Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

@ เราสามารถผลิตทั้งสารพิษและยาอายุวัฒนะได้...ในสมองของเรา @ ... โดย หนูดี

นำมาฝาก จาก เวบไทยคลินิก .. อีกแล้ว ครับท่าน ...



@ เราสามารถผลิตทั้งสารพิษและยาอายุวัฒนะได้...ในสมองของเรา @


รายงานโดย :หนูดี - วนิษา เรซ:

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552



บทความดีๆนำมาฝากจาก //www.posttoday.com/lifestyle.php?id=32148


รู้ไหมคะว่า เราสามารถผลิตทั้งสารพิษและยาอายุวัฒนะได้...ในสมองของเรา

เป็นที่ยอมรับว่า ฮอร์โมนชนิดต่างๆ ที่หลั่งออกมาในสมอง มีผลโดยตรงกับพฤติกรรมของเรา และเราฝึกพฤติกรรมใดบ่อย...

สิ่งนั้นก็สะสมเป็นนิสัย ถ้าเราอยากมีสมองดี เราก็ฝึกพฤติกรรมดีๆ จนติดเป็นนิสัยดีๆ ก็จะช่วยดูแลสมองของเรา...

เทคนิคการดูแลสมองมีง่ายๆ เท่านี้เอง



นักวิจัยทางสมองก็ค้นพบด้วยความตกใจว่า ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด เช่น คอร์ติซอล เมื่อหลั่งออกมาบ่อยๆ เป็นประจำ ติดต่อกันเป็นเวลายาวนานแล้ว มีผลทำให้เซลล์และเส้นใยสมองถูกทำลายจนเสื่อมคุณภาพ และยิ่งเกิดขึ้นยาวนานเท่าไร การทำลายล้างก็กินวงกว้างและมีผลถาวรมากขึ้นเท่านั้น และที่ควรกังวลก็คือ ส่วนของเซลล์สมองที่ถูกพุ่งเป้าไปทำร้ายโดยฮอร์โมนนี้ มีส่วนของ “ฮิปโปแคมพัส” อยู่ด้วย


ทำไมเราต้องกังวลกับฮิปโปแคมพัสกันด้วยเล่า...

ตอบได้แบบง่ายๆ เลยก็คือ ส่วนนี้ของสมองเป็น “เครื่องบันทึกความจำ” ของเราค่ะ

ฮิปโปแคมพัสทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวที่เราได้เรียนรู้ในระหว่างวันลงสู่ “ความทรงจำระยะยาว” ให้เราในเวลาที่เรานอนหลับ

ดังนั้น หากเซลล์ในนี้ถูกทำลาย ก็หมายได้เลยว่าเราจะเป็นคนจำไม่แม่น เลอะๆ เลือนๆ ลืมนั่น ลืมนี่ เรียนอะไรก็จำไม่ค่อยได้ หรือได้หน้าลืมหลัง

ถ้าทำงานก็เหมือนคนจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

ทำกุญแจรถหายเป็นประจำ และอีกสารพัดเรื่องน่าอึดอัดขัดใจที่เป็นคุณสมบัติประจำตัวของ “คนความจำไม่ดี”

ใครๆ ก็อยากเป็นคนจำเก่ง จำแม่น เรียนอะไรฟังอะไรครั้งเดียวก็จำได้...

และไม่แปลกที่เด็กเรียนเก่ง และคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากๆ นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนมีความจำดีเลิศทีเดียว...



เรื่องการฝึกความจำนั้น เป็นเรื่องที่เราทำได้ และสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ

ด้วยการเห็นภัยของการมีความทุกข์สะสม ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน

เห็นภัยของการกอดทุกข์ ภัยของความเจ้าคิดเจ้าแค้นและไม่ยอมให้อภัยใคร

เรามักคิดว่า “ถ้าเราให้อภัยเขาง่ายๆ เขาก็ไม่ต้องชดใช้ความผิดสิ”

แต่ขอให้มองในมุมกลับกันว่า...

ยิ่งเราคิดแค้นเขานานเท่าไร เท่ากับเราไปสร้างโรงงานปล่อยสารพิษ (สารคอร์ติซอล) ออกมาในสมองเรื่อยๆ เพื่อทำลายสมองของตัวเอง...

ส่วนอีกคนที่เราโกรธนอนสบายอยู่ที่ไหนไม่รู้ มีแต่เราที่นอนปล่อยสารเคมีพิษออกมาทำลายเซลล์สมองอันมีค่าไป ทีละเซลล์ ทีละเซลล์



ดังนั้น การให้อภัยจึงไม่ใช่เรื่องของการ “ทำดีให้คนอื่น” แต่เป็นการเมตตาสมองก้อนน้อยๆ ของเราเต็มๆ ด้วยการรู้เท่าทันกระบวนการหลั่งสารเคมีตามธรรมชาติของสมอง

และไม่ยอมให้ใครในโลกมาเป็นเหตุให้เราทำลายสมอง ที่เป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดของเรา

เพราะ “ทุกครั้งที่เรายอมให้ทุกข์เกาะกินใจ นั่นคือเราให้ใบอนุญาตร่างกายให้ทำลายสมองทุกๆ นาที”

แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น ความเครียดและความทุกข์ในระยะสั้นๆอาจให้ผลตรงกันข้ามเลยทีเดียว คือ....

ยิ่งทำให้สมองทำงานได้ดีด้วยซ้ำ เช่น ความเครียดอ่อนๆ ในระยะก่อนสอบ ยิ่งทำให้เราอ่านหนังสือได้ดีขึ้น จำได้แม่นขึ้น

เพราะสารเคมีที่หลั่งออกมาสำหรับความเครียดในระยะสั้นนั้น ชื่อว่า “อะดรีนาลิน” ซึ่งเป็นคนละตัวกับฮอร์โมนความเครียดระยะยาว

แม้ “อะดรีนาลิน” จะไม่ใช่สารบำรุง แต่ในระยะสั้นก็ช่วยกระตุ้นให้เราทำงานได้เสร็จเร็วขึ้นทันเวลาเส้นตายนะคะ ไม่ดีแต่ก็ไม่ร้าย...มีใช้ชั่วคราวเวลาฉุกเฉินได้ค่ะ

เมื่อความทุกข์ทำให้เราฉลาดน้อยลง แต่เมื่อความสุขบำรุงสมอง...ก็ทำให้เราฉลาดขึ้น



อีกด้านหนึ่งของเหรียญอารมณ์ คือ ความสุข ก็สามารถบำรุงหล่อเลี้ยงให้เราฉลาดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

คนที่มีความสุขมากๆ นอกจากหน้าตาแจ่มใส ผิวพรรณดี ดวงตาใสแจ๋วแล้ว...

ลึกเข้าไปในสมองของเขา หากเรามีตาทิพย์เห็นได้เหมือนเครื่องสแกนสมองของโรงพยาบาล

เราก็จะเห็นว่าภายในนั้นกำลังมีสารเคมีดีๆ หลั่งออกมาบำรุงสมองอยู่เป็นจำนวนมาก

โครงสร้างของเส้นใยสมองก็วางรูปแบบทางเดินใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เรา “อารมณ์ดี”

ยิ่งเราอารมณ์ดีมีสุขนานเท่าไร เราก็ยิ่งมีเส้นใยดีที่ช่วยส่งผ่าน “ข้อมูลความสุข” มากขึ้นเท่านั้น

สารอารมณ์ดีเหล่านี้ ทำให้สมองโล่ง ตื่นตัว พร้อมทำงาน...

ใครที่ตื่นมาสดชื่น แจ่มใสก็รู้ตัวว่าวันนั้นเขาสามารถทำงานได้ดีกว่าวันที่อารมณ์ขุ่นมัว

ยิ่งเราอารมณ์ดีบ่อยเราก็ยิ่งอารมณ์ดีง่าย และยิ่งเราอารมณ์เสียบ่อยเราก็ยิ่งอารมณ์เสียง่าย...

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้อธิบายได้ไม่ยากก็คือ ยิ่งเราทำพฤติกรรมใดบ่อย สมองเราก็ยิ่งสร้างเส้นใยสมองในเรื่องนั้นๆ ออกมาเยอะ ทำให้เราทำเรื่องนั้นได้ง่ายขึ้นในครั้งต่อๆ ไป

สังเกตไหมคะว่า คนอารมณ์เสีย ยิ่งนานวันเข้า ยิ่งอารมณ์เสียได้ง่ายขึ้น

ในขณะที่คนอารมณ์ดียิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร เขาก็ยิ่งดูอารมณ์ดีมากขึ้นเท่านั้น

นั่นเป็นเพราะยิ่งเรามีพฤติกรรมใดบ่อยจนติดเป็นนิสัย ก็ยิ่งทำให้เส้นใยสมองสร้างออกมาเยอะในเรื่องนั้น...และเราก็เป็นคนแบบนั้นใ นที่สุด

แล้ววันนี้ ผู้อ่านของหนูดีฝึกพฤติกรรมอะไรจนติดเป็นนิสัยบ้างคะ?



ส่งโดย: ppom




Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2552 19:53:40 น. 0 comments
Counter : 1093 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]