เด็กขี้สงสัยโต๊ะ79
Group Blog
 
All Blogs
 

การเมืองระหว่างประเทศ ตอนที่ ๑๑ ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศส




ความแข็งแกร่งของรัสเซีย ตอนที่ ๑๑
ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศส



๑. กล่าวนำ

ในบรรดาชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปนั้น รัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศสมากที่สุด (รองลงไปอาจจะเป็นเยอรมนี) ทั้งสองประเทศมีการค้าการลงทุนด้านต่าง ๆ ร่วมกันมากมาย ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของพลังงานน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติแล้ว บริษัท TOTAL ของฝรั่งเศสก็เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย หากพิจารณาในแง่ของอุตสาหกรรมทางทหาร โดยเฉพาะด้านอากาศยานแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงทุนในการผลิต บ. MIG-AT เพื่อการส่งออกไปยังประเทศที่สาม นอกจากนั้นหากพิจารณาด้านการเมืองระหว่างประเทศแล้ว ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซียเคยจับมือกันต่อต้านสหรัฐฯ ในการใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอดีต ปธน.ซัดดัม ฮุสเซ็น ของอิรัก ดังนั้นการหารือระหว่างนาย Sergei Lavrov รมว.กต.รัสเซีย กับนาย Michel Barnier รมว.กต.ฝรั่งเศสที่กรุงมอสโก เมื่อ ๒๐ ม.ค.๔๘ ขณะที่นาย Sergei Ivanov รมว.กห.รัสเซียพบปะเจรจากับนาย Michele Alliot-Marie ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อ ๒๑ ม.ค.๔๘ ก่อนที่ รมว.ของฝรั่งเศสที่สองคนจะเข้าพบกับ ปธน.ปูตินของรัสเซีย จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและติดตามว่า รัสเซียกับฝรั่งเศสได้หารือในด้านความมั่นคงต่อกันอย่างไรบ้าง

๒. การหารือระหว่าง รมว.กต.ของทั้งสองประเทศ

การหารือระหว่าง รมว.กต.ทั้งสองฝ่ายอยู่ในกรอบงานของ the 4th Session of Russian-French Security Cooperation ซึ่งประเด็นสำคัญของการหารือได้แก่

๒.๑ การสะท้อนความรู้สึกของรัสเซียต่อ EU ให้ฝรั่งเศสทราบ รัสเซียทราบดีว่าฝรั่งเศสเป็นชาติสมาชิกสำคัญของ EU แต่ปัจจุบันรัสเซียมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปและชาติตะวันตก การได้ระบายความรู้สึกไม่พอใจ EU จึงน่าจะทำให้ฝรั่งเศสซึ่งรัสเซียหวังพึ่งพาในเวทีการเมืองระหว่างประเทศช่วยเหลือรัสเซียได้บ้าง

๒.๒ รัสเซียมองว่า หากรัสเซียถูกองค์กรของสหภาพยุโรป หรือ Organization of Security Cooperation in Europe (OSCE) รุกไล่อยู่ตลอดเวลา OSCE เข้ามาให้ความสนใจกับรัสเซียและเพื่อนบ้านของรัสเซียเกินเหตุ การวิพากษ์วิจารณ์หรือการตำหนิแทบทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัสเซีย และเพื่อนบ้านของรัสเซีย จึงทำให้รัสเซียมองว่า OSCE ก้าวก่ายกิจการภายในของรัสเซียมากเกินไป รัสเซียต้องการบอกฝรั่งเศสผ่านไปถึง OSCE ว่า รัสเซียต้องการให้ OSCE ถอนตัวออกจากบริเวณพรมแดนรัสเซีย-จอร์เจีย (Abkhazia และ South Ossetia) นอกจากนั้นรัสเซียยังต้องการให้ OSCE ปฏิรูปองค์กร การบริหารงาน และการใช้จ่ายงบประมาณด้วย แม้รัสเซียจะรู้ดีว่าการหารือประเด็นนี้กับฝรั่งเศสอาจจะไม่ได้ผลมากมายนัก เนื่องจากฝรั่งเศสก็เป็นผู้ก่อตั้ง OSCE

๒.๓ รัสเซียต้องการความเท่าเทียมกับ EU รัสเซียมองว่า EU ไม่เคยตั้งใจที่จะร่วมมือกับรัสเซีย อย่างเท่าเทียมกันในมิติด้านความมั่นคง รัสเซียเคยเข้าร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของ EU แต่ก็เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ กกล.EU ทั้ง ๆ ที่สถานะของความสัมพันธ์รัสเซียกับ EU เท่าเทียมกัน นอกจากนั้นดินแดนอดีตสหภาพโซเวียต อาทิ มอลโดวา หรือเขตคอเคซัส ก็เป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย ซึ่งรัสเซียไม่ต้องการให้ EU เข้ามาก้าวก่ายแนวทางแก้ไขปัญหาของรัสเซีย สำหรับเขต Trans-dniestria นั้น (ดินแดนขัดแย้งในมอลโดวา) รัสเซียพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็น กกล.รักษาสันติภาพที่ OSCE หรือ EU ต้องการ แต่มีเงื่อนไขว่า รัสเซียจะต้องเป็น ผบ.กกล.รักษาสันติภาพ และ กกล.สามารถจัดจากชาติสมาชิก EU ซึ่งต้องไม่ใช่สมาชิกนาโต้

๒.๔ รัสเซียและฝรั่งเศสเห็นด้วยที่จะปรับปรุง UN อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการเพิ่มจำนวนสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงของ UN และมีสิทธิยับยั้ง (Veto) นั้น สองฝ่ายเห็นว่า ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อความสมดุลแห่งอำนาจ

๒.๕ รัสเซียและฝรั่งเศสมองว่า ทั้งสองประเทศควรจะถ่วงดุลสหรัฐฯ ใน ตอ.กลาง ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าแผนสันติภาพ (Road map) สำหรับอิสราเอลกับปาเลสไตน์ควรจะเกิดจากการผลักดันของหลายฝ่าย ไม่ใช่เดินตามแผนของสหรัฐฯ ฝ่ายเดียว

การกดดันของสหรัฐฯ ให้ซีเรียถอนกำลังทหารออกจากเลบานอน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัสเซีย มองว่า การคงกำลังทหารของซีเรียในเลบานอนน่าจะเป็นปัจจัยเพิ่มพูนความมั่นคงด้านการทหารและการเมืองในเลบานอนมากกว่า นอกจากนั้นการปล่อยข่าวว่ารัสเซียขายระบบ ปภอ. Iskander-E แก่ซีเรียนับเป็นการบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับอิสราเอลอีกด้วย

ประเด็นอิหร่านก็มีความสำคัญ รัสเซียและฝรั่งเศสไม่เชื่อว่าสหรัฐฯ จะกล้าท้าทาย UN อีกครั้งด้วยการโจมตีอิหร่าน โดยอ้างว่าอิหร่านกำลังผลิตนิวเคลียร์ รัสเซียและฝรั่งเศสต่างก็มีผลประโยชน์มหาศาลในพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอิหร่าน นอกจากนั้นการที่รัสเซียพยายามสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่ Bushehr ก็ถูกขัดขวางจาก IAEA ว่า อิหร่านอาจนำนิวเคลียร์ไปผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต จึงสามารถตอบคำถามได้ว่า รัสเซียและฝรั่งเศสจะคัดค้านสหรัฐฯ อย่างเต็มที่หากสหรัฐฯ จะใช้ปฏิบัติการทางทหารต่ออิหร่าน โดยอ้างว่าสะสมอาวุธนิวเคลียร์

๒.๖ การหารือเกี่ยวกับ ปธน.Jacques Chirac ของฝรั่งเศสจะเดินทางเยือนกรุงมอสโก เพื่อร่วมฉลองครบรอบ ๖๐ ปีของชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ประมาณเดือน พ.ค.๔๘) ก็เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายยินดี เนื่องจาก ปธน. Chirac ตอบรับแต่เนิ่นว่าจะเข้าร่วมฉลอง ซึ่งสร้างความประทับใจแก่ ปธน.ปูตินอย่างมาก นอกจากนั้น ยังมีข่าวอีกว่า รัสเซีย ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งเคยร่วมกันต่อต้านสหรัฐฯ ในการทำสงครามอิรักครั้งที่สอง อาจจะจัดประชุมสุดยอดสามฝ่ายขึ้นอีก เพื่อกระชับความร่วมมือกันทางการเมือง

๓. การหารือระหว่าง รมว.กห.ของทั้งสองประเทศ

๓.๑ ทั้งสองฝ่ายเจรจากันถึงความร่วมมือด้านการทหาร อาทิ การฝึกร่วมของ ทบ., ทอ. และ ทร. นอกจากนั้น รัสเซียยังเสนอให้มีการเจรจาระหว่างบริษัท Irkut Corp. ของรัสเซียและ Civil Security Service ของกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศส ในการซื้อ บ.สะเทินน้ำสะเทินบก Be-200 ของรัสเซีย

๓.๒ รัสเซียและฝรั่งเศสยืนยันความตั้งใจในการร่วมกันผลิต MIG-AT เพื่อส่งออกไปยังตลาดโลกที่สาม โดย ทอ.รัสเซียจะทดลองฝึกและใช้งาน นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายยังหารือแนวทางร่วมกันพัฒนา ฮ.ขนาดหนัก, กระสุนชนิดใหม่, บ.ไร้นักบิน และ บ.รบรุ่นที่ ๕

๓.๓ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันที่จะปกป้องสิทธิบัตรของความร่วมมือด้านการทหาร-เทคนิคของทั้งสองฝ่าย

๓.๔ ฝรั่งเศสจะจัดสรรงบประมาณจำนวน ๑๓๐ ล้านเหรียญ อม. ให้รัสเซียในการช่วยทำลายอาวุธเคมีของรัสเซีย

๔. สรุป

๔.๑ รัสเซียมองว่า ฝรั่งเศสไม่ใช่มิตรของสหรัฐฯ และต่อต้านสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ดังนั้น ศัตรูของศัตรูจึงเป็นมิตรของรัสเซีย ความร่วมมือในด้านการเมืองระหว่างประเทศของทั้งสองฝ่ายจึงน่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อเป้าหมายในการถ่วงดุลสหรัฐฯ โดยตรง ซึ่งหากสามารถยับยั้งนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ก็นับเป็นความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างกัน

๔.๒ รัสเซียมองว่า การพัฒนาความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปกับรัสเซียน่าจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในหลายมิติ อาทิ การค้า การลงทุน พลังงาน อุตสาหกรรมทหาร หรือแม้กระทั่งมิติต้านความมั่นคง หรืออาจกล่าวได้ง่ายๆ ว่า รัสเซียมีทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานที่สหภาพยุโรปต้องการ ส่วนสหภาพยุโรปก็มีเงินทุนและเทคโนโลยี ทำไมทั้งสองฝ่ายจึงไม่สามารถสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความก้าวหน้าแก่ทั้งสองฝ่าย

การดำเนินการของสหภาพยุโรปที่คอยวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิรัสเซียตลอดเวลานั้น รัสเซีย มองว่าไม่สร้างสรร และบั่นทอนความสัมพันธ์ต่อกันให้ร้าวฉานยิ่งขึ้น รัสเซียดูออกว่าสหภาพยุโรปมีความเป็นตัวของตัวเองน้อยกว่าฝรั่งเศส หรือเยอรมนี เนื่องจากเกิดจากการรวมตัวของชาติสมาชิกที่หลากหลาย ดังนั้นการสร้างสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับสมาชิก EU ที่สำคัญ อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ หรือสเปนจึงน่าจะเกิดประโยชน์โดยตรงมากกว่าการเจรจากับ EU โดยรวม นอกจากนั้น ฝรั่งเศสและรัสเซียยังมีผลประโยชน์ที่สามารถหารือกันได้

๔.๓ รัสเซียเชื่อว่า ฝรั่งเศสมีความเป็นตัวของตัวเองในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และการสร้างสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัสเซีย บางครั้งการที่ฝรั่งเศสคัดค้านนโยบายของสหรัฐฯ ก็มีเหตุผลของตนเอง และสร้างความอับอายแก่สหรัฐฯ อาทิ การที่ฝรั่งเศสถามว่า ทำไมสหรัฐฯ ไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญาอาชญากรสงครามและพิธีสารเกียวโต ที่ว่าด้วยการปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศ (สภาวะเรือนกระจก) ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้นำของโลก หรือทำไมสหรัฐฯ จึงใช้ปฏิบัติการทางทหารต่ออิรัก โดยไม่ผ่านมติของ UN และอ้างว่าอิรักมีอาวุธ WMD (ซึ่งปัจจุบันก็ยังหาไม่พบ) ดังนั้นรัสเซียจึงเชื่อว่า การคบฝรั่งเศสโดยใช้หลักการและเหตุผล ไม่ใช้ double standard ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อรัสเซียทั้งสิ้น

๔.๔ การลงทุนด้านอุตสาหกรรมทางทหารระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศส เป็นการร่วมมือของทั้งสองฝ่าย โดยรัสเซียมีเทคโนโลยีด้านอากาศยานที่ก้าวหน้า ฝรั่งเศสมีเงินทุนและเทคโนโลยีด้านอุปกรณ์การบินและอีเล็กทรอนิกส์ การสนับสนุนซึ่งกันและกันนี้ จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายประสบความสำเร็จในการผลิต การหาตลาด และต่อยอดเทคโนโลยีระหว่างกัน



Black Rasputin
rasputin@taharn.net
๒๘ ก.พ.๔๘










 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 1:00:48 น.
Counter : 1047 Pageviews.  

