Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
21 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 

“น้ำแข็งติดไฟ”ขุมพลังงานอนาคต



ในปัจจุบันกล่าวได้ว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกหากคิดจะทำการใดต้องคำนึงถึงการปกป้องโลกไปด้วยพร้อมๆ กัน
เช่นเดียวกับการขวนขวายหาแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ๆ มาใช้ต้องพยายามให้เป็นมิตรต่อโลกมากที่สุด
ในจำนวนนี้ยังมี “น้ำแข็งติดไฟ” หรือ “มีเทนแข็ง” ที่นับเป็นอีกขุมพลังงานแห่งอนาคตที่โลกไม่อาจมองข้าม
ซึ่งหลายชาติขยับตัวหวังเร่งพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำพลังงานรูปแบบใหม่นี้มาใช้ในเชิงพาณิชย์ให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ วิกฤตพลังงานเป็นสิ่งที่สัมผัสได้
โดยเฉพาะเมื่อโลกเคยผ่านประสบการณ์น้ำมันแพง และขาดแคลนมาแล้วหลายครั้ง
ย่อมตระหนักดีว่าพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมันไม่ยั่งยืน
ใช้แล้วย่อมมีวันหมดไป แหล่งพลังงานใหม่ๆ จึงมีความจำเป็น ตราบใดที่ชาวโลกยังต้องใช้เพื่อดำรงชีวิต

จากรายงานภาพรวมเศรษฐกิจและความต้องการพลังงานโลกปี 2009 ของสำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐ
(EIA) คาดว่าความต้องการพลังงานทุกรูปแบบทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 44% นับจากปี 2006-2030
หรือเฉลี่ยปีละ 1.7% จาก 472 quadrillion Btu (1 quad = น้ำมัน 25,200,000 ตัน) ในปี 2006
เป็น 678 quadrillion Btu ในปี 2030 ขณะนี้เชื่อว่ายังเหลือเชื้อเพลิงฟอสซิลสำรองไว้ใช้อีกไม่นานนัก
ซึ่งอาจมีน้ำมันเหลือใช้อีกราว 43 ปีเท่านั้น ส่วนก๊าซธรรมชาติประมาณ 167 ปี และถ่านหินประมาณ 417 ปี


“มีเทนแข็ง” พลังงานสะอาดใหม่

สำหรับพลังงานทดแทนที่กำลังพยายามนำมาใช้ในปัจจุบัน
เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานคลื่น และพลังงานชีวมวล
ส่วนแหล่งพลังงานใหม่ที่น่าจับตามอง ได้แก่ “Methane hydrate” หรือเรียกว่า Methane ice หรือ Gas hydrate
ซึ่งเป็นก๊าซธรรมชาติที่มีมีเทนเป็นส่วนใหญ่ ถูกอัดสะสมอยู่ใต้ดินและชั้นตะกอนใต้มหาสมุทร
ภายใต้ภาวะอุณหภูมิต่ำและความกดอากาศสูงจนมีสภาพเป็นผลึกน้ำแข็ง ซึ่งเรียกกันว่า “มีเทนแข็ง”
หรือ “น้ำแข็งติดไฟ” (igintion ice) เพราะเมื่อเจอประกายไฟจะเผาไหม้ได้ทันที

มีเทนแข็งมีคุณสมบัติดีตรงที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจกตัวการของภาวะโลกร้อน
เป็นปริมาณน้อยกว่าพลังงานทุกชนิดที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล

ที่สำคัญ นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า
มีปริมาณมากกว่าน้ำมันถ่านหินและก๊าซธรรมชาติแบบเดิมๆ รวมกัน หรือประมาณ 700,000 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
ซึ่งมีเทนแข็งขนาดเพียง 1 ลูกบาศก์เมตรสามารถให้ก๊าซธรรมชาติปรกติได้มากถึง 164 ลูกบาศก์เมตร


หลายชาติเดินหน้า-เร่งนำมาใช้
ขณะนี้มีหลายประเทศสนใจและศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อหวังนำมีเทนแข็งมาใช้ทดแทนพลังงานชนิดอื่น
ตัวอย่างประเทศที่เคลื่อนไหวล่าสุด ได้แก่ จีน
โดยนายหลัว ฮุ่ยหนิง ผู้ปกครองมณฑลชิงไห่ทางภาคตะวันตกของจีน
ประกาศเดินหน้าสำรวจพลังงานสะอาดใหม่นี้อย่างต่อเนื่อง หลังค้นพบว่าในเดือนกันยายนปีกลายบนที่ราบสูง
ที่มีอากาศหนาวเย็นชิง ไห่-ทิเบตเป็นแหล่งที่มีเทนแข็ง
เฉพาะในพื้นที่นี้มีมีเทนแข็งมากเท่ากับน้ำมันอย่างน้อย 35,000 ล้านตัน ซึ่งมากพอให้จีนใช้ไปได้นานถึง 90 ปี
โดยจะอนุญาตให้บริษัทพลังงานใหญ่ๆ และนักวิจัยร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำพลังงานดังกล่าวมาใช้
โดยให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งเชื่อว่าจะได้ใช้ภายใน 10-15 ปี

