Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

HOW TO ทำอย่างไรให้เป็นฟรีแลนซ์ที่งานตรึม เงินเต็ม เจ็บไม่จน : ทำงานประจำก็นำไปใช้ได้




HOW TO ทำอย่างไรให้เป็นฟรีแลนซ์ที่งานตรึม เงินเต็ม เจ็บไม่จน

เรื่อง กันต์กนิษฐ์ มิตรภักดี

https://www.adaymagazine.com/articles/how-to-smart-freelance

แม้ภาพยนตร์จะออกมาปีสองปีแล้ว แต่เรื่องราวชีวิตของฟรีแลนซ์ใน ฟรีแลนซ์..ห้ามเหนื่อย..ห้ามพัก..ห้ามรักหมอ ของเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ยังคงเป็นเหมือนนิทานอีสปที่สอนใจนักเขียนฟรีแลนซ์อย่างเราได้เสมอ

ในฐานะคนทำงานอิสระคนหนึ่ง เราเจอปัญหาแบบเดียวกับยุ่นอยู่เป็นประจำ เป็นต้นว่า งานเยอะ (จะไม่รับก็กลัวครั้งต่อไปเขาไม่จ้าง) งานด่วน งานเร่ง แก้งานแล้วแก้งานอีก หมุนเงินไม่ทัน เจ็บไข้ทีสะเทือนไปถึงเงินเก็บ ทำงานเยอะจนล้มป่วย พอป่วยก็ทำงานไม่ได้ เงินไม่มีอีก และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่เราไล่เรียงไม่หมด

พอชีวิตเป็นภาพซ้ำเหมือนวิดีโอกระตุกแบบนี้บ่อยๆ เข้า (และหาหมอบ่อยจนหมอเบื่อหน้าไปแล้ว) เราจึงอดรนทนไม่ไหว ต้องไปหาข้อมูลและขอคำแนะนำจากผู้รู้ว่าจะสร้างสมดุลให้ชีวิตฟรีแลนซ์ของตัวเองอย่างไร จะทำอย่างไรให้ยังมีงานเข้ามาเรื่อยๆ จะทำอย่างไรให้มีเงินทั้งใช้และเก็บ ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ไม่ต้องทุบหม้อข้าวเวลาป่วยไข้

จากประสบการณ์ส่วนตัวบวกกับคำแนะนำจาก K-Expert บริการที่ปรึกษาการเงิน ธนาคารกสิกรไทย และสุดยอดฟรีแลนซ์ของเมืองไทยอีก 2 คน คือ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ และ ปอมชาน-ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง ในงาน “ยอดมนุษย์ฟรีแลนซ์ เหนื่อยนัก ก็พักได้” เราจึงได้วิธีบริหารชีวิตฟรีแลนซ์ที่สรุปออกมาเป็นหมวดๆ ดังนี้


หมวดที่ 1 : ทำอย่างไรให้งานตรึม

1. สร้างคอนเนกชัน

คำกล่าวที่ว่า ‘คุณทำอะไรได้ ไม่สำคัญเท่าคุณรู้จักใคร’ เป็นความจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะงานกว่าครึ่งของฟรีแลนซ์มักมาจากคนรู้จัก ไม่ว่าจะสนิทสนมหรือผิวเผินก็ตาม ถ้าฟรีแลนซ์คนไหนยังคิดว่าการมีคอนเนกชันเป็นเรื่องของการเล่นพรรคเล่นพวกหรือเล่นเส้นเล่นสายอยู่ละก็ แนะนำให้เปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ เพราะหากมองจากมุมของคนจ้างงาน พวกเขาก็ย่อมอยากทำงานกับคนที่รู้จักมักจี่อยู่แล้ว อาจเป็นเพราะมั่นใจในฝีมือ หรือรู้ว่าไม่ทิ้งงานแน่นอน ดีกว่าไปจ้างคนแปลกหน้าที่ฝีมือดีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แถมอาจเชิดเงินมัดจำเราหนีอีกต่างหาก

ปอมชานแนะนำเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า การหาลูกค้าต้องทำอย่างเป็นระบบ ต้องวิเคราะห์ว่าลูกค้ากลุ่มไหนจะต้องการงานของเรา และเลือกติดต่อคนเหล่านี้เพื่อเจาะให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โอกาสในการได้งานก็จะสูงขึ้น และใช้หลัก 10% ในการบริการจำนวนลูกค้า คือหากเราส่งตัวอย่างงานของเราไปหาลูกค้าจำนวน 200 คน จะมีประมาณ 10% หรือ 20 คนที่ตอบกลับมา และจาก 20 คนนั้น จะมี 10% หรือ 2 คนที่จะเป็นลูกค้าของเรา

2. จัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า

ถ้าฟรีแลนซ์คนไหนถนัดการเจรจาเจ๊าะแจ๊ะอยู่แล้วก็ถือว่าโชคดีไป เพราะการเป็นฟรีแลนซ์หมายความว่าเราต้องดีลกับลูกค้าเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่รับบรีฟไปจนถึงทวงเงิน รวมทั้งการรับแรงกดดันหรือเสียงเหวี่ยงวีนต่างๆ ดังนั้นเราต้องคุมสติให้ดีและฝึกปรือวาทศิลป์ของตัวเองให้เป๊ะ เพราะนอกจากการส่งมอบผลงานที่ดีแล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าก็จะเป็นประโยชน์กับเราในระยะยาวด้วย เป็นต้นว่าลูกค้าจ้างงานซ้ำนั่นเอง

3. จัดระเบียบชีวิตและบริหารเวลาให้ดี

ฟรีแลนซ์มือใหม่หลายคนอาจมีมโนภาพว่า พอเป็นเจ้านายตัวเองแล้วฉันจะทำงานเมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้ แต่ขอบอกตรงนี้เลยว่าคิดผิดแล้วล่ะ เพราะจริงๆ แล้วการเป็นเจ้านายตัวเองแปลว่าเราต้องเข้มงวดกับตัวเองต่างหาก อย่างเต๋อจะใช้วิธีสร้างกฎในการใช้ชีวิตขึ้นมา จัดตารางชีวิตชัดเจน มีเวลาเข้างานและเลิกงานที่แน่นอน ไม่ใช่มัวแต่รอแรงบันดาลใจแล้วค่อยทำงาน เพราะในชีวิตจริง มันมีกำหนดส่งงานที่ต้องทำตาม

ทั้งนี้อย่าลืมจัดเวลาพักผ่อน ออกกำลังกาย และใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัวด้วยล่ะ อย่าเป็นฟรีแลนซ์ที่ทำแต่งาน งาน และงานจนไม่ได้ใช้ชีวิตเลยนะ

4. สร้างแบรนด์ให้ตัวเอง

แม้ฟรีแลนซ์อย่างเราๆ จะไม่ได้ตั้งบริษัทของตัวเอง แต่การมีแบรนด์เป็นของตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองที่ไม่มีฟรีแลนซ์คนอื่นเหมือนขึ้นมา เช่น เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ถนัดงานอินโฟกราฟิก เป็นนักเขียนที่ถนัดงานสัมภาษณ์ลงพื้นที่ เป็นพีอาร์สายฟู้ดดี้ที่ถนัดด้านอาหารสุดๆ เวลามีคนอยากจ้างงานแบบที่เราถนัด เขาจะได้ตรงดิ่งมาหาเราได้เลยแบบไม่ต้องลังเล

ที่สำคัญต้องทำงานอย่างมีคุณภาพและรักษามาตรฐานของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ลูกค้าไม่ลังเลที่จะส่งงานชิ้นต่อไปมาให้เราเรื่อยๆ ดีไม่ดีลูกค้าอาจบอกต่อแนะนำให้เพื่อนๆ ในวงการเดียวกันอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ก้าวกระโดดได้อย่างรวดเร็ว


