เด็กขี้สงสัยโต๊ะ79
Group Blog
 
All Blogs
 

รัสเซียตอนที่ ๑๐ การหาซื้อของกิน และของใช้ในกรุงมอสโก





รัสเซียตอนที่ ๑๐
การหาซื้อของกิน และของใช้ในกรุงมอสโก

กล่าวนำ

การได้ไปเที่ยวกับการได้ไปใช้ชีวิตในต่างแดนนั้นต่างกันมาก การไปเที่ยวต่างแดนส่วนมากก็ไปตามตารางที่ทัวร์ว่าไว้ เช้าขึ้นมาก็ออกจากโรงแรม ไปดูโน่นดูนี่ ไปซื้อของที่ระลึกตามร้านที่ทัวร์มีเอี่ยว ทานอาหารอร่อยๆ แล้วก็กลับมาก็นอน วันรุ่งขึ้นก็เตรียมย้ายโรงแรมไปเมืองอื่น แต่การไปใช้ชีวิตอยู่แบบถาวรและกึ่งถาวรแบบที่ผู้เขียนทำอยู่ตอนนี้ ถ้าใครจะบอกว่าง่าย ก็คงง่าย แต่ถ้าใครจะบอกว่ายาก ก็คงไม่มีใครปฏิเสธ การที่ท่านจะไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนนั้น ท่านก็ต้องหาบ้านพัก ซึ่งส่วนมาก แต่ละท่านก็มีปัจจัยในการหาที่พักแตกต่างกันออกไปอีก ไม่ว่าจะเป็นราคาของบ้านพัก สภาพแวดล้อม การเดินทางไปมา สิ่งอำนวยความสะดวกต่อครอบครัว และปัจจัยอื่นๆ ที่แต่ละครอบครัวพิจารณาแตกต่างกันไป

ในกรุงมอสโกก็เช่นกัน ถ้าที่ทำงานท่านอยู่ในย่านดาวน์ทาวน์ ท่านก็อยากจะหาบ้านพักใกล้ๆ ที่ทำงานหรือไม่ก็ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จะได้เดินทางสะดวก แต่ราคาบ้านพักก็อาจจะมีราคาสูงสักหน่อย ถ้าท่านมาเป็นนักเรียนก็คงอยากจะอยู่ในหอพัก หรือไม่ก็หาห้องพักใกล้ๆ มหาวิทยาลัย ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า แต่ละคนต้องคิดถึงปัจจัยแตกต่างกันออกไป นอกจากนั้นแล้ว การกินอยู่ และการหาซื้อของใช้ก็นับเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าท่านมาอยู่คนเดียว คงไม่มีปัญหา กระเป๋าใบเดียว ท่านก็อยู่ได้แล้ว แต่ถ้ามาเป็นครอบครัว ท่านก็ต้องวางแผนบ้าง เตรียมการให้ดี ว่าอะไรที่ท่านและครอบครัวต้องใช้ประมาณ ๑ ถึง ๒ สัปดาห์แรก ไม่อย่างนั้นยุ่งยากแน่ ไหนจะต้องหาที่พัก ไหนจะต้องเตรียมการเรื่องเรียนหรือเรื่องทำงาน ไหนจะเรื่องขอต่อวีซ่า หรือทำเอกสารแสดงตนจากกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย แล้วยังจะต้องมาวุ่นวายกับของใช้ที่ไม่รู้จะไปหาซื้อที่ไหนอีก ผู้เขียนไม่ได้เขียนให้ท่านผู้อ่านรู้สึกหวาดหวั่นแบบไม่เข้าท่า แต่การมาอยู่รัสเซียนั้น ปัญหาประการแรกคือ คนที่นี่ใช้ภาษาอังกฤษได้น้อย เอกสารทุกชนิดเป็นภาษารัสเซีย นอกจากนั้นท่านยังไม่รู้จะไปหาซื้อของกินของใช้ที่ไม่ได้เตรียมการไว้อีก ซึ่งจะส่งผลให้ท่านรู้สึกไม่สนุกในการอยู่อาศัย ครอบครัวของท่านก็จะพลอยไม่สนุกไปด้วย

บทความนี้ผู้เขียนจะเขียนเฉพาะเรื่องของกิน ของใช้ในกรุงมอสโกแล้วกัน จะเล่าจากประสบการณ์ จากสภาพแวดล้อมที่ผู้เขียนอยู่ และเผชิญในห้วงเดือนแรกๆ ที่มารัสเซีย ผู้เขียนไม่ทราบว่า ใครจะเป็นแบบผู้เขียนบ้างไหม เพราะไม่เคยสอบถามใคร แต่ถ้าผู้อ่านคิดจะมาอยู่รัสเซีย ก็ลองอ่านไป และเปรียบเทียบเอาแล้วกัน

ของใช้

สิ่งแรกที่คิดจะมาอยู่ที่นี่ ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนเตรียมสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผ้าขนหนู และอะไรจิปาถะไว้แล้ว ซึ่งก็คงใช้ได้ประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านคงไม่ต้องเล่าให้ฟังหรอกว่า เตรียมอะไรมาบ้าง แต่ถ้าท่านมาอยู่ได้ประมาณอาทิตย์หนึ่งแล้ว ท่านก็ต้องรีบขวนขวายหาล่ะซิว่า จะไปหาซื้อของใช้พวกนี้ที่ไหนแทนของเดิมที่ใกล้หมด ร้านไหนจะมีของที่ต้องการ และราคาพอสมควร ความจริงประสบการณ์ในการหาซื้อของใช้ ผู้เขียนขอยกเครดิตให้มาดามของผู้เขียน เธอเก่งมากๆ รู้ไปหมด จดบัญชีละเอียดมากว่าของใช้อะไรซื้อที่ไหน ราคาเท่าไหร่ จะไม่ให้ทำได้ยังไงครับ ราคาของที่รัสเซียไม่เหมือนเมืองไทย ที่เมืองไทยเรา แค่ต่างกันห้าบาทสิบบาท ก็เก่งแล้ว แต่ที่รัสเซีย ราคาตั้งตามใจชอบครับ เพราะฉะนั้น ร้านขายของจึงมีราคาที่แตกต่างกันอย่างมาก ท่านผู้อ่านที่คิดจะมาอยู่ ก็ศึกษาที่ผู้เขียนเขียนแล้วกัน ผู้เขียนจะแยกเป็นเรื่องๆ

ของใช้ส่วนตัวประเภทสบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอกหรืออะไรทำนองนี้ ห้างร้านที่มาดามของผู้เขียนไปหาซื้อบ่อยๆ ได้แก่ห้างอาชาน ห้างอาชานนี้ มาดามของผู้เขียนบอกว่า ก็คือห้างโอชองของฝรั่งเศส ห้างอาชานมักจะเปิดอยู่รอบๆ ถนนวงแหวนวงนอกสุด (Mkad) มีรูปนกกระจอกมั้งสีแดงเป็นสัญลักษณ์ ร้านนี้ถ้าเทียบกับบ้านเราก็คือประเภท เทสโก้โลตัสนั่นเอง มีของใช้ทุกประเภทเต็มไปหมด แต่ปัญหาคือ ท่านต้องมีรถขับไป เพราะอยู่แถวๆ ถนนวงแหวน ถ้าไม่มีรถ ก็ต้องนั่งรถเมลล์ไป ตอนกลับถ้าหาซื้อของมาก ก็ลองติดต่อรถแท็กซี่ป้ายดำ ต่อรองราคากันให้ดี ที่ห้างอาชานนี้ มาดามของผู้เขียนจะซื้อของใช้ในบ้านทุกชนิดประเภท ราคาถูกกว่าที่อื่นครับ มาดามของผู้เขียนซื้อครั้งหนึ่งเยอะมาก เอามาเก็บไว้ ผู้เขียนจะบอกอะไรท่านไว้อย่างหนึ่ง ราคาของที่รัสเซียปรับราคาสูงขึ้นตลอดเวลา จะไม่ให้ขึ้นได้อย่างไร ราคาน้ำมันก็แพงมาก อัตราเงินเฟ้อก็กว่าร้อยละ ๑๑ บ้านเราที่บอกว่า ราคาสินค้าจะปรับราคาสินค้าสูงขึ้น ก็จะมีพวกออกมาโวยวายแล้ว บอกได้ตามตรง ที่นี่ ปรับเอง ขึ้นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นว่าของถูก ซื้อเลย ตุนไว้บ้างก็ได้ เพราะเราต้องใช้อีกนาน ส่วนถ้าท่านจะซื้อน้อยชิ้นลงไป และต้องการหาซื้อจากห้างที่อยู่ไม่ไกลจากบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีรถ ก็พอจะมีซุปเปอร์มาเกตที่มีขนาดเล็กอย่างเช่น รามสโตร์ หรืออื่นๆ มากมาย แต่ถ้าจะดูที่ราคาแล้ว ห้างอาชานจะถูกที่สุดครับ

ของใช้ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้เขียนโชคดีที่มาทำงานที่รัสเซีย ได้อาศัยบ้านพักที่หลวงเขาเอื้อเฟื้อ พอได้อาศัยอยู่กับมาดามสบายตามอัตภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านก็มีครบ ไฟฟ้าที่นี่ก็เป็นแบบ ๒๒๐ โวลท์เท่าบ้านเรา ปัญหาของผู้เขียนก็คือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำมาจากเมืองไทยเช่น สายชาร์ตโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โนเกีย, O2 XDA II หรือแท่นชาร์ต Pocket PC แบบ IPAQ ใช้งานกับปลั๊กที่นี่ไม่ได้ ปลั๊กตัวเมียที่นี่เป็นแบบ ๒ ขากลม และมีลักษณะเป็นเบ้ายื่นเข้าไปข้างใน เพราะฉะนั้น ปลั๊กตัวผู้ของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผู้เขียนเอามาจากเมืองไทย จึงต้องไปหาปลั๊กอะแดบเตอร์ (จากของบ้านเราที่เป็นแบบ ๒ ขาแบนและ ๑ สายดินกลม ให้เป็นแบบ ๒ ขากลม นึกภาพเอาเองแล้วกันว่า ต้องทำให้สายปลั๊กตัวผู้ของท่านเป็นแบบ ๒ ขากลมให้ได้เท่านั้น) ร้านขายอะแดบเตอร์มีมากมาย ซึ่งท่านก็ต้องทราบลักษณะของปลั๊กตัวผู้ของเครื่องใช้ไฟฟ้าท่านให้ดี อย่างเช่นปลั๊กคอมพิวเตอร์ ก็ต้องหาปลั๊กแบบที่เสียบได้ทั้งขาแบน ๒ ขา และสายดินแบบกลม แต่ถ้าแท่นชาร์ต IPAQ อันนี้เหนื่อยหน่อยเนื่องจากปลั๊กตัวผู้มีลักษณะพิเศษ ต้องหาปลั๊กแบบที่แปลงขาแบนใหญ่ๆ ๒ ขา และสายดินแบบแบนเป็นแบบขาแบน ๒ ขา จากนั้นจึงหาอะแดบเตอร์แปลงจากแบบแบน ๒ ขาให้เป็นแบบ ๒ ขากลมแบบยื่นเสียบไปในเต้าได้ แต่สำหรับสายชาร์ตโทรศัพท์แบบเกีย และ O2 XDA II ปลั๊กตัวผู้ก็มีลักษณะพิเศษ ต้องหาอะแดบเตอร์ที่เป็นแบบ ๒ ขากลมแบบยื่นเสียบไปในเต้าเท่านั้น ผู้เขียนหาของแบบนี้ได้จากร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่ก็ต้องลองผิดลองถูก เพราะไม่คิดว่า ไอ้ปลั๊กตัวผู้ของอุปกรณ์ไฟฟ้ามันจะยุ่งยากเท่านี้ ปลั๊กตัวเมียบ้านเราเป็น ๓ จุดแบบ ๒ ขาทั้งกลมและแบนก็เสียบได้ เต้าปลั๊กก็ไม่เป็นเบ้ายื่นเข้าไปข้างใน ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างอื่นเช่น สายชาร์ตกล้องโซนี่ ไม่มีปัญหา เพราะสายชาร์ตโซนี่สามารถเสียบเต้าปลั๊กที่นี่ได้ทันที ถ้าท่านที่จะมาเที่ยวหรือมาอยู่ที่รัสเซีย แล้วจะเอาอุปกรณ์ไฟฟ้ามาใช้ ก็ลองไปดูสายเสียบของโซนี่แล้วกัน เพราะปลายสุดท้ายที่จะเสียบปลั๊กตัวเมียที่นี่ได้ ต้องเป็นสองขากลม และยื่นเสียบเข้าไปในเบ้า

สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถ่านหรือหลอดไฟฟ้า ผู้เขียนไปตุนมาจากห้างอาชานครับ ซื้อเยอะมาก อ้อผู้เขียนลืมบอกไป ที่รัสเซียไม่ค่อยใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ จะใช้หลอดไฟกลม และหลอดไฟรูปหยดน้ำมากว่า มาดูเองแล้วกัน ราคาของใช้ไฟฟ้าประเภทโคมไฟ หลอดไฟ ไม่แพงเท่าไรนัก พอซื้อหาได้ แต่ถ้าสนใจจะดูให้หลากหลาย ก็ลองไปที่ห้างอิเกีย (IKEA) หรือห้าง OBI หรือร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าเอาแล้วกัน ของใช้ที่นี่จะติดราคาขายชัดเจน บางทีก็มีลดราคาตามเทศกาลเหมือนกัน ไม่ซื้อก็ไปเดินเล่นก็ได้ โดยเฉพาะห้างอิเกีย และห้างโอบิ ใหญ่มาก มาดามและผู้เขียนชอบไปเดินเล่น แต่ห้างทั้งสองนี้มักจะมีที่ตั้งอยู่ไกลออกไป บริเวณใกล้เคียงกับห้างอาชาน ดังนั้นต้องอาศัยการขับรถออกไป

ของใช้ประเภทตกแต่งบ้าน ความจริงผู้เขียนเอาข้าวของเครื่องใช้ที่ตกแต่งบ้านแบบไทยๆ มารัสเซียมากพอควร อาทิ แผ่นไม้สัก รูปวาด ตุ๊กตา หรืออื่นๆ แต่ก็จำเป็นที่ต้องตกแต่งบ้านเพื่อรับแขกอย่างเช่น ม่าน การเข้ากรอบภาพวาด กรอบรูปถ่ายครอบครัวที่ต้องการจะโชว์ แจกัน ดอกไม้ ต้นไม้ ผ้าปูโต๊ะ หรืออะไรจิปาถะ งานตกแต่งประเภทนี้ ผู้เขียนไม่ได้เรื่องเลย ผู้เขียนยกหน้าที่ให้มาดามของผู้เขียนไป เข้าทางเธอเลยครับ เธอสนุกสนานมาก ออกไปได้แทบทุกวัน บางอย่างก็ทำเองด้วยการเย็บจักร บางอย่างก็หาซื้อจากร้าน อย่างเช่น ม่าน กรอบรูป แจกัน การเข้ากรอบอะไรทำนองนี้ โดยจะมีร้านเฉพาะอยู่ทั่วไป ถ้าเป็นวันธรรมดา ผู้เขียนก็รอดตัวไป เพราะต้องทำงาน มาดามของผู้เขียนไปกับคนขับรถชาวรัสเซีย แต่ถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์ ที่มนุษย์ทำงานอย่างผู้เขียนต้องการนอนพัก มาดามของผู้เขียนกลับใช้ให้ขับรถตะเวนไปตามที่ต่างๆ โดยเธอขู่ผู้เขียนว่า ถ้าไม่ขับรถให้ เธอจะขับเอง ความจริงเธอก็ขับได้ดีตอนอยู่เมืองไทย แต่นั่นแหล่ะ สภาพอากาศรัสเซียที่หนาวเย็น และหิมะปกคลุมถนน ทำให้ผู้เขียนไม่ค่อยไว้ใจที่จะปล่อยให้เธอขับรถออกไปคนเดียว

เสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย เรื่องนี้สำคัญมาก ตอนผู้เขียนจะมารัสเซีย ผู้เขียนเคยไปหาซื้อของที่กรมส่งเสริมการส่งออก หมดไปหลายสตางค์ บัตรเครดิตเต็มไปหลายครั้ง ด้วยกลัวว่า เสื้อผ้าจะหนาไม่พอ ผู้เขียนขอแนะนำอย่างนี้เลย เตรียมเฉพาะลองจอนมาแล้วกัน ทั้งเสื้อและกางเกง เพราะหาลองจอนขนาดคนไทยที่รัสเซียได้ยาก เตรียมสัก ๒ – ๓ ชุดก็พอ ถ้าท่านมาหน้าหนาว ก็หาโอเวอร์โค๊ตมาบ้าง แต่ถ้าจะมาอยู่จริงๆ มาหาซื้อที่นี่ดีกว่า ราคาถูกกว่าบ้านเรา หนากว่ามาก และรับรองทนความหนาวเย็นได้ดี ผู้เขียนและมาดามหาซื้อเสื้อโอเวอร์โค๊ตมาจากเมืองไทย แพงก็แพง แต่ขอโทษ ทนได้แค่เมื่ออุณหภูมิแค่ศูนย์หรือติดลบนิดหน่อย แต่พอเริ่มเข้าหน้าหนาวรัสเซียจริงๆ ไม่ไหวแล้ว แค่เดือนพฤศจิกายน ผู้เขียนกับมาดามก็ต้องไปหาซื้อโอเวอร์โค๊ตแบบอย่างหนา มีขนสัตว์ข้างใน ถึงจะเอาอยู่ ถ้าท่านจะมาอยู่ ผู้เขียนแนะนำว่า ให้มาหาซื้อที่นี่ดีกว่า อย่าหลงแบกน้ำหนักมาจากเมืองไทยเลย นอกจากนั้น ท่านยังต้องหาซื้อหมวกคลุมศีรษะให้ดี ท่านผู้อ่านคงเคยเห็นหมวกกันหนาวแชปก้าของรัสเซียนะ ไปหาซื้อมาซะ ลงทุนหน่อย ใช้ออกงานด้วย อีกอย่างที่สำคัญก็คือรองเท้า และถุงมือแบบมีขนสัตว์ข้างใน ท่านต้องมาหาซื้อที่นี่ ที่สำคัญเวลาทดลองรองเท้า ให้ใส่ถุงเท้าหนาๆ เพราะตอนหน้าหนาว ท่านต้องใส่ถุงเท้าหนาๆ อยู่แล้ว ของใช้กันหนาวประเภทโอเวอร์โค๊ต หมวกแชปก้า ถุงมือและรองเท้าแบบมีขนสัตว์ข้างใน ผู้เขียนว่า หาซื้อตั้งแต่มาอยู่ที่รัสเซียดีกว่า ลงทุนหน่อย ให้ร่างกายอบอุ่น เพราะได้ใช้แน่นอน อย่าสองจิตสองใจเลย ไปหาซื้อตอนอากาศหนาวจัดๆ ไม่มีประโยชน์ ผู้เขียนทดลองดูแล้วว่า ทั้งสี่อย่างที่กล่าวมานี้ ต้องใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม สำหรับร้านที่ท่านจะซื้อ ก็ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และสไตล์การใช้งานหรือการทำงานของท่าน ผู้เขียนขอแนะนำแล้วกัน หมวก เสื้อโอเวอร์โค๊ตขนสัตว์ ถุงมือและรองเท้าขนสัตว์ ท่านสามารถหาซื้อหาได้ตามตลาดเสื้อผ้า (รึยหนัก) ใกล้ๆ บ้าน โปรดดูที่ราคา และสภาพสินค้าแล้วกัน ต่อรองราคากันได้บ้าง และถ้าได้ต่อราคาสินค้าพอหอมปากหอมคอ ก็จะถูกใจคนซื้ออย่างมาก ท่านอาจจะใช้แนวทางแบบบ้านเราก็ได้ คืออย่าซื้อร้านแรกที่เจอ และเดินจากมาถ้าไม่ได้ราคาที่ตั้งไว้ เดี๋ยวคนขายก็เรียกกลับไปให้เอง แต่ถ้าท่านเป็นผู้มีอันจะกิน ต้องออกสังคมบ่อย และต้องแสดงอะไรบางอย่างที่บ่งบอกฐานะ ก็ไปหาซื้อได้จากห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่างเช่น ห้างกุม (GUM), ห้างซุม (TsUM), ห้าง Moskva หรืออื่นๆ มากมาย เลือกตามสบาย ของดี มีคุณภาพ มีแบรนด์เนมรับประกัน แต่ดูที่ป้ายราคาก่อนนะครับว่า เป็นเหรียญ หรือเป็นรูเบิล สำหรับเสื้อผ้าเล็กๆ น้อยๆ เช่นถุงเท้า ถุงน่อง หาซื้อได้ทั่วไป

ของกิน

ผู้เขียนใช้คำว่า กินแบบไทยๆ เขียนคำว่า รับประทานแล้ว รู้สึกว่า มันไม่ได้อารมณ์เท่าไร ไม่ว่ากันนะ เรื่องของกินของใช้ ผู้เขียนไม่ถนัดจริงๆ มาดามผู้เขียนก้าวหน้าไปไกลกว่าผู้เขียนหลายช่วงตัว เธอออกไปข้างนอกทุกวัน ทั้งงานสังคมของเธอในมวลหมู่มิตรชาวต่างชาติหรือคนไทยด้วยกัน และส่วนมากก็จะนัดหาของกินอร่อยๆ บางทีก็ตามร้านอาหารหรือบางทีก็บ้านเพื่อนคนใดคนหนึ่ง สำหรับผู้เขียนนั้น เท่าที่มาทำงานที่นี่ มีการกินแบ่งออกเป็น ๔ แบบคือ แบบแรก กินที่บ้านของเราเอง แบบที่สอง กินข้างนอก แต่เป็นงาน Reception แบบที่สาม กินข้างนอกหรือในบ้าน แต่เป็นงาน Dinner สำหรับประเภทสุดท้ายคือ แวะกินข้างทางหรือ ประเภทแดกด่วน (ไม่รู้ใครตั้งชื่อนี้)

แบบแรกคือทำอาหารกินเอง และแบบที่สามที่เป็นงาน Dinner ในบ้าน ส่วนมากมาดามของผู้เขียนจะไปหาซื้อผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และเครื่องปรุงจากห้างอาชาน ห้างรามสโตร์ ห้างโคเป็กก้าหรือห้างซุปเปอร์มาเกตซึ่งราคาติดป้ายไว้ หรือตลาดสดใกล้บ้านที่ต่อรองราคาได้ การจะไปหาซื้อที่ห้างใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า ต้องซื้อมากซื้อน้อยเพียงใด ส่วนเครื่องปรุงที่เป็นของไทย อาทิ น้ำปลา กะทิ เส้นก๋วยเตี๋ยว พริกแกง และอื่นๆ ส่วนมากต้องไปหาซื้อที่ตลาดเวียดนาม ห้าง Cash and Carry และตลาดสดที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเคียฟ ราคาแพงพอสมควร แต่เป็นสินค้าของไทยที่นำเข้าผ่านประเทศที่สามหรือที่สี่ ก่อนมาวางขายในรัสเซีย นี่ถ้าบริษัทส่งออกของไทยสามารถส่งสินค้า และเครื่องปรุงไทยมาขายได้โดยตรง ก็คงจะดี ราคาคงจะถูกกว่านี้มาก

แบบที่สองที่เป็นงาน Reception และที่แบบที่สามที่เป็นงาน Dinner นอกบ้าน ก็แล้วแต่ว่า เจ้าภาพจะต้องการแสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมของประเทศเพียงใด ร้านอาหารที่ไปทานเลี้ยงมีทั้งในโรงแรม และตามร้านอาหารภายนอก ราคาก็จะแตกต่างกันออกไป แต่บอกได้คำเดียว แพงมากๆ เจ้าภาพจึงสมควรจะสอบถามราคา เตรียมเมนูเลือกไว้ให้ดีทั้งซุป สลัด เมนคอร์ส ขนมหวาน และกาแฟ นอกจากนั้น หากสามารถนำเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ไปเองได้ ก็จะดี เพราะถ้าไปซื้อเหล้าหรือไวน์ในร้าน บางทีอาจจะแพงกว่าราคาอาหารที่ท่านทานเสียอีก วางแผนให้ดี ไม่ใช่เดินดุ่มๆ เข้าไป แล้วรอให้แขกสั่งอาหาร นั่นจะพาท่านไปสู่หายนะได้ อีกอย่างหนึ่ง สอบถามเรื่องการจ่ายเงินด้วยว่า ใช้บัตรได้ไหม ไม่เช่นนั้น ท่านต้องเตรียมเงินรูเบิลไปให้พอ ร้านอาหารที่ผู้เขียนไปส่วนมากก็จะเป็นร้านอาหารจีน ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารเกาหลี ร้านอาหารอินเดีย ร้านอาหารเลบานอน และร้านอาหารรัสเซีย แต่ถ้าเป็นงานรีเซฟชั่น ส่วนมากจะจัดที่สถานทูตของแต่ละประเทศ โรงแรม หรือศูนย์วัฒนธรรมสำหรับนักการทูตของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ร้านอาหารไทยก็มีสองสามร้าน แต่ส่วนมากเป็นของคนลาว หรือไม่ก็มีคนลาวเป็นกุ๊ก ผู้เขียนได้ข่าวว่า อาจจะมีร้านอาหารไทย โดยคนไทยเป็นเจ้าของ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ไปร้านนั้นเลย เพราะอยู่ห่างไกลจากที่บ้านพักและที่ทำงาน อีกอย่างหนึ่ง น้องที่บ้านผู้เขียนทำอาหารไทยได้อร่อยมาก

ประเภทสุดท้าย ก็คงหนีไม่พ้น ร้าน McDonald เจริญเติบโต ขยายสาขาได้ดีมากๆ ผู้เขียนชอบมากเวลาที่ไม่มีสมองจะคิดว่า จะกินอะไร หรือไม่ต้องการเสียเวลาสั่งอาหารและรออาหาร ร้าน McDonald มีอยู่ทั่วไป อ้อ อีกอย่างหนึ่ง ผู้เขียนมักใช้ร้าน McDonald เป็นเป้าหมายในการเข้าห้องน้ำ เพราะที่กรุงมอสโก หาห้องน้ำได้ยากเย็นมากๆ หรือถ้าเจอ ก็เป็นประเภทเสียเงินประมาณ ๗ – ๑๐ รูเบิล กลับมาเรื่องการกินดีกว่า เดี๋ยวจะออกนอกกรอบไป ร้านอีกประเภทหนึ่งที่เห็นมากคือ ร้านรอสติก เหมือนแมคโดนัลด์มาก ผู้เขียนเลยตั้งชื่อว่า ร้านแมครัสเซีย นอกจากนั้น ก็มีร้านพิซซ่า แต่ไม่ใช่พิซซ่าฮัท หรือถ้าไปเดินตามศูนย์การค้า ก็จะมีศูนย์อาหารแบบบ้านเรา แต่จ่ายเป็นเงินสด ไม่ใช่แลกคูปองแบบบ้านเรา ตอนแรกที่มาก็สงสัยว่า ทำไมร้านแมคโดนัลด์ถึงขยายสาขาได้มากมาย พออยู่ๆ ไปเลยเข้าใจ ราคาของบิ๊กแมค รวมกับมันทอด และโค๊ก ๑ แก้ว ประมาณ ๑๐๐ รูเบิล มันราคาพอๆ กับซื้ออาหารแดกด่วนของรัสเซีย แล้วมนุษย์รัสเซียคนไหนมันจะกินอาหารของตนเอง นี่ถ้าหากวันใดวันนึงข้างหน้า ราคาก๋วยเตี๋ยวในศูนย์การค้าบ้านเรามีราคาเท่ากับบิ๊กแมคแล้วล่ะก้อ เตรียมตัวไว้เลย เยาวชนไทยมุ่งไปสู่ McDonald แน่นอน เหมือนกับที่เยาวชนรัสเซียกำลังติดบิ๊กแมคงอมแงมอยู่ตอนนี้

สรุป

การมาอยู่ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซียนั้น อาหารการกิน และการซื้อหาข้าวของ ไม่ได้ลำบากเหมือนอย่างที่ผู้เขียนเคยเข้าใจ เคยมีรุ่นพี่คนหนึ่งบอกว่า “ไอ้ตุ้ม มึงไปอยู่รัสเซีย ต้องตื่นแต่เช้านะ” ผู้เขียนก็ถามว่า “ทำไมครับ”แกบอกว่า “มึงต้องไปรอเข้าคิวซื้อขนมปังไง ตอนสายมึงจะได้ทันไปทำงาน” ไม่จริงหรอกครับ คนพูดน่าจะล้อเล่นมากกว่า ตั้งแต่ผู้เขียนมาอยู่และมาทำงานที่รัสเซีย ยังไม่เคยเห็นอย่างที่รุ่นพี่ท่านนี้พูดไว้เลย ดังนั้นถ้าหากผู้อ่านท่านใดจะมารัสเซียแบบกับทัวร์ และมีโอกาสแล้ว ก็ขอให้ท่านลองไปเดินร้านซุปเปอร์มาเกต เอาที่ใหญ่ๆ หน่อยแล้วกัน หาซื้อวอดก้า คาเวียร์ และชอคโกแลต กลับไปฝากคนเมืองไทยบ้าง อย่าเอาแต่ชอปปิ้งตามที่ทัวร์จัดเลย ไปหาซื้อของแบบที่คนรัสเซียใช้จ่ายดีกว่า ได้รสชาดดีกว่ากันเยอะเลย

พ.อ.สนธิชัย ตุ้มหิรัญ
๒ พ.ค.๒๕๔๘




จากเว็บ //www.geocities.com/rasputin9004




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2549 21:15:16 น.
Counter : 5838 Pageviews.  

