เด็กขี้สงสัยโต๊ะ79
Group Blog
 
All Blogs
 

ตัวเลขเปรียบเทียบทางเศรษฐกิจระหว่างปี ๑๙๙๘ กับปี ๒๐๐๕

ตัวเลขเปรียบเทียบทางเศรษฐกิจระหว่างปี ๑๙๙๘ กับปี ๒๐๐๕

//www.geocities.com/rasputin9006/economic/eco_part_8.htm




 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 1:18:16 น.
Counter : 675 Pageviews.  

๑๐ เหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ ปี ๒๐๐๕




๑๐ เหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ ปี ๒๐๐๕

๑. รัสเซียจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด โดยจ่ายมากกว่า ๑ ใน ๓ ของหนี้สินกลุ่ม Paris Club และจ่ายคืนหนี้สินทั้งหมดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

๒. ภายหลังจากที่ตลาดหุ้นรัสเซีย (Russian Trading System-RTS) ไม่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่าง ยาวนาน ปรากฏว่าปี ๒๐๐๕ ตลาดหุ้นรัสเซียปรับตัวมายืนสูงกว่า ๑,๐๐๐ จุดในเดือน ก.ย. ๒๐๐๕ เป็นการปรับตัวสูงกว่าร้อยละ ๘๒ ของปี ๒๐๐๕ ขณะที่ปี ๒๐๐๔ มีการปรับตัวสูงเพียงร้อยละ ๓.๖

๓. กองทุนพยุงเศรษฐกิจ (Stabilization Fund) ของรัสเซีย ซึ่งจัดตั้งมาจากรายได้ของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ได้บรรลุจุดสูงสุดที่ ๑.๕ ล้านล้านรูเบิล (ประมาณ ๕๒ พันล้านเหรียญ) เมื่อสิ้นสุดปี ๒๐๐๕ โดยเป็นการปรับเพิ่มสูงขึ้น ๓ เท่าของปี ๒๐๐๔ (กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ ๑ ม.ค.๒๐๐๔)

๔. สถาบันจัดอันดับ Standard & Poor’s ได้จัดอันดับรัสเซียเป็นประเทศที่น่าลงทุนในปี ๒๐๐๕ หลังจากที่สถาบันจัดอันดับอื่น ๆ ได้จัดอันดับแก่รัสเซียไปแล้ว โดย Moody’s ให้เมื่อปี ๒๐๐๓ และ Fitch ให้เมื่อปี ๒๐๐๔

๕. บริษัท Gazprom ยักษ์ใหญ่ (ผูกขาดแต่ผู้เดียว) ด้านก๊าซของรัสเซียได้รับการผ่อนคลายการควบคุมจากรัฐบาล โดยบริษัทสามารถถือหุ้นตนเองมากกว่าร้อยละ ๕๐ และในสิ้นสุดปี ๒๐๐๕ ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถถือครองหุ้น Gazprom ได้มากกว่าร้อยละ ๒๐

๖. รัสเซีย และยุโรปได้ดำเนินการสำคัญเกี่ยวกับการส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรปโดยไม่ผ่านประเทศตัวกลาง ซึ่งก็คือการประกาศสร้างท่อก๊าซ North European Gas Pipeline จากตอนเหนือรัสเซีย-ทะเลบอลติก - ยุโรปโดยตรง (เยอรมนี - เนเธอร์แลนด์ - สวีเดน)

๗. การปรับตัวสูงขึ้นโดยไม่คาดคิดของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงกว่า ๗๐ เหรียญต่อบาร์เรล ทำให้รัสเซียมีฐานะการเงินดีขึ้น สามารถใช้หนี้คืนได้มากมายและมีบทบาทสำคัญในตลาดน้ำมันโลกในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่นอกกลุ่ม OPEC

๘. ราคาทองคำในตลาดโลกสูงถึง ๕๔๐ เหรียญต่อออนซ์ ในกลางเดือน ธ.ค.๒๐๐๕ ซึ่งสูงที่สุดในรอบ ๒๕ ปี

๙. กฏหมายเกี่ยวกับระบบการเงินที่ประกาศใช้เมื่อ ๑ ม.ค.๒๐๐๕ ในการชดเชยเงินสวัสดิการต่าง ๆ ได้ก่อให้เกิดการประท้วงของประชาชนชาวรัสเซียที่เคยได้รับสวัสดิการ รัฐบาลได้ออกมายอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการดำเนินการ

๑๐. ศาลได้ตัดสินคดีนาย Mikhail Khodorkovsky เจ้าของและนาย Platon Lebedev ผู้บริหารของบริษัท Yukos อดีตยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันของรัสเซียว่า มีความผิดจริงในการยักยอกเงินภาษีของรัฐ ภายหลังจากได้ดำเนินการไตร่สวนคดีกว่า ๑๒ เดือน

๑๐ ม.ค.๔๙










 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 1:17:21 น.
Counter : 658 Pageviews.  

ภาพรวมและสถานะทางเศรษฐกิจของรัสเซียในปี ๒๕๔๗ – ๔๘



ภาพรวมและสถานะทางเศรษฐกิจของรัสเซียในปี ๒๕๔๗ – ๔๘


๑. ภาพรวมทางเศรษฐกิจปี ๒๕๔๗

ในปี ๒๕๔๗ บรรยายกาศทางการเมืองในรัสเซียค่อนข้างมีความอ่อนไหวต่อการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนของต่างชาติ สืบเนื่องมาจากความไม่ลงรอยและการขับเคี่ยวระหว่างรัฐบาลและธุรกิจรายใหญ่ๆ โดยเฉพาะการดำเนินการของรัฐบาลรัสเซียต่อกรณีปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทน้ำมันยูคอส (Yukos) และตามมาด้วยการดำเนินการในเรื่องภาษีกับบริษัทขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่งมีผลต่อภาพลักษณ์ และความไว้วางใจในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลรัสเซียต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในสายประเทศผู้ลงทุนต่างชาติ แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโดยรวมของรัสเซียยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่าน ๆ มา และอยู่ในระดับเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีปัจจัยที่บ่งชี้คือ

- การผลิตด้านอุตสาหกรรมมีการขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้

- รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้นประมาณ ๗.๔% ในขณะที่อัตราความยากจนลดต่ำลง (จำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่ง ความยากจน ลดลงจาก ๒๐.๔% ในปี ๒๕๔๖ เหลือ ๑๙% ในปี ๒๕๔๗)

- การว่างงานลดลง

- การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงเป็นระดับ ๙.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คือ การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออก เพราะสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของรัสเซียมีความกระเตื้องขึ้น และการขยายตัวของอุปสงค์การบริโภคสินค้า และบริการในประเทศรัสเซีย ทั้งนี้ภาคการผลิตมีการขยายตัวสูง คือ อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง การก่อสร้าง และการเกษตร ซึ่งเป็นผลผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกในประเทศขยายตัวตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญที่ตามมาจากการที่รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น และมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าเงินรูเบิลที่เพิ่มขึ้น คือ ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตรา ๑๑.๗% และสูงกว่าระดับ ๑๐% ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งนี้ เงินรูเบิลมีค่าแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๔๗ มีค่าเพิ่มขึ้น ๑๔.๐% เมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปี ๒๕๔๖ และ ๖.๐% เมื่อเทียบกับเงินยูโร