ด้านเกาหลีใต้ประกาศแผนทุ่มงบประมาณ 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขุดเจาะมีเทนแข็งในเดือนเมษายนนี้
หลังจากพบว่าบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศซึ่งประเมินว่ามีมากถึง 600 ล้านตัน
เพียงพอสำหรับให้โสมขาวใช้ได้นานถึง 30 ปี ส่วนญี่ปุ่นตั้งเป้าผลิตมีเทนแข็งเชิงพาณิชย์ภายในปี 2017
หลังจากต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเกือบทั้งหมดมาโดยตลอด

ด้านไต้หวันเริ่มโครงการวิจัยเทคโนโลยีมีเทนแข็งมาตั้งแต่ปี 2004
เพราะมีทรัพยากรดังกล่าวอยู่มากในใต้ท้องทะเลทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ รอบนครเกาสงและเกาะเหิงชุน
คาดว่ามีประมาณ 500,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถใช้เป็นพลังงานได้มากกว่า 65 ปี
โดยตั้งเป้าจะร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศขุดเจาะ และผลิตได้สำเร็จภายในปี 2012

สำหรับสหรัฐสำรวจพบมีเทนแข็งในหลายพื้นที่ เช่น แถบ North Slope มลรัฐอลาสกา
แต่ขุมพลังงานใหญ่จะอยู่บริเวณอ่าวเม็กซิโก นอกชายฝั่งมลรัฐเทกซัสและลุยเซียนา
สำนักงานบริหารทรัพยากรและแร่ธาตุของสหรัฐประเมินว่ามีประมาณ 6,700 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
ซึ่งมากพอให้ชาวอเมริกันใช้ไปนานถึง 290 ปี

ที่น่าสนใจคือ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อาจสามารถนำเทคนิคการผลิตและสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ที่ใช้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีอยู่แล้วของบริษัทพลังงานในอ่าวเม็กซิโกมาใช้ได้
ซึ่งอาจเดินหน้าผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2010


เลี่ยงผลกระทบน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยภาพรวม
ขณะนี้มีการเสนอแนวคิด เพื่อผลิตเชื้อเพลิงสะอาดใหม่เชิงพาณิชย์ไม่มากนัก เช่น
ใช้วิธีลดความดันเพื่อให้มีเทนแข็งเปลี่ยนสภาพเป็นก๊าซ
และใช้วิธีให้ความร้อนเพื่อให้มีเทนเปลี่ยนสภาพเป็นก๊าซ หรือเปลี่ยนสถานะทางเคมี
ซึ่งแนวทางแรกได้รับความสนใจมากที่สุด

แต่การผลิตจริง ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย และต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน
อาทิ ความคุ้มค่าของพลังงานที่ใช้และสกัดได้
การควบคุมอุณหภูมิและความดันที่เหมาะสม ต่อการเก็บกักก๊าซที่ปล่อยออกมาในปริมาณมากที่สุด
รวมถึงมีความสะดวกในการผลิตและขนส่ง
อีกทั้งต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยเฉพาะต่อชั้นดิน เพราะอาจทำให้แผ่นดินยุบตัวได้

นอกเหนือจากนั้นต้องไม่ลืมว่ามีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ร้ายกาจ
สามารถดักจับความร้อนได้เหนือกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่าตัว
ดังนั้น หากมีเทนแข็งบางส่วนไม่เสถียร เปลี่ยนสถานะไปเป็นของเหลวหรือก๊าซรั่วไหลออกไปได้เมื่อถูกก่อกวน
นั่นจะหมายถึงการปลดปล่อยให้มีเทนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่ม ซ้ำเติมภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นอยู่ได้นั่นเอง


โดย : สิริรัตน์ วารี
ที่มา : //www.dailyworldtoday.com




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2553
2 comments
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 15:10:39 น.
Counter : 2609 Pageviews.

 

คุณอนันต์ โทษมหันต์

 

โดย: ปปป IP: 111.235.68.2 22 มิถุนายน 2553 14:02:04 น.  

 

อีกไม่นานทรัพยากรจะหมดไปถ้าคนยังไม่หัดคิดประดิษฐ์พลังงานใช้เอง

 

โดย: /-/-/-/-/-/-/-/* IP: 223.204.84.224 7 มิถุนายน 2554 6:11:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.