หมวดที่ 2 : ทำอย่างไรให้เงินเต็ม

1. เก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน

เหล่าฟรีแลนซ์ควรเก็บเงินก้อนหนึ่งไว้เป็นเงินสำรองยามฉุกเฉิน โดยตั้งเป้าขั้นต่ำไว้ที่ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน แนะนำให้เก็บในบัญชีเงินฝาก หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่อง เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น หรือกองทุนรวมตลาดเงิน

2. หัดลงทุนให้เงินทำงาน

เมื่อมีเงินสำรองแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือทำเงินที่มีให้งอกเงย แล้วกลายเป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งเราแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ เช่น หุ้นปันผล หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ก่อนลงทุนต้องศึกษาข้อมูลสินทรัพย์นั้นๆ ให้ดี แล้วเลือกลงทุนกับสินทรัพย์ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

แบบนี้จึงจะเรียกได้ว่าเป็นฟรีแลนซ์ที่ดี คือมีแหล่งรายได้ทั้ง passive income หรือเงินที่ทำงานด้วยตัวมันเองจากการลงทุน และ active income คือการใช้ทักษะฝีมือตัวเองในการสร้างรายได้

3. เก็บเงินเตรียมเกษียณ

ไม่ได้บอกให้รีบเกษียณ แต่การเตรียมตัวเกษียณนั้นยิ่งเตรียมเร็วก็ยิ่งดี เพราะแปลว่าเรามีเวลาในการเก็บเงินมากขึ้นยังไงล่ะ โดยเฉพาะฟรีแลนซ์ที่อาจไม่ได้ส่งประกันสังคมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบที่พนักงานกินเงินเดือนทำกัน ยิ่งต้องเตรียมตัวเรื่องนี้ให้ดี ขั้นแรกต้องตั้งเป้าจำนวนเงินที่ต้องเก็บจากการคำนวณรายจ่ายต่อปี คูณกับจำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตในวัยเกษียณ แล้วอย่าลืมบวกอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย พอรู้จำนวนเงินแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงินมาเก็บออมและลงทุนได้เลย


หมวดที่ 3 : ทำอย่างไรให้เจ็บไม่จน

ทำประกันป้องกันความเสี่ยง

เพราะคนเป็นฟรีแลนซ์ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลเหมือนพนักงานบริษัท เวลาเจ็บป่วยขึ้นมาจึงต้องรับผิดชอบตัวเองทุกครั้งไป วิธีแก้ที่ง่ายและเห็นผลชัดเจนที่สุดก็คือการทำประกันสุขภาพ คิดซะว่าเสียเงินน้อยๆ ยังดีกว่าป่วยแล้วต้องเสียเงินมากๆ และจะยิ่งดีหากประกันสุขภาพนั้นพ่วงประกันชดเชยรายได้มาด้วย เพราะถ้าเป็นหนักมากจนต้องแอดมิต ทำงานไม่ได้ ไม่มีรายได้เข้ามา ประกันก็จะจ่ายเงินชดเชยให้ตามจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาล สบายใจได้ว่าไม่อดตายแน่นอน

นี่ก็เป็นคำแนะนำในการสร้างสมดุลให้ชีวิตฟรีแลนซ์ ทั้งเรื่องงาน เงิน และสุขภาพ และถ้าหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม เหล่าฟรีแลนซ์หรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอคำปรึกษาเจาะลึกเป็นรายบุคคลได้ที่ K-Expert Center ณ ชั้น 2 อาคารจามจุรีสแควร์ ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์ นอกจากนี้ยังสามารถเข้าร่วมเวิร์กช็อปด้านการเงิน การออม การลงทุน และหัวข้ออื่นๆ ที่ศูนย์จัดขึ้นเป็นประจำได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ K-Expert คลิก https://goo.gl/UNRQDv






Create Date : 15 พฤศจิกายน 2560
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2560 7:47:18 น. 0 comments
Counter : 787 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]