การเมืองระหว่างประเทศ ตอนที่ ๑๐ ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับทาจิกีสถาน


ความแข็งแกร่งของรัสเซีย ตอนที่ ๑๐
ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับทาจิกีสถาน


๑. กล่าวนำ

ภูมิภาคเอเชียกลางกำลังเป็นภูมิภาคที่มหาอำนาจ อาทิ รัสเซีย สหรัฐฯ และจีน ให้ความสำคัญอย่างมาก การเกิดการปฏิวัติประชาธิปไตย (Color Revolution) ในกลุ่มประเทศ CIS อาทิ จอร์เจีย ยูเครน และคีร์กีซสถาน เมื่อปี ๒๐๐๔ และต้นปี ๒๐๐๕ หรือความพยายามล้มล้างรัฐบาล ปธน. Karimov ของ อุซเบกิสถาน (แต่ไม่สำเร็จ) เมื่อเดือน พ.ค.๒๐๐๕ ตามต่อด้วยการประชุม Shanghai Cooperation Organization ที่คาซัคสถาน เมื่อเดือน ก.ค.๒๐๐๕ โดยมีแถลงการณ์ร่วมให้ กกล.ต่างชาติ (ซึ่งน่าจะหมายถึงสหรัฐฯ) ให้ถอนกำลังทหารออกจากภูมิภาคเอเชียกลาง จากนั้นไม่นานอุซเบกิสถานประกาศ ไม่ต้อนรับ กกล.ทหารสหรัฐฯ อีกต่อไป เนื่องจากสหรัฐฯ กดดันอุซเบกิสถานให้ยอมรับการตรวจสอบของนานาชาติ กรณีปราบปรามกลุ่มกบฎเมื่อเดือน พ.ค.๒๐๐๕

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในเอเชียกลางมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัสเซียเริ่มสงสัยว่าสหรัฐฯ อาจจะต้องการย้ายกำลังทหารออกจากอุซเบกิสถานไปยังทาจิกิสถาน เพื่อคงกำลังทหารไว้ในเอเชียกลางดังเดิม รัสเซียมองภูมิภาคเอเชียกลางอย่างใกล้ชิดว่า การดำเนินนโยบายของตนเองทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจน่าจะเป็นเช่นไร ซึ่งหากรัสเซียสามารถได้รับคำยืนยันจากทาจิกิสถานด้วยแล้ว รัสเซียเชื่อว่าน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในการขจัดอิทธิพลของสหรัฐฯ ให้หมดไป หรืออย่างน้อยก็ไม่มีการเพิ่มกำลังทหารอีก

บทความนี้จะตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับทาจิกิสถาน ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของกลุ่มประเทศเอเชียกลางว่า รัสเซียมีมุมมองต่อทาจิกิสถานอย่างไร และรัสเซียจะดำเนินนโยบายของตนเองเช่นไร

๒. มุมมองของรัสเซียต่อเอเชียกลาง

๒.๑ ภูมิภาคเอเชียกลางเป็นดินแดนขนาดใหญ่ประมาณ ๓,๙๙๔,๑๐๐ ตารางกิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประชากรทั้งหมดประมาณ ๕๙.๒๓ ล้านคน และค่อนข้างยากจน ดินแดนยังขาดการพัฒนา แม้ว่าดินแดนแถบนี้จะเป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก (จีน) และเอเชียใต้ แต่การขาดการพัฒนาส่งผลให้เป็นภูมิภาคที่มีความอ่อนไหวในมิติความมั่นคง กลุ่มก่อการร้าย กลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ และกลุ่มค้ายาเสพติด เข้าไปฝังรากลึกในดินแดนแถบนี้

๒.๒ รัสเซียมองว่า ภูมิภาคเอเชียกลางมีความสำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางตอนใต้ของตนเอง รัสเซียจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการคงอิทธิพลของตนเองกับบรรดาประเทศในเอเชียกลาง เพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย และสะกัดกั้นการลักลอบค้ายาเสพติดจากอัฟกานิสถานเข้าสู่เขตตอนใต้ของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าไปร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคนี้จำเป็นที่รัสเซียจะต้องลงทุนมหาศาลแต่ความอ่อนไหวต่อมิติด้านความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจและการทหารของภูมิภาคนี้ ก็เป็นสิ่งที่รัสเซียหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากรัสเซียมีผลประโยชน์สำคัญในการคงอิทธิพลของตนเองไว้

๓. มุมมองของรัสเซียต่อทาจิกิสถาน

๓.๑ ความสัมพันธ์ระหว่าง ปธน.ปูติน กับ ปธน. Emomali Rakhmanov ของทาจิกิสถานค่อนข้างดี ผู้นำทั้งสองมีการพบปะเจรจากันหลายครั้งทั้งในระดับทวิภาคี โดย ปธน.ปูตินเดินทางเยือนทาจิกิสถาน หรือ ปธน.Rakhmanov เดินทางเยือนรัสเซีย นอกจากนั้นผู้นำทั้งสองยังมีการหารือในระดับพหุพาคี หลายครั้งผ่านการประชุม Shanghai Cooperation Organization (SCO), การประชุมผู้นำสุดยอด กลุ่ม CIS, การประชุม Central Asian Cooperation Organization และอื่น ๆ ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ค่อนข้างแนบแน่น

๓.๒ รัสเซียมองนโยบายของ ปธน.Rakhmanov ของทาจิกิสถานในห้วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาด้วยความสงสัยและไม่มั่นใจ เพราะ ปธน.Rakhmanov เปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของตนเองตลอดเวลา เมื่อหลายปีก่อนทาจิกิสถานเผชิญกับปัญหากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ทาจิกิสถานก็เอนเอียงไปเข้ากับชาติตะวันตก และกล่าวหาว่าประเทศมุสลิม อาทิ ปากีสถาน และซาอุดิอาระเบีย ช่วยเหลือกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศของตนเอง แต่ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาสันติภาพกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงภายในประเทศ ปธน.Rakhmanov ก็ปรับเปลี่ยนท่าที โดยเลิกให้ความสำคัญกับชาติตะวันตก แล้วหันไปรวมกลุ่มกับโลกมุสลิม แม้กระทั่งเดินทางไปร่วมพิธีฮัดจ์ในนครเมกกะของซาอุดิอาระเบีย

จากนั้นไม่นาน หลังจากไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ตามที่หวังจากชาติอาหรับ และเกิดเหตุการณ์ ๑๑ ก.ย.๒๐๐๔ ขึ้น ปธน.Rakhmanov ก็หันกลับไปสนับสนุนชาติตะวันตกอีก และอนุญาตให้สหรัฐฯ และนาโต้เข้ามาใช้ฐานทัพอากาศในทาจิกิสถานได้ ต่อมาเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง อาทิ คีร์กีซสถาน และอุซเบกิสถาน ปธน.Rakhmanov ก็เริ่มหวั่นไหว และร่วมแถลงการณ์ในการประชุม SCO ให้ กกล.นานาชาติ (สหรัฐฯ และนาโต้) กำหนดเวลาที่แน่นอนในการถอนกำลังทหารออกไปจากเอเชียกลาง แต่หลังจากอุซเบกิสถานประกาศให้สหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกไปภายใน ๖ เดือน ผู้แทนสหรัฐฯ อาทิ รมว.กห., ผบ.กกล. Central Command รมช.กต.และ รมว.กต.สหรัฐฯ เดินทางเยือนทาจิกิสถานหลายครั้ง ซึ่งนัยของการเยือนน่าจะเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะย้ายฐานทัพจากอุซเบกิสถานเข้ามาในทาจิกิสถาน โดยเสนอเงินช่วยเหลือในการเช่าฐานทัพปีละ ๕๐ ล้านเหรียญ และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอีก ๑๐๐ ล้านเหรียญ ซึ่งก็อาจจะไม่ต้องจ่ายคืนในห้วงเวลาอันสั้น ทำให้รัสเซียไม่ค่อยมั่นใจต่อคำมั่นหรือนโยบายต่างประเทศของผู้นำทาจิกิสถานว่าจะไม่ให้สหรัฐฯ เข้ามาเพิ่มกำลังทหารในทาจิกิสถาน

๓.๓ รัสเซียวิตกกังวลต่อความพยายามของสหรัฐฯ ที่ใช้ทรัพยากรมากมาย ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร เพื่อปูทางในการเคลื่อนย้ายฐานทัพจากอุซเบกิสถานเข้าสู่ทาจิกิสถาน ซึ่งหากทาจิกิสถานตอบรับก็หมายถึงสหรัฐฯ จะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ฐานทัพอากาศ Aini ของ ทาจิกิสถาน ซึ่งอยู่ติดกับฐานทัพของกองพล ปล.ยน.ที่ ๒๐๑ ในกรุง Dushanbe นั่นเอง และหากทาจิกิสถานปฏิเสธ กระแสกดดันจากชาติตะวันตกเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในทาจิกิสถานก็อาจถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และชาติตะวันตกอาจสนับสนุนฝ่ายค้านในทาจิกิสถานให้ทำการปฏิวัติประชาธิปไตยเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดในจอร์เจีย ยูเครน และคีร์กีซสถาน

๓.๔ รัสเซียต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองในทาจิกิสถานเมื่อเดือน ต.ค.๒๐๐๔ ทาจิกิสถานอนุญาตให้รัสเซียเปิดฐานทัพของกองพล ปล.ยน.ที่ ๒๐๑ ในกรุง Dushanbe นอกจากนั้นยังส่งมอบฐานเรดาร์ Nurek Optic-Electronic แก่รัสเซียเมื่อ ๖ เม.ย.๒๐๐๕ และประกาศร่วมมือกับรัสเซีย คาซัคสถาน และคีร์กีซสถาน จัดตั้ง กกล.ตอบโต้เคลื่อนที่เร็วขององค์กร CIS Collective Security Treaty Organization ขึ้นในเดือน ต.ค.๒๐๐๕ ด้วย อย่างไรก็ตาม รัสเซียต้องตอบแทนทาจิกิสถานในความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจำนวนมาก และอนุญาตให้ชาวทาจิกิสถานใช้หนังสือเดินทางของตนเองเข้ามาใน รัสเซียเพื่อหางานทำได้ ซึ่งยังไม่รวมการตัดหนี้สิน ๓๐๐ ล้านเหรียญ ซึ่งทาจิกิสถานติดค้างสมัยสหภาพโซเวียต

๓.๕ รัสเซียทราบดีว่าความสัมพันธ์ของตนเองกับทาจิกิสถาน ขึ้นอยู่กับความผูกพันด้านผลประโยชน์ ทาจิกิสถานทราบดีถึงอิทธิพลทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งทาจิกิสถานแม้จะไม่อยากสนิทสนมด้วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นการต่างตอบแทนในการค้ำจุนบัลลังก์ของ ปธน. Rakhmanov ให้คงอยู่ รวมถึงความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง เพื่อแลกกับฐานทัพของ กองพล ปล.ยน.ที่ ๒๐๑ และฐานเรดาร์ Nurek ต่างฝ่ายต่างคุ้มค่าการลงทุน

๓.๖ รัสเซียตระหนักดีว่าการสร้างพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกับทาจิกิสถานซึ่งมีขนาดเพียง ๑๔๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ประชากรเพียง ๗.๑๖ ล้านคน GDP เพียง ๒,๐๗๘ ล้านเหรียญ (ปี ๒๐๐๔) และค่อนข้างยากจน จะเป็นภาระต่อรัสเซียอย่างมาก และไม่ได้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้รัสเซียแต่อย่างใด แต่รัสเซียก็มีความจำเป็นที่ต้องสร้างมิตรเหมือนที่รัสเซียผูกพันกับเบลารุส หรืออุซเบกิสถาน ซึ่งกำลังถูกชาติตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก อย่างไรก็ตาม รัสเซียทราบดีว่าตนเองต้องปรับนโยบายอย่างไรกับประเทศที่ไม่มีทางเลือกเหล่านี้

๔. แนวทางการดำเนินการของรัสเซีย

๔.๑ รัสเซียเริ่มหวั่นไหวจากท่าทีของสหรัฐฯ ที่ดำเนินนโยบายเชิงรุกต่อเอเชียกลาง แม้รัสเซียจะยังคงมีอิทธิพลอยู่ในเอเชียกลางตั้งแต่สมัยอดีตสหภาพโซเวียต แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ ๑๑ ก.ย.๒๐๐๑ ที่ สหรัฐฯ เริ่มรุกและกุมความริเริ่มทางยุทธศาสตร์ในเอเชียกลาง โดยขณะนั้นรัสเซียไม่สามารถปฏิเสธ แรงกดดันของสหรัฐฯ ได้ ดังนั้นภายหลังจากการร่วมจุดยืนเดียวกับจีนในการขจัดอิทธิพลของสหรัฐฯ ให้ออกไปจากเอเชียกลางแล้ว รัสเซียจึงเริ่มดำเนินนโยบายสะกัดกั้นและกดดันสหรัฐฯ สิ่งที่รัสเซียจะกระทำต่อไปก็คือแสวงหาความผิดพลาดของนโยบายสหรัฐฯ และบีบให้สหรัฐฯ ต้องตกในสภาพตั้งรับ โดยหวังว่าสหรัฐฯ จะหมดหวังและยินยอมจากไป ซึ่งแน่นอนว่าอาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา และอาศัยพันธมิตรอื่น ๆ นอกเหนือจากทาจิกิสถาน อาทิ คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน และคาซัคสถาน

๔.๒ รัสเซียคงไม่สามารถต้านทานแรงกดดันด้านผลประโยชน์ที่สหรัฐฯ หยิบยื่นให้แก่ประเทศแถบเอเชียกลาง แต่หากรัสเซียร่วมมือกับจีนซึ่งการขยายอิทธิพลในเอเชียกลางผ่านกลไก SCO แล้ว รัสเซียอาจประสบผลสำเร็จในการคงอิทธิพลของตนเองในเอเชียกลาง โดยรัสเซียหยิบยื่นความช่วยเหลือด้านความมั่นคงและการทหาร ขณะที่จีนเน้นความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เอเชียกลาง อย่างไรก็ตาม รัสเซียไม่เคยไว้วางใจการแผ่อิทธิพลของจีนเลย แม้รัสเซียจะมองว่าจีนจะเป็นภัยคุกคามระยะยาวต่อ รัสเซีย แต่ในระยะสั้นและปานกลางจีนกับรัสเซียมีภัยคุกคามเดียวกัน คือการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในเอเชียกลางเพื่อปิดกั้นรัสเซียและจีน ดังนั้นรัสเซียจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับจีนในการต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐฯ ในเอเชียกลาง ซึ่งหากความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับจีนมีความลึกซึ้งขึ้นก็จะทำให้ทั้งรัสเซียและจีนสามารถได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจในเอเชียกลาง เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลชาติตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ

๔.๓ การดำเนินนโยบายของรัสเซียต่อทาจิกิสถานก็คือ การสอบถามและตรวจสอบทาจิกิสถานว่าจะยืนอยู่ฝ่ายใดระหว่างรัสเซีย หรือสหรัฐฯ ซึ่งก็คงจะเหมือนอย่างที่รัสเซียกำลังสอบถามและตรวจสอบทุกประเทศในกลุ่ม CIS หากทาจิกิสถานหรือประเทศใดไม่ประสงค์จะเอนเอียงมาทางรัสเซีย นั่นหมายถึงว่ารัสเซียจะปรับระดับความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร พลังงาน และการลงทุนในประเทศเหล่านั้นใหม่ ซึ่งตัวอย่างของมอสโดวา จอร์เจีย และยูเครน ซึ่งกำลังเผชิญแรงกดดันหลาย ๆ ด้าน จากรัสเซียคงจะทำให้หลายประเทศของกลุ่ม CIS ทราบว่า รัสเซียต้องการพันธมิตรที่มีใจแนบแน่นกับ ตนเองเท่านั้น หากมีแนวโน้มจะเข้ากับชาติตะวันตก รัสเซียก็พร้อมที่จะระงับความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ



Black Rasputin
rasputin@taharn.net
16-11-2005






 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 1:00:07 น.
Counter : 914 Pageviews.  

