17.2 พระสูตรหลักถัดไป คือมหาตัณหาสังขยสูตร
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
1. พระสูตรหลักถัดไป คือมหาตัณหาสังขยสูตร

ความคิดเห็นที่ 3-9
GravityOfLove, 11 พฤษภาคม เวลา 18:59 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             ๔. มหายมกวรรค          
             ๘. มหาตัณหาสังขยสูตร ว่าด้วยสาติภิกษุมีทิฏฐิลามก
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=8041&Z=8506&bgc=seashell&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
             สมัยนั้น ภิกษุชื่อสาติ ผู้เกวัฏฏบุตร (บุตรชาวประมง) มีทิฏฐิอันลามก (ชั่ว) เกิดขึ้นว่า
             เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า
             วิญญาณนี้นั่นแหละย่อมท่องเที่ยวแล่นไปไม่ใช่อื่น (สัสสตทิฏฐิ)
             ภิกษุจำนวนมากเมื่อทราบดังนี้ จึงเข้าไปหาสาติภิกษุ แล้วถามว่า มีทิฏฐิเช่นนั้นจริงหรือ
             สาติภิกษุยอมรับว่า จริง
             ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาจะปลดเปลื้องสาติภิกษุจากทิฏฐินั้น จึงซักไซ้ ไล่เลียงสอบสวนว่า
             อย่ากล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ไม่ดีเลย
เพราะพระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย
             พระองค์ตรัสว่า วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น พระองค์ตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนก
(โดยประการต่างๆ) ความเกิดแห่งวิญญาณไม่มีปัจจัยไม่ได้
             แม้ดังนี้แล้ว สาติภิกษุก็ยังยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิชั่วนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงไปทูลเล่าแด่พระผู้มีพระภาค

             พระผู้มีพระภาคทรงให้ไปตามตัวมา แล้วตรัสถามสาติภิกษุว่า มีทิฏฐิเช่นนั้นจริงหรือ
             สาติภิกษุทูลยอมรับว่า จริง
             พระองค์ตรัสว่า ดูกรโมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงต่อมาจากใครหรือ
             วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ
ความเกิดแห่งวิญญาณไม่มีปัจจัยไม่ได้
             ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย (ทำลายตัวเอง) จะประสพบาป
มิใช่บุญเป็นอันมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว
             ก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน
(มีวิบากเป็นทุกข์)
             ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
             สาติภิกษุผู้นี้จะเป็นผู้ทำความเจริญในพระธรรมวินัยนี้บ้างหรือไม่? (มีโอกาสบรรลุธรรมหรือไม่)
             ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ไม่
             เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลอย่างนี้แล้ว สาติภิกษุนั่งนิ่ง กระดาก คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
             เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สาติภิกษุมีความเป็นดังนั้นแล้ว จึงตรัสกับเขาว่า
             ดูกรโมฆบุรุษ เธอจะปรากฏเป็นผู้รับวิบากอันเป็นทุกข์ ด้วยทิฏฐิอันลามกของตนนั้น
             พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
             พวกเธอย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้ว เหมือนสาติภิกษุ กล่าวตู่เราดังนั้นหรือ?
             ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ไม่เป็นเช่นนั้น พร้อมทั้งแสดงเหตุผลดังกล่าว
             ทรงประทานสาธุการต่อคำตอบนั้น ตรัสว่า

             วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้นก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ
             วิญญาณอาศัยจักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ
             ... โสตและเสียงทั้งหลาย ... โสตวิญญาณ
             ... ฆานะและกลิ่นทั้งหลาย ... ฆานวิญญาณ
             ... ชิวหาและรสทั้งหลาย ... ชิวหาวิญญาณ ...
             ... กายและโผฏฐัพพะทั้งหลาย ... กายวิญญาณ
             วิญญาณอาศัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า มโนวิญญาณ
             เปรียบเหมือนไฟอาศัยเชื้อใดๆ ติดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยเชื้อนั้นๆ ไฟอาศัยไม้
ติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟไม้ ไฟอาศัยป่าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟป่า เป็นต้น
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิญญาณ_6

             ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นต่อ และภิกษุเหล่านั้นทูลตอบ มีเนื้อความดังนี้
             ภิกษุทั้งหลายย่อมเห็นขันธปัญจก (ขันธ์ ๕) ที่เกิดแล้ว เกิดเพราะอาหาร
และมีความดับเป็นธรรมดาเพราะความดับแห่งอาหาร
             ความสงสัยย่อมเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า
             ขันธปัญจกนี้มีหรือไม่ เกิดเพราะอาหารหรือ
และมีความดับเป็นธรรมดาเพราะความดับแห่งอาหารนั้นหรือ            
             บุคคลเห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า
             ขันธปัญจกนี้เกิดแล้ว เกิดเพราะอาหารนั้น  
และมีความดับเป็นธรรมดาเพราะความดับแห่งอาหารนั้น
             ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นเสียได้            
             ภิกษุทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า
             ขันธปัญจกนี้เกิดแล้ว เกิดเพราะอาหารนั้น
และมีความดับเป็นธรรมดาเพราะความดับแห่งอาหารนั้น            
             ภิกษุทั้งหลายเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า
             ขันธปัญจกนี้เกิดแล้ว เกิดเพราะอาหารนั้น และมีความดับเป็นธรรมดา
เพราะความดับแห่งอาหารนั้น            
             หากภิกษุทั้งหลายติดอยู่ เพลินอยู่ ปรารถนาอยู่ ยึดถือเป็นของเราอยู่ซึ่งทิฏฐินี้
อันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้
             ย่อมไม่สามารถรู้ทั่วถึงธรรมที่เปรียบด้วยทุ่น อันพระองค์ทรงแสดงแล้ว
เพื่อประโยชน์ในการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อยึดถือ
             หากภิกษุทั้งหลายไม่ติด ... ย่อมสามารถรู้ทั่วถึงธรรม ...
             (ตามรักษาสัมมาทิฏฐิไว้ให้มั่นคง แต่อย่ายึดถือด้วยอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิ)

ปัจจัยแห่งความเกิด
             อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้ เพื่อความตั้งอยู่แห่งเหล่าสัตว์ที่เกิดแล้วบ้าง
เพื่อความอนุเคราะห์เหล่าสัตว์ที่แสวงหาภพที่เกิดบ้าง
             อาหาร ๔ อย่าง คือ
             ๑. กวฬิงการาหาร อันหยาบ หรือละเอียด
             ๒. ผัสสาหาร
             ๓. มโนสัญเจตนาหาร
             ๔. วิญญาณาหาร
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อาหาร_4

             อาหาร ๔ เหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นชาติ เป็นแดนเกิด
             ตัณหา มีเวทนาเป็นเหตุ ...
             เวทนา มีผัสสะเป็นเหตุ ...
             ผัสสะ มีสฬายตนะเป็นเหตุ ...
             สฬายตนะ มีนามรูปเป็นเหตุ ...
             นามรูป มีวิญญาณเป็นเหตุ ...
             วิญญาณ มีสังขารเป็นเหตุ ...
             สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นชาติ เป็นแดนเกิด

             ๑/๒ สังขารทั้งหลายมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
             ๓ วิญญาณมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย
             ๔ นามรูปมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
             ๕ สฬายตนะมี เพราะ นามรูปเป็นปัจจัย
             ๖ ผัสสะมี เพราะสฬายตะเป็นปัจจัย
             ๗ เวทนามี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
             ๘ ตัณหามี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย
             ๙ อุปาทานมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย
             ๑๐ ภพมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
             ๑๑ ชาติมี เพราะภพเป็นปัจจัย
             ๑๒ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสมี เพราะชาติเป็นปัจจัย
             ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
             แล้วตรัสถามภิกษุก็ได้ความว่า ภิกษุเหล่านั้นเห็นตามดังที่พระองค์ตรัส

