โฟล์คเหน่อ เล่นดนตรี เขียนกวี วิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณฯ

Group Blog
 
All blogs
 

:::เก็บบรรยากาศงานเปิดตัวหนังสือ บันทึก (ไม่) ปะติดปะต่อ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์มาฝากครับ::::

วันที่ 8 มิถุนายน เริ่มเวลา 4 โมงเย็น ณ ร้านกางแปลง ถ.รัชดาฯ 32 (ตรงข้ามศาลอาญา) ร้านกิน-ดื่มของคู่ดูโอ พรเทพ เฮง (ตู่) กับ พัลลภ สามสี (ต้น) คนกันเอง...
.......ตั้งประเด็นเสวนากวนๆ ชวนคิด ว่า
“อะไรกัน! วรรณกรรม : พรมแดน คุณค่า ปรากฏการณ์” โดยมี "เวียง" วชิระ บัวสนธ์, พิเชฐ แสงทอง, จรูญพร ปรปักษ์ประลัย, ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ร่วมเสวนา

.......ถัดจากนั้นเป็นการพูดคุยของ วรศักดิ์ มหัทธโนบล, นพดล ปรางค์ทอง, คฑาวุธ ทองไทย (ไข่ มาลีฮวนน่า) ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า ร่วมวงกับ "ศิริวร" โดยมี คมสัน นันทจิต และ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ช่วยกันแคะคุย

.......แถมมีเพื่อนกวีหน้ารามยุคแรก, ลำภา มัคศรีพงษ์ (โฟล์คเหน่อ) ตลอดจน วงมาลีฮวนน่า (เต็มวง) พร้อมใจขึ้นเวทีเขย่าลูกคอ...

....สถานที่จัดงาน ร้านกางแปลง ซอยรัชดา 32....

....เจ้าของเล่มหนังสือแจกลายเซนต์หน้างาน....

....บล๊อคเกอร์ "มิรันตี-กรกฏริมธาร"รอคอยรายการเสวนา....

...มุมนี้ ตุล อพาร์เมนท์คุณป้า สนทนากับ อังคาร จันทาทิพย์...

....เอี้ยว ณ ปานนั้น กับขนมชั้นของฝาก หวาน หอม เหนียว นุ่ม และอร่อย...

...ป๋อง ใบไม้ป่า กับ คมสัน นันทจิต รอทำหน้าที่พิธีกร บนเวที...

....เริ่มต้น เสวนา "อะไรกัน วรรณกรรม"...

...แอบดู อะไรกัน วรรณกรรม...

....บรรยากาศคนล้นออกนอกร้านระหว่างการเสวนา...

...อ. ไข่ (มาลีฮวนน่า) และตุล อาพาร์ทเมนต์คุณป้า นพดล ปรางค์ทอง และศิรวร ร่วมขึ้นเวทีเสวนา...

......โฟล์คเหน่อเดี่ยวเพลง โฟล์ค 4 เพลง บนเวที(ขอบคุณภาพจาก บล๊อกเกอร์ ญาใจ).....

...มุมนี้ บล๊อคเกอร์ ญาใจ และความทรงจำเก่า ๆ เสวนาเหมือนกัน...

...รวมหมู่ถ่ายรูป "กวีหน้าราม" รุ่นแรก (ซ้ายบน) คุณเหวิน / อ. ไข่ มาลีฮวนน่า / ลำภา มัคศรีพงษ์ / อังคารจันทาทิพย์ / นพดล ปรางค์ทอง / พิทักษ์ ใจบุญ / เอก อัคคี (ซ้ายล่าง) พินิจนิลรัตน์ / ศิริวร แก้วกาญจน์ / พิเชฐ แสงทอง...

.....แดดร่มลมตก ข้างในยังคงมีศิลปิน กุ๊ดจี่และคุณเหวิน พร้อมผองเพื่อนบรรเลง...

....วงไทลากูน...

....รูปหมู่กับ วรรณฤกษ์ . พิทักษ์ ใจบุญ น้องบุ๊ค แห่งเนชั่นฯ ก่อนเดินทางกลับ.(ขอบคุณภาพ จาก ญาใจ)..

.....รวมเล่มหนังสือ บันทึก (ไม่) ปะติดปะต่อ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์...

......พรุ่งนี้พบ คลิปแสดงสด ของ วงมาลีฮวนน่า ที่มาร่วมบรรเลงเพลงในงานเปิดตัวหนังสือ...




 

Create Date : 10 มิถุนายน 2551    
Last Update : 10 มิถุนายน 2551 2:35:34 น.
Counter : 754 Pageviews.  