การเมืองระหว่างประเทศ ตอนที่ ๙ การกระชับความสัมพันธ์ทางทหารไทย – รัสเซีย


ความแข็งแกร่งของรัสเซีย ตอนที่ ๙
การกระชับความสัมพันธ์ทางทหารไทย – รัสเซีย


กล่าวนำ

ในห้วง ๕ ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ๒๐๐๐ การทหารระหว่างไทยกับรัสเซียมีแนวโน้มของการฟื้นฟูที่ ก้าวหน้าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเยือนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยเมื่อปลายปี ๒๐๐๒ มีการเชิญผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ ร่วมคณะเดินทางเยือนรัสเซียด้วย นอกจากนั้นการเยือนรัสเซียของคณะผู้แทนทางทหารของไทยในโอกาสต่างๆ อาทิ การเยือนตามคำเชิญของผู้นำเหล่าทัพของรัสเซีย การเยือนตามคำเชิญของบริษัทอาวุธรัสเซีย เพื่อดูงานสมรรถนะอาวุธบางประเภทที่ไทยกำลังพิจารณาจัดหาใหม่ หรือการเยือนโดยความริเริ่มของเหล่าทัพเองที่ประสงค์จะดูงานความก้าวหน้าในวิทยาการทางทหารของรัสเซีย

ฝ่ายรัสเซียเองก็เช่นกันมีการเดินทางไปเยือนไทยก็หลายครั้ง ในวาระและโอกาสที่หลากหลาย อาทิ ตามคำเชิญของกองทัพไทย หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กรรับผิดชอบด้านความร่วมมือด้านการทหาร-เทคนิคระหว่างประเทศ อาทิ Federal Services for Military - Technic Cooperations และบริษัทรัฐวิสาหกิจค้าอาวุธ Rosoboronexport ซึ่งยังไม่รวมบริษัทอาวุธต่าง ๆ ของรัสเซียที่เดินทางเยือนไทยหลายต่อหลายครั้ง

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดข่าวสารเผยแพร่ที่หลากหลาย อาทิ ไทยกำลังกระจายความหลากหลายในการจัดหายุทโธปกรณ์ทหารจากรัสเซีย ไทยกำลังพิจารณาจัดหาเครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ หรือยุทโธปกรณ์ทหารโดยแลกกับหนี้สินเดิมสมัยสหภาพโซเวียต หรืออาจจะมีการค้าต่างตอบแทนโดยไทยซื้ออาวุธที่ต้องการจากรัสเซีย ขณะที่รัสเซียจะพิจารณาซื้อสินค้าการเกษตรของไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศไปในคราวเดียวกัน นอกจากนั้น ยังมีข่าวสารข้างเคียงตามมาถึงความเป็นไปได้ที่ไทยจะส่งนักเรียนทหารหรือนายทหารนักเรียนมาศึกษาในสถาบันการทหารของรัสเซีย สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า หากไทยจะกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับรัสเซียแล้ว ก้าวแรกที่กองทัพไทยต้องกระทำคือ ซื้อยุทโธปกรณ์บางชนิดจากรัสเซีย จากนั้นความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างสองประเทศจะก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง


ประวัติความสัมพันธ์ทางทหารไทย – รัสเซียพอสังเขป

ไทยกับรัสเซียสมัยที่เป็นจักรวรรดิรัสเซียนั้น เคยมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เคยเสด็จประพาสรัสเซียอย่างเป็นทางการ เคยทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ เผยแพร่ไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้มหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสไม่คุกคามไทยเป็นอาณานิคม นอกจากนั้น ร.๕ ยังทรงส่งพระราชโอรสมาศึกษาด้านการทหารในรัสเซีย ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ก็ทรงรับพระราชโอรส ร.๕ เป็นพระราชโอรสบุญธรรมของพระองค์ด้วย

ต่อมาเมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซีย ทำให้ไทยกับรัสเซียห่างเหินกันออกไป หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ และรัสเซีย (หรือสหภาพโซเวียต) เป็นอภิมหาอำนาจ ไทยสนับสนุน สหรัฐฯ ขณะที่รัสเซียหรือสหภาพโซเวียตสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในหลายประเทศ อาทิ ในอินโดจีนให้เป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ไทยมองรัสเซียเป็นศัตรูในมิติด้านการทหารและความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศยังคงมีการแลกเปลี่ยนสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารโดยไทยเริ่มจัดตั้งสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำกรุงมอสโกตั้งแต่ปี ๑๙๗๘ (พันเอกวันชัย จิตต์จำนง ยศขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตทหาร) ซึ่งปัจจุบันเป็นระยะเวลา ๒๗ ปีแล้ว

ภายหลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลายแตกออกเป็น ๑๕ ประเทศ แต่ไทยก็ยังคงมีสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำกรุงมอสโก ขณะที่รัสเซียซึ่งรับมรดกตกทอดจากสหภาพโซเวียตก็ยังคงจัดตั้งสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารรัสเซียประจำกรุงเทพฯ โดยมี ผู้ช่วยทูตทหาร, รองผู้ช่วยทูตทหาร และ ผู้ช่วยทูตเหล่าทัพประมาณ ๕ นาย ซึ่งปรากฏว่า ภายหลังจากปี ๒๐๐๐ เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองฝ่ายคืบหน้าไปมากตามที่ได้กล่าวนำให้ทราบ โดยมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งกำลังบำรุงระหว่าง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูล ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทย กับนาย Mikhail Dmitriev ผู้อำนวยการของ Federal service for Military-Technic Cooperation with Foreign Countries ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๐๐๓ หรือ ๑ ปี ภายหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางเยือนรัสเซีย

ดังนั้นในโอกาสที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางเยือนรัสเซียอีกครั้งเมื่อกลางเดือน ต.ค.๒๐๐๕ จึงเป็นที่จับตาของทั้งสองฝ่ายว่า ไทย - รัสเซีย จะมีความคืบหน้าด้านการทหารเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การเดินทางเยือนของ นรม.ไทย ครั้งนั้นมีระยะเวลาเพียง ๖ ชม.เท่านั้น

สิ่งที่รัสเซียมี

รัสเซียเคยรุ่งเรืองด้านการทหารสมัยสหภาพโซเวียต เคยเป็นอภิมหาอำนาจเทียบเท่าสหรัฐฯ แม้ในปัจจุบันรัสเซียจะอ่อนแอกว่าสหรัฐฯ อย่างเทียบกันไม่ได้ ไม่ว่าจะด้านกำลังพล ยุทโธปกรณ์ งบประมาณทางทหาร หรือความช่วยเหลือด้านการทหารแก่มิตรประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงแก่นแท้ในปัจจุบันที่ยังมีประเทศพันธมิตรของรัสเซียส่งนักเรียนทหาร หรือนายทหารนักเรียนเข้ามารับการศึกษาในรัสเซียแล้วก็พบว่า รัสเซียยังคงมีสิ่งที่หลายประเทศต้องการ

วิทยาการทางทหาร

วิทยาการด้านการทหารเป็นพื้นฐานสำหรับกำลังพลในกองทัพ, อุตสาหกรรมทางทหาร และเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัสเซียในปัจจุบันอาจจะไม่เทียบชั้นเท่ากับสหภาพโซเวียต เนื่องจากขาดเงินงบประมาณทางทหารเป็นจำนวนมาก (งบประมาณทางทหารของ สหรัฐฯ ปี ๒๐๐๕ ประมาณ ๗๗.๗ พันล้านเหรียญ ส่วนงบประมาณทางทหารของรัสเซียปี ๒๐๐๕ ประมาณ ๑๙ พันล้านเหรียญ) อย่างไรก็ตาม วิทยาการด้านการทหารในการปูพื้นฐานการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหารอาทิ อาวุธปืน, ปืนใหญ่, ระบบจรวดหลายลำกล้อง, ระบบอาวุธป้องกันภัยทางอากาศ, ระบบขีปนาวุธ, ระบบเรดาร์, เครื่องบินรบ, เฮลิคอปเตอร์, เรือรบผิวน้ำ, เรือดำน้ำ, เรือบรรทุกเครื่องบิน, หรือแม้กระทั่งวิทยาการการส่งดาวเทียมทางทหารขึ้นสู่ท้องฟ้า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ รัสเซียยังคงมีอยู่ภายในประเทศ ซึ่งประเทศพันธมิตรของรัสเซียก็ส่งนักเรียนนักศึกษาเข้ามาเรียนรู้ไปเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่ถึงขั้นผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหารได้เทียบชั้นชาติมหาอำนาจใดๆ แต่ก็เป็นการปูพื้นฐานศักยภาพของกำลังพล และวางรากฐานอุตสาหกรรมการทหารของตนเองได้ในระดับหนึ่ง

ยุทโธปกรณ์ทางทหาร

ในอดีตนั้นโลกแบ่งเป็น ๒ ขั้วอย่างชัดเจน โลกฝ่ายเสรีนิยมมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ โลกฝ่ายคอมมิวนิสต์มีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ ต่อมาภายหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายในต้นทศวรรษที่ ๑๙๙๐ รัสเซียรับมรดกด้านยุทโธปกรณ์ทางทหารล้ำสมัยทุกชนิดที่สหภาพโซเวียตมีใช้ แม้ยุทโธปกรณ์ทางทหารส่วนใหญ่เหล่านั้นจะเป็นเทคโนโลยีก่อนปีทศวรรษที่ ๑๙๙๐ แต่ยุทโธปกรณ์ทางทหารบางชนิดยังคงมีเทคโนโลยีเทียบชั้น Generation 4 อาทิ เครื่องบินรบ, เฮลิคอปเตอร์, เรือรบผิวน้ำ, เรือดำน้ำ, ระบบป้องกันภัยทางอากาศ นี่เป็นสาเหตุที่ประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ มักหาซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซียใช้ประจำการในกองทัพ เนื่องจากอาวุธบางประเภทมีคุณภาพดี สอดคล้องกับการพัฒนากองทัพ และราคาถูก อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่อาจจะตามมาก็คือระบบส่งกำลังบำรุงที่หลายประเทศหวั่นเกรง เนื่องจากยังไม่มั่นใจต่อการบริการหลังการขายของรัสเซีย

หลักนิยม หลักการ และนโยบายการทหาร

การก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจของสหภาพโซเวียตในอดีตนั้น เนื่องจากมีพลังอำนาจทางทหาร การเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่รุ่งเรือง โดยเฉพาะพลังอำนาจทางทหารของสหภาพโซเวียตที่มีกำลังพลประมาณ ๕ ล้านนาย และจัดตั้งกำลังรบถึง ๑๖ ภาคทหาร ย่อมแสดงให้เห็นถึงหลักนิยม หลักการ และนโยบายการทหารที่ชัดเจนและเด่นชัดในการเตรียมกำลังและใช้กำลัง

การที่หลายประเทศส่งนักเรียนนายทหาร หรือนายทหารนักเรียนเข้ามารับการฝึกศึกษาในสถาบันการทหารของสหภาพโซเวียต หรือรัสเซียโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อศึกษาหลักนิยม หลักการและนโยบายการทหารของรัสเซีย ซึ่งก็จะก่อให้เกิดความเข้าใจ และสร้างความสัมพันธ์อันดีในมิติการทหารระหว่างประเทศเหล่านั้นกับรัสเซีย หรือสหภาพโซเวียตนั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในแต่ละปีมีนักเรียนนายทหารต่างชาติกว่า ๑๐๐ ประเทศเข้ามาศึกษาในสถาบันการทหารของรัสเซีย

ความเป็นมหาอำนาจทางทหาร

แม้รัสเซียจะไม่ได้เป็นอภิมหาอำนาจเทียบเท่าสหภาพโซเวียต และไม่สามารถเป็นมหาอำนาจเทียบเคียงกับสหรัฐฯ ดังในปัจจุบัน แต่ต้องยอมรับประการหนึ่งว่า รัสเซียยังคงเป็นมหาอำนาจด้านการทหาร กองทัพรัสเซียมียุทโธปกรณ์เทคโนโลยีสูง มีอาวุธนิวเคลียร์ และยังคงมีศักยภาพด้านการทหารที่สูงในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ประเทศต่าง ๆ จึงต้องการรักษาความสัมพันธ์ด้านการทหารที่แนบแน่นกับรัสเซีย โดยสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารของต่างประเทศในกรุงมอสโกมีถึง ๘๐ กว่าประเทศ ผู้ช่วยทูตทหาร และ ผู้ช่วยทูตเหล่าทัพต่าง ๆ มีประมาณ ๒๐๐ คน อาจกล่าวได้ว่า ชาติมหาอำนาจ หรือชาติที่มีศักยภาพทางทหารทั่วโลกมักส่งผู้ช่วยทูตทหารมาประจำการที่กรุงมอสโก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางทหารกับรัสเซียแทบทั้งสิ้น

สิ่งที่กองทัพไทยต้องการ

ประเทศไทยตั้งอยู่ในใจกลางของคาบสมุทรอินโดจีน อาจกล่าวได้ว่า อยู่ในย่านกลางของกลุ่มประเทศอาเซียนในการเชื่อมโยงชาติสมาชิกทั้ง ๑๐ เข้าด้วยกัน ไทยมีภูมิรัฐศาสตร์สำคัญต่อความมั่นคง และเสถียรภาพของประเทศและต่อภูมิภาคอย่างมาก การเกิดความไม่มั่นคงต่อประเทศไทยด้วยภัยคุกคามลักษณะต่างๆ นั้น นอกจากจะก่อให้เกิดความอ่อนไหวในมิติความมั่นคงของภูมิภาคแล้ว ยังอาจส่งผลให้มหาอำนาจยื่นมือเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หากมองถึงศักยภาพของกองทัพไทยในปัจจุบัน ย่อมประเมินได้ว่า สามารถป้องกันและรักษาอธิปไตยของประเทศได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม หากประเมินศักยภาพของกองทัพไทยในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ยังคงมีการตั้งคำถามสำคัญว่า สิ่งที่กองทัพไทยต้องการพัฒนานั้นคืออะไร ซึ่งหากมองอย่างแคบๆ จากสิ่งที่รัสเซียมีแล้ว สามารถกล่าวเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่กองทัพไทยต้องการว่า กองทัพไทยมีความมุ่งมั่นที่จะ

การพัฒนากำลังพล

กองทัพไทยทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศต่างต้องการพัฒนาศักยภาพของกำลังพลตนเองในวิทยาการ ความรู้ด้านการทหาร หรือทักษะต่าง ๆ จากกองทัพ และสถาบันการทหารของรัสเซียแทบทั้งสิ้น แต่ปัญหาด้านภาษา และความก้าวหน้าของกำลังพลที่สำเร็จการศึกษาจากรัสเซีย ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจว่า จะคุ้มค่าในการพัฒนาศักยภาพของกำลังพลโดยการส่งมารับการศึกษาที่ รัสเซียหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมกลับกัน ทำไมชาติต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนส่งกำลังพลมารับการศึกษาในรัสเซียเป็นจำนวนมาก ซึ่งโดยนัยแล้ว รัสเซียแทบจะให้ความสำคัญทางทหารกับประเทศเหล่านั้นมากกว่าประเทศไทยเสียอีก

