2001 A Space Odyssey จอมจักรวาล 1




จอมจักรวาล 1 
2001 A Space Odyssey (1968)
โดย Arthur C.Clarke 
สนพ.Thai Science Fiction แปลโดย ระเริงชัย

"ในการสำรวจของพวกเขา พวกเขาได้พบชีวิตในรูปแบบต่างๆกันและได้เฝ้าดูกระบวนการทำงานของกลไกวิวัฒนาการในโลกนับพันแห่ง พวกเขาได้มองเห็นประกายแรกของความเฉลียวฉลาดที่เกิดขึ้นและดับลงในราตรีกาลแห่งจักรวาล 

ในทุกๆกาแลกซี่ที่ได้รับการสำรวจ พวกเขาได้พบว่าสิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือ จิตใจ  พวกเขาปลุกเร้าให้อรุณรุ่งบังเกิดขึ้นในจิตใจทุกหนทุกแห่ง พวกเขากลายเป็นเกษตรกรแห่งหมู่ดาว พวกเขาหว่านเมล็ดพันธุ์และบางครั้งก็เฝ้ารอคอยการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างอดทนและในบางครั้ง พวกเขาก็ต้องใจเย็นพอที่จะเฝ้ากำจัดบรรดาวัชพืชให้"

ยานสำรวจดิสคัฟเวอรี่ 1 ได้ถูกส่งออกไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศโดยมีเป้าหมายไปยังดาวบริวารของดาวเสาร์ดวงหนึ่งอย่าง "จาเพตัส" ภายใต้จุดมุ่งหมายลับที่ยังไม่ถูกเปิดเผย หลังจาการค้นพบแท่งหินโมโนลิธสีดำบนดวงจันทร์อันเป็นปริศนาพิศวงที่ยังไม่มีใครสามารถไขความลับของมันได้ว่า ใครเป็นผู้สร้างมันและทำไปเพื่ออะไร อายุของมันก็ยาวนานย้อนไปกว่า 3 ล้านปี ไปยังยุคที่โลกยังมีเพียงแค่วานรมนุษย์อาศัยอยู่เท่านั้น ซึ่งครั้งหนึ่งพวกมันก็เคยเห็นแท่งหินนี้บนโลกมนุษย์ในยุคที่มันมีชีวิตอยู่เช่นกัน

เดวิด โบว์แมนและแฟรงค์ พูล พร้อมกับนักบินอวกาศอีก 3 คนที่ยังจำศีลอยู่ต้อง
เดินทางไปกับยานลำนี้ เพื่อไขปริศนาให้แก่มวลมนุษยชาติภายใต้การช่วยเหลือของคอมพิวเตอร์ช่วยควบคุมยานที่แสนฉลาดล้ำลึกและอัจฉริยะเป็นอันมากอย่าง HAL 9000 

การเดินทางไปยังห้วงอวกาศอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ไพศาล ไม่เพียงสร้างความตื่นตาตื่นใจและความเงียบเปล่าเปลี่ยวเดียวดายเป็นช่วงๆแล้ว แต่มันอาจจะมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงสุดแสนอันตรายถึงแก่ชีวิตรอพวกเขาอยู่ ก่อนที่คำตอบของปริศนาแท่งหินอันแสนอัศจรรย์ใจยิ่งจะรอให้พวกเขาค้นพบ!

............................................................

กลับมาอ่านซ้ำอีกครั้งเป็นรอบที่ 2 หลังจากเคยอ่านไปครั้งหนึ่งสักราว 7-8 ปีที่แล้วได้ จำได้เลาๆว่า ครั้งนั้นคงจะคาดหวังไว้สูงมากและเป็น 1 ในนิยายวิทยศาสตร์เล่มแรกๆที่ได้อ่านเลยและชั่วโมงบินในแนวนี้ยังน้อยมากจึงไม่ได้รู้สึกประทับใจอะไรมากมายนัก จำได้เพียงแค่ความเรียบๆเรื่อยๆของการบรรยายเรื่องราวเท่านั้น 