๒. เศรษฐกิจในช่วง ๕ เดือนแรกของปี ๒๕๔๘

สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๔๘ มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจรัสเซียยังแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง บริษัท Standard and Poors และ Moody’s ได้จัดให้รัสเซียเป็นประเทศที่อยู่ในระดับน่าลงทุน อย่างไรก็ตาม การขยายตัวสำหรับอุตสาหกรรมและธุรกิจบางสาขาเริ่มชะลอตัวลงมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปี ๒๕๔๗ และต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกปี ๒๕๔๘ อันเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ากำลังการผลิต รวมทั้งภาวะขัดแย้งและความคลุมเครือของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและภาคธุรกิจ ซึ่งมีผลต่อความไม่มั่นใจในการลงทุนของต่างชาติ

รัฐบาลยังคงหาทางที่เหมาะสมในการใช้เงินส่วนเกินจากกองทุนพยุงเสถียรภาพ (Stabilization Fund) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และให้ความสำคัญต่อการพิจารณาแผนงานเศรษฐกิจระยะกลาง (Medium Term Economic Program) เพื่อเป็นแม่บทในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและภาคสังคม โดยมุ่งเน้นที่การสร้างความเข้มแข็งการผลิตในสาขาอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพาเฉพาะสาขาพลังงาน รวมทั้งเจรจากับประเทศเจ้าหนี้กลุ่ม Paris Club เพื่อชำระหนี้ก่อนกำหนด โดยใช้ประโยชน์จากเงินส่วนต่างของกองทุน Stabilization Fund ดังกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน มกราคม – พฤษภาคม ๒๕๔๘ ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของรัสเซียน่าจะยังมีการขยายตัวในระดับที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๔๖ การขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มเป็น ๔.๒% การลงทุนมีอัตราขยายตัว ๙.๘% รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น ๕.๖% อัตราว่างงานลดลงในระดับ ๙% และค่าแรงเพิ่ม ๘.๗% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ๗.๓%

๓. นโยบายของรัฐ :

ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการในหลายๆ ด้านเพื่อการรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญ ๆ คือ

- นโยบายการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๗ ธนาคารกลางของรัสเซียได้เริ่มใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบยืดหยุ่นขึ้น และในต้นปี ๒๕๔๘ ได้ประกาศปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจากที่เคยอิงค่าเงินรูเบิลกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว มาเป็นอิงกับเงินยูโรและเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อควบคู่ค่าเงินรูเบิลให้มีเสถียรภาพขึ้น โดยเริ่มต้นถ่วงน้ำหนักในอัตรา ๑๐:๙๐ และปรับเพิ่มเป็นอัตรา ๒๐ : ๘๐ ในเดือนมีนาคม ๒๕๔๘ โดยธนาคารกลางยังควบคุมค่าเงินรูเบิลให้มีค่าแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต่อเงินหลักต่าง ๆ อ่อนตัวลง ๑ USD/๒๙.๒ รูเบิลในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๗ เป็นต่ำกว่า ๑ USD/ ๒๘ รูเบิล จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

- นโยบายการคลัง : ในปี ๒๕๔๗ งบประมาณภาครัฐได้ดุลและมีมูลค่าส่วนเกินสูงกว่าที่ประมาณการณ์ไว้จำนวนมาก ในอัตรา ๔.๒% ของ GDP ซึ่งมากกว่าในปี ๒๕๔๖ ที่มีสัดส่วน ๐.๕% ของ GDP เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้เงินกองทุนพยุงเสถียรภาพ (Stabilization Fund) มีมูลค่าเป็น ๕๒๒ พันล้านรูเบิล หรือ ๓.๑% ของ GDP ในสิ้นปี ๒๕๔๗ และเพิ่มเป็น ๗๐๘ พันล้านรูเบิลในสิ้นเดือน มีนาคม ๒๕๔๘ รัฐบาลจึงได้ใช้นโยบายนำเงินส่วนเกินของกองทุน ฯ ดังกล่าวไปในการชำระหนี้ IMF ครบตามจำนวน ๙๓.๕ พันล้านรูเบิล และเจรจาใช้หนี้ประเทศเจ้าหนี้กลุ่ม Paris Club ก่อนครบกำหนดชำระ อย่างไรก็ตาม ในปี ๒๕๔๘ แม้รัฐบาลจะมีรายรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงดำเนินนโยบายการคลังแบบระมัดระวังโดยไม่เพิ่มงบประมาณใช้จ่ายให้สูงขึ้นตามรายได้ที่เพิ่ม แต่คงรักษาระดับรายจ่ายในอัตรา ๑๖% ของ GDP เช่นเดียวกับปีก่อน ๆ หน้า และในปี ๒๕๔๘ ก็จะคงอยู่ในระดับเดียวกัน (ประมาณ ๑๖.๓%)

- เนื่องจากงบประมาณภาครัฐมีการได้เปรียบดุลสูง จึงได้สร้างความกดดันอย่างรุนแรงต่อภาคสังคมและการเมือง เพื่อให้รัฐเพิ่มงบประมาณที่จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจและสังคม ซึ่งมีผลให้รัฐต้องพิจารณามาตรการสนับสนุนการลงทุนต่าง ๆ โดยเน้นไปที่โครงการลงทุนภาครัฐ การลดอัตราภาษี การผ่อนปรนการเรียกเก็บภาษีจากบริษัทรัสเซีย การให้สินเชื่อการลงทุน และการเพิ่มงบประมาณในภาคสังคม ซึ่งในแผนงบประมาณปี ๒๕๔๙ รัฐบาลมีแผนที่จะเพิ่มงบประมาณในด้านสวัสดิการสังคมในระยะปานกลางในหลาย ๆ ด้าน เช่น การขึ้นเงินเดือนเป็นเท่าตัว การเพิ่มเงินบำนาญ เป็นต้น

ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราเงินเฟ้อลงให้เหลือในระดับ ๘ – ๑๐% และเพิ่มรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้น ๑๐% และจะเพิ่ม GDP ให้สูงขึ้นอีกเท่าตัวในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า และลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมันลง โดยกระจายการพัฒนาอุตสาหกรรมสาขาอื่นๆ ยังคงเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลรัสเซีย

๔. ภาพรวมการผลิตภายในประเทศ

- ภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Industrial output) มีการขยายตัวในอัตรา ๗.๑% ซึ่งชะลอตัวลงเล็กน้อยจากอัตรา ๗.๓% ในปี ๒๕๔๖ และในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ.๒๕๔๘ อุตสาหกรรมส่วนมากยังคงขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลง อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวสูงสุดคือวัถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พลังงานและเชื้อเพลิง เหล็ก แต่ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมประเภทเครื่องจักรกล (เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์และเครื่องจักรสำหรับการขนส่ง) เคมีภัณฑ์ โลหะ และอาหาร เป็นสาขาที่มีสัดส่วนการขยายตัวในอัตราสูงนอกเหนือจากวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ และสำหรับอุตสาหกรรมประเภทที่มิใช่การผลิตที่มีการขยายตัวมากที่สุดคือ การก่อสร้าง การค้าปลีก และการขนส่ง ในขณะที่อุตสาหกรรมเบามีการผลิตลดลงในระดับ ๗.๕%

