เด็กขี้สงสัยโต๊ะ79
Group Blog
 
All Blogs
 
ภาพรวมและสถานะทางเศรษฐกิจของรัสเซียในปี ๒๕๔๗ – ๔๘



ภาพรวมและสถานะทางเศรษฐกิจของรัสเซียในปี ๒๕๔๗ – ๔๘


๑. ภาพรวมทางเศรษฐกิจปี ๒๕๔๗

ในปี ๒๕๔๗ บรรยายกาศทางการเมืองในรัสเซียค่อนข้างมีความอ่อนไหวต่อการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนของต่างชาติ สืบเนื่องมาจากความไม่ลงรอยและการขับเคี่ยวระหว่างรัฐบาลและธุรกิจรายใหญ่ๆ โดยเฉพาะการดำเนินการของรัฐบาลรัสเซียต่อกรณีปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทน้ำมันยูคอส (Yukos) และตามมาด้วยการดำเนินการในเรื่องภาษีกับบริษัทขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่งมีผลต่อภาพลักษณ์ และความไว้วางใจในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลรัสเซียต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในสายประเทศผู้ลงทุนต่างชาติ แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโดยรวมของรัสเซียยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่าน ๆ มา และอยู่ในระดับเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีปัจจัยที่บ่งชี้คือ

- การผลิตด้านอุตสาหกรรมมีการขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้

- รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้นประมาณ ๗.๔% ในขณะที่อัตราความยากจนลดต่ำลง (จำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่ง ความยากจน ลดลงจาก ๒๐.๔% ในปี ๒๕๔๖ เหลือ ๑๙% ในปี ๒๕๔๗)

- การว่างงานลดลง

- การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงเป็นระดับ ๙.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คือ การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออก เพราะสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของรัสเซียมีความกระเตื้องขึ้น และการขยายตัวของอุปสงค์การบริโภคสินค้า และบริการในประเทศรัสเซีย ทั้งนี้ภาคการผลิตมีการขยายตัวสูง คือ อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง การก่อสร้าง และการเกษตร ซึ่งเป็นผลผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกในประเทศขยายตัวตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญที่ตามมาจากการที่รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น และมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าเงินรูเบิลที่เพิ่มขึ้น คือ ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตรา ๑๑.๗% และสูงกว่าระดับ ๑๐% ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งนี้ เงินรูเบิลมีค่าแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๔๗ มีค่าเพิ่มขึ้น ๑๔.๐% เมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปี ๒๕๔๖ และ ๖.๐% เมื่อเทียบกับเงินยูโร

๒. เศรษฐกิจในช่วง ๕ เดือนแรกของปี ๒๕๔๘

สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๔๘ มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจรัสเซียยังแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง บริษัท Standard and Poors และ Moody’s ได้จัดให้รัสเซียเป็นประเทศที่อยู่ในระดับน่าลงทุน อย่างไรก็ตาม การขยายตัวสำหรับอุตสาหกรรมและธุรกิจบางสาขาเริ่มชะลอตัวลงมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปี ๒๕๔๗ และต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกปี ๒๕๔๘ อันเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ากำลังการผลิต รวมทั้งภาวะขัดแย้งและความคลุมเครือของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและภาคธุรกิจ ซึ่งมีผลต่อความไม่มั่นใจในการลงทุนของต่างชาติ

รัฐบาลยังคงหาทางที่เหมาะสมในการใช้เงินส่วนเกินจากกองทุนพยุงเสถียรภาพ (Stabilization Fund) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และให้ความสำคัญต่อการพิจารณาแผนงานเศรษฐกิจระยะกลาง (Medium Term Economic Program) เพื่อเป็นแม่บทในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและภาคสังคม โดยมุ่งเน้นที่การสร้างความเข้มแข็งการผลิตในสาขาอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพาเฉพาะสาขาพลังงาน รวมทั้งเจรจากับประเทศเจ้าหนี้กลุ่ม Paris Club เพื่อชำระหนี้ก่อนกำหนด โดยใช้ประโยชน์จากเงินส่วนต่างของกองทุน Stabilization Fund ดังกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน มกราคม – พฤษภาคม ๒๕๔๘ ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของรัสเซียน่าจะยังมีการขยายตัวในระดับที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๔๖ การขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มเป็น ๔.๒% การลงทุนมีอัตราขยายตัว ๙.๘% รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น ๕.๖% อัตราว่างงานลดลงในระดับ ๙% และค่าแรงเพิ่ม ๘.๗% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ๗.๓%