รัสเซียตอนที่ ๙ เมื่อผู้เขียนป่วย จนต้องไปโรงพยาบาล





รัสเซียตอนที่ ๙
เมื่อผู้เขียนป่วย จนต้องไปโรงพยาบาล
กล่าวนำ

ความจริงจะใช้ชื่อตอนว่า “โรงพยาบาลในกรุงมอสโก” แต่แล้วก็เปลี่ยนใจ เพราะผู้เขียนไปแค่เพียงโรงพยาบาลเดียว เลยเขียนเกี่ยวกับโรงพยาบาลแห่งนี้ให้ผู้อ่านได้รับทราบ คำกล่าวที่ว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” หรืออะไรทำนองนี้น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้เขียนหรือกะเหรี่ยงต่างแดนท่านอื่นๆ ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน โดยเฉพาะในรัสเซียนั้น ถ้าป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็คงไม่เป็นไร แค่ทานยาที่ติดตัวมาจากเมืองไทยหรือไปหาซื้อยาจากร้านขายยาทั่วไปของรัสเซีย (ร้านขายยาเรียกว่า แอบติก้า มีป้ายกากบาทสีเขียวอยู่หน้าร้าน สังเกตได้ง่าย) ก็คงจะพอจะแก้ขัดไปได้บ้าง ถ้าหากท่านป่วยมาก ก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่เอาการ ความจริงการที่ผู้เขียนป่วยจนถึงขนาดต้องไปโรงพยาบาลนี้ก็ได้ประโยชน์หลายอย่างคือ ประการแรก ได้ทราบอาการโรคที่แท้จริงว่า ผู้เขียนป่วยอะไรกันแน่ ประการที่สอง ได้มีโอกาสไปใช้บริการด้านสาธารณสุขของรัสเซีย และประการสุดท้าย ได้มีเรื่องมาเขียนให้ท่านผู้สนใจเกี่ยวกับรัสเซียได้ทราบประสบการณ์บางอย่างที่ผู้เขียนไปเจอมา ในตอนนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงอาการป่วยของตนเองเท่านั้น

สาเหตุการป่วยของผู้เขียน

ตั้งแต่มาอยู่รัสเซียนี้ ผู้เขียนป่วยไปแล้วสองครั้ง ครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นตอนที่ผู้เขียนมาอยู่ที่รัสเซียได้ประมาณ ๒ เดือน และสภาพอากาศที่รัสเซียค่อนข้างหนาว อาการป่วยเหมือนจะเป็นหวัด แต่ที่แปลกคือไม่มีไข้ แต่ปวดศีรษะ และเจ็บคอ เป็นประมาณกว่า ๒ อาทิตย์ก็หายไป ครั้งแรกนี้ทานยาแก้ไข้ (พาราเซตตามอล และยาแอนตี้ไบโอติค) ไปเกือบสองสัปดาห์ พูดง่ายๆ ผู้เขียนติดนิสัยไม่อยากไปหาหมอ จัดยากินเอาเอง มาดามของผู้เขียนบ่นจนเลิกบ่นไปเอง แต่เธอก็บังคับให้ผู้เขียนทานวิตามินซีวันละ ๑๐๐๐ มก.(ของแบลคมอร์ ยี่ห้ออื่นลองทานดูแล้ว ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่าไม่ค่อยได้ผล) ส่วนครั้งที่สองนี้เกิดขึ้นเมื่อตอนช่วงสงกรานต์นี้เอง ผู้เขียนมีอาการปวดศีรษะ มีไข้เป็นบางวัน ไม่เจ็บคอ แต่น้ำมูกไหลทั้งวัน ที่สำคัญคือปวดศีรษะมาก เช่นเดียวกันผู้เขียนก็ทานยาพาราเซตตามอล ยาลดน้ำมูก และวิตามินซีดังเดิม แต่ที่แปลกคืออาการไม่ดีขึ้น ปวดศีรษะมาก และอยากนอนหลับทั้งวัน ไม่ค่อยสดชื่นเลย ทำงานก็ง่วงทั้งวัน เป็นอย่างนี้เกือบ ๑๐ วัน เลยชักไม่แน่ใจว่า ตนเองเป็นอะไร เพราะปวดศีรษะมาก จึงไปเอาเครื่องวัดความดันของมาดามที่ซื้อมาจากเมืองไทยมาวัดความดันของตนเอง ปรากฏว่าวัดได้ ๑๖๐/๑๐๐ ผู้เขียนก็เลยนึกว่า ตนเองเป็นความดันโลหิตสูง (ความจริงไม่ใช่ เครื่องวัดดังกล่าวห่วย ไม่สมกับราคาแพงที่ซื้อมา ดังนั้นหากท่านใดคิดจะซื้อเครื่องวัดความดันโลหิต ก็ขอให้ทำตามคำแนะนำของหมอดีกว่า อย่าไปเลือกซื้อตามร้านอย่างที่ผู้เขียนทำ ไม่ใช่ว่า ของแพงจะดีเสมอไป) ผู้เขียนก็เลยไปค้นยาลดความดันมาทาน (นิสัยเสียที่ไม่อยากไปหาหมอ) มันก็ไม่ได้ผล จนกระทั่งคนรัสเซียในที่ทำงานของผู้เขียน เขานำเครื่องวัดความดันมาวัดให้ (คนรัสเซียส่วนมากจะเก่งในเรื่องการดูแลตนเอง) เขาบอกว่า ผู้เขียนไม่ได้เป็นความดันโลหิตสูง ผู้เขียนก็เลยถูกมาดามบ่นอีก และบังคับว่าต้องไปหาหมอ ซึ่งก็คงต้องไป เพราะปวดศีรษะ น้ำมูกก็ไหล และง่วงนอนทั้งวัน

สาเหตุที่ผู้เขียนป่วยน่าจะสรุปได้ ๓ สาเหตุคือ ประการแรก เกิดจากความเครียด บางคนกล่าวว่าการไปทำงานต่างแดนได้มีโอกาสพักผ่อน เป็นตัวของตัวเอง ได้เที่ยวชมสถานที่ต่างๆ และได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว ความจริงมันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่สำหรับที่รัสเซียนี้ สภาพอากาศที่หนาวเย็นจัด ภาษา และอาหารการกินน่าจะก่อให้เกิดความเครียดได้ง่าย ถ้ามาเที่ยวก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้ามาอยู่แล้ว ท่านจะต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด นอกจากนั้น ผู้เขียนกดดันตนเองในการทำงานมากไปด้วย งานในหน้าที่ และงานตามฟังชั่น (งานสังคม) มากจริงๆ ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงได้ง่าย ประการที่สอง สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปจากเมืองไทย ที่นี่อากาศหนาวเย็นจัด ตอนที่เขียนบทความนี้เป็นวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๘ (เวลาตีหนึ่ง) อากาศยังติดลบ เมื่อวานตอนเย็น หิมะยังตกปรอยๆ อยู่เลย (แตกต่างจากที่เมืองไทย ซึ่งร้อนจัด) นอกจากนั้น คนรัสเซียที่ทำงานด้วยกันยังบอกผู้เขียนว่า สภาพร่างกายของผู้เขียนยังปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่นี่ไม่ได้ เขาแนะนำว่า เท้ากับศีรษะของผู้เขียนเป็นสิ่งที่ต้องปกป้องให้อบอุ่น ไม่อย่างนั้น จะทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ประการที่สาม ผู้เขียนไม่ออกกำลังกายเลย ประการนี้เองเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ป่วย ตอนอยู่เมืองไทย ผู้เขียนออกกำลังกายอาทิตย์ละประมาณ ๓ ถึง ๔ วัน อาทิ ว่ายน้ำ วิ่ง ฟิตเนส แต่พอมาที่นี่บอกได้ตามตรง รองเท้าวิ่งยังอยู่ในกล่อง ใครจะออกไปวิ่ง หนาวก็หนาว ผู้เขียนไปซื้อจักรยานออกกำลังกายมาหนึ่งเครื่อง ก็ปั่นได้สักสองสามครั้งก็เบื่อ กลายเป็นอุปกรณ์ประดับห้องไป อีกอย่างหนึ่ง ผู้เขียนคิดว่า ตนเองยังอายุไม่มาก ยังแข็งแรง เจ็บป่วยก็หายเร็ว แต่ความจริงแล้วไม่ใช่หรอก เจ็บป่วยที่รัสเซียนี้ หายยากมาก

โรงพยาบาลของรัสเซีย

ในที่สุดผู้เขียนก็ตัดสินใจเด็ดขาดไปหาหมอ แต่ไม่ถึงขนาดต้องไปโรงพยาบาลราคาแพงหรือโรงพยาบาลชั้นหนึ่งของกรุงมอสโกนะครับ (โรงพยาบาลชั้นนำของกรุงมอสโกซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับบรรดาชาวต่างประเทศ ผู้มีอันจะกินหรือผู้ที่มีประกันสุขภาพชั้นหนึ่งได้แก่ European Medical Center หรือ American Medical Center) เพราะแค่ค่าลงทะเบียนประวัติกับค่าตรวจขั้นต้นก็ประมาณ ๔๐๐ เหรียญแล้ว แต่ข้อดีคือ มีแพทย์ชั้นนำ เจ้าหน้าที่และแพทย์พูดภาษาอังกฤษได้ คนไข้จะรู้สึกสบายใจ ผู้เขียนยังคิดว่า ตนเองเป็นหวัดมากกว่า จึงเลือกไปโรงพยาบาลสำหรับนักการทูตที่ราคาไม่แพงมาก (แต่ถ้าเทียบกับบ้านเราแล้ว แพงเหมือนกัน) ก่อนไปโรงพยาบาล คนชาวรัสเซียที่ทำงานด้วยกันบอกผู้เขียนให้เตรียมรูปถ่ายไปด้วยสองใบ และค่าใช้จ่ายเป็นเงินรูเบิลอีกจำนวนหนึ่ง

เมื่อไปถึงโรงพยาบาลสำหรับบริการเจ้าหน้าที่หรือนักการทูต (เขาใช้ชื่อว่า UPDK Medical Center) ก็เข้าไปสอบถามที่แผนกประชาสัมพันธ์ที่ชั้นล่าง เจ้าหน้าที่ผู้หญิงรัสเซีย (ไม่มียิ้ม) ก็บอกว่า ให้ไปกรอกทะเบียนประวัติ และทำบัตรโรงพยาบาลที่อีกห้องหนึ่งในชั้นเดียวกัน ไม่เหมือนบ้านเราที่เห็นป้ายบอกไว้ว่า แผนกลงทะเบียนคนไข้ แต่ที่นี่ต้องใช้การสอบถามว่า ห้องหมายเลขอะไรเป็นภาษารัสเซีย เมื่อไปถึงห้องนั้น เจ้าหน้าที่ผู้หญิงซึ่งท่าทางใจดี ก็ขอบัตรประจำตัวของผู้เขียน (เป็นภาษารัสเซีย)และรูปถ่ายสองใบไปกรอกรายละเอียดลงในคอมพิวเตอร์ ประมาณ ๕ นาทีก็เสร็จ แล้วเธอก็ส่งเอกสารในการจ่ายเงินสำหรับการลงทะเบียน และบัตรประจำตัวคนไข้มาให้ ซึ่งผู้เขียนก็ไปจ่ายเงินที่ห้องจ่ายเงินชั้นล่าง หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็บอกให้ไปพบแพทย์ที่ห้องที่กำหนด (ชั้น ๔) ซึ่งก็น่าจะเป็นอายุรกรรมแพทย์ พอไปถึงหน้าห้อง จะเห็นคนไข้นั่งรอพบแพทย์อยู่หน้าห้องตรวจโรคเหมือนโรงพยาบาลบ้านเรา แต่ที่แตกต่างคือ เราจะต้องถามว่า ใครเป็นคนสุดท้ายที่รอคิว แล้วเราก็จำไว้ว่า เราจะต้องต่อคิวคนๆ นั้น โรงพยาบาลที่บ้านเรา นางพยาบาลจะออกมาเรียกชื่อคนไข้ให้เข้าไปพบแพทย์ แต่ที่นี่คนไข้ต้องรู้กันเองว่า ใครก่อนใครหลัง เขาทราบคิวของตัวเอง และไม่มีการแทรกคิวแบบบ้านเราหรอกครับ ผู้เขียนยังนึกอยู่เลย บ้านเมืองรัสเซียนั้นคนเขาเคารพลำดับก่อนหลังกันดีจริงๆ ไม่มีลัดคิวให้เห็นเหมือนบางประเทศ ถ้าหากระหว่างรอ คนไข้จะไปห้องน้ำ เขาก็จะบอกฝากกันไว้ ซึ่งก็ไม่มีใครลัดคิวให้เห็นอีกนั่นแหล่ะ หมอที่นี่ตรวจนานมาก คนไข้ที่เข้าไป กว่าจะออกมาได้ กินเวลาไม่ต่ำกว่า ๒๐ นาทีสักคน และในที่สุด ก็ถึงคิวของผู้เขียน เมื่อคนก่อนหน้าผู้เขียนออกมาจากห้องตรวจโรค

ห้องตรวจโรคเหมือนบ้านเรา แต่ค่อนข้างใหญ่ กว้างขวาง ด้านข้างเป็นชั้นวางหนังสือแพทย์แบบบ้านเรา ตรงกลางห้องเป็นโต๊ะใหญ่มีแพทย์ผู้หญิง สูงอายุมาก และนางพยาบาลอีก ๑ คน (ทั้งสองคนนั่งทำงานด้วยกัน ไม่เหมือนบ้านเราที่หมอนั่งโต๊ะทำงาน แต่พยาบาลยืนคอยฟังคำสั่ง) ท่าทางใจดีทั้งคู่ เช่นเดิมทั้งสองคนไม่มีการยิ้ม ไม่มีการทักทาย ผู้เขียนนั่งสวดชินะบัญชรคาถาไปด้วย ภาวนาว่าอย่าให้เป็นโรคร้ายใดๆ เลย จากนั้นแพทย์ก็ถามอาการป่วย กรอกทะเบียนประวัติ ซักถามประวัติส่วนตัวผู้เขียน การแพ้ยา และประวัติการผ่าตัด รวมทั้งประวัติบิดามารดา ประมาณ ๕ นาที จากนั้นก็ตรวจความดัน ซึ่งก็บอกว่าความดันปกติ เสร็จแล้วให้ถอดเสื้อออก (แปลกดี) และใช้หูฟังการหายใจ เขาตรวจละเอียดจริงๆ ฟังช้าๆ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ให้หายใจทั้งแบบธรรมดา และแบบหายใจแรงๆ ประมาณ ๓-๔ นาทีได้ จากนั้นก็ตรวจช่องปาก และวัดปรอท บอกก่อนนะครับ ปรอทที่นี่เขาไม่อมไว้ใต้ลิ้นแบบบ้านเรา แต่ให้เสียบไว้ที่รักแร้ วัดนานมากครับประมาณ ๔-๕ นาทีได้ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่มีไข้ จากนั้นแพทย์ก็เขียนใบสั่งแพทย์บอกให้ไปเอ็กซเรย์โพรงจมูกเพราะผู้เขียนมีน้ำมูกไหล และปวดศีรษะมาก โดยบอกว่า ถ้าเอ็กซเรย์เสร็จให้กลับมาหาหมออีกครั้งหนึ่ง

