19.1 พระสูตรหลักถัดไป คือกันทรกสูตร [พระสูตรที่ 1]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
18.10 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬธรรมสมาทานสูตร [พระสูตรที่ 45]

ความคิดเห็นที่ 10-6
GravityOfLove, 27 มิถุนายน เวลา 10:12 น.

             คำถามกันทรกสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=1
             กรุณาอธิบายค่ะ
              พึงทราบวินิจฉัยในความโอ้อวดเป็นต้นดังต่อไปนี้
              เมื่อภิกษุสงฆ์จะยืนอยู่ในที่ไหนๆ ทั้งๆ เป็นที่ไม่มีภัยเฉพาะหน้าของมนุษย์ คิดว่าเราจักไปข้างหน้าแล้วยืนลวง จึงไปยืนทำเป็นไม่เคลื่อนไหว เหมือนเสาที่ฝังไว้ในที่ที่ประสงค์จะตั้งไว้ ภิกษุนี้ชื่อว่าโอ้อวด.
              เมื่อภิกษุประสงค์จะกั้นในที่ไหนๆ แล้วก้มลำตัวขวางไว้ทั้งๆ ที่เป็นที่ไม่มีภัยเฉพาะหน้าของมนุษย์ทั้งหลาย คิดว่าเราจักไปข้างหน้าแล้วก้มลวง จึงก้มตัวลวงในที่นั้น ภิกษุนี้ชื่อว่าโกง.
              เมื่อภิกษุประสงค์จะหลีกจากทางในที่ไหนๆ แล้วกลับเดินสวนทางทั้งๆ เป็นที่ไม่มีภัยเฉพาะหน้าของมนุษย์ทั้งหลาย คิดว่าเราจักไปข้างหน้าแล้วลวงทำอย่างนี้ จึงหลีกจากทางในที่นั้นแล้วกลับเดินสวนทาง ภิกษุนี้ชื่อว่าคด.
              เมื่อภิกษุประสงค์จะไปตามทางตรงตามเวลา จากซ้ายตามเวลา จากขวาตามเวลา ทั้งๆ เป็นที่ไม่มีภัยเฉพาะหน้าของมนุษย์ทั้งหลาย คิดว่าเราจักไปข้างหน้าแล้วลวงทำอย่างนี้ จึงไปทางตรงตามเวลา จากซ้ายตามเวลา จากขวาตามเวลาในที่นั้น.
              อนึ่ง ที่นี้เขากวาดไว้เตียน จอแจด้วยมนุษย์ น่ารื่นรมย์ไม่ควรทำกรรมเห็นปานนี้ในที่นี้ ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้ประสงค์จะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ด้วยคิดว่าเราจักไปข้างหน้าแล้วทำในที่ที่ปกปิด จึงทำในที่นั้น ภิกษุนี้ชื่อว่างอ.
              ท่านกล่าวไว้ดังนี้ หมายถึงกิริยาแม้ ๔ อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
              ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 10-7
ฐานาฐานะ, 28 มิถุนายน เวลา 00:54 น.

GravityOfLove, 10 ชั่วโมงที่แล้ว
              คำถามกันทรกสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=1
              กรุณาอธิบายค่ะ
...
10:11 AM 6/27/2013

              อธิบายว่า
              สันนิษฐานว่า อรรถกถาจะอธิบายการกระทำ 4 อย่างคือ
ความโอ้อวด ความโกง ความคด ความงอ
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=13&A=1&w=โอ้อวด_ความโกง_ความคด_ความงอ

              แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจชัดเจนนักในคำอธิบายการกระทำเหล่านั้น.
              แต่พอให้คำอธิบายในบางคำได้ดังนี้ :-
              ทั้งๆ ที่เป็นที่ไม่มีภัยเฉพาะหน้าของมนุษย์ทั้งหลาย
น่าจะมีนัยว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการกระทำอย่างนั้น.
              เช่น ปกติภิกษุผู้ปรารภความเพียร ย่อมมนสิการกรรมฐานบ้าง
เดินจงกรมขจัดความง่วงบ้าง เมื่ออากาศหนาวก็อาจยืนตากแดดในที่เหมาะสมบ้าง
              แต่ภิกษุผู้มีความคด เจ้าเล่ห์เป็นต้น เมื่อเห็นคฤหัสถ์มหาศาล
ก็ทำอาการเดินจงกรมบ้าง ยืนในที่แจ้งบ้าง เผื่อว่า คฤหัสถ์มหาศาลเหล่านั้น
จะสำคัญว่าตนเป็นพระอริยบุคคลเป็นต้น
              กล่าวคือ ในขณะนั้นไม่มีความจำเป็นต้องเดินจงกรม
ก็เดินจงกรมในเวลานั้น เพื่อการหลอกลวงเป็นต้น.

