Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

๒๔ กันยายน วันมหิดล ร่วมรำลึกถึง “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน”



ร่วมกันรำลึก พระมหากรุณาธิคุณ .. วันมหิดล ๒๔กันยายน ..

๒๔ กันยายน วันมหิดล ร่วมรำลึกถึง “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน”
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.531606393521708&type=1&l=7cb9eda710

๒๔ กันยายน วันมหิดล วันระลึกถึง “ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ”
https://www.culture.go.th/cday/index.php?option=com_content&view=article&id=435:2011-01-16-09-05-18&catid=97:0904&Itemid=81

พระราชประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฉบับสมบูรณ์  จาก เวบมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
https://www.princemahidolaward.org/complete-biography.th.php

ภาพประกอบจาก เฟส we love แพทยสภา
https://www.facebook.com/themedicalcouncil

พระราชดำรัส องค์สมเด็จพระราชบิดา ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภทรัพย์และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ ให้บริสุทธิ์”

______________________________________________________________

“ฉันไม่ต้องการจะให้พวกเธอมีความรู้เพียงอย่างเดียว
ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นบุคคลที่ถึงพร้อมแล้วด้วย
I don’t want you to be only a doctor, but I also want you to be a man.
หมายความว่า ฉันต้องการให้พวกเธอ เป็นทั้งนายแพทย์และเป็นผู้ที่อยู่ในสังคมและศีลธรรมอันดีด้วย
จึงสามารถทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้”

______________________________________________________________

“อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย
ถ้าใครอยากร่ำรวยก็ควรเป็นอย่างอื่นไม่ใช่แพทย์
อาชีพแพทย์นั้นจำต้องยึดมั่น ในอุดมคติ เมตตากรุณาคุณ”

______________________________________________________________

"True success is not the learning, but in its application to the benefit of mankind"
______________________________________________________________

"การที่จะได้รับความไว้ใจของคนไข้ ขอท่านถือสุภาษิตว่า
ใจเขาใจเรา ท่านคงจะคิดได้ว่า ท่านอยากได้ความสบายแก่ท่านอย่างไร
ก็ควรพยายามให้ความสบายแก่คนไข้อย่างนั้น ความตั้งใจจริงเป็นยาประเสร็ฐ
ได้ผลคือความเชื่อ และเมื่อคนไข้เชื่อท่านแล้ว เขาจะทำตามทุกอย่าง"

______________________________________________________________

"ท่านควรมีความเชื่อใจตนเอง ไม่ใช่อวดดี ท่านต้องรู้สึกความรับผิดชอบ และทำไปด้วยความตั้งใจ"

______________________________________________________________

“การเรียนจบหลักสูตรแพทย์ที่กำหนดนั้นไม่ได้หมายความว่านักเรียนได้เรียนรู้จบหมด
ในทางการแพทย์ การได้รับปริญญาบัตรเป็นเพียงแค่ก้าวหนึ่งเท่านั้นคือแสดงว่า
นักเรียนได้จบการฝึกทางทฤษฎี และอยู่ในฐานะเหมาะที่จะออกไปรับผิดชอบทางการปฏิบัติโดยลำพัง
เกี่ยวกับปัญหาป่วยไข้ ซึ่งจะเป็นแพทย์ที่ก้าวหน้าต่อไปได้
แพทย์ที่สำเร็จจะต้องยึดอยู่เสมอว่าจะต้องเป็นนักศึกษาอยู่ตลอดชีวิตของอาชีพ”
______________________________________________________________

“คุณลักษณะสำคัญสำหรับการเป็นแพทย์นั้นคือความเชื่อถือไว้ใจได้
๑.ท่านต้องมีความเชื่อในความสามารถของตน คือ มีความมั่นใจ
๒.ท่านต้องมีความไว้ใจระหว่างแพทย์กันเอง คือ ความเป็นปึกแผ่น
๓.ท่านต้องได้รับความเชื่อถือจากคนไข้ของท่าน คือ ความไว้ใจของคณะชน
คุณสมบัติสามประการนี้เป็นอาวุธ เกราะ และเครื่องประดับอันงามของแพทย์"