๓. นโยบายของรัฐ :

ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการในหลายๆ ด้านเพื่อการรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญ ๆ คือ

- นโยบายการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๗ ธนาคารกลางของรัสเซียได้เริ่มใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบยืดหยุ่นขึ้น และในต้นปี ๒๕๔๘ ได้ประกาศปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจากที่เคยอิงค่าเงินรูเบิลกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว มาเป็นอิงกับเงินยูโรและเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อควบคู่ค่าเงินรูเบิลให้มีเสถียรภาพขึ้น โดยเริ่มต้นถ่วงน้ำหนักในอัตรา ๑๐:๙๐ และปรับเพิ่มเป็นอัตรา ๒๐ : ๘๐ ในเดือนมีนาคม ๒๕๔๘ โดยธนาคารกลางยังควบคุมค่าเงินรูเบิลให้มีค่าแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต่อเงินหลักต่าง ๆ อ่อนตัวลง ๑ USD/๒๙.๒ รูเบิลในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๗ เป็นต่ำกว่า ๑ USD/ ๒๘ รูเบิล จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

- นโยบายการคลัง : ในปี ๒๕๔๗ งบประมาณภาครัฐได้ดุลและมีมูลค่าส่วนเกินสูงกว่าที่ประมาณการณ์ไว้จำนวนมาก ในอัตรา ๔.๒% ของ GDP ซึ่งมากกว่าในปี ๒๕๔๖ ที่มีสัดส่วน ๐.๕% ของ GDP เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้เงินกองทุนพยุงเสถียรภาพ (Stabilization Fund) มีมูลค่าเป็น ๕๒๒ พันล้านรูเบิล หรือ ๓.๑% ของ GDP ในสิ้นปี ๒๕๔๗ และเพิ่มเป็น ๗๐๘ พันล้านรูเบิลในสิ้นเดือน มีนาคม ๒๕๔๘ รัฐบาลจึงได้ใช้นโยบายนำเงินส่วนเกินของกองทุน ฯ ดังกล่าวไปในการชำระหนี้ IMF ครบตามจำนวน ๙๓.๕ พันล้านรูเบิล และเจรจาใช้หนี้ประเทศเจ้าหนี้กลุ่ม Paris Club ก่อนครบกำหนดชำระ อย่างไรก็ตาม ในปี ๒๕๔๘ แม้รัฐบาลจะมีรายรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงดำเนินนโยบายการคลังแบบระมัดระวังโดยไม่เพิ่มงบประมาณใช้จ่ายให้สูงขึ้นตามรายได้ที่เพิ่ม แต่คงรักษาระดับรายจ่ายในอัตรา ๑๖% ของ GDP เช่นเดียวกับปีก่อน ๆ หน้า และในปี ๒๕๔๘ ก็จะคงอยู่ในระดับเดียวกัน (ประมาณ ๑๖.๓%)

- เนื่องจากงบประมาณภาครัฐมีการได้เปรียบดุลสูง จึงได้สร้างความกดดันอย่างรุนแรงต่อภาคสังคมและการเมือง เพื่อให้รัฐเพิ่มงบประมาณที่จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจและสังคม ซึ่งมีผลให้รัฐต้องพิจารณามาตรการสนับสนุนการลงทุนต่าง ๆ โดยเน้นไปที่โครงการลงทุนภาครัฐ การลดอัตราภาษี การผ่อนปรนการเรียกเก็บภาษีจากบริษัทรัสเซีย การให้สินเชื่อการลงทุน และการเพิ่มงบประมาณในภาคสังคม ซึ่งในแผนงบประมาณปี ๒๕๔๙ รัฐบาลมีแผนที่จะเพิ่มงบประมาณในด้านสวัสดิการสังคมในระยะปานกลางในหลาย ๆ ด้าน เช่น การขึ้นเงินเดือนเป็นเท่าตัว การเพิ่มเงินบำนาญ เป็นต้น

ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราเงินเฟ้อลงให้เหลือในระดับ ๘ – ๑๐% และเพิ่มรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้น ๑๐% และจะเพิ่ม GDP ให้สูงขึ้นอีกเท่าตัวในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า และลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมันลง โดยกระจายการพัฒนาอุตสาหกรรมสาขาอื่นๆ ยังคงเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลรัสเซีย

๔. ภาพรวมการผลิตภายในประเทศ

- ภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Industrial output) มีการขยายตัวในอัตรา ๗.๑% ซึ่งชะลอตัวลงเล็กน้อยจากอัตรา ๗.๓% ในปี ๒๕๔๖ และในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ.๒๕๔๘ อุตสาหกรรมส่วนมากยังคงขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลง อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวสูงสุดคือวัถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พลังงานและเชื้อเพลิง เหล็ก แต่ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมประเภทเครื่องจักรกล (เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์และเครื่องจักรสำหรับการขนส่ง) เคมีภัณฑ์ โลหะ และอาหาร เป็นสาขาที่มีสัดส่วนการขยายตัวในอัตราสูงนอกเหนือจากวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ และสำหรับอุตสาหกรรมประเภทที่มิใช่การผลิตที่มีการขยายตัวมากที่สุดคือ การก่อสร้าง การค้าปลีก และการขนส่ง ในขณะที่อุตสาหกรรมเบามีการผลิตลดลงในระดับ ๗.๕%

สาเหตุหลักที่ทำให้อัตราการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมลดลง สืบเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินรูเบิลมีค่าแข็งขึ้น ราคาพลังงานสูงขึ้น และค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

- ภาคการเกษตร (Agricultural output) มีการขยายตัวจากปี ๒๕๔๖ ในอัตรา ๑.๖% แต่ปริมาณการผลิตประเภท ผลิตภัณฑ์ประเภท เนื้อ นม และไข่ ลดต่ำลง การผลิตธัญพืชเพิ่มขึ้น ๑๖.๒% จากปี ๒๕๔๖

๕. การลงทุนจากต่างประเทศ

๕.๑ แม้ว่า ในปี ๒๕๔๗ ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชนซี่งมีผลมาจากกรณีการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทน้ำมัน Yukos ของรัสเซีย จะมีผลกระทบให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจในรัสเซียไม่ราบรื่นเท่าที่ควร แต่การลงทุนจากต่างประเทศในรัสเซียก็ยังขยายตัวในระดับดี เพราะผลที่มาจากปัจจัยและสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี และความต้องการของการบริโภคสินค้าที่มีการผลิตในประเทศขยายตัว ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนและการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าของธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ

๕.๒ การลงทุนแบบเงินคงที่ (Fixed capital) เพิ่มขึ้น ๑๐.๙% เมื่อเทียบกับอัตรา ๑๒.๕% ในปี ๒๕๔๖ การลงทุนที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดคือสาขาการก่อสร้าง ซึ่งมีการทำสัญญาดำเนินโครงการต่างๆ สูงกว่าปี ๒๕๔๖ ในระดับ ๑๐.๑% ส่วนมากเป็นการก่อสร้างที่พักอาศัย

๕.๓ การลงทุนโดยตรง (FDI) มีมูลค่า ๙.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก ๖.๘ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๔๖ ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่า FDI สูงสุดที่เคยมี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบเงินทุนไหลเข้าประเทศจากด้านอื่นๆ แล้ว ปรากฏว่าเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าไปในรัสเซียส่วนใหญ่ คือเงินกู้จากธนาคารต่างประเทศมากกว่า FDI โดยมีจำนวนถึง ๒๖.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๔๗

ทั้งนี้ รัฐบาลรัสเซียประเมินว่า ในปี ๒๕๔๘ เงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในรัสเซียจะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า ๑๐๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศที่มีการลงทุนสูงสุดในรัสเซีย คือ อังกฤษ เยอรมัน ไซปรัส (คือเงินทุนรัสเซียที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายไซปรัส) และสหรัฐฯ

๖. การค้าระหว่างประเทศ

๖.๑ ในปี ๒๕๔๗ มูลค่าการค้าต่างประเทศของรัสเซียมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๖ โดยมูลค่ารวมเพิ่มขึ้นเป็น ๒๗๘.๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น ๓๑.๑% เป็นมูลค่าการส่งออกจำนวน ๑๘๓.๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว ๓๔.๘% และการนำเข้า ๙๔.๘ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้น ๒๔.๗% ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดนับแต่ปี ๒๕๓๗ โดยรัสเซียได้เปรียบดุลการค้า ๘๘.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

๖.๒ การที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นสืบเนื่องมาจากราคาของสินค้าหลักที่รัสเซียส่งออก มีราคาสูงขึ้นในตลาดโลก (น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ โลหะที่มิใช่เหล็ก เหล็ก รวมทั้ง อลูมิเนียม ทองแดง และนิเกิล) ซึ่งมีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ ๒๑% ที่ระดับราคา ๓๔.๖ ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และการส่งออกสินค้าแต่ละชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้น นอกจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์แล้ว สินค้าส่งออกหลักอื่นๆ ยังคงกระจุกตัวอยู่ที่สินค้าประเภท commodities คือ โลหะ เหล็ก เครื่องจักรยานยนต์และอุปกรณ์ ไม้ อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันยังเป็นสินค้าส่งออกหลักซึ่งมีสัดส่วน ๕๘.๑% ของการส่งออกทั้งหมด