              ศึกษานัยในวินีตวัตถุ
              เรื่องอยู่ป่า เรื่องเที่ยวบิณฑบาต
              เรื่องอิริยาบถ ๔ เรื่อง
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=1&A=10838&Z=11364

              เมื่อประมาณ 10 ปีกว่าที่ผ่านมา มีกรณีของพระภิกษุที่หลอกลวงรูปหนึ่ง
              เรื่องจากคำสารภาพ เมื่อถูกตำรวจจับได้ นัยว่า
              คฤหัสถ์นิมนต์พระภิกษุรูปนั้นให้ขึ้นรถยนต์ของตน
              พระภิกษุหลอกลวงรูปนั้นปฏิเสธคำนิมนต์ คือไม่ขึ้นรถของคฤหัสถ์
แล้วทำอาการเดินไป คฤหัสถ์นั้น เมื่อพระภิกษุปฏิเสธการนิมนต์ ก็ขับรถของตนไป.
              จากนั้น พระภิกษุหลอกลวงรูปนั้นให้ผู้ร่วมขบวนการขับรถแซงรถ
ของคฤหัสถ์นั้น แล้วตนเองก็ลงจากรถยนต์ ทำอาการว่า แม้เดินอยู่ก็เดินทางได้
เร็วกว่าคฤหัสถ์ผู้ขับรถนั้น คฤหัสถ์นั้นหลงเชื่อจึงเลื่อมใสว่า
พระภิกษุหลอกลวงรูปนั้นมีฤทธิ์.
              อีกกรณีหนึ่ง พระภิกษุหลอกลวงรูปนั้นทำอาการทำนายเหตุการณ์
ล่วงหน้าแก่เหยื่อว่า ขอให้ระวังให้ดี จะถูกรถ 10 ล้อชนได้.
              จากนั้น พระภิกษุหลอกลวงรูปนั้นให้ผู้ร่วมขบวนการขับรถ 10 ล้อ
ไปชนรถของเหยื่อจริงๆ เหยื่อเห็นว่าเหตุการณ์ถูกต้องตามที่ทำนายไว้
จึงเลื่อมใสว่า พระภิกษุหลอกลวงรูปนั้นมีญาณทัสสนะ.

              เรื่องนี้ คุณ GravityOfLove เคยได้ยินบ้างหรือไม่หนอ?

ความคิดเห็นที่ 10-8
GravityOfLove, 28 มิถุนายน เวลา 01:06 น.

ขอบพระคุณค่ะ
ไม่เคยได้ยินเลยค่ะ

ความคิดเห็นที่ 10-9
GravityOfLove, 28 มิถุนายน เวลา 01:34 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย
             มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
             ๑. กันทรกสูตร ประทานพระโอวาทแก่กันทรกปริพาชก
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=0&Z=302

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา
เขตนครจำปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
             ครั้งนั้น บุตรนายหัตถาจารย์ (บุตรของควาญช้าง) ชื่อเปสสะ
และปริพาชกชื่อกันทรกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
             กันทรกปริพาชกเห็นภิกษุสงฆ์นิ่งเงียบอยู่ จึงกราบทูลสรรเสริญว่า
             น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ท่านพระโคดมทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบแล้ว
             พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดทั้งในอดีตและอนาคต  
แม้พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ก็ทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบเป็นอย่างยิ่ง เพียงเท่านี้
เหมือนพระองค์ทรงให้ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติชอบในบัดนี้
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นอย่างนั้น
             เพราะในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
(กิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลสจบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจที่จะต้อง
ทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่)
             มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว (กิจในอริยสัจ ๔) ปลงภาระเสียแล้ว
             มีประโยชน์ตนถึงแล้ว
             มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว (สังโยชน์ ๑๐) หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ
             และในภิกษุสงฆ์นี้ มีผู้ยังต้องศึกษา
(คือพระเสขบุคคล ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี
ที่ยังต้องฝึกอบรมในไตรสิกขา)
             เป็นผู้มีความประพฤติสงบ มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สังโยชน์_10
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มรรค_4
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ไตรสิกขา
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สติปัฏฐาน_4