______________________________________________________________

“เวลาเป็นของมีค่า เมื่อมันล่วงไปแล้วมันไม่กลับมาอีก
ถ้าเรามีโอกาสจะใช้มันเป็นประโยชน์แล้วเราไม่ใช้มัน ก็เป็นที่น่าเสียดาย”

______________________________________________________________

“พวกเธอทั้งหลาย การเล่นนั้นเป็นของดี
การเรียนนั้นก็เป็นของดีและสำคัญ
แต่การที่จะให้ดีกว่านั้น คือ คนที่เรียนก็ดีและเล่นก็ดีด้วย”

______________________________________________________________

"ท่านควรยกย่องคณะที่ให้การศึกษาท่าน ท่านควรมีความภูมิใจในคณะของท่าน
และท่านไม่ควรเรียนวิชาขึ้นใจและใช้เป็นเครื่องมือหากินเท่านั้น
ควรเก็บคำสอน ใส่ใจและประพฤติตาม
ผู้ที่จะบำบัดทุกข์ต้องเป็นตัวอย่างความประพฤติ ซึ่งจะนำมาแห่งสุขภาพ
แพทย์ที่ไม่ประพฤติตามวิธีที่ตัวสอนคนไข้แล้ว จะหาความไว้ใจจากคนไข้ได้อย่างไร"

______________________________________________________________

"ความลับของคนไข้ นั้นคือ ความรักคนไข้"

______________________________________________________________

"การที่เรียนจบหลักสูตรวิชาแพทย์นั้น ไม่ได้หมายความว่า นักเรียนผู้นั้นได้เรียนรู้การแพทย์หมดแล้ว
แต่เป็นการตรงกันข้าม การที่เรียนจบนั้นเป็นแต่เีพียงขั้นหนึ่งของวิชาการศึกษาทางการแพทย์ คือว่า
ความจริงนักเรียนผู้นั้นได้เรียนจบตามตำรา และบัดนี้ เป็นผู้ที่สมควร และสามารถรับผิดชอบ
ในการเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนที่ไม่สมบูรณ์ โดยวิธีการทำจริงและโดยลำพังตนเองได้เท่านั้น
เป็นการเรียนวิชาแพทย์ต่อ แต่เป็นโดยวิธีที่ต่างกับวิธีเดิมบ้างเล็กน้อย
จะเป็นแพทย์ที่ดีต่อไปในภายภาคหน้าไม่ได้ นอกจากแพทย์ผู้นั้น เมื่อสำเร็จวิชามาใหม่ๆ
จะรู้สึกตนว่าตนจะยังคงเป็นนักเรียนอยู่ต่อไปอีกตลอดเวลาที่ทำการแพทย์นั้น"

๒๔ กันยายน วันมหิดลวันระลึกถึง “ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ”
https://www.culture.go.th/cday/index.php?option=com_content&view=article&id=435:2011-01-16-09-05-18&catid=97:0904&Itemid=81

“ วันมหิดล ” ตรงกับวันที่ ๒๔ กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงมีคุณูปการต่อการแพทย์สมัยใหม่ และทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ”สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ สมเด็จพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงประสูติเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ มีพระนามเดิมว่า “ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ” ทรงเป็นต้นสกุล “ มหิดล ”