:::ร่วมเปิดบันทึก (ไม่) ปะติดปะต่อ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์:::

:::ร่วมเปิดบันทึก(ไม่) ปะติดปะต่อ กับศิริวร แก้วกาญจน์:::

ถูกเทียบเชิญจาก เพื่อนคนเขียนหนังสือ นาม ศิริวร แก้วกาญจน์ ให้ไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของเขา ในวันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน นี้ ที่ร้านกางแปลง (ซอยรัชดา 32) หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดที่ชื่อ “บันทึก(ไม่)ปะติดปะต่อ” ซึ่งเป็นงานรวมเล่มที่บอกชัดเจน ไม่มีเป้าหมายที่รางวัลประเภทใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะงานเล่มนี้ ศิริวรได้รวบรวมงาน ที่เป็นทั้ง บทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย ความเรียง บทความ บทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ และสารคดี มารวมอยู่ไว้ในเล่มเดียวกัน หรือถ้าส่งประกวดจริง กรรมการตัดสินคงต้องได้ปวดหัวตัวร้อนกันบ้างล่ะ

แต่หากนับย้อนไปก่อนหน้านี้ ศิริวร แก้วกาญจน์ คือคนเขียนหนังสือ ที่มีงานเขียนเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรท์ มาแล้ว 4 สมัยติดต่อกัน กับผลงาน 5 เล่ม ในวรรณกรรมทั้ง 3 ประเภท (เรื่องสั้น บทกวี และนวนิยาย) และเขายังเป็น นักเขียนรางวัลศิลปาธร ปี 2550 อีกด้วย

ไม่ธรรมดา เพื่อนเรา!!!

นับย้อน หลังไป 15 ปี ยังจำวันที่ผมและศิริวร หอบขนหนังสือของตัวเองขึ้นสู่บ้านเช่าหลังสีเขียว ที่ซ่อนอยู่ลึกเข้าไปในซอยเทพลีลา หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะนั้นเราทั้งสองต่างมีสถานภาพเป็นนักศึกษาราม ปี 1

ช่วงวันที่ผมตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ ศิริวร แก้วกาญจน์ กำลังตัดสินใจย้ายที่อยู่ออกจากบ้านของ เดือนแรม ประกายเรือง กวีรุ่นพี่พอดี

บ้านไม้ทาสีเขียวทั้งหลังนั้นเพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ ทั้งชั้นบน ชั้นล่าง ถูกซอยแบ่งเป็นห้องเช่ากว่า 20 ห้อง ชื่อผู้เช่ามีอยุ่ 2 คน แต่ครั้นพอเข้าอยู่อาศัยจริง กลับกลายเป็นห้องเช่าที่มีเหล่ากวีหน้าราม แวะเวียนมาเยี่ยมเยือน ตั้งวงสนทนา และอาศัยยืมหลับนอนทั้งชั่วคราวและถาวร นับรวม 10 ชีวิต

อดนึกขำไม่ได้ในค่ำคืนของการล้อมวงเปิดประเด็นสนทนากัน ท่ามกลางขณะเสียงเคาะส่งสัญญาณเตือนจากห้องข้าง ๆ ให้เบาเสียงลงหน่อย ดังมาเป็นระยะจนค่อนรุ่ง...

ยังแอบหัวเราะทุกครั้ง ที่นึกย้อนไปเห็นภาพเช้าวันที่อลหม่าน เมื่อเราทั้งสองต้องเร่งรีบไปเข้าสู่ห้องสอบของมหาลัย ขณะที่รองเท้าผ้าใบข้างหนึ่งของศิริวรอันตรธานหายไปจากหน้าห้อง...

ยังจดจำวันที่เราอดมากกว่าอิ่ม จนขณะเดินเตร็ดเตร่ที่หน้าราม ศิริวรทรุดฮวบจนพิเชษฐ์ ต้องประคองร่างขึ้นมอเตอร์ไซด์สู่บ้านหลังเขียว ขณะผมปรี่เข้า เซเว่นฯ เพื่อซื้อยาหอมตราฤาษีทรงม้า และยาหม่องถ้วยทอง ตามเข้าไปด้วยความเป็นห่วง

ยังจำวันประทับใจที่เราทั้งสองถือฤกษ์ดีเดย์วันสิ้นปี ยัดตัวเองอยู่ในห้องเสบียงของโบกี้รถไฟ เพื่อขึ้นไปเที่ยวและเยี่ยมเยือนพี่ ๆ นักเขียนที่จังหวัดเชียงใหม่.....

ภาพอดีตยังเก็บซ่อนอยู่ในความทรงจำ....

