Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ความดันโลหิตสูง



ความดันโลหิตสูง

ค่าความดันโลหิตจะประกอบด้วยตัวเลข 2 ค่า โดย

ค่าความดันโลหิตตัวบน (ตัวเลขค่ามาก) เป็น ความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว

ค่าความดันโลหิตตัวล่าง (ตัวเลขค่าน้อย) เป็น ความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว

ความดันโลหิตสูง คือ ระดับความดันโลหิต ขณะพักสูงกว่าหรือเท่ากับ 140 / 90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ค่าความดันโลหิตสูงได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง เช่น ถ้าอายุมากขึ้น ความดันเลือดจะสูงขึ้น หรือ ถ้าเหนื่อย ร้อน หรือ รู้สึกเครียด ค่าความดันโลหิตก็จะสูงขึ้นได้ ก่อนที่จะบอกว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็จะต้องวัดความดันโลหิตซ้ำหลาย ๆ ครั้งในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน แล้วจึงนำมาเฉลี่ยว่า “สูง“จริงหรือไม่



หลักการวัดความดันโลหิต

ควรวัดในท่านั่ง ผ่อนคลายตามสบาย วางแขนลงบนโต๊ะที่จะทำการวัด โดยจัดให้ระดับที่วางแขนนั้นอยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ

ควรจะทำการวัดหลังจากที่นั่งพักอย่างน้อย 5 นาที ถ้าความดันโลหิตสูงกว่า 140 / 90 มิลลิเมตรปรอท ควรนอนพัก 5-10 นาที แล้ววัดใหม่ ถ้าวัดซ้ำแล้วได้ค่าความดันที่ยังสูงอยู่ตลอดจึงถือว่า เป็นความดันเลือดสูง

ควรจะหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มกาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนผสม อย่างน้อย 30 นาทีก่อนวัดความดันโลหิต


อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีค่าระดับความดันโลหิตสูงเล็กน้อย หรือ ปานกลาง มักจะไม่มีอาการ ยกเว้น ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก โดยเฉพาะในรายที่ยังไม่เคยรับการรักษา หรือ รักษาไม่สม่ำเสมอ อาจมีอาการปวดศรีษะ ซึ่งมักจะปวดบริเวณท้ายทอย เกิดขึ้นในตอนเช้า และมักจะดีขึ้นหรือค่อย ๆ หายไปเองภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อาจจะมีอาการเวียนศีรษะ มึนงง เลือดกำเดาไหล คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หรือ ตามัว ร่วมด้วย


สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 85-90 ของผู้ป่วยที่เป็นอยู่ จะไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร มีส่วนน้อยที่ทราบสาเหตุ เช่น โรคไต โรคครรภ์เป็นพิษ การใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาคุมกำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจบางชนิด เป็นต้น


การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

การตรวจขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะตรวจในผู้ป่วย ก่อนที่จะทำการรักษา แต่ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง แพทย์จะสั่งการตรวจให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน

การตรวจพื้นฐานมีหลายอย่าง เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ ระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจการทำงานของไต ระดับไขมันในเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ๊กซเรย์ปอดและหัวใจ

การตรวจพิเศษ อื่น ๆ เช่น การเก็บปัสสาวะ 24 ชม. การฉีดสีเพื่อดูการทำงานของไต การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงของหัวใจ เป็นต้น ซึ่งจะทำในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะดังต่อไปนี้

• ผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือ มากกว่า 50 ปี

• มีระดับความดันโลหิตสูงมาก

• ผู้ที่สงสัยว่าความดันโลหิตสูงนั้น อาจเกิดจากโรคอื่น

• ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษา



วัตถุประสงค์ของการรักษา

1.ป้องกันความพิการและลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนตามมาจากความดันโลหิตสูงผิดปกติ เช่น หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก ทำให้เกิดโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ทำให้ตามัวหรือตาบอดได้ โรคหัวใจโต หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ อาจทำให้เสียชีวิตได้

2.ควบคุมและลดระดับความดันโลหิตให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุด



แนวทางในการรักษา

๑. การปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิต เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพในการควบคุมความดันโลหิต

หยุดสูบบุหรี่ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะบุหรี่จะลดประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิต และเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
ลดน้ำหนักส่วนเกิน ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ

ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะเพิ่มระดับความดันโลหิตและทำให้ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว หรือ วิ่งเหยาะ ๆ อย่างน้อยวันละ 30 - 45 นาที 3 - 5 ครั้งต่อสัปดาห์

ผ่อนคลายทางจิตใจ การระงับ หรือ ลดความเครียด

ผู้ป่วยที่รับประทานยาขับปัสสาวะ ควรกินส้มหรือกล้วยเป็นประจำ เพื่อทดแทนโพแทสเซียมที่เสียไปในปัสสาวะ

ลดอาหารเค็ม โดยควรลดปริมาณเกลือแกงให้น้อยกว่า 6 กรัมต่อวัน อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น

• อาหารที่มีเกลือมาก เช่น น้ำปลา ซีอิ้ว กะปิ เต้าเจี้ยว ปลาเค็ม ไข่เค็ม ผักดอง ผลไม้ดอง อาหารทะเล

• อาหาร / ขนมที่ใช้ผงฟู สารกันบูด เป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ ซาลาเปา ปาท่องโก๋

• บะหมี่สำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวเกรียบ ซุบสำเร็จรูป เนยรสเค็ม น้ำอัดลม

ลดอาหารที่มีไขมันสูง จากสัตว์และพืช เช่นอาหารทอดน้ำมัน น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม กะทิ ครีมเทียม


๒. การรักษาด้วยยา

ยาจะมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน

โดยแพทย์จะเริ่มให้ยาในปริมาณที่น้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยา แต่ถ้าไม่ได้ผลจึงจะเพิ่มปริมาณยา หรือ ให้ยาหลายชนิดร่วมกัน

ดังนั้นในระยะแรก แพทย์อาจจะต้องนัดตรวจบ่อยเพื่อจะดูว่ายาที่ให้ไปได้ผลดีหรือไม่ ใน-บางครั้งกว่าที่จะควบคุมความดันโลหิตได้อาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือน

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักต้องใช้ยาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ บางครั้งแพทย์อาจมีการปรับเพิ่มหรือลดยา ถ้าอาการดีขึ้นก็จะลดยาลง หรือ ถ้าช่วงไหนเป็นมากก็จะเพิ่มยาขึ้น จึงควรพบแพทย์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาตามขนาดที่แพทย์สั่ง อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดยา ไม่ควรหยุดยา หรือ ปรับขนาดยาเอง ถ้ารับประทานยาไม่สม่ำเสมอ นอกจากจะควบคุมความดันไม่ได้แล้ว แล้วยังอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ทำให้ความดันยิ่งสูงขึ้นมากกว่าปกติ หรือ เกิดความดันโลหิตสูงเฉียบพลันทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ เป็นต้น


โรคความดันโลหิตสูง รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนได้ โดยที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย แต่ผู้ที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวของผู้ป่วยเอง


Create Date : 02 มีนาคม 2551
Last Update : 7 ตุลาคม 2564 15:27:41 น. 4 comments
Counter : 8577 Pageviews.  

 
blog ของพี่หมอมีประโยชน์มากเลยค่ะ แต่ก็ไม่รู้จะ comment อะไร เอาเป็นว่า ถ้าพี่หมอพอมีเวลา ก็เข้ามาแบ่งปันความรู้สุขภาพแบบนี้อีกนะคะ ขอบคุณค่ะ


โดย: Shuhan^_^ วันที่: 2 มีนาคม 2551 เวลา:21:52:00 น.  

 

แค่แวะมาทัก ก็ขอบคุณแล้วครับ ..


โดย: หมอหมู วันที่: 2 มีนาคม 2551 เวลา:23:53:27 น.  

 
ขอบคุณนะคะ สำหรับข้อมูลดีๆ ตอนนี้ตั้งครรภ์ เริ่มมีปัญหาความดันขึ้นมาเป็น 130/78 จากเดือนก่อน 118/68 คะ


โดย: Hamugo วันที่: 3 มีนาคม 2551 เวลา:9:20:43 น.  

 

แบบนี้นิดหน่อยครับ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ขอแสดงความยินดี กับคุณแม่ คนใหม่ ด้วยนะครับ


โดย: หมอหมู วันที่: 3 มีนาคม 2551 เวลา:14:42:07 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]