ปัจจัยแห่งความดับ
             ๑/๒ เพราะอวิชชาดับหมดมิได้เหลือ สังขารก็ดับ
             ๓ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
             ๔ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
             ๕ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
             ๖ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
             ๗ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
             ๘ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
             ๙ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
             ๑๐ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
             ๑๑ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
             ๑๒ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสก็ดับ
             ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
             แล้วตรัสถามภิกษุก็ได้ความว่า ภิกษุเหล่านั้นเห็นตามดังที่พระองค์ตรัส
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ปฏิจจสมุปบาท

             เมื่อรู้เห็น (ปฏิจจสมุปบาท) อยู่อย่างนี้ ย่อมไม่แล่นไปสู่ส่วนเบื้องต้นว่า
             ในอดีตกาล เราได้มีแล้ว หรือว่าไม่ได้มีแล้ว เราได้เป็นอะไรแล้วหรือ
ว่าเราได้เป็นแล้วอย่างไร หรือเราได้เป็นอะไรแล้ว จึงเป็นอะไร
             เมื่อรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่แล่นไปสู่ส่วนเบื้องปลายว่า
             ในอนาคตกาล เราจะมี หรือว่าจะไม่มี เราจะเป็นอะไร หรือว่าเราจะเป็นอย่างไร
หรือเราจะเป็นอะไรแล้ว จึงจะเป็นอะไร
             เมื่อรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ปรารภถึงปัจจุบันกาล ไม่สงสัยขันธ์ภายในว่า
             เราย่อมมี หรือว่าเราย่อมไม่มี เราย่อมเป็นอะไร หรือว่าเราย่อมเป็นอย่างไร
สัตว์นี้มาแล้วจากไหน สัตว์นั้นจะไป ณ ที่ไหน
             เมื่อรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่กล่าวว่า
             เพราะพระศาสดาเป็นครูของพวกเรา พวกเราต้องกล่าวตามพระศาสดา
ด้วยความเคารพต่อพระศาสดาเท่านั้น
             ย่อมไม่ยกย่องศาสดาอื่น
             ย่อมไม่เชื่อถือสมาทานวัตร (เช่น วัตรช้าง วัตรม้า) ไม่ตื่นเพราะทิฏฐิ
(ยึดมั่นความเห็นของตนว่า นี้จริง อย่างอื่นไม่จริง) และทิฏฐาทิมงคลของพวกสมณะ
และพราหมณ์ (การยึดถือรูปหรือเสียง เป็นต้น ว่าเป็นมงคล)
             สิ่งใดที่รู้เห็นทราบเองแล้ว พึงกล่าวถึงสิ่งนั้น
             สิ่งที่พระองค์ทรงสอนเห็นได้ด้วยตนเอง ซึ่งให้ผลไม่มีกาลคั่น
ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ธรรมคุณ_6

เหตุแห่งการเกิดในครรภ์
             เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการ ความเกิดแห่งทารกจะมี คือ
             เมื่อใดมารดาบิดาอยู่ร่วมกันด้วย มารดามีระดูด้วย ทารกที่จะมาเกิด
(คันธัพพะ) ก็ปรากฏด้วย
             มารดาย่อมรักษาทารกนั้นด้วยท้องเก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง
แล้วคลอดทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก
             และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้น ด้วยโลหิตของตนด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก
             น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิตในอริยวินัย
             เด็กนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย
ย่อมเล่นของเล่นสำหรับเด็ก พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕
             เด็กนั้นเห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมกำหนัดในรูปที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปที่น่าชัง
ย่อมเป็นผู้มีสติไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่
             ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรม
อันชั่วตามความเป็นจริง
             เป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้าย
(ความยินดี (อนุโรธะ) หมายถึงราคะ ความยินร้าย (วิโรธะ) หมายถึงโทสะ)
             เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ ในเวทนานั้น
             ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน
             เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
             เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
             เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
             ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
             อายตนะที่เหลือก็ตรัสนัยเดียวกัน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิมุตติ_2
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=เวทนา_3

