bloggang.com mainmenu search


บล็อกนี้เป็นภาคต่อจากบล็อกที่แล้ว –พาเที่ยวอาสนวิหารพระนางมารีอาปฎิสนธินิรมล ครับ เหตุที่มีเวลาว่างมากๆ(ใครบอกหรา) เลยได้ใช้เวลา (ที่คิดว่า) ไปเที่ยวไกลถึงจันทบุรีครับก็เลยได้บล็อกรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวซีรี่ย์นี้มาครับ

บอกตามความจริงว่าตอนที่หาข้อมูลนั้นใจน่ะเทไปทางอาสนวิหารพระนางมารีอาปฎิสนธินิรมล ครับย่านตลาดเก่าริมแม่น้ำจันทบูรยังไม่ค่อยมีไอเดียวโผล่เข้ามาในหัวซักเท่าไหร่ตอนนั้นคิดว่าคงจะเหมือนตลาดเก่าทั่วๆไปที่มีของขายเยอะๆ(แต่เป็นของเหมือนๆกันทั้งตลาด) และเห็นว่าอยู่ใกล้ๆกับอาสนวิหารพระนางมารีอาปฎิสนธินิรมล ก็เลยคิดว่าจะไปเที่ยวชมซะหน่อยคงใช้เวลาไม่เยอะครับ


*** เนื่องจากบล็อกนี้มีเนื้อหาเยอะ รูปเยอะจึงขอแบ่งออกเป็น 2 ตอนนะครับ กลัวเนื้อหาเกินคราบ***

ชุมชนตลาดเก่าท่าหลวง ริมแม่น้ำจันทบูร



การเดินทางมาชุมชนตลาดเก่าท่าหลวงริมแม่น้ำจันทบูร มาได้หลายเส้นทางครับ แต่เราไปเริ่มต้นที่อาสนวิหารพระนางมารีอาปฎิสนธินิรมลจอดรถทิ้งไว้ที่นั่นแล้วเดินข้ามแม่น้ำจันทบูรมาฝั่งตลาดครับ










บริเวณ ตลาดเก่าท่าหลวงริมแม่น้ำจันทบูร นี้เป็นชุมชนเก่าแก่นับย้อนไปถึงสมัยอยุธยาโน่นแน่ะครับ แรกๆจะเป็นชาวญวนที่นับถือคริสตศาสนาอพยบหนีภัยการบังคับให้เลิกนับถือศาสนาคริสต์ต่อมาเมื่อเกิดเป็นชุมชนขึ้นก็จะมีชาวจีนจากโพ้นทะเลเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5เมื่อจันทบุรีตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสย่านชุมชนริมแม่น้ำจันทบูรเกิดเป็นชุมชนการค้าที่ใหญ่โตมากๆเรื่อยมาเป็นเวลาหลายสิบปีก่อนที่จะซบเซาลงจนเป็นเพียงแค่ชุมชนเก่าริมแม่น้ำจันทบูรเท่านั้น





บริเวณ ตลาดเก่าท่าหลวงริมแม่น้ำจันทบูร ถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ถ้าข้ามสะพานนิรมลมาจากฝั่งอาสนวิหารพระนางมารีอาปฎิสนธินิรมลจะเป็นส่วนของ“ตลาดล่าง” ครับ ส่วนแรกจะมีสถานที่น่าสนใจที่ถูกบันทึกเอาไว้หลายที่ครับจากนั้นจะเป็นส่วนกลางๆของชุมชนที่กลายเป็นตึกแถวแบบสมัยใหม่ขึ้นมาเยอะเพราะถูกไฟไหม้เสียหายในช่วงปี2537 – 2538 ครับได้มีการสร้างอาคารพาณิชย์แบบสมัยใหม่ขึ้นมาเป็นที่อยู่อาศัยแทนห้องแถวแบบโบราณและอีกส่วนหนึ่งจะเรียกกันว่า “ตลาดบน” ครับ








ถ้าข้ามสะพานนิรมลมาเดินเลี้ยวซ้ายไปนิดเดียวก็จะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวป้าอี๊ดชื่อดังถ้าเลี้ยวขวามาจะเป็นห้องแถวเก่าชั้นเดียวบ้างสองชั้นบ้างมีการตกแต่งแตกต่างกันไปตามสมัยที่สร้าง มีทั้งเรือนขนมปังขิงตึกสไตล์ชิโน – โปรตุกีส ตึกแบบตะวันตก

บ้านหลังแรกที่เดินผ่านมีเหลือแต่เพียงพื้นที่ว่างแล้วครับตรงนี้เคยเป็น บ้านเลขที่ 53 เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระพิพิธภักดี (แบน บุนนาค)กองส่วยวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระกำแหงฤทธิรงค์ปลัดเมืองจันทบุรี พระเทพสงคราม รักษาราชการเมืองจันทบุรีในช่วงที่ฝรั่งเศสยึดครอง