ผู้เขียนไปที่แผนกรังสีกรรมเพื่อเอ็กซเรย์โพรงจมูกที่ชั้น ๕ ไม่นานครับ ประมาณ ๑๕ นาที ก็ได้ผล แต่ที่สำคัญคือต้องไปจ่ายเงินค่าตรวจแพทย์และค่าเอ็กซเรย์ก่อน ก็แปลกดี ทำไมไม่จ่ายทีเดียวก็ไม่ทราบ หลังจากนั้น ก็มาพบแพทย์ที่ห้องเดิม ไม่ต้องรอคิว เพียงแค่คนไข้ในห้องตรวจโรคออกมา เราก็ใช้สิทธิ์เข้าไปพบแพทย์ได้เลย คนไข้ที่รออยู่ก็ไม่มีใครออกอาการไม่พอใจ แสดงว่าระบบการพบแพทย์ที่นี่เป็นเช่นนี้ แพทย์คนเดิมมองแผ่นฟิล์มเอ็กซเรย์แล้วก็บอกว่า สาเหตุที่ป่วยเกิดจากโพรงจมูกมีปัญหา ให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางอีกคนหนึ่ง จากนั้นเธอก็โทรไปนัดให้ และบอกหมายเลขห้องให้เสร็จเรียบร้อย ผู้เขียนเลยถึงบางอ้อว่า ตนเองที่น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ และง่วงนอนตลอดเวลาเกิดจาก โพรงจมูกอักเสบนี่เอง ถ้ายังดื้อทานยาลดน้ำมูก (แอคติเฟต) และยาแก้ปวดศีรษะ อีกชาตินึงก็ไม่หาย จึงนึกขอบคุณความน่ารักของมาดามอยู่ในใจ ถ้าคุณเธอไม่บ่น ผู้เขียนก็คงทานยาเองเหมือนเดิม และก็คงไม่หายแน่ๆ

แพทย์เฉพาะทางด้านโพรงจมูกอยู่ที่ชั้นสองซึ่งก็น่าจะเป็นแผนกหู คอ จมูกแบบบ้านเรา ปรากฎว่าไม่มีคนไข้รอมากนัก แต่แพทย์ก็ไม่ออกมาเรียกใครเข้าไป (หน้าห้องแพทย์มีแผ่นป้ายระบุว่า ห้ามเข้าไปเอง โดยไม่ได้เรียก) ผู้เขียนรอประมาณเกือบชั่วโมง ก็มีพยาบาลสาวออกมาเรียก พอเข้าไปก็พบแพทย์ผู้หญิง อายุมาก ท่าทางใจดี เธอตรวจช่องปาก โพรงจมูก รูหู จากนั้นก็ดูแผ่นฟิล์ม แล้วถามว่า จะรักษาโดยการผ่าตัดหรือทานยา ผู้เขียนก็เลยอึ้ง หันไปมองหน้าคนรัสเซียที่มาด้วยและเป็นล่ามแปล เขาก็ไม่ได้แสดงอาการแปลกใจอะไร แสดงว่าที่รัสเซียนี่ การรักษาโดยการผ่าตัดเป็นเรื่องปกติ แต่บ้านเราน่าจะเป็นวิธีการสุดท้าย ผู้เขียนบอกว่า ทานยา คนรัสเซียที่มาด้วยยังบอกผู้เขียนอีกว่า น่าจะผ่าตัด กินเวลาแค่ ๒๐ นาทีเอง ผู้เขียนก็บอกว่า ไม่เอา กินยาดีกว่า แพทย์ก็ใจดีบอกว่า จะทำความสะอาดโพรงจมูกให้ จะได้หายใจได้สะดวก จากนั้นก็เรียกพยาบาลสาวน้อยมาช่วย และอธิบายว่า ถ้าเธอพ่นยาในช่องจมูก ให้หายใจทางปาก และทำเสียงกุ๊กกรูๆ ห้ามกลืนเสลดที่ไหลออกมา ให้บ้วนลงในถาดที่พยาบาลมาคอยช่วยจับ ผู้เขียนทำตามเสียงนั้นไม่ได้หรอกครับ ได้แต่ทำเสียงกลั้วคอ เธอทำเสร็จไปครั้งหนึ่ง เธอก็ถามว่าดีไหม ก็ดีจริงๆ ครับ โล่งจมูกไปมาก แต่ก็ยังไม่เหมือนปกติ จากนั้นให้ผู้เขียนสั่งน้ำมูกออกมา แพทย์คนนี้เธอก็พ่นน้ำยาในโพรงจมูกให้อีกครั้ง แล้วเขียนใบสั่งแล้วก็บอกให้ไปทำบำบัดด้วยการหายใจในน้ำยาลดการอักเสบของโพรงจมูกที่อีกห้องหนึ่ง นอกจากนั้นเธอยังเขียนใบสั่งยามาให้ด้วย

ผู้เขียนใช้เวลารอหน้าห้องใหม่นี้ไม่นานครับ ประมาณ ๕ นาที พอเข้าไปพบพยาบาลในห้องนี้ เธอก็เตรียมอุปกรณ์หายใจให้เรียบร้อย ซึ่งผู้เขียนต้องเข้าไปนั่งในห้องกระจกสี่เหลี่ยมแคบๆ และมีอุปกรณ์ที่มีลักษณะเหมือนอ่างล้างหน้า จากนั้นเธอก็อธิบายวิธีการหายใจผ่านอุปกรณ์นั้น โดยผู้เขียนต้องสูดหายใจแบบปกติผ่านน้ำยาเป็นเวลา ๑๐ นาที ซึ่งเธอวางนาฬิกาทรายไว้ให้สังเกต แปลกดีครับ ใช้การจับเวลาที่ง่ายดีและได้ผลด้วย ถ้าทรายไหลหมดหนึ่งรอบก็เป็นเวลาประมาณ ๕ นาที แล้วกลับอีกด้านหนึ่งก็จะครบ ๑๐ นาที เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ผู้เขียนก็ไปจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลที่ชั้นล่าง แล้วก็ไปยังห้องซื้อยา ส่งใบสั่งยาให้พยาบาลและจ่ายเงินค่ายา ยาทั้งหมดเป็นภาษารัสเซียอีกนั่นแหล่ะ คงต้องกลับไปให้คนรัสเซียที่ทำงานช่วยแปลวิธีการใช้ให้ ผู้เขียนใช้เวลาในโรงพยาบาลทั้งหมดเกือบ ๔ ชั่วโมง แต่ก็ดีได้รับรู้ว่า การมาหาหมอที่นี่ ได้ประสบการณ์ที่ดีๆ อีกมาก ภาพเดิมๆ ที่เคยคิดว่า โรงพยาบาลของรัสเซียเก่า อุปกรณ์ไม่สะอาดนั้น เลิกคิดไปเลย ผู้เขียนไปพบโรงพยาบาลที่เหมือนโรงพยาบาลเอกชนบ้านเรา ห้องลงทะเบียน ห้องแพทย์ ห้องจ่ายเงิน ห้องจ่ายยา มีเครื่องคอมพิวเตอร์ครบครัน ที่น่าแปลกใจคือ จอมอนิเตอร์เป็นแบบจอแบนครับ อุปกรณ์ในแต่ละสถานที่ก็ค่อนข้างสะอาด

ท้ายที่สุด

ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตบางอย่างแก่ท่านผู้อ่านที่อาจจะมาเที่ยวรัสเซียว่า ประการแรก โรงพยาบาลที่ผู้เขียนไป แม้มีภาษาอังกฤษประกอบกับภาษารัสเซีย แต่เอกสารทุกชนิด แพทย์และพยาบาลใช้ภาษารัสเซียอย่างเดียว ขนาดผู้เขียนป่วยเป็นโรคง่ายๆ ยังใช้กระบวนการเกือบ ๔ ชั่วโมง และต้องอาศัยล่ามจากคนรัสเซียด้วย ซึ่งล่ามของผู้เขียนบอกว่า ถ้าผู้เขียนป่วยโดยโรคยากกว่านี้ เขาก็ไม่รู้จะแปลอย่างไร

ประการที่สอง แพทย์ที่นี่ตรวจละเอียด วิเคราะห์จริงจังมาก และดูท่าทางมีจรรยาบรรณในการเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วย เขาไม่แน่ใจอะไร เขาจะสั่งเอ็กซเรย์ และให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางทันที แต่ก็นั่นแหล่ะ ที่โรงพยาบาลนี้ อาจจะไม่ใช่ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค เพราะค่าตรวจกับค่ารักษามีราคาแพงพอสมควร เทียบได้พอๆ กับโรงพยาบาลเอกชน ผู้เขียนยังเชื่ออีกว่า ถ้าหากมีประกันสุขภาพ น่าจะสะดวกกว่านี้ เพราะต้องจ่ายเงินหลังจากที่ไปรับบริการอย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อน จึงจะไปบริการตรวจจากอีกแห่งหนึ่งได้

ประการที่สาม อย่าป่วยเลยครับ ท่านผู้อ่านที่จะมาอยู่รัสเซีย ผู้เขียนขอแนะนำว่า ให้ตรวจสุขภาพให้ดี รักษาฟันให้เรียบร้อย และควรจะออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผู้เขียนตั้งใจไว้แล้วว่า ไม่ว่ารัสเซียจะหนาวอย่างไร ผู้เขียนก็จะพยายามออกกำลังกายให้มากขึ้น ผ่อนคลายการทำงานให้สมดุลดีกว่า เพราะป่วยแล้ว ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย งานเขียนหนังสือและงานสังคมชะงักไปเกือบ ๒ สัปดาห์ รองเท้าวิ่งของผู้เขียนคงจะหลุดออกมาจากกล่อง และจักรยานออกกำลังกายเครื่องที่ซื้อมานั้นคงจะสึกมากกว่าเดิม

พ.อ.สนธิชัย ตุ้มหิรัญ
24 Apr 2005




จากเว็บ //www.geocities.com/rasputin9004




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2549 21:14:40 น.
Counter : 924 Pageviews.  

รัสเซียตอนที่ ๘ สนามบินในกรุงมอสโก



รัสเซียตอนที่ ๘
สนามบินในกรุงมอสโก
กล่าวนำ

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของกรุงมอสโกคือ การใช้สนามบิน กระเหรี่ยงต่างแดนเช่นผู้เขียนนั้น ครั้งแรกที่มาเจอ ก็ถึงกับอึ้งไปเหมือนกัน ไม่คิดว่าประเทศที่เจริญด้วยเทคโนโลยีระดับส่งยานอวกาศไปนอกโลก จะมีสภาพภายในสนามบินที่เป็นอย่างนี้ บรรยากาศภายในสนามบินจะทึมๆ ช่องทางผ่านเข้าออกไม่สะดวกสบาย การลงจากเครื่องบินเข้าสู่สนามบินก็ไม่มีงวงมาจ่อที่ปากประตู แต่เป็นการนำรถบัสไปรับผู้โดยสารมาส่งที่สนามบิน สภาพห้องน้ำไม่ดีนัก ร้านค้าก็มีจำนวนน้อย อาจจะพูดได้ว่า สนามบินดอนเมืองเราดีกว่ามาก แต่ก็นั่นแหล่ะ การศึกษาสิ่งใด ควรจะมองที่แก่นมากกว่ากระพี้ ถ้าหากคิดแต่ความสะดวกสบายจนละเลยความปลอดภัย หรือหากคิดแต่ความก้าวหน้าทันสมัยจนละเลยพื้นฐานภูมิปัญญาดั้งเดิมแล้ว รัสเซียก็คงไม่ก้าวหน้าและน่าศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ การเขียนบทความตอนนี้ก็เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์สนามบินของรัสเซียที่เห็นมาเท่านั้น บางท่านที่เคยมาเที่ยวรัสเซียก็อาจจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป

สนามบินของกรุงมอสโก

ผู้เขียนทราบว่ากรุงมอสโกมีสนามบินทั้งสิ้น ๕ แห่งได้แก่ Domodedovo (ดามาเดียดาวา), Sheremetjevo 1 (เชอเรเมตเยวา ๑), Sheremetjevo 2 (เชอร์เรเมตเยวา ๒), Vnykovo (วนุกกาวา) และ Biykovo (บรึยกาวา) ชื่อทั้งหมดนั้น ผู้เขียนออกเสียงตามคนรัสเซีย อาจจะดูแปลกไปบ้างเมื่อไม่เหมือนกับตัวสะกดภาษาอังกฤษ ในบรรดาสนามบินทั้ง ๕ แห่งนี้นั้น ตั้งแต่ผู้เขียนมาอยู่ก็เคยได้มีโอกาสใช้เพียง ๓ แห่งเท่านั้นคือ ดามาเดียดาวา เชอเรเมตเยวา ๑ และเชอเรเมตเยวา ๒ ส่วนอีก ๒ แห่งคือ วนุกกาวา และบรึยกาวา นั้นใช้สำหรับเจ้าหน้ารัฐบาล และวัตถุประสงค์เฉพาะของทางการ

สนามบินดามาเดียดาวาเป็นสนามบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ ผู้เขียนเคยไปส่งคนไทยกลับสู่ประเทศไทยที่สนามบินนี้ และเคยใช้บริการสนามบินนี้ในการเดินทางภายในประเทศของรัสเซีย เป็นสนามบินที่ดูใหม่ที่สุดในบรรดา ๓ แห่งที่ได้ใช้มา อยู่ทางตอนใต้ของกรุงมอสโก ถ้าท่านผู้อ่านนึกภาพถนนวงแหวนรอบนอก (Mkad) จากตอนที่ ๗ ได้ สนามบินนี้จะออกนอกเลยวงแหวน Mkad ไปอีกประมาณ ๒๐-๒๕ กิโลเมตร ในการเดินทางขาออกจากสนามบินนี้ เราต้องมาถึงสนามบินก่อน ๒ ชม. ลานจอดรถจะอยู่อีกฟากหนึ่งของสนามบิน ลักษณะเป็นลานกว้าง จอดรถได้หลายพันคัน รถเข็นกระเป๋าเดินทางจะอยู่บริเวณหน้าประตูเข้าสนามบินที่ติดกับลานจอดรถ ช่องทางเชคอินตั๋วจะอยู่ที่บริเวณชั้นล่างของสนามบิน (ดูได้จากจอมอนิเตอร์ภายในสนามบิน) ซึ่งจะเปิดบริการก่อนประมาณ ๑ ชม.ครึ่ง เมื่อเชคอินที่นั่งเรียบร้อย ได้บอร์ดดิ้งพาส ก็ไปยังชั้นสองเพื่อตรวจหนังสือเดินทาง และที่นี่เองต้องผ่านเครื่องมือตรวจจับในการรักษาความปลอดภัย ผู้โดยสารจะจำไปจนวันตาย ผู้เขียนเคยเดินทางตอนหน้าหนาว สวมเสื้อผ้าหลายชั้น รวมทั้งโอเวอร์โคตด้วย ต้องถอดออกจนเหลือแค่เสื้อเชิร์ต ถอดรองเท้า ถอดเข็มขัด ฝากมือถือ ฝากอุปกรณ์โลหะ และตรวจกระเป๋าแฮนด์แบก เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อผู้เขียนเดินผ่านเครื่องตรวจ มันยังร้องสนั่นอีก เจ้าหน้าที่สาวชาวรัสเซียซึ่งปกติก็ไม่ยิ้มอยู่แล้ว เธอปราดเข้ามา เอาเครื่องมือตรวจจับโลหะมาตรวจตามตัวอีก รวมทั้งยังลูบตามตัว ตามกระเป๋ากางเกงอีก เมื่อจะมารอรับอุปกรณ์ที่ตรวจผ่านเครื่องเช่นกระเป๋าและเสื้อผ้า เจ้าหน้าที่สาวที่ตรวจดูผ่านเครื่องยังบอกให้ผู้เขียนเปิดกระเป๋าแฮนด์แบกอีก ผู้เขียนโมโหก็โมโห ขำก็ขำ มันจะตรวจอะไรกันนักหนาวะ แต่ก็ต้องยอมโดยดี เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่พูดภาษาอังกฤษ ส่วนผู้เขียนนั้น ภาษารัสเซียก็ไม่แข็งแรง สรุปแล้วพอกัน เมื่อผู้เขียนนึกถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อส่วนรวมแล้ว ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงข้อหนึ่งว่า พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบมา เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทั้งหมดจากพวกไม่หวังดี หรือพูดง่ายๆ เขาทำเพื่อพวกเรา แต่ยอมโดนด่าจากพวกเราที่ไม่ได้รับความสะดวกสบาย ส่วนการเดินทางขาเข้าก็เหมือนๆ กับตอนขาออก การเดินทางระหว่างประเทศและภายในประเทศจะมีงวงมาจ่อรองรับจากปากประตู จากนั้นก็คอยรับกระเป๋าที่ Belt กินเวลาไม่นานนัก แต่ที่แปลกคือบริเวณ Belt รับกระเป๋าจะไม่มีรถเข็นกระเป๋าให้ผู้โดยสาร ดังนั้นให้เตรียมพละกำลังในการลากกระเป๋าเดินทางให้ดี