             ตรัสพระพุทธคุณและเมื่อกุลบุตรได้ฟังธรรมแล้วเกิดศรัทธาออกบวช
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ ดังนี้
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พุทธคุณ_9

(มีต่อ)

ความคิดเห็นที่ 3-10
(ต่อ)
ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ
             (สิกขา หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
แต่ในที่นี้หมายถึง อธิสีลสิกขา
             สาชีพ หมายถึง แบบแผนแห่งความประพฤติที่ทำให้ชีวิตร่วมเป็นอันเดียวกัน
ได้แก่ สิกขาบททั้งปวงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย อันทำให้ภิกษุทั้งหลาย
ผู้มาจากถิ่นฐานชาติตระกูลต่างๆ กัน มามีความเป็นอยู่เสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน)
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สิกขา
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สาชีพ

             เขาเมื่อบรรพชาแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพของภิกษุทั้งหลาย คือ
             ๑. ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย
มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังผลประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง
             ๒. ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้
ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาด
             ๓. ละกรรมที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล
เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน
             ๔. ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ มีปกติพูดความจริง เชื่อมต่อคำจริง
มีคำพูดมั่นคง มีคำพูดที่ควรเชื่อถือ ไม่พูดให้คลาดเคลื่อนต่อชาวโลก
             ๕. ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น
เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน
             หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน
             สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง
             ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน
             กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน
             ๖. ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก
จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ
             ๗. ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง
พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด
ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร
             ๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
             (พืชคาม หมายถึงพืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้ว ยังสามารถงอกขึ้นได้อีก
             ภูตคาม หมายถึงของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่มี ๕ ชนิด คือ ที่เกิดจากเหง้า
เช่น กระชาย, เกิดจากต้น เช่น โพ, เกิดจากตา เช่น อ้อย, เกิดจากยอด เช่น ผักชี,
เกิดจากเมล็ด เช่น ข้าว)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=พีชคาม
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ภูตคาม

             ๙. ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล
(คืองดตั้งแต่หลังเที่ยงวันจนถึงเวลาอรุณขึ้น)
             ๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
             ๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมและ
เครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
             ๑๒. เว้นขาดจากการนอนบนที่นอนอันสูงใหญ่
             ๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
             ๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
(ธัญชาติ ๗ ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้)
             ๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
             ๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
             ๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส
             ๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
             ๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
             ๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
             ๒๑. เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน
             ๒๒. เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้
             ๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
             ๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอมและการโกงด้วยเครื่องตวงวัด
             ๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบแตลง
             ๒๖. เว้นขาดจากการตัด (อวัยวะ) การฆ่าการจองจำ การตีชิง การปล้น การกรรโชก

             ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สันโดษ

              ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษภายใน
             ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คืออภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยาก
ได้สิ่งของของผู้อื่น) และโทมนัส (ความทุกข์ใจ) ครอบงำนั้น ชื่อว่า รักษา ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
             ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ...
             ภิกษุดมกลิ่นด้วยฆานะ ...
             ภิกษุลิ้มรสด้วยชิวหา ...
             ภิกษุถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...
             ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่า รักษา ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
             ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสภายใน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อินทรีย์สังวร&detail=on

           ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ฯลฯ การพูด การนิ่ง
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ธรรมมีอุปการะมาก_2

             ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยสันโดษ อริยอินทรียสังวร และอริยสติสัมปชัญญะนี้
แล้ว ภิกษุนั้นย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง
             นั่งคู้บัลลังก์ (นั่งขัดสมาธิ) ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ละความเพ่งเล็งในโลก ละความประทุษร้าย
คือพยาบาท ละถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=นิวรณ์_5

             ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
อันเป็นเหตุตัดทอนปัญญาได้แล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน
จนถึง จตุตถฌาน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน_4