การพัฒนายุทโธปกรณ์ทางทหาร

เอกสารต่างประเทศหรือนักการทหารต่างชาติระบุว่า กองทัพไทยมียุทโธปกรณ์ทางทหารมากมายแต่ก็ประจำการมาเป็นเวลานานหรือพูดง่าย ๆ เก่า ล้าสมัย กองทัพไทยนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๑๙๙๗ ต้องถูกปรับลดงบประมาณจำนวนมาก หรือหากคิดเป็นเงินสกุลดอลลาร์ยิ่งลดลงเป็นจำนวนมากกว่าเดิม (งบประมาณทางทหารของไทยปี ๑๙๙๗ เทียบเท่ากับ ๓ พันล้านเหรียญ, งบประมาณทางทหารของไทยปี ๒๐๐๒ เทียบเท่ากับ ๑.๙ พันล้านเหรียญ และงบประมาณทางทหารของปี ๒๐๐๕ และปี ๒๐๐๖ ก็อยู่ที่ประมาณ ๑.๙ - ๒.๐ พันล้านเหรียญเช่นเดิม) ซึ่งส่งผลให้งบประมาณใช้ในการพัฒนายุทโธปกรณ์ทางทหารมีจำนวนน้อย และยังขาดความชัดเจนว่า จะพัฒนายุทโธปกรณ์ทางทหารอย่างไร เนื่องจากราคาของยุทโธปกรณ์ทางทหารมีราคาสูงขึ้น (เมื่อคิดเป็นเงินบาท) และกองทัพก็ต้องการเปลี่ยนยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากด้วย ดังนั้น หากกองทัพไทยมีความชัดเจนว่า จะพัฒนากำลังรบไปเพื่อทำอะไรในอนาคตข้างหน้าภายใต้เงื่อนไขของงบประมาณที่ตนเองมีอยู่แล้ว เชื่อได้ว่า ยุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซียอาจจะทำให้กองทัพไทยสามารถดำรงสภาพความพร้อมรบได้ในระดับหนึ่ง

การพิจารณาเปรียบเทียบสมรรถนะยุทโธปกรณ์ มาตรฐานนาโต้ เทคโนโลยีล้ำสมัย คุณภาพ ระบบการฝึกศึกษา ระบบการส่งกำลังบำรุง และราคาอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาความพร้อมรบของกองทัพไทยได้ เนื่องจากของดีย่อมมีราคาแพง และของราคาไม่แพงย่อมมีจุดด้อยอยู่ในตนเอง การพัฒนายุทโธปกรณ์ทางทหารของกองทัพไทย จึงไม่ได้อยู่ที่การได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลมาซื้อยุทโธปกรณ์ใหม่ประจำการในกองทัพ แต่ต้องอยู่ที่การปูพื้นฐานอุตสาหกรรมการทหารของกองทัพไทยให้เกิดขึ้น จากนั้นเชื่อได้ว่า การพัฒนายุทโธปกรณ์ทางทหารของไทยจะก้าวกระโดดไปข้างหน้า ซึ่งก็จะเป็นคำถามตามมาอีกว่า มีชาติใดที่ขายยุทโธปกรณ์ทางทหารแล้วมีแนวโน้มในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมทางทหารแก่กองทัพไทย

วิทยาการด้านการทหาร

การพัฒนาด้านกำลังพล และการพัฒนายุทโธปกรณ์ด้านการทหาร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี พื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการทหาร และคอมพิวเตอร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อกองทัพไทย และอาจกล่าวได้ว่า นักการทหารก็ย่อมทราบดีถึงความสำคัญของวิทยาการด้านการทหาร อย่างไรก็ตาม การที่แต่ละเหล่าทัพของไทยส่งกำลังพลไปศึกษาวิทยาการหลายแขนงมาจากต่างประเทศ ซึ่งเชื่อได้ว่า มีนายทหารสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก หรือแม้กระทั่งเดินทางไปดูงานต่างประเทศมากมาย ดังนั้น วิทยาการด้านการทหารของไทยสมควรที่จะได้รับการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และงบประมาณสนับสนุนอย่างมาก นอกจากนั้นหากมีเงินงบประมาณแล้ว เชื่อว่า มีหลายประเทศที่จะเข้ามาช่วยเหลือประเทศไทยอย่างแน่นอน สำหรับรัสเซียนั้น หากไทยต้องการส่งกำลังพลมาเรียนรู้ระบบขีปนาวุธ ระบบจรวด หรือวิทยาการที่รัสเซียไม่มีข้อบังคับแล้ว ก็ย่อมกระทำได้ แต่ฝ่ายไทยต้องใช้งบประมาณของตนเอง และมีการลงนามในข้อตกลงการส่งกำลังพลมารับการศึกษาในรัสเซีย

ความร่วมมือด้านการทหาร

ไทยเป็นประเทศสำคัญและโดดเด่นประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน อาจมองได้จากการเป็นปมคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศภายในภูมิภาค หรือหากมองในมิติด้านการทหารแล้ว ฐานทัพอากาศ ฐานทัพเรือ ระบบคมนาคม และระบบการติดต่อสื่อสารที่ไทยมีอยู่ เป็นที่ต้องตาของชาติมหาอำนาจแทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม มิตรในมิติด้านการทหารย่อมแนบแน่นกว่ามิตรในมิติด้านการเมืองระหว่างประเทศ เพราะมิตรด้านการทหารมองในแง่มุมเดียวกันในเรื่องของความเป็นเพื่อนทหาร และต้องการรักษาอธิปไตยของประเทศตนเองหากถูกคุกคาม

ไทยเป็นมิตรในมิติด้านการทหาร และความร่วมมือทางทหารกับหลายประเทศ ไม่เคยมีชาติใดที่มองว่าไทยเป็นศัตรูด้านการทหารที่ถาวร ชาติมหาอำนาจก็เช่นกันต้องการได้ไทยเป็นพันธมิตรด้านการทหาร และมีความร่วมมือด้านการทหาร สำหรับรัสเซียแล้วต้องการที่จะเข้ามาขยายความร่วมมือด้านการทหารกับกองทัพไทยอย่างมาก ซึ่งจะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า รัฐมนตรีกลาโหมและผู้นำเหล่าทัพของรัสเซียมักเดินทางเยือนประเทศที่มียุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซียประจำการในกองทัพ นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญแก่ประเทศเหล่านี้ตามข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจด้านการทหารระหว่างกันอีกด้วย

แนวทางในการกระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารกับรัสเซีย

อาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย ความสัมพันธ์ด้านการทหารระหว่างไทยกับรัสเซียมีความก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ สังเกตได้จากการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำทางทหารของไทยกับรัสเซีย แม้ว่าสาเหตุของการเยือนจะมีความแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม หากมีการคงระดับการเยือนของผู้นำทางทหารระหว่างสองประเทศในระดับปัจจุบัน หรือผลักดันให้มากขึ้น เชื่อได้ว่า กองทัพไทยและกองทัพรัสเซียย่อมมีความสัมพันธ์กันมากขึ้นกว่าเดิม

การขยายความร่วมมือด้านกำลังพลในการส่งนักเรียนนายทหาร หรือนายทหารนักเรียนมาฝึกศึกษาศึกษาในรัสเซีย หรืออาจจะเป็นการส่งกำลังพลหน่วยเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาฝึกร่วมกับ กองทัพรัสเซียเหมือนอย่างที่สหรัฐฯ นาโต้ จีน อินเดีย หรือกลุ่มประเทศ CIS ดำเนินการ น่าจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมากกว่าข้างต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการลงนามในข้อตกลง หรือสัญญาระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศ หลังจากนั้นจึงจะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนคน ห้วงเวลา เป้าหมาย และงบประมาณ

การจัดหายุทโธปกรณ์ทางทหารบางชนิดของรัสเซียเข้าประจำการ ซึ่งคงต้องให้แต่ละเหล่าทัพพิจารณาว่า ยุทโธปกรณ์นั้นจะเป็นภาระแก่กองทัพระยะยาวหรือไม่ อย่างไรก็ตามข้อพิจารณาด้านการส่งกำลังบำรุง ระบบการฝึกศึกษา ระยะเวลาในการส่งมอบ และบริษัทอาวุธที่สั่งซื้อก็เป็นปัจจัยต้องพิจารณาให้รอบคอบอีกด้วย นอกจากนั้น การชำระเงินด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ เงินสด, เงินสดและสินค้า, สินค้าทั้งหมด หรือการชดใช้หนี้เดิมก็อาจทำให้ยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ซื้อมีราคาแตกต่างกันออกไป และห้วงเวลาการสั่งซื้อต้องยืดออกไปด้วย เนื่องจากต้องมีหน่วยงานอื่นของทั้งสองฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องในการซื้อขาย

การช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมทางทหารของรัสเซียให้แก่กองทัพไทยน่าจะเป็นการปูพื้นฐานความสัมพันธ์ และทำให้กองทัพไทยมีศักยภาพ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ บริษัทอาวุธของรัสเซีย และกองทัพรัสเซีย อาจจะต้องเข้ามาศึกษาและเจรจากับเหล่าทัพใน รายละเอียด ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการลงนามในสัญญาที่ระบุรายละเอียดต่าง ๆ ระหว่างกัน

สรุป

การกระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารระหว่างไทยกับรัสเซีย ย่อมก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมแก่ทั้งสองฝ่าย แนวทางที่ระบุข้างต้นนั้น เชื่อว่าเป็นแนวทางขั้นพื้นฐานของการปูทางไปสู่ความสัมพันธ์ทางทหารที่ลึกซื้งระหว่างกัน ส่วนการจะเป็นพันธมิตร หรือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับรัสเซียในอนาคตหรือไม่ คงต้องพิจารณาองค์ประกอบของมิติการเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจการค้าเป็นสำคัญ ความสัมพันธ์ในมิติด้านการทหารระหว่างไทย - รัสเซียนั้น จะแน่นแฟ้น หรือห่างเหินย่อมขึ้นอยู่กับความชัดเจนของมิติด้านการเมือง เพราะกองทัพเป็นกลไกหนึ่งของรัฐนั่นเอง


Black Rasputin
rasputin@taharn.net
11 Oct 2005





 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 0:59:26 น.
Counter : 753 Pageviews.  

การเมืองระหว่างประเทศ ตอนที่ ๘ การเผชิญการแข่งขันการค้าอาวุธของรัสเซีย


ความแข็งแกร่งของรัสเซีย ตอนที่ ๘
การเผชิญการแข่งขันการค้าอาวุธของรัสเซีย



กล่าวนำ

รัสเซียอาศัยการส่งออกอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารนับเป็นรายได้สำคัญประการหนึ่ง การ เติบโตอย่างต่อเนื่องของการส่งออกอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารตั้งแต่ปี ๒๐๐๐ ส่งผลให้อุตสาหกรรมทางทหารของรัสเซียสามารถดำรงอยู่ได้ ประชาชนในเขตอุตสาหกรรมทหารมีรายได้และมีงานทำ นอกจากนั้นบริษัทอาวุธยังสามารถมีเงินทุนในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาอาวุธรุ่นใหม่ ๆ ออกมาได้

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมทหารของรัสเซียอาจจะกล่าวได้ว่า ยังขาดความคืบหน้าในการวิจัยหรือพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นใหม่ออกมา ยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ขายได้ในปัจจุบันมักจะเป็นเทคโนโลยีก่อนปีทศวรรษที่ ๑๙๙๐ มีเพียงบางรายการเท่านั้นที่มีการพัฒนาความก้าวหน้า โดยเป็นการปรับปรุงของรัสเซียเอง หรือการอาศัยความร่วมมือจากต่างประเทศ อาทิ อิสราเอล อินเดีย หรือฝรั่งเศส ส่งผลให้เทคโนโลยีของยุทโธปกรณ์ของรัสเซียส่วนใหญ่ล้าหลังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

การค้าอาวุธของรัสเซียจึงไม่สามารถขยายตัวในตลาดใหม่ๆ ได้ และในอนาคตอาจจะต้องสูญเสียตลาดเดิมให้แก่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอีกด้วย รัสเซียจะทำอย่างไรจึงจะสามารถดำรงปริมาณการค้าอาวุธและตลาดอาวุธเดิมเอาไว้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ตลาดอาวุธของรัสเซีย

บริษัท Rosoboronexport ของรัสเซียกล่าวไว้เมื่อกลางปี ๒๐๐๕ ว่า ปริมาณการค้าอาวุธของ รัสเซียในปี ๒๐๐๕ น่าจะเท่ากับปี ๒๐๐๔ (ปี ๒๐๐๐ ปริมาณการส่งออก ๓.๖๘ พันล้านเหรียญ, ปี ๒๐๐๑ ปริมาณการส่งออก ๓.๗ พันล้านเหรียญ, ปี ๒๐๐๒ มีปริมาณการส่งออก ๔.๘ พันล้านเหรียญ, ปี ๒๐๐๓ มีปริมาณการส่งออก ๕.๐ พันล้านเหรียญ และปี ๒๐๐๕ ปริมาณการส่งออก ๕.๘ พันล้านเหรียญ) คำประกาศของบริษัท Rosoboronexport ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การค้าอาวุธของรัสเซียได้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ดังนั้นตลาดอาวุธของรัสเซียที่มีอยู่ และตลาดซึ่งรัสเซียต้องการขยายเพิ่มเติมจึงน่าจะเป็น

จีน

จีนเป็นลูกค้าสำคัญของบริษัทอาวุธรัสเซีย ปริมาณการสั่งซื้ออาวุธของจีนมีค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๑ พันล้านเหรียญต่อปี สินค้าสำคัญที่จีนซื้อส่วนมากจะเป็นเครื่องบินรบรบ และเรือรบซึ่งมีมูลค่าสูงเนื่องจากจีนสั่งซื้อคราวละเป็นจำนวนมาก ภายหลังจากการฝึกร่วมทางทหารระหว่างจีน-รัสเซียปี ๒๐๐๕ จีนสั่งซื้อเครื่องบินลำเลียงแบบ IL -76 และเครื่องบินเติมน้ำมันแบบ IL -78 จากรัสเซียจำนวนหนึ่งมูลค่าประมาณ ๑ พันล้านเหรียญ นอกจากนั้นจีนยังมีความสนใจเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบ TU - 22 M 3 และ TU - 160 รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินอีกด้วย

อินเดีย

อินเดียเป็นลูกค้าอาวุธของรัสเซียตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต อินเดียมียุทโธปกรณ์ทางทหารในกองทัพที่ผลิตจากรัสเซียมากกว่าร้อยละ ๖๐ อย่างไรก็ตาม อินเดียมีแนวโน้มในการร่วมทุนกับรัสเซียในการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหารเพื่อการใช้ในกองทัพตนเอง และเพื่อการจำหน่ายไปยังประเทศที่สามมากขึ้น

หากเปรียบเทียบยุทโธปกรณ์ที่รัสเซียขายให้แก่จีนกับอินเดียแล้ว ยุทโธปกรณ์ที่อินเดียได้รับมักจะมีเทคโนโลยีเหนือชั้นกว่า แต่ปริมาณที่จีนสั่งซื้อมีจำนวนมากกว่า

กลุ่มประเทศเอเชีย ตอ./ต.

