เด็กขี้สงสัยโต๊ะ79
Group Blog
 
All Blogs
 
รายงานภาวะเศรษฐกิจรัสเซียภาพรวมปี ๒๕๔๗



รายงานภาวะเศรษฐกิจรัสเซียภาพรวมปี ๒๕๔๗


๑. หนี้ต่างประเทศ

๑.๑ การชำระหนี้ต่างประเทศเป็นประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดการบริหารเศรษฐกิจของรัสเซีย เพราะรัสเซียมีหนี้ต่างประเทศอยู่จำนวนมาก ทั้งที่เกิดจากการกู้ยืมใหม่ในช่วงทศวรรษ ๑๙๙๐ จนถึงปี ค.ศ. ๑๙๙๘ และเป็นหนี้สินที่สืบทอดตกมาจากสหภาพโซเวียตหนี้สินส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในขณะนี้ส่วนมากเป็นหนี้ต่อประเทศเจ้าหนี้ในกลุ่ม Paris Club (ประกอบด้วย ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยี่ยม แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ เนเธอแลนด์ รัสเซีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ และสหรัฐฯ) ซึ่งถึงปัจจุบันมีจำนวน ๔๔.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่ในจำนวนนี้เป็นหนี้สินที่สืบทอดรับต่อมาจากสหภาพโซเวีย ประมาณ ๔๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีกส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น IMF, International Bank for Reconstruction and Development (IBRD-Word Bank), European Bank for Reconstruction and Development (EBRD) ในปี ค.ศ. ๑๙๙๙ หนี้ต่างประเทศเหล่านี้เคยมีสัดส่วนสูงถึง ๑๒๕% ต่อ GDP ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาแม้รัสเซียต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจในช่วยปี ค.ศ.๑๙๙๘ แต่ระยะหลังก็ได้ทยอยชำระคืนเจ้าหนี้เหล่านี้

๑.๒ จนถึง ๑๔ ก.พ.๒๕๔๘ หนี้ต่างประเทศของรัสเซียทั้งหมด มีจำนวน ๑๑๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และรัสเซียต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ (G7) เฉลี่ยถึงระดับ ๗.๑๓% ต่อปี เนื่องจากเป็นการกู้ยืมในช่วงที่รัสเซียอยู่ในภาวะลำบาก และมีผลให้ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินเพื่อจ่ายเป็นดอกเบี้ยนี้ประมาณปีละ ๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนของมูลค่าหนี้ต่างประเทศ GDP ของประเทศ ถึงขณะนี้ได้ประเมินว่าจะลดลงเป็นประมาณ ๒๕% และจะลดลงเป็นประมาณ ๑๙% ในปี ค.ศ.๒๐๐๖ และ ๑๕ – ๑๗% ในช่วงปี ค.ศ.๒๐๐๘ – ๒๐๐๙

๑.๓ ตั้งแต่ช่วงปลายปี ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียมีนโยบายชัดเจนที่จะเร่งชำระหนี้ต่างประเทศโดยเร็ว เพื่อมิให้ต้องเสียงบประมาณเพื่อเป็นดอกเบี้ยอีกต่อไป ปธน.Vladimir Putin ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เรียกร้องให้มีการเร่งดำเนินการเจรยากับเจ้าหนี้ต่าง ๆ นาย Alexei Kudrin รมว.การคลังรัสเซีย ได้ย้ำเสมอว่ารัสเซียมีความพร้อมที่จะชำระหนี้ต่างประเทศได้หมดก่อนกำหนด ความคืบหน้าที่ปรากฏคือ

- เมื่อวันที่ ๓๑ ม.ค.๔๘ รัสเซียได้ชำระหนี้ต่อกองทุน IMF ในส่วนที่ยังเหลือค้างอยู่อีกทั้งหมดจำนวน ๓.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะถึงกำหนดชำระซึ่งกำหนดไว้ในปี ๒๐๐๘ และทำให้รัสเซียสามารถประหยัดส่วนจ่ายของดอกเบี้ยจำนวน ๒๐๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำไปสำรองไว้ใช้ในวัตถุประสงค์อื่น โดยเฉพาะในด้านสวัสดิการสังคม และเศรษฐกิจ ทั้งนี้เงินกู้ยืมของรัสเซียจากกองทุน IMF เคยมีจำนวนสูงสุด ๑๙.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๑๙๙๘

- รัสเซียกำลังเจรจากับกลุ่มประเทศเจ้าหนี้ (Paris Club) เพื่อชำระหนี้ส่วนหนึ่งประมาณ ๑๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวนทั้งหมด ๔๔.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้เร็วก่อนกำหนดเป็นระยะเวลา ๓ ปี แต่การเจร่จาล่าสุดในการประชุม G7 เมื่อต้นเดือน ก.พ.๔๘ ยังไม่มีความคืบหน้าและปรากฏผลเนื่องจากรัสเซียได้ขอต่อรองให้ลดจำนวนหนี้ลงจำนวน ๑๐% แต่กลุ่ม Paris Club ยังลังเลที่จะยินยอม ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าสถานะทางเศรษฐกิจของรัสเซียอยู่ในระดับดีขึ้นแล้ว โดยเฉพาะจากการที่ได้รับการปรับอันดับด้านการลงทุนโดย Standard & Poor’s ทั้งนี้รัสเซียจะพยายามเจรจากับกลุ่ม Paris Club ต่อไปในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน มี.ค.๔๘ นี้