สาเหตุหลักที่ทำให้อัตราการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมลดลง สืบเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินรูเบิลมีค่าแข็งขึ้น ราคาพลังงานสูงขึ้น และค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

- ภาคการเกษตร (Agricultural output) มีการขยายตัวจากปี ๒๕๔๖ ในอัตรา ๑.๖% แต่ปริมาณการผลิตประเภท ผลิตภัณฑ์ประเภท เนื้อ นม และไข่ ลดต่ำลง การผลิตธัญพืชเพิ่มขึ้น ๑๖.๒% จากปี ๒๕๔๖

๕. การลงทุนจากต่างประเทศ

๕.๑ แม้ว่า ในปี ๒๕๔๗ ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชนซี่งมีผลมาจากกรณีการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทน้ำมัน Yukos ของรัสเซีย จะมีผลกระทบให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจในรัสเซียไม่ราบรื่นเท่าที่ควร แต่การลงทุนจากต่างประเทศในรัสเซียก็ยังขยายตัวในระดับดี เพราะผลที่มาจากปัจจัยและสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี และความต้องการของการบริโภคสินค้าที่มีการผลิตในประเทศขยายตัว ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนและการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าของธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ

๕.๒ การลงทุนแบบเงินคงที่ (Fixed capital) เพิ่มขึ้น ๑๐.๙% เมื่อเทียบกับอัตรา ๑๒.๕% ในปี ๒๕๔๖ การลงทุนที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดคือสาขาการก่อสร้าง ซึ่งมีการทำสัญญาดำเนินโครงการต่างๆ สูงกว่าปี ๒๕๔๖ ในระดับ ๑๐.๑% ส่วนมากเป็นการก่อสร้างที่พักอาศัย

๕.๓ การลงทุนโดยตรง (FDI) มีมูลค่า ๙.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก ๖.๘ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๔๖ ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่า FDI สูงสุดที่เคยมี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบเงินทุนไหลเข้าประเทศจากด้านอื่นๆ แล้ว ปรากฏว่าเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าไปในรัสเซียส่วนใหญ่ คือเงินกู้จากธนาคารต่างประเทศมากกว่า FDI โดยมีจำนวนถึง ๒๖.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๔๗

ทั้งนี้ รัฐบาลรัสเซียประเมินว่า ในปี ๒๕๔๘ เงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในรัสเซียจะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า ๑๐๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศที่มีการลงทุนสูงสุดในรัสเซีย คือ อังกฤษ เยอรมัน ไซปรัส (คือเงินทุนรัสเซียที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายไซปรัส) และสหรัฐฯ

๖. การค้าระหว่างประเทศ

๖.๑ ในปี ๒๕๔๗ มูลค่าการค้าต่างประเทศของรัสเซียมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๖ โดยมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นเป็น ๒๗๘.๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น ๓๑.๑% เป็นมูลค่าการส่งออกจำนวน ๑๘๓.๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว ๓๔.๘% และการนำเข้า ๙๔.๘ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้น ๒๔.๗% ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดนับแต่ปี ๒๕๓๗ โดยรัสเซียได้เปรียบดุลการค้า ๘๘.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

๖.๒ การที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นสืบเนื่องมาจากราคาของสินค้าหลักที่รัสเซียส่งออก มีราคาสูงขึ้นในตลาดโลก (น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ โลหะที่มิใช่เหล็ก เหล็ก รวมทั้ง อลูมิเนียม ทองแดง และนิเกิล) ซึ่งมีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ ๒๑% ที่ระดับราคา ๓๔.๖ ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และการส่งออกสินค้าแต่ละชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้น นอกจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์แล้ว สินค้าส่งออกหลักอื่นๆ ยังคงกระจุกตัวอยู่ที่สินค้าประเภท commodities คือ โลหะ เหล็ก เครื่องจักรยานยนต์และอุปกรณ์ ไม้ อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันยังเป็นสินค้าส่งออกหลักซึ่งมีสัดส่วน ๕๘.๑% ของการส่งออกทั้งหมด

๖.๓ สำหรับการนำเข้า มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากปี ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการนำเข้าสูงขึ้นในสินค้าหลายราการ โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรกล ยานยนต์และอุปกรณ์ เหล็ก เคมีภัณฑ์ อีกทั้งราคาสินค้านำเข้าหลายรายการที่มีการทำสัญญาซื้อขายไว้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ อาหาร วัตถุดิบสำหรับการผลิต โดยการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการลงทุนมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วกว่าสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งขยายตัวในอัตรา ๔๐% จากปี ๒๕๔๖ สินค้านำเข้าที่มีการขยายตัวในปริมาณสูงคือ เครื่องจักร และอุปกรณ์สำหรับการขนส่ง (๔๕.๓%) รถยนต์ (๑๕๐%) และรถบรรทุก (๒๒%)

๖.๔ รัสเซียยังจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในราคาและปริมาณที่สูงขึ้น โดยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทที่มิใช่อาหารเพิ่มขึ้น ๒๐ % (เวชภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า) และมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น ๑๒% และสินค้าอาหารหลักที่มีปริมาณการนำเข้าสูง คือ นมข้นหวาน ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และผลไม้กระป๋องประเภทมะนาว น้ำตาลดิบ เนย น้ำมัน กาแฟ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโกโก้

๖.๕ ทั้งนี้ โครงสร้างการค้าต่างประเทศของรัสเซียเริ่มเปลี่ยนไป โดยเป็นการค้ากับประเทศที่มิใช่อดีตสหภาพโซเวียต (Non-CIS) มากขึ้น ซึ่งมีมูลค่าการค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่องมูลค่าการส่งออกไปประเทศเหล่านี้มีจำนวน ๑๕๒.๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัวเพิ่มขึ้น ๓๓.๕% จากปี ๒๕๔๕) การนำเข้ามีมูลค่า ๗๕.๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น ๒๓.๒%) ส่วนการค้ากับประเทศ CIS มีมูลค่าการส่งออก ๓๐.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัว ๔๑.๘% จากปี ๒๕๔๖) และการนำเข้า ๓๐.๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัว ๑๙.๗%)

๗. การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)

รัสเซียได้ดำเนินการเจรจากับคณะผู้แทน WTO ที่นครเจนีวา รวมทั้งเจรจาทวิภาคีกับประเทศสมาชิก WTO ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันสามารถบรรลุข้อตกลงกับประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญจำนวน ๓๓ ประเทศ ล่าสุดคือ ประเทศนอรเวย์และเม็กซิโก อย่างไรก็ตาม การเจรจาเป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะยังมีปัญหาและเงื่อนไขหลายประการที่รัสเซียยังมีจุดยืนที่ไม่สามารถยินยอมผ่อนปรนตามข้อเรียกร้องของประเทศต่าง ๆ ได้เพราะจะเกิดผลกระทบทางการเมืองและอุตสาหกรรมในประเทศ ประเด็นสำคัญ เช่น

