17.12 พระสูตรหลักถัดไป คือมหาตัณหาสังขยสูตร
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
17.11 พระสูตรหลักถัดไป คือมหาตัณหาสังขยสูตร

ความคิดเห็นที่ 3-136
ฐานาฐานะ, 3 มิถุนายน เวลา 22:02 น.

             เพิ่มเติมเล็กน้อย คือ :-
             ในกรณีของพระอานนท์ ผมเองไม่เคยพบว่า เมื่อท่านยังเป็นพระโสดาบัน
ท่านได้ฌานสมาบัติด้วยหรือไม่? แต่เข้าใจว่า เข้าผลสมาบัติได้.

ความคิดเห็นที่ 3-137
GravityOfLove, 3 มิถุนายน เวลา 22:04 น.

ฌานสมาบัติ มีความหมายไม่เหมือนคำว่า ผลสมาบัิติ หรือคะ
นึกว่าความหมายเหมือนกันเสียอีก

ความคิดเห็นที่ 3-138
ฐานาฐานะ, 3 มิถุนายน เวลา 22:09 น.

             ไม่เหมือนครับ ปุถุชนไม่มีผลสมาบัติเลย.
             จำไว้ว่า ผลสมาบัติ มีลักษณะเหมือนผลจิต.

ความคิดเห็นที่ 3-139
GravityOfLove, 3 มิถุนายน เวลา 22:27 น.

ปุถุชน - ฌานสมาบัติ
พระอริยะ - ฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ

ฌานสมาบัติ คือ ฌาน ๑ ถึง ฌาน ๘
แล้วผลสมาบัติ เป็นอย่างไรคะ

ความคิดเห็นที่ 3-140
ฐานาฐานะ, 3 มิถุนายน เวลา 22:32 น.

       เป็นอย่างผลจิตครับ
       ปุถุชนถามปุถุชน ปุถุชนก็ตอบได้แต่ว่า เป็นอย่างผลจิต
       อุปมาเหมือนคุณ GravityOfLove พากเพียรจนจบการศึกษา
เมื่อจบการศึกษาได้ความยินดีที่จบการศึกษา บางครั้งก็อาจน้อมนึก
ถึงการจบการศึกษา น่าจะประมาณนี้.
       ผลจิต เป็นผลของมรรคจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์
เมื่อมรรคจิตเกิด 1 ขณะ ผลจิตเกิดตามทันที
       ในภายหลัง พระอริยบุคคลน้อมไปมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
ก็เป็นเหมือนผลจิต อีกครั้งหนึ่ง.

ความคิดเห็นที่ 3-141
GravityOfLove, 3 มิถุนายน เวลา 23:12 น.

ส่วนใหญ่เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 3-142
ฐานาฐานะ, 3 มิถุนายน เวลา 23:20 น.

       ดูเหมือนว่า วันนี้เข้าใจขึ้น?

ความคิดเห็นที่ 3-143
GravityOfLove, 3 มิถุนายน เวลา 23:32 น.

ดูเหมือนว่าจะอย่างนั้นค่ะ

ความคิดเห็นที่ 3-144
GravityOfLove, 3 มิถุนายน เวลา 23:45 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             ๕. จูฬยมกวรรค
             ๔. จูฬเวทัลลสูตร การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9420&Z=9601&bgc=papayawhip

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ให้เหยื่อ
แก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
             ครั้งนั้น วิสาขอุบาสกเข้าไปหาธรรมทินนาภิกษุณีเพื่อถามปัญหา
             (ท่านวิสาขอุบาสกเป็นอดีตสามี ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีก่อนที่
อดีตภรรยาจะออกบวช
             ท่านธรรมทินนาภิกษุณีเป็นอดีตภรรยา ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
หลังจากบวชได้ไม่นาน)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ธรรมทินนา
             (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
             พระธัมมทินนาภิกษุณี เลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาของเราผู้เป็นธรรมกถึก ฯ
//84000.org/tipitaka/read/?20/150
             คำว่า ธรรมกถึก
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ธรรมกถึก

             การสนทนาธรรมมีใจความด้งนี้

เรื่องสักกายทิฏฐิ
             สักกายะ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่
             อุปาทานขันธ์ ๕ คือ
             ๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
             ๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
             ๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
             ๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
             ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)

