bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร ท่ามะกา กาญจนบุรี, กาญจนบุรี Thailand
พิกัด GPS : 14° 2' 8.08" N 99° 47' 16.18" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม
 








เมื่อเสาร์ – อาทิตย์ที่ผ่านมากิจกรรมเยอะมากครับ  ทั้งกิจกรรมในบ้าน  ซื้อของเข้าบ้านประจำ  3  เดือน  ปริมาณเยอะขนาดเปิดร้านโชห่วยได้  1  ร้านเล็กๆ  ของสด  ผัก  เนื้อสัตว์มาส่ง  ก็ต้องจัดเก็บในตู้เย็นให้เรียบร้อย  (วิธีการเก็บของสดจะยุ่งยากนิดนึงครับ)  สั่งเครื่องตีไข่เครื่องใหม่จาก  Central  Online  ก็เอามาส่งวันเสาร์พอดีก็ต้องลองใช้ดูเผื่อว่าจะมีผิดพลาดอะไรตรงเสียเวลาทำขนมไปร่วมๆ  2  ชั่วโมง  ตอนบ่ายต้องแปลงตัวเป็นติวเตอร์  ติววิชาให้หลานสาวเพื่อจะสอบเรียนต่อชั้น ม.1  อีก ..... กว่าจะหมดวันเล่นเอาแทบสลบ




 
 
วันอาทิตย์แทนที่จะได้พักก็ต้องออกไปประชุมผู้ปกครองของหลานแทนแม่ของเค้าที่ยุ่งกับการปิดบัญชีปะจำเดือนหมดเวลาไปครึ่งวัน  กลับมาถึงบ้านเกือบๆบ่ายโมงแทบสลบครับเพราะคุณนายแม่บอกว่า  “ยังไม่ได้กินข้าวกลางวัน”  คาดว่าแม่ของหลานสาวจะยุ่งมากเลยไม่ได้หาข้าวกลางวันให้คุณนายแม่  รีบกดสั่งพี่  Grab  แล้วตัวเองก็รีบไปอาบน้ำ  สระผม  ตามที่คุณหมอบอกเพราะว่าออกไปข้างนอกมาทั้งเช้า  อาหารมาส่ง  จัดข้าวกลางวันให้คุณนายแม่กินเสร็จสรรพ ....  สลบไปเลยครับ ..... ลากยาวจนถึงมืดเลย  สงสัยเพราะเหนื่อยสะสม  ช่วงเปิดเทอมต้องตื่นตีสี่ครึ่งทุกวัน  เพื่อมาเตรียมข้าวกลางวันให้หลานไปทานที่โรงเรียนครับ  แล้วก็มีงานทำไปจนมืด  กว่าจะได้นอนก็เที่ยงคืนครับ
 





 
วันจันทร์  วันอังคาร  บรรยากาศไม่ค่อยดี  ฝนตกทั้งวัน  คนก็ง่วง  พอทำงานในบ้านที่จำเป็นแล้วก็เปิดแอร์นอนทั้งวันครับ  มีตอนบ่ายพอกลับมาจากรับหลานสาวกลับจากโรงเรียนแล้วก็ต้องมาติววิชากันจนถึงมืดๆ  พอหลานสาวกินข้าวเย็น  อาบน้ำอาบท่า  ขึ้นนอนแล้ว  เจ้าของบล็อกก็คลานขึ้นเตียง  (คลานจริงๆนะครับ  แบตหมดมากๆ)  หลับไปเลยครับ  เลยไม่ได้อัพบล็อกเลยครับ
 




 
มีวันนี้แหละครับพี่ฟ้าสวย  แดดใส  มากกกกกก  รู้สึกกระปรี้กระเปร่า  ลุกขึ้นมาทำอะไรๆได้หลายอย่างมากๆครับ  เลยมาอัพบล็อกดีกว่าครับ
 






 
บล็อก 
“ท่องเที่ยวไทย”  ในบล็อกนี้เจ้าของบล็อกยังคงขอกลับไปคง  concept  การท่องเที่ยวแบบเดิมๆนะครับ  คือ  การไปเที่ยวชม  วัดเก่าๆ  โบราณสถานต่างๆ  ครับ
 



 
 
วัดที่จะพาไปเที่ยวใน  entry  นี้  มีความหลังกับเจ้าของบล็อกสมัยๆเด็กๆครับ  ....
 