สนามบินเชอเรเมตเยวา ๑ เป็นสนามบินภายในประเทศของรัสเซีย ผู้เขียนในสนามบินนี้เดินทางไปนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สนามบินนี้อยู่ห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ออกนอกถนนวงแหวน Mkad ไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร สนามบินนี้เป็นสนามบินชั้นเดียว ดูจากภายนอกค่อนข้างเก่า ภายในก็แคบๆ ไม่ค่อยกว้างขวางนัก เล็กกว่าดามาเดียดาวา และเชอรเรเมตเยวา ๒ มาก ลานจอดรถอยู่ด้านหน้าสนามบิน มองดูลานจอดรถคร่าวๆ แล้ว จอดได้ไม่เกิน ๓๐๐-๔๐๐ คัน ผู้โดยสารควรไปถึงสนามบินก่อน ๒ ชม. เมื่อไปถึงสนามบิน ก็ไปตรวจดูว่าเที่ยวบินของเราใช้ช่องทางเช็คอินหมายเลขอะไร เวลาอะไรที่ช่องเช็คอินสำหรับเที่ยวบินของเราจะเปิด เมื่อช่องเช็คอินตั๋วเปิดแล้ว ผู้โดยสารก็ต้องผ่านการตรวจเอ๊กซเรย์ความปลอดภัยเข้าไปข้างในเพื่อเช็คอินที่นั่ง ที่สนามบินนี้ผู้เขียนโดนตรวจไม่มากไม่เหมือนที่ดามาเดียดาวา หลังจากได้บอร์ดดิ้งพาสแล้ว ก็ไปยังหมายเลขประตูหรือเกท แล้วนั่งรถบัสไปยังเครื่องบินที่จอดอยู่ในลาน การเดินทางขาเข้าก็เช่นเดียวกับขาออก พอเครื่องบินลงจอดในลาน จะมีรถมารอรับเพื่อไปส่งที่ประตูสนามบิน จากนั้นเราก็จะรอรับกระเป๋าที่สายพาน Belt และอีกเช่นเคย ที่บริเวณ Belt นั้น ไม่มีรถเข็นกระเป๋าไว้บริการ การเดินทางในรัสเซียต้องแข็งแรง ถ้าสัมภาระมากก็ต้องแข็งแรงกว่าคนอื่น

สนามบินเชอเรเมตเยวา ๒ เป็นสนามบินระหว่างประเทศ อยู่ห่างจากสนามบินเชอเรเมตเยวา ๑ ประมาณ ๑๐ นาที นับว่าเป็นสนามบินแรกที่ผู้เขียนได้สัมผัสกับประเทศรัสเซีย การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังมอสโกต้องใช้สนามบินนี้เป็นส่วนใหญ่ เป็นอาคารค่อนข้างเก่า มี ๒ ชั้น ชั้นสองเป็นขาออก ชั้นล่างเป็นขาเข้า ห้องวีไอพีจะอยู่บริเวณชั้นสอง บรรยากาศภายในสนามบินค่อนข้างทึมๆ ไม่สว่างไสว ดูแล้วจิตใจไม่สดชื่น ผู้โดยสารควรมาถึงสนามบินก่อน ๒ ชั่วโมง เมื่อมาถึงสนามบิน ผู้โดยสารจะถูกเอ๊กซเรย์กระเป๋า และตรวจตัวผู้โดยสารที่ช่องทางเข้า จากนั้นก็มองดูกระดานบอร์ดว่า เราจะไปเช็คอินตั๋วที่ช่องด้านไหน หลังจากเช็คอินที่นั่งได้บอร์ดดิ้งพาสแล้ว ก็จะผ่านการตรวจอีกครั้งก่อนขึ้นเครื่อง และเราก็ไปยังประตูหรือเกทที่ระบุไว้ในบอร์ดิ้งพาส จะมีงวงไปส่งถึงปากประตูเครื่องบิน ผู้เขียนยังไม่เคยใช้สนามบินนี้ในการเดินทางออกนอกประเทศรัสเซียเลย ได้แต่ไปส่งคนเดินทางกลับทั้งประเภทกลับตามปกติ และประเภทกลับผ่านห้องวีไอพี มีประสบการณ์บ้าง มั่วเอาเองบ้าง ก็พอเอาตัวรอดไปได้ แต่ที่จำได้คือ เมื่อตอนเดินทางมาถึงรัสเซียวันแรกที่สนามบินนี้ พอหลุดจากประตูเครื่องบินเข้างวงสู่ตัวตึกสนามบินแล้ว ต้องเดินอ้อมไปอ้อมมา ตามป้ายที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษารัสเซีย พูดง่ายๆ เดินตามคนข้างหน้าไปแล้วกัน จากนั้นก็จะมาถึงช่องทางตรวจอิมมิเกชั่น ซึ่งตามที่สังเกตแล้วจะมีประมาณ ๖ ช่อง สำหรับนักการทูตหนึ่งช่อง แต่ขอโทษ เจ้าหน้าที่เปิดแค่ ๒ ช่อง เข้าคิวรอไป ถ้ามาถึงสนามบินก็รีบๆ เดินแล้วกัน ท่านจะได้ไม่ต้องรอคิวนาน การเข้าคิวที่สนามบินนี้นานยิ่งกว่าสนามบินที่บาหลีอีก พอหลุดออกมาได้ ก็จะเป็นสายพาน Belt ซึ่งไม่มีรถเข็นกระเป๋าให้ จากนั้นก็ผ่านช่องทางออกที่มีของต้องสำแดง กับไม่ต้องสำแดง แล้วก็จะผ่านสนามบินออกมาภายนอก ท่านจะรู้สึกได้เลยว่า ข้างนอกตัวตึกสว่างกว่าภายในมาก ข้างในตัวตึกนั้นมืดๆ ทึมๆ ยิ่งตอนหน้าหนาวแล้ว ยิ่งเพิ่มบรรยากาศคิดถึงเมืองไทยสุดๆ อยู่นอกตัวตึกก็สว่างดี แต่หนาวจัดทรมาน พอเข้าไปในตัวตึกรู้สึกอุ่น แต่มืดๆ ทึมๆ

การเดินทางมายังรัสเซียนั้น ผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงการขอวีซ่าหรือการทำพาสปอร์ต เนื่องจากแต่ละท่านที่เดินทางมารัสเซีย มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป และก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของผู้เขียนในการเขียนบทความที่สามารถหาซื้ออ่านได้จากท้องตลาดหรือขอได้จากบริษัททัวร์ แต่ผู้เขียนจะเขียนจากประสบการณ์ให้ทราบว่า ท่านผู้อ่านจะเจออะไรบ้างที่สนามบินของกรุงมอสโก ก่อนลงจากเครื่องบินนั้น ท่านต้องกรอกใบขาเข้าและขาออกสนามบิน พอมาถึงช่องตรวจหนังสืออิมมิเกชั่น เจ้าหน้าที่จะดึงออกไป ๑ ใบ อีกใบนั้น ท่านต้องเก็บรักษาไว้ให้ดี อย่าให้หายเด็ดขาด เพราะตอนขาออกจากรัสเซีย เจ้าหน้าที่จะเก็บอีกใบนั้นไป

การเข้าพักที่โรงแรมนั้น แม้ท่านจะจองมาจากเมืองไทยผ่านทัวร์ หรือให้ใครจองให้ก็ตาม เมื่อท่านไปเช็คอินที่โรงแรม ก็ต้องใช้พาสปอร์ตในการลงทะเบียนห้องพัก เจ้าหน้าที่โรงแรมจะกรอกชื่อและหมายเลขพาสปอร์ตของท่านไว้ และใช้เวลาดำเนินกรรมวิธีประมาณ ๑ ชั่วโมง จากนั้นท่านถึงจะมารับพาสปอร์ตได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะกรุงมอสโกเท่านั้น โรงแรมที่เมืองอื่นๆ เช่นนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หรือเมืองคาซาน ก็ต้องทำอย่างเดียวกัน

ที่จอดรถและค่าจอดรถในสนามบินเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เราอาจจะมองว่า สนามบินดอนเมืองเก็บค่าจอดรถชั่วโมงละ ๒๐ บาทแพงแล้ว แต่เมื่อมารัสเซีย ท่านจะพบว่า ของบ้านเราถูกกว่ามาก สนามบินดอนเมืองมีอาคารจอด มีร่มเงา ระบบการบริการดีมาก แต่สนามบินที่กรุงมอสโกนั้น ที่จอดรถเป็นลานกว้าง ตากแดดตากฝน ตากหิมะ ไม่มีอาคารจอดรถให้หรอกครับ ค่าจอดรถสำหรับเชอเรเมตเยวา ๑ และ ๒ ชั่วโมงละ ๗๐ รูเบิลหรือประมาณ ๑๐๐ บาท ส่วนค่าจอดรถที่ดามาเดียดาวาชั่วโมงละ ๑๐๐ รูเบิลหรือประมาณ ๑๔๐ บาท แพงมากๆ เรื่องที่จอดรถเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้รถยนต์ในรัสเซียเก่าเร็วได้ง่ายกว่าประเทศอื่น รัสเซียไม่มีอาคารจอดรถให้ มีแต่ลานกว้างๆ ให้จอดรถ โรงแรมบางแห่งจะต้องเสียค่าจอดรถด้วย ผู้เขียนก็งงเหมือนกัน เราไปใช้บริการของโรงแรมหรือของร้านค้า แต่พอตอนกลับต้องเสียค่าที่จอดรถแพงมากๆ ตอนแรกก็นึกว่าจะเหมือนกรุงเทพฯ ที่มีการประทับตราร้านค้า หรือนำใบเสร็จไปแสดง แล้วไม่ต้องเสียค่าจอดรถ ไม่ใช่ครับเสียอยู่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีรถยนต์ใช้ ท่านก็ต้องเตรียมตัวจ่ายมากกว่าผู้อื่น ฟังดูก็อาจจะเท่าเทียมกันดี แต่ถ้าหากมองในแง่การบริการและการดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว เป็นอุปสรรคสำหรับรัสเซียพอสมควร ผู้เขียนสังเกตดูแล้ว น่าจะอีกหลาย ๑๐ ปีกว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบบริการที่เป็นสากล

เครื่องบินระหว่างประเทศนั้น คงมีหลากหลายประเภททั้งโบอิ้ง และแอร์บัส แต่สายการบินแอร์โรฟลอตของรัสเซียนั้นน่าจะใช้เครื่องอินลูชินมากกว่า ส่วนเครื่องบินภายในประเทศก็ไม่ใหญ่นัก ส่วนมากเป็นเครื่องบินประเภท Illushin หรือ Yak ของรัสเซีย อีกเรื่องหนึ่งคือ น้ำหนักกระเป๋าเดินทาง และน้ำหนักแฮนด์แบก ต้องไม่เกินที่สายการบินกำหนดนะครับ โดยเฉพาะสายการบินแอร์โรฟลอต เจ้าหน้าที่จะชั่งทั้งกระเป๋าเดินทาง และแฮนด์แบก อย่าคิดว่าจะเลี่ยงเอาน้ำหนักที่เกินไปใส่ในแฮนด์แบกแล้วจะรอดนะครับ ถ้าน้ำหนักเกิน สายการบินแอร์โรฟลอตคิดกิโลกรัมละ ๔๐๐ บาท ผู้เขียนก็ไม่ทราบเรื่องราคาน้ำหนักที่เกิน ได้แต่ฟังผู้โดยสารชาวไทยบอกผ่านมาอีกที ท่านผู้อ่านก็รับทราบไว้แล้วกัน ส่วนสายการบินอื่นๆ ก็แล้วแต่ระบบบริการครับ เพราะตอนที่ผู้เขียนเดินทางมาอยู่ที่รัสเซีย ก็โดยสายการบินไทยไป via ที่โคเปนเฮเกน ได้น้ำหนักเพิ่มจากการบินไทยครับ

ท้ายที่สุด

มาเที่ยวรัสเซียเถอะครับ ท่านจะได้พบประสบการณ์ใหม่ๆ ของชีวิต บางครั้งเดินทางไปยังประเทศอื่น ท่านอาจจะเห็นเรื่องบางอย่างใกล้เคียงกัน แล้วก็ผ่านตาไป แต่สำหรับรัสเซีย ท่านจะจดจำทุกอย่างของรัสเซียได้ฝังใจ ความไม่สะดวกสบายอาจจะมีบ้าง อาจจะเรื่องภาษาและการบริการ แต่เมื่อบวกลบคูณหารกับประสบการณ์ชีวิตที่ท่านจะได้รับมากกว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่มีโอกาสได้มาแล้ว ท่านจะพบว่า รัสเซียยอดเยี่ยมจริงๆ

พ.อ.สนธิชัย ตุ้มหิรัญ
13 Apr 2005




จากเว็บ //www.geocities.com/rasputin9004




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2549 21:14:07 น.
Counter : 535 Pageviews.  