             สักกายสมุทัย คือ ตัณหาอันทำให้เกิดในภพใหม่ ประกอบด้วย
ความกำหนัดยินดีเพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ คือ
             ๑. กามตัณหา
             ๒. ภวตัณหา
             ๓. วิภวตัณหา
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ตัณหา_3

             สักกายนิโรธ คือ ความดับด้วยความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ
ความสละ ความสละคืน ความปล่อย ความไม่พัวพัน ด้วยตัณหานั้น

             สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มรรคมีองค์_8

              อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ หาใช่อันเดียวกันไม่
              อุปาทานเป็นอย่างอื่นจากอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ก็หาใช่ไม่
(อุปาทานไม่ใช่อะไรๆ ที่นอกจากขันธ์ ๕)
              ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอุปาทานในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นั้น
(อุปาทาน ก็มีขันธ์ ๕ นั่นแหละเป็นอารมณ์.)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อุปาทานขันธ์

             สักกายทิฏฐิเกิดขึ้นเพราะปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็น ไม่ฉลาด
ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็น ไม่ฉลาด ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัปบุรุษ
                    1 ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน
                    2 ย่อมเห็นตนมีรูป
                    3 ย่อมเห็นรูปในตน
                    4 ย่อมเห็นตนในรูป
           5 ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน
           6 ย่อมเห็นตนมีเวทนา
           7 ย่อมเห็นเวทนาในตน
           8 ย่อมเห็นตนในเวทนา
                    9 ย่อมเห็นสัญญา โดยความเป็นตน
                   10 ย่อมเห็นตนมีสัญญา
                   11 ย่อมเห็นสัญญาในตน
                   12 ย่อมเห็นตนในสัญญา
           13 ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นตน
           14 ย่อมเห็นตนมีสังขาร
           15 ย่อมเห็นสังขารในตน
           16 ย่อมเห็นตนในสังขาร
                    17 ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน
                    18 ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ
                    19 ย่อมเห็นวิญญาณในตน
                    20 ย่อมเห็นตนในวิญญาณ

             สักกายทิฏฐิ ๒๐
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=0&Z=105#4top

             สักกายทิฏฐิหมดไปได้ด้วยธรรมที่ตรงกันข้ามกับการเกิดขึ้นของสักกายทิฏฐิ

เรื่องมรรค ๘ กับขันธ์ ๓
             อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
             ๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
             ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
             ๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
             ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
             ๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
             ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
             ๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
             ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

             อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ (ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง)
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สังขตธรรม&detail=on

             อริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อจัดเข้าในขันธ์ ๓ ได้ดังนี้
             (สงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ คือ กองศีล กองสมาธิ กองปัญญา)
             ๑. วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ จัดเข้าในศีลขันธ์
             ๒. ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งจิตไว้ชอบ จัดเข้าในสมาธิขันธ์
             ๓. ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ จัดเข้าในปัญญาขันธ์

เรื่องสมาธิและสังขาร
             ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว เป็นสมาธิ
             สติปัฏฐาน ๔ เป็นนิมิตของสมาธิ (เครื่องกำหนดหมายของสมาธิ)
             สัมมัปปธาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ (สมาธิปริขาร)
             ความเสพคุ้น ความเจริญ ความทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้น
เป็นการทำให้สมาธิเจริญ (สมาธิภาวนา)
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สติปัฏฐาน_4
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อิทธิบาท_4
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สัมมัปปธาน

             สังขารมี ๓ ประการคือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร
             ๑. กายสังขาร ได้แก่ ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า
เป็นธรรมมีในกาย เนื่องด้วยกาย
             ๒. วจีสังขาร ได้แก่ วิตกและวิจาร เพราะบุคคลย่อมตรึก
ย่อมตรองก่อนแล้วจึงเปล่งวาจา
             ๓. จิตตสังขาร ได้แก่ สัญญาและเวทนา เพราะสัญญาและ
เวทนา เป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต

เรื่องสัญญาเวทยิตนิโรธ :-
             การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
             ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
             เราจะเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
             เรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่
             เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว
             ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น
อันท่านให้เกิดแล้วตั้งแต่แรก
             (ในขณะแห่งการตั้งอยู่ของสัญญาเวทยิตนิโรธ จะไม่มีความดำริ
อย่างนั้นอย่างนี้เลยเพราะดับทั้งสัญญาเวทนาและวิญญาณ
             แต่เมื่อก่อนจะเข้า ความดำริอย่างนั้นย่อมเกิดได้)

             เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ วจีสังขารดับก่อน (ดับเมื่อเข้าฌานที่ ๒)
             ต่อจากนั้นกายสังขารก็ดับ (เมื่อเข้าฌานที่ ๔)
             จิตตสังขารดับทีหลัง (เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ)

             ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
             เราจะออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ
             เรากำลังออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ
             เราออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว
             ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น อันท่านให้เกิดแล้วแต่แรก

             เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ จิตตสังขารเกิดขึ้นก่อน
             ต่อจากนั้นกายสังขารก็เกิดขึ้น
             วจีสังขารเกิดขึ้นทีหลัง

             ผัสสะ ๓ ประการ ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธ
             (ภิกษุที่ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว
ผัสสะ ๓ ประการนี้ ย่อมกระทบนิพพานอันเป็นอารมณ์)
             ๑. ผัสสะชื่อสุญญตะ (รู้สึกว่าว่าง)
             ๒. ผัสสะชื่ออนิมิตตะ (รู้สึกว่าไม่มีนิมิต)
             ๓. ผัสสะชื่ออัปปณิหิตะ (รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง)

             ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธ มีจิตน้อมไปในวิเวก
โอนไปในวิเวก เอนไปในวิเวก

(มีต่อ)

ความคิดเห็นที่ 3-145
(ต่อ)
เรื่องเวทนา
             เวทนานี้มี ๓ ประการ คือ
             ๑. สุขเวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขสำราญ
อันเป็นไปทางกาย (่กายิกสุข) หรือเป็นไปทางจิต (เจตสิกสุข)
             ๒. ทุกขเวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ
อันเป็นไปทางกายหรือเป็นไปทางจิต
             ๓. อทุกขมสุขเวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่ใช่
ความสำราญและไม่ใช่ความไม่สำราญ (เป็นส่วนกลางไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์)
อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต

             สุขเวทนา เป็นสุขเพราะตั้งอยู่ เป็นทุกข์เพราะแปรไป
             ทุกขเวทนา เป็นทุกข์เพราะตั้งอยู่ เป็นสุขเพราะแปรไป
             อทุกขมสุขเวทนา เป็นสุขเพราะรู้ชอบ เป็นทุกข์เพราะรู้ผิด

             ราคานุสัย ตามนอนอยู่ในสุขเวทนา
             ปฏิฆานุสัย ตามนอนอยู่ในทุกขเวทนา
             อวิชชานุสัยตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา

             ราคานุสัย ตามนอนอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้
             ปฏิฆานุสัย ตามนอนอยู่ในทุกขเวทนาทั้งหมด หามิได้
             อวิชชานุสัย ตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้
             (เพราะสำหรับปุถุชนก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง สำหรับพระอริยบุคคล
ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
             ปุถุชนเมื่อมีเวทนามักมีราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัยเกิดร่วมด้วย
             พระโสดาบันยังมีอนุสัยทั้ง ๓ นี้อยู่ แต่เป็นระดับละเอียดกว่าปุถุชน
             พระสกทาคามี ราคานุสัยและปฏิฆานุสัยเบาบางแล้ว แต่ยังมีอวิชชา
             พระอนาคามีละราคานุสัยและปฏิฆานุสัยได้แล้ว
             พระอรหันต์จะไม่มีอนุสัยทั้ง ๓ นี้เลย)

             ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนา
             ปฏิฆานุสัย จะพึงละได้ในทุกขเวทนา
             อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อนุสัย_7

