bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดคงคาราม โพธาราม ราชบุรี, ราชบุรี Thailand
พิกัด GPS : 13° 42' 54.81" N 99° 51' 1.12" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดคงคาราม โพธาราม ราชบุรี, ราชบุรี Thailand
พิกัด GPS : 13° 42' 54.81" N 99° 51' 1.12" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม
 




บล็อก  “ท่องเที่ยวไทย”  ในบล็อกนี้เจ้าของบล็อกยังคงขอกลับไปคง  concept  การท่องเที่ยวแบบเดิมๆนะครับ  คือ  การไปเที่ยวชม  วัดเก่าๆ  โบราณสถานต่างๆ  ครับ
 


 
 
วันนี้เจ้าของบล็อกจะพาไปเที่ยว  วัดเก่าๆ  ในจังหวัดใกล้ๆกรุงเทพฯ  มากๆ  ครับ  จะเป็นจังหวัดอะไร  แล้ววัดเก่าๆที่จะพาไปเที่ยวมีอะไรน่าสนใจ  สวยงามแค่ไหน  เดินตามมาเลยครับ
 
 





วัดคงคาราม  โพธาราม   ราชบุรี

 


 
 

วัดคงคาราม  โพธาราม   ราชบุรี  เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย   ตั้งอยู่ที่  หมู่ที่ 3  ตำบลคลองตาคต  อำเภอโพธาราม  จังหวัดราชบุรี  อยู่ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดราชบุรี  22  กิโลเมตร
 



 
ประวัติการสร้าง 
วัดคงคาราม  โพธาราม   ราชบุรี  ไม่ชัดเจนนัก  บ้างก็ว่า  .....
 
 



ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  มีมอญที่อพยพหนีพม่าเข้ามาพักที่เมืองไทรโยคได้เข้ามาสวามิภักดิ์  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งเจ้านายเมืองมอญเมืองเมาะลำเลิง  ที่เหลือมีชีวิตอยู่  7  คน  ให้เป็นนายด่านป้องกันพม่า 7  เมือง  คือ เมืองไทรโยค  เมืองท่าขนุน  เมืองท่ากระดาน  เมืองท่าตะกั่ว เมืองลุ่มสุ่ม  เมืองสิงห์  และเมืองทองผาภูมิ
 



เหล่ามอญที่อยู่ในบ้านเมืองเดิมเมื่อได้ทราบว่าญาติของตนได้เป็นเจ้าเมืองด่านทั้ง  7  จึงได้อพยพตามเข้ามาอีก  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยามอญทั้ง  7  เลือกที่ทำกินเอง  โดยพระราชทานท้องตรามาให้ด้วย  พระยามอญทั้ง  7  จึงได้พาสมัครพรรคพวกล่องมาตามลำน้ำแม่กลอง  มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้าน  และสร้างวัดขึ้น  เรียกว่า
เภี้ยโต้ (วัดทรัพย์กลาง)  และกลายมาเป็น  วัดคงคาราม  
 
 


ส่วนอีกทางหนึ่งสันนิษฐานว่า 
วัดคงคาราม  โพธาราม   ราชบุรี  คงสร้างมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อกรุงธนบุรีอยู่แล้ว  เมื่อชาวมอญอพยพมาสร้างบ้านเรือนขึ้นในบริเวณนี้คงได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นเรียกกันว่า  เภี้ยโต้  (วัดทรัพย์กลาง)  เป็นวัดที่เป็นส่วนกลาง  เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมในการร่วมทำสังฆกรรมของสงฆ์แบบรามัญนิกาย
 



 

วัดคงคาราม  ขึ้นทะเบียนเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.  2320  และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อปี  พ.ศ. 2330  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  วัดคงคาราม  เจริญขึ้นถึงขั้นสูงสุดกล่าวกันว่ามีพระครูรามัญญาธิบดีรูปหนึ่งเป็นที่เคารพนับถือของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก
 