                   เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ และเสด็จไปศึกษาวิชาการทหารบกที่ประเทศเยอรมัน โดยในปีสุดท้ายได้เปลี่ยนไปศึกษาวิชาการทหารเรือแทน และสำเร็จการศึกษาในปีพ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งในปีสุดท้ายนี้ทรงชนะการประกวดออกแบบเรือดำน้ำด้วย ทรงได้รับยศเป็นนายเรือตรีในกองทัพเรือเยอรมัน และได้รับพระราชทานยศจากเมืองไทยเป็น นายเรือตรีแห่งราชนาวีไทยเมื่อพระชนมายุได้ ๒๑ พรรษา ครั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปีพ.ศ. ๒๔๕๗ พระองค์จึงได้ลาออกจากกองทัพเรือเยอรมัน และเสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อเข้ารับราชการเป็นทหารเรือ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสนพระทัยและเชี่ยวชาญทางเรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่งซึ่งทรงศึกษามาจากเยอรมันมาก ในขณะนั้นรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชประสงค์จะบูรณะกองทัพเรือ พระองค์ก็ได้ถวายความเห็นว่าเมืองไทยเป็นประเทศเล็ก ไม่มีฐานทัพเรือหรืออู่ใหญ่ๆ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้เรือรบใหญ่ ควรใช้เรือเล็กๆ เช่น เรือดำน้ำ หรือตอร์ปิโด ซึ่งเข้าแม่น้ำได้สะดวกกว่า และมีประโยชน์มากกว่า แต่เนื่องจากสมัยนั้น ผู้ใหญ่ส่วนมากจบจากอังกฤษ และเห็นว่าควรมีเรือใหญ่ เพื่อฝึกทหารไปในตัว ก็ทรงยอมรับฟัง แต่ก็ทรงน้อยพระทัยว่าอุตส่าห์ไปศึกษาวิชานี้มาโดยตรงจากเยอรมัน ครั้นถึงเวลาปฏิบัติจริงกลับไม่ได้ใช้ ต่อมาจึงทรงลาออกจากประจำการ เนื่องจากมีทรงอาการประชวรเรื้อรัง ไม่สามารถรับราชการหนักได้ ครั้นต่อมา สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองและผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ขณะนั้นทรงพิจารณาเห็นว่า โรงเรียนแพทย์ของไทยอยู่ในฐานะล้าหลังมากเมื่อเทียบกับทางยุโรป จึงตกลงพระทัยจะปรับปรุงเป็นการใหญ่ แต่มีอุปสรรคคือ หาผู้มีวิชามาเป็นอาจารย์ไม่ได้ จึงได้ทรงกราบทูลวิงวอนสมเด็จพระบรมราชชนกให้ทรงช่วยจัดการเรื่องการแพทย์ ซึ่งเมื่อพระองค์ได้รับทราบถึงความขาดแคลนต่างๆในด้านการแพทย์ และการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ศิริราช จึงตกลงพระทัยจะทรงช่วย โดยเสด็จไปทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขและเตรียมแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งในระหว่างศึกษาต่อนี้ พระองค์ยังได้พระราชทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ อีกด้วย และที่สำคัญคือยังมีนักเรียนพยาบาลอีก ๒ คนที่ได้รับทุนจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏในขณะนั้น) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนของพระองค์อย่างดี ทรงรับสั่งเตือนสติเสมอว่า “ เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินราษฎรเขาจ้างให้ออกมาเรียน ฉะนั้นพวกเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จ เพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเหลือไว้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป ” ในปีพ.ศ.๒๔๖๓ ได้เสด็จนิวัติพระนคร เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ ในระหว่างนี้ได้ทรงศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อโรคบิดอะมีบาและตัวเชื้อโรคไข้มาลาเรีย และยังทรงสอนนักศึกษาเตรียมแพทย์ และทรงปลีกเวลาเรียบเรียงเขียนเรื่องโรคทุเบอร์คุโลลิส หรือโรคฝีในท้อง (วัณโรค) ด้วย