กลาง ปี 36 ผมและศิริวรต่างแยกย้ายออกจากบ้านเช่าสีเขียว ผมผันตัวเองไปเป็นเด็กวัด ตอนแก่ ส่วนศิริวรย้ายไปยังอีกสถานที่ แต่ยังคงไปมาหาสู่กันเป็นระยะ.....

จนกระทั่งผมย้ายกลับสุพรรณ การพบปะระหว่างผมกับศิริวรจึงห่าง ๆ จนนับครั้งได้ในช่วงสิบกว่าปี

ผมผันตัวเองมาเป็นนักดนตรี ส่วนศิริวรยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นคนเขียนหนังสือ ตลอดช่วงสิบห้าปี ศิริวรมีงานรวมเล่มที่พิมพ์เอง 10 เล่มแล้ว

รวมเล่มหนังสือทั้ง 9 เล่มที่ผ่านมา ศิริวรไม่เคยจัดงานเปิดตัวหนังสือเลย แต่เล่มที่ 10 ศิริวรตัดสินใจ จัดงานเปิดตัวหนังสือ อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเอาใจ แฟน ๆ

โดยมีกำหนดรายการที่น่าสนใจดังนี้....

งานจะมีขึ้น วันที่ 8 มิถุนายน เริ่มเวลา 4 โมงเย็น ณ ร้านกางแปลง ถ.รัชดาฯ 32 (ตรงข้ามศาลอาญา) ร้านกิน-ดื่มของคู่ดูโอ พรเทพ เฮง (ตู่) กับ พัลลภ สามสี (ต้น) คนกันเอง...
.......ตั้งประเด็นเสวนากวนๆ ชวนคิด ว่า
“อะไรกัน! วรรณกรรม : พรมแดน คุณค่า ปรากฏการณ์” โดยมี "เวียง" วชิระ บัวสนธ์, พิเชฐ แสงทอง, จรูญพร ปรปักษ์ประลัย, ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ร่วมเสวนา

.......ถัดจากนั้นเป็นการพูดคุยของ วรศักดิ์ มหัทธโนบล, นพดล ปรางค์ทอง, คฑาวุธ ทองไทย (ไข่ มาลีฮวนน่า) ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า ร่วมวงกับ "ศิริวร" โดยมี คมสัน นันทจิต และ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ช่วยกันแคะคุย

.......แถมมีเพื่อนกวีหน้ารามยุคแรกอย่าง พจนาถ พจนาพิทักษ์, ลำภา มัคศรีพงษ์ (โฟล์คเหน่อ) ตลอดจน วงมาลีฮวนน่า (เต็มวง) พร้อมใจขึ้นเวทีเขย่าลูกคอ...

ศิริวรฝากข่าวผ่านมาถึงแฟน ๆ หากใครสนใจ ขอเชิญร่วมงานเปิดบันทึก(ไม่)ปะติดปะต่อ โดยพร้อมเพรียงกัน ตั้งแต่ 4 โมงเย็นเป็นต้นไป..นะครับ แล้วพบกัน

ผลงานบางส่วนของ ศิริวร แก้วกาญจน์ คลิ๊ก สั่งซื้อได้ที่นี่




 

Create Date : 05 มิถุนายน 2551    
Last Update : 5 มิถุนายน 2551 0:51:51 น.
Counter : 1674 Pageviews.  

:::รำลึกพฤษภาทมิฬ : ฝ่าความตายบนถนนราชดำเนิน::::

รำลึกเหตูการณ์พฤษภาทมิฬ : ฝ่าความตายบนถนนราชดำเนิน

1.

รอยต่อระหว่างคืนวันที่ 18 กับ 19 พฤษภาคม 2535

ข้าพเจ้าซุกตัวนอนขดร่างอยู่ข้างบันไดของธนาคารแห่งนั้น โดยมีแสงไฟจากโคมเสาสูงสาดส่องลงมา มีเงาเสาอาคารต้นหนึ่งบังแสงบางส่วนทำให้ส่องเผยกายของข้าพเจ้ากับเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมเพียงบางส่วนเท่านั้น

เวลาเท่าไรไม่รู้ได้

แต่เป็นค่ำคืนที่ข้าพเจ้าอยากให้ล่วงลุสู่รุ่งอรุณ โดยเร็ว

เสียงปืนลั่นรัวถี่ยิบอยู่ไม่ห่างจากที่ข้าพเจ้า ซุกตัวนอนมากนัก น่าจะเป็นเสียงปืนที่ยิงขึ้นฟ้า หากแต่เป็นเสียงปืนที่ยิงพร้อมกันนับร้อยนับพันกระบอกอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ไม่มีการพูดคุยสนทนากับคนที่นอนอยู่เคียงข้าง แต่ข้าพเจ้ารู้ว่าเขา ก็ยังไม่หลับเช่นกัน

2.

