เด็กขี้สงสัยโต๊ะ79
Group Blog
 
All Blogs
 
ข้อมูลด้านเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ประจำปี ๒๕๔๗



ข้อมูลด้านเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ประจำปี ๒๕๔๗


๑. ภาพรวมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ไทย-รัสเซีย

ในอดีตสมัยสหภาพโซเวียต ไทยและรัสเซียมีการติดต่อระหว่างกันไม่มากนัก เนื่องจากความแตกต่างอุดมการณ์ทางการเมืองและกลไกทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้ทั้งสองประเทศ ทั้งระดับรัฐและเอกชนค่อนข้างเหินห่างกัน และขาดการติดต่ออย่างสม่ำเสมอ

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ๒๕๓๒ เมื่อรัสเซียเริ่มก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบการตลาดไทยได้เริ่มหันมาสนใจรัสเซียมากขึ้น รัสเซียถือได้ว่าเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจหน้าใหม่ของไทยเริ่มการติดต่อด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่จำกัดเฉพาะในรูปของการค้ามากกว่าด้านอื่นๆ ปริมาณการค้าเคยสูงถึงระดับ ๑,๖๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่ก่อนจะเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในทั้งสองประเทศ เมื่อปี ๒๕๔๐ ซึ่งหลังจากนั้น การค้าสองฝ่ายได้ลดลงเหลือเพียงระดับ ๔๐๐ – ๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่ายได้เริ่มใกล้ชิดและมีความหลากหลายมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจทั้งสองประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังวิกฤตทางเศรษฐกิจ ฝ่ายไทยตระหนักถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่รัสเซียมีอยู่ ในขณะที่รัสเซียเองก็เริ่มสนใจก้าวเข้ามาในภูมิภาคเอกเชียมากกว่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ของไทยได้เดินทางไปเยือนรัสเซียเมื่อ ๑๖ – ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ ซึ่งถือเป็นการเยือนระดับสูงสุดของผู้นำทั้งสองฝ่ายนับแต่รัสเซียได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้ช่วยปูทางสำหรับการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสองตามมา

๒. ผลการเยือนรัสเซียของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๖ – ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๕ (ด้านเศรษฐกิจ)

๒.๑ ในการหารือกับ ประธานาธิบดี ปูติน ทั้งสองฝ่ายเห็นว่ายังมีหนทางที่จะร่วมมือทางการค้าระหว่างกันอีกมาก ประธานาธิบดีรัสเซียย้ำว่า ไทยเป็นหุ้นส่วนที่ดีที่สุด

๒.๒ ในการหารือกับนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะต้องผลักดันให้ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างกันกลับไปสู่ระดับ ๑.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีไทยได้เสนอกลไกเสริมต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เช่น การจัดตั้ง Matchmaking Center สำหรับธุรกิจขนาดกลางและย่อม การเพิ่มเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ – มอสโก และนครเซนต์ปีเตอร์เบิกร์ก การทำ Bilateral Payment Arrangement (BPA) และเสนอให้มีการหารือในกรอบคณะกรรมาธิการร่วมไทย–รัสเซีย (JC) ระหว่างกันต่อไป

๓. ข้อมูลการค้าและการลงทุนไทย – รัสเซีย

๓.๑ การค้า

- การค้าระหว่างไทยและรัสเซียมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงไปมา ไม่สม่ำเสมอ เคยอยู่เฉลี่ยระดับ ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี ๒๕๓๖ – ๒๕๓๙ (มาจากการนำเข้าสินค้าประเภทเหล็ก) ต่อมาได้ลดลงหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในทั้งสองประเทศในปี ๒๕๔๐ เนื่องจากการนำเข้าเหล็กจากไทยลดลง แต่ปัจจุบันการค้าเริ่มมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น และฝ่ายไทยได้กำหนดเป้าหมายที่จะให้การค้ากลับสู่ระดับเดิม ซึ่งในปี ๒๕๔๖มูลค่าได้กระเตื้องมาสู่ที่ระดับ ๘๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามาโดยตลอด เนื่องจากประเภทของสินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซียส่วนมากเป็นสินค้าทุนเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์ (ซึ่งมีสัดส่วนเฉลี่ยมากกว่า ๖๐% ของการนำเข้าของไทยจากรัสเซียมาโดยตลอด) และการส่งออกของไทยไปยังรัสเซียมีรายการสินค้าค่อนข้างกระจาย โดยมีมูลค่าแต่ละรายการไม่สูงนักยกเว้นสินค้า ๑๕ อันดับแรก


มูลค่าการค้าไทย-รัสเซียระหว่างปี ๒๕๓๘ - ๒๕๔๗

ที่มา : กรมศุลกากร/ website: //www.bot.or.th


- สินค้าที่ไทยส่งออกไปรัสเซีย : เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ข้าว เม็ดพลาสติก หลอดภาพโทรทัศน์สี ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไขมันและน้ำมันจากพื้ชและสัตว์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ใบยาสูบ อัญมณีและเครื่องประดับ

- สินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซีย : เหล็กและเหล็กกล้า สินแร่โลหะปุ๋ย เครื่องเพชรพลอย/อัญมณี แร่ดิบ เยื่อกระดาษและกระดาษ กระดาษแข็งและผลิตภัณฑ์ ยาง/ยางสังเคราะห์ กุ้งสด/แช่เย็นและแช่แข็ง หนังดิบและหนังฟอก

๓.๒ การลงทุน :

ปัจจุบันไม่มีการลงทุนโดยตรงของไทยในรัสเซีย แต่บริษัท CP เคยส่งคณะมาสำรวจความเป็นไปได้ในการลงทุนกิจการด้านเลี้ยงไก่ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในขณะนี้ ในขณะเดียวกันการลงทุนของรัสเซียในไทยมีมูลค่าไม่มากนัก และได้ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วในช่วงปี ๒๕๔๐ – ๒๕๔๓ การลงทุนของรัสเซียในไทยส่วนมากเป็นการร่วมลงทุนประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้า การขนส่งและการท่องเที่ยวซึ่งปัจจุบันมีประมาณ ๓๐ บริษัท

๔. โอกาสทางเศรษกิจของไทย

๔.๑ รัสเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่ ประชากรจำนวน ๑๔๕ ล้านคน รวมทั้งยังเป็น crossroad ของการติดต่อการค้า การลงทุน การขนส่ง กับประเทศอดีตสหภาพโซเวียตอื่น ๆ (Commonwealth of Independence State-CIS) ซึ่งยังคงมีสายสัมพันธ์ทางภาษา ระบบเศรษฐกิจ/การเมือง ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับทวีภาคี และในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค จึงมีผลให้ศักยภาพที่แท้จริงของรัสเซียไม่ได้จำกัดเฉพาะตลาดรัสเซีย แต่ขยายรวมไปถึงตลาดประเทศ CIS อีกกว่า ๑๐๐ ล้านคน โดยเฉพาะประเทศยูเครน คาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของ GDP ในระดับสูง โดยมีรายได้จากการลงทุนทรัพยากรธรรมชาติด้านน้ำมันและเชื้อเพลิง

๔.๒ รัสเซียเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติกระจายทั่วภูมิภาค มีศักยภาพเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบที่สอดคล้องกับศักยภาพการผลิตของไทย ซึ่งไทยสามารถนำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตในประเทศหรือสนใจเข้าไปลงทุนทำกากรผลิตในรัสเซียเพื่อตลาดในรัสเซียและการส่งออกไปประเทศอื่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป่าไม้ อัญมณี เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ฯลฯ

๔.๓ รัสเซียกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรอบรับการเติบโตของการค้า/การลงทุนอุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว จึงมีศักยภาพเป็นแหล่งลงทุนสำหรับไทยโดยเฉพาะในสาขาการบริการที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ในด้านการปรับปรุงธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร เสริมความงาม การตกแต่งภายในอาคาร ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ

๔.๔ รัสเซียเป็นตลาดที่กำลังขยายตัวสำหรับการท่องเที่ยวของไทย ปัจจุบันประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ ๑ ในฤดูหนาวสำหรับคนรัสเซีย จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากจำนวน ๓๖,๐๐๐ คน ในปี ๒๕๔๓ เป็น ๗๐,๐๐๐ คนในปี ๒๕๔๕ และเป็น ๙๐,๖๐๐ คน ในปี ๒๕๔๖ รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศ CIS ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน รัสเซียจึงเริ่มเป็นตลาดท่องเที่ยวที่เอกชนไทยหันมาให้ความสนใจ ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนตลาดอื่น ๆ ที่อาจชะลอตัวหรือคงที่ หรือในยามที่เกิดวิกฤตที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงควรจะมีการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจัง

๔.๕ รัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออก และมีแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซสูงเป็นอันดับ ๒ รองจากกลุ่ม OPEC มีโอกาสที่จะเป็นทางเลือกสำหรับแหล่งสำรองพลังงาน (น้ำมัน) ของไทย และการขยายความร่วมมือด้านการลงทุน ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องของนโยบายระดับสูง

๔.๖ รัสเซียเป็นแหล่งสั่งสมวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งไทยอาจพิจารณาร่วมมือในเรื่องการร่วมทุนหรือการนำเข้าเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์สำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในประเทศ หรือเป็นศูนย์กระจายเทคโนโลยีของรัสเซียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในอนาคต

๕. อุปสรรคต่อการค้า/การลงทุนที่สำคัญ

๕.๑ ด้านจิตวิทยา :