๒. การยกหนี้ต่างประเทศ

๒.๑ นอกจากการชดใช้หนี้ต่างประเทศแล้ว ในช่วง ๒ -๓ ปี ที่ผ่านมา รัสเซียได้ประกาศยกหนี้สินให้กับบางประเทศ ซึ่งเคยกู้ยืมรัสเซียไว้ตั้งแต่ในช่วงสหภาพโซเวียตและเป็นประเทศสังคมนิยมด้วยกันมา โดยส่วนมากเป็นการยกหนี้บางส่วนและส่วนที่เหลือให้ชดใช้คืนในระยะยาวประมาณ ๓๓ ปี การยกหนี้สินที่เป็นจำนวนมาก คือ

- มองโกเลียเป็นช่วง ๆ ครั้งใหญ่สุด จำนวน ๙.๗ – ๑๑.๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จนเหลือ ๓๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และใช้คืนจนหมด

- เวียดนาม เป็นบางส่วน ยังเหลือค้างประมาณ ๑.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อใช้คืนในระยะยาวปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๕

- ลาว ยกหนี้ให้ประมาณ ๗๐% เมื่อปี ๒๕๔๖ ส่วนที่เหลือจะคืนภายในปี ๒๕๗๖

- อิรัก ประมาณเกือบ ๑๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (๙๐% ของหนี้ที่มีต่อรัสเซีย) ตามท่าทีของกลุ่ม Paris Club ที่ประกาศยกหนี้อิรักประมาณ ๘๐%

- ซีเรีย จำนวน ๑๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคราวที่ ปธน.Bashar Assad แห่งซีเรีย ไปเยือนรัสเซียในปลายเดือน ม.ค.๔๘

ทั้งนี้ รวมถึงประเทศในแอฟริกาใต้หลายแห่ง เช่น นิคารากัว เอธิโอเปีย อังโกลา โมแซมบิก รวมทั้งยังมีประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ อีกมาก เช่น กัมพูชา คิวบา ลิเบีย อัฟกานิสถาน เกาหนีเหนือ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะต้องยกหนี้ให้เช่นกัน

๒.๒ รัฐบาลรัสเซียมีท่าทีในเรื่องการยกหนี้แก่ประเทศเหล่านี้ เนื่องจากตระหนักดีว่าโอกาสที่ประเทศเหล่านี้จะชำระหนี้คืนเต็มจำนวนนั้นมีน้อยมาก โดยคำนึงถึงความสัมพันธทวิภาคีที่เชื่อมโยงกันมาอย่างยาวนานในสมัยสหภาพโซเวียต รวมทั้งเป็นการยกฐานะภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะผู้ปลดเปลื้องหนี้สิน และสำหรับกับอิรักนั้น ปธน.Valdimir Putin ได้เคยแจ้งกับอดีต นรม.Iyad Allowi แห่งอิรักด้วยว่าฝ่ายรัสเซียหวังว่าจะได้รับการสนองเจตนาดี ครั้งนี้โดยอิรักจะได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัสเซียในอิรักบ้าง

๓. นโยบายกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเบิล

เนื่องจากตลอดช่วงปี ๒๕๔๗ ค่าเงินรูเบิลต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและภาคการส่งออกสินค้าของรัสเซียอย่างมาก (ในส่วนที่มิใช่เชื้อเพลิง) ธนาคารกลางของรัสเซีย (Central Bank of Russia) จึงได้เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายการกำหนดค่าเงินสกุลรูเบิล ตั้งแต่ ๑ ก.พ.๔๘ จากการอิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เป็นการใช้นโยบาย dual currency basket เพื่อลดแรงกดดันจากการแข็งขึ้นของค่าเงินรูเบิลที่มีผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนตัวลง และลดการผันผวนของเงินรูเบิลที่จะมีขึ้นต่อไป โดยแบ่งสัดส่วนการกำหนดค่าเงินรูเบิลถ่วงน้ำหนักไว้กับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ๘๗% และเงินยูโร ๑๓% และจะค่อย ๆ ทยอยเพิ่มสัดส่วนของเงินยูโรให้มากขึ้นจนเป็นประมาณ ๕๐% เท่ากับดอลลาร์สหรัฐ แต่ธนาคารกลางจะยังคงใช้นโยบายกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบที่มีการจัดการ (Managed float) สำหรับเงินรูเบิลต่อไป เพื่อรักษาเสถียรภาพเงินรูเบิลและสร้างความสมดุล ทั้งนี้ นักวิเคราะห์การเงินเห็นว่าด้วยนโยบายผูกค่าเงินรูเบิลไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ ตลอดช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางของรัสเซียจึงมีภาระจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงการกำหนดค่าเงินรูเบิลอยู่ตลอดเวลา อันเป็นวิธีการที่ไม่มีความยั่งยืนและไม่ใช่แนวทางที่ควรจะเป็น ธนาคารกลางจึงริเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ ซึ่งจะช่วยปูทางนำไปสู่การยกเลิกการควบคุมเงินทุน (capital controls) ที่กำหนดไว้ในปี ๒๐๐๗ ด้วย