- การให้รัสเซียเพิ่มราคาพลังงานเชื้อเพลิง (ก๊าซธรรมชาติ) ภายในประเทศ
- การปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อผูกพันระหว่างประเทศเรื่องภาษีพลังงาน
- การเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมเครื่องบิน โดยการให้รัสเซียลดราคานำเข้าเครื่องบิน
- การอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติและธุรกิจประกันภัยเปิดสำนักงานตัวแทน (Subsidiaries) ในรัสเซีย

ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดว่า ปัญหาที่คั่งค้างอยู่ต่าง ๆ ดังกล่าว น่าจะสามารถตกลงได้ในช่วยปลายปี ๒๕๔๘ และรัสเซียน่าจะมีโอกาสเข้าเป็นสมาชิก WTO ได้ในปี ๒๕๔๙

๘. ข้อสังเกต

๘.๑ สิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องและกังวลของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนของรัสเซีย คือ ความจำเป็นที่ต้องเร่งสร้างความยั่งยืนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาตลอด ๕ ปี โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นผลเกื้อหนุนสำคัญมาจากราคาส่งออกสินค้าประเภท Commodities โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซ ซึ่งเป็นสินค้าหลักของรัสเซีย ที่ได้อานิสงส์มาจากราคาในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง และยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินรูเบิลแข็งตัว ราคาวัตถุดิบและค่าแรงที่ถีบตัวสูงขึ้น และศักยภาพการผลิตที่ถดถอยลง ฝ่ายต่างๆ ในรัสเซียจึงได้เรียกร้องให้รั้ฐบาลให้ความสำคัญแสวงหามาตรการเพิ่มศักยภาพทางการผลิตในสาขาอื่น ๆ นอกเหนือจากการผลิตที่เกี่ยวกับวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การลดภาษี ให้สินเชื่อการลงทุน ปฏิรูปโครงสร้างบริหารราชการ จัดตั้งกองทุนพัฒนาและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

๘.๒ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่ารัสเซีย แต่กลับมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับเดียวกัน สามารถสะท้อนได้ว่า สิ่งที่ขาดหายไปในระบบเศรษฐกิจของรัสเซีย คือการสร้างความแข็งแกร่งในภาคการผลิตสินค้าสำหรับการบริโภคทั้งภายในประเทศ และการส่งออก ซึ่งรัฐบาลรัสเซียตระหนักในข้อนี้ และเห็นความจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศที่เกื้อกูล ริเริ่มมาตรการดึงดูดและสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะการปฏิรูปด้านภาษี ธนาคาร การเกษตร และขจัดอุปสรรคระบบบริหารของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้เวลา

๘.๓ รัฐบาลรัสเซียยังคงมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรักษาเป้าหมายหลักในการเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Per capita GDP) ให้เป็น ๒ เท่า ของปัจจุบัน ในปี ๒๐๑๐ แต่นักการเมืองและนักวิชาการหลายฝ่ายเห็นว่า แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัสเซีย น่าจะอยู่ในอัตราชะลอตัวลง ซึ่งจะหมายถึงว่า โอกาสที่จะเพิ่ม GDP ให้บรรลุตามเป้าหมายนั้น มีความเป็นไปได้ยาก และหากต้องการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำเป็นจะต้องรักษาระดับ GDP ไว้ในอัตรา ๗.๓% ต่อปีจึงไม่สามารถเป็นไปได้

//www.geocities.com/rasputin9006/economic/eco_indicator_2004.doc

แหล่งที่มา : EIU, Central Bank of Russia, State Committee on Statistic, World Bank

------------------------------------







 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 1:23:31 น.
Counter : 1065 Pageviews.  

รายงานภาวะเศรษฐกิจรัสเซียภาพรวมปี ๒๕๔๗



รายงานภาวะเศรษฐกิจรัสเซียภาพรวมปี ๒๕๔๗


๑. หนี้ต่างประเทศ

๑.๑ การชำระหนี้ต่างประเทศเป็นประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดการบริหารเศรษฐกิจของรัสเซีย เพราะรัสเซียมีหนี้ต่างประเทศอยู่จำนวนมาก ทั้งที่เกิดจากการกู้ยืมใหม่ในช่วงทศวรรษ ๑๙๙๐ จนถึงปี ค.ศ. ๑๙๙๘ และเป็นหนี้สินที่สืบทอดตกมาจากสหภาพโซเวียตหนี้สินส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในขณะนี้ส่วนมากเป็นหนี้ต่อประเทศเจ้าหนี้ในกลุ่ม Paris Club (ประกอบด้วย ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยี่ยม แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ เนเธอแลนด์ รัสเซีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ และสหรัฐฯ) ซึ่งถึงปัจจุบันมีจำนวน ๔๔.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่ในจำนวนนี้เป็นหนี้สินที่สืบทอดรับต่อมาจากสหภาพโซเวีย ประมาณ ๔๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีกส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น IMF, International Bank for Reconstruction and Development (IBRD-Word Bank), European Bank for Reconstruction and Development (EBRD) ในปี ค.ศ. ๑๙๙๙ หนี้ต่างประเทศเหล่านี้เคยมีสัดส่วนสูงถึง ๑๒๕% ต่อ GDP ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาแม้รัสเซียต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจในช่วยปี ค.ศ.๑๙๙๘ แต่ระยะหลังก็ได้ทยอยชำระคืนเจ้าหนี้เหล่านี้

๑.๒ จนถึง ๑๔ ก.พ.๒๕๔๘ หนี้ต่างประเทศของรัสเซียทั้งหมด มีจำนวน ๑๑๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และรัสเซียต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ (G7) เฉลี่ยถึงระดับ ๗.๑๓% ต่อปี เนื่องจากเป็นการกู้ยืมในช่วงที่รัสเซียอยู่ในภาวะลำบาก และมีผลให้ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินเพื่อจ่ายเป็นดอกเบี้ยนี้ประมาณปีละ ๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนของมูลค่าหนี้ต่างประเทศ GDP ของประเทศ ถึงขณะนี้ได้ประเมินว่าจะลดลงเป็นประมาณ ๒๕% และจะลดลงเป็นประมาณ ๑๙% ในปี ค.ศ.๒๐๐๖ และ ๑๕ – ๑๗% ในช่วงปี ค.ศ.๒๐๐๘ – ๒๐๐๙

๑.๓ ตั้งแต่ช่วงปลายปี ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียมีนโยบายชัดเจนที่จะเร่งชำระหนี้ต่างประเทศโดยเร็ว เพื่อมิให้ต้องเสียงบประมาณเพื่อเป็นดอกเบี้ยอีกต่อไป ปธน.Vladimir Putin ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เรียกร้องให้มีการเร่งดำเนินการเจรยากับเจ้าหนี้ต่าง ๆ นาย Alexei Kudrin รมว.การคลังรัสเซีย ได้ย้ำเสมอว่ารัสเซียมีความพร้อมที่จะชำระหนี้ต่างประเทศได้หมดก่อนกำหนด ความคืบหน้าที่ปรากฏคือ