ตอนสายของวันที่ 18 พฤษภาคม 2535

ข้าพเจ้าตัดสินใจอาบน้ำแต่งตัวกระโดดขึ้นรถเมล์จากพระโขนงสู่ราชดำเนินทันที เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วรับรู้ข่าวจากทีวีเครื่องเล็ก ว่าตำรวจทำร้ายประชาชนทีชุมนุมบนถนนราชดำเนิน เมื่อคืนนี้จนได้รับบาดเจ็บหลายคน

ข้าพเจ้าไม่รู้รายละเอียดของเหตุการณ์เมื่อคืนมากนัก

แต่เหตุแห่งการชุมนุมในครั้งนี้ ข้าพเจ้าคือหนึ่งของผู้ที่เข้าร่วมทุกการนัดชุมนุมมาโดยตลอด และได้รับรู้ข้อมูลอย่างละเอียด ของเหตุที่มาแห่งการชุมนุม

และเมื่อวานช่วงหัวค่ำ ข้าพเจ้าก็ไปร่วมชุมนุมตามนัดปราศรัยครั้งใหญ่ ที่นำโดยพลตรีจำลอง ศรีเมืองและกลุ่มสมาพันธ์ประชาธิปไตย เพื่อขับไล่พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ข้าพเจ้าต้องรีบกลับ เพื่อสะสางงานของบริษัทที่ยังคั่งค้างอยู่ ก่อนที่พลตรีจำลองจะประกาศเคลื่อนขบวนจากสนามหลวงสู่ถนนราชดำเนิน

ข้าพเจ้าทำงานอย่างไม่เป็นสุขนัก ทำงานไปติดตามข่าวมวลชนชุมนุมเป็นระยะ ๆ จนผล็อยหลับไปในค่อนดึกคืนนั้น

3.

ก่อนเที่ยงวันที่ 18 พฤษภาคม 2535

ลวดหนามที่กั้นบนถนน ก่อนถึงสะพานผ่านฟ้า ไม่อาจต้านพลังประชาชนได้แล้ว ทหารจึงยอมเปิดทางให้ข้าพเจ้าและประชาชนนับพันผ่านเข้าไปสมทบกับประชาชนอีกหลายพันที่ยังคงปักหลักชุมนุม อยู่บนถนนราชดำเนิน

พลตรีจำลอง ศรีเมืองยังอยู่ที่นั่น

เวลาใกล้เที่ยง

ไม่ค่อยมีผู้ร่วมชุมนุมมากนัก ประกอบกับทหารได้ใช้ลวดหนามปิดกั้นทางเข้าทุกด้าน และผู้ชุมนุมหลายท่านต้องกลับบ้านไปทำงาน หรือไปอาบน้ำพักผ่อน เพื่อว่าตอนเย็นทุกคนจะต้องกลับมารวมเป็นคลื่นขบวนเรียกร้องแบบอหิงสาเพื่อความสัมฤทธิ์ผลตามข้อเรียกร้อง อีกครั้ง

แต่การณ์กลับไม่เป็นดังนั้น

บ่ายสามโมง ทหารตั้งแถวหน้ากระดาน กราดกระสุนขึ้นฟ้า ดาหน้าเข้าสลายม็อบและจับตัวพลตรีจำลองศรีเมืองพร้อมผู้ร่วมชุมนุมอีกนับพัน

ทันทีที่เสียงปืนนัดแรกดังขึ้น ข้าพเจ้าก็เผ่นแผล็วตามสัญชาตญาณเอาตัวรอดเข้าไปในรั้ววัดราชนัดดา ขณะที่ผู้ชุมนุมบางคนยังคงนอนหมอบอยู่กับพื้นถนนราชดำเนินที่ร้อนระอุ ท่ามกลางเสียงประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงของผุ้นำชุมนุมให้นั่งอยู่กับที่ตามวิธีอหิงสาสันติ

เสร็จสิ้นการสลายม็อบชุมนุม หลังบ่ายสี่โมง

ข้าพเจ้าและกลุ่มผู้ชุมนุมที่หนีรอดการจับกุมของทหารอีกหลายร้อย ก็เดินลัดเลาะไปทางเสาชิงช้าแล้วอ้อมมาสมทบกลุ่มม็อบที่เริ่มมารวมเป็นม็อบไร้ผู้นำที่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์

การประจันหน้ากันของม็อบกับทหารที่ยึดฐานที่มั่นบริเวณสี่แยกคอกวัวตึงเครียดตั้งแต่หกโมงเย็น

เสียงเครื่องขยายเสียงของทหารดังอึกทึกกลบเสียงด่าทอ และปลุกระดมจากพวกเรา เกือบหมดสิ้น