ตัวบ้านเป็นบ้านชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน เหนือประตูบานเฟี้ยมหน้าบ้านมีช่องลมไม้ฉลุลายขนมปังขิงภายในบ้านเป็นโถงโล่ง กลางบ้านยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตรปูด้วยไม้กระดานและกั้นห้องนอน 2 ห้อง ด้านซ้ายและด้านขวา เว้นช่องว่างตรงกลางเป็นประตูสำหรับผ่านไปยังพื้นที่ตัดต่อไปจากตัวบ้านซึ่งเป็นลานกว้างสำหรับซักล้างและมีบ่อน้ำ มีเรือนครัวไม้ชั้นเดียวอยู่หลังสุด ภริยาของพระเทพสงครามใช้เป็นร้านขายของและส่วนหนึ่งของบ้านขนาดพื้นที่กว้าง 6 ศอกแบ่งให้หลวงเช่าเป็นห้องเก็บภาษีการเกษตร ได้ค่าเช่าปีละ 192 บาท เจ้าหน้าที่เก็บภาษีคือ ขุนสุนทร (สุดซึ่งเป็นน้องภริยาของผู้ช่วยพระเทพสงคราม) กับพนักงานอีก 8 คนเมื่อได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิชยาธิบดีแล้วจึงย้ายไปอยู่ที่จวนข้าหลวง ส่วนบ้านหลังนี้ก็ปล่อยให้เช่าต่อมาเมื่อท่านลาออกจากราชการ ท่านได้ยกบ้านหลังนี้ให้กับหลวง จึงนำออกให้เช่าโดยผู้ที่เช่าบ้านหลังนี้เป็นคนแรกคือ นายหุน สิทธิเวชซึ่งอยู่บ้านตรงกันข้ามได้เช่าบ้านนี้แทน นายเฮี้ยบเซียง ชาวจีนแคะซึ่งไม่มีสิทธิเช่าเพราะเป็นคนต่างด้าว







บ้านขุนบูรพาภิผล 

ขุนบูรพาภิผล เป็นชาวจันทบุรีโดยกำเนิด เคยดำรงตำแหน่งปลัดซ้ายและปลัดขวา อำเภอต่าง ๆในเมืองจันทบุรี และเมืองระยอง ตำแหน่งสุดท้ายเป็น นายอำเภอแกลงระยอง ใน พ.ศ. 2465 และใน พ.ศ. 2466 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สัญญาบัตรเป็นขุนบุรพาภิผลถือศักดินา 800 ไร่

ตัวบ้านเป็นตึกแถว 2 ชั้น จำนวน 3 ห้องทรงยุโรป พื้นเป็นกระเบื้องดินเผา ช่องลมฉลุลายเป็นลายดอกไม้ ใบไม้ มีอายุกว่า 100ปี เดิมเป็นโรงพิมพ์ชื่อว่า"พานิชเจริญศรี" มีหลักฐานเป็นหนังสือโบราณ ระบุปีที่พิมพ์ชัดเจนใน ร.ศ.120 (พ.ศ. 2444) ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2478 ขุนบุรพาภิผลได้ซื้อบ้านหลังนี้เป็นที่อยู่อาศัยมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน








แอบงงนิดๆ ครับตามข้อมูลหลายๆเวบไซด์เค้าบอกว่าทายาทของขุนบูรพาภิผลประกอบอาชีพขายขนมไข่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเจ้าหนึ่งของจังหวัดจันทบุรีถ้าเอ่ยชื่อ “ขนมไข่ป้าไต๊” ทุกคนจะต้องร้องอ๋อแน่ๆ แต่วันที่เราไปบ้านขุมบูรพาภิผลปิดไว้เนื่องจากสภาพบ้านทรุดโทรมมากๆเราเห็น “ขนมไข่ป้าไต๊” ขายอยู่ที่ห้องแถวห้องใกล้ๆกันครับไม่แน่ใจว่าคุณยายคนนี้คือ “คุณยายไต๊” หรือเปล่า 









ศาลเจ้าที่ครับ








ถัดมาเป็น บ้านเลขที่ 69 บ้านขุนอนุสารสมบัติ –บ้านเรียนรู้ชุมชนริมน้ำจันทบูร

เป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้รูปแบบผสมผสานมีกลิ่นอายตะวันตกและตะวันออกอายุกว่า 100 ปี ปัจจุบันทายาท พ.อ.หญิงบุญพริ้มปฏิรูปานุสร อนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่ตั้งบ้านเรียนรู้ชุมชนริมน้ำจันทบูรเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2553