๖.๓ สำหรับการนำเข้า มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากปี ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการนำเข้าสูงขึ้นในสินค้าหลายราการ โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรกล ยานยนต์และอุปกรณ์ เหล็ก เคมีภัณฑ์ อีกทั้งราคาสินค้านำเข้าหลายรายการที่มีการทำสัญญาซื้อขายไว้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ อาหาร วัตถุดิบสำหรับการผลิต โดยการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการลงทุนมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วกว่าสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งขยายตัวในอัตรา ๔๐% จากปี ๒๕๔๖ สินค้านำเข้าที่มีการขยายตัวในปริมาณสูงคือ เครื่องจักร และอุปกรณ์สำหรับการขนส่ง (๔๕.๓%) รถยนต์ (๑๕๐%) และรถบรรทุก (๒๒%)

๖.๔ รัสเซียยังจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในราคาและปริมาณที่สูงขึ้น โดยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทที่มิใช่อาหารเพิ่มขึ้น ๒๐ % (เวชภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า) และมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น ๑๒% และสินค้าอาหารหลักที่มีปริมาณการนำเข้าสูง คือ นมข้นหวาน ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และผลไม้กระป๋องประเภทมะนาว น้ำตาลดิบ เนย น้ำมัน กาแฟ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโกโก้

๖.๕ ทั้งนี้ โครงสร้างการค้าต่างประเทศของรัสเซียเริ่มเปลี่ยนไป โดยเป็นการค้ากับประเทศที่มิใช่อดีตสหภาพโซเวียต (Non-CIS) มากขึ้น ซึ่งมีมูลค่าการค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่องมูลค่าการส่งออกไปประเทศเหล่านี้มีจำนวน ๑๕๒.๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัวเพิ่มขึ้น ๓๓.๕% จากปี ๒๕๔๕) การนำเข้ามีมูลค่า ๗๕.๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น ๒๓.๒%) ส่วนการค้ากับประเทศ CIS มีมูลค่าการส่งออก ๓๐.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัว ๔๑.๘% จากปี ๒๕๔๖) และการนำเข้า ๓๐.๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัว ๑๙.๗%)

๗. การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)

รัสเซียได้ดำเนินการเจรจากับคณะผู้แทน WTO ที่นครเจนีวา รวมทั้งเจรจาทวิภาคีกับประเทศสมาชิก WTO ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันสามารถบรรลุข้อตกลงกับประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญจำนวน ๓๓ ประเทศ ล่าสุดคือ ประเทศนอรเวย์และเม็กซิโก อย่างไรก็ตาม การเจรจาเป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะยังมีปัญหาและเงื่อนไขหลายประการที่รัสเซียยังมีจุดยืนที่ไม่สามารถยินยอมผ่อนปรนตามข้อเรียกร้องของประเทศต่าง ๆ ได้เพราะจะเกิดผลกระทบทางการเมืองและอุตสาหกรรมในประเทศ ประเด็นสำคัญ เช่น

- การให้รัสเซียเพิ่มราคาพลังงานเชื้อเพลิง (ก๊าซธรรมชาติ) ภายในประเทศ
- การปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อผูกพันระหว่างประเทศเรื่องภาษีพลังงาน
- การเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมเครื่องบิน โดยการให้รัสเซียลดราคานำเข้าเครื่องบิน
- การอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติและธุรกิจประกันภัยเปิดสำนักงานตัวแทน (Subsidiaries) ในรัสเซีย

ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดว่า ปัญหาที่คั่งค้างอยู่ต่าง ๆ ดังกล่าว น่าจะสามารถตกลงได้ในช่วยปลายปี ๒๕๔๘ และรัสเซียน่าจะมีโอกาสเข้าเป็นสมาชิก WTO ได้ในปี ๒๕๔๙