สถานการณ์ตึงเครียดอย่างหนัก เมื่อมีการนำรถเมล์จากผู้ชุมนุมที่ไร้การนำพุ่งชนลวดหนามทหาร มีการยิงคนขับรถเสียชีวิต

และแล้วการโต้ตอบเต็มรูปแบบระหว่างผู้ชุมนุมสองมือเปล่ากับกองทหารอาวุธสงครามครบมือก็เริ่มขึ้น

ข้าพเจ้า พร้อมเพื่อนที่ไม่รู้จักกัน 7-8 คน หนีออกมาทางกรมสรรพากร ขณะที่เพลิงกำลังก่อตัวอยู่ภายในอาคาร

เดินตามถนนได้สักพัก พวกเราตัดสินใจหนีเข้าซอยเล็ก ขณะเสียงปืนยังดังกึกก้องอยู่ทางถนนราชดำเนิน

หากชักช้าหรืออยู่ในที่แจ้งอาจถูกยิงหรือถูกจับแน่

ระหว่างทางในซอยมืด พวกเราก็สวนกับชายสองคนกำลังหามร่างชายวัยกลางคนเลือดโชกวิ่งมาอย่างกระหืดกระหอบ

“เขาโดนยิง หามไปไว้ปากซอย ให้รถพยาบาลที่ผ่านมาเห็น”

ในยามนี้ไม่มีวิธีการไหนที่ดีไปกว่านี้

ข้าพเจ้าช่วยหามร่างโชกเลือด นั้นย้อนกลับไปที่ปากซอย แล้วตัดสินใจหลบเข้าไปในอีกซอยย่อยเล็ก เพราะรู้ว่าปลายทางข้างหน้านั้นไม่ปลอดภัยเสียแล้ว

และการรวมกลุ่มกันเดิน 7-8 คนเช่นนี้อาจไม่ปลอดภัยและเป็นเป้าชัดเจนให้ถูกยิงหรือถูกจับกุม

แยกย้ายกันเป็นคู่ ลัดเลาะเดินอย่างรวดเร็วไปตามซอกซอยจับต้นชนปลายไม่ถูก

ร้านรวงทุกร้านปิดเงียบ

เสียงปืนยังดังระรัวเป็นระยะแต่เราห่างมาจากเสียงนั้นพอสมควรแล้ว

มารู้ตัวอีกที ข้าพเจ้าและเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรม ก็มานั่งหอบแฮก แฮก อยู่เชิงบันไดธนาคารแห่งหนึ่ง

ไม่มีน้ำดื่ม น้ำลายเหนียวหนืด มีเสียงพูดคุยกันสองสามคำ ก่อนเราทั้งสองจะหลบลงข้างเชิงบันได ทิ้งร่างอันอ่อนเพลีย ขดม้วนนิ่งนอนด้วยความหวาดกลัว

เสียงปืนยังคงลั่นรัวคำรามแว่ว ๆ และใกล้เข้า ในความนิ่งสนิทของร่างกาย จมุกของข้าพเจ้าได้กลิ่นคาวเลือดคลุ้งที่ติดอยู่ที่ชายเสื้อยืด

เลือดจากชายวัยกลางคนที่ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าป่านนี้เขาจะเป็นเช่นไร

ทหารหรือพยาบาลกันแน่ ที่จะมาพบเขาก่อน

ข้าพเจ้าปิดเปลือกตาหลับลงด้วยความอ่อนเพลีย ท่ามกลางเสียงปืนที่ลั่นรัวถี่ยิบต่อเนื่องเหมือนบริเวณรอบ ๆ ตัวยามนี้ คือสมรภูมิรบ

...

::::เสียงปากคำของนักข่าวในเหตุการณ์:::




 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 18 พฤษภาคม 2551 15:44:25 น.
Counter : 835 Pageviews.  

:::อยากเป็นนักเขียน:::

อยากเป็นนักเขียน

ผมอยากเป็นนักเขียนมากกว่าเป็นนักดนตรี...

นั่นคือความรู้สึกก่อนที่ผมจะพาช่วงชีวิตหลุดผ่านเข้าสู่วงวิถีของนักดนตรี

ผมถูกพลานุภาพแห่งสำนวนภาษางานเขียน ของครูนิมิต ภูมิถาวร สะกดให้ตรึงนิ่ง

หนังสือส่งเสริมการอ่านนอกเวลาเรียนเรื่อง “หนุ่มชาวนา” คือหนังสือเล่มแรกที่ผมตะลุยอ่านรวดเดียวจบ และยังคงอ่านซ้ำอ่านซากอย่างไม่รู้เบื่ออีก ไม่ต่ำกว่า 20 รอบ

มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

เหตุผลที่ให้ต้องอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า การโหยหาภาพแห่งอดีตที่เคยเป็นอยู่...