- เมื่อวันที่ ๓๑ ม.ค.๔๘ รัสเซียได้ชำระหนี้ต่อกองทุน IMF ในส่วนที่ยังเหลือค้างอยู่อีกทั้งหมดจำนวน ๓.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะถึงกำหนดชำระซึ่งกำหนดไว้ในปี ๒๐๐๘ และทำให้รัสเซียสามารถประหยัดส่วนจ่ายของดอกเบี้ยจำนวน ๒๐๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำไปสำรองไว้ใช้ในวัตถุประสงค์อื่น โดยเฉพาะในด้านสวัสดิการสังคม และเศรษฐกิจ ทั้งนี้เงินกู้ยืมของรัสเซียจากกองทุน IMF เคยมีจำนวนสูงสุด ๑๙.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๑๙๙๘

- รัสเซียกำลังเจรจากับกลุ่มประเทศเจ้าหนี้ (Paris Club) เพื่อชำระหนี้ส่วนหนึ่งประมาณ ๑๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวนทั้งหมด ๔๔.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้เร็วก่อนกำหนดเป็นระยะเวลา ๓ ปี แต่การเจร่จาล่าสุดในการประชุม G7 เมื่อต้นเดือน ก.พ.๔๘ ยังไม่มีความคืบหน้าและปรากฏผลเนื่องจากรัสเซียได้ขอต่อรองให้ลดจำนวนหนี้ลงจำนวน ๑๐% แต่กลุ่ม Paris Club ยังลังเลที่จะยินยอม ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าสถานะทางเศรษฐกิจของรัสเซียอยู่ในระดับดีขึ้นแล้ว โดยเฉพาะจากการที่ได้รับการปรับอันดับด้านการลงทุนโดย Standard & Poor’s ทั้งนี้รัสเซียจะพยายามเจรจากับกลุ่ม Paris Club ต่อไปในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน มี.ค.๔๘ นี้

๒. การยกหนี้ต่างประเทศ

๒.๑ นอกจากการชดใช้หนี้ต่างประเทศแล้ว ในช่วง ๒ -๓ ปี ที่ผ่านมา รัสเซียได้ประกาศยกหนี้สินให้กับบางประเทศ ซึ่งเคยกู้ยืมรัสเซียไว้ตั้งแต่ในช่วงสหภาพโซเวียตและเป็นประเทศสังคมนิยมด้วยกันมา โดยส่วนมากเป็นการยกหนี้บางส่วนและส่วนที่เหลือให้ชดใช้คืนในระยะยาวประมาณ ๓๓ ปี การยกหนี้สินที่เป็นจำนวนมาก คือ

- มองโกเลียเป็นช่วง ๆ ครั้งใหญ่สุด จำนวน ๙.๗ – ๑๑.๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จนเหลือ ๓๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และใช้คืนจนหมด

- เวียดนาม เป็นบางส่วน ยังเหลือค้างประมาณ ๑.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อใช้คืนในระยะยาวปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๕

- ลาว ยกหนี้ให้ประมาณ ๗๐% เมื่อปี ๒๕๔๖ ส่วนที่เหลือจะคืนภายในปี ๒๕๗๖

- อิรัก ประมาณเกือบ ๑๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (๙๐% ของหนี้ที่มีต่อรัสเซีย) ตามท่าทีของกลุ่ม Paris Club ที่ประกาศยกหนี้อิรักประมาณ ๘๐%

- ซีเรีย จำนวน ๑๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคราวที่ ปธน.Bashar Assad แห่งซีเรีย ไปเยือนรัสเซียในปลายเดือน ม.ค.๔๘

ทั้งนี้ รวมถึงประเทศในแอฟริกาใต้หลายแห่ง เช่น นิคารากัว เอธิโอเปีย อังโกลา โมแซมบิก รวมทั้งยังมีประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ อีกมาก เช่น กัมพูชา คิวบา ลิเบีย อัฟกานิสถาน เกาหนีเหนือ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะต้องยกหนี้ให้เช่นกัน

๒.๒ รัฐบาลรัสเซียมีท่าทีในเรื่องการยกหนี้แก่ประเทศเหล่านี้ เนื่องจากตระหนักดีว่าโอกาสที่ประเทศเหล่านี้จะชำระหนี้คืนเต็มจำนวนนั้นมีน้อยมาก โดยคำนึงถึงความสัมพันธทวิภาคีที่เชื่อมโยงกันมาอย่างยาวนานในสมัยสหภาพโซเวียต รวมทั้งเป็นการยกฐานะภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะผู้ปลดเปลื้องหนี้สิน และสำหรับกับอิรักนั้น ปธน.Valdimir Putin ได้เคยแจ้งกับอดีต นรม.Iyad Allowi แห่งอิรักด้วยว่าฝ่ายรัสเซียหวังว่าจะได้รับการสนองเจตนาดี ครั้งนี้โดยอิรักจะได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัสเซียในอิรักบ้าง

๓. นโยบายกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเบิล

เนื่องจากตลอดช่วงปี ๒๕๔๗ ค่าเงินรูเบิลต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและภาคการส่งออกสินค้าของรัสเซียอย่างมาก (ในส่วนที่มิใช่เชื้อเพลิง) ธนาคารกลางของรัสเซีย (Central Bank of Russia) จึงได้เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายการกำหนดค่าเงินสกุลรูเบิล ตั้งแต่ ๑ ก.พ.๔๘ จากการอิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เป็นการใช้นโยบาย dual currency basket เพื่อลดแรงกดดันจากการแข็งขึ้นของค่าเงินรูเบิลที่มีผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนตัวลง และลดการผันผวนของเงินรูเบิลที่จะมีขึ้นต่อไป โดยแบ่งสัดส่วนการกำหนดค่าเงินรูเบิลถ่วงน้ำหนักไว้กับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ๘๗% และเงินยูโร ๑๓% และจะค่อย ๆ ทยอยเพิ่มสัดส่วนของเงินยูโรให้มากขึ้นจนเป็นประมาณ ๕๐% เท่ากับดอลลาร์สหรัฐ แต่ธนาคารกลางจะยังคงใช้นโยบายกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบที่มีการจัดการ (Managed float) สำหรับเงินรูเบิลต่อไป เพื่อรักษาเสถียรภาพเงินรูเบิลและสร้างความสมดุล ทั้งนี้ นักวิเคราะห์การเงินเห็นว่าด้วยนโยบายผูกค่าเงินรูเบิลไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ ตลอดช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางของรัสเซียจึงมีภาระจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงการกำหนดค่าเงินรูเบิลอยู่ตลอดเวลา อันเป็นวิธีการที่ไม่มีความยั่งยืนและไม่ใช่แนวทางที่ควรจะเป็น ธนาคารกลางจึงริเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ ซึ่งจะช่วยปูทางนำไปสู่การยกเลิกการควบคุมเงินทุน (capital controls) ที่กำหนดไว้ในปี ๒๐๐๗ ด้วย

ข้อสังเกต

๑. การที่รัสเซียสามารถชำระหนี้ก้อนสุดท้ายต่อ IMF ได้ก่อนกำหนดมีนัยที่สำคัญต่อประเทศ คือ เท่ากับเป็นการสิ้นสุดการกู้ยืมระหว่างรัสเซียและ IMF ที่เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๖ และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายทางการเงินและเศรษฐกิจโดยใช้เงื่อนไขที่เอื้ออำนวยจากการส่งออกน้ำมันไปในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสำหรับการเจรจากับประเทศเจ้าหนี้กลุ่ม Paris Club รัสเซียตระหนักดีว่าการเจรจาจะเป็นเรื่องต้องใช้เวลา เพราะมีความซับซ้อนและเงื่อนไขผลประโยชน์ทางการเงินที่ต้องต่อรองอีกหลายประการ โดยเฉพาะกับเยอรมัน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่สุด แต่อย่างน้อยการที่ผู้นำของรัฐบาลระดับ ปธน.ออกมาแถลงความพรอ้มที่จะชำระหนี้บางส่วนก่อนเวลาก็เท่ากับสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในเรื่องความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของรัสเซีย

๒. รัสเซียอยู่ในสถานะที่สามารถชำระหนี้ได้ก่อนกำหนด มาจากเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยที่สำคัญคือ

- อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ได้ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นปีที่ ๗ อีกทั้งงบประมาณของประเทศเกินดุลอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๕ ปี
- ทุนสำรองระหว่างประเทศ เริ่มมีสูงกว่ามูลค่าหนี้สินตั้งแต่ช่วงปลายปี ๒๕๔๗ เนื่องจากรายได้ของรัฐในการส่งออกน้ำมันมีเพิ่มขึ้น ถึง ณ วันที่ ๒๘ ม.ค.๔๘ ทุนสำรองระหว่างประเทศ มีมูลค่า ๑๒๘.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

- รัฐบาลมีเงินทุนที่ได้จากเงินกองทุนประกันเสถียรภาพ (Stabilization Fund) ซึ่งเป็นเงินส่วนเกินจากงบประมาณที่กำหนดไว้จากภาษีส่งออกน้ำมัน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะปีที่ผ่านมารัสเซียสามารถส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ ๕๐% จากที่คาดไว้ และราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงกว่าที่ประเมิน จนทำให้เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ ๒ ของโลก รองจากซาอุดิอาระเบีย ปัจจุบัน ถึงวันที่ ๑ ก.พ.๔๘ เงินกองทุนนี้มีมูลค่าประมาณ ๖๔๖.๕ พันล้านรูเบิล หรือ ๒๓.๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หลังจากการใช้หนี้ IMF)

ทั้งนี้ เงินกองทุนประกันเสถียรภาพนี้มีข้อกำหนดไว้ว่าจะสามารถนำไปใช้ได้ ก็ต่อเมื่อยอดเงินสะสมได้เพิ่มสูงกว่าจำนวน ๕๐๐ พันล้านรูเบิล มากกว่า ๑๖๐ พันล้านรูเบิล และรัฐบาลสามารถนำไปใช้ในการชำระหนี้ต่างประเทศและกิจการอื่นได้ ซึ่งขณะนี้ เงินกองทุนได้นำมาใช้ในด้านการบริการสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะการจ่ายเงินสวัสดิการบำนาญ

---------------------------






 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 1:15:38 น.
Counter : 487 Pageviews.  

ข้อมูลด้านเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ประจำปี ๒๕๔๗



ข้อมูลด้านเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ประจำปี ๒๕๔๗


๑. ภาพรวมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ไทย-รัสเซีย

ในอดีตสมัยสหภาพโซเวียต ไทยและรัสเซียมีการติดต่อระหว่างกันไม่มากนัก เนื่องจากความแตกต่างอุดมการณ์ทางการเมืองและกลไกทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้ทั้งสองประเทศ ทั้งระดับรัฐและเอกชนค่อนข้างเหินห่างกัน และขาดการติดต่ออย่างสม่ำเสมอ

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ๒๕๓๒ เมื่อรัสเซียเริ่มก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบการตลาดไทยได้เริ่มหันมาสนใจรัสเซียมากขึ้น รัสเซียถือได้ว่าเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจหน้าใหม่ของไทยเริ่มการติดต่อด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่จำกัดเฉพาะในรูปของการค้ามากกว่าด้านอื่นๆ ปริมาณการค้าเคยสูงถึงระดับ ๑,๖๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่ก่อนจะเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในทั้งสองประเทศ เมื่อปี ๒๕๔๐ ซึ่งหลังจากนั้น การค้าสองฝ่ายได้ลดลงเหลือเพียงระดับ ๔๐๐ – ๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่ายได้เริ่มใกล้ชิดและมีความหลากหลายมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจทั้งสองประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังวิกฤตทางเศรษฐกิจ ฝ่ายไทยตระหนักถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่รัสเซียมีอยู่ ในขณะที่รัสเซียเองก็เริ่มสนใจก้าวเข้ามาในภูมิภาคเอกเชียมากกว่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ของไทยได้เดินทางไปเยือนรัสเซียเมื่อ ๑๖ – ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ ซึ่งถือเป็นการเยือนระดับสูงสุดของผู้นำทั้งสองฝ่ายนับแต่รัสเซียได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้ช่วยปูทางสำหรับการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสองตามมา

๒. ผลการเยือนรัสเซียของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๖ – ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ (ด้านเศรษฐกิจ)

๒.๑ ในการหารือกับ ประธานาธิบดี ปูติน ทั้งสองฝ่ายเห็นว่ายังมีหนทางที่จะร่วมมือทางการค้าระหว่างกันอีกมาก ประธานาธิบดีรัสเซียย้ำว่า ไทยเป็นหุ้นส่วนที่ดีที่สุด

๒.๒ ในการหารือกับนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะต้องผลักดันให้ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างกันกลับไปสู่ระดับ ๑.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีไทยได้เสนอกลไกเสริมต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เช่น การจัดตั้ง Matchmaking Center สำหรับธุรกิจขนาดกลางและย่อม การเพิ่มเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ – มอสโก และนครเซนต์ปีเตอร์เบิกร์ก การทำ Bilateral Payment Arrangement (BPA) และเสนอให้มีการหารือในกรอบคณะกรรมาธิการร่วมไทย–รัสเซีย (JC) ระหว่างกันต่อไป

๓. ข้อมูลการค้าและการลงทุนไทย – รัสเซีย

๓.๑ การค้า

- การค้าระหว่างไทยและรัสเซียมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงไปมา ไม่สม่ำเสมอ เคยอยู่เฉลี่ยระดับ ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี ๒๕๓๖ – ๒๕๓๙ (มาจากการนำเข้าสินค้าประเภทเหล็ก) ต่อมาได้ลดลงหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในทั้งสองประเทศในปี ๒๕๔๐ เนื่องจากการนำเข้าเหล็กจากไทยลดลง แต่ปัจจุบันการค้าเริ่มมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น และฝ่ายไทยได้กำหนดเป้าหมายที่จะให้การค้ากลับสู่ระดับเดิม ซึ่งในปี ๒๕๔๖มูลค่าได้กระเตื้องมาสู่ที่ระดับ ๘๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามาโดยตลอด เนื่องจากประเภทของสินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซียส่วนมากเป็นสินค้าทุนเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์ (ซึ่งมีสัดส่วนเฉลี่ยมากกว่า ๖๐% ของการนำเข้าของไทยจากรัสเซียมาโดยตลอด) และการส่งออกของไทยไปยังรัสเซียมีรายการสินค้าค่อนข้างกระจาย โดยมีมูลค่าแต่ละรายการไม่สูงนักยกเว้นสินค้า ๑๕ อันดับแรก