เวียดนาม พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นับเป็นลูกค้าสำคัญของอุตสาหกรรมทหารของรัสเซีย โดยเวียดนามเน้นการสั่งซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ ส่วนพม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สั่งซื้อเครื่องบินรบ และยุทโธปกรณ์ทางทหาร โดยแนวโน้มที่รัสเซียจะรักษาตลาดในเวียดนาม พม่า และมาเลเซียมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากประเทศเหล่านี้สนใจเงื่อนไขการจ่ายเงิน และความช่วยเหลือด้านอุตสาหกรรมทหารที่รัสเซียเสนอ ส่วนอินโดนีเซียยังคงมีปัญหาภายในประเทศด้านงบประมาณ นอกจากนั้นหากสหรัฐฯ เสนอความช่วยเหลือด้านการทหารต่ออินโดนีเซียใหม่ เชื่อว่าอินโดนีเซียคงจะกระจายความหลากหลายในการซื้ออาวุธเหมือนมาเลเซีย

ประเทศไทยมีแนวโน้มการสั่งซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารจากรัสเซีย เพื่อชำระหนี้สินเดิมของสหภาพโซเวียต โดยสื่อมวลชนรัสเซียประโคมข่าวเมื่อเดือน ก.ย.๒๐๐๕ ว่า ไทยจะซื้อ ฮ.แบบ MI – 17 จากKazan Helicoptor และพิจารณาซื้อ ฮ. เพิ่มเติมจาก Ulan Ude เพื่อชำระหนี้ข้าว นอกจากนั้นประธานบริษัท Irkutsk ซึ่งผลิตเครื่องบินรบแบบ SU - 30 ยังเสนอข่าวว่า ไทยกำลังตกลงที่จะซื้อเครื่องบินรบแบบ SU - 30 รุ่น MKM (รุ่นเดียวกับมาเลเซีย) จำนวน ๑๒ - ๑๘ ลำ ภายในสิ้นปี ๒๐๐๕ (ห้วงการส่งมอบ ๓ - ๖ ปีข้างหน้า)

กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา

รัสเซียมีตลาดค้าอาวุธเดิมในลาตินอเมริกา อาทิ โคลัมเบีย เวเนซุเอลา คิวบา ซึ่งปัจจุบันเวเนซุเอลา และคิวบานับเป็นคู่ค้าอาวุธที่สำคัญของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม รัสเซียต้องการขยายตลาดในบราซิล และอาเจนตินาอีกด้วย โดยเสนอความร่วมมือในเทคโนโลยีอากาศยานและอวกาศร่วมกับประเทศทั้งสอง

กลุ่มประเทศอัฟริกาและตะวันออกกลาง

รัสเซียเชื่อมั่นว่า หลายประเทศในตะวันออกกลาง และอัฟริกา ยังคงสนใจยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย อาทิ อิหร่าน ซีเรีย ปาเลสไตน์ อียิปต์ แอลจีเรีย และลิเบีย การที่ประเทศเหล่านี้สนใจยุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซีย เนื่องจากประเทศเหล่านี้มองรัสเซียเป็นฝ่ายตรงข้ามของสหรัฐฯ และประเทศเหล่านี้มีความร่วมมือด้านการทหาร-เทคนิคที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย

คู่แข่งสำคัญในตลาดอาวุธของรัสเซีย

รัสเซียมองว่า สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เป็นคู่แข่งสำคัญที่สุดของตนเองโดยเมื่อปี ๒๐๐๔ สหรัฐฯ ขายยุทโธปกรณ์ทางทหารได้ ๑๒ พันล้านเหรียญ รัสเซียขายได้ ๕.๘ พันล้านเหรียญ ส่วนสหภาพยุโรปขายได้เป็นลำดับที่ ๓ อย่างไรก็ตาม หากนับการขายเครื่องบินและเรือของพลเรือนด้วยแล้ว รัสเซียเป็นรองสหภาพยุโรปอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องบิน และเรือพลเรือนของรัสเซียล้าหลังอย่างมาก ดังนั้นหากพิจารณาปัจจัยที่รัสเซียมองว่า สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นคู่แข่งที่สำคัญของตนเองมีดังนี้.-

เทคโนโลยี

หากมองเทคโนโลยีด้านการทหารในภาพรวมทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศแล้ว รัสเซียอาจจะก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีทันสมัย แต่ก็ยังเป็นรองสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอย่างมาก มีเพียงยุทโธปกรณ์ไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่รัสเซียเทียบชั้นได้กับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ปัจจุบันสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกำลังพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นที่ ๕ (Generation 5) ขณะที่รัสเซียยังเสนอการขายยุทโธปกรณ์รุ่นที่ ๔ เป็นจำนวนมาก และในราคาพิเศษเป็นจุดขายของตนเอง

อิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ

รัสเซียยอมรับว่า สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป มักใช้อิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศของตนเองในการกดดันประเทศคู่ค้าอาวุธของรัสเซีย ตลาดที่รัสเซียรักษาไว้ได้ก็คือ ตลาดที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปไม่สามารถกดดันได้เท่านั้น อาทิ จีน อินเดีย มาเลเซีย รัสเซียเคยสูญเสียตลาดอาวุธ (ในโลกที่สาม) เป็นจำนวนมากเพราะอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
นอกจากนั้นรัสเซียมองว่า การที่สหภาพยุโรปกำลังพิจารณายกเลิกการคว่ำบาตรการค้าอาวุธกับจีนเนื่องจากมองเห็นถึงลู่ทางการขายเทคโนโลยีทางทหารของตนเองให้จีนได้ในจำนวนมากนั่นเอง

อิทธิพลทางเศรษฐกิจ

องค์กรทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สำคัญอาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก มักอยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แม้กระทั่งองค์กรจัดอันดับทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือก็เป็นของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ตลาดอาวุธของรัสเซียมักจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้นการกดดันหรือการจัดอันดับทางเศรษฐกิจ หรือการระงับการซื้อสินค้าของสหรัฐฯ และ EU โดยอ้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยทางสุขภาพ หรือปัญหาสิทธิมนุษยชน ทำให้หลายประเทศที่กำลังพิจารณาซื้ออาวุธจากรัสเซียต้องระงับหรือเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด

ผลกระทบต่อการค้าอาวุธของรัสเซียในอนาคต

รัสเซียมองว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นคู่แข่งสำคัญในการค้าอาวุธของตนเองทั้งในตลาดเดิมอาทิ จีน และ อินเดีย รวมไปถึงตลาดใหม่ที่รัสเซียต้องการ นอกจากนั้นรัสเซียยังเชื่อว่า สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปใช้อิทธิพลทางการเมือง และเศรษฐกิจคุกคามต่อประเทศลูกค้าของรัสเซีย ทำให้รัสเซียต้องสูญเสียรายได้ อย่างไรก็ตาม หากรัสเซียยอมรับนั่นหมายถึง การยอมเดินตามเกมส์ที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกำหนด วิธีการที่รัสเซียจะทำในการต่อต้านอิทธิพลดังกล่าวในตลาดของตนเองคือ การพัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศต่าง ๆ ในภาพรวม อาทิ ด้านการทหาร-เทคนิค ด้านพลังงาน ด้านวัฒนธรรม หรือในด้านที่รัสเซียถนัด โดยนัยหนึ่งเพื่อต้านทานอิทธิพลของคู่แข่ง และแฝงไปด้วยการขยายตลาดอาวุธของตนเองไปในตัว

อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซีย หากเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป คงจะล้าหลังกว่าในภาพรวม แต่ลูกค้าที่รัสเซียสนใจมักไม่ใช่ประเทศร่ำรวย แต่เป็นประเทศกำลังพัฒนา หากพิจารณาลูกค้ารัสเซียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเวียดนาม พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่สั่งซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารจากรัสเซียก็พบว่า ประเทศเหล่านี้สนใจข้อเสนอการจ่ายเงินที่เป็นประโยชน์ของประเทศตนแทบทั้งสิ้น ประเทศเหล่านี้พัฒนากำลังรบของตนเองภายใต้สภาพความเป็นจริงที่ต้องการป้องกันประเทศ (Defense) ทั้งนั้น ไม่ได้มุ่งหวังจะคุกคามซึ่งกันและกัน แต่ละประเทศพัฒนากำลังรบของตนเองตามสถานภาพภัยคุกคามที่เกิดขึ้น ไม่ได้มุ่งหวังยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีสูงล้ำที่มีราคาแพง ยกเว้นสิงคโปร์ที่ต้องยอมรับว่ามีงบประมาณทางทหารสูงมาก ไม่สนใจยุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซียมาตั้งแต่ต้น สำหรับประเทศไทยที่อยู่ในกลุ่มอาเซียนเช่นกัน ไทยสนใจยุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซีย เนื่องจากคุณภาพดี ราคาถูก และสามารถทดแทนหนี้สินเดิมของสหภาพโซเวียต ดังนั้นกองทัพจึงต้องพิจารณาถึงสภาพความเป็นจริงในงบประมาณทางทหารของตนเอง เป้าหมายในการซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารเพื่ออะไร และเป้าหมายในการพัฒนากองทัพไทยในอีก ๕ - ๑๐ ปีข้างหน้าว่า ยุทโธปกรณ์เดิมจะใช้ได้หรือไม่ ยุทโธปกรณ์ใหม่ที่จะซื้อจะได้รับงบประมาณมาจากไหน ภัยคุกคามของไทยในอนาคตจะเป็นเช่นไร ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่การคุกคามขนาดใหญ่จากเพื่อนบ้าน ยุทธศาสตร์การทหารที่ยืนบนล้ำแข้งของตนเองนั้น ไทยจะอยู่ได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะให้คำตอบว่า เทคโนโลยีสำคัญต่อการพัฒนากองทัพไทยหรือไม่

การแข่งขันด้านค้าอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารไม่ใช่สิ่งที่ยุติธรรมนัก รัสเซียก็คงตระหนักดี นั่นคือสาเหตุหนึ่งที่รัสเซียไม่สามารถขายยุทโธปกรณ์ของตนเองด้วยบริษัทอุตสาหกรรมอาวุธ รัสเซียจึงรวมการค้าอาวุธในต่างประเทศผ่านทางบริษัทตัวแทน Rosoboronexport ของรัฐบาลรัสเซียเท่านั้น นอกจากนั้นการรวมบริษัทอุตสาหกรรมการบินเป็นบริษัทเดียวจึงเกิดขึ้น และในอนาคตรัสเซียกำลังจะรวมบริษัทอุตสาหกรรมต่อเรือเข้าด้วยกันอีกด้วย ซึ่งรัสเซียเชื่อว่า จะทำให้อุตสาหกรรมทางทหารของรัสเซียก้าวหน้าขึ้นอีกระดับหนึ่ง และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

การที่อาวุธของสหรัฐฯ มีปริมาณการขายที่สูงมาก เนื่องจากสหรัฐฯ แสดงศักยภาพของอาวุธทั้งหลายผ่านการทำสงคราม (อิรัก และอัฟกานิสถาน) ผ่านการฝึกร่วมกับมิตรประเทศทั้งหลาย (รวมทั้งการฝึกคอบร้าโกลด์กับไทยด้วย) หรือผ่านทางงานแสดงอาวุธ หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำให้นักคิดหรือนักการทหารหลายประเทศมองว่า กองทัพของตนเองสมควรจะก้าวหน้าผ่านการพัฒนากองทัพด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงของสหรัฐฯ แต่ถ้าหากมองในความเป็นจริงแล้ว สหรัฐฯ ไม่เคยขายยุทโธปกรณ์ล้ำสมัยแก่ใคร ยกเว้นเป็นไปตามข้อตกลงร่วมด้านการทหารกับประเทศที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ

รัสเซียก็เช่นกัน รัสเซียอาศัยการฝึกร่วมกับกลุ่มประเทศ CIS กับจีนและกับอินเดีย เพื่อนำเสนอการขายยุทโธปกรณ์ชั้นนำของตนแก่ลูกค้า ดังนั้นประเทศที่มีความร่วมมือด้านการทหาร-เทคนิคกับรัสเซียเท่านั้น จึงจะสั่งซื้ออาวุธของรัสเซียได้ อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังคงห่างชั้นกับสหรัฐฯอย่างมากในการขายอาวุธเนื่องจากประสบการณ์ของบริษัทอาวุธรัสเซียด้อยกว่า, เทคโนโลยีของรัสเซียด้อยกว่า, ข้อเสนอในระบบการฝึก-ศึกษาด้อยกว่า, ข้อเสนอในการซ่อมบำรุงระยะยาวไม่ชัดเจน และที่สำคัญที่สุด ตลาดอาวุธใหม่ ๆ มักหวาดระแวงต่อเทคโนโลยีของรัสเซียว่า จะได้มาตรฐานนาโต้ตามที่รัสเซียนำเสนอหรือไม่

ผลกระทบต่อไทย

สิ่งที่ท้าทายความสามารถของรัสเซียคือ การเจาะตลาดอาวุธในประเทศไทย เนื่องจากไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโต้ของสหรัฐฯ (ที่มอบให้ไทยเมื่อปี ๒๐๐๓) ไทยผูกพันด้านการทหารกับสหรัฐฯ อย่างแน่นแฟ้นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ไทยมีความร่วมมือในการฝึกทางทหารกับสหรัฐฯ หลายประการ หากรัสเซียสามารถเข้าถึงตลาดอาวุธของไทย หมายความว่า รัสเซียได้ตลาดอาวุธจากพันธมิตรนอกนาโต้ของสหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯ เสียตลาดพันธมิตรอย่างไทยไปให้กับฝ่ายตรงข้าม

อย่างไรก็ตาม ไทยมองสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่สำคัญของตนเอง แต่สหรัฐฯ มองไทยเป็นพันมิตรที่สำคัญหรือไม่ คงต้องให้หลายฝ่ายพิจารณาหาคำตอบเช่นกัน การดำเนินนโยบายด้านการทหารของไทยเมื่อเทียบกับมาเลเซียซึ่งใกล้เคียงกันในระดับอาเซียนยังคงต้องพิจารณาหลายปัจจัยว่า เราจะพัฒนากองทัพบนลำแข้งของตนเอง ด้วยการกระจายความสัมพันธ์ทางทหารกับมหาอำนาจอื่นดังเช่นมาเลเซียทำได้หรือไม่ หรือเราจะพัฒนากองทัพด้วยการพึ่งพาความช่วยเหลือจากพันธมิตรที่สำคัญเช่นสหรัฐฯต่อไป

การกำหนดยุทธศาสตร์ทหาร การปรับโครงสร้างทางทหาร การปรับหลักนิยมทางทหาร การพัฒนาอุตสาหกรรมทางทหาร การพัฒนาศักยภาพของกำลังพล และการจัดหายุทโธปกรณ์ที่เหมาะสมกับงบประมาณที่ได้รับในอีก ๕ - ๑๐ ปีข้างหน้าจะเป็นคำตอบว่ากองทัพไทยจะมุ่งทิศทางการพัฒนาตนเองอย่างไร



Black Rasputin
rasputin@taharn.net
3 Oct 2005







 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 0:57:04 น.
Counter : 864 Pageviews.  