             ราคานุสัยจะพึงละเสียได้ในสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้
             ปฏิฆานุสัยจะพึงละเสียได้ในทุกขเวทนาทั้งหมด หามิได้
             อวิชชานุสัยจะพึงละเสียได้ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด หามิได้
             (เพราะการละอนุสัยทั้ง ๓ นี้ปุถุชนที่ได้ฌานและพระอริยะที่ได้ฌาน
มีการละไม่เหมือนกัน
             ก่อนได้ฌานจะสงัดจากกาม (กามราคานุสัย) บรรลุกุศลธรรม
             ดังนั้นปุถุชนที่ได้ฌานที่ ๑ - ๓ ซึ่งมีองค์คือมีสุขโสมนัส แต่สุขโสมนัสนั้น
ไม่มีราคานุสัย (และปฏิฆานุสัย)
             ราคานุสัย (และปฏิฆานุสัย) ไม่ได้ตามนอนในฌานที่ ๑ - ๓ เป็นการข่มไว้
             ส่วนพระอนาคามีจะละราคานุสัย (และปฏิฆานุสัย) ได้โดยเด็ดขาด
             ปุถุชนที่ได้ฌานที่ ๔ ซึ่งมีองค์คืออุเบกขา ดังนั้นอวิชชานุสัยไม่ได้ตามนอน
ในฌานที่ ๔ แต่เป็นการข่มไว้
             ส่วนพระอรหันต์จะละอวิชชานุสัยได้โดยเด็ดขาด)
             (ปฏิฆานุสัยเกิดเพราะภิกษุปรารถนาจะหลุดพ้นจนเกิดทุกข์โทมนัส
แต่เมื่อบรรลุอนาคามิมรรคแล้ว ก็ละปฏิฆะได้)

             ราคะเป็นส่วนเปรียบแห่งสุขเวทนา
             ปฏิฆะเป็นส่วนแห่งเปรียบแห่งทุกขเวทนา
             อวิชชาเป็นส่วนเปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา
             วิชชาเป็นส่วนเปรียบแห่งอวิชชา

             วิมุติเป็นส่วนเปรียบแห่งวิชชา
             นิพพานเป็นส่วนเปรียบแห่งวิมุติ
(ส่วนเปรียบ หมายถึงคู่เปรียบที่ขัดแย้งกัน หรือคู่เปรียบที่คล้อยตามกัน)

             เมื่อท่านวิสาขอุบาสกถามว่า อะไรเป็นส่วนเปรียบแห่งนิพพาน
             ท่านธรรมทินนาภิกษุณีกล่าวว่า
             ท่านล่วงเลยปัญหาเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาส่วนสุดแห่งปัญหาได้
(ไม่อาจกำหนดที่สุดแห่งปัญหาได้)
             เพราะพรหมจรรย์หยั่งลงในพระนิพพาน
             มีพระนิพพานเป็นที่ถึงในเบื้องหน้า (จุดหมาย)
             มีพระนิพพานเป็นที่สุด
             ถ้าท่านจำนงอยู่ (อยากได้คำตอบ) ก็พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ทูลถามเนื้อความนี้เถิด
             พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ (ตอบ) แก่ท่านอย่างใด
             ท่านพึงทรงจำพระพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้นเถิด

วิสาขอุบาสกสรรเสริญธรรมทินนาภิกษุณี
             วิสาขอุบาสก ชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของธรรมทินนาภิกษุณี
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
             ได้กราบทูลเรื่องที่ตนสนทนาธรรมกถากับธรรมทินนาภิกษุณีให้ทรงทราบทุกประการ
             พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า
             ธรรมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก
             แม้หากท่านวิสาขอุบาสกพึงสอบถามเนื้อความนั้นกับพระองค์
แม้พระองค์ก็พึงพยากรณ์เนื้อความนั้น เหมือนที่ธรรมทินนาภิกษุณีพยากรณ์แล้ว
             เนื้อความแห่งพยากรณ์นั้นเป็นดังนั้นนั่นแล ท่านพึงทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
             วิสาขอุบาสก ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

แก้ไขตาม #3-144

ความคิดเห็นที่ 3-146
GravityOfLove, 5 มิถุนายน เวลา 22:30 น.

ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 3-147
ฐานาฐานะ, 7 มิถุนายน เวลา 18:45 น.

             คำถามในจูฬเวทัลลสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9420&Z=9601

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             2. เหตุการณ์ในพระสูตรนี้ น่าเกิดขึ้นประมาณพรรษาใด?