             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายเปสสะได้กราบทูลสรรเสริญว่า
             น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี พระองค์ทรงบัญญัติสติปัฏฐาน ๔ ไว้ดีแล้ว
             ทรงบัญญัติเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย
             เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร
             เพื่อความดับแห่งทุกข์และโทมนัส
             เพื่อบรรลุญายธรรม (อริยมรรค)
             เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
             แม้พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว ก็ยังเจริญสติปัฏฐาน ๔
เป็นครั้งคราว
             น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี พระองค์ทรงทราบประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์
ของสัตว์ทั้งหลาย
             ในเมื่อมนุษย์เป็นสิ่งที่รกชัฏ (เข้าใจยาก) เป็นเดนกาก (ไม่บริสุทธิ์)
เป็นผู้โอ้อวดอยู่อย่างนี้
             สัตว์เป็นสิ่งที่ตื้น (เข้าใจไม่ยาก) ตนยังสามารถฝึกช้างให้ทำโน่นทำนี่ได้
             แต่มนุษย์ คือทาส คนใช้ หรือกรรมกรของตน เป็นผู้ที่ทำอย่างหนึ่ง
พูดอย่างหนึ่ง และจิตเป็นอย่างหนึ่ง
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มรรคมีองค์_8

บุคคล ๔ จำพวก
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นอย่างนั้น
             บุคคล ๔ จำพวกนี้มีอยู่ในโลก คือ
             ๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบการขวนขวายใน
การทำตนให้เดือดร้อน
             ๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวาย
ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
             ๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำตนให้เดือดร้อนและประกอบความขวนขวาย
ในการทำตนให้เดือดร้อน ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนและประกอบความขวนขวายในการ
ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
             ๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวาย
ในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการ
ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
             บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น ไม่มีความหิว (ไม่มีตัณหา)
             ดับสนิท (ดับกิเลส)
             เป็นผู้เย็น (เพราะไม่มีกิเลสอันทำให้เดือดร้อนในภายใน)
             เสวยแต่ความสุข (เสวยสุขที่เกิดจากฌาน มรรคผลและนิพพาน)
             มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน (มีตนประเสริฐ)
             ตรัสถามนายเปสสะว่า บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ เขายินดีในพวกใด
             นายเปสสะทูลตอบว่า
             เขาไม่ยินดีในบุคคล ๓ จำพวกแรก เขายินดีในบุคคลจำพวกที่ ๔
             ตรัสถามว่า
             เพราะเหตุใดเขาจึงไม่ยินดีในบุคคล ๓ จำพวกแรก
             นายเปสสะทูลตอบว่า
             เนื่องจากทั้งตัวเราเองและผู้อื่นต่างก็เป็นผู้รักสุข เกลียดทุกข์
ดังนั้นเขาจึงไม่ยินดีในบุคคล ๓ จำพวกแรก แต่ยินดีในบุคคลจำพวกที่ ๔
             แล้วกราบทูลว่า ตนมีกิจมาก มีธุระที่ต้องทำมาก
             เมื่อนายเปสสะทูลชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ก็ถวายบังคมลา (โดยที่ยังไม่จบพระธรรมเทศนา)
             เมื่อนายเปสสะหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า
             นายเปสสหัตถาโรหบุตรเป็นบัณฑิต (ฉลาดในการบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔)
             มีปัญญามาก (ปัญญาที่กำหนดทรงจำสติปัฏฐาน ๔)
             ถ้าเขาอยู่ต่ออีกสักครู่ ก็จะได้ฟังพระองค์ตรัสจำแนกบุคคล ๔ จำพวกนี้
โดยพิสดาร (โดยละเอียด) แล้วเขาจะได้รับประโยชน์ใหญ่ (บรรลุโสดาปัตติผล)
             แต่ถึงกระนั้น ด้วยการฟังโดยสังเขปเพียงเท่านี้
เขาก็ยังได้รับประโยชน์ใหญ่ (ได้ความเลื่อมใสในพระสงฆ์)
             พวกภิกษุทูลขอให้ทรงจำแนกบุคคล ๔ จำพวกนี้โดยพิสดาร
เพื่อพวกตนจะทรงจำไว้
             พระผู้มีพระภาคตรัสอธิบายดังนี้
             ๑. บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน
คือพวกที่มีวัตรเป็นคนเปลือย ... เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการทรมานตน เป็นต้น
             ๒. บุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการ
ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
             คือพวกที่ฆ่าสัตว์เลี้ยงชีวิต เป็นคนเหี้ยมโหด เป็นโจร เป็นคนฆ่าโจร
เป็นคนปกครองเรือนจำ หรือพวกทำการงานอันทารุณอื่นๆ
            ๓. บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวาย
ในการทำตนให้เดือดร้อน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และประกอบความขวนขวาย
ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
             บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ดี
เป็นพราหมณมหาศาลก็ดี พระราชานั้นโปรดให้สร้างโรงบูชายัญ
             ปลงผมและหนวด นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ ทาตัวด้วยเนยใสและน้ำมัน
เกาหลังด้วยเขาสัตว์
             เข้าไปยังโรงบูชายัญหลังใหม่พร้อมด้วยผู้ติดตาม นอนบนพื้นหญ้าเขียวขจี
ไม่ได้ลาดด้วยเครื่องปูลาด
             ดำรงชีวิตอยู่ด้วยน้ำนมเต้าที่ ๑ ของโคแม่ลูกอ่อนที่มีอยู่ตัวเดียว
ผู้ติดตามนอกนั้นก็ดำรงชีพด้วยน้ำนมเต้าที่เหลือ ลูกโคมีชีวิตอยู่ด้วยน้ำนมที่เหลือ
             สั่งให้ฆ่าสัตว์บูชายัญ ตัดต้นไม้เพื่อทำเสาบูชายัญ เกี่ยวหญ้าเพื่อลาดพื้นที่
             ทาสและกรรมกรที่ถูกบังคับเคี่ยวเข็ญให้ทำงานก็ร้องไห้
             ๔. บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวาย
ในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวาย
ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
             ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน
             คือบุคคลที่เมื่อพระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ .. (ตรัสพระพุทธคุณ ๙)
             ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้รู้แจ้งชัดด้วยปัญญา
อันยิ่งของพระองค์เองแล้ว
             ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม
             ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น (ศีล)  งามในท่ามกลาง (อริยมรรค)
งามในที่สุด (พระนิพพาน)
             ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
             เมื่อได้ฟังพระธรรมของพระองค์แล้วก็เกิดศรัทธา ย่อมเห็นตระหนักว่า
             ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี (เพราะไม่มีเวลาว่างเพื่อจะทำกุศลกรรม
และเพราะมีความห่วงกังวลกันและกัน)
             บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พุทธคุณ_9