ภาพแห่งอดีตของเด็กหนุ่มวัย 14 ปี ที่ถูกรื้อทิ้งทำลายจนไม่เหลือหรอแค่ช่วงข้ามเดือน...

ปี 2524 ท้องทุ่งนาสูงต่ำในเขตตำบลบ้านผม ถูกไล่รื้อถากไถเส้นแบ่งคันนาให้กลับกลายเป็นนาผืนในระดับเดียวกัน ไม้ใหญ่ไม่เล็ก ถูกรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบสีเหลืองวิ่งชนล้มระเนระนาด แบบถอนรากถอนโคนและถูกกวาดไปกองรวมเป็นภูเขาเลากา พื้นที่แปลงนาถูกจัดระเบียบขีดเส้นตีแปลงใหม่ รถบรรทุกวิ่งขนดินถมสร้างถนนกันขวักไขว่ รถแมคโครจ้วงขุดร่องคูคลองโยงใยเป็นสายส่งน้ำ ตามแผนการปฏิรูปที่ดินชั้นหนึ่ง

ท้องทุ่งนาที่เคยรกครึ้มไปด้วยต้นไม้ กลับกลายเป็นผืนทุ่งโล่งเหมือนท้องทะเลทราย....

ภาพท้องทุ่งนาในอดีตไม่มีหลงเหลือ ให้ผมได้เดินเหยียบย่าง ต้นพุดทราที่เคยไต่ปีนขึ้นเขย่าลูกแดงเหลืองให้ร่วงกรูกราวไม่มี มะขามเทศฝักปริเนื้อสีขาวอมชมพูโปนออกนอกเปลือก ไม่มีให้ปีนเก็บและสอย

หลังจากนั้นไม่นาน ฝูงควายที่ผมเคยไล่เลี้ยง ก็ถูกต้อนขึ้นรถหกล้อหายลับจากไป....

เสียงนกที่เคยเจื้อยแจ้ว ถูกทดแทนด้วยเสียงรถไถนาที่ดังระงมทุ่ง

เหตุผลข้อนี้ จึงทำให้ผมวิ่งย้อนสู่อดีต ไปกับตัวหนังสืเล่มดังกล่าววันละหลายรอบ

“ตะวันจมหายไปทางปลายทุ่งโน่นแล้ว นกยางสีขาวบินโผลงนอนในพุ่มโสนกลางหนองหลวง ผีเสื้อ แมลงปอปีสีสวยบินโฉบกินยุงอยู่กลางทุ่ง ชาวนาเดินจูงควายกลับเข้าคอกเพื่อพักผ่อน เสียงกระดึงควายดังโกรกเกรก กรุ๋งกริ๋งท่ามกลางความเงียบ”

สำนวนภาษาบรรยายฉากของท้องทุ่งยามเย็นฉากนี้ในหนังสือเล่ม “หนุ่มชาวนา” นี้ ยิ่งทำให้ผมรู้สึกคิดถึงอดีตเมื่อวันวานมิเว้นวาย...

ผมจ่อมจมอยู่กับหนังสือเล่มนี้อยู่เนิ่นนาน กว่าจะได้ค้นพบว่ายังมีหนังสือวรรณกรรมแนวชนบทอีกมากมาย หลากล้น อยู่ในห้องสมุดโรงเรียน....

หนังสือจากห้องสมุดถูกผมหยิบยืม ไล่อ่านในพ.ศ.นั้น ทุกเล่มล้วนเกี่ยวเนื่องกับท้องไรท้องนาทั้งสิ้น

ปี 2526 เรื่องสั้นเรื่องแรกของผมที่ชื่อ “เด็กท้องนา” ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ ฟ้าเมืองไทย ของคุณลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์ ขณะผมกำลังเรียนอยู่ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 4

คุณครูภาษาไทยตื่นเต้นดีใจไปกับผม พร้อมเตรียมไว้เพื่อวันรุ่ง เขาจะกล่าวชื่นชมผมที่หน้าเสาธง

แต่พอรุ่งเช้าของอีกวัน เรื่องสั้นเรื่องแรกของผมในหน้าหนังสือก็ถูกมือดีฉีกหายไปจากห้องสมุด...

จากเด็กตัวอย่างที่ดีอาจกลายเป็นเด็กตัวอย่างไม่ดีได้ หากคุณครูและทุกคนในโรงเรียนเข้าใจตรงกันว่า คนที่ขโมยฉีกเรื่องสั้นอาจเป็นเจ้าของเรื่องที่ได้ตีพิมพ์

คุณครูจึงงดที่จะแนะนำนักเขียนนักเรียนมอ. 4 ที่หน้าเสาธง...