 
ในสมัยรัชกาลที่ 4  
วัดคงคาราม  ได้รับการอุปถัมภ์โดยเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น  (บ้างก็ว่า  “ส้อนกลิ่น”)  พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  4    และน้อมเกล้าฯ  ถวายให้เป็นพระอารามหลวง  ได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดคงคาราม  ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินหลวงทุกปี
 
 


 
เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น  มีเชื้อสายมอญ  เป็นธิดาพระยาดำรงราชพลขันธ์  (จุ้ย คชเสนี)  ขุนนางเชื้อสายมอญ  ซึ่งบิดาเป็นบุตรของเจ้าพระยามหาโยธา  (ทอเรียะ คชเสนี)  ส่วนทวดของเจ้าจอมมารดากลิ่นคือ เจ้าพระยามหาโยธา  (เจ่ง คชเสนี)  หรือ พระยาเจ่ง อดีตเจ้าเมืองเตริน  (ผู้สร้างวัดเกาะพญาเจ่ง  นนทบุรี)
 
 



มีเกร็ดเล่าเรื่องเกี่ยวกับ  เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น  ว่า  ท่านเป็นลูกศิษย์คนที่แหม่มแอนนา  (แอนนา  ลีโอโนเวนส์)   มีความภาคภูมิใจมาก  เพราะมาเรียนภาษาอังกฤษไม่เคยขาดซักวัน  แปลหนังสือภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยก็ได้ดี  บางท่านว่าท่านอาจจะแปลอังกฤษเป็นภาษมอญเสียด้วย  เพราะท่านพูดภาษามอญอยู่แล้ว 
 



 
เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น   มีความเคร่งครัดมากในอัตลักษณ์ความเป็นมอญมาก   ในวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์  (ต้นราชสกุลกฤดากร ณ อยุธยา)  พระโอรส   ก็ใช้ภาษามอญ  กินอาหารมอญ   กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์เองก็ทรงเจาะหูตามธรรมเนียมมอญ  ว่ากันว่าเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นได้ไปถวายงานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระนครคีรี  จังหวัดเพชรบุรี  และได้ถ่ายทอดการทำ  ข้าวแช่  เปิงด๊าดจฺ  หรือ    ซึ่งเป็นอาหารมอญแก่บ่าวไพร่จนแพร่หลายในจังหวัดเพชรบุรีและในราชสำนักจนมาถึงปัจจุบัน 
 













 
 

พระอุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทยประเพณีผสมผสานลักษณะท้องถิ่น  ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ตั้งอยู่บนฐานสูง  หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น  2  ชั้นซ้อนกันชั้นละ  3  ตับ มีชายคาปีกนกโดยรอบทั้งสี่ด้านรองรับด้วยเสาปูนทรงกลม  มีช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก  หน้าบันปูนปั้นลวดลายพันธุ์พฤกษา  น่าจะมีการบูรณะมาแล้วในสมัยไม่กี่สิบปีมานี่  เพราะมีเค้าความทันสมัยอยู่มากในส่วนของหลังคา  ชายคา  เสารองรับชายคา  
 



 
 
หน้าบันพระอุโบสถประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นลายดอกไม้  มีแผ่นหินอ่อนติดไว้ที่พระอุโบสถด้วยว่า  สมเด็จเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  และ  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์  (พระยศในขณะนั้น)  เสด็จฯ  มายกช่อฟ้าพระอุโบสถหลังนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่  28  พฤษภาคม  พ.ศ. 2521 
 
 

 
 
อีกหลายส่วนของพระอุโบสถน่าจะเป็นของเดิมเช่น  สิงห์หน้าบันไดทางขึ้น  บันไดทางขึ้น  (คู่)  แม้แต่ตัวพระอุโบสถเองก็น่าจะเป็นของดั้งเดิม  ยังมีภาพจิตรกรรมตกแต่งกรอบประตูทางเข้า  2  บาท  ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง  เขียนเป็นรูปซุ้มทรงมณฑป ส่วนบนของซุ้มด้านหนึ่งเป็นภาพเมขลาล่อแก้ว อีกด้านหนึ่งเป็นภาพรามสูรขว้างขวาน ตรงกลางระหว่างซุ้มประตูทั้งสองด้านเป็นภาพพุทธประวัติ ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์   
 