 




 
 

วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร  ท่ามะกา  กาญจนบุรี
 



 
 

วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร  ท่ามะกา  กาญจนบุรี  เป็นพระอารามหลววงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร  (มหานิกาย)   ตั้งอยู่เลขที่  121 หมู่  10  ถนนพระแท่น – ท่าเรือ  ท่ามะกา  จังหวัดกาญจนบุรี   ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2  เดือน กันยายน  พ.ศ.  2518
 
 


 
ความหลังของเจ้าของบล็อกกับ  วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร  ท่ามะกา  กาญจนบุรี  ก่อนที่เจ้าของบล็อกจะได้ไปเยือนเป็นครั้งแรกมันเป็นส่วนๆ  ไม่ปะติดปะต่อกันครับ  เล่ารวมๆคือ  ผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังถึงวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรีที่มี  แท่นหินที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน .....
 



 
ได้ยินแค่นี้เจ้าของบล็อกรู้สึกตื่นเต้นมาก  เพราะยังเป็นเด็กมาก  นึกว่าพระพทธเจ้ามาปรินิพพานที่ประเทศไทยจริงๆ  จึงเห็นว่าเป็นสถานที่สำคัญที่อยู่ในประเทศไทย  และยิ่งไปกว่านั้นอีกยังอยู่  (พูดได้ว่า)  ใกล้บ้านเจ้าของบล็อกมากกว่าสถานที่สำคัญที่อื่นๆที่อยู่กันคนละภาค  เช่น  พระธาตุดอยสุเทพฯ  ที่เชียงใหม่  หรือ  พระบรมธาตุเมืองนครฯ  ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
 




 
แล้วก็ยังมีเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่เกี่ยวกับเรื่องปาฎิหาริย์มากมายเกี่ยวกับ  แท่นหินที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน  จนเจ้าของบล็อกอยากไปเห็นด้วยตาซักครั้งหนึ่งครับ 













 

 

วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร  ท่ามะกา  กาญจนบุรี  สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด  แต่มีหลักฐานว่าพระเจ้าบรมโกศ  กษัตริย์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย  (พ.ศ.2375-2300)   ทรงโปรดให้ช่างหลวงสร้างพระพุทธบาทจำลองไม้เกะสลักประดับมุก  ถวายเป็นพุทธบูชาไว้  ณ  วิหารพระแท่น  วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร   (ปัจจุบันเป็นรอยพระพุทธบาทที่แกะบนไม้แบบลอยตัวชิ้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย)  แสดว่า  วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร  ท่ามะกา  กาญจนบุรี   สร้างมาก่อนหรือคงจะสร้างในสมัยพระเจ้าบรมโกศ   ในช่วงปลายอยุธยา
 




 

รอยพระพุทธบาทจำหลักไม้   นี้มีอยู่คู่กับ  วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร  ท่ามะกา  กาญจนบุรี  มานานแล้ว  แต่ได้มีพุทธศาสนิกชนมาปิดทองทับจนไม่เห็นเค้าเดิม
 
 



ในปี  พ.ศ. 2537  คระผู้เชี่ยวชาญการสืบค้นรอยพระพุทธบาท  นำโดย  ดร. วอลเคมาร์  ซี.  ไซเลอร์   ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร  ได้มาสำรวจรอยพระพุทธบาทในจังหวัดกาญจนบุรี  ได้ขออนุญาตตรวจพิสูจน์และล้างลอกเอาทองคำเปลวออก  จึงพบว่าพระพุทธบาทไม้องค์นี้เป็นงานศิลปะประดับมุขทั้งแผ่น  สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย  สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  พ.ศ. 2275 – 2300 มีลวดลายมงคล  108  ประการ  ส่วนลวดลายที่ล้อมมุกน่าจะทำขึ้นในรัชกาลที่  3 
 
 


 
ลวดลายที่ปรากฎในรอยพระพุทธบาทจำหลักบนแผ่นไม้มีลักษณะเหมือนกับลวดลายรอยพระพุทธบาที่เขียนลงบนผืนผ้าที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศส่งเป็นเครื่องราชบรรณาการเพื่อเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าสีหกิตติ  ประเทศศรีลังกา  เมื่อ  พ.ศ. 2299  ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์กรุงแคนดี้  ประเทศศรีลังกา  จึงได้สันนิษฐานว่ารอยพระพุทธบาทจำหลักบนแผ่นไม้นี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
 

















 
พื้นที่บริเวณ 
วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร  ท่ามะกา  กาญจนบุรี   เป็นเนินเขาเตี้ยๆ และป่าไม้เบญจพรรณ  เนื้อที่ประมาณ 2,390 ไร่  เป็นเขตวัดพระแท่นดงรังวรวิหาร  ท่ามะกา  กาญจนบุรี  ประมาณ 100  ไร่ นอกนั้นเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ
 


 
ทางด้านตะวันออกเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ  มีหินแท่งทึบหน้าลาดรูปลักษณะคล้ายเตียงนอน  ว่ากันว่า  สมเด็จพระสัมมสสัมพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทมแล้วดับขันธปรินิพพานบนพระแท่นนี้   แล้วยังเล่ากันต่อไปอีกว่าว่าเดิมมีต้นรังขึ้นอยู่ริมพระแท่นข้างละต้น  โน้มยอดเข้าหากัน   ดังปรากฏอยู่ในนิราศพระแท่นดงรัง  ที่แต่งโดย  สามเณรกลั่น  (บุตรบุญธรรมของสุนทรภู่)  เมื่อเดินทางไปนมัสการพระแท่นดงรังกับสุนทรภู่ตอนหนึ่งว่า
 
 



"…..
ในระหว่างนางรังทั้งคู่ค้อม
แต่ไม้รังยังรักพระศาสดา             
ชวนกันไปไหว้พระแท่นแผ่นศิลา
คำนับน้อมกิ่งก้านก็สาขา 
อนิจจาเราเกิดไม่ทันองค์"
 

 
และ 

 

"ถึงพระแท่นแสนสงัดเห็นวัดมี
กับต้นรังทั้งคู่ยังอยู่พร้อม
ต่างชื่นชมโสมนัสยิ่งศรัทธา
เข้าประตูดูแผ่นพระแท่นดัง
 
ทั้งโบสถ์ที่ครอบพระแท่นแผ่นศิลา
ดูยอดน้อมเข้ามาข้างแท่นที่แผ่นผา
ตามบิดาทักษิณด้วยยินดี
เหมือนบัลลังก์แลจำรัสรัศมี”

 


 
ในปัจจุบัน  เรามีหลักฐานแน่นอนแล้วว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานที่  สาลวโนทยาน  เมืองกุสินารา  ประเทศอินเดีย 
พระแท่นดงรัง  ก็เลยกลายเป็น  เครื่องหมายแห่งเหตุการณ์ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  ในประเทศไทย
 



 

“วัฒนธรรมการนับถือ “หินใหญ่”  (Megalith)  อย่างนี้พบได้ทั่วไปในศาสนาดั้งเดิมทั่วโลก ซึ่งก็ไม่ได้นับถือกันเฉพาะหินก่อนใหญ่ๆ นะครับ หินที่มีรูปทรงแปลกตานั่นก็ใช่ หลายทีก็จับเอาหินมาตั้งเดี่ยวๆ อย่างที่ฝรั่งเรียกรวมๆ กันว่า “standing stone” และมีคำศัพท์โบราณในเอกสารเก่าของไทยว่า “หินตั้ง” หลายทีก็จัดหินหลายก้อนเป็นรูปทรงต่างๆ บางทีก็ใช้หินก้อนไม่ใหญ่นัก หรือบางครั้งก็ใช้เป็นสะเก็ดหินก้อนเล็กเลย มาสร้างเป็นลาน หรือก่อเป็นรูปทรงต่างๆ ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า นับถือหินใหญ่อย่างเดียวจึงไม่ค่อยจะถูกต้องนัก
 การนับถือหิน ในศาสนาผีอย่างนี้ เมื่อมีศาสนาใหญ่ๆ ที่มีความเป็นสากลกว่าแพร่อิทธิพลเข้ามา (ในกรณีของอุษาคเนย์คือ ศาสนาจากอินเดียอย่างพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู) ก็มักจะถูกจับบวชเข้าในศาสนาใหม่ ที่เห็นชัดๆ ก็คือ ความเชื่อ “หลักเมือง” ทุกวันนี้ ซึ่งก็มีทั้งที่ทำด้วยไม้ และที่ทำด้วยหินนั่นเอง   และเมื่อพูดถึงหลักเมืองก็จะเห็นได้ว่า มักจะมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับความตายอยู่เสมอ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่ามีการบูชายัญด้วยชีวิตของมนุษย์ตอนที่สร้างหลักเมือง”

 


 
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
 



 

สุจิตต์ วงศ์เทศ นักประวัติศาสตร์ เคยให้ความเห็นว่าพระแท่นดงรังมาจากคติการบูชาหินขนาดใหญ่ของคนในสมัยโบราณ เมื่อมีแนวคิดในพระพุทธศาสนาแผ่ขยายเข้ามาจึงทำให้ความเชื่อถูกกล้นและเปลี่ยนไปเป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแทน



 
 

พระแท่นดงรัง  ประดิษฐานอยู่ใน  วิหารพระแท่น  ที่ วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร  ท่ามะกา  กาญจนบุรี  มีลักษณะเป็นแท่นหินทึบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ลักษณะคล้ายเตียงนอน  มีความลาดเอียงเล็กน้อยในแนวเหนือ-ใต้  มีความยาวในแนวเหนือ-ใต้  5.40  เมตร   ความกว้างทิศเหนือ  2.20  เมตร   ความกว้างทิศใต้  2.00  เมตร   มีความสูงด้านทิศเหนือ 1.30  ซม.  และมีความสูงด้านทิศใต้ 0.60  ซม.  ว่ากันว่าแต่เดิมทีมี  ต้นรัง  อยู่ริมพระแท่นข้างละต้นโน้มยอดเข้าหากัน  (ตามพุทธประวัติแล้ว  พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละคู่)







 
 
 




ตามตำนานเชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังแว่นแคว้นต่าง ๆ  ทั้งภายนอกประเทศอินเดียด้วยอำนาจฌานสมาบัติและได้ประดิษฐานเจดีย์  (สิ่งแทนองค์ว่าได้เสด็จมาที่สถานที่นั้นๆแล้ว)  หรือ ตรัสพยากรณ์เรื่องราวต่าง ๆ ไว้ในแว่นแคว้นเหล่านั้น   จึงเกิดมีเจดีย์วัตถุและพุทธพยากรณ์ที่อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานเจดีย์วัตถุไว้หลายแห่งในแว่นแคว้นต่าง ๆ
 


 
ในประเทศไทยก็มีตำนานเกี่ยวกับการประทับรอยพระพุทธบาทและการสร้างพระธาตุเจดีย์อยู่เป็นจำนวนไม่น้อยรวมทั้งพระแท่นและพระพุทธฉาย   สำหรับพระแท่นที่มีอยู่ในพงศาวดารคือ  พระแท่นศิลาอาสน์  ที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย  แต่ 
พระแท่นดงรัง  ไม่ได้มีกล่าวไว้ในพงศาวดารจึงสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
 


 

พระแท่นดงรัง   นับว่าเป็นเจดียฐาน  ถือว่าเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  (แบบสมมุติ)   แล้วก็เลยถูก  (อนุโลม)  นับว่าเป็นสังเวชนียสถานแห่งหนึ่งในสี่แห่งของพระพุทธเจ้า  คือสถานที่ประสูติ  สถานที่ตรัสรู้  สถานที่แสดงปฐมเทศนา  และสถานที่ดับขันธปรินิพพาน   ซึ่งสถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศอินเดียในปัจจุบัน 


 
 
เนื่องจากมีผู้เชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระแท่นดงรังนี้จริง ๆ  ซึ่งเท่ากับว่าเมืองไทยนี้เป็นมัชฌิมประเทศ  อันเป็นสถานที่  ประสูติ  ตรัสรู้ และดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  พระแท่นดงรัง  จึงมีความอัศจรรย์มากกว่าเจติยวัตถุที่อื่นๆ



 
 

วิหารพระแท่นดงรังหลังเดิม  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  หรือต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   บรรดาพระสงฆ์และบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา  ได้ร่วมใจกันปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม  ทำพาไลข้างนอกกับลานประทักษิณโดยรอบ
 
 



ปี พ.ศ. 2406  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วิหารพระอุโบสถ  แล้วให้ทำพระเจดีย์ขึ้นที่หลังพระแท่น 1 องค์
 



















 
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้เสด็จฯ  ประพาสน้ำตกไทรโยค  ได้แวะที่ 
วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร   ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร  พระราชนิพนธ์ประพาสไทรโยค   โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
 


 

“ วิหารพระแท่นนั้น หันหน้าตรงทิศใต้ รอบนอกมีกำแพงแก้วทักษิณรอบ มีพระเจดีย์เล็กๆ น้อยๆ หลายองค์ ในรอบบริเวณนั้นมีวิหารหรือศาลาดูเป็นของค้างหรือทำไม่แล้วเสร็จ ก่ออิฐแผ่นใหญ่ขึ้นไป เหลืออยู่ครึ่งบ้างเกือบครึ่งบ้าง แต่สองข้างนั้นที่จะเป็นโบสถ์หรือวิหารไม่มีเครื่องบน”
 
 


 
ปี พ.ศ. 2465  สมภารน้อย เจ้าอาวาสวัดพระแท่นดงรัง  ได้ชักชวนพุทธบริษัทบูรณะซ่อมแซมมณฑปครอบพระพุทธบาท  บนเขาถวายพระเพลิง  และบรรดาเสนาสนะขึ้นใหม่ทั้งหมด
          
 
 



ปี พ.ศ. 2512   พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์  พระอุโบสถหลังใหม่  และพระราชทานเงินซึ่งผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าถวาย  โดยเสด็จพระราชกุศล ให้เป็นทุนก่อสร้างพระอุโบสถต่อไป
 

































ข้างๆ 
วิหารพระแท่น  มีวิหารอีกหลังหนึ่งชื่อ  วิหารหินบดยา  ภายในมีมีหินอยู่ก้อนหนึ่ง  กล่าวกันว่าเป็นหินที่บดยาถวายพระพุทธเจ้า  ในงานเทศกาลนมัสการพระแท่นดงรังมีผู้ที่ไปนมัสการนำเอาพวกสมุนไพรแล้วเอาหินบดยานี้บดสมุนไพรเพื่อนำเอาไปรับประทานเป็นยาต่อไป
 








 
 














เนินเขาทางทิศตะวันตกเรียกว่า  
เขาถวายพระเพลิง   จำลองสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า  บนยอดเขามีมณฑปขนาดเตี้ยครอบพระพุทธบาทจำลองไว้ 





 
 
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระแท่นดงรังเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม 72  ตอนที่  2  ลงวันที่  4  มกราคม  พ.ศ.  
 
 
 
 
 
 
 
 

ขอขอบคุณท่านผู้มีรายนามต่อไปนี้ที่ทำให้การท่องเที่ยวของเรามีสาระมากขึ้นครับ 
 
 
 
  

 
วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร - kanchanaburi.go.th

 
วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร – thai.tourismthailand.org

พระแท่นดงรัง – ความเชื่อสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ – Youtube FaithThaiStory

 
วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

 
พระแท่นดงรัง “เนินเขา 2 พันไร่” แลนด์มาร์กแม่กลอง 2,000 ปีมาแล้ว - สุจิตต์ วงษ์เทศ

 
พระแท่นดงรัง – thaiheritage.net

 
วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร – ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศคณะสงฆ์ภาค 14 พระเทพศาสนาภิบาล เจ้าคณะภาค 14


 
พระแท่นดงรัง : หินใหญ่ และความตายในศาสนาผี กับพุทธประวัติตอนปรินิพพาน - ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
 
 





 











 
137138140


 
Create Date :31 สิงหาคม 2565 Last Update :31 สิงหาคม 2565 12:57:46 น. Counter : 1374 Pageviews. Comments :7