แต่การกลับมาอ่านอีกครั้งในโอกาสที่แสนสุดพิเศษในปีที่ Arthur C.Clarke อายุ 
ครบรอบ 100 ปีพอดีกับประสบการณ์อ่านในแนวนี้ที่มากพอสมควรและไม่ได้คาดหวังอะไรอีก กลับกลายเป็นการผิดคาดอย่างมากราวกับประตูดาราในสมองเปิดรับภาพของอวกาศและฉากต่างๆได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ตอนอ่านเสมือนเข้าไปอยู่ในยานทีเดียว มีทั้งความอยากรู้อยากเห็น ความระทึกที่มาแบบวูบวาบไม่ได้ตื่นเต้นมากนักแต่ชวนให้ขนลุก ถ้าเรานึกภาพตามความอลังการของภาพดาวเคราะห์ที่ยานต้องเข้าไปโคจรไม่ว่าจะเป็นดาวพฤหัสบดี วงแหวนของดาวเสาร์ ดาวเสาร์และดาว
จาเพตัส แน่นอนที่สุดคือ ความอัศจรรย์ใจที่ Clarke ใช้เฉลยเรื่อง แท่งหินโมโนลิธสีดำปริศนา ต้องบอกเลยว่าสุดยอดมาก ทำให้เรื่องนี้ที่เคยชอบเป็นอันดับ 4 ถีบตัวขึ้นอันดับ 1 ทันทีแซงทั้ง ดุจดั่งอวตาร (Rendezvous With Rama), สู่สวรรค์ (The Fountains Of Paradise), สุดสิ้นกลิ่นน้ำนม (Childhood's End) ทั้งหมดนั้นผ่านการเล่าเรื่องที่เรียบๆเรื่อยๆตามสไตล์ของ Clarke แต่ยิ่งอ่านกลับยิ่งชอบมาก มันล้ำลึกจริงๆ 

ระหว่างที่ผมอ่านมีภาพยนตร์ที่ผ่านเข้ามาในหัวอยู่ 3 เรื่องถ้าไม่นับหนังที่ร่วมดัดแปลงไปพร้อมกับการเขียนเรื่องนี้โดยตรงนะ (ผมยังไม่เคยดู) นั่นคือ บรรยากาศของเรื่อง Gravity ฉากตอนจบของหนังทั้ง 2 เรื่องอย่าง Contact, Interstellar ก็วิ่งเข้ามาด้วยไม่รู้ทำไมเหมือนกัน

วกกลับมาที่ประเด็นต่างๆที่น่าสนใจของเรื่องนี้ที่ชวนฉุกคิดเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเรื่องที่ว่า มีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่เหนือกว่าเราหรือไม่ ถ้ามี จะมีเมตตาต่อสิ่งมีชีวิตอย่างเราที่ต่ำต้อยกว่า โดยอาจจะผ่านกระบวนการวิวัฒนาการของเราโดยที่เราไม่ รู้สึกตัวจนทำใหัพวกเราเฉลียวฉลาดมากขึ้น สามารถประดิษฐ์อาวุธ เครื่องมือ 
จนกระทั่งแม้แต่ยานอวกาศได้  หรือถ้าเรามองในแง่มุมศาสนา ก็คงอาจจะมีพระเจ้าที่นำพาเรามา เพียงแต่ Clarke ไม่ได้บ่งชี้ในลักษณะนั้นอย่างชัดเจนและคงไม่มีใครจะล่วงรู้ได้ 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญญาประดิษฐ์เฉกเช่น HAL 9000 เมื่อถึงจุดหนึ่งมันสามารถประมวลผลจนคิดเองได้เหนือกว่าสิ่งที่เราแค่ป้อนเข้าไป มันจะถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ คล้ายๆกับ 'ไมครอฟท์'คอมพิวเตอร์อัจฉริยะ ในเรื่อง จันทราปฏิวัติ (The Moon Is A Harsh Mistress) ของ Robert A.Heinlein หรือ 'เจน' ในเรื่อง จิตาวตาร (Children Of The Mind) ของ Orson Scott Card หรือแม้แต่ตามข่าวสารปัจจุบันที่สิ่งเหล่านี้เริ่มจะเหนือกว่ามนุษย์ที่ตั้งโปรแกรมป้อนข้อมูลเป็นคนสร้างมันขึ้นมาแล้ว เช่น เอาชนะหมากรุก เขียนนิยายเองได้ เราจะรับมือ สรรสร้างประโยชน์จากมันไม่ให้เป็นภัยต่อมวลมนุษย์ได้อย่างไรเมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ

และประเด็นสุดท้ายที่เฉียบแหลมทำเอาผมทึ่งเมื่อ มนุษย์ทุกผู้ทุกนามย่อมกลับคืนสู่ธรรมชาติโดยหลีกเลี่ยงไม่พ้นอยู่แล้ว จำต้องละทิ้งกายหยาบ ด้วยอาจจะกลับสู่
ผืนดิน ล่องไปตามสายธาร ลอยไปตามสายลม หรือมอดไหม้ด้วยไฟจนเป็นเถ้าธุลี  

แต่นี่เป็นสเกลมุมมองเล็กๆเพียงบนโลกดาวเคราะห์สีน้ำเงินเท่านั้น ถ้าในระดับจักรวาล คือ เราทุกคนต้องกลับคืนสู่จักรวาลอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ไพศาลจนอาจจะเกิดใหม่เป็นเพียงอะตอมของสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่บริสุทธิ์ล่องลอยท่องไปในจักรวาลเป็นส่วนหนึ่งของผู้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของมวลมนุษย์ไปตามยุคสมัยไปตลอดกาล บนความหวังอันเรืองรองที่ Clarke วาดหวังไว้ว่ามนุษย์จะออกไปท่องดวงดาราในจักรวาลได้สักวันหนึ่ง

ถ้านิยายกำลังภายในมีการดื่มร่ำสุรา มีการคารวะ 3 จอก 
นิยายวิทยาศาสตร์ก็น่าก็น่าจะมีการดื่มด่ำอวกาศ มีการคารวะสัก 3 ดารา

...แด่ปู่ Arthur C.Clarke ในวาระครบรอบ 100 ปี...

"ณ บัดนี้ ตราบเท่าที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ยังดำรงอยู่ มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ด้วยเวลาที่ขอยืมมา..."

อนึ่ง ดาวจาเพตัส ถูกค้นพบโดย โจวานนี่ โดเมนิโก้ คาสซินี่ นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีในปี ค.ศ. 1671 โดยสังเกตเห็นจากทางด้านตะวันตกของดาวเสาร์ แต่เมื่อพยายามมองหาอีกทีทางด้านตะวันออกของดาวเสาร์กลับมองไม่เห็น จนประสบผลสำเร็จใน 30 กว่าปีให้หลังในปี ค.ศ.1705 ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ ดาวดวงนี้มีสภาพสีของดาวเป็นสีทูโทน 

เมื่ออยู่ด้านตะวันตกจะหันด้านที่มีสีสว่างเข้าหาโลก แต่เมื่ออยู่ในด้านตะวันออกจะหันด้านที่มีสีมืดเข้าหาโลก จึงสังเกตเห็นได้ยากกว่ากันมาก 

ป.ล.ในเล่มยังมีเรื่องสั้นอีก 2 เรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจต้นกำเนิดให้นิยายเรื่องนี้แถมท้าย ซึ่งผมไม่รู้ว่าฉบับก่อนๆมีหรือเปล่านะ คือ

- ยาม Sentinel (1951)
หลังจากมีการสำรวจดวงจันทร์ วันหนึ่งกลับพบพีระมิดขนาดเล็กสะท้อนแสงมีพลังงานในตนเอง ซึ่งน่าจะมีสิ่งทรงภูมิปัญญาจากต่างดาวสร้างขึ้นไว้ในอดีตอันยาวนานมาก แต่ทำไมถึงต้องสร้างไว้บนดวงจันทร์ ไม่ใช่บนโลก...

ด้วยอาจจะคาดหวังว่าสักวันหนึ่งมนุษย์จะมีความสามารถเดินทาง ออกไปจากโลกเพื่อท่องอวกาศได้ จนมาค้นพบสิ่งนี้ได้ในที่สุดนั่นเอง

- การเผชิญหน้ายามอรุณรุ่ง Encounter In The Dawn (1953)
เมื่อยานสำรวจจากเผ่าพันธุ์หนึ่งที่มีความเจริญก้าวหน้าได้ท่องอวกาศมาพบกับ
โลกใบหนึ่งที่สิ่งมีชีวิตยังป่าเถื่อน ยังต้องออกล่าสัตว์เพื่อประทังชีวิต ไม่รู้จักแม้แต่หุ่นยนต์ 