ความดับอกุศลธรรม
             ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในรูปที่น่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปที่น่าชัง
เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณไม่ได้
(มีโลกุตตรจิตหาประมาณไม่ได้ คือผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรคจิต)
             ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรม
อันชั่วตามความเป็นจริง
             ละความยินดียินร้าย เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่เพลิดเพลิน
ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น
             เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น ความเพลิดเพลิน
ในเวทนาทั้งหลายก็ดับไป
             เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ
             เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ
             เพราะภพดับ ชาติก็ดับ
             เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นก็ดับ
             ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นย่อมมีได้ อย่างนี้
             อายตนะที่เหลือก็ตรัสนัยเดียวกัน
             ตรัสว่า พวกเธอจงทรงจำตัณหาสังขยวิมุตติ
(เทศนาเป็นเหตุหลุดพ้นเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา) โดยย่อนี้
             จงทรงจำสาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรว่า เป็นผู้สวมอยู่ในข่ายตัณหา และกองตัณหาใหญ่
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
             ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

แก้ไขตาม #3-11, #3-13

ความคิดเห็นที่ 3-11
ฐานาฐานะ, 15 พฤษภาคม เวลา 03:52 น.  

GravityOfLove, 11 พฤษภาคม เวลา 18:59 น.
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             ๔. มหายมกวรรค
             ๘. มหาตัณหาสังขยสูตร ว่าด้วยสาติภิกษุมีทิฏฐิลามก
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=8041&Z=8506&bgc=seashell&pagebreak=0
6:58 PM 5/11/2013

             ย่อความได้ดีครับ รวบรวมประเด็นได้มาก.
             มีคำที่ควรแก้ไขดังนี้ :-

             เธอจะปรากฏ (ในนรก) ด้วยทิฏฐิอันลามกของตนนั้น เราจะสอบถามภิกษุทั้งหลายในที่นี้
             ไม่ควรเติมคำว่า  (ในนรก) ลงไป
             ดูกรโมฆบุรุษ เธอจักปรากฏด้วยทิฏฐิอันลามกของตนนั้น
             ควรแปลว่า
             ดูกรโมฆบุรุษ เธอจะเป็นผู้รับวิบากอันเป็นทุกข์ ด้วยทิฏฐิอันลามกของตนนั้น
             หรือว่า
             ดูกรโมฆบุรุษ เธอจะปรากฏเป็นผู้รับวิบากอันเป็นทุกข์ ด้วยทิฏฐิอันลามกของตนนั้น
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
             หากภิกษุทั้งหลายติดอยู่ เพลินอยู่ ปรารถนาอยู่ ยึดถือเป็นของเราอยู่ซึ่งทิฏฐินี้
อันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้
(ตามรักษาสัมมาทิฏฐิไว้ให้มั่นคง แต่อย่ายึดถือด้วยอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิ)
             ย่อมไม่สามารถรู้ทั่วถึงธรรมที่เปรียบด้วยทุ่น อันพระองค์ทรงแสดงแล้ว
เพื่อประโยชน์ในการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อยึดถือ
             หากภิกษุทั้งหลายไม่ติด ... ย่อมสามารถรู้ทั่วถึงธรรม ...

             คำในวงเล็บ มีทิศทางตรงข้ามกับเนื้อความที่นำไปขยาย ควรย้ายที่ขยายดังนี้ :-
             หากภิกษุทั้งหลายติดอยู่ เพลินอยู่ ปรารถนาอยู่ ยึดถือเป็นของเราอยู่ซึ่งทิฏฐินี้
อันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้
             ย่อมไม่สามารถรู้ทั่วถึงธรรมที่เปรียบด้วยทุ่น อันพระองค์ทรงแสดงแล้ว
เพื่อประโยชน์ในการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อยึดถือ
             หากภิกษุทั้งหลายไม่ติด ... ย่อมสามารถรู้ทั่วถึงธรรม ...
             (ตามรักษาสัมมาทิฏฐิไว้ให้มั่นคง แต่อย่ายึดถือด้วยอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิ)
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
.            สิ่งใดที่รู้เห็นทราบเองแล้ว พึงกล่าวถึงสิ่งนั้น
             สิ่งใดที่รู้เห็นทราบเองแล้ว พึงกล่าวถึงสิ่งนั้

ความคิดเห็นที่ 3-12
ฐานาฐานะ, 15 พฤษภาคม เวลา 04:06 น.