การเมืองระหว่างประเทศ ตอนที่๗ ความสัมพันธ์ของรัสเซียกับกลุ่มเครือรัฐเอกราช




ความแข็งแกร่งของรัสเซีย ตอนที่ ๗
ความสัมพันธ์ของรัสเซียกับกลุ่มเครือรัฐเอกราช


๑. กล่าวนำ

ในบรรดาภูมิภาคต่างๆ ของโลกนั้น รัสเซียให้ความสำคัญในนโยบายต่างประเทศกับกลุ่มเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States-CIS) มากที่สุด อาจจะกล่าวได้ว่า การดำรงอยู่ของความเป็นมหาอำนาจ หรือการจะก้าวกลับคืนสู่ความเป็นอภิมหาอำนาจเหมือนเช่นอดีตสหภาพโซเวียตนั้น รัสเซียจำเป็นต้องอาศัยฐานสนับสนุนทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร สังคมจิตวิทยา และอื่นๆ จากกลุ่มเครือรัฐเอกราชแทบทั้งสิ้น

การก่อตัวขึ้นของกลุ่มเครือรัฐเอกราชเมื่อปลายปี ๑๙๙๑ และเป็นที่มาของการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา หรือที่ใช้ศัพท์สวยหรูว่า เป็นการแยกจากกันแบบ “Peaceful Divorce” ซึ่งในสมัยช่วงทศวรรษที่ ๑๙๙๐ นั้น ความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม CIS ก็ลุ่มๆ ดอนๆ ผ่านสภาวะรุมเร้าทั้งทางการเมืองภายใน วิกฤตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมจิตวิทยา การเกิดสงครามภายในเกี่ยวกับเชื้อชาติ พรมแดน และดินแดน แต่ภายหลังจากที่ ปธน.ปูตินก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำของรัสเซีย สถานภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และโครงสร้างทางสังคมภายในของรัสเซียเข้มแข็งขึ้น จนส่อแนวโน้มว่า รัสเซียอาจจะรวบรวมกลุ่มเครือรัฐเอกราชเข้าด้วยกันเป็นสหภาพ CIS ภายใต้การนำของรัสเซีย โดยมีข่าวลือว่า รัสเซียได้หารือกับผู้นำของชาติสมาชิก CIS อย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี ๒๐๐๓ ซึ่งอาจจะเริ่มต้นด้วยการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจก่อน นอกจากนั้น ในบรรดากลุ่ม CIS รัสเซียได้เริ่มรวมกับเบลารุสในมิติต่างๆ อาทิ การทหาร การเงิน และเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในปี ๒๐๐๔ ต่อเนื่องมาจนถึงปี ๒๐๐๕ เค้าลางของความผันผวนของสถานการณ์โดยรวมของกลุ่ม CIS ก็เกิดขึ้นอาทิ การเกิดการปฏิวัติประชาธิปไตย (Color Revolution) ในจอร์เจีย ยูเครน มอลโดวา และคีร์กีซสถาน, การประกาศฟื้นองค์กร GUUAM (จอร์เจีย ยูเครน อุซเบกิสถาน อาเซอร์ไบจัน และมอลโดวา), การขยายจำนวนสมาชิกของนาโต้เข้าสู่กลุ่มรัฐบอลติกและยุโรปตะวันออกประชิดพรมแดนตะวันตกของรัสเซีย, การขยายอิทธิพลทางทหารของสหรัฐฯ ในเอเชียกลางและคอเคซัส, การประกาศร่วมแกน East-West ในการ Bypass การส่งน้ำมันจากทะเลสาบแคสเปียนสู่ทะเลดำโดยไม่ผ่านท่อน้ำมันของรัสเซีย และการขยายอิทธิพลของจีนเข้าสู่กลุ่มประเทศเอเชียกลาง เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนบั่นทอนการดำรงอยู่ของกลุ่ม CIS และส่งผลกระทบต่ออิทธิพลของรัสเซียในกลุ่ม CIS อย่างมาก ถึงกับมีคำกล่าวว่า กลุ่ม CIS แตกแยกกันแล้ว แต่เพียงไม่ประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้น

บทความนี้จะอธิบายถึงการกำเนิดของกลุ่ม CIS พอสังเขป จากนั้นจะกล่าวถึงมุมของรัสเซียต่อความสัมพันธ์กับกลุ่ม CIS ในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร ต่อเนื่องด้วยภาพสถานการณ์ต่ออนาคตของกลุ่ม CIS และสุดท้ายจะสรุปภาพรวมของรัสเซียกับกลุ่ม CIS

๒. การกำเนิดของกลุ่ม CIS

ภายหลังจากการเกิดกบฏภายในประเทศสหภาพโซเวียตเมื่อเดือน ส.ค.๑๙๙๑ ส่งผลกระทบต่ออิทธิพลความเป็นมหาอำนาจของสหภาพโซเวียต และส่งผลให้สาธารณรัฐบอลติกทั้งสาม (ลัตเวีย ลิธัวเนีย และเอสโทเนีย) ประกาศตัวเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการจากสหภาพโซเวียต ต่อมาเมื่อ ๘ ส.ค.๑๙๙๑ ผู้นำสาธารณรัฐเชื้อสายสลาฟทั้งสาม (รัสเซีย ยูเครน และเบลารุส) ได้ประชุมหารือกันเพื่อรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการทหาร รวมไปถึงมีมติต้องการแยกตัวเป็นเอกราชออกจากสหภาพโซเวียต หลังจากนั้นได้เกิดการประชุมผู้นำสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต ๑๑ ชาติได้แก่ อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจัน เบลารุส คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน มอลโดวา รัสเซีย เตอร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน ยูเครน และอุซเบกิสถาน โดยมีจอร์เจียเป็นผู้สังเกตการณ์ (จอร์เจียเข้าร่วมเป็นสมาชิกภายหลัง) เมื่อ ๒๑ ธ.ค.๑๙๙๑ ที่กรุงอัลมา-อาตา ประเทศคาซัคสถาน เพื่อจัดตั้งกลุ่มเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States – CIS) ขึ้น หรือนัยก็คือ การประกาศเอกราชออกจากสหภาพโวเวียตนั่นเอง ส่งผลให้ทุกชาติสมาชิกกลุ่ม CIS เป็นเอกราชไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลสหภาพโซเวียตที่นำโดยนายกอร์บาชอฟ ทำให้นายกอร์บาชอฟต้องประกาศยุบสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นกลุ่มเครือรัฐเอกราชได้ประชุมหลายครั้ง และร่วมมือกันออกข้อตกลงหลายฉบับเพื่อความร่วมมือกันทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ เพราะเล็งเห็นว่า รัฐบาลสหภาพโซเวียตอ่อนแอเกินกว่าที่จะปกครองประเทศ การดำรงอยู่ของสหภาพโซเวียตอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งและแตกตัวของประเทศเอกราชมากมายภายในสาธารณรัฐอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซียที่กว้างขวางใหญ่โต อาจจะมีหลายเขตปกครองของรัสเซียต้องการแยกตัวออกเป็นเอกราชเช่นเดียวกับชาติบอลติก

การประชุมของผู้นำประเทศต่างๆ ในกลุ่ม CIS จึงส่งผลให้เกิดข้อตกลงในการขจัดปัญหาต่างๆ มากมายอาทิ การแบ่งทรัพย์สินและหนี้สินของอดีตสหภาพโซเวียต การถือครองสิทธิ์ของอดีตสหภาพโซเวียตในองค์กรการเมืองระหว่างประเทศ การแบ่งกำลังรบทางทหาร การขจัดปัญหาพรมแดนระหว่างชาติสมาชิก และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างพันธกรณีในการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ และการทหารเพื่อสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในบรรดาชาติสมาชิกของกลุ่ม CIS ด้วย

อย่างไรก็ตาม การรวมตัวกันของกลุ่ม CIS ตั้งแต่ปี ๑๙๙๑ เป็นต้นมา กลับถูกมองว่า เป็นฐานอำนาจของรัสเซียในการคงอิทธิพลของตนเองภายในภูมิภาค หลายชาติสมาชิกของ CIS มองว่า รัสเซียกำลังต้องการกลืนชาติของตนเองกลับเป็นสหภาพโซเวียตใหม่อีกครั้ง รวมถึงปัญหากลุ่มแบ่งแยกตนเองเป็นเอกราชอาทิ Abkhazia และ South Ossetia ของจอร์เจีย, Trans-dniester ของมอลโดวา หรือ Nagorny Karabakh ของอาเซอร์ไบจัน ล้วนได้รับการหนุนหลังจากรัสเซียแทบทั้งสิ้น นอกจากนั้นรัสเซียยังหาทางส่งกำลังทหารของตนเองเข้าไปประจำในดินแดนของประเทศเหล่านั้น และไม่มีทีท่าว่าจะถอนทหารจากไป เมื่อมองในภาพรวมทางเศรษฐกิจ หลายประเทศต้องอาศัยพึ่งพาการค้ากับรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานจากรัสเซีย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดการรวมกลุ่มของ GUUAM เมื่อปี ๑๙๙๗ เพื่อประกาศตัวเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการรวมตัวกันของชาติสมาชิก CIS ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร แต่แท้จริงแล้วก็คือ การจัดตั้งองค์กรใหม่ภายใน CIS เพื่อต่อต้านอิทธิพลของรัสเซีย แต่ต่อมาในปี ๑๙๙๗-๑๙๙๘ เกิดสภาพวิกฤตทางเศรษฐกิจ องค์กร GUUAM จึงเลือนหายไป และต่อมารัสเซียที่เข้มแข็งกว่าภายใต้การนำของ ปธน.ปูติน เริ่มขยายอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารต้องการอาศัยกลุ่ม CIS เพื่อเป้าหมายการฟื้นคืนสหภาพโซเวียตขึ้นมาใหม่

เมื่อเกิดความหวาดระแวงขึ้นในหมู่ชาติสมาชิก CIS แล้ว แม้รัสเซียจะพยายามอธิบายเช่นไร ก็ไม่สามารถจะขจัดความเคลือบแคลงสงสัยได้ ประกอบกับนาโต้ขยายจำนวนสมาชิกเข้าสู่รัฐบอลติกและยุโรปตะวันออกประชิดพรมแดนรัสเซีย สหภาพยุโรปหยิบยื่นความช่วยเหลือต่างๆ แก่บรรดากลุ่มคอเคซัส สหรัฐฯ เริ่มเข้ามาคงกำลังทหารในคอเคซัสและเอเชียกลาง ทำให้ชาติสมาชิกของ CIS อาทิ กลุ่ม GUUAM เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงผู้นำอย่างต่อเนื่อง ผู้นำคนใหม่ของกลุ่มประเทศ GUUAM ได้รับการสนับสนุนในการก้าวขึ้นสู่อำนาจจากชาติตะวันตก และใช้ข้ออ้างในการเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปและนาโต้เพื่อหลุดพ้นจากกลุ่ม CIS ดังนั้นในปัจจุบัน กลุ่ม CIS จึงแทบจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่ม GUAM (อุซเบกิสถานประกาศถอนตัวออกจากกลุ่ม GUUAM เมื่อเดือน เม.ย.๒๐๐๕) ซึ่งประกาศจะรวมกับสหภาพยุโรปและนาโต้ และกลุ่ม CIS ที่เหลืออยู่กับรัสเซีย แน่นอนว่า กลุ่มที่เหลือก็ไม่ได้มีใจอยู่กับรัสเซียแบบหมดใจ กำลังหาทางจากไปแบบสันตินั่นเอง

รัสเซียจึงต้องกลับมาพิจารณาว่า เกิดอะไรขึ้นต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศ การทหาร และเศรษฐกิจของตนเองต่อกลุ่ม CIS ในห้วงเวลาที่ผ่านมา รัสเซียจะทำอย่างไรเพื่อรักษาอิทธิพลของตนเองภายในกลุ่ม CIS เอาไว้ให้ได้

๓. มุมมองของรัสเซียต่อความสัมพันธ์ทางการเมืองกับกลุ่ม CIS

รัสเซียแบ่งเขตของกลุ่ม CIS ออกง่ายๆ เป็น ๓ เขต (Zone) ได้แก่เขตตะวันตก (เบลารุส มอลโดวาและยูเครน), เขตคอเคซัส (จอร์เจีย อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจัน) และเขตเอเชียกลาง (คาซัคสถาน เตอร์กเมนิสถาน คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน และทาจิกิสถาน) ตามภาพที่ปรากฏในหน้าถัดไป แม้ทุกเขตจะมีความสำคัญที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกเขตก็มีความสำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัสเซียในมิติต่างๆ แทบทั้งสิ้น

แผนที่กลุ่มเครือรัฐเอกราช

๓.๑ เขตตะวันตก เป็นดินแดนที่มีเชื้อสายสลาฟเช่นเดียวกับรัสเซีย เบลารุสมีประชากร ๑๐.๓ ล้านคนแต่ประชากรเชื้อสายรัสเซียมีถึงร้อยละ ๑๑.๔ หรือมากกว่า ๑.๒ ล้านคน ยูเครนมีประชากร ๔๗.๔ ล้านคน แต่มีประชากรเชื้อสายรัสเซียถึงร้อยละ ๑๗.๓ หรือประมาณ ๙ ล้านคน มอลโดวามีประชากร ๔.๕ ล้านคน แต่มีประชากรเชื้อสายรัสเซียถึงร้อยละ ๑๓ หรือประมาณ ๕ แสนกว่าคน ดินแดนเขตตะวันตกนี้จึงมีความผูกพันทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษาระหว่างประชากรกับรัสเซียเป็นอย่างมาก

รัสเซียเคยคิดว่า ถ้าหากจะเกิดการรวมตัวกันเป็นสหภาพ ก็น่าจะเกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับดินแดนในเขตนี้ก่อน เหมือนอย่างที่ทั้งสามชาติสลาฟเคยร่วมหารือกันก่อตั้งกลุ่ม CIS เมื่อปี ๑๙๙๑ แต่รัสเซียก็คาดการณ์ผิด ยูเครนเข้มแข็งเกินกว่าที่ต้องการจะรวมตัวกับรัสเซีย ยิ่งยูเครนภายใต้การนำของประธานาธิบดี Yushchenko แล้ว ไม่ต้องการอยู่ใต้อิทธิพลของรัสเซีย (ซึ่งรัสเซียไม่เคยสนับสนุนนาย Yushchenko ระหว่างการเลือกตั้ง ปธน.เมื่อปลายปี ๒๐๐๔ เนื่องจากนาย Yushchenko ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก) ยูเครนต้องการออกจากกลุ่ม CIS เพื่อเข้าไปรวมกับสหภาพยุโรปและนาโต้ ยูเครนเป็นแกนนำสำคัญของการฟื้นกลุ่ม GUUAM เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของกลุ่ม CIS ในการออกจากร่มเงาของรัสเซีย แม้ประชากรในยูเครนจะลงความเห็นว่า ไม่ต้องการเข้าเป็นชาติสมาชิกนาโต้ แต่ต้องการเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังมองว่า อิทธิพลของรัสเซียในเขตตะวันออก และตอนใต้ของยูเครนที่ไม่ได้เลือกนาย Yushchenko ยังคงอยู่ และยูเครนกำลังจะมีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติหรือสภา Rada ในอนาคตอันใกล้ ถ้าหากกลุ่มฝักใฝ่รัสเซียสามารถครองเสียงข้างมากในสภา Rada ได้แล้ว ปธน. Yushchenko ของยูเครนคงจะบริหารประเทศด้วยความยากลำบากกว่าเดิม นอกจากนั้น หากรัสเซียเขย่าปัญหาน้ำมัน และปัญหาชนเชื้อสายรัสเซียในยูเครนอย่างต่อเนื่องแล้ว ท่าทีอันแข็งกร้าวของนาย Yushchenko น่าจะอ่อนลงในที่สุด