รัสเซียเป็นตลาดใหม่ ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจากตลาดใหม่แห่งอื่น คือ แม้จะเริ่มพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นการตลาด แต่ก็ยังไม่ถึงระดับมาตรฐานมีปัญหาเรื่องการจัดการและการควบคุมมาตรฐานของบุคลากร ความโปร่งใสชัดเจนเรื่องกฏระเบียบ ในขณะที่ไทยเองก็มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพของรัสเซียจำกัด ขาดรากฐานและสายสัมพันธ์ที่จะเชื่อมโยงต่อธุรกิจ จึงทำให้ขาดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในการริเริ่ม หรือดำเนินธุรกิจติดต่อระหว่างภาคเอกชนของไทยต่อภาคเอกชนของรัสเซีย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันรัสเซียกำลังอยู่ในช่วยระหว่างปฏิรูปและปรับปรุง เพื่อรักษาความได้เปรียบและสร้างความสามารถในการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับให้สอดคล้องเพื่อให้เข้ากับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา จึงมีความจำเป็นที่รัฐและเอกชนไทยจะต้องให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการติดต่อในทุกระดับ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เอกชนไทยเดินทางไปเยือนรัสเซียการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในแต่ละประเทศ เพื่อสร้างความรู้จักมักคุ้น ศึกษาข้อมูลที่แท้จริง รวมทั้งการจัดตั้งกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านกฏระเบียบต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เอกชนไทยที่สนใจตลาดนี้ควรจะต้องมีความกล้าหาญ พร้อมที่จะอดทน เผชิญความท้าทาย แก้ไขปัญหา บุกเบิก มีเงินทุนในระยะยาวรวมทั้งสายสัมพันธ์ที่ดี และมีความเชื่อมั่นในทางบวก ปรับตัวเข้าสภาพปัจจุบันเพื่อผลประโยชน์ในอนาคต

๕.๒ โครงสร้างพื้นฐาน

๕.๒.๑ การขาดแคลนกลไกลที่เชื่อมโยงการติดต่อ กลไกลรับรองและประกันความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางการเงิน : ปัญหานี้ได้มีความพยายามบรรเทาแก้ไขมาโดยตลอด ในขณะนี้รัฐได้มีบทบาทในการเร่งรัดให้มีการจัดทำความตกลงระหว่างธนาคาร EXIM Bank และธนาคาร Vneshtorgbank (Bank for Foreign Trade) ภายใต้กรอบโครงการ Bilateral Payment Arrangement (BPA) เมื่อ มิถุนายน ๒๕๔๗ โดย EXIM Bank ของไทย จะให้วงเงินสินเชื่อแก่ผู้นำเข้ารัสเซียโดยผ่านธนาคารคู่ภาคีในรัสเซีย นอกจากนั้น ในปัจจุบัน ได้มีการจัดทำความตกลงระหว่างภาคเอกชนไทยและรัสเซีย (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ Russian Union of Entrepreneurs and Industrialists รวมทั้งสภาหอการค้าไทยกับ Russian Federation Chamber of Commerce and Industry) ซึ่งจะเป็นกลไกส่งเสริมการติดต่อ และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สร้างความเชื่อมั่นระหว่างเอกชนสองฝ่าย

๕.๒.๒ การขาดทางเลือกในเรื่องเส้นทางขนส่งสินค้าทั้งทางบกและอากาศ ที่ช่วยลำเลียงสินค้าจากไทยไปยังรัสเซียในราคาต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ : โดยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์รัสเซียมีพรมแดนที่ก้าวไกลอยู่ห่างจากไทย การส่งออกสินค้าจากไทยส่วนใหญ่จึงต้องใช้เส้นทางเรือ ซึ่งมีระยะไกล และผ่านประเทศที่สาม มีข้อจำกัดในการกระจายสินค้าจากท่าเรือไปยังเมืองใหญ่ต่างๆ ที่กระจายทั่วประเทศ เส้นทางขนส่งที่ไทยใช้ในปัจจุบัน คือ โดยทางเรือเข้าทางเมืองท่านครเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองท่าลาดิวอสต๊อกทางตะวันออกไกล และเมืองท่าโนโวรอสสิก ติดกับทะเลดำทางใต้ของรัสเซีย ไทยจึงจำเป็นต้องพิจารณาศึกษาเส้นทางใหม่ ๆ เช่น เส้นทางเรือและทางบกด้านภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย (ผ่านท่าเรือเมืองวลาดิวอสต๊อก หรือทางบกจากจีน)เชื่อมผ่านทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย หรือการเชื่อมโยงเส้นทางบกและทางทะเลในการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง North-South Corridor ระหว่างรัสเซียผ่านอิหร่านและอินเดีย เชื่อมเข้าสู่เอเชีย รวมทั้งเส้นเชื่อมโยงจากจีนผ่านไปยังเอเชียกลางเข้ารัสเซียอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ขณะนี้รัฐบาลรัสเซียได้ให้ความสำคัญการพัฒนาเส้นทางบกและทางรถไฟเชื่อมโยงในประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกไกล จึงน่าจะช่วยให้การขนส่งสินค้าภายในประเทศมีความคล่องตัวและทั่วถึงขึ้น ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีแผนที่จะเปิดเที่ยวบินตรงของสายการบินภูเก็ตแอร์ไลน์ และการบินไทย ซึ่งจะช่วยเป็นทางเลือกที่จะอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางอากาศมากขึ้น