รัสเซียตอนที่ ๗ การเดินทางในกรุงมอสโก




รัสเซียตอนที่ ๗
การเดินทางในกรุงมอสโก
กล่าวนำ

ความจริงแล้ว การเดินทางในเมืองหลวงของแต่ละประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่คนต่างชาติหรือกะเหรี่ยงต่างแดนจะต้องทำความเข้าใจ สำหรับผู้เขียนนั้นมองดูว่า กรุงมอสโกนั้นใหญ่โตจริงๆ ประชากรน่าจะมากกว่า ๑๐ ล้านคนด้วยซ้ำ ตัวเมืองขยายออกไปมาก ผู้เขียนไม่อยากจะเล่าถึงสถานที่ท่องเที่ยวในกรุงมอสโกเนื่องจากคงมีคนเขียนแล้วมากมาย อีกอย่างหนึ่ง การมาท่องเที่ยวกับการมาใช้ชีวิตนั้นจะต้องมีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันออกไป การเรียบเรียงเรื่องนี้ ผู้เขียนใช้ประสบการณ์จากที่เห็นและการสอบถามจากคนรัสเซียที่อาศัยอยู่ในกรุงมอสโก ถ้าหากแตกต่างไปจากที่ผู้อ่านรู้ไปบ้าง ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้แล้วกัน บทความตอนนี้พยายามจะเขียนให้จบในตอนเดียว จะเขียนแบบที่คนอ่านเข้าใจ

ระบบการขนส่งหลักในกรุงมอสโก

กรุงมอสโกไม่ได้แตกต่างไปจากกรุงเทพฯ บ้านเราเลย ถนนหนทางสับสนวุ่นวายพอควร โดยมีแม่น้ำมอสควาหรือมอสโกเลื้อยไหลผ่านตัวเมือง เพื่อให้กรุงมอสโกต้องสร้างสะพานใหญ่ข้าม ซึ่งก็เหมือนกรุงเทพฯ ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ผู้อ่านลองคิดดูแล้วกันว่า ตอนเช้าที่ผู้คนของกรุงมอสโกหลายล้านคนตื่นเช้าและขับรถหรือใช้ระบบขนส่งมวลชนเข้ามาทำงานในใจกลางเมือง แล้วพอตอนเย็นก็หลั่งไหลกันออกไปจากตัวเมือง มันน่าสับสนวุ่นวายจริงๆ เท่าที่ผู้เขียนสังเกตนั้น กรุงมอสโกมีระบบการขนส่งผู้คนอยู่หลายประเภทได้แก่

๑.รถยนต์ ถนนในกรุงมอสโกจะเหมือนตาข่ายใยแมงมุมที่พุ่งเข้าสู่ใจกลางเมือง โดยมีถนนวงแหวนล้อมรอบอยู่ประมาณ ๔ วง – วงในสุดเรียกว่า Boulevard Ring, ถัดออกมาก็จะเป็น Garden Ring, จากนั้นก็จะเป็น Third Ring ส่วนวงนอกสุดก็จะเป็น Mkad Ring ในจำนวนถนนวงแหวนนี้ วงแหวน ๓ วงในจะเป็นรูปวงแหวนที่ไม่สมบูรณ์ขาดช่วงบางตอน และมีชื่อเรียกแต่ละส่วนของวงแหวนที่แตกต่างกันไปตามชื่อถนน แต่วงนอกสุดที่เป็น Mkad Ring จะสมบูรณ์ล้อมรอบกรุงมอสโก ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำมอสควาก็จะมีหลายแห่ง พูดง่ายๆ ถ้าถนนใดข้ามแม่น้ำมอสควา ก็จะมีสะพานใหญ่ข้ามไปนั่นเอง

๒.รถไฟฟ้าใต้ดิน คนมอสโกเรียกว่า มีโตร (metro) ระบบนี้จะเป็นระบบการเดินทางที่สำคัญของคนมอสโก มีสถานีมากมายและหลายสายเชื่อมโยงจุดสำคัญๆ ทั่วกรุงมอสโก ค่าโดยสารตลอดการเดินทางครั้งละ ๑๐ รูเบิล (๑ เหรียญ อม.ประมาณ ๒๗.๘ รูเบิล) ราคานี้ไม่มีการแบ่งโซนเพื่อเพิ่มราคาดังเมืองใหญ่ๆ ของประเทศอื่น ลักษณะตั๋วจะเป็นกระดาษแข็งสีขาว มีแถบแม่เหล็กสีดำ ก่อนเข้าให้ซื้อจากตู้คนขาย ยื่นเงินให้พอดีกับราคาตั๋วแล้วกัน จะได้ไม่ต้องคุยกับพนักงานขายตั๋ว (คนขายหน้าบึ้งมากๆ ทำใจหน่อยแล้วกัน) พอได้ตั๋วก็ใช้ผ่านช่องทางเข้า สอดผ่านเครื่องโดยให้ตัวหนังสือภาษารัสเซียหงายขึ้น พอไฟเขียวแล้วหยิบมาด้วย เพื่อใช้อีกครั้งเวลาจะออกจากสถานีปลายทาง

๓.รถเมล์ มีมากมายหลายสาย คนใช้เยอะมากเช่นกัน มีหลายสาย ต้องคอยดูเลขและเส้นทางที่เขียนเป็นภาษารัสเซียบนกระจกด้านหน้ารถ ราคาครั้งละ ๑๐ รูเบิล วิธีการซื้อตั๋วมีหลายอย่างเช่น ซื้อตั๋วเป็นเล่มๆ ละประมาณ ๑๐ ใบ หรือซื้อบัตรเดือน ถ้าใช้เป็นครั้งคราวก็อาจจะซื้อเป็นครั้งก็ได้ พอขึ้นรถก็ไปเสียบในช่องสำหรับเจาะรูตั๋ว เผื่อมีพนักงานมาตรวจจะได้แสดงตั๋วให้เห็น ถ้าไม่ได้เตรียมตั๋วมาจริงๆ ให้ซื้อจากคนขับรถ แต่ไม่ค่อยสะดวกนัก เตรียมตั๋วไว้ก่อนขึ้นรถดีที่สุด

๔.รถรางตรัมวัย แล่นไปมาตามรางรถไฟ มีตามถนนใหญ่ๆ สายหลัก ใช้ระบบไฟฟ้าจากสายไฟฟ้านอกตัวรถในการขับเคลื่อน ค่าโดยสาร ๑๐ รูเบิล วิธีการซื้อตั๋วกับการใช้ตั๋วคล้ายคลึงกับรถเมล์ แต่ต้องบอกคนขายเกี่ยวกับชนิดของตั๋วว่าสำหรับตรัมวัย

๕.รถเมล์ทรอยลีบัส เหมือนการผสมระหว่างรถรางกับรถบัสคือหน้าตาเหมือนรถบัส แต่ใช้ระบบไฟฟ้าตามสายเหมือนรถราง แต่ต้องวิ่งตามเส้นทางสายไฟฟ้าของรถเท่านั้น ค่าโดยสาร วิธีการซื้อตั๋วและการใช้ตั๋วเช่นเดียวกับรถรางตรัมวัย

๖.รถตู้ขนาดเล็ก เหมือนรถตู้บ้านเรา ราคาและเส้นทางต้องดูจากข้างรถว่าผ่านไปทางไหนบ้าง จ่ายให้พอดีกับราคารถเป็นดีที่สุด การจ่ายให้ส่งเงินกับคนในรถ เขาจะช่วยส่งไปให้คนขับรถตู้ให้ ส่วนมากรถตู้จะจอดอยู่ตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน คนใช้จะยืนเข้าแถวรอขึ้นรถตู้

๗.รถแท๊กซี่ ไม่ได้วิ่งเกลื่อนกรุงแบบบ้านเรา หาได้ยาก ราคาแพง ควรจะโทรศัพท์ไปเรียกมาดีกว่า รถแท๊กซี่จะมีสีเหลือง บนหลังคารถจะเขียนว่า แท็กซี่ ตกลงราคากันก่อนแล้วค่อยใช้บริการ

๘.รถโบก เหมือนกับรถแท๊กซี่ป้ายดำ คนเรียกใช้อาจจะโบกรถยนต์ที่วิ่งไปมาบนท้องถนน ถ้าเขาจอดรับก็ตกลงเกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปและราคาให้เรียบร้อย ก่อนใช้บริการ

ผู้เขียนยังไม่เก่งกาจในการใช้ระบบที่ ๓ ถึงระบบที่ ๘ เพียงแต่นำมาเล่าสู่กันฟัง เพราะเพิ่งมาอยู่และยังไม่มีเวลาว่างถึงขั้นจะเรียบเรียงได้ชัดเจนนัก ถ้าเป็นเรื่องรถยนต์และรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็พอจะเล่าได้บ้าง

การเดินทางด้วยรถยนต์

เอาเป็นว่า การเดินทางด้วยรถยนต์ก็ต้องมีรถยนต์, ใบขับขี่ และประกันรถยนต์ ถ้าต้องการจะซื้อรถยนต์ ร้านขายรถก็จะออกเอกสารมาให้หนึ่งแผ่นเพื่อให้เรานำไปวางในหน้ารถเพื่อใช้ในการขับขี่รถยนต์คันนั้น ซึ่งเอกสารฉบับนี้จะใช้ได้ประมาณ ๕ วันเพื่อให้เรามีเวลาสำหรับไปทำป้ายทะเบียนรถ การทำทะเบียนรถต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม และไปติดต่อที่สำนักงานทะเบียน ใช้เวลาประมาณ ๑ วัน ผู้เขียนมีใบขับขี่รถยนต์ของรัสเซีย (ห้วงเวลา ๑๐ ปี) โดยการนำใบขับขี่สากลของเมืองไทยมาเปลี่ยนเป็นเป็นใบขับขี่ของรัสเซีย วิธีการก็คือ ส่งเอกสารที่ต้องการพร้อมคำแปลเป็นภาษารัสเซียทั้งหมดให้กับสำนักงานทำใบขับขี่รถยนต์ จากนั้นอีกประมาณ ๑๐ วันค่อยไปรับ ค่าใช้จ่ายประมาณ ๔๕ เหรียญ อม. สำหรับประกันรถยนต์จะมี ๒ ประเภทคือสำหรับการขับขี่รถยนต์ (คล้ายคลึงประกันบุคคลที่ ๓ บ้านเรา) และประกันภัยเฉพาะเช่นกันขโมย หรืออื่นๆ ค่าประกันภัยก็ขึ้นอยู่กับราคารถและจำนวนปีของรถแบบบ้านเรานั่นเอง แต่ไม่ว่า เขาจะเรียกเก็บเป็นเงินเหรียญ อม.หรือเงินยูโร แต่พอเวลาจ่ายเราก็ต้องใช้เงินรูเบิลในการจ่ายนั่นเอง ดังนั้นราคาค่าใช้จ่ายจึงผันแปรไปเรื่อย ส่วนใหญ่จะขยับราคาสูงขึ้นตลอดเวลา

มาพูดถึงป้ายทะเบียนรถกันดีกว่า ตอนที่ผู้เขียนมาแรกๆ ก็สังเกตป้ายทะเบียนรถยนต์ เพราะเป็นสิ่งที่น่าสนใจ คนรัสเซียสามารถซื้อหา พูดง่ายล๊อคเลขป้ายทะเบียนได้ ถ้าเงินถึง (เขาว่ายังงั้น) ตัวอย่างป้ายทะเบียนรถยนต์คนทั่วไปก็คือ B 182 MB 97 และมีรูปธงชาติรัสเซียเล็กอยู่ที่มุม ตัวอักษรและตัวเลข ๖ ตัวแรกเป็น running number ส่วนเลข 97 จะหมายถึงเขตกรุงมอสโก (มอสโกใช้เลข 97 และ 99) ถ้าจะล๊อคเลขสวยๆ ก็ทำได้กับ ๖ ตัวแรกนี้ คนรัสเซียไม่ชอบเลข 666 และไม่ชอบผลรวมของเลขที่เท่ากับ ๑๓

ทีนี้ก็มาพูดถึงสีป้ายทะเบียนบ้าง ป้ายทะเบียนพื้นสีแดง ตัวอักษรสีขาวจะเป็นรถสำหรับนักการทูตและเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ของสถานทูต ป้ายพื้นสีเหลือง ตัวอักษรสีดำ จะเป็นรถเช่า รถบริษัทร่วมทุน รถสำนักงานธุรกิจ หรือสายการบิน ถ้าหากป้ายสีขาว ตัวอักษรสีดำจะเป็นของคนรัสเซียทั่วไป ซึ่งจะมีธงชาติรัสเซียเล็กๆ ถ้าป้ายพื้นสีขาว ตัวอักษรสีดำ แต่ธงชาติใหญ่ๆ ก็จะเป็นของเจ้าหน้ารัฐบาล หรือนักการเมืองในสภาทั้งสองแห่ง ถ้าหากป้ายสีน้ำเงิน ตัวอักษรสีขาว จะเป็นรถของตำรวจ ส่วนรถพยาบาลจะมีไซเร็นอยู่บนหลังคา สำหรับกองทัพจะใช้ป้ายพื้นสีดำ ตัวอักษรสีขาว บางครั้งมีรถที่ติดไซเร็นสีน้ำเงินอยู่บนหลังคา และวิ่งฝ่าการจราจรไปมาในกรุงมอสโก ก็ปล่อยเขาไปเถอะ คงคล้ายๆ รถนำขบวนบ้านเรามั้ง แต่ส่วนมาก จะมีแค่ ๑ หรือ ๒ คันในขบวนหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ได้มากมายแบบบ้านเราหรอก

มาพูดถึงตัวเลขป้ายทะเบียนนักการทูตกันบ้าง ตัวอย่างเช่น 063 D 001 77 RUS หมายเลข 063 หมายถึงประเทศไทย, D หมายถึงนักการทูต ถ้าเป็นเอกอัครราชทูตก็จะเป็น CD ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประเทศอื่นๆ บ้างแล้วกัน 001 (อังกฤษ), 002 (เยอรมนี), 003 (แคนาดา), 004 (สหรัฐฯ) และ 005 (ญี่ปุ่น) คนรัสเซีย บอกว่า ดูเหมือนเลข ๕ ลำดับแรกจะเป็นประเทศที่เขาต้องสนิทสนมมาก (พูดยังไงก็คิดเอาเองแล้วกัน) มามองตัวเลขสำหรับประเทศในอาเซียนกันบ้าง พม่า (023), อินโดนีเซีย (033), กัมพูชา (039), ลาว (045), ไทย (063), ฟิลิปปินส์ (068), เวียดนาม (084), มาเลเซีย (099), สิงคโปร์ (101), และบรูไน (159)

ดังนั้นถ้าเห็นรถป้ายแดง ก็อย่านึกว่า รถใหม่แล้วกัน การขับรถในกรุงมอสโก คุณจะต้องเตรียมใจสำหรับรถติดแบบไม่คาดคิดตอนเช้าและตอนเย็น รถที่ขับจะคนละด้านกับบ้านเรา พวงมาลัยรถยนต์ก็จะอยู่ด้านซ้ายเหมือนในสหรัฐฯ หรือในยุโรป ดังนั้นถ้ามามีโอกาสขับ ก็อย่าเผลอไปขับเลนซ้ายแบบบ้านเรา นอกจากนั้นป้ายชื่อถนน ก็มองไม่เห็น เพราะไปฝังตัวอยู่กับตัวตึก สังเกตเอาเองแล้วกัน ป้ายหยุด จะเขียนภาษารัสเซีย การทำยูเทิร์นบนท้องถนนในกรุงมอสโก ทำแบบบ้านเราไม่ได้ เวลาจะยูเทิร์นต้องไปอยู่ในเลนเกาะกลางถนนที่มีเส้นประ และค่อยยูเทิร์นได้ ไม่สามารถยูเทิร์นตามไฟแดงหรือยูเทิร์นบนถนนแบบบ้านเราได้ (ตำรวจจ้องจะรับประทานท่านอยู่) ถ้าหากเลยไปก็ต้องทำใจ ไปหาที่ยูเทิร์นอย่างที่บอกเอาข้างหน้าแล้วกัน