พื้นที่ - ประชากร - สัดส่วนชาวรัสเซีย


สำหรับมอลโดวาภายใต้การนำของ ปธน. Vladimir Voronin ไม่มีจุดยืนที่แน่นอน ไร้ความหมายในสายตาของรัสเซีย เดิมนั้นรัสเซียเคยสนับสนุน ปธน. Voronin ขึ้นเป็น ปธน.สมัยแรก ต่อมาในสมัยที่สอง ปธน. Voronin กลับหันหลังให้รัสเซียไปแนบแน่นกับยูเครน และจอร์เจียเพียงเพื่อการก้าวสู่ตำแหน่ง ปธน.ในวาระที่สอง การเข้มงวดและจำกัดการเดินทางเข้ารัสเซียของคนมอลโดวาหรือการเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าการเกษตรของมอลโดวาที่ส่งเข้ารัสเซีย ก็แทบจะเขย่าสถานการณ์การดำรงอยู่ของรัฐบาลมอลโดวาแล้ว

เบลารุสภายใต้การนำของ ปธน. Alexander Lukashenko ไม่มีทางเลือกเพราะสหรัฐฯ และชาติตะวันตกหมายหัวเอาไว้ว่าเป็น “The Last Dictator in Europe” มีรายงานข่าวกรองของหน่วย FSB รัสเซียยืนยันว่า ชาติตะวันตกกำลังส่งเงิน ๕ ล้านเหรียญไปสนับสนุนฝ่ายค้านในเบลารุสให้ทำการปฏิวัติประชาธิปไตยล้มล้าง ปธน.Lukashenko ซึ่งยิ่งทำให้เบลารุสต้องผูกพันกับรัสเซียทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งที่รัสเซียกับเบลารุสก็ผูกพันกันทางเชื้อชาติอยู่แล้ว ดังนั้นรัสเซียกับเบลารุสน่าจะมีความผูกพันกันแนบแน่นที่สุดในกลุ่ม CIS

๓.๒ กลุ่มคอเคซัส เป็นดินแดนที่รัสเซียมีอิทธิพลอ่อนแอที่สุดภายในกลุ่ม CIS ดินแดนคอเคซัสเป็นรอยต่อระหว่างทะเลดำทางตะวันตก และทะเลสาบแคสเปียนทางตะวันออก ในอดีตนั้นสหภาพโซเวียตต้องแข่งอิทธิพลกับตุรกีและอิหร่านในการครอบครองดินแดนแห่งนี้ แต่ในปัจจุบันจอร์เจียภายใต้การนำของ ปธน. Mikhail Saakashvili และ ปธน. Ilkham Aliyev ของอาเซอร์ไบจันกลับจับมือกับผู้นำยูเครนในการฟื้นคืนกลุ่ม GUAM

รัสเซียมองกลุ่ม GUAM ด้วยความหนักใจ เพราะเป็นเสมือนม้าไม้โทรจันของชาติตะวันตกที่เข้ามาบั่นทอนการคงอยู่ของกลุ่ม CIS และทำลายอิทธิพลของรัสเซีย นอกจากนั้นการเข้ามาของสหรัฐฯ ในจอร์เจียและอาเซอร์ไบจันยิ่งส่งผลคุกคามต่ออิทธิพลของรัสเซียอย่างมาก ในอดีตนั้น รัสเซียเคยมองกลุ่ม GUAM แบบไร้ราคา แม้จะให้นิยามการรวมตัวกันว่า เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของกลุ่ม CIS ในมิติการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ เพราะอย่างไร กลุ่มนี้ก็ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจและน้ำมันจากรัสเซีย ไม่มีทางไปรอด แต่ปัจจุบัน การสอดตัวเข้ามาสนับสนุนการรวมตัวของกลุ่ม GUAM จากชาตินาโต้อาทิ กลุ่มรัฐบอลติก โปแลนด์ โรมาเนีย ตุรกี และสหรัฐฯ ยิ่งทำให้เกิดความเด่นชัดว่า ชาติตะวันตกและสหรัฐฯ กำลังทำให้รัสเซียขัดแย้งกับชาติดั้งเดิมของกลุ่มวอร์ซอว์แพค และตระหนักได้ว่า อิทธิพลของรัสเซียในเขตคอเคซัสกำลังจะหมดลง

การใช้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและพลังงานอาจจะไม่สามารถกดดันจอร์เจีย และอาเซอร์ไบจันได้เนื่องจากตุรกี และสหรัฐฯ เข้ามาช่วยเหลือ แต่ปัญหาชนกลุ่มน้อยในจอร์เจีย และอาเซอร์ไบจันที่รัสเซียหนุนหลังอยู่ น่าจะเป็นสิ่งที่สามารถส่งผลสะเทือนต่อเสถียรภาพภายในของประเทศเหล่านี้ได้ในระยะยาว
อาร์เมเนียภายใต้การนำของ ปธน. Robert Kocharyan เป็นชาติที่แนบแน่นกับรัสเซียมากที่สุดเนื่องจากรัสเซียสนับสนุนอาร์เมเนียต่อปัญหา Nagorny Karabakh ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในอาเซอร์ไบจัน รัสเซียจึงมั่นใจว่า รัสเซียยังมีพันธมิตรเหลืออยู่ในเขตคอเคซัส

๓.๓ เขตเอเชียกลาง เป็นดินแดนขนาดใหญ่ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประชากรค่อนข้างยากจน ดินแดนยังขาดการพัฒนา อย่างไรก็ตาม ดินแดนดังกล่าวนี้สำคัญต่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางตอนใต้ของรัสเซีย ดินแดนนี้รัสเซียต้องอาศัยความร่วมมือจากชาติสมาชิก CIS ในการต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย และสกัดกั้นการลักลอบส่งยาเสพติดจากอัฟกานิสถานเข้าสู่เขตตอนใต้ของรัสเซีย

จากปัญหาความกว้างใหญ่ของดินแดน ประชากรเบาบาง ยากจน และด้อยพัฒนาส่งผลให้ง่ายต่อการก่อความไม่สงบในพื้นที่ การเกิดการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาล ปธน. Akiyev ของคีร์กีซสถานเมื่อเดือน มี.ค.๒๐๐๕ แล้วฝ่ายค้านที่นำโดยนาย Kurmanbek Bakiyev ขึ้นรักษาการณ์ ปธน.เพื่อรอการเลือกตั้ง ปธน.ใหม่ในอนาคตอันใกล้ ต่อเนื่องด้วยความพยายามล้มล้างรัฐบาลของ ปธน. Islam Karimov ของอุซเบกิสถาน โดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่เชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่และอัฟกานิสถานเมื่อเดือน พ.ค.๒๐๐๕ แม้จะไม่สำเร็จเนื่องจาก ปธน. Karimov ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาด แต่ก็ทำให้รัสเซียมองเห็นว่า ดินแดนแห่งนี้ยังน่าเป็นห่วงต่อเสถียรภาพทางการเมือง และเศรษฐกิจ กำลังทหารและหน่วยงานรักษาความมั่นคงของประเทศเหล่านี้ยังอ่อนแอในการรักษาอธิปไตยของประเทศ

นอกจากนั้นรัสเซียก็ไม่แน่ใจว่า รัฐบาลคาซัคสถานของ ปธน. Nursultan Nazabayev, รัฐบาลเตอร์กเมนิสถานของ ปธน. Saparmyrat Niyazov และรัฐบาลทาจิกิสถานของ ปธน.Emomali Rakhamov จะเกิดความผันผวนเหมือนอย่างคีร์กีซสถาน และอุซเบกิสถานเมื่อใด อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงอาศัยนโยบายการต่อต้านการก่อการร้ายในการคงกำลังทหาร และอิทธิพลของตนเองในเอเชียกลาง ขณะที่จีนอาศัยองค์กร Shanghai Cooperation Organization - SCO ขยายอิทธิพลเข้าสู่เอเชียกลางเช่นกัน สองมหาอำนาจกำลังทำสงครามช่วงชิงพื้นที่ “เอเชียกลาง” ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย แน่นอนว่า ความอ่อนไหวของผู้นำทั้ง ๕ ของเขตเอเชียกลางย่อมส่งผลกระทบต่ออิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

๔. มุมมองของรัสเซียต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่ม CIS

๔.๑ รัสเซียมองว่า กลุ่ม CIS มีความหลากหลายในโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจอย่างมาก หากมองในตารางจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลายประเทศนั้นประชากรยังมีความยากจนอยู่มาก ยิ่งมองดูตัวเลขการส่งออกและนำเข้าระหว่างรัสเซียกับประเทศเหล่านั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า หลายประเทศต้องพึ่งพารัสเซียอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และการลงทุน การส่งออกน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติไปหลายประเทศ รัสเซียก็คิดในราคามิตรภาพ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ปรากฏก็คือ รัสเซียมักอาศัยปัจจัยน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเป็นตัวกดดันให้หลายประเทศต้องยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขการคงอิทธิพลของรัสเซียในประเทศนั้น ๆ อาทิ จอร์เจีย มอลโดวา ยูเครน เบลารุส อาร์เมเนีย

๔.๒ การริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ๔ ฝ่ายภายในกลุ่ม CIS หรือ Common Economic Space - CES ระหว่างรัสเซีย ยูเครน คาซัคสถาน และเบลารุส นับเป็นก้าวสำคัญของการลดปัญหาต่าง ๆ ภายในมิติทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว รัสเซียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ากับยูเครน คาซัคสถาน และเบลารุสเป็นจำนวนมาก ซึ่งหาก CES สามารถเริ่มต้นไปได้เชื่อว่า จะยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ และปรับระดับพื้นฐานเศรษฐกิจของกลุ่ม CIS ให้ก้าวไปไกลได้โดยง่าย เนื่องจากทั้ง ๔ ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจ (GDP) โดยรวมมากกว่าร้อยละ ๙๕ ของกลุ่ม CIS รวมกัน นั่นเป็นความปรารถนาของรัสเซียที่จะเพิ่มมูลค่า GDP ของตนเองให้มากเป็น ๒ เท่าภายในปี ๒๐๑๕ ด้วย

GDP - Unemployment - Poverty level


๔.๓ รัสเซียมองว่า เตอร์กเมนิสถานแม้จะมีทรัพยากรพลังงานอยู่มาก และมูลค่า GDP ก็เป็นลำดับที่ ๕ ในกลุ่ม CIS แต่รัฐบาลเตอร์กเมนิสถานระมัดระวังท่าทีในความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ อย่างมาก แม้กระทั่งในกลุ่ม CIS ก็ตาม สำหรับอาเซอร์ไบจันที่มีทรัพยากรพลังงานจากในทะเลสาบแคสเปียน แต่ก็คงเพียงพอสำหรับตนเองเท่านั้น เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ยังคงยากจน สำหรับมอลโดวา และจอร์เจียก็พึ่งพาการส่งออกสินค้าการเกษตรให้รัสเซียเป็นสำคัญ ไม่มีอะไรความโดดเด่น นอกจากนั้น ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และคีร์กีซสถาน ประชากรยังยากจนอยู่มาก ต้องพึ่งพาการค้ากับรัสเซียในหลายด้าน

๔.๔ การเกิดขึ้นของเส้นทางส่งน้ำมัน BTC จาก Baku ในอาเซอร์ไบจัน - Tbilisi ในจอร์เจีย - Ceyhan ในตุรกี นับเป็นความพยายามของตุรกี จอร์เจีย อาเซอร์ไบจัน และสหรัฐฯ ที่ต้องการ Bypass การขนส่งน้ำมันจากทะเลสาบแคสเบียนไปยังทะเลดำ โดยไม่ใช้เส้นทางส่งน้ำมันของรัสเซีย ซึ่งในชั้นต้นรัสเซียยังไม่ให้ความสำคัญ เพราะน้ำมันจากอาเซอร์ไบจันสามารถผลิตได้ประมาณ ๕๐ ล้านตันเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนการสร้างท่อน้ำมันใหม่หลายพันล้านเหรียญ แต่เมื่อ ปธน. Nazabayev ของคาซัคสถานร่วมลงนามในการส่งน้ำมันจำนวนมหาศาลผ่านเส้นทาง BTC แล้ว ยิ่งทำให้รัสเซียมองเห็นได้ว่า คาซัคสถานเริ่มนโยบายลู่ลมเข้ากับทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ดังนั้นหากในอนาคตมีการขยายเส้นทางไปขึ้นที่ยูเครนและมอลโดวา (สมาชิกของกลุ่ม GUUAM) แล้ว รัสเซียจะยิ่งหมดไพ่สำคัญคือน้ำมันที่เคยใช้กดดันยูเครนและมอลโดวาให้อยู่ในกลุ่ม CIS

Budget - Trade


๕. มุมมองของรัสเซียต่อความสัมพันธ์ทางทหารกับกลุ่ม CIS

๕.๑ ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียมีปัญหากับหลายชาติสมาชิก CIS เกี่ยวกับกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ทางทหารของอดีตสหภาพโซเวียต เนื่องจากสมัยที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต หน่วยทหารและยุทโธปกรณ์ที่อยู่ในดินแดนสหภาพโซเวียตก็เป็นหนึ่งเดียว แต่พอแตกออกเป็น ๑๕ ชาติ ก็ต้องมีการแบ่งยุทโธปกรณ์ทางทหารเกิดขึ้น ซึ่งรัสเซียต้องใช้เวลาหลายปีในการเจรจากับยูเครนเพื่อเช่าฐานทัพเรือที่ Sevastopol ต้องเช่าศูนย์อวกาศ Baikonur ในคาซัคสถาน ต้องอาศัยฐานทัพเดิมในคีร์กีซสถาน และอุซเบกิสถาน ต้องเช่าสถานีเรดาร์ในอาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจัน ยูเครน และเบลารุส นอกจากนั้นรัสเซียยังต้องแบ่งครึ่งเรือรบในกองเรือทะเลดำกับยูเครน ต้องกระจายกองเรือเล็กทะเลสาบแคสเปียนให้อาเซอร์ไบจัน เตอร์กเมนิสถานและคาซัคสถาน ซึ่งยังไม่รวมถึงการสูญเสียท่าเรือและสนามบินอีกหลายแห่งในกลุ่มรัฐบอลติกทั้งสาม สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยขัดขวางความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงระหว่างชาติสมาชิก CIS อย่างยิ่ง

๕.๒ การก่อตัวของกลุ่ม CIS แม้จะมีการจัดตั้งกองกำลังร่วมภายใน CIS และหน่วยปฏิบัติการรักษาสันติภาพเพื่อรักษาความมั่นคง และยุติความขัดแย้งในกลุ่มชาติสมาชิก CIS ที่มีปัญหา อาทิ มอลโดวา (Trans-dniester), จอร์เจีย (Abkhazia และ South Ossetia), อาเซอร์ไบจัน (Nagorny Karabakh), อุซเบกิสถาน (ปัญหายาเสพติดกับอัฟกานิสถาน) แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร จอร์เจีย มอลโดวา และอาเซอร์ไบจัน หวาดระแวงต่อการคงอยู่ของกำลังทหารรักษาสันติภาพ (ซึ่งเป็นของรัสเซีย) และต้องการให้ถอนทหารรัสเซียออกไปจากประเทศตน ยูเครนมองว่ากองเรือทะเลดำของรัสเซียที่ Sevastopol น่าจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของตนเองในอนาคต

นอกจากนั้นการฝึกร่วมของกลุ่ม CIS ก็ไม่เคยสมบูรณ์แบบ ยูเครน และเตอร์กเมนิสถาน ไม่สนใจการฝึกร่วมระดับพหุภาคี (ยกเว้นทวิภาคี) จอร์เจียประกาศว่าตนเองจะเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ และปฏิเสธแม้กระทั่งจะให้เครื่องบินรบของชาติสมาชิกที่ฝึกร่วมบินผ่าน นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มว่า การประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านการทหารของกลุ่ม CIS ในเดือน มิ.ย.๒๐๐๕ นี้อาจจะประกาศยุติกองบัญชาการประสานงานทางทหารไปเลยทีเดียว

๕.๓ อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็ยังไม่หมดทางเลือกในการประสานงานทางทหารภายในกลุ่ม CIS ที่เหลืออยู่ภายใต้องค์กรที่เรียกว่า CIS Collective Security Treaty Organization (CSTO) ซึ่งประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนีย คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน โดยในอนาคต รัสเซียยังเชื่อว่า อุซเบกิสถานซึ่งเพิ่งมีปัญหาภายในประเทศจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอาจจะเข้าร่วมกับ CSTO

๕.๔ รัสเซียเคยมองอย่างมีความหวังว่า ถ้าหากกลุ่ม CIS สามารถร่วมมือกันอย่างสมบูรณ์แบบในด้านการทหารและความมั่นคง รัสเซียจะสามารถประสานยุทธบริเวณทางตะวันตกในเบลารุสและยูเครน สามารถจัดยุทธบริเวณในเขตคอเคซัสโดยเชื่อมกับอาร์เมเนียและกองกำลังของตนเองในประเทศอื่นของอนุภูมิภาค รวมทั้งจัดยุทธบริเวณในเขตเอเชียกลางเชื่อมโยงคาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถานเข้าด้วยกัน นอกเหนือจากเขตยุทธบริเวณในภาคทหารต่าง ๆ ของรัสเซียที่มีอยู่แล้ว พูดง่าย ๆ สิ่งเหล่านี้ก็คือการฟื้นสภาพภาคทหารดั้งเดิมสมัยสหภาพโซเวียต แม้จะไม่มีจำนวนมากถึง ๑๖ ภาคทหารเหมือนในสมัยสหภาพโซเวียต แต่ก็ทำให้รัสเซียฟื้นอิทธิพลทางทหารมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม เป้าหมายดังกล่าวหมายถึงงบประมาณทางทหารจำนวนมหาศาล และชาติสมาชิกของกลุ่ม CIS ต้องร่วมมือกับรัสเซียด้วยความจริงใจ และไว้วางใจได้นั่นเอง

๕.๕ การขยายจำนวนสมาชิกของนาโต้ การเข้ามาปรากฎของกำลังทหารสหรัฐฯ และการขยายอิทธิพลของจีนผ่านองค์กร SCO เป็นสิ่งที่รัสเซียมองด้วยความระแวงสงสัย นาโต้อ้างการขยายสมาชิกเพื่อความมั่นคงในภูมิภาค แต่การปรับการวางกำลังทหารของนาโต้ในกลุ่มรัฐบอลติก และยุโรปตะวันออก น่าจะมีเป้าหมายที่รัสเซียมากที่สุด

การเข้ามาคงกำลังทหารในจอร์เจีย อาเซอร์ไบจัน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถานของสหรัฐฯ โดยอ้างการต่อต้านการก่อการร้าย รัสเซียมองว่า สหรัฐฯ กำลังดำเนินนโยบายกดดันอิหร่านและซีเรียเพื่อครอบครองแหล่งน้ำมัน รวมไปถึงการปิดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในกลุ่มเอเชียกลางมากกว่า

รัสเซียกำลังถูกนาโต้ สหรัฐฯ และจีนทดสอบศักยภาพทางทหารมากกว่า อย่างไรก็ตาม ศักยภาพทางทหารของรัสเซียก็เป็นที่น่าสงสัย รัสเซียยังไม่สามารถจัดการกับปัญหากลุ่มแบ่งแยก ดินแดนเชชเนียได้โดยสันติ แม้จะมีศักยภาพสูงกว่ามาก ยิ่งปล่อยให้สถานการณ์เชชเนียยาวนานไปเพียงใด ความศรัทธาและชื่อเสียงของกองทัพรัสเซียที่จะเป็นผู้นำของกลุ่ม CIS ยิ่งลดลงไปด้วย

๖. ภาพสถานการณ์ (Scenario) ของกลุ่ม CIS

จากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น ทำให้เกิดคำถามที่หลายคนต้องการคำตอบอยู่ ๒ ประการว่า อนาคตของกลุ่ม CIS จะเป็นอย่างไร และภาพสถานการณ์ (Scenario) ในอนาคตจะมีลักษณะอย่างไร ซึ่งหากพิจารณาปัจจัยด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารของรัสเซียเป็นแรงผลักดัน (Driving Forces) สำคัญแล้ว ภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตของกลุ่ม CIS น่าจะได้ ๓ ภาพสถานการณ์ดังนี้.-

๖.๑ ภาพสถานการณ์ที่หนึ่ง : เกิดการแตกตัวหรือล่มสลายของกลุ่ม CIS อย่างสิ้นเชิง

ภาพสถานการณ์นี้เลวร้ายที่สุดต่อเกียรติยศและศักดิ์ศรีของรัสเซีย ซึ่งน่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นภายในกลุ่ม CIS แล้วนำไปสู่การประกาศยุบองค์กร CIS อย่างเป็นทางการ ซึ่งน่าจะมีปัญหามาจากความขัดแย้งต่าง ๆ อาทิ ปัญหาเขตแดน หรือดินแดนเป็นสำคัญ ซึ่งผลดังกล่าวจะทำให้อิทธิพลของรัสเซียลดลงในภูมิภาคลดลงไปเท่ากับกลุ่มนาโต้, สหภาพยุโรป, OSCE และสหรัฐฯ ซึ่งจะแข่งขันการใช้ศักยภาพและอิทธิพลของตนเองในบรรดาอดีตชาติสมาชิก CIS ที่แตกจากกัน
ภาพสถานการณ์นี้จะเกิดจากการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ เข้าสู่ภูมิภาคของ CIS ด้วยความเหนือกว่าด้านนโยบายการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งจะขยายไปสู่ความแตกแยกในกลุ่ม CIS ให้เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน แล้วล่มสลายไปในที่สุด ความชัดเจนของภาพสถานการณ์นี้จะอยู่บนปัจจัยของสถานการณ์รัสเซียภายหลังการเลือกตั้ง ปธน.ในปี ๒๐๐๘ ว่า ปธน.ปูตินจะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปหรือไม่ (ปธน.รัสเซียสามารถครองตำแหน่งได้เพียง ๒ วาระ)

๖.๒ ภาพสถานการณ์ที่สอง : กลุ่ม CIS จะลดจำนวนลงแต่เสริมด้วยศักยภาพของรัสเซียและจีน

ภาพสถานการณ์นี้จะเกิดจากรัสเซียที่เป็นแกนกลางของ CSTO (ประกอบด้วย เบลารุส รัสเซีย อาร์เมเนีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน) เชื่อมต่อกับจีนที่เป็นแกนกลางของ SCO (จีน รัสเซีย คาซัคสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน และเตอร์กเมนิสถาน) ด้วยองค์กร European-Asian Economic Cooperation และนำไปสู่การรวมตัวกันเป็นองค์กร ๆ เดียว การรวมตัวขององค์กรเดียวนี้ จะทำให้รัสเซียและจีนสามารถจัดตั้งแนวร่วมพันธมิตรตั้งแต่เบลารุสไปจนจรดจีน สามารถเชื่อมต่อภูมิรัฐศาสตร์และแข่งขันในมิติการทหารและเศรษฐกิจกับชาติตะวันตกได้

ภาพสถานการณ์นี้น่าจะเกิดจากการเติบโตด้านการทหาร และเศรษฐกิจของจีน แล้วขยายตัวในเชิงอิทธิพลผ่าน SCO ต่อเนื่องไปยัง EAEC ความชัดเจนของภาพสถานการณ์จะเกิดขึ้นต่อสถานการณ์ของเอเชียกลางภายหลังปี ๒๐๑๐ หรือ ๒๐๑๕ ภาพสถานการณ์นี้จะเกิดการปะทะกันในสงครามช่วงชิงพื้นที่ “เอเชียกลาง” ระหว่างมหาอำนาจทั้ง ๓ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย

๖.๓ ภาพสถานการณ์ที่สาม : การแตกตัวของกลุ่ม CIS ในลักษณะการเกาะกลุ่มเชิงผลประโยชน์ที่มีรัสเซียเป็นแกน

ภาพสถานการณ์นี้ค่อนข้างจะพัฒนาใกล้เคียงกับในปัจจุบัน แต่ลดเป็นความร่วมมือที่ใกล้ชิดระดับทวิภาคี และพหุภาคี อาทิ รัสเซีย-เบลารุส, ความร่วมมือรัสเซีย-เอเชียกลาง (คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน), ความร่วมมือรัสเซีย-คอเคซัส (อาเซอร์ไบจัน, อาร์เมเนีย) ภาพสถานการณ์นี้อาจพัฒนาต่อเนื่องไปในเชิงปริมาณและคุณภาพขององค์กร CSTO, EAEC, CAECO, CES และอื่น ๆ

ภาพสถานการณ์นี้จะเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก แต่จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ นอกจากนั้นจะเห็นภาพความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับกลุ่มชาติสมาชิก CIS ที่เหลืออยู่ได้เด่นชัด นอกจากนั้น เมื่อเน้นในมิติเชิงเศรษฐกิจ หรือความมั่นคงแล้วอาจจะเปิดกว้างสำหรับความร่วมมือกับชาติ CIS อื่น หรือชาตินอกกลุ่ม CIS อีกด้วย

๗.สรุป

๗.๑ เหตุการณ์การปฏิวัติประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในจอร์เจีย ยูเครน มอลโดวา และคีร์กีซสถาน ตลอดจนการฟื้นองค์กร GUAM (อุซเบกิสถานประกาศถอนตัวเมื่อเดือน เม.ย.๒๐๐๕) ขึ้นมาใหม่ทำให้ความหวังของรัสเซียในความพยายามที่จะรวบรวมกลุ่ม CIS ให้เป็นหนึ่งเดียวในห้วง ๒ ปีที่ผ่านมาเลือนรางไป แนวโน้มของการแตกตัวของกลุ่ม CIS อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตหรืออาจจะยั่งยืนด้วยความมั่นคงก็ย่อมอาศัยความเข้มแข็งของรัสเซียในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร ตลอดจนการพึ่งพาความชัดเจนของนโยบายต่างๆ ที่รัสเซียจะดำเนินต่อกลุ่ม CIS นอกจากนั้น หลายฝ่ายกำลังมองรัสเซียภายหลังการเลือกตั้ง ปธน.ปี ๒๐๐๘ ว่า ใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ถ้าหากไม่ใช่ ปธน.ปูติน ย่อมส่งผลกระทบอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

๗.๒ การเข้ามาคงอิทธิพลของสหรัฐฯ ในเอเชียกลางและคอเคซัส หรือการขยายสมาชิกของนาโต้เข้าสู่ประชิดพรมแดนรัสเซียนั้น รัสเซียอาจจะมองว่า สหรัฐฯ กำลังแผ่อิทธิพลเพื่อมุ่งหวังพลังงานในภูมิภาค หรือนาโต้กำลังบ่อนทำลายรัสเซียให้อ่อนแอ แต่หากมองในมุมกลับกัน ถ้าหากรัสเซียมีความเข้มแข็งในเชิงนโยบาย และไม่มีการเอาเปรียบ หรือกดดันชาติสมาชิกของ CIS ในเอเชียกลางหรือคอเคซัสแล้ว เชื่อว่ารัสเซียก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่ดังเดิม และชาติสมาชิก CIS เหล่านั้นก็คงไม่ประกาศกร้าวขับไล่กองทหารรัสเซียให้ออกจากประเทศของตนเอง

๗.๓ การกดดันชาติสมาชิก CIS ในลักษณะที่ต้องยอมตามรัสเซียด้วยความเหนือกว่าในปัจจัยต่างๆ อาทิ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หรือการเข้มงวดตรวจการนำเข้าสินค้าเกษตร หรือการเข้มงวดหนังสือเดินทาง หรือการข่มขู่ที่จะสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในประเทศชาติสมาชิก CIS อาจจะได้ผลตามที่รัสเซียต้องการในระดับหนึ่ง แต่ไม่ยั่งยืนยาวนาน ประเทศที่ถูกกดดันเหล่านี้ย่อมหาทางเลือกใหม่ในการตอบโต้การกดดันของรัสเซีย ดังนั้นรัสเซียน่าจะปรับเปลี่ยนเป็นความร่วมมือในลักษณะที่เท่าเทียม หรือเอื้อหนุนในสิ่งที่ชาติสมาชิก CIS อื่นขาดแคลน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่การเขียนในนโยบายสวยหรูเท่านั้น แต่ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว รัสเซียก็จะสามารถคงอิทธิพลของตนเองในกลุ่ม CIS ได้ดังเดิมเนื่องจากชาติสมาชิก CIS อื่นก็มีพื้นความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียมาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตเช่นกัน

๗.๔ สำหรับภาพสถานการณ์ในอนาคตที่จะบ่งชี้การคงอยู่หรือการล่มสลายของกลุ่ม CIS นั้น นักวิชาการอาจจะมีปัจจัย Driving Forces สำคัญมากมาย แต่สุดท้ายจะอยู่ที่ปัจจัย “รัสเซีย” เป็นสำคัญ รัสเซียจะเป็นผู้ให้คำตอบว่า ตนเองจะเป็นผู้ทำลายหรือสร้าง CIS ให้เข้มแข็ง ก้าวหน้า และยั่งยืน จนอาจจะนำไปสู่การปูพื้นฐานของการเป็นสหภาพ CIS ในอนาคต



Black Rasputin
rasputin@taharn.net
7 June 2005





 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 0:54:18 น.
Counter : 2272 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

RBZ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




เป็นเดะสีลม(เซนต์โย สีลม)ตอนป.๑ เรียนอยู่สองอาทิตย์ เค้าหาว่าหนูซนเลยต้องย้ายมาเซนต์โยบางนา ตอนนี้อยู่ธรรมศาสตร์ ขึ้นปีสาม แต่อยากเป็นเด็กปีหนึ่ง ตอนนี้กลับไปเป็นเด็กสีลมเหมือนเดิม (โต๊ะสีลม Color of the wind)

เลือกได้ระหว่างอ่าน blog หรือ space
http://spaces.msn.com/ongchun

chivalrysilk [ at ] gmail.com

icq57152514 [ at ] hotmail.com
สำหรับเล่น MSN เท่านั้น
Friends' blogs
[Add RBZ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.