                   ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาว สังวาลย์ ตะละภัฎ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ก่อนเสด็จกลับไปศึกษาต่อ จนสำเร็จการศึกษาสาธารณสุข ได้รับประกาศนียบัตร C.P.H. เมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๔ จากนั้นได้เสด็จยุโรปพร้อมพระชายาประทับอยู่ที่เอดินเบอร์ก แต่เดิมที่เสด็จยุโรปครั้งนี้ ทรงตั้งพระทัยจะศึกษาวิชาแพทย์ให้จบ แต่เนื่องจากทรงประชวรด้วยโรคพระวักกะ กอปรกับอากาศที่อังกฤษหนาวชื้น ไม่เหมาะกับโรค จึงได้เสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งเมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๖ และรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระองค์ท่านเป็น อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ต่อมาได้ทรงสอนวิชาว่าด้วยกายวิภาคศาสตร์ของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และวิชาประวัติศาสตร์แก่นักเรียนเตรียมแพทย์ ครั้นพ้นตำแหน่งเดิมก็ทรงได้รับตำแหน่งข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป อันเป็นตำแหน่งเฉพาะพระองค์ จากการที่ทรงตรากตรำทำงานอย่างหนักทำให้พระอนามัยทรุดโทรม แพทย์ได้กราบทูลแนะนำให้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่ยุโรปหรืออเมริกาซึ่งมีอากาศเหมาะกับพระอาการ ในปีพ.ศ. ๒๔๖๘ จึงได้เสด็จยุโรปพร้อมพระชายาและพระธิดา และในปีพ.ศ. ๒๔๖๙ ก็ได้ศึกษาต่อวิชาแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระหว่างปีสุดท้ายทรงใช้เวลาและพลกำลังมากไปเกินเหตุ จนเป็นให้อาการพระโรคกำเริบขึ้น คณะแพทย์คิดว่าพระอาการจะไม่ฟื้นดีขึ้น จึงถวายคำแนะนำมิให้ทรงตรากตรำเข้าสอบไล่ แต่ต่อมาพระอาการดีขึ้น จึงทรงเข้าสอบจนสำเร็จได้เกียรตินิยม เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๑ และทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมาคมเกียรตินิยมทางการศึกษาแพทย์ Alpha Omega Alpha ก่อนเสด็จนิวัติถึงพระนครเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ในครั้งนั้น ทรงมีพระราชประสงค์จะเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ทางการไม่อาจจสนองพระราชประสงค์ได้ เนื่องจากติดเรื่องพระอิสริยยศและราชประเพณี เป็นเหตุให้ไม่พอพระราชหฤทัย จึงทรงเปลี่ยนความตั้งพระทัยเสด็จไปปฏิบัติหน้าที่แพยทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอมิค จังหวัดเชียงใหม่แทน โดยเสด็จถึงเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๗๒ และทรงอยู่ร่วมกับครอบครัวดร.อี.ซี.คอร์ท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอมิคในครั้งนั้น ทรงมีมหาดเล็กรับใช้เพียงคนเดียว และทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยงแพทย์ธรรมดาสามัญคนหนึ่ง แม้ว่าสุขภาพจะไม่อำนวย แต่ทรงมีความสุขเป็นอันมากกับการมีโอกาสเป็นหมออย่างเต็มที่ ชั่วเวลาไม่นาน กิตติศัพท์ของพระองค์ก็แพร่หลายไปทั่วว่ามีแพทย์เป็นเจ้าฟ้ามาทรงปฏิบัติงานอยู่ที่นี่ ผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาโรคที่โรงพยาบาลครั้งนั้น จึงขนานนามพระองค์ท่านว่า “ หมอเจ้าฟ้า ” เป็นที่น่าเสียดายว่าทรงประทับอยู่เชียงใหม่ไม่ถึงเดือนก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงสมเด็จกรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช จากนั้นทรงประชวรหนัก และได้เสด็จทิวงคตด้วยพระอาการบวมน้ำในพระปัปผาสะ (ปอด) และพระหทัยวาย เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ รวมสิริพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ไทย