รถยนต์ในกรุงมอสโกมีหลากหลายชนิด และหลายค่าย ตั้งแต่รถยุโรปชั้นดี รถญี่ปุ่น รถเกาหลีไปจนถึงรถรัสเซียเอง ชนิดของรถจะบ่งบอกสถานะของคนขับได้เป็นอย่างดี ตอนนี้รถยุโรปราคาแพงมีวิ่งเกลื่อนกรุงมอสโก แสดงให้เห็นว่า คนรวยในกรุงมอสโกมีมากมายเหลือเกิน แต่รถรัสเซีย รถเก่า รถเล็กๆ ก็มีมากมายเช่นกัน ตั้งแต่อยู่ในกรุงมอสโกมา ยังไม่เคยเห็นมอเตอร์ไซด์หรือจักรยานบนท้องถนนเลย ถ้าใครขับมอเตอร์ไซด์ คงจะบ้าแน่นอน (หนาวจัดมากๆ ตอนนี้) ที่น่าสังเกตก็คือ ถ้าเป็นรถสปอร์ตหรูๆ คนขับมักจะเป็นสาวสวย ถ้าเป็นรถเล็ก พอใช้งานได้ คนขับจะเป็นผู้ชาย อายุมากๆ (นี่เป็นข้อสังเกตของผู้เขียนเท่านั้น) หวังว่าคงไม่นำไปเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ บ้านเรานะ

รถยนต์ในกรุงมอสโกต้องมีระบบทำความร้อนและระบบ defrost ในรถที่ดีมาก ไม่ยังงั้นท่านอาจจะหนาวตายได้ ในช่วงเข้าหน้าหนาว ต้นเดือนพฤศจิกายน คนมีรถจะต้องนำรถไปเปลี่ยนเป็นยาง snow tire และเติมน้ำยาล้างกระจกรถพิเศษที่ใช้สำหรับหน้าหนาว (จะใช้น้ำเปล่าหรือน้ำยาล้างกระจกรถธรรมดาแบบบ้านเราไม่ได้) น้ำยาพิเศษนี้ต้องใช้ตลอดหน้าหนาว เพื่อฉีดละลายน้ำแข็งที่เกาะกระจกรถ

ถ้าหากจะใช้รถยนต์ในช่วงหน้าหนาว ท่านต้องใช้เวลาสำหรับการเตรียมรถประมาณ ๑๐ นาที โดยการเอาหิมะออกจากตัวรถ และกระจกรถ (ไม่อยากเรียกว่า ขุดรถออกจากหิมะเลย) ใช้วอร์มรถให้อุ่น ฉีดน้ำยากระจกรถและปัดที่ปัดน้ำฝนเพื่อละลายน้ำแข็งที่เกาะกระจกหน้ารถ ฟังดูแล้วอาจจะสนุกดีก็ได้ แต่ถ้าต้องทำ ๒ ครั้ง (ขาไปและขากลับ) แทบทุกวันท่ามกลางอุณหภูมิที่ติดลบ อาจจะไม่สนุกก็ได้ รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าหรือขับเคลื่อน ๔ ล้ออาจจะทรงตัวได้ดีบนถนนที่ปกคลุมด้วยหิมะมากกว่ารถขับเคลื่อนล้อหลัง นอกจากนั้นรถที่มีระบบ ABS ก็ปลอดภัยกว่าด้วย อุบัติเหตุบนท้องถนนในกรุงมอสโกมีกลาดเกลื่อนและรุนแรงมาก ผู้เขียนสังเกตว่า คนขับรถบางคนใช้ความเร็วที่เกินกว่าเหตุจริงๆ

การจอดรถในกรุงมอสโกต้องหาที่จอดรถให้ดีๆ ไม่งั้นอาจจะหายไปทั้งโดยตำรวจลากไป หรือผู้ขอยืมไปแล้วไม่คืน กรุงมอสโกไม่มีอาคารจอดรถแบบบ้านเรา ที่จอดรถมักจะเป็นที่โล่งแจ้ง ตากแดดตากฝน นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่รถกรุงมอสโกเสื่อมสภาพเร็วกว่าเมืองอื่นๆ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม อาคารที่พักบางแห่งก็ไม่มีที่จอดรถ ดังนั้นอาจจะต้องจอดรถข้างถนนซึ่งมีอยู่ทั่วไป

ระบบการเดินทางด้วยรถยนต์ในกรุงมอสโกไม่มีทางด่วนหรือ toll way แบบกรุงเทพฯ ปั๊มน้ำมันมีอยู่ทั่วไป น้ำมันมี ๔ ประเภทคือ ดีเซล เบนซิน ๙๒, ๙๕ และ ๙๘ ราคาน้ำมันในกรุงมอสโกแพงมาก ไม่น่าเชื่อว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างรัสเซียจะมีราคาขายน้ำมันแพงมากเช่นนี้ (ผู้เขียนใช้น้ำมันเบนซิน ๙๕ ราคา ๑๖ รูเบิลต่อลิตร ก็ประมาณ ๒๓ บาทต่อลิตร ราคาเหมือนบ้านเราที่ผลิตน้ำมันไม่ได้)

การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน

บอกตามตรงว่า ถ้าอยากจะหนีรถติด ให้ใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะเชื่อมโยงทุกจุดที่สำคัญของกรุงมอสโก ตอนนี้ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของกรุงมอสโกกำลังขยายออกจากกรุงมอสโกเพิ่มขึ้น แถวบ้านผู้เขียนห่างจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินประมาณ ๒ กิโลเมตร ตอนแรกที่ผู้เขียนมาอยู่ที่นี่ ก็อยากจะใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ไปๆ มาๆ ก็ยังไม่ค่อยมีเวลาว่างเลย สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงมอสโกสวยงามมาก ติดไฟแชนดะเลียห้อยระย้า ข้างฝาเป็นรูปภาพการโฆษณาชวนเชื่อให้คนรักชาติของอดีตสหภาพโวเวียต กะเหรี่ยงต่างแดนอย่างผู้เขียนก็เลยไปดูบ้างเพื่อถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึกมากกว่าที่จะใช้รถไฟฟ้าใต้ดินสำหรับการเดินทาง

คนมอสโกใช้ระบบไฟฟ้าใต้ดินกันมากจริงๆ ราคาถูกเพียงแค่ ๑๐ รูเบิลตลอดสาย แต่ถ้าเราซื้อตั๋ว สำหรับใช้ ๑๐ ครั้งจะได้ราคาลดลง รถไฟฟ้าใต้ดินเข้าสถานีบ่อยมาก รอไม่นานนัก นับว่าสะดวกสบายพอสมควรในการเดินทางหนีรถราที่ติดอยู่บนท้องถนน ราคาค่าโดยสารนี้ปรับขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่ก็เป็นราคาเดียวตลอดสาย ถ้าต่อสายอื่นก็ไม่ต้องเพิ่มเงิน

ถ้าใครมีโอกาสมาเยือนกรุงมอสโก ผู้เขียนเชื่อว่า หัวหน้าทัวร์คงต้องพาท่านไปใช้บริการช่วงสั้นๆ อย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่ดี แต่ไฟฟ้าในสถานีอาจจะมองทึมๆ ไปบ้าง ไม่สว่างไสวแบบบ้านเรา เพราะที่นี่ไม่นิยมหลอดฟลูออเรสเซนต์

พ.อ.สนธิชัย ตุ้มหิรัญ
8 Dec 2004
จากเว็บ //www.geocities.com/rasputin9004




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2549 21:10:08 น.
Counter : 653 Pageviews.  

รัสเซียตอนที่ ๖ คนรัสเซีย




รัสเซียตอนที่ ๖
คนรัสเซีย
กล่าวนำ

ตอนที่ ๖ นี้ห่างจากตอนที่ ๕ เกือบ ๔ เดือน ความจริงผู้เขียนก็อยากจะเรียบเรียงตอนนี้ให้เร็วที่สุด แต่ยอมรับว่าตอนนี้ยากมาก ผู้เขียนมีทัศนคติต่อคนรัสเซียค่อนข้างเป็นกลางเอียงไปในทางบวก แต่พอได้อ่านเอกสารหรือบทความที่จะใช้สำหรับเรียบเรียงบทความตอนนี้ ต้องยอมรับเลยว่า บทความส่วนมากที่เป็นภาษาอังกฤษนั้น มีแต่มองคนรัสเซียในด้านเชิง negative เสียมาก แต่ผู้เขียนจะเรียบเรียงในด้านที่ตนเองเข้าใจความเป็นคนรัสเซียแล้วกัน ผู้อ่านเป็นผู้ตัดสินเอาเองว่า คนรัสเซียเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

เชื้อชาติและเผ่าพันธุ์

ประชากรของรัสเซียมีประมาณ ๑๔๕ ล้านคน ประกอบด้วยเชื้อชาติต่างๆ กว่า ๖๐ เชื้อชาติ โดยเป็นชาวรัสเซียนประมาณร้อยละ ๘๓ เตอร์กร้อยละ ๓.๗ ยูเครเนียนร้อยละ ๒.๖ และอื่นๆ อีกประมาณร้อยละ ๑๐.๗ ส่วนที่อยู่ในทวีปเอเชียเป็นพวกชนผิวเหลือง เชื้อชาติเตอร์ก มองโกล และเผ่าต่างๆ โดยมีเชื้อสายอุซ เบกเป็นเชื้อสายหลัก ส่วนในทวีปยุโรปเป็นชนผิวขาว เชื้อสายสลาฟ บรรพบุรุษของประชากรเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพวกสลาฟสาขาตะวันออก ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือและตอนกลางของประเทศ

ชนเชื้อสายรัสเซียนมีเชื้อสายเดียวกันกับชาวเบลารุส และชาวยูเครน คนรัสเซียมีสถิติที่น่าตกใจคือ มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ติดลบ (ปี ๓๘ ร้อยละ -๖ ปี ๓๙ ร้อยละ ๐.๒ และ ปี ๔๔ ร้อยละ -๐.๓๕) อัตราการเกิดที่ลดลง (ข้อมูลปี ๓๘ มีอัตราการเกิด ๑๒.๖๔ คนต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน ปี ๔๓ มีอัตราการเกิด ๘.๗ คนต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน และปี ๔๔ มีอัตราการเกิด ๙.๓๕ คนต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน) และอัตราการตายที่สูงมาก (ปี ๓๘ มีอัตราการตาย ๑๑.๓๖ คนต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน ปี ๔๓ มีอัตราการตาย ๑๔.๓ คนต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน และปี ๔๔ มีอัตราการตาย ๙.๓๕ คนต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน) ผมจำได้ว่า อายุเฉลี่ยของผู้ชายก็ประมาณ ๕๘-๕๙ ปี ส่วนอายุเฉลี่ยของผู้หญิงประมาณ ๖๓-๖๕ ปี เขามีงานวิจัยที่บ่งออกมาว่า ถ้าหากยังเป็นอย่างนี้อีก ในอีก ๕๐ ปีข้างหน้าคนรัสเซีย คนเบลารุส และคนยูเครนจะลดลงจากเดิมถึง ๖๔ ล้านคน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านต่างๆ ในการพัฒนาประเทศของรัสเซียอย่างมาก สาเหตุสำคัญของการลดลงของประชากรรัสเซียน่าจะมาจากปัญหาหลายอย่างอาทิ การติดสุรา การสูบบุหรี่จัด คนรัสเซียมีการดื่มสุรา (โดยเฉพาะเหล้าวอดก้า) ที่สูงมาก ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตเป็นจำนวนมาก ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ทำให้สามีต้องจากบ้านมาทำงานในเมืองใหญ่ และปล่อยให้ภรรยาต้องอยู่บ้านในชนบท ก็ทำให้การมีบุตรลดลง ปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ เนื่องจากประเทศประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ งบประมาณรัฐในการสนับสนุนด้านสาธารณสุขหรือการแพทย์จึงลดลง ไม่เหมือนสมัยสหภาพโซเวียตที่รัฐมีการบริการทางสังคมที่ดีกว่าในปัจจุบัน

ทัศนคติและการแสดงออก

อุปนิสัยของชาวรัสเซียเป็นคนเจ้าระเบียบ เคารพกฎเกณฑ์ ค่อนข้างระแวง ไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยยิ้ม ไม่กระตือรือร้น ไม่เปิดเผยกับคนต่างชาติ ไม่ฟุ่มเฟือย ทำงานเรื่อยๆ และซื่อสัตย์กับหมู่คณะ แต่หลังจากได้มีการปฏิวัติ และต่อต้านการปฏิวัติในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๔ จนสหภาพโซเวียตล่มสลาย และสาธารณรัฐรัสเซียแยกออกมาเป็นสหพันธรัฐรัสเซียแล้ว ประชากรจะเริ่มรับรู้และให้ความสนใจในการเมืองการปกครองมากขึ้น มีการแสดงออกในการประท้วงความไม่ถูกต้องในสังคม โดยเฉพาะที่เกิดจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงของผู้ปกครองบางคน มีการนัดหยุดงานของคนงานเพื่อเรียกร้องสภาพชีวิตที่ดีกว่า และพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นแนวโน้มของประชาชนรัสเซียในช่วงต่อไปว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะการกระตือรือร้น เปิดเผย ติดต่อคบค้ากับคนต่างชาติ กล้าแสดงความคิดเห็นและกล้าที่จะแสดงออกในลักษณะประชาธิปไตยมากขึ้น

หากมองในแง่การรักชาติแล้ว คนรัสเซียอาจจะรักชาติน้อยลงกว่าสมัยสหภาพโซเวียต ทั้งนี้เพราะทุกคนมีปัญหาด้านความไม่มั่นคงในชีวิต ไม่แน่ใจว่าในการปกครองของรัฐที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศจะพังพินาศลงเหมือนในอดีตที่เคยเกิดแล้วพวกเขาเคยประสบมาก่อนหรือไม่ อาจกล่าวได้ว่า คนรัสเซียพยายามเอาตัวรอดให้มากที่สุด รัฐหรือประเทศของพวกเขาไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างที่พวกเขาภูมิใจ รัฐบาลที่ปกครองแม้ว่าจะพยายามแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังไม่ได้ทำให้ประเทศยิ่งใหญ่เช่นในอดีต รวมทั้งทำให้พวกเขาต้องทุกข์ยากมากขึ้น รัฐบาลรัสเซียพยายามปลูกฝังแนวความคิดในการรักชาติให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน และเชื่อว่า หากเกิดอะไรที่เกิดขึ้นต่อรัสเซีย คนรัสเซียจะรวมตัวกันและแสดงความรักชาติในการสนับสนุนรัฐบาลเพื่อต่อต้านกับภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศ

คนรัสเซียมีการศึกษาแทบทุกคน ในสมัยสหภาพโซเวียตประชาชนจะได้รับการศึกษาภาคบังคับ และรัสเซียในปัจจุบันก็ดำเนินการเช่นเดียวกัน ระบบการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามี ๑๑ ระดับ (บางแหล่งบอกว่า ๑๐ ปี ผู้เขียนก็ยังงงเหมือนกัน) แต่เชื่อว่า เป็นสภาพที่อยู่ในการปรับระบบการศึกษาให้เป็นสากลมากขึ้น ระบบการศึกษาจะเน้นในเด็กมีความเชี่ยวชาญในด้านช่างและเทคนิคมาก แต่ปัจจุบันเนื่องจากประเทศเปิดเป็นสากลมากขึ้น คนรัสเซียจะเปลี่ยนทัศนคติไปให้ความสำคัญกับการเรียนรู้การเงิน การธนาคาร การเรียนรู้ภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศเพื่อเอาไว้ใช้ในการประกอบอาชีพ แม้ว่าอาชีพครูกับการรับราชการทหารจะเป็นอาชีพที่ภาคภูมิใจในอดีต แต่ปัจจุบัน ค่านิยมดังกล่าวกลับลดลงอย่างน่าตกใจ เนื่องจากรายได้ในการเป็นครูและรับราชการทหารอาจเรียกได้ว่า ไม่พอจ่ายในการครองชีพ คนรัสเซียรุ่นใหม่ต้องการประกอบอาชีพที่ตนเองสามารถจับต้องเงินตราได้ อาชีพที่ภาคภูมิใจไม่ได้ทำให้พวกเขาอิ่มท้องได้