กำลังใจและไฟพลังอันล้นเหลือจากเรื่องสั้นตีพิมพ์เรื่องแรกได้พุ่งดันเรื่องสั้นฉากท้องไร่ท้องนาแบบเดิม ๆ ออกมาอีกนับสิบเรื่อง จนครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ ต้องออกมาห้ามเอาไว้ด้วยคอมเมนต์แนบจดหมายตอบกลับว่าควรมีมุมมองใหม่ ในเรื่องสั้นแนวลูกทุ่ง

ก็จะอะไรเสียอีก ก็ในเมื่อขณะที่ท้องไร่ท้องนาลั่นระงมไปด้วยเสียงเครื่องรถไถนา และคลุ้งกลิ่นน้ำมัน เรื่องสั้นของผม กลับยังย่ำย้ำซ้ำ ๆ อยู่กับฉากท้องทุ่งที่คลุ้งไปด้วยกลิ่นโคลนสาบควาย แบบชนิดไม่ทีท่าว่าจะยอมเปลี่ยนแปลงเอาง่าย ๆ

ฟืนไฟความใฝ่ฝันของความอยากเป็นนักเขียนของผมมอดดับสนิทเมื่อตอนขึ้นอยู่ชั้นมัธยมปี่ที่ 6 เมื่อเรื่องสั้นที่เขียนกับเรื่องที่มีแววว่าจะได้ตีพิมพ์ไม่มีความสมดุลระหว่างกัน

พูดง่าย ๆ หลังจากเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ได้ตีพิมพ์ ผมเขียนและส่งเรื่องสั้นไปหนังสือ “ฟ้าเมืองไทย” อีกไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง แต่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์อีกเลย...

ผมเริ่มสนุกกับการเป่าแคนในวงดนตรีลูกทุ่ง จนลืมว่าเคยอยากเป็นนักเขียน...

จวบจนกระทั่งคืนวันหนึ่ง

คืนที่ผมดุ่มเดินตัดทุ่ง มุ่งสู่จอหนังกลางแปลงที่ฉายฉลองงานบวชพระในหมู่บ้าน...

หนังไทยเรื่องนั้น (จำชื่อไม่ได้) กระชากวิญญาณของความเป็นนักเขียนของผมให้พวยพุ่งแตกพล่าน อยุ่ในทุกอณูของร่างกายขึ้นมาในทันที

ฉากของพระเอก ทูน หิรัญทรัพย์ ที่กำลังนั่งอยู่หน้าแป้นพิมพ์ดีดฉบับกระเป๋าหิ้ว พร้อมถ้อยคำอ่านไล่ทวน อักษรบรรยายฉากแรกเริ่มเรื่องนวนิยายเของเขา ที่ระเบียงคฤหาสน์ร้างหลังหนึ่ง คือภาพในจอหนังกลางแปลงที่ทำให้ผมเกิดอยากเป็นนักเขียนขึ้นมาอีกครั้งอย่างไม่ปี่มีขลุ่ย

อีกปีต่อมาผมตัดสินใจไปสมัครเรียนที่โรงเรียนพาณิชย์แห่งหนึงในตัวเมือง ด้วยเหตุผลเดียวจริง ๆ คืออยากจะพิมพ์ดีดเป็น จะได้เอาใช้ไว้เขียนเรื่องสั้น และนิยาย

แต่ก็นั่นแหละ พิมพ์ดีดได้ ไม่ใช่จะทำให้เป็นนักเขียนได้ซะเมื่อไร

เป็นเพราะผมขาดคุณสมบัติขั้นต้นของการเป็นนักเขียน

ผมขาดความอดทนและขยันที่จะเขียน สุดท้ายความมุ่งมั่นเพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักเขียนจึงถูกพับและพังลงอย่างไม่เป็นท่า

จำได้ว่าหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ผมเริ่มเขียนบทกวี ที่มีเนื้อหาสะท้อนความรู้สึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ และได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่ได้อยู่ท่ามกลางเพื่อนกวีหลาย ๆ คนที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง แรงขับและแรงบันดาลใจจึงมีอยุ่มากมาย ให้ขับเคลื่อนออกมาเป็นผลงาน

จึงกล่าวได้ว่า ปี 2535 – 2536 คือ 2 ปีที่ผมเขียนงานเรื่องสั้น และบทกวี ได้ตีพิมพ์มากที่สุด (กว่าร้อยชิ้นงาน) ด้วยหลากหลายนามปากกา

แต่พอผมย้อนกลับสุพรรณบ้านเกิดอีกครั้ง ผมกลับเขียนงานและได้รับการตีพิมพ์ ไม่น่าจะเกินนิ้วมือนับสองมือ...