๘. ข้อสังเกต

๘.๑ สิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องและกังวลของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนของรัสเซีย คือ ความจำเป็นที่ต้องเร่งสร้างความยั่งยืนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาตลอด ๕ ปี โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นผลเกื้อหนุนสำคัญมาจากราคาส่งออกสินค้าประเภท Commodities โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซ ซึ่งเป็นสินค้าหลักของรัสเซีย ที่ได้อานิสงส์มาจากราคาในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง และยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินรูเบิลแข็งตัว ราคาวัตถุดิบและค่าแรงที่ถีบตัวสูงขึ้น และศักยภาพการผลิตที่ถดถอยลง ฝ่ายต่างๆ ในรัสเซียจึงได้เรียกร้องให้รั้ฐบาลให้ความสำคัญแสวงหามาตรการเพิ่มศักยภาพทางการผลิตในสาขาอื่น ๆ นอกเหนือจากการผลิตที่เกี่ยวกับวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การลดภาษี ให้สินเชื่อการลงทุน ปฏิรูปโครงสร้างบริหารราชการ จัดตั้งกองทุนพัฒนาและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

๘.๒ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่ารัสเซีย แต่กลับมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับเดียวกัน สามารถสะท้อนได้ว่า สิ่งที่ขาดหายไปในระบบเศรษฐกิจของรัสเซีย คือการสร้างความแข็งแกร่งในภาคการผลิตสินค้าสำหรับการบริโภคทั้งภายในประเทศ และการส่งออก ซึ่งรัฐบาลรัสเซียตระหนักในข้อนี้ และเห็นความจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศที่เกื้อกูล ริเริ่มมาตรการดึงดูดและสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะการปฏิรูปด้านภาษี ธนาคาร การเกษตร และขจัดอุปสรรคระบบบริหารของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้เวลา

๘.๓ รัฐบาลรัสเซียยังคงมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรักษาเป้าหมายหลักในการเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Per capita GDP) ให้เป็น ๒ เท่า ของปัจจุบัน ในปี ๒๐๑๐ แต่นักการเมืองและนักวิชาการหลายฝ่ายเห็นว่า แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัสเซีย น่าจะอยู่ในอัตราชะลอตัวลง ซึ่งจะหมายถึงว่า โอกาสที่จะเพิ่ม GDP ให้บรรลุตามเป้าหมายนั้น มีความเป็นไปได้ยาก และหากต้องการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำเป็นจะต้องรักษาระดับ GDP ไว้ในอัตรา ๗.๓% ต่อปีจึงไม่สามารถเป็นไปได้

//www.geocities.com/rasputin9006/economic/eco_indicator_2004.doc

แหล่งที่มา : EIU, Central Bank of Russia, State Committee on Statistic, World Bank

------------------------------------







Create Date : 20 พฤษภาคม 2549
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 1:23:31 น. 4 comments
Counter : 1064 Pageviews.

 
ต้องการข้อมูลและรายละเอียดในส่วนของวัฒนธรรมและเทศกาลของรัสเซียและต้องการข้อมูลทางเศรษฐกิจการติดต่อการค้ากับประเทศต่างๆมากกว่านี้


โดย: อรอุมา IP: 203.155.120.58 วันที่: 9 มกราคม 2550 เวลา:19:05:39 น.  

 
ขอบคุณนะคะที่ทำให้หนูได้ข้อมูลไปสอบ


โดย: นัท IP: 203.113.41.38 วันที่: 16 มีนาคม 2550 เวลา:23:14:20 น.  

 
อยากทราบข้อมูลการเมืองของรัสเซีย และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย


โดย: โชติวิทย์ IP: 202.183.235.3 วันที่: 20 มีนาคม 2550 เวลา:12:15:28 น.  

 
อยากทราบข้อมูลการเมืองของรัสเซีย รวมถึงผลกระทบในทุกด้านที่มีต่อประเทศไทย


โดย: คุณโชติวิทย์ IP: 202.183.235.3 วันที่: 20 มีนาคม 2550 เวลา:12:17:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

RBZ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




เป็นเดะสีลม(เซนต์โย สีลม)ตอนป.๑ เรียนอยู่สองอาทิตย์ เค้าหาว่าหนูซนเลยต้องย้ายมาเซนต์โยบางนา ตอนนี้อยู่ธรรมศาสตร์ ขึ้นปีสาม แต่อยากเป็นเด็กปีหนึ่ง ตอนนี้กลับไปเป็นเด็กสีลมเหมือนเดิม (โต๊ะสีลม Color of the wind)

เลือกได้ระหว่างอ่าน blog หรือ space
http://spaces.msn.com/ongchun

chivalrysilk [ at ] gmail.com

icq57152514 [ at ] hotmail.com
สำหรับเล่น MSN เท่านั้น
Friends' blogs
[Add RBZ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.