 

 

 
ก่อนที่จะเข้าไปชมภายในพระอุโบสถอยากให้หันไปมอง 
บานประตูพระอุโบสถ  ทั้ง  4  บาน  ครับ  อลังการมากๆ 
 
 


น่าจะทำขึ้นจากไม้บานละแผ่นเลยครับ  มีความหนามาก  ทั้ง  4  บาน  สลักลวดลายไม่เหมือนกัน  บานแรกตอนบนสลักลายพรรณพฤกษาแล้วมีรูปสัตว์  รูปคนแทรกอยู่  ตอนล่างสลักเป็นรูปอาคารและรูปคน  น่าจะหมายถึง  ป่าหิมพานต์  นะครับ แต่ลองดูใกล้ๆอีกทีก็เหมือนรูป  ต้นมักกะลีผล  ครับ  เพราะรูปคนที่แทรกอยู่น่าจะเป็นผู้หญิงเพราะมีหน้าอก  ส่วนหัวจะมีขั้วติดกับต้น  เทวดาที่เหาะอยู่ตอนบนน่าจะหมายถึงคนธรรพ์  กำลังแย่งมักกะลีผลกันอยู่  ด้านล่างเป็นรูปเทวลาชั้นล่างๆมาเก็บเอามักกลีผลที่ร่วงๆไปเชยชมกันในอาคาร 
 



 
บานที่สอง  (เป็นบานคู่กับบานแรก)  ตอนบนสลักเป็นลายดอกพุดตาน  (ดอกไม้ที่มีลักษณะเหมือนจริง  ดอกใหญ่ๆ  อ้วนๆ  จะถูกเหมาเรียกว่าดอกพุดตานทั้งหมดครับ  จริงๆคือดอก  โบตั๋น  หรือ  ดอก  Peony  ของฝรั่งครับ  เป็นลวดลายที่มีอิทธิพลมาจากเครื่องถ้วยชามของจีน)  แล้วมีรูปคน  ครึ่งคนครึ่งสัตว์  แทรกอยู่เป็นระยะๆ  คล้ายๆกับบานแรก  เพียงแต่ไม่มีรูปมักกะลีผลครับ







 
 



 
ส่วนบานประตูอีกคู่หนึ่งสลักเป็นลายพรรณพฤกษามีนกแทรกอยู่เป็นระยะๆ  ด้านล่างน่าจะเป็นรูปลิงนะครับ









 
บานหน้าต่างทุกบานก็เป็นจิตรกรรมเป็นรูปทวารบาลมียักษ์แบก  คล้ายๆกับที่ทวารบาลในพระอุโบสถที่วัดใหญ่สุวรรณราม  จังหวัดเพชรบุรี
 









 
ภายในอุโบสถประดิษฐาน พระพุทธรูปหินทรายพอกทับด้วยปูนปั้น ประทับนั่งแสดง ปางมารวิชัย ด้านข้างซ้าย – ขวา มีพระอัครสาวกยืนพนมมือ และพระพุทธรูปประทับนั่ง แสดงปางต่างๆ อีกหลายองค์















 
เหนือพระพุทธรูปประธานมีฉัตรทรงสี่เหลี่ยม  โครงเป็นไม้ตกแต่งขอบด้วยไม้แกะสลักและผ้า  พื้นเป็นสังกะสีเขียนลวดลายเป็นรูปท้องฟ้า  มีภาพพระอาทิตย์  (สีแดง)  และพระจันทร์  (สีเหลือง)  กำลังทรงรถ และดวงดาราต่างๆ  ฉัตรสี่เหลี่ยมนี้สร้างตามความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้าจะประทับอยู่ในคันธกุฏี  (กุฎิ)  เป็นที่ส่วนพระองค์