เวลาการเขียนหนังสือของผมถูกอ้างเอาเองว่าได้ถูกดึงจมหายไปในงานดนตรีหมดแล้ว......

จวบจนต้นปี 2550 ผมกลายเป็นคนอยากเขียนหนังสือขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากได้สมัครเป็นสมาชิก บล๊อคโอเคเนชั่น

นอกเหนือความคาดหมาย ก็คือ แค่เพียงปีเดียว ผมกลับกล้าหาญชาญชัย ขนาดดึงเรื่องที่เป็นความเรียงจากในบล๊อคตัวเองนั้น ออกมารวมเล่มเป็นหนังสือทำมือ ได้ถึง 2 เล่ม

หนำซ้ำเรื่องที่คัดออกมานั้น ผมยังทำตัวเป็นบรรณาธิการเอง ปรู๊ฟตัวอักษรเอง จัดหน้า ออกแบบรูปเล่มเอง ลงทุนพิมพ์เอง แล้วยังขายเองโดยไม่พึ่งสายส่งอีกต่างหาก

หรือชาตินี้ผมจะได้เป็นนักเขียนจริง ๆ แล้ว (มั๊ง) .......

เชิญหยิบจับลูบคลำผลงานหนังสือทำมือ และ เทปใต้ดิน

ของศิลปินโฟล์คเหน่อได้ที่

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 7 เมษายน 2551

ที่บูธ U 19 โซน C ชั้น 2

">

เพลง บ้านไม้เก่า
คำร้อง ทำนอง ขับร้อง ศิลปินโฟล์คเหน่อ




 

Create Date : 27 มีนาคม 2551    
Last Update : 27 มีนาคม 2551 21:35:54 น.
Counter : 484 Pageviews.  

::::เพลง คนไม่มีฟัง มันดังไม่ได้ ศิลปิน ตุ๊กตุ่น ชนชายแดน (เขมร)::

เพลง คนไม่มีฟังมันดังไม่ได้

ขับร้องโดย ตุ๊กตุ่น ชนชายแดน(เขมร)

ก็อยากฟังฟรี แค่นี้ใจดำเหลือเกิน

แค่ฟังเพลินเพลิน อะไรวะ มาห้ามซะนี่

ก็แค่คนชอบเอาเพลงมาฝาก อ้าวเป็นคนลักขโมยซะนี่

อ่ะ .. เรา ปิดเพลงทันที ไฉนใยพี่งกจัง

ห่วงอยู่ไกล ๆ ไม่น่าหัวใจคับแคบเลยหนอ

เลือกตั้งส.ว. รู้ไหมทำไมไม่ได้

ขอโทษถ้าเปิด หัวใจให้กว้าง และมีบางครั้งถ้ามีน้ำใจ

ไม่ใช่มาขอมากไป แค่ฟังเพลงใยต้องหวงแหน

เพลงไม่มีคนฟัง มันคงจะดังไม่ได้

ขาดทุนก็รู้ เจ๊งก็เข้าใจ แต่ถ้าอยากให้เพลงไม่ดัง

เพลงถ้ามีคนฟัง มันคงจะดังก็ได้

ถ้าพี่นั้นมีน้ำใจ มอบให้พวกเราเปิดแทน

ไม่ต้องโปรโมทเงินแสน ให้เราทำแทนก็ได้

แต่ไม่เป็นไร จะไม่มาขอต่อรอง

เพลงตกกระป๋อง มาโทษพวกเราไม่ได้

เมื่อเราพร้อมใจที่จะขอปิด เมื่อท่านแต่คิดหวังผลกำไร

นับตั้งแต่นี้ต่อไป ออกเพลงชุดไหน ก็ไม่ซื้อฟัง

เพลง ไม่มีคนฟังมันดังไม่ได้

ตุ๊กตุ่น ชนชายแดน(เขมร)

ป.ล. เพลงนี้ทำขึ้นมาโดยมิได้หวังผลในเชิงพาณิชย์

คลิ๊ก Download เพลง"เพลง ไม่มีคนฟังมันดังไม่ได้"ที่นี่

">




 

Create Date : 23 มีนาคม 2551    
Last Update : 23 มีนาคม 2551 2:14:22 น.
Counter : 560 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  

โฟล์คเหน่อ
Location :
สุพรรณบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ผลงานโฟล์คเหน่อ

สี่สิบสอง นักเขียน คนบ้า กวีหน้าราม กีตาร์โปร่ง
Friends' blogs
[Add โฟล์คเหน่อ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.