นี่เป็นอัตราค่าจ้างต่อเดือนของประชากร เมื่อปี ๒๕๔๓ ปัจจุบันอาจจะปรับตัวเลขที่สูงกว่านี้ แต่ผู้เขียนนำมาให้ดูก็เพื่อสะท้อนให้เห็นได้ว่า ทำงานในบริษัทเอกชนได้รายได้ที่ดีกว่า แล้วใครอยากจะทำงานที่ได้เงินเดือนน้อยกว่า

กลุ่มอาชีพ รูเบิ้ล เหรียญสหรัฐฯ
ครู-อาจารย์ ๑,๕๕๖ ๕๖
ลูกจ้างโรงงานผลิตกระจก กระเบื้องเคลือบ ๑,๗๒๑ ๖๑
ด้านสาธารณสุข ๑,๘๑๔ ๖๕
นักวิจัย ๑,๙๘๗ ๗๑
ด้านการบริการ ๑,๙๙๐ ๗๑
ด้านการป้องกันประเทศ ๓,๑๐๘ ๑๑๑
ด้านการเงิน ๕,๐๗๕ ๑๘๑
ด้านไฟฟ้า ๕,๑๖๑ ๑๘๔
การสื่อสาร ๕,๒๘๙ ๑๘๙
โรงงานอุสาหกรรมต่อเรือ ๖,๗๔๙ ๒๔๑
บริษัทเอกชน ๑๔,๕๒๑ ๕๑๙

ครอบครัวคนรัสเซีย

กฎหมายอนุญาตให้หนุ่มสาวสมรสกันเมื่ออายุ ๑๘ ปีขึ้นไป หากต่ำกว่านี้จะต้องได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น การแต่งงานระหว่างคนต่างเชื้อชาติไม่มีกฎหมายห้าม เชื้อชาติของบุตรถือเอาเชื้อชาติของบิดาหรือมารดาก็ได้

ประชากรชาวรัสเซียมักจะอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ เนื่องจากมีงานทำแน่นอน และนำมาซึ่งสาเหตุการจากถิ่นที่อยู่จากชนบทมารับจ้างแรงงาน กระแสสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ค่าครองชีพที่สูง และอัตราเงินเฟ้อที่สูง (เกินกว่าร้อยละ ๑๐ ต่อปี) ทำให้ทัศนคติของประชากรรัสเซียในการมีบุตรลดลงไป คนหนุ่มสาวที่แต่งงานกันไม่ค่อยอยากจะมีบุตร หรือมีก็เพียง ๑ คนเท่านั้น ประชากรรัสเซียมักจะอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ อยู่กันเป็นครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ถ้าลูกโตขึ้น มีครอบครัว ก็ยังคงอาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่ หรือแยกออกไปอยู่ อพาร์ตเมนต์ใหม่ ขึ้นอยู่กับว่า สามารถหาอพาร์ตเมนท์ใหม่สำหรับครอบครัวตัวเองได้หรือไม่

คนในกรุงมอสโกจะอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์กัน ถ้าอยู่ในย่านใจกลางกรุง ก็นับว่ารวยมาก เพราะราคาอพาร์ตเมนต์ใจกลางกรุงแพงมากๆ ขนาดชาติตะวันตก หรือชาติเอเชียที่นับว่าร่ำรวย ยังบ่นว่า ราคาอพาร์ตเมนต์แพงเกินเหตุ ปัจจุบัน อพาร์ตเมนต์ในกรุงมอสโกจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ อพาร์ตเมนท์ของรัฐบาลจะมีสภาพเก่าๆ การแบ่งห้องไม่ค่อยดีนักเพราะสร้างในสมัยสหภาพโซเวียตเพื่อรองรับครอบครัวชาวโซเวียตขนาดเล็ก ระบบไฟฟ้า ประปาไม่ค่อยหรูหรามาก การปรับปรุงภายในกระทำได้ยาก เนื่องจากสภาพแปลนการออกแบบเป็นแบบเดิม ลิฟท์ที่ใช้เป็นแบบเก่า เล็กและแคบๆ มักจะอยู่ห่างไกลจากเขตกลางกรุง แต่ราคาไม่แพงนัก อีกแบบหนึ่งเป็นของเอกชน อาจจะเป็นตึกที่สร้างขึ้นมาใหม่ หรือเอกชนซื้อตึกของรัฐมาปรับปรุงระบบแปลนภายในใหม่เอง จะมีแบบแปลนในห้องค่อนข้างดี เป็นการนำสไตล์ตะวันตกเข้ามาจัดทำอพาร์ตเมนท์ ระบบไฟฟ้า ประปาค่อนข้างดีกว่าแบบของรัฐ แต่ราคาสูงกว่ามาก และบริษัทเอกชนอาจจะขอขึ้นราคาค่าเช่าในทันทีที่หมดสัญญาเช่าแต่ละปี โดยอ้างราคาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

คนรัสเซียในกรุงมอสโกมักจะมีบ้านของครอบครัวตนเองนอกกรุงมอสโกที่เรียกว่า ดาช่า เหมือนบ้านพักในต่างจังหวัด เพียงแต่อยู่รอบๆ กรุงมอสโก (แค่ออกจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงมอสโก ก็จะพบกับชีวิตเรียบง่ายแบบชนบทแล้ว อย่าไปนึกแบบกรุงเทพฯ เด็ดขาด ที่ออกมานอกกรุงเทพฯ ก็ยังเจอเมืองบริวารของกรุงเทพฯ) โดยพวกเขาจะไปอยู่ที่ดาช่าของเขาในวันเสาร์อาทิตย์ บางครอบครัวก็ไปตอนวันศุกร์เย็นเลยทีเดียว ในหน้าหนาว ไม่ค่อยจะมีคนไปเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นและหิมะปกคลุม ไม่สะดวกในการไปพักในดาช่า แต่ถ้าเป็นหน้าร้อน บางครอบครัวก็อาจจะขับรถไปกลับระหว่างดาช่ากับที่ทำงานเลยทีเดียว

ครอบครัวคนรัสเซียมักใช้การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน แต่ก็นั่นแหล่ะ คนรัสเซียที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น และรถยนต์รุ่นใหม่แบบทันสมัยจำนวนมากในกรุงมอสโกที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์และการเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้การเดินทางในกรุงมอสโกติดแบบเป็นตังเมทีเดียว ผู้เขียนเห็นถนนหลายสายที่กว้างและมีหลายเลน แต่รถยนต์มันเยอะมากๆ การเดินทางไปไหนมาไหนในกรุงมอสโกต้องเผื่อเวลา และต้องทำใจทีเดียว พ่อเจ้าประคุณนึกอยากจะปิดถนนบางสาย ก็เล่นทำเอาเลย ตอนแรกๆ ผู้เขียนก็เซ็ง แต่พอตอนหลังก็นั่งหลับตา สวดมนต์ชินะบัญชรแก้กลุ้มไปดีกว่า กรุงมอสโกไม่มีทางด่วนแบบกรุงเทพฯ ไม่มีดอนเมืองโทลเวย์ ที่เห็นมีระบบรถเมล์ รถราง และระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่ดีมาก นอกจากนั้นยังมีรถตูแบบบ้านเราด้วย ระบบขนส่งดังกล่าวของรัสเซีย น่าจะไม่ได้พัฒนามาเป็นเวลาหลายปี เพราะไม่น่าจะมีการเพิ่มผิวการจราจรในกรุงมอสโกได้มากขึ้น ไม่แน่นะอีกหน่อย กรุงมอสโกอาจจะมีมอสโกโทลเวย์หรือทางด่วนเสียเงินแบบบ้านเราก็ได้

ผู้เขียนรู้จักคนรัสเซียคนหนึ่ง เธอเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยของรัฐ สามีเป็นวิศวกรทำงานในบริษัทคอมพิวเตอร์ของเอกชน มีบุตรชายหนึ่งคน ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ร่วมกับแม่ของสามี เธอเล่าว่า ตอนเช้าเธอจะไปทำงานด้วยรถเมลล์ พอสายๆ หรือทำงานครบตามชั่วโมง เธอก็จะกลับบ้านมาดูแลลูก นี่เป็นการทำงานแบบรับราชการมั้ง (ไม่กล้าถามว่า ทำไมกลับบ้านได้ ไม่รอถึง ๔ โมงครึ่งแบบบ้านเราหรือ) ส่วนสามีจะขับรถไปทำงานเนื่องจากทำงานไกลจากที่บ้าน เข้าทำงานตอนเช้า กว่าจะกลับก็ดึก (สามีทำงานในระบบบริษัทเอกชน) การกินอยู่ของครอบครัวนี้จะง่ายๆ จะเน้นไปที่การกินอยู่ของบุตรมากกว่า เธอบอกว่า ตอนเช้าเธออาจจะทานกาแฟหรือชา กับขนมนิดหน่อย ส่วนกลางวันจะทำแซนวิชไปทานที่ทำงาน สามีก็เช่นกัน ส่วนตอนเย็นค่อยทำอาหารทานอย่างดี คนรัสเซียจะให้ความสำคัญกับอาหารเย็นมากที่สุด

การทำงานและความเป็นอยู่

ก็เขียนไปมากแล้วในการดำรงชีวิตของครอบครัว คนรัสเซียในสมัยสหภาพโซเวียตมีงานทำทุกคน แต่ในสมัยปัจจุบัน การดำรงชีพที่สามารถสร้างเงินตราได้มีน้อยลงเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ รัฐต้องลดกำลังเจ้าหน้าที่รัฐลง มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐลง ปลดคนออกจากงาน มีการขายรัฐวิสาหกิจหลายอย่างของรัฐให้แก่เอกชน ทำให้คนรัสเซียต้องเผชิญกับสภาพที่ผันผวนกับระบบการจ้างงาน และการหางานที่สามารถดำรงชีวิตของตนเองได้ การจากครอบครัวในชนบทมาเพื่อหางานทำเป็นแรงงานก่อสร้าง แรงงานตามโรงงาน หรืออะไรก็ได้ในเมืองใหญ่เป็นทางออกที่ดีที่สุดของการหางานทำ แต่คนรัสเซียก็ภาคภูมิใจที่ตนเองสามารถหาเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัวได้ แม้จะต้องเผชิญกับสภาพที่ฝืดเคืองทางเศรษฐกิจก็ตาม

คนรัสเซียทีได้งานทำ ก็ไม่อยากจะออกจากงานเพราะจะทำให้เขารู้สึกว่า เกิดความไม่มั่นคงในชีวิต อย่างไรก็ตาม คนรัสเซียจะทำงานตามหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบเท่านั้น ตามเวลาที่กำหนด ไม่มีเกินเด็ดขาด อาจจะเรียกได้ว่า ขาดจินตนาการและความสร้างสรรค์ในการที่พวกเขาจะทำงานก็ว่าได้ หน้าตาของคนรัสเซียมักจะบึ้ง ไม่ยิ้ม ดังนั้นจึงไม่ค่อยเหมาะในการทำงานบริการ หรือขายของ หน้าบอกบุญไม่รับก็ว่าได้ ดูเหมือนคนขายหรือคนให้บริการไม่เต็มใจจะบริการหรือขายของให้เรา แต่ผู้เขียนพออยู่ๆ ไปก็ชินไปเอง ผู้เขียนเคยถามว่า ทำไมคนรัสเซียไม่ยิ้ม หน้าตามบอกบุญไม่รับ คนรัสเซียเขาตอบว่า การบริการ ทำไมต้องยิ้มด้วย การขายของนั้น คนซื้อต้องการมาซื้อของหรือมาให้คนขายของยิ้ม ฟังแล้วก็อึ้ง มันก็จริงของเขา เพราะฉะนั้น ถ้ามารัสเซียให้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ คนรัสเซียจะไม่กุลีกุจอบริการเราเหมือนคนไทยหรอก ไม่ใช่หน้าที่ของเขา เขาทำงานตามหน้าที่ คุณจะไปบอกคนที่ไม่มีหน้าที่ให้ทำงานเพิ่มเพื่อบริการคุณนั้น คนรัสเซียเขาไม่ทำกัน

คนรัสเซียจะเป็นกันเองกับคุณในการพบปะครั้งต่อๆ มา และแสดงความเป็นมิตรมากขึ้น ถ้าเขาเจอคุณหลายครั้งมากขึ้น การพูดจาจะเป็นกันเองและสนุกสนานขึ้น คนรัสเซียที่ผู้เขียนพบมา มักไม่มีการพูดตลกคะนอง จริงจังตลอดเวลา ทำได้ก็พูดว่าได้ ทำไม่ได้ ก็บอกว่าไม่ได้หรือไม่แน่ใจ เพราะถ้าเขาบอกรับว่าได้ แล้วทำไม่ได้ภายหลัง เขาจะเสียเครดิต เขาจึงจะบอกว่าไม่ได้เสียมากกว่า

การสังสรรค์ของคนรัสเซียจะเหมือนคนไทย ถ้าเขาชอบใครก็จะเชิญไปทานข้าวที่บ้าน ซึ่งเขาจะเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพอย่างดี จัดบ้านต้อนรับแขกอย่างดี การเลี้ยงที่มากมาย เรียกว่า อิ่มกับเมาทีเดียว ส่วนถ้าได้รับเชิญไปบ้านใครนั้น คนรัสเซียนิยมนำดอกไม้ไปให้เจ้าภาพฝ่ายหญิง และอาจจะมีชอกโกแลตหรือของฝากเล็กๆ น้อยๆ ไปให้เจ้าภาพ

สรุป

ผู้เขียนยังไงก็รู้สึกว่า คนรัสเซียเหมือนคนไทย รักความสะดวกสบาย ง่ายๆ อาจจะไม่เป็นกันเองหรือไม่ยิ้มต้อนรับเมื่อแรกพบ แต่นานๆ ไปเขาจะมีนิสัยแบบคนไทยเลยทีเดียว คนรัสเซียไม่ได้เป็นอย่างที่เราเคยทราบหรอก ผู้เขียนคิดว่า พวกเขาดีออก

พ.อ. สนธิชัย ตุ้มหิรัญ
28 Nov 2004
จากเว็บ //www.geocities.com/rasputin9004




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2549 21:09:30 น.
Counter : 5732 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

RBZ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




เป็นเดะสีลม(เซนต์โย สีลม)ตอนป.๑ เรียนอยู่สองอาทิตย์ เค้าหาว่าหนูซนเลยต้องย้ายมาเซนต์โยบางนา ตอนนี้อยู่ธรรมศาสตร์ ขึ้นปีสาม แต่อยากเป็นเด็กปีหนึ่ง ตอนนี้กลับไปเป็นเด็กสีลมเหมือนเดิม (โต๊ะสีลม Color of the wind)

เลือกได้ระหว่างอ่าน blog หรือ space
http://spaces.msn.com/ongchun

chivalrysilk [ at ] gmail.com

icq57152514 [ at ] hotmail.com
สำหรับเล่น MSN เท่านั้น
Friends' blogs
[Add RBZ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.