                   หลังจากทิวงคตแล้ว เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ รัชกาลที่ ๗ได้สถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์พระองค์เป็น “ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ” และในปีพ.ศ. ๒๔๗๗ รัชกาลที่ ๘ ได้ทรงสถาปนาเป็น “ สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ” ครั้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้สถาปนาพระองค์เป็น “ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ”จะเห็นได้ว่าตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไพศาล โดยเฉพาะด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย และพระหฤทัย ตลอดจนทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อการแพทย์ไทยอย่างมากมายเกินกว่าจะกล่าวได้ นับตั้งแต่ทรงจบการศึกษาวิชาการทหารเรือและทรงรับราชการในกองทัพเรือ จนเมื่อทรงประชวรเรื้อรัง ไม่สามารถรับราชการหนักได้ ต้องลาออก แต่ด้วยพระหฤทัยมั่นที่จะทรงเกื้อกูลประเทศชาติ ประกอบกับทรงสนพระหฤทัยในกิจการแพทย์ ก็ทรงพระวิริยะอุตสาหะเสด็จไปศึกษาวิชาการแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาก็ได้เสด็จกลับและทรงปฏิบัติงานร่ามกับกรมสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดเข้มแข็ง ทรงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช ประทานเงินส่วนพระองค์จัดสร้างตึกคนไข้ จัดหาที่พักสำหรับพยาบาลได้อาศัย ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นทุนไว้สำหรับส่งนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลออกไปศึกษาต่อ ต่างประเทศ ประทานเงินจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับปฏิบัติการในโรงพยาบาล ทรงเป็นผู้แทนติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเล่อร์ให้ดำเนินการช่วยเหลือการแพทย์และพยาบาลไทย โดยปรับปรุงการศึกษา และวางมาตรฐานจนสามารถรับรองกิจการแพทย์ของประเทศได้ดังปัจจุบัน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงได้พร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็น “ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ”

                   นอกจากนี้ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่างๆก็ได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช และในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๓ นักศึกษาแพทย์ก็ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ และต่อมาทางคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ก็มีความเห็นพร้องต้องกันว่าให้ยึดเอาวันที่ ๒๔ กันยายนของทุกปี เป็นวันน้อมระลึกถึงพระองค์ โดยให้ชื่อว่า “ วันมหิดล ” และจัดงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๔ และเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปี วันพระราชสมภพ องค์การยูเนสโกก็ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๔๑ กองทัพเรือก็ได้ขอพระราชทานพระยศ “ จอมพลเรือ ”

 ขอเชิญชวนให้ประชนชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ โดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์ที่จะเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท พระองค์ทรงกล่าวเสมอว่า “ อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวย ก็ควรประกอบอาชีพอื่น ”

...................................................

อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
วันมหิดลวันแรก
วันมหิดล 24 กันยายน 2493

เวลา 8.00 น. นศพ.ปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ( รุ่น 56) เข้าแถวนำ นศพ.ปี 1-3 เดินไปยังพระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา กรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จ ที่ถนนกลาง รพ.ศิริราช แล้วหยุดตรงหน้าพระบรมรูป ตัวแทนคือ นศพ.จิรพรรณ สุกัณหเกตุ( มัธยมจันทร์) และ กำธร ศุขโรจน์ ถวายพวงมาลาแล้วอ่านสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ด้วยทำนองเสนาะ ถวายราชสดุดี ไพเราะมาก ประพันธ์โดย นศพ.ภูเก็ต วาจานนท์
เป็นวันมหิดลวันแรกคิดขึ้นโดย นศพ.ปีที่ 4 ขณะนั้น. แต่ไม่เคยมีใครกล่าวถึงเลยว่าเป็นความคิดของพวกเรา

ที่มาคือ นศพ.ปีที่ 4 ขณะนั้นอันมี นศพ.บุญเริ่ม สิงหเนตร
หัวหน้า นศพ., ดอนเฉลิม พรมมาส หัวหน้าชั้น, ดวงเดือน คงศักดิ์
รองหัวหน้า, และคนสำคัญคือ ภูเก็ต วาจานนท์ ทีไปค้นคว้าว่าวันที่ 24 กันยายน เป็นวันสวรรคตของสมเด็จพระราชบิดา เราควรจะถวายสักการะเช่นเดียวกับวันที่ 23 ตุลาคม จึงได้จัดพิธีนี้ขึ้น และ เชิญอาจารย์หัวหน้าแผนกทุกท่านมาร่วมงานแต่ไม่มีใครมา นอกจากอาจารย์ สุด แสงวิเชียร  คนเดียวที่มาร่วม

