bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดร้องแง อ.ปัว จ.น่าน, น่าน Thailand
พิกัด GPS : 19° 10' 32.54" N 100° 56' 8.92" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม








วัดต่อไปในอำเภอปัว  จ.น่าน  ที่จะพาไปเที่ยวกันเป็นวัดไทลื้อครับ  จะมีความอ่อนช้อยสวยงามเพียงไหน  โปรดติดตามครับ
 
 




วัดร้องแง  อ.ปัว  จ.น่าน
 



 
การเดินทางมาที่
วัดร้องแงสามารถเดินทางได้โดยเดินทางจาก อ.ปัว ผ่านธนาคารกสิกรไทย กลับรถตรงเกาะกลางเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทาง 1256 ทางเข้าตรงข้าม โรงเรียนวรนครเข้าไป ประมาณ 200 เมตร และแยกซ้ายอีก 200 เมตร  ผ่านวัดพระธาตุเบ็งสกัด หลังจากนั้นขับตรงไปเรื่อยๆถึงบ้านร้องแง จะเห็นทางเข้าวัดอยู่ทางด้านซ้ายมือ มีป้ายบอกชัดเจน
 
 
 

วัดร้องแง  เป็นวัดโบราณของอำเภอปัว  ตั้งอยู่ที่บ้านร้องแง หมู่ที่ 7 ตำบลวรนคร อำเภอปัว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2310


 
จากคำบอกเล่าต่อๆมาของช้าวบ้านเล่ากันว่าบรรพบุรุษชาวลื้อย้ายถิ่นหนีภัยสงครามมาจากเมืองเลน  (ภาษาลื้อออกเสียงว่า  “ลิน” )  แคว้นสิบสองปันนา  ในสมัยพญาแสนเมืองแก้ว   พญาแสนเมืองแก้วต้านกำลังข้าศึกที่มารูกรานไม่ไหวจึงชวน  เจ้าหลวงเทพพญาเลน เจ้าช้างเผือกงาเขียว พร้อมด้วยแม่ทัพนายกอง 4 นาย คือ ท้าวแก้วปันเมือง ท้าววรรณะ ท้าวเหล็กไฟ และท้าวเต๋อ ได้มาช่วยต้านทานทัพศัตรู  แต่ก็ยังต้านไว้ไม่ได้  จึงรวบรวมไพร่พลหนีถอยร่นลงมาจนถึงบริเวณใกล้กับร่องน้ำที่มีต้นบะแง ได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นและเรียกชื่อตามร่องน้ำนั้น ... ร้องแง
 



พี่ tuk-tuk korat  เขียนอธิบายไว้ในบล็อกพาเที่ยววัดร้องแงว่า
 
 

“ร้อง เพี้ยนมาจาก ฮ่อง คือ ร่อง(น้ำ) แปลว่า ลำคลอง
แง  เป็นชื่อต้นไม้ บะแง มีผลเท่าส้มโอ ผิวเหมือนมะนาว มีจุกเหมือนมะกรูด ... ไม่รู้จักค่ะ
บ้านร้องแง ... บ้านฮ่องแง คือบ้านที่ตั้งอยู่ที่ลำคลองที่มีต้นบะแงขึ้น”

 
 


พระวิหาร  เป็นศิลปะแบบไทยลื้อ  มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีขนาดยาว 8 ห้อง กว้าง 3 ห้อง ด้านหน้ามีมุขโถง  ตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูน หลังคาเป็นทรงโรง  มีหน้าจั่ว  ผืนหลังคามีสองตับ   ทอดเอนลาดคลุมต่ำ  สันนิษฐานว่าเดิมคงเป้นวิหารเปิดโล่ง  แต่ภายหลังก่อผนัง
 
 
(
พี่ tuk-tuk korat  เขียนอธิบายไว้ในบล็อกพาเที่ยววัดร้องแงอีกด้วยว่า)

 

“วิหารไทลื้อ มีสองแบบคือ ไทลื้อฮ่างหงส์ และ ไทลื้อทรงโรง  วิหารวัดร้องแงเป็นวิหารไทลื้อแบบทรงโรง ... ดูง่าย ๆ จากหลังคา”
 
 

เจ้าของบล็อกขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมนะครับ  หลังคาทรงโรง  ก็คือหลังคาอุโบสถ  หรือวิหารแบบทั่วไป  หลังคาทรงฮ่างหงส์  ยกตัวอย่างง่ายๆ  หลังคาวิหารวัดต้นแหลง  ที่เคยพาไปเที่ยวในบล็อกท่องเที่ยวแล้วๆมาครับ
 
โครงหลังคามีการลดชั้น ทางด้านหน้ามีสามชั้น ด้านหลังมีสองชั้น
 

 
ผนังส่วนล่างเป็นปูนทึบทาสีขาว ผนังส่วนบนเป็นลูกกรงไม้ ที่ห้องท้ายวิหารมีบันไดและทางเข้าทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้

 
หางหงษ์ทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปเศียรนาค หลังคามุงกระเบื้องไม้ เรียกว่า แป้นเกล็ด
 
 
คันทวย หรือ นาคทัณฑ์ เป็นไม้ฉลุ แกะสลักเป็นรูปยักษ์ ลิง ครุฑ สัตว์หิมพานต์ ระบายสีสดใส