มูลค่าการค้าไทย-รัสเซียระหว่างปี ๒๕๓๘ - ๒๕๔๗

ที่มา : กรมศุลกากร/ website: //www.bot.or.th


- สินค้าที่ไทยส่งออกไปรัสเซีย : เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ข้าว เม็ดพลาสติก หลอดภาพโทรทัศน์สี ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไขมันและน้ำมันจากพื้ชและสัตว์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ใบยาสูบ อัญมณีและเครื่องประดับ

- สินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซีย : เหล็กและเหล็กกล้า สินแร่โลหะปุ๋ย เครื่องเพชรพลอย/อัญมณี แร่ดิบ เยื่อกระดาษและกระดาษ กระดาษแข็งและผลิตภัณฑ์ ยาง/ยางสังเคราะห์ กุ้งสด/แช่เย็นและแช่แข็ง หนังดิบและหนังฟอก

๓.๒ การลงทุน :

ปัจจุบันไม่มีการลงทุนโดยตรงของไทยในรัสเซีย แต่บริษัท CP เคยส่งคณะมาสำรวจความเป็นไปได้ในการลงทุนกิจการด้านเลี้ยงไก่ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในขณะนี้ ในขณะเดียวกันการลงทุนของรัสเซียในไทยมีมูลค่าไม่มากนัก และได้ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วในช่วงปี ๒๕๔๐ – ๒๕๔๓ การลงทุนของรัสเซียในไทยส่วนมากเป็นการร่วมลงทุนประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้า การขนส่งและการท่องเที่ยวซึ่งปัจจุบันมีประมาณ ๓๐ บริษัท

๔. โอกาสทางเศรษกิจของไทย

๔.๑ รัสเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่ ประชากรจำนวน ๑๔๕ ล้านคน รวมทั้งยังเป็น crossroad ของการติดต่อการค้า การลงทุน การขนส่ง กับประเทศอดีตสหภาพโซเวียตอื่น ๆ (Commonwealth of Independence State-CIS) ซึ่งยังคงมีสายสัมพันธ์ทางภาษา ระบบเศรษฐกิจ/การเมือง ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับทวีภาคี และในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค จึงมีผลให้ศักยภาพที่แท้จริงของรัสเซียไม่ได้จำกัดเฉพาะตลาดรัสเซีย แต่ขยายรวมไปถึงตลาดประเทศ CIS อีกกว่า ๑๐๐ ล้านคน โดยเฉพาะประเทศยูเครน คาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของ GDP ในระดับสูง โดยมีรายได้จากการลงทุนทรัพยากรธรรมชาติด้านน้ำมันและเชื้อเพลิง

๔.๒ รัสเซียเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติกระจายทั่วภูมิภาค มีศักยภาพเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบที่สอดคล้องกับศักยภาพการผลิตของไทย ซึ่งไทยสามารถนำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตในประเทศหรือสนใจเข้าไปลงทุนทำกากรผลิตในรัสเซียเพื่อตลาดในรัสเซียและการส่งออกไปประเทศอื่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป่าไม้ อัญมณี เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ฯลฯ

๔.๓ รัสเซียกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรอบรับการเติบโตของการค้า/การลงทุนอุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว จึงมีศักยภาพเป็นแหล่งลงทุนสำหรับไทยโดยเฉพาะในสาขาการบริการที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ในด้านการปรับปรุงธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร เสริมความงาม การตกแต่งภายในอาคาร ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ

๔.๔ รัสเซียเป็นตลาดที่กำลังขยายตัวสำหรับการท่องเที่ยวของไทย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ ๑ ในฤดูหนาวสำหรับคนรัสเซีย จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากจำนวน ๓๖,๐๐๐ คน ในปี ๒๕๔๓ เป็น ๗๐,๐๐๐ คนในปี ๒๕๔๕ และเป็น ๙๐,๖๐๐ คน ในปี ๒๕๔๖ รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศ CIS ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน รัสเซียจึงเริ่มเป็นตลาดท่องเที่ยวที่เอกชนไทยหันมาให้ความสนใจ ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนตลาดอื่น ๆ ที่อาจชะลอตัวหรือคงที่ หรือในยามที่เกิดวิกฤตที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงควรจะมีการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจัง

๔.๕ รัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออก และมีแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซสูงเป็นอันดับ ๒ รองจากกลุ่ม OPEC มีโอกาสที่จะเป็นทางเลือกสำหรับแหล่งสำรองพลังงาน (น้ำมัน) ของไทย และการขยายความร่วมมือด้านการลงทุน ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องของนโยบายระดับสูง

๔.๖ รัสเซียเป็นแหล่งสั่งสมวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งไทยอาจพิจารณาร่วมมือในเรื่องการร่วมทุนหรือการนำเข้าเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์สำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในประเทศ หรือเป็นศูนย์กระจายเทคโนโลยีของรัสเซียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในอนาคต

๕. อุปสรรคต่อการค้า/การลงทุนที่สำคัญ

๕.๑ ด้านจิตวิทยา :

รัสเซียเป็นตลาดใหม่ ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจากตลาดใหม่แห่งอื่น คือ แม้จะเริ่มพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นการตลาด แต่ก็ยังไม่ถึงระดับมาตรฐานมีปัญหาเรื่องการจัดการและการควบคุมมาตรฐานของบุคลากร ความโปร่งใสชัดเจนเรื่องกฏระเบียบ ในขณะที่ไทยเองก็มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพของรัสเซียจำกัด ขาดรากฐานและสายสัมพันธ์ที่จะเชื่อมโยงต่อธุรกิจ จึงทำให้ขาดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในการริเริ่ม หรือดำเนินธุรกิจติดต่อระหว่างภาคเอกชนของไทยต่อภาคเอกชนของรัสเซีย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันรัสเซียกำลังอยู่ในช่วยระหว่างปฏิรูปและปรับปรุง เพื่อรักษาความได้เปรียบและสร้างความสามารถในการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับให้สอดคล้องเพื่อให้เข้ากับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา จึงมีความจำเป็นที่รัฐและเอกชนไทยจะต้องให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการติดต่อในทุกระดับ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เอกชนไทยเดินทางไปเยือนรัสเซียการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในแต่ละประเทศ เพื่อสร้างความรู้จักมักคุ้น ศึกษาข้อมูลที่แท้จริง รวมทั้งการจัดตั้งกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านกฏระเบียบต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เอกชนไทยที่สนใจตลาดนี้ควรจะต้องมีความกล้าหาญ พร้อมที่จะอดทน เผชิญความท้าทาย แก้ไขปัญหา บุกเบิก มีเงินทุนในระยะยาวรวมทั้งสายสัมพันธ์ที่ดี และมีความเชื่อมั่นในทางบวก ปรับตัวเข้าสภาพปัจจุบันเพื่อผลประโยชน์ในอนาคต