บัดนี้เพื่อนร่วมคิดได้จากไปหมดแล้ว นอกจาก อ.กำธร ศุขโรจน์ที่ไปตั้งรกรากที่อเมริกาไม่ได้ข่าวคราว พวกเรารู้สึกภาคภูมิใจมากจึงมาเล่าให้ฟัง น่าเสียดายที่คำฉันท์นั้นไม่มีใครเก็บไว้ แต่ที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชก็มีรูปพวกเราติดอยู่ข้างฝาโดยบังเอิญ

เครดิต Channivat Kashemsant
19 กันยายน 2559 เวลา 12:06 น. · https://www.facebook.com/channivat.kashemsant/posts/1116471281722739

*************************************************

เรารัก สมเด็จพระเทพ ฯ : Our Beloved Princess Maha Chakri Sirindhorn
https://www.facebook.com/MahaChakriSirindhorn/photos/a.400355652921/10157033353147922/?type=3&theater
 
เนื่องในวันมหิดล (วันที่ ๒๔ กันยายน ของทุกปี) เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย" #น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

"ถ้าไม่ตระหนี่ ที่ไหนตึกจะขึ้นที่ศิริราชอีกได้เล่า"
.
หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี อดีตคณะบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเล่าถึงสมเด็จพระราชบิดาไว้ว่า

"...ระหว่างที่ประทับอยู่ในอเมริกา ทูลกระหม่อมได้มีลายพระหัตถ์ประทานมาฉบับหนึ่ง ทรงเล่าว่าใครๆ พากันแสดงความประหลาดใจว่าพระองค์ทรงเป็นโรคไตอักเสบเรื้อรังอย่างรุนแรงถึงปานนั้น ไม่น่าจะทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ได้เลย

พระองค์ทรงเห็นว่าได้รับเงินปีอยู่บ่อยๆ นับเป็นหนี้แก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน จำจะต้องทำอะไรตอบแทนเขาบ้าง เมื่อจะตอบแทนด้วยพระองค์เองไม่ได้เนื่องด้วยมีพระโรคประจำ เป็นเครื่องตัดรอน ก็จะขอถมเงินทุ่มเทเข้าแทนตัว ดังนั้นจึงได้ทรงมุมานะพยายามอย่างยิ่งที่จะรีบรวบรัดให้งานในด้านปรับปรุงโรงเรียนแพทย์นี้สำเร็จไปจนได้

เกี่ยวกับการทุ่มเงินนี้มีกรณีหนึ่งซึ่งฉัน (หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี) ได้ประสบด้วยตนเองและสมควรจะบันทึกไว้

คือคราวหนึ่ง ฉันได้โดยเสด็จทูลกระหม่อมฯไปยุโรป ทรงนำเที่ยวกรุงปารีส ทูลกระหม่อมฯ โปรดการเดินมาก ไม่ค่อยทรงขึ้นรถ ทรงพาเราเดินเสียจนแทบทนต่อไปไม่ไหว จึงออกอุบายทูลว่าสังเกตดูหม่อม (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เหนื่อยมากแล้วขึ้นรถเสียทีเห็นจะดี

ทูลกระหม่อมฯ มีพระดำรัสว่าตกลง เราก็ดีใจว่าคงจะได้ขึ้นรถแท็กซี่มีความสบาย แต่ทูลกระหม่อมฯ กลับทรงนำไปขึ้นรถใต้ดิน ซึ่งเป็นพาหนะสำหรับคนชั้นต่ำและค่าโดยสารถูก เมื่อมีผู้ต่อว่าว่าตระหนี่ ทูลกระหม่อมฯ ก็ได้ทรงตอบอย่างจริงจังว่า

'ถ้าไม่ตระหนี่ ที่ไหนตึกจะขึ้นที่ศิริราชอีกได้เล่า' "

------------------------------------------------------

ที่มา : สารศิริราช ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๖

ขอบคุณภาพ_FB_S. Phormma's Colorizations

***********************************************************

Infectious ง่ายนิดเดียว
https://www.facebook.com/Infectious1234/photos/a.133077153789653/562913437472687/?type=3&theater