๕.๒.๓ การขาดความชัดเจนในเรื่องกฎระเบียบการค้า การลงทุน : รัสเซียอยู่ในช่วงการปรับปรุงกฏหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา แต่ในอนาคต เมื่อรัสเซียเข้าเป็นสมาชิก WTO แล้ว เรื่องนี้ก็น่าจะมีความชัดเจนและมีมาตรฐานขึ้น ทางออกหนึ่งสำหรับเอกชนไทยในการเข้าไปทำการค้า/การลงทุนที่มีมูลค่าสูงคือ การลงทุนใช้บริการของบริษัทที่ปรึกษาการค้า/การลงทุนที่มีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งกำลังแพร่หลายในรัสเซีย

๕.๒.๔ ภาษา : ในปัจจุบันมีจำนวนคนที่รู้ภาษารัสเซีย และไทยในระดับที่ใช้การได้ในประเทศทั้งสองจำกัดมาก แม้จะได้มีหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาต่างๆ ก็ตาม จึงเป็นอุปสรรคในด้านการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำธุรกิจ การสืบค้นข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจำเป็นสำหรับการเข้าถึงและการสร้างตลาดสินค้าไทยในรัสเซีย

๖. กลไกสนับสนุนการค้า/การลงทุน

๖.๑ การจัดทำความตกลงระหว่างธนาคาร EXIM Bank และธนาคาร Vneshtorgbank (Bank for Foreign Trade) ภายใต้กรอบโครงการ Bilateral Payment Arrangement (BPA) สำหรับผู้ส่งออกไทย/ผู้นำเข้ารัสเซีย

๖.๒ ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน : ได้มีการลงนามแล้วและกำลังอยู่ในกระบวนการให้ความเห็นชอบขั้นสุดท้ายตามกฎหมายในแต่ละประเทศ

๖.๓ ความตกลงเว้นการเก็บภาษีซ้อน : ได้มีการลงนามแล้วและกำลังอยู่ในกระบวนการให้ความเห็นชอบขั้นสุดท้ายตามกฎหมายภายในแต่ละประเทศ

๖.๔ ความตกลงระหว่างภาคเอกชน

๖.๔.๑ ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ Russian Union of Entrepreneurs and Industrialists
๖.๔.๒ ระหว่างสภาหอการค้าไทยกับ Russian Federation Chamber of Commerce and Industry)

๖.๕ คณะกรรมการธิการร่วม ไทย – รัสเซีย (Thai-Russia Joint Commission-JC): เป็นกลไกการหารืออย่างเป็นประจำในระดับสูงสุดระหว่างภาครัฐ ได้มีการประชุมไปแล้ว ๓ ครั้ง และครั้งต่อไป กำหนดจัดในปี ๒๕๔๗ ที่ประเทศไทย

๖.๖ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการบินระหว่างการบินไทยกับสายการบินระดับภูมิภาคต่ง ๆ ของรัสเซีย เพื่อเป็นทางเลือกในด้านการขนส่งสินค้าและการส่งเสริมท่องเที่ยว : ได้มีการจัดทำความตกลงด้านการบินระหว่างกันแล้ว และขณะนี้สายการบินภูเก็ตแอร์ไลน์จะเริ่มเปิดให้บริการเที่ยวบินตรงระหวางกรุงเทพฯ – มอสโก ในต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗


-----------------------






Create Date : 20 พฤษภาคม 2549
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 1:14:00 น. 0 comments
Counter : 771 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

RBZ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




เป็นเดะสีลม(เซนต์โย สีลม)ตอนป.๑ เรียนอยู่สองอาทิตย์ เค้าหาว่าหนูซนเลยต้องย้ายมาเซนต์โยบางนา ตอนนี้อยู่ธรรมศาสตร์ ขึ้นปีสาม แต่อยากเป็นเด็กปีหนึ่ง ตอนนี้กลับไปเป็นเด็กสีลมเหมือนเดิม (โต๊ะสีลม Color of the wind)

เลือกได้ระหว่างอ่าน blog หรือ space
http://spaces.msn.com/ongchun

chivalrysilk [ at ] gmail.com

icq57152514 [ at ] hotmail.com
สำหรับเล่น MSN เท่านั้น
Friends' blogs
[Add RBZ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.