             คำถามในพระสูตรชื่อว่า มหาตัณหาสังขยสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=8041&Z=8506

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             2. ภิกษุสาติ ผู้เกวัฏฏบุตร ทำอกุศลกรรมอะไรบ้าง?

ความคิดเห็นที่ 3-13
GravityOfLove, 15 พฤษภาคม เวลา 07:39 น.

ขอบพระคุณค่ะ
แก้ไขย่อความเพิ่มเติม
พวกเธอย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเหมือนสาติภิกษุ กล่าวตู่เราดังนั้นหรือ? เป็น
พวกเธอย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้ว เหมือนสาติภิกษุกล่าวตู่เราดังนั้นหรือ?
-----------------------------------------------------------
             ตอบคำถามในพระสูตรชื่อว่า มหาตัณหาสังขยสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=8041&Z=8506

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว ได้อะไรบ้าง?
             ๑. วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น ไม่มีปัจจัยไม่ได้
วิญญาณไม่ได้ท่องไป ไม่ได้แล่นไป

              ๒. ธรรมทั้งปวง (ทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรม) ไม่ควรยึดมั่น
              นามธรรมที่ไปยึดมั่นนั้น เรียกว่า ตัณหามานะทิฏฐิ
              แต่ธรรมที่เป็นกุศลให้ตามรักษาไว้ให้มั่นคง

              ๓. ปัจจัยให้เกิด (ถ้าดับ ให้พิจารณาย้อนลูกศร) นามธรรม เป็นดังนี้
              อวิชชา --> สังขาร --> วิญญาณ --> นามรูป --> สฬายตนะ --> ผัสสะ --> เวทนา --> ตัณหา --> อาหาร ๔
              แล้วอาหาร ๔ ก็เวียนไปเป็นปัจจัยให้เกิิดดังนี้คือ
              - กวฬิงการาหาร อาหารหยาบเป็นปัจจัยเลี้ยงดูร่างกายหรือนามรูป
              - ผัสสาหาร ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
              - มโนสัญเจตนาหาร เจตนาเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำคือ สังขาร
              - วิญญาณาหาร วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

             ๔. ปฏิจจสมุปบาท

             ๕. เมื่อรู้เห็นความเกิดความดับขององค์ในปฏิจจสมุปบาทตามความเป็นจริง
             ย่อมไม่มีความสงสัยว่า ตนเองเป็นอะไร เป็นต้น ไม่ว่าในอดีต ในอนาคต หรือปัจจุบัน
             ย่อมไม่กล่าวว่า เชื่อเพราะศาสดาเป็นครู เป็นต้น เนื่องจากได้เห็นด้วยตนเอง
             ย่อมไม่ยกย่องศาสดาอื่น
             ย่อมไม่เชื่อถือสมาทานวัตร

             ๖. สิ่งที่พระองค์ทรงสอนเห็นได้ด้วยตนเอง ซึ่งให้ผลไม่มีกาลคั่น
ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน

             ๗. เหตุแห่งการเกิดในครรภ์ ต้องมีปัจจัย ๓ อย่างพร้อมกันคือ
             มารดาบิดาอยู่ร่วมกันด้วย มารดามีระดูด้วย ทารกที่จะมาเกิด
(คันธัพพะ) ก็ปรากฏด้วย