๒๔ กันยายน วันมหิดล 👨‍⚕️
แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทุกคนทราบดี และทุกคนถูกสอนและให้ท่องวลีอมตะ ตั้งแต่สมัยเรียนหมอ ที่พระราชบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย_ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกในรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงตรัสและลิขิตไว้เมื่อ ๙๐ ปีก่อน

“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”

ขออัญเชิญพระลิขิต ที่ทรงเขียนขึ้นให้ นพ.สวัสดิ แดงสว่าง เพื่อเตือนสติให้ตั้งใจเรียนแพทย์ ผู้ซึ่งได้รับทุนให้เรียนต่อต่างประเทศ เดินทางไปต่างประเทศโดยเรือ ครั้นเจ้าของเรือทราบว่าไปเรียนต่อแพทย์ จึงลดราคาค่าโดยสารให้

ศ.นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง (2 พฤษภาคม 2447-25 สิงหาคม 2534)
ภายหลังจบการศึกษาจากต่างประเทศ ได้กลับมารับราชการแพทย์ในประเทศไทย เจริญก้าวหน้าในอาชีพแพทย์
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อธิการบดีมหาลัยมหิดล, อธิบดีกรมอนามัย และท่านได้ค้นพบวงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ด เป็นบิดาของปาราสิตประเทศไทย

ที่มา https://muarms.mahidol.ac.th/medical_bethel/download/22Svasti.pdf

***********************************

  ·
๒๔ กันยายน “วันมหิดล”

๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ และเป็นอัยกาในรัชกาลที่ปัจจุบัน

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ ๑ มกราคม ๒๔๓๔ (ตามการนับศักราชเก่า) ณ พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี ภายในพระบรมมหาราชวัง

หลังจากประสูติครบ ๑ เดือน รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการสมโภชเดือนตามขัตติยราชประเพณีที่พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช” และได้รับการออกพระนามลำลองว่า “ทูลกระหม่อมแดง”

เมื่อพระชนม์ได้ ๑๒ พรรษา รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีพระราชพิธีมหามงคลโสกันต์ และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมมีพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์”

พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ยุโรป โดยเข้าศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนถึงปี ๒๔๕๐ ได้ย้ายไปศึกษาต่อในวิชาทหารบกที่โรงเรียนนายร้อยชั้นต้น เมืองพ็อทซ์ดัม ประเทศเยอรมนี และโรงเรียนนายร้อยชั้นสูงทหารบกที่โกรส-ลิชเทอร์เฟ็ลเดอ เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

ในปี ๒๔๕๗ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้นเป็นผลให้พระองค์ต้องออกจากกองทัพเรือเยอรมัน และเสด็จนิวัตกลับประเทศไทย พระองค์เข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ โดยได้รับพระราชทานยศเป็น “นายเรือโท” และย้ายไปรับตำแหน่งในกองอาจารย์นายเรือ แผนกแต่งตำรา กรมยุทธศึกษาทหารเรือในเวลาต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเขียนถึงช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับราชการทหารเรือ ตอนหนึ่งว่า

“...ท่านทรงโปรดราชการทหารเรืออย่างยิ่ง แต่ท่านอยากจะทรงบังคับการเรือตอร์ปิโดและอยากออกทะเล บังเอิญทางราชการเห็นว่า ไม่สมควรที่เจ้าฟ้าจะทรงทำเช่นนั้น ท่านจึงไม่ได้บังคับเรือแต่อย่างใดหรือออกทะเลตามลำพังพระองค์เลย ท่านจึงเกิดเบื่อหน่ายเป็นอันมาก...”

