 ข้อนี้เป็นอรูป เพราะว่า ถ้าเป็นรูป ก็จะกลายเป็น ตนเป็นรูป
หรือเห็นรูปโดยความเป็นตน ซึ่งกลายเป็นข้อ 1 ไป
             ดังนั้น 3 ข้อนี้ เห็นตนคือเห็นขันธ์อื่นนอกจากรูปขันธ์ เป็นตน
ซึ่งขันธ์อื่นนอกจากรูปขันธ์ เป็นนามขันธ์ หรืออรูป นั่นเอง.
             พอเข้าใจไหมหนอ?

ย้ายไปที่



Create Date : 26 มิถุนายน 2556
Last Update : 23 มกราคม 2557 19:27:15 น.
Counter : 413 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



มิถุนายน 2556

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
27
28
29
30
 
 
All Blog