ข้อสังเกต

๑. การที่รัสเซียสามารถชำระหนี้ก้อนสุดท้ายต่อ IMF ได้ก่อนกำหนดมีนัยที่สำคัญต่อประเทศ คือ เท่ากับเป็นการสิ้นสุดการกู้ยืมระหว่างรัสเซียและ IMF ที่เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๖ และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายทางการเงินและเศรษฐกิจโดยใช้เงื่อนไขที่เอื้ออำนวยจากการส่งออกน้ำมันไปในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสำหรับการเจรจากับประเทศเจ้าหนี้กลุ่ม Paris Club รัสเซียตระหนักดีว่าการเจรจาจะเป็นเรื่องต้องใช้เวลา เพราะมีความซับซ้อนและเงื่อนไขผลประโยชน์ทางการเงินที่ต้องต่อรองอีกหลายประการ โดยเฉพาะกับเยอรมัน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่สุด แต่อย่างน้อยการที่ผู้นำของรัฐบาลระดับ ปธน.ออกมาแถลงความพรอ้มที่จะชำระหนี้บางส่วนก่อนเวลาก็เท่ากับสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในเรื่องความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของรัสเซีย

๒. รัสเซียอยู่ในสถานะที่สามารถชำระหนี้ได้ก่อนกำหนด มาจากเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยที่สำคัญคือ

- อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ได้ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นปีที่ ๗ อีกทั้งงบประมาณของประเทศเกินดุลอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๕ ปี
- ทุนสำรองระหว่างประเทศ เริ่มมีสูงกว่ามูลค่าหนี้สินตั้งแต่ช่วงปลายปี ๒๕๔๗ เนื่องจากรายได้ของรัฐในการส่งออกน้ำมันมีเพิ่มขึ้น ถึง ณ วันที่ ๒๘ ม.ค.๔๘ ทุนสำรองระหว่างประเทศ มีมูลค่า ๑๒๘.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

- รัฐบาลมีเงินทุนที่ได้จากเงินกองทุนประกันเสถียรภาพ (Stabilization Fund) ซึ่งเป็นเงินส่วนเกินจากงบประมาณที่กำหนดไว้จากภาษีส่งออกน้ำมัน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะปีที่ผ่านมารัสเซียสามารถส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ ๕๐% จากที่คาดไว้ และราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงกว่าที่ประเมิน จนทำให้เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ ๒ ของโลก รองจากซาอุดิอาระเบีย ปัจจุบัน ถึงวันที่ ๑ ก.พ.๔๘ เงินกองทุนนี้มีมูลค่าประมาณ ๖๔๖.๕ พันล้านรูเบิล หรือ ๒๓.๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หลังจากการใช้หนี้ IMF)

ทั้งนี้ เงินกองทุนประกันเสถียรภาพนี้มีข้อกำหนดไว้ว่าจะสามารถนำไปใช้ได้ ก็ต่อเมื่อยอดเงินสะสมได้เพิ่มสูงกว่าจำนวน ๕๐๐ พันล้านรูเบิล มากกว่า ๑๖๐ พันล้านรูเบิล และรัฐบาลสามารถนำไปใช้ในการชำระหนี้ต่างประเทศและกิจการอื่นได้ ซึ่งขณะนี้ เงินกองทุนได้นำมาใช้ในด้านการบริการสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะการจ่ายเงินสวัสดิการบำนาญ

---------------------------






Create Date : 20 พฤษภาคม 2549
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 1:15:38 น. 0 comments
Counter : 487 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

RBZ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




เป็นเดะสีลม(เซนต์โย สีลม)ตอนป.๑ เรียนอยู่สองอาทิตย์ เค้าหาว่าหนูซนเลยต้องย้ายมาเซนต์โยบางนา ตอนนี้อยู่ธรรมศาสตร์ ขึ้นปีสาม แต่อยากเป็นเด็กปีหนึ่ง ตอนนี้กลับไปเป็นเด็กสีลมเหมือนเดิม (โต๊ะสีลม Color of the wind)

เลือกได้ระหว่างอ่าน blog หรือ space
http://spaces.msn.com/ongchun

chivalrysilk [ at ] gmail.com

icq57152514 [ at ] hotmail.com
สำหรับเล่น MSN เท่านั้น
Friends' blogs
[Add RBZ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.