             คำว่า พุทธกิจ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=พุทธกิจ

ความคิดเห็นที่ 3-148
GravityOfLove, 7 มิถุนายน เวลา 19:13 น.

             ตอบคำถามในจูฬเวทัลลสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=9420&Z=9601

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             ๑. สักกายะ คือ ความถือมั่นในขันธ์ ๕ (อุปาทานขันธ์ ๕)
             ๒. สักกายสมุทัย คือ ตัณหาอันทำให้เกิดในภพใหม่ ประกอบด้วย
ความกำหนัดยินดีเพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ คือ กาม ภพ วิภพ
             ๓. สักกายนิโรธ คือ ความดับด้วยความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ
             ๔. สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
             ๕. อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ไม่ใช่อันเดียวกัน
             ๖. สักกายทิฏฐิเกิดขึ้นเพราะปุถุชนไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ เช่น
เห็นรูปโดยความเป็นตน (สักกายทิฏฐิ ๒๐)
             ๗. อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตธรรม (ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง)
             ๘. การจัดอริยมรรคมีองค์ ๘ เข้าในขันธ์ ๓ คือ ในกองศีล กองสมาธิ กองปัญญา)
             ๙. สติปัฏฐาน ๔ เป็นนิมิตของสมาธิ
             สัมมัปปธาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ
             ความเสพคุ้น ความเจริญ ความทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้น
เป็นการทำให้สมาธิเจริญ
             ๑๐. สังขารมี ๓ ประการคือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร
             ๑๑. ความคิดของผู้เข้า/ออกสัญญาเวทยิตนิโรธ
             ๑๒. ลำดับการดับ/การเกิดของสังขารของผู้เข้า/ออกสัญญาเวทยิตนิโรธ
             ๑๓. ผัสสะ ๓ ประการ ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธ
             ๑๔. เวทนา ๓ ประการ
             ๑๕. เวทนาหนึ่งๆ ตั้งอยู่เพราะเหตุใด
             ๑๖. อนุสัยใด ตามนอนอยู่ในเวทนาใด และละได้ในเวทนานั้น
             ๑๗. คู่เปรียบที่ขัดแย้งกัน เช่น ราคะเป็นส่วนเปรียบแห่งสุขเวทนา
             คู่เปรียบที่คล้อยตามกัน เช่น วิมุติเป็นส่วนเปรียบแห่งวิชชา
             แต่ส่วนเปรียบของพระนิพพานไม่มี กำหนดไม่ได้ เพราะพระนิพพาน
เ็ป็นที่สุดแล้ว        
             ๑๘. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า แม้เราเองก็จะพึงพยากรณ์อย่างที่
ภิกษุณีธรรมทินนาพยากรณ์แล้วเหมือนกันนั่นเอง
             จึงถือว่า พระสูตรนี้เป็นภาษิตของพระองค์ ไม่ใช่ภาษิตของสาวก
--------------------------------
             2. เหตุการณ์ในพระสูตรนี้ น่าเกิดขึ้นประมาณพรรษาใด?
             จากอรรถกถา
             ... เสด็จดำเนินไปยังกรุงราชคฤห์กับหมู่ภิกษุขีณาสพชฏิลเก่า
แล้วทรงแสดงธรรมถวายพระเจ้าพิมพิสารมหาราช ซึ่งเสด็จดำเนินมาพร้อมกับบริษัท
แสนสองหมื่นคนเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า.
             ดังนั้นตอบว่า ประมาณพรรษาที่ ๒
พ.๒-๓-๔ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์
             (ระยะประดิษฐานพระศาสนา เริ่มแต่โปรดพระเจ้าพิมพิสาร
             ได้อัครสาวก ฯลฯ เสด็จนครกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ฯลฯ
             อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นอุบาสกถวายพระเชตวัน
             พรรษาที่ ๓ น่าจะประทับที่พระเชตวัน นครสาวัตถี)
             คำว่า พุทธกิจ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=พุทธกิจ

ย้ายไปที่



Create Date : 26 มิถุนายน 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 7:16:55 น.
Counter : 671 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



มิถุนายน 2556

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
27
28
29
30
 
 
All Blog