 
หน้าบัน หรือ หน้าแหนบ ประดับด้วยไม้ฉลุลายก้านขด แกะสลักรูปเทพพนม แผงไม้ใต้หน้าจั่ว ที่เรียกว่า โก่งคิ้ว  ทำเป็นรูปพญนาค  2  ตัว  ทอดตัวขึ้นไปแล้วเอาหางพันกัน  ประดับลายก้านขดและช้าง  (ช้างนี่คงมาจากตำนานพื้นบ้านที่เจ้าหลวงเทพพญาเลนขี่ช้างเผือกงาเขียวอพยพหนีภัยสงครามมาอยู่  ณ  ที่แห่งนี้)  ส่วนหน้าจั่วปีกนกตกแต่งด้วยลายก้านขดแบบเดียวกัน









 




                                                                  
ผนังรอบประตูพระวิหารมีจิตรกรรมฝาผนังแบบสมัยใหม่  น่าจะวาดขึ้นเมื่อตอนบูรณะพระวิหารไม่นานมานี้










 
 
สิ่งที่โดดเด่นภายในพระวิหารก็คือ 
ผ้าเช็ดหลวง  มีลักษณะคล้ายตุงของทางภาคเหนือ   (  คำว่า  เช็ด แปลว่า ทอ  และคำว่า  หลวง  แปลว่ายิ่งใหญ่)  ชาวบ้านจะทอขึ้นมาแล้วมาถวายพระเพื่อถวายทานเป็นพุทธบูชาเพื่ออุทิศให้แก่บรรพบุรุษ

 
อีกอย่างหนึ่งที่แขวนเรียงกันอย่างเป็นระเบียบตอนล่างคือ 
“ดอกไม้พันดวง”   คือ   ดอกไม้ในตอกไม้ไผ่สาน เพื่อบูชาพันพระคาถา ในพิธีตั้งธรรมหลวงหรือเทศน์มหาชาติ  โดยมีการเทศน์ทั้งหมดรวม 13 กัณฑ์ ประกอบด้วย 1,000 พระคาถา















เสาหลวงภายในพระวิหารมี   2  แถว จำนวน  6  คู่ เสาเป็นไม้กลม ประดับหัวเสาด้วยบัวกลีบยาว โคนเสาส่วนหน้าทาสีน้ำตาลแดง ส่วนในทาสีฟ้า  2  แถว  ในสุดติดกับพระประธานทาสีดำ  ตัวเสาลงพื้นสีดำ  เขียนลายทอง  ลายบนต้นเสาจะเขียนลายเหมือนกันเป็นคู่ๆ  สังเกตุดูดีๆจะเห็นว่ามีบางต้นที่ได้รับการซ่อมแซมแต่ส่วนใหญ่เป็นของเดิม
















เครื่องบนของวิหารเป็นแบบที่เรียกว่า
โกม คล้ายระบบ ขื่อม้าต่างไหม









แนวเสาในผนังของวิหาร ช่วยรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคา








 
 
ในวิหารมีพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย  ฝีมือช่างพื้นบ้าน ประทับบนแท่นแก้วประคับกระจกสี มีพระนามว่า
ศรีสวัสดี สิริวิสุทธะ วิวะมังคะละ สวัสสะติ อะภิวันทะนบ พระรัตนะ โอกาสะมะสะดู  มีไรพระศก  ฝ่าพระบาทราบเสมอกัน  นิ้วพระหัตถ์ยาวเรียวเสมอกัน พระกรรณมีสัณฐานยาวเหมือนกลีบดอกบัว  ด้านข้างประดับด้วยเครื่องสูง บนผนังด้านหลังเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติและมีเนมีราชชาดกชาดกฝีมือของช่างพื้นถิ่น









 



แผงไม้เหนือพระประธานประดับลายกระหนกและรูปดอกไม้








 
หน้าพระประธานมีแท่นสำหรับปักเทียน เรียกว่า
สัตตภัณฑ์ ทำเป็นรูปขั้นบันได สื่อความหมายถึงบันไดแก้วที่พระพุทธเจ้าใช้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังเทศน์โปรดพุทธมารดา  สัตตภัณฑ์มีรูปนาค 1 คู่ ทอดตัวยาวลงตามราวบันได






 
 


ธรรมาสน์บุษบก ฐานเป็นปูนปั้น ตัวเรือนเป็นเครื่องไม้ ยอดเป็นปราสาทซ้อนชั้น





 


 

ธรรมาสน์แบบกระทง  และ  หีบพระธรรม









 

พระอุโบสถ  หลังคาทรงฮ่างหงส์ คือเหมือนหงส์กางปีกปกป้องลูก  หลังคาปีกนกทั้งสี่ด้าน เรียกว่าหลังผัด  ชั้นบนสุดเป็นหลังคาทรงจั่วเรียกว่า หาน






 
 
 





พระวิหารวัดร้องแง  ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกณิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เป็นรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับรางวัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่  7 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมดีเด่น 











อีกช่องทางหนึ่งในการติดตาม  “ทนายอ้วนพาเที่ยว”
 



Chubby Lawyer Tour  -  ทนายอ้วนพาเที่ยว
 
 
 https://www.facebook.com/ChubbyLawyerTour/
 
 


Chubby Lawyer Tour ………………….. เที่ยวไป ............. ตามใจฉัน







 
132138140

 
Create Date :13 เมษายน 2563 Last Update :13 เมษายน 2563 14:58:16 น. Counter : 2540 Pageviews. Comments :22