             ๘. ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ
------------------------------------------------------------
             2. ภิกษุสาติ ผู้เกวัฏฏบุตร ทำอกุศลกรรมอะไรบ้าง?
             มีความคิดว่าวิญญาณเที่ยง ซึ่งขัดกับคำสอนของพระผู้มีพระภาค
             พอพวกภิกษุกล่าวตักเตือน อธิบายให้ฟัง ก็ไม่เืชื่อ ไม่ยอมเปลี่ยนความคิด
             แม้เมื่อพระองค์ก็ตรัสตักเตือนแล้ว โดยตรัสเรียกเขาว่า โมฆะบุรุษ (บุรุษเปล่า)
ก็ยังคิดว่า พระองค์คงตรัสไปอย่างนั้นเอง เพราะเคยเห็นตัวอย่างว่า ผู้ที่พระองค์เคย
ตรัสเรียกดังนั้น ก็ยังบรรลุธรรมได้
             แสดงถึงความยึดติดในมิจฉาทิฎฐิอย่างเหนียวแน่น อย่างดิ่ง
             จนพระองค์ต้องตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวให้รับทราบพร้อมกันว่า
เขาเป็นโมฆะบุรุษจริง

ความคิดเห็นที่ 3-14
ฐานาฐานะ, 15 พฤษภาคม เวลา 08:23 น.  

GravityOfLove, 29 นาทีที่แล้ว
ขอบพระคุณค่ะ
แก้ไขย่อความเพิ่มเติม
พวกเธอย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเหมือนสาติภิกษุ กล่าวตู่เราดังนั้นหรือ? เป็น
พวกเธอย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้ว เหมือนสาติภิกษุกล่าวตู่เราดังนั้นหรือ?
-----------------------------------------------------------
             ตอบคำถามในพระสูตรชื่อว่า มหาตัณหาสังขยสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=8041&Z=8506
7:39 AM 5/15/2013

             ตอบคำถามได้ดี
             ข้อ 1. คำว่า - มโนสัญเจตนาหาร เจตนาเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำคือ สังขาร
             นำคำอธิบายนี้มาจากไหน?

             คำว่า ย่อมไม่เชื่อถือสมาทานวัตร
             ควรเพิ่มเติมว่า ย่อมไม่เชื่อถือสมาทานวัตรนอกพระศาสนา ไม่ถือมงคลตื่นข่าว.

             ข้อ 2. ภิกษุสาติ ผู้เกวัฏฏบุตร ทำอกุศลกรรมอะไรบ้าง?
             1. เป็นมิจฉาทิฏฐิแนบแน่น
             2. กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ...
             ดูกรโมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย
จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว
             ดูกรโมฆบุรุษ ก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์
เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน.

ความคิดเห็นที่ 3-15
GravityOfLove, 15 พฤษภาคม เวลา 08:52 น.

             ข้อ 1. คำว่า - มโนสัญเจตนาหาร เจตนาเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำคือ สังขาร
             นำคำอธิบายนี้มาจากไหน?

             คิดเองค่ะ

ความคิดเห็นที่ 3-16
ฐานาฐานะ, 15 พฤษภาคม เวลา 09:09 น.

GravityOfLove, 5 นาทีที่แล้ว
             ข้อ 1. คำว่า - มโนสัญเจตนาหาร เจตนาเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำคือ สังขาร
             นำคำอธิบายนี้มาจากไหน?
             คิดเองค่ะ
8:52 AM 5/15/2013

             เป็นอย่างนี้นี่เอง. เจตนา คือกรรม
             นิพเพธิกสูตร [บางส่วน]
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม
บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=22&A=9611&w=เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม

             มโนสัญเจตนาหาร (สังขาร) เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ.

             อรรถกถาสัมมาทิฏฐิสูตร [บางส่วน]
             อธิบายว่า กวฬิงการาหารเป็นปัจจัยพิเศษของรูปกายของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา ผัสสาหารเป็นปัจจัยพิเศษของเวทนาในหมวดนาม
มโนสัญเจตนาหารเป็นปัจจัยพิเศษของวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยพิเศษของนามรูป.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=110&p=2

ความคิดเห็นที่ 3-17
GravityOfLove, 15 พฤษภาคม เวลา 09:18 น.

Gravity ตอบไม่ครอบคลุมใช่ไหมคะ

ย้ายไปที่



Create Date : 25 มิถุนายน 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 6:44:33 น.
Counter : 935 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



มิถุนายน 2556

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
27
28
29
30
 
 
All Blog