เผ่าพันธุ์นี้ได้ทิ้งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องมือที่มีวิทยาการที่ล้ำสมัยกว่าไว้ให้ เพียงคาดหวังว่า สักวันหนึ่งสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้จะพัฒนาจนสามารถออกไปสู่ดวงดาวอื่นๆท่องอวกาศได้เหมือนกันแม้อาจจะยาวนานเป็นหมื่นๆล้านๆปีก็ตามและไม่ทำผิดพลาดเช่นเดียวกับเผ่าพันธุ์ของตนเอง

ทั้ง 2 เรื่องอยู่บนมุมมองที่มีความหวังอันเรืองรองว่า มวลมนุษยชาติจะเดินทางไปไกลพ้นจากดาวเคราะห์สีน้ำเงินนี้ได้

ท้ายที่สุดเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีของ Arthur C.Clarke สนพ.เวลาได้จัดพิมพ์ "แสงโลก (Earthlight)" ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และทาง สกาล่า โรงหนังในเครือ APEX ก็ได้นำหนัง 2001 A Space Odyssey ของผู้กำกับระดับตำนานอย่าง Stanley Kubrick กลับมาฉายในโรงอีกครั้งหนึ่งด้วยความประจวบเหมาะพอดีในวันที่ 17 ก.ย. 2560 นี้ครับ

ขอฉลองวันคล้ายวันเกิดให้ตนเองด้วยการโพสต์รีวิวนิยายเรื่องนี้ให้สมอารมณ์หมายกับแนวนี้ที่ชอบมากละกันครับ...ความหวังเริ่มเรืองรองนิดๆล่าสุดก็มีสนพ.โซลิส สนพ.น้องใหม่แปลผลงานของ John Scalzi ให้อ่านกันแล้ว หลังจากเรื่อง ดาวซานถี่ ของสนพ.โพสต์ เรื่อง Dark Matter และ Lock In ของ สนพ.Maxx รวมถึง สนพ.เวลาที่แปลผลงานแนวนี้อยู่แล้ว

คะแนน 9.7/10



Create Date : 10 กันยายน 2560
Last Update : 10 กันยายน 2560 18:22:30 น.
Counter : 3825 Pageviews.

4 comments
  
มีหนังสือด้วยรึคะ เคยดูแต่หนัง ดูจบแล้วก็ต้องอึ้ง ทึ้ง ...เพราะ งง 55+
หนังสือได้คะแนนเยอะขนาดนี้ น่าสนใจมากเลยค่ะ น่าจะช่วยทำความเข้าใจกับหนังได้เยอะ
โดย: kunaom วันที่: 12 กันยายน 2560 เวลา:17:40:10 น.
  
ตอบช้าไปหน่อยนะครับคุณ kunaom หนังกับหนังสือต่างกันในตอนจบครับ ดูหนังแล้วมาอ่านก็จะเข้าใจมากขึ้น หรือจะอ่านก่อนแล้วไปดูหนังก็จะเก็ทได้เร็วกว่าครับ
โดย: leehua (สมาชิกหมายเลข 755059 ) วันที่: 10 ตุลาคม 2560 เวลา:17:13:19 น.
  
เคยดูกราวิตี้แล้วมันตื่นเต้นกดดันมากครับ หนังทำฉากอวกาศได้เวิ้งว้างมาก นิยายวิทยาศาสตร์ได้ทั้งตื่นเต้น ทั้งแทรกสาระวิทยาศาสตร์ด้วย เลยเป็นอะไรที่น่าติดตาม แต่เอาเข้าจริงๆในชีวิตยังไม่ค่อยได้อ่านแนวนี้เลย ขอบคุณที่นำมารีวิวให้อ่านนะครับ เดี๋ยวขอเวลาอ่านรีวิวอีกสองเล่มที่เหลือก่อน
โดย: ruennara วันที่: 12 พฤศจิกายน 2560 เวลา:2:05:33 น.
  
ชุดนี้ 4 เล่มจบครับ Gravity ชอบเหมือนกัน ลองดู Interstellar สิครับ ยอดเยี่ยมสุดๆ
โดย: leehua (สมาชิกหมายเลข 755059 ) วันที่: 9 มกราคม 2561 เวลา:13:11:59 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 755059
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]



New Comments
กันยายน 2560

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
All Blog