 
 
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ  วัดคงคาราม  โพธาราม   ราชบุรี  เป็นงานฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่  4  ที่สืบทอดมาจากรัชกาลที่  3  สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างชั้นครู  หรือเป็นฝีมือช่างในกรุงเทพฯ  แต่ออกไปรับงานในหัวเมือง  มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง  4  ด้าน 
 



 
ด้านหลังพระประธานไม่ทราบว่าเขียนเรื่องอะไร  ไม่ได้เดินเข้าไปดูครับ  เนื่องจากทางวัดตั้งพระไว้เยอะมากๆ
 
 


 
ด้านตรงข้ามพระประธานเขียนภาพมารวิชัย  หรือ  ภาพพระพุทธเจ้าชนะพญาวสวัตตีมาร  โดยมีพระแม่ธรณีบีบมวยผมให้น้ำท่วมฝ่ายพญามาร  น้ำที่พระแม่ธรณีบีบออกมาจากมวยผมเป็นน้ำที่พระพุทธเจ้าได้หลั่งลงพื้นดินทุกๆครั้งที่พระพุทธเจ้าได้ทำกุศลมาตั้งแต่ชาติก่อนๆ  ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าชายสิทธิธัตถะ 













 
 
ด้านบนสูดเป็นแถวของอดีตพระพุทธเจ้า  ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ แสดงปางมารวิชัย มีพระรัศมีล้อมรอบพระวรกาย ด้านข้างทั้งสองด้านมีพระอัครสาวกนั่งพนมมือ ด้านหลังมีฉัตรรูปดอกไม้ปักอยู่และมีดอกไม้ร่วงลงมาจากด้านบนภาพจะวางเรียงติดต่อกันเป็นแนวยาวในลักษณะที่คล้ายกัน  แสดงถึงคติความเชื่อที่ชาวมอญ-พม่า ได้สืบทอดต่อๆ กันมาตั้งแต่สมัยเมืองพุกาม
 
 



ถัดลงมาเป็นภาพพุทธประวัติ  ถ้าจะดูให้ต่อเนื่องกันจะเริ่มจากทางด้านขวามือของเรา  (หันหน้าเข้าหาพระประธาน)  วนไปจนถึงกำแพงพระอุโบสถอีกด้านหนึ่ง
 
 



ภาพจิตกรรมระหว่างหน้าต่างเขียนเรื่องชาดกต่างๆ
 
 



อยากให้สังเกตว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังที่  วัดคงคาราม  โพธาราม   ราชบุรี  ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหลักๆ  (พุทธประวัติและชาดก)  มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย  เช่น ภาพชีวิตประจำวันของชาวบ้าน  มีรูปผู้หญิงและผู้ชายแต่งกายแบบตะวันตก  การละเล่นพื้นบ้านของเด็ก  ภาพชาวบ้านกำลังล่าสัตว์  หาผลไม้  เก็บของป่า  กลุ่มชาวบ้านชาติพันธุ์ต่างๆ  สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชาวมอญกลุ่มต่างๆ  ที่อพยพมาอยู่ในบริเวณใกล้ๆวัด  อาคารบ้านเรือนต่างๆ  ทั้งที่มีลักษณะศิลปะที่อิทธิพลจีนและตะวันตก 
















 
 
 






รอบๆพระอุโบสถมี่ 
เจดีย์ทรงรามัญ  7  องค์  เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน  ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม  ฐานเจดีย์ถัดขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยม  บางองค์มีการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นลายกระจัง  หรือลายดอกไม้ องค์ระฆังของเจดีย์จะมีลักษณะกลมยาวคล้ายจอมแห  มีการตกแต่งลวดลายที่องค์ระฆัง  ส่วนยอดมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม มีฉัตรโลหะปักอยู่บนยอดสุด
 
 