             เขาบวชอย่างนี้แล้ว ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ เสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย
             (สิกขา หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
แต่ในที่นี้หมายถึง อธิสีลสิกขา
             สาชีพ หมายถึง แบบแผนแห่งความประพฤติที่ทำให้ชีวิตร่วมเป็นอันเดียวกัน
ได้แก่ สิกขาบททั้งปวงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย อันทำให้ภิกษุทั้งหลาย
ผู้มาจากถิ่นฐานชาติตระกูลต่างๆ กัน มามีความเป็นอยู่เสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน)
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สิกขา
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สาชีพ

             เขาเมื่อบรรพชาแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพของภิกษุทั้งหลาย คือ
             ๑. ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย
มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังผลประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง
             ๒. ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้
ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาด
             ๓. ละกรรมที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์
(การงดเว้นจากเมถุนธรรม ) ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน
             ๔. ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ มีปกติพูดความจริง เชื่อมต่อคำจริง
มีคำพูดมั่นคง มีคำพูดที่ควรเชื่อถือ ไม่พูดให้คลาดเคลื่อนต่อชาวโลก
             ๕. ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้ว
ไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน
             หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน
             สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง
             ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน
เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน
             กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน
             ๖. ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ
เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ
             ๗. ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง
พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด
ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร
             ๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
             (พืชคาม หมายถึงพืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้ว ยังสามารถงอกขึ้นได้อีก
             ภูตคาม หมายถึงของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่มี ๕ ชนิด คือ
ที่เกิดจากเหง้า เช่น กระชาย, เกิดจากต้น เช่น โพ, เกิดจากตา เช่น อ้อย,
เกิดจากยอด เช่น ผักชี, เกิดจากเมล็ด เช่น ข้าว)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=พีชคาม
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ภูตคาม

             ๙. ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล
(คืองดตั้งแต่หลังเที่ยงวันจนถึงเวลาอรุณขึ้น)
             ๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี
และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
             ๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วย
ดอกไม้ของหอมและเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
             ๑๒. เว้นขาดจากการนอนบนที่นอนอันสูงใหญ่
             ๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 10-10
[ต่อ]

             ๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
(ธัญชาติ ๗ ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง
ลูกเดือย หญ้ากับแก้)
             ๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
             ๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
             ๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส
             ๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
             ๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
             ๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
             ๒๑. เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน
             ๒๒. เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้
             ๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
             ๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอมและ
การโกงด้วยเครื่องตวงวัด
             ๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบแตลง
             ๒๖. เว้นขาดจากการตัด (อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิง
การปล้น การกรรโชก
             ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย
ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สันโดษ

             ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษภายใน
             ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น) และโทมนัส (ความทุกข์ใจ)
ครอบงำนั้น ชื่อว่า รักษา ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
             ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ...
             ภิกษุดมกลิ่นด้วยฆานะ ...
             ภิกษุลิ้มรสด้วยชิวหา ...
             ภิกษุถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...
             ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่า รักษา ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
             ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคน
ด้วยกิเลสภายใน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อินทรีย์สังวร&detail=on

           ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ฯลฯ การพูด การนิ่ง
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ธรรมมีอุปการะมาก_2

             ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยสันโดษ อริยอินทรียสังวร
และอริยสติสัมปชัญญะนี้แล้ว ภิกษุนั้นย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ
ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง
             นั่งคู้บัลลังก์ (นั่งขัดสมาธิ) ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ละความเพ่งเล็งในโลก
ละความประทุษร้าย คือพยาบาท ละถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=นิวรณ์_5

             ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
อันเป็นเหตุตัดทอนปัญญาได้แล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน จนถึง จตุตถฌาน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน_4

              ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปบรรลุวิชชา ๓
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิชชา_3

             บุคคลนี้คือผู้ที่ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวาย
ในการทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวาย
ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
             เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
             ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบัน
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำเป็นไวยากรณ์นี้แล้ว
             ภิกษุเหล่านั้นชื่นชม ยินดี ภาษิตของพระผู้มีพระภาค

[แก้ไขตาม #10-11, #10-14]

ความคิดเห็นที่ 10-11
ฐานาฐานะ, 28 มิถุนายน เวลา 02:07 น.

GravityOfLove, 25 นาทีที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
             คหบดีวรรค
             ๑. กันทรกสูตร ประทานพระโอวาทแก่กันทรกปริพาชก
...
1:33 AM 6/28/2013

             ย่อความได้ดี มีข้อติงดังนี้ :-
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
             คหบดีวรรค
             ๑. กันทรกสูตร ประทานพระโอวาทแก่กันทรกปริพาชก
             ไม่มีลิงค์ไปที่พระสูตรเลย
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=0&Z=302
- - - - - - - - - - - - - - - -
             นายเปปสะทูลตอบว่า
แก้ไขเป็น
             นายเปสสะทูลตอบว่า (มี 2 ที่)
- - - - - - - - - - - - - - - -
             ๓. บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน และประกอบความขวนขวาย
ในการทำตนให้เดือดร้อน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และประกอบความขวนขวาย
ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
             ได้แก่ พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิกเษกแล้วหรือพราหมณ์มหาศาลที่
ให้ทำโรงที่บูชายัญขึ้น แล้วฆ่าสัตว์เพื่อบูชายันต์
             ตัดต้นไม้ทำเป็นเสายัญ บังคับเคี่ยวเข็ญให้ทาส กรรมกร ทำงานตามกำหนด

             ควรเพิ่มเนื้อความในส่วนที่ทำตนให้เดือดร้อนด้วย จากเนื้อความนี้ :-
             แล้วทรงจำเริญพระเกสาและพระมัสสุ ทรงนุ่งหนังเสือทั้งเล็บ ทรงทาพระกาย
ด้วยเนยใสและน้ำมันงา ทรงเกาพระปฤษฎางค์ด้วยเขามฤค เข้าไปยังโรงที่บูชายัญใหม่ พร้อมด้วย
พระมเหสีและพราหมณ์ปุโรหิต บรรทมบนพื้นดิน อันมิได้ลาดด้วยเครื่องลาด เขาทาด้วยโคมัย
สด น้ำนมในเต้าที่หนึ่งแห่งโคแม่ลูกอ่อนตัวเดียวมีเท่าใด พระราชาทรงเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนม
เท่านั้น น้ำนมในเต้าที่ ๒ มีเท่าใด พระมเหสีทรงเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมเท่านั้น น้ำนมใน
เต้าที่ ๓ มีเท่าใด พราหมณ์ปุโรหิต ย่อมเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมเท่านั้น น้ำนมในเต้าที่ ๔ มี
เท่าใด ก็บูชาไฟด้วยน้ำนมเท่านั้น ลูกโคเยียวยาอัตภาพด้วยน้ำนมที่เหลือ
- - - - - - - - - - - - - - - -

ความคิดเห็นที่ 10-12
ฐานาฐานะ, 28 มิถุนายน เวลา 04:33 น.

             คำถามในกันทรกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=1&Z=302

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?

ย้ายไปที่

สารบัญ ๑



Create Date : 06 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 8:57:36 น.
Counter : 634 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog