bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : ชุมชนปากแพรก กาญจนบุรี ตอนที่ 2, กาญจนบุรี Thailand
พิกัด GPS : 14° 1' 12.47" N 99° 31' 46.45" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม
 





บล็อก  “ท่องเที่ยวไทย”  ในปีนี้ก็ยังเป็นการนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้เคยไปเที่ยวมามาโพสเหมือนปีที่แล้วครับ  เนื่องจากเจ้าของบล็อกกักตัวเองอยู่กับบ้านมาเป็นปีแล้วครับ  ไม่ออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น
 



 
ในบล็อก 
 “ท่องเที่ยวไทย”  บล็อกนี้  เจ้าของบล็อกขอเปลี่ยนบรรยากาศพาไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวประเภทอื่นๆที่ไม่ใช่โบราณสถานกันบ้างนะครับ  เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง  เดี๋ยวจะเบื่อซะก่อน
 





ในบล็อกที่แล้วเจ้าของบล็อกพาไปรำลึกความหลังครั้งเมื่อเจ้าของบล็อกยังอยู่ชั้นประถมปลายที่ได้มาเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรีเป็นครั้งแรกในชีวิต  โดยมาพักในบ้านพักเจ้าหน้าที่ในเขื่อนแม่กลอง 
 
 





วันนี้เจ้าของบล็อกจะพาไปเดินเที่ยวถนนสายสำคัญที่มีความเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรีเป็นตอนที่  2  แล้วนะครับ
 
 





ทนายอ้วนชวนเที่ยวเมืองกาญจน์ - เดินชมเมืองเก่า - ชุมชนปากแพรก กาญจนบุรี ตอนที่ 1









 
ชุมชนปากแพรก  กาญจนบุรี  ตอนที่  2
 







 
ใบบล็อก 
“ท่องเที่ยวไทย”  บล็อกที่แล้วเราเดินเที่ยวบนถนนปากแพรก  กาญจนบุรี  มาถึงลำดับที่  6  นะครับ  วันนี้เรามาเที่ยวกันต่อนะครับ
 
 
 
 



ลำดับที่  7  ร้านไทยยงและไทยเสรี
 


 
เป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้  ไม่ทราบปีที่ก่อสร้างแน่ชัด  แต่คาดว่าสร้างมาก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  และน่าจะมีอายุมากกว่า  80  ปี 


 
 
ประดับลวดลายฉลุไม้เป็นลายก้านขดประดับบนกรอบประตูชั้นล่าง  ชั้นบนมีลูกกรงระเบียงที่ทำเป็นลวดลายสวยงาม


 
 
เคยเป็นโรงพยาบาลโดยครูสอนศาสนาเป็นผู้เปิดให้บริการ














 

 
ลำดับที่  8  บ้านชวนพานิช

 


 
สร้างในปี  พ.ศ. 2472  เป็นตึกแถวสองชั้นครึ่ง  3  คูหา  มีความพิเศษคือใช้ 
“ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ”  ในการก่อสร้าง  โดยใช้ช่างก่อสร้างในประเทศและเป็นคนพื้นในพื้นที่  สิ้นค่าก่อสร้างทั้งหมด  9000  บาท 
 
 


เดิม 
บ้านชวนพานิช  ประกอบกิจการค้าขายเครื่องสังฆภัณฑ์และไทยธรรมที่ใช้ในงานบวชนาค  ด้ายสำหรับทอผ้าขาวม้า   ขายส่งด้ายสำหรับทอผ้าขาวม้าให้ชุมชนบ้านใต้  และของชำ  ภายหลังมีการต่อเติมกันสาดกันแดดมีลักษณะคล้ายๆรังผึ้ง  แต่ก็ยังคงสามารถเห็นลักษณะเฉพาะตัวบ้านแบบคนจีนที่ยังอยู่ในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ  ต่างๆ  เช่น  ประตูหน้าร้านที่เป็นประตูเฟี้ยม  ที่ตั้งป้ายหน้าร้าน  ลูกกรงระเบียงที่มีลวดลายแบบจีน 













 

ลำดับที่  9  บ้านสิริชุมแสง
 


 
เป็นตึกแถว  2  ชั้น  ขนาด  3  คูหา  (อย่านับจำนวนประตูนะครับ)  ขนาดใหญ่  สร้างด้วยปูน  พื้นชั้น  2  ปูด้วยไม้  การตกแต่งที่เห็นได้ชัดจะอยู่ที่ระเบียงชั้น  2  ที่ทำซุ้มกึ่งโค้ง  กึ่งซุ้มแบบไทยๆ  และลูกกรงระเบียงชั้นสอง  เดิมที่ช่องแสงเหนือหน้าต่างชั้นสองเป็นกระจกฟ้ามีสีสันสวยงาม  ถ้านับอายุของอาคารหลังนี้จนถึงวันนี้แล้วก็ประมาณกว่า  80  ปี  แล้วครับ  ปัจจุบันร้านศิริชุมแสงก็ยังประกอบกิจการขายปืนอยู่นะครับ  










 
 
 

ลำดับที่  10  บ้านฮั้วฮง



 
บ้านที่มีอายุเฉียด  100  ปีหลังนี้สร้างโดย  นายฮั้ว แซ่ตัน ซึ่งเดินทางมาจากประเทศจีน  นายฮั้ว แซ่ตัน  ประกอบกิจการหลายอย่าง  รวมทั้งเปิดโรงแรมกาญจนบุรีซึ่งเป็นตึกแถวอยู่ฝั่งตรงข้ามด้วย 
 



 

บ้านฮั้วฮง  เป็นอาคาร  2  ชั้น  ขนาด  3  คูหา  โครงเป็นตึก  แต่ตกแต่งภายในด้วยไม้  ที่ชั้น 2 เป็นระเบียงยื่นออกมา  ชั้นล่างมีเสารองรับระเบียงเป็นช่วงๆ  มีการตกแต่งปูนปั้นลูกกรงระเบียงชั้น  2  ชั้นดาดฟ้า  และชายคาชั้นสอง  ประตูทางเข้าเป็นประตูเฟี้ยม  แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบ  ชิโน – โปรตุกีส 
 


 
ที่ชั้นดาดฟ้าตรงกลางทำซุ้นโค้งมีลวดลายและภาพนาฬิกามีอักษรจีนว่า
 “ตั้งฮั้วฮง”    















 
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดเป็นร้านขายของชำ  ด้านหลังบ้านในสุดสร้างเป็นเรือนไม้  2  ชั้น  สำหรับรับรองลูกค้าที่มาจากทางไกล  (เกาะสำโรง  ยางเกราะ)  เพื่อซื้อสินค้าจากทางร้าน  ลูกค้าเหล่านี้เดินทางมาทางเรือหลังบ้าน  
 
 
 

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่  2  มีการขุดหลุมหลบภัยในบริเวณบ้านด้วย  มีทหารญี่ปุ่นมาซื้อสินค้าบ้างเป็นครั้งคราว  ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งที่สนิทกับทางร้านมากได้มอบกล้องถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
 
 

 
ปัจจุบันเปิดเป็นร้านกาแฟชื่อ  ฮั้วฮง 















 
ลำดับที่  11  บ้านศิวภา
 




 
เจ้าของบล็อกคิดว่า 
บ้านศิวภา  สวยแปลกตาติดอันดับต้นๆ  ของอาคารบนถนนปากแพรกแห่งนี้  อาจจะไม่หรูหรา  ใหญ่โต  แต่เจ้าของบล็อกรู้สึกเหมือนเดินชมบ้านเก่าที่  มาเก๊า  เลยครับ  (สถาปัตยกรรมเก่าๆในมาเก๊าก็มีกลิ่นอาย  ชิโน – โปรตุกีส  อย่างมากครับ  หนึ่งเลยเพราะเป็นดินแดนจีน  และเคยปกครองโดยคนโปรตุกิสครับ)



 

บ้านศิวภา  สร้างขึ้นประมาณ  พ.ศ.  2460  นับเวลาจนถึงวันนี้แล้วก็ร้อยกว่าปีแล้วครับ  เชื่อมั๊ยครับว่าเจ้าของดั้งเดิมของบ้านหลังนี้เป็นคนสร้างบ้านด้วยมือตัวเอง  (ถึงแม้จะใช้ช่างพื้นเมืองช่วยแต่ก็น้อยมาก)  โดยวิธีการแบบโบราณและวัสดุที่หาได้ในจังหวัดกาญจนบุรี  ผนังบ้านก่อด้วยอิฐ  ใช้ไม้ลวกเป็นโครงด้านใน ใช้ปูนขาวผสมดินทรายตำให้เหนียวข้นใช้แทนปูนซีเมนต์  จนสำเร็จเป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้  2  ชั้น  2  คูหา
 
 



ประตูทางเข้าบ้านเป็นบานเฟี้ยม  (ปัจจุบันมีประตูเหล็กซ้อนด้านหน้า)  ชั้นบนมีระเบียง  เหนือกรอบหน้าต่างชั้นบนประดับกระเบื้องลวดลายจีนสีสวยสดใสลวดลายไม่ซ้ำกันเลยทั้ง  2  บาน  เหนือกรอบประตูทางเข้าชั้นล่าง  และ ชั้นบน  มีอักษรจีน  หลังคามุงกระเบื้อง
 
 



ในอดีตขายของชำ ซ่อมจักรยาน ตัดเสื้อผ้า และทำผม













 
 


ลำดับที่  12  ร้านศรีจำนงพาณิช 
 



เป็นบ้านคู่แฝดกับบ้านศิวภาครับ  เจ้าของเป็นญาติกัน  ในอดีตเป็นร้านขายของป่าที่หาได้ในเขตจังหวัดกาญจนบุรีและใกล้เคียง











 
 

ลำดับที่  13  โรงแรมกาญจนบุรี
 


 

โรงแรมกาญจนบุรี  อยู่ตรงกันข้าม  คนละฝั่งถนนกับ  บ้านฮั้วฮง  โดยเป็นกิจการของ  นายฮั้ว แซ่ตัน  เจ้าของบ้านฮั้วฮง 




 

โรงแรมกาญจนบุรี  เป็นตึก  3  ชั้น  3  คูหา  สร้างด้วยปูนซีเมนต์ทั้งหลัง  ภายในตกแต่งด้วยไม้  ชั้น  2  มีระเบียงยื่นออกมาตลอด  ที่ชั้น  3  มีระเบียง  2  ข้าง  ตรงกลางทึบ   ตรงชั้น 3  ตรงส่วนที่ทึบและช่องแสงบนกรอบหน้าต่างติดกระจกสีๆ  และประดับลายปูนปั้นชั้นบนเป็นดาดฟ้า
 
 


ส่วนที่เป็นระเบียงชั้น  2  ชั้น  3  และดาดฟ้ามีลูกกรงปูนเลียนแบบการก่อสร้างจากประเทศจีน
 



 
นายฮั้วฮง แซ่ตัน เริ่มสร้างโรงแรมกาญจนบุรีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เดิมเป็นหลังคามุงจาก   มีห้องพัก  14  ห้อง  ค่าที่พักในสมัยนั้นคืนละ  2 - 4  บาท  และเพิ่มเป็น  60 – 70  บาทเมื่อหลายสิบปีก่อน  ผู้พักส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าไม้จากทองผาภูมิ  สังขละบุรี ข้าราชการที่มาราชการ  และชนกลุ่มน้อยจากชายแดน












 
 
 

ลำดับที่  14  บ้านแต้มทอง
 

 

บ้านแต้มทอง  ถือได้ว่าเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดบนถนนปากแพรก  เพราะสร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 3  เป็นบ้านที่สร้างด้วยปูนเป็นหลังแรกบนถนนปากแพรก  และยังถือได้ว่าเป้นบ้านปูนหลังแรกในจังหวัดกาญจนบรี  จนถึงวันนี้บ้านหลังนี้มีอายุกว่า  150  ปี  แล้วครับ
 
 




บ้านแต้มทอง  เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน   ปัจจุบันก็ยังคงสภาพสมบูรณ์เหมือนของเดิม  ผู้สร้างบ้านหลังนี้คือ  นายฮะฮ้อ  แต้มทอง  (แซ่อื้อ)  เป็นชาวจีนที่มาตั้งบ้านเรือนที่ถนนปากแพรกโดยประกอบอาชีพค้าขาย  ในสมัยที่รัชกาลที่ 3   ได้ทรงย้ายเมืองกาญจนบุรีจากลาดหญ้ามาตั้งอยู่ปากแพรก  นายฮะฮ้อ  แต้มทอง  (แซ่อื้อ)  ได้กลับไปประเทศจีนและนำช่างคนจีนมาสร้างบ้านพร้อมเตียงดำมาด้วย
 
 


ในอดีตมีศาลเจ้าตั้งอยู่ที่หน้า 
บ้านแต้มทอง  ก่อนที่จะย้ายไปรวมกับศาลเจ้าพ่อกวนจง  รอบ  บ้านแต้มทอง  มีกำแพงล้อมทั้ง  4  ด้าน  ทางเข้าทำเป็นซุ้มประตูแบบเก๋งจีน  ด้านบนสันหลังคาทำเป็นรูปสัตว์มงคลและลวดลายต่างๆประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบ  ที่ผนังประตูมีภาพเขียนลายแบบจีน  ด้านล่างจะเป็นรูปต้นไม้  ดอกไม้  ส่วนรูปด้านบนจะเป็นรูปเรื่องเล่าตามตำนานของจีนที่สื่อถึงคุณธรรม
 














 
ตัวบ้านที่เห็นพ้นรั้งมานั้นสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่  4  คาบเกี่ยวต้นรัชกาลที่  5  มีอายุประมาณ  100  กว่าปี  หน้าจั่วของบ้านเป็นปูนปั้นลวดลายจีน 
 
 


เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสไทรโยค เมื่อปี พ.ศ. 2420 และทรงมาถึงบ้านแต้มทองพระองค์ทรงคิดว่าเป็นศาลเจ้าแห่งใหม่  เนื่องด้วย  บ้านแต้มทอง  มีลักษณะคล้ายกับศาลเจ้า  เมื่อเกิดไฟไหม้ชุมชนปากแพรก  บ้านแต้มทอง  เป็นบ้านหลังเดียวที่ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ 
 
 

 
เดิมเป็นร้านค้าขายสินค้าหลายอย่างชื่อ  ยี่กงซี   โดยเฉพาะของจีน  ทั้งเครื่องยาจีน  ทอง  และขายสืบทอดต่อกันมาตลอด  ปัจจุบันทายาทของเจ้าของบ้านก็ยังคงพักอาศัยอยู่
 














 
 

ลำดับที่  15  บ้านบุญไชย
 
 


บ้านบุญไชย  เป็นบ้านตึก  2  ชั้น  3  คูหา  มีดาดฟ้ามุงกระเบื้อง
 

 
ประตูบ้านเป็นประตูไม้แบบเฟี้ยม  ชั้นบนมีระเบียงยื่นออกมา  มีเสาปูนรองรับที่ชั้นล่าง  หน้าต่างชั้น 2 เป็นบานคู่ มีลวดหลายโค้งตั้งบนกรอบหน้าต่าง
 
 


ที่เสามีคอหัวเสารองรับเสาทุกต้น  และมีลวดลายแบบจีนทาสีสดใสสวยงามซึ่งยังคงเห็นร่องรอยของสีที่ใช้ได้
 
 

 
เจ้าของบ้านเดิมชื่อทับ เป็นชาวญวน เจ้าของปัจจุบัน คือ นางรัตนา บุญไชย















 

ลำดับที่  16  บ้านรัตนกุสุมภ์



 
บ้านรัตนกุสุมภ์  เป็นบ้านที่สวยแปลกตากว่าบ้านบนถนนปากแพรก  เพราะไม่ได้เป็นสถาปัตยกรรมชิโน – โปรตุกีส  แต่เป็นบ้านแบบเรือนมนิลา  2  ชั้น  ตกแต่งเหนือกรอบประตูทางเข้า  และชายคาระเบียงชั้นสองด้วยลายไม้ฉลุแบบขนมปังขิง  สร้างประมาณ ปี  พ.ศ. 2492   เนื้อที่ประมาณ 72 ตารางวา  เจ้าของเดิมคือนายทอง  รัตนกุสุมภ์  ประกอบอาชีพทนายความ
 


 
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  เจ้าของเดิมได้ให้นายพันทหารญีปุ่นชื่อ  ทาการิมาระ  พร้อมลูกน้อง 5 คน  ได้เช่าอาศัย  ภายหลังเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามก่อนที่นายพันนายทาการิมาระ  จะเดินทางกลับญี่ปุ่น ได้มอบชุดลายครามและดาบซามูไรแก่เจ้าของบ้านเป็นที่ระลึก  ลูกหลานได้เก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน



 
ปัจจุบันมีการซ่อมแซมโดยเทพื้นบ้าน เปลี่ยนหลังคา ชั้นล่างก่ออิฐโชว์แนว ประตูแบบเฟี้ยม ผู้รับมรดก คือ นางทับทิม ปานมณี นางชนินทร สุวรรณพูล นายทินกร รัตนกุสุมภ์ และนางวิภาพรณ์ โห้ยขัน ผู้เป็นเจ้าของคนปัจจุบันคือ นายปัญญา และนางวะนิดา ปลาทิพย์  และในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2520 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เสด็จมาบ้านรัตนกุสุมภ์  เนื่องในงานมงคลสมรสองของนายปัญญา ปลาทิพย์ กับนางสาววะนิดา รัตนกุสุมภ์  พร้อมประทานน้ำพระพุทธมนต์ และพระ  ภปร  ขนาด 5 นิ้ว 1 องค์ นับเป็นสิริมงคลและบุญบารมีสูงสุดของครอบครัวอันหาที่สุดมิได้






 
 
 








ลำดับที่  17  บ้านธนโสภณ
 
 



บ้านธนโสภณ  สวยแปลกตามกว่าบ้านหลังอื่นๆบนถนนปากแพรก  เพราะเป็นบ้านที่อยู่อาศัย  ไม่ได้เป็นบ้านตึกแถวที่มีหน้าร้านสำหรับค้าขาย 
 
 



บ้านธนโสภณ  สร้างในรัชกาลที่  6  เจ้าของเดิมชื่อ  นายโหงวฮก  ธนโสภณ  ลูกพี่ลูกน้องของภริยาของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา  (นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย)  นับจนถึงวันนี้   บ้านธนโสภณ  ก็มีอายุเกือบๆ  70  ปีแล้ว   สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ญี่ปุ่นเช่าทำเป็นโรงแรม
 
 




บ้านธนโสภณ  เป็นบ้านตึก  2  ชั้น  ทรงปั้นหยา  มีงานฉลุไม้ประดับที่ระเบียงบ้านชั้นล่างและชั้นบน  ลายปูนปั้นโค้งเหนือกรอบหน้าต่าง  และที่หน้าจั่วบ้านมีลวดลายปูนปั้นเขียนคำว่า  ธนโสภณ  ประกอบลวดลายเครือเถา
 
 
 














ลำดับที่  18  บ้านนิวาสแสนสุข
 

 


บ้านนิวาสแสนสุข  จะมีลักษณะเป็นบ้านที่อยู่อาศัยเหมือนกับบ้านธนโสภณ  เพราะเนื่องจากอยู่ทางปลายๆของถนนปากแพรก  ไม่ได้คึกคักเป็นช่วงต้นๆถนนช่วงที่อยู่ใกล้ๆประตูเมืองเก่า  บ้านเรือนต่างๆจึงปลูกแบบที่อยู่อาศัยจริงๆ  ไม่ได้ทำเป็นตึกแถวมีหน้าร้านสำหรับค้าขาย
 


 

บ้านนิวาสแสนสุข  มีอายุไล่เลี่ยกับบ้านธนโสภณ  คือมีอายุประมาณ  70  กว่าปี  เป็นบ้านตึก  2  ชั้น  ก่อด้วยปูน  หลังคาทรงปั้นหยา  มีมุขยื่นออกมาทางซ้ายมือ  พื้นบ้านทำด้วยไม้  ประตูทางเข้าตัวบ้านจะมีขนาดใหญ่  และหน้าต่างบ้านจะเป็นแถวยาว  ไม่ได้ทำเป็นหน้าต่างบานคู่เหมือนอาคารบนถนนปากแพรกอื่นๆ   สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ให้ญี่ปุ่นเช่าทำเป็นสำนักงาน
 


 
 
ความสำคัญของบ้านหลังนี้คือ  เป็นเรือนหอของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา  (นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย)













 


ลำดับที่  19  บ้านอำนวยโชค
 


บ้านอำนวยโชค  น่าจะเป็นบ้านหนึ่งในไม่กี่หลังบนถนนปากแพรกที่ถูกทิ้งร้าง  ไม่มีผู้อยู่อาศัย  แต่บ้านนี้ก็สวยแปลกตาไม่แพ้กับบ้านหลังอื่นๆ
 


 

บ้านอำนวยโชค  สร้างขึ้นในปี  พ.ศ. 2460  ในช่วงปลายรัชกาลที่  5  ตัวบ้านมีกำแพงล้อมทั้ง  4  ด้าน  มีซุ้มประตูทางเข้า
 


 

บ้านอำนวยโชค  เป็นบ้านตึก  ก่อด้วยปูน  2  ชั้น  พื้นบ้านเป็นไม้  ลักษณะคล้ายๆสถาปัยกรรมในยุควิคทอรียนแต่คลี่คลายลงมามากแล้ว 
 


 
ที่ชั้น  2  ด้านหน้าทำเป็นระเบียง  มีซุ้มโค้งยาวตลอดระเบียง  มีลูกกรงปูนรวมถึงดาดฟ้าก็มีลูกกรงปูนและประดับตกแต่งต้วยหม้อน้ำแบบโรมันเป็นระยะๆ









 
 
 

ลำดับที่  20  บ้านกุลสุวรรณ
 


 

บ้านกุลสุวรรณ  สร้างใน  พ.ศ. 2421  ในปลายรัชกาลที่  5  เป็นบ้านไม้ทรงปั้นหยา  2  ชั้น  โดยได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมจากสิงคโปร์ 
 


 
ที่หน้าจั่วของ 
บ้านกุลสุวรรณ  มีบานเกล็ดสำหรับระบายอากาศ  ซึ่งเหมาะกับอาคารที่ในเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย  ข้างใต้บานเกล็ดมีแผ่นสลักชื่อ  บ้านกุลสุวรรณ  หลังคาบ้านมุงด้วยกระเบื้องว่าว  (กระเบื้องเป็นแผ่นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน) 














จะบอกว่าประตูรั้วเก่า  ที่บ้านเก่สของเจ้าของบล็อกก็เป็นแบบนี้เลยครับ  เป็นประตูไม้กว้างๆ  2  บาน  (ขนาดที่รถเก๋ง 2  คัน  จอดคู่กันแบบไม่เบียดด้วย)  จำได้ว่าเป็นไม้กระดานต่อกันบานละ  2  แผ่นกว้างๆ  แล้วจะมีประตูเล็กแบบนี้สำหรับคนเข้า - ออก  เลยครับ  หลังๆพวกข้อต่อ  กลอน  มันขึ้นสนิมหมดเลยเป็ลี่ยนเป็นรั้วอัลลอยด์แบบราง  แต่กว่าจะหาช่างมาทำได้ก็นานอยู่  เพราะรั้วเก่าบ้านเจ้าของกว้างมาก  ไม่มีช่างทำได้  เพราะรั้วอัลลอยด์หนักมาก  แล้วจะตกรางได้ง่าย  แล้วก็จริงครับ  รั้วตกรางบ่อยมาก  ตอนหลังนี่มาทำเป็นรั้วหลายๆตอน  ค่อยแก้ปัญหาการตกรางไปได้






 

ลำดับที่  21  บ้านคชวัตร
 


 

บ้านคชวัตร  หลังดั้งเดิมได้ถูกรื้อทิ้งไปเมื่อ  50  กว่าปีที่แล้ว  บ้านคชวัตร  หลังปัจจุบันเป็นบ้านไม้สองชั้น  สร้างเมื่อ  พ.ศ. 2520  แต่  บ้านคชวัตร  ก็มีประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำก็คือ  เป็นบ้านที่ประทับ  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
 
 



สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์   ได้เสด็จมาบำเพ็ญกุศลแด่บรรพบุรุษในช่วงสงกรานต์ในเดือนเมษายน  และเยี่ยมญาติเป็นประจำทุกปี  ปีใดไม่ได้เสด็จมามอบให้ผู้แทนพระองค์มาปฏิบัติหน้าที่แทน  ปี  พ.ศ.  2549  เป็นปีสุดท้ายที่พระองค์เสด็จมาด้วยพระองค์เอง











 
 
ลำดับสุดท้าย 
ลำดับที่  22  บ้านชิ้นปิ่นเกลียว
 
 

 

บ้านชิ้นปิ่นเกลียว  สร้างขึ้นในปี  พ.ศ. 2430  เป็นบ้านชั้นครึ่ง  ก่ออิฐถือปูน   พื้นด้านในเป็นไม้  มีลักษณะตัวบ้านเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส  มีลักษณะเป็นตึกแถวแบบโบราณ  มีประตูเฟี้ยม   มีช่องแสงเป็นวงโค้งเหนือกรอบประตู  มีซี่ลูกกรงเหล็ก  มุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว  ไม่มีชายคายื่นออกมา  ผู้สร้าง คือ นายอ๋วง ภรรยาชื่อตอม ชิ้นปิ้นเกลียว เป็นญวน เป็นบ้านของชาวญสนหลังสุดท้ายที่อยู่บนถนนปากแพรกครับ












 
 
 
มีอีก  2  อาคารที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์อย่างเป็นทางการ  ขึ้นป้ายให้ความรู้ให้คนไปเที่ยวชม  แต่คนพื้นที่เค้าทำเวบไซต์แนะนำมา  คงจะเป็นเพราะว่าประวัติค่อนข้างน่าขมขื่น  เลยเอามาแนะนำไว้ด้วยเผื่อมีผู้คนใจจะไปค้นประวัติ  หลักฐานกันต่อไปครับ
 
 
 
 

กองโสเภณี


ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเช่าเรือนไม้ 2 ชั้นขนาดใหญ่หลังหนึ่งมีห้องมากกว่า 10 ห้อง เป็นกองโสเภณีหญิงบริการ หญิงเหล่านี้มีทั้งเกาหลีและญี่ปุ่นไว้บริการทหารญี่ปุ่น หญิงเหล่านี้ได้รับการตรวจเช็คร่างกายจากแพทย์ญี่ปุ่นเป็นอย่างดี (ปัจจุบันเป็นที่ว่างข้างบ้านบุญเลี้ยง)














 

ที่ทำการสารวัตรทหารญี่ปุ่น



ทหารญี่ปุ่นเช่าห้องแถวจากร้อยตรี นายแพทย์เกษม ภังคานนท์ ระหว่างปี พ.ศ. 2485-2488 ทำเป็นสำนักงานสารวัตรทหารญี่ปุ่น ตั้งสิบเอก โทลุ โอมะ เป็นหัวหน้าสารวัตร เขาพูดได้พอได้ เข้ากับคนไทยได้ดี หน้าที่ของสารวัตร ตรวจวินิจฉัยของทหารญี่ปุ่นที่ออกเที่ยวและเมาพร้อมสืบหาเชลยศึกที่หลบหนี และจับขโมยที่ขโมยของญี่ปุ่น โทษเบาทำโทษตามสิ่งของที่ขโมย ขโมยรองเท้าให้ยืนเอารองเท้าแขวนคอ ขโมยน้ำมันเอาน้ำสบู่กรอกปากหรือใช้เชือกมัดมือโยงกับต้นไม้ทรมานระยะหนึ่งแล้วจึงปล่อย ถ้าเป็นคดีสำคัญก็ร่วมมือกับฝ่ายไทยเอาขึ้นศาล คุณชัชวาล วิสุทธากร เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน เล่าว่า ทหารญี่ปุ่นได้ขุดอุโมงค์จากหลังบ้านของบ้านหลังนี้ไปทะลุตลิ่งริมวัดเหนือ อุโมงค์นี้เป็นความลับของทหารญี่ปุ่น ไม่มีใครทราบจุดประสงค์ของการขุดอุโมงค์ที่แท้จริง














 
 
เหล่านี้คืออาคารและบ้านที่พักอาศัยที่น่าสนใจและมีประวัติอันยางนานบนถนนปากแพรกนะครับ  แต่บนถนนปากแพรกก็ยังมีอาคารที่สวยงามและน่าสนใจอีกมากนะครับ  ถึงจะไม่ได้มีปีประวัติที่น่าสนใจแต่ก็คุ้มค่ากับการได้เที่ยวชมครับ























 


















ขอขอบพระคุณท่านผู้มีรายนามต่อไปนี้ที่ทำให้การท่องเที่ยวของเรามีสาระมากขึ้นครับ



pakpraktivity.com

 
โรงแรมกาญจนบุรี ย่านเมืองเก่าถนนปากแพรก - feelthai

 
 

ปากแพรก กาญจนบุรี (บ้านแต้มทอง)  -  Aom Erng
















 
Create Date :11 เมษายน 2565 Last Update :11 เมษายน 2565 16:37:38 น. Counter : 1316 Pageviews. Comments :24