ภายในจัดแสดงแบบจำลองของชุมชนริมแม่น้ำจันทบูรการเล่าเรื่องของชุมชนผ่านภาพถ่าย และสิ่งละอันพันละน้อยที่เกี่ยวข้องกับชุมชนริมแม่น้ำจันทบูร










บ้านโภคบาล

บ้านโภคบาลเป็นบ้านของคุณย่าถิน โภคบาลถือว่าเป็นหญิงแกร่งของจันทบุรีเนื่องจากสามีเสียชีวิตเมื่อคุณย่าถินอายุเพียง 25ปีเท่านั้น คุณย่าประกอบอาชีพค้าขายโดยนำผ้าและเครื่องนุ่งห่มขนส่งลงเรือเมล์มาจากกรุงเทพฯมาขายที่จันทบรีและนำของป่าและสมุนไพรจากจันทบุรีส่งไปขายที่กรุงเทพฯรวมถึงขายเสื่อซึ่งทอโดยชาวญวนที่อาศัยอยู่รอบๆ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฎิสนธินิรมล

ตัวบ้านเป็นไม้ตะเคียนทั้งหลังปัจจุบันเปิดเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวพร้อมกับขายโปสการ์ดและของที่ระลึก










บ้านหลวงประกอบเนติสาร

หลวงประกอบเนติสาร (2444 – 2513)รับราชการเป็นผู้พิพากษามณฑลนครศรีธรรมราชตัวบ้านสร้างเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างไทย – ไทยใหญ่ – ฝรั่งเศสปัจจุบันยังเป็นที่อยู่อาศัยอยู่ครับ







โรงเจเทียงเช็งตี๊ง


แต่เดิมชื่อ “เป็กแซตึ๊ง” มีอายุเก่าแก่กว่า100 ปี เป็นอาคาร 2 หลังเชื่อมกันต่อกันด้วยโถงกลาง อาคารที่ติดถนนเป็นอาคารไม้ 2ชั้น ช่องลงและบานเฟี้ยมตกแต่งด้วยลายฉลุไม้สวยงาม อาคารด้านในเป็นปูนประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมพระพุทธรูปโบราณ แท่นบูชาแบบจีนโรงเจแห่งนี้เป็นที่หยุดพักของชาวจีนโพ้นทะเลก่อนที่จะเดินทางต่อไปในที่ต่างๆ ปัจจุบันยังเปิดขายอาหารเจในเทศกาลกินเจเป็นประจำ









ร้านขนมแม่กิมเซีย (ร้านป้าต้อย)ขายขนมลืมกลืน ขนมกลีบลำดวน ขนมโก๋ญวณ









ร้านขายยาจังกวงอัน

เป็นร้านขายยาจีนร้านแรกๆของจันทบุรีซึ่งถ้าจะนับอายุกันจริงๆแล้วก็มีอายุ 100 กว่าปีแล้วเริ่มเปิดดำเนินการโดยนายหยัง แซ่จัง ชาวจีนแคะที่อพยพมาอยู่เมืองไทยเมื่ออายุ 20ปี แรกๆ เปิดขายของป่า แล้วต่อมาจึงได้เปิดเป็นร้านขายยา ต่อมาได้แต่งงานกับนางสาวหนีแซ่จัง ชาวอำเภอพลิ้ว มีบุตร ธิดา 3 คน ปัจจุบันคุณป้าประไพพรรณจันทศาศวัต ธิดาคนที่สองเป็นผู้สืบทอดกิจการร้าน ส่วนใหญ่ยังคงรักษาสภาพร้านเดิมเหมือนในอดีต เครื่องมือและเครื่องใช้ในการค้าขายยาจีนเช่น ตู้ยาโบราณ เครื่องชั่งยา ครกตำยาทองเหลือง มีดหั่นยา









พอหมดช่วงนี้ก็จะเป็นบริเวณที่โดนไฟไหม้เมื่อปี2537 – 2538 ครับบ้านเรือนส่วนใหญ่ถ้าไม่ปล่อยเป็นที่ว่างๆก็จะปลูกเป็นตึกแถวสมัยใหม่หรือเป็นร้านอาหารร้านกาแฟแบบชิคๆ  พอพ้นช่วงกลางๆตลาดไปจึงจะเป็นบ้านเก่าๆอีกทีนึง




จบตอนที่ 1 ครับ บล็อกหน้าจะพาไปเดินเที่ยวต่อที่ "ตลาดบน" ครับ






 







Chubby Lawyer Tour ................................. เที่ยวไป ...... ตามใจฉัน




SmileySmileySmiley

Create Date :08 ตุลาคม 2558 Last Update :8 ตุลาคม 2558 8:58:55 น. Counter : 3631 Pageviews. Comments :9