เจดีย์รายรอบอุโบสถนี้ตามประวัติกล่าวว่า หลังจากพระยามอญทั้ง  7  คน  ที่พาสมัครพรรคพวกอพยพหนี่พม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชกาลที่  1  มาตั้งบ้านเรือนตามริมแม่น้ำแม่กลอง   สร้างอุโบสถแล้วเสร็จได้ร่วมกันสร้างเจดีย์ขึ้นไว้รอบๆอุโบสถจำนวน  7  องค์ ซึ่งมีความหมายว่าเมืองหน้าด่านทั้ง 7  ได้แก่ เมืองสิงห์ (สมิงขะบุรี) เมืองลุ่มสุ่ม เมืองท่าตะกั่ว เมืองท่าขนุน เมืองท่ากระดาน เมืองไทรโยค และเมืองทองผาภูมิ


















ซุ้มประตูหมู่กุฏิสงฆ์  ลักษณะเป็นซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนทรงประตูยอด  กรอบประตูซุ้มทรงสี่เหลี่ยม  ส่วนยอดเป็นรูปเจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยม  1  องค์  ด้านหน้าทางขึ้นเป็นเชิงบันไดเตี้ยมีขั้นบันได  3  ขั้น  ด้านข้างซุ้มมีระเบียงเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนทึบ มีการประดับด้วยช่องลมทรงกลมเป็นกระเบื้องเคลือบสีเขียวแบบจีน  จากลักษณะของซุ้มประตู สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่  3 – 4  กรุงรัตนโกสินทร์
 







 





หมู่กุฎิสงฆ์  เป็นเรือนไทยเก่าสมัยธนบุรี  เดิมเป็นเรือนไทยหลายหลัง  แต่ได้เอามาปลูกต่อกันใหม่  เป็นอาคารไม้สัก  หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง  ชายคามีเสาไม้นางเรียงกลมรองรับ  ฝาไม้ประกน บานหน้าต่างไม้  บ้างก็เขียนลวดลายบ้าง  บางช่วงก็แกะสลักลวดลายประจำยามเรียงต่อกันเป็นตาข่าย ด้านล่างเป็นภาพเล่าเรื่อง ที่กรอบมีลวดลายเป็นแท่นด้านล่าง











 
 

 








เวลาเปิดบริการ  :  วันเสาร์ – อาทิตย์ หรือวันหยุด   เวลา 09.00 – 16.00 น.
ค่าบริการ  :พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม 10 บาท สำหรับจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ เข้าชมฟรี
สถานที่จอดรถ  :  ฟรี
สิ่งอำนวยความสะดวก  :  จุดประชาสัมพันธ์ , ห้องน้ำ
 
 
 
 
 



ขอขอบคุณท่านผู้มีรายชื่อต่อไปนี้ที่ทำให้การท่องเที่ยวของเรามีสาระขึ้น





 
วัดคงคาราม  อ.โพธาราม จ.ราชบุรี – เที่ยวราชบุรี.คอม


วัดคงคาราม วัดสวย ราชบุรี งดงามด้วย จิตรกรรมฝาผนัง อายุกว่าร้อยปี – nukkpidet

 
วัดคงคาราม (จังหวัดราชบุรี) - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

 
รอยอดีตแห่งลุ่มแม่น้ําแม่กลอง ตอนที่ ๒ วัดมอญ : วัดคงคาราม - สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี

 
วัดคงคาราม ราชบุรี - zthailand.com

 
จิตรกรรมฝาผนัง วัดคงคาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี – พี่ตุ๊ก  tuk-tuk@korat

 
เจ้าจอมมารดากลิ่น ในรัชกาลที่ 4 - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

 
วัดคงคาราม ราชบุรี  - ฐานข้อมูลจิตกรรม














 
135136137
 
Create Date :23 สิงหาคม 2565 Last Update :23 สิงหาคม 2565 14:42:32 น. Counter : 956 Pageviews. Comments :18