๕.๒ โครงสร้างพื้นฐาน

๕.๒.๑ การขาดแคลนกลไกลที่เชื่อมโยงการติดต่อ กลไกลรับรองและประกันความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางการเงิน : ปัญหานี้ได้มีความพยายามบรรเทาแก้ไขมาโดยตลอด ในขณะนี้รัฐได้มีบทบาทในการเร่งรัดให้มีการจัดทำความตกลงระหว่างธนาคาร EXIM Bank และธนาคาร Vneshtorgbank (Bank for Foreign Trade) ภายใต้กรอบโครงการ Bilateral Payment Arrangement (BPA) เมื่อ มิถุนายน ๒๕๔๗ โดย EXIM Bank ของไทย จะให้วงเงินสินเชื่อแก่ผู้นำเข้ารัสเซียโดยผ่านธนาคารคู่ภาคีในรัสเซีย นอกจากนั้น ในปัจจุบัน ได้มีการจัดทำความตกลงระหว่างภาคเอกชนไทยและรัสเซีย (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ Russian Union of Entrepreneurs and Industrialists รวมทั้งสภาหอการค้าไทยกับ Russian Federation Chamber of Commerce and Industry) ซึ่งจะเป็นกลไกส่งเสริมการติดต่อ และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สร้างความเชื่อมั่นระหว่างเอกชนสองฝ่าย

๕.๒.๒ การขาดทางเลือกในเรื่องเส้นทางขนส่งสินค้าทั้งทางบกและอากาศ ที่ช่วยลำเลียงสินค้าจากไทยไปยังรัสเซียในราคาต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ : โดยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์รัสเซียมีพรมแดนที่ก้าวไกลอยู่ห่างจากไทย การส่งออกสินค้าจากไทยส่วนใหญ่จึงต้องใช้เส้นทางเรือ ซึ่งมีระยะไกล และผ่านประเทศที่สาม มีข้อจำกัดในการกระจายสินค้าจากท่าเรือไปยังเมืองใหญ่ต่างๆ ที่กระจายทั่วประเทศ เส้นทางขนส่งที่ไทยใช้ในปัจจุบัน คือ โดยทางเรือเข้าทางเมืองท่านครเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองท่าลาดิวอสต๊อกทางตะวันออกไกล และเมืองท่าโนโวรอสสิก ติดกับทะเลดำทางใต้ของรัสเซีย ไทยจึงจำเป็นต้องพิจารณาศึกษาเส้นทางใหม่ ๆ เช่น เส้นทางเรือและทางบกด้านภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย (ผ่านท่าเรือเมืองวลาดิวอสต๊อก หรือทางบกจากจีน)เชื่อมผ่านทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย หรือการเชื่อมโยงเส้นทางบกและทางทะเลในการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง North-South Corridor ระหว่างรัสเซียผ่านอิหร่านและอินเดีย เชื่อมเข้าสู่เอเชีย รวมทั้งเส้นเชื่อมโยงจากจีนผ่านไปยังเอเชียกลางเข้ารัสเซียอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ขณะนี้รัฐบาลรัสเซียได้ให้ความสำคัญการพัฒนาเส้นทางบกและทางรถไฟเชื่อมโยงในประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกไกล จึงน่าจะช่วยให้การขนส่งสินค้าภายในประเทศมีความคล่องตัวและทั่วถึงขึ้น ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีแผนที่จะเปิดเที่ยวบินตรงของสายการบินภูเก็ตแอร์ไลน์ และการบินไทย ซึ่งจะช่วยเป็นทางเลือกที่จะอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางอากาศมากขึ้น

๕.๒.๓ การขาดความชัดเจนในเรื่องกฎระเบียบการค้า การลงทุน : รัสเซียอยู่ในช่วงการปรับปรุงกฏหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา แต่ในอนาคต เมื่อรัสเซียเข้าเป็นสมาชิก WTO แล้ว เรื่องนี้ก็น่าจะมีความชัดเจนและมีมาตรฐานขึ้น ทางออกหนึ่งสำหรับเอกชนไทยในการเข้าไปทำการค้า/การลงทุนที่มีมูลค่าสูงคือ การลงทุนใช้บริการของบริษัทที่ปรึกษาการค้า/การลงทุนที่มีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งกำลังแพร่หลายในรัสเซีย

๕.๒.๔ ภาษา : ในปัจจุบันมีจำนวนคนที่รู้ภาษารัสเซีย และไทยในระดับที่ใช้การได้ในประเทศทั้งสองจำกัดมาก แม้จะได้มีหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาต่างๆ ก็ตาม จึงเป็นอุปสรรคในด้านการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำธุรกิจ การสืบค้นข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจำเป็นสำหรับการเข้าถึงและการสร้างตลาดสินค้าไทยในรัสเซีย

๖. กลไกสนับสนุนการค้า/การลงทุน

๖.๑ การจัดทำความตกลงระหว่างธนาคาร EXIM Bank และธนาคาร Vneshtorgbank (Bank for Foreign Trade) ภายใต้กรอบโครงการ Bilateral Payment Arrangement (BPA) สำหรับผู้ส่งออกไทย/ผู้นำเข้ารัสเซีย

๖.๒ ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน : ได้มีการลงนามแล้วและกำลังอยู่ในกระบวนการให้ความเห็นชอบขั้นสุดท้ายตามกฎหมายในแต่ละประเทศ

๖.๓ ความตกลงเว้นการเก็บภาษีซ้อน : ได้มีการลงนามแล้วและกำลังอยู่ในกระบวนการให้ความเห็นชอบขั้นสุดท้ายตามกฎหมายภายในแต่ละประเทศ

๖.๔ ความตกลงระหว่างภาคเอกชน

๖.๔.๑ ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ Russian Union of Entrepreneurs and Industrialists
๖.๔.๒ ระหว่างสภาหอการค้าไทยกับ Russian Federation Chamber of Commerce and Industry)

๖.๕ คณะกรรมการธิการร่วม ไทย – รัสเซีย (Thai-Russia Joint Commission-JC): เป็นกลไกการหารืออย่างเป็นประจำในระดับสูงสุดระหว่างภาครัฐ ได้มีการประชุมไปแล้ว ๓ ครั้ง และครั้งต่อไป กำหนดจัดในปี ๒๕๔๗ ที่ประเทศไทย

๖.๖ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการบินระหว่างการบินไทยกับสายการบินระดับภูมิภาคต่ง ๆ ของรัสเซีย เพื่อเป็นทางเลือกในด้านการขนส่งสินค้าและการส่งเสริมท่องเที่ยว : ได้มีการจัดทำความตกลงด้านการบินระหว่างกันแล้ว และขณะนี้สายการบินภูเก็ตแอร์ไลน์จะเริ่มเปิดให้บริการเที่ยวบินตรงระหวางกรุงเทพฯ – มอสโก ในต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗


-----------------------






 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 1:14:00 น.
Counter : 771 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

RBZ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




เป็นเดะสีลม(เซนต์โย สีลม)ตอนป.๑ เรียนอยู่สองอาทิตย์ เค้าหาว่าหนูซนเลยต้องย้ายมาเซนต์โยบางนา ตอนนี้อยู่ธรรมศาสตร์ ขึ้นปีสาม แต่อยากเป็นเด็กปีหนึ่ง ตอนนี้กลับไปเป็นเด็กสีลมเหมือนเดิม (โต๊ะสีลม Color of the wind)

เลือกได้ระหว่างอ่าน blog หรือ space
http://spaces.msn.com/ongchun

chivalrysilk [ at ] gmail.com

icq57152514 [ at ] hotmail.com
สำหรับเล่น MSN เท่านั้น
Friends' blogs
[Add RBZ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.