ต่อมา พระองค์ลาออกจากราชการในกระทรวงทหารเรือ เมื่อทรงลาแล้ว พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ได้เสด็จไปชักชวนให้มาช่วยโรงพยาบาลศิริราช โดยพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ได้ทูลเชิญทูลกระหม่อมให้แวะที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อทอดพระเนตรเห็นโรงคนไข้มีสถานที่คับแคบไม่พอที่จะรองรับคนไข้ได้อย่างเพียงพอทำให้คนไข้ต้องไปนั่งรอที่โคนต้นไม้ นอกจากนี้โรงพยาบาลยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางแพทย์ พระองค์ทรงสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่งและทรงตกลงพระทัยที่จะช่วยในการปรับปรุงการแพทย์ไทย แต่พระองค์มีพระดำริว่า

“...ก่อนจะทรงช่วยเหลือจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ จึงตั้งพระทัยจะเสด็จไปทรงศึกษาด้านการแพทย์เสียก่อน...”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อธิบายถึงเหตุผลที่ชักชวนทูลกระหม่อมให้มาช่วยเหลืองานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทยว่า

“...เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง ถ้าเข้ามาทรงจัดการเรื่องนี้แล้วจะทำให้กิจการแพทย์เด่นขึ้น มีผู้โดยเสด็จช่วยเหลืองานนี้มากขึ้น อนึ่งทูลกระหม่อมทรงมีรายได้สูง แต่พอพระทัยจะใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลสาธารณะ และประการสำคัญที่สุด ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่มีพระปัญญาหลักแหลม มีความเพียรกล้า จะทรงทำอะไรก็ทำจริงไม่ย่อท้อ กิจการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว...”

พระราชกรณียกิจประการแรก เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยก็คือพระราชทานทุนให้นักเรียนออกไปศึกษา ๑๐ ทุน ในสาขาที่เกี่ยวกับการแพทย์ พระองค์มีความเห็นว่านักเรียนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศจะได้ศึกษาเพียงเฉพาะโรคที่เกิดขึ้นในเขตนั้นเท่านั้น เมื่อกลับมาประเทศไทยควรจะศึกษาต่ออีก ๑ ปี เพื่อจะให้ได้รับความรู้และความชำนาญโรคของประเทศไทย แต่ทางการก็มิอาจทำได้ดังพระราชประสงค์ เป็นเหตุให้ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ดังนั้นพระองค์จึงเปลี่ยนพระราชหฤทัยจากจะทรงทำงานในโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นเสด็จไปโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์เสด็จถึงจังหวัดเชียงใหม่

พระองค์มีความเอาใจ่ใส่ในการรักษาประชาชนอย่างมาก ชาวเมืองเชียงใหม่จึงขนานพระนามของพระองค์ว่า “หมอเจ้าฟ้า” พระองค์ได้ประทับทีเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๓ สัปดาห์ ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพมหานครในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว พระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับไปเมืองเชียงใหม่ แต่ก็มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เนื่องจากประชวรต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม พร้อมด้วยพระมารดา โดยไม่ได้เสด็จออกจากวังอีกเลย

พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงศิริราช ยามใดที่มีผู้ใกล้ชิดเข้าเฝ้าจะรับสั่งถึงงานโรงพยาบาลศิริราชเสมอ พระอาการดีขึ้นและแล้วก็ทรุดลง แพทย์ประจำพระองค์คือ ศาสตราจารย์ที พี โนเบิล และดับบลิว เอช เปอร์กินส์ ได้ถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถแต่พระอาการก็ทรุดลงเรื่อย ๆ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๒ เวลา ๑๖.๔๕ น. พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย พระชนมายุได้ ๓๗ พรรษา ๘ เดือน ๒๓ วัน หลังจากทรงทนทรมานอยู่ได้ ๓ เดือนครึ่ง มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๗๓

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” ด้วยพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา ๑๒ ปีนั้น ได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ อีกทั้งได้ทรงพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศในกาลต่อมา

ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
https://www.facebook.com/SEPSDevelopmentGoals/posts/745958689520894



Create Date : 24 กันยายน 2563
Last Update : 24 กันยายน 2563 13:32:35 น. 0 comments
Counter : 3858 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณhaiku


ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]