bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : โฮงเจ้าฟองคำ จ.น่าน, น่าน Thailand
พิกัด GPS : 18° 47' 22.68" N 100° 47' 8.06" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม



 
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งต่อไปในเมืองน่านขอเปลี่ยนบรรยากาศจากการพาเที่ยววัดมาเป็นอย่างอื่นกันบ้างนะครับ  เดี๋ยวจะเบื่อกันเสียก่อน  สถานที่ท่องเที่ยวแห่งต่อไปเป็นบ้านโบราณครับ  จะสวยงามแค่ไหน  เก่าแก่เพียงไร  สำคัญแค่ไหน  โปรดติดตามเลยครับ
 
 




โฮงเจ้าฟองคำ  จ.น่าน
 



 

โฮงเจ้าฟองคำ ตั้งอยู่ที่ถนน สุมนเทวราช ซอย 2 อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน  ตั้งอยู่บริเวณหลังวัดพระเกิด










 
คำว่า
“ โฮง ” เป็นคำพื้นเมืองล้านนา หมายถึง คุ้ม หรือที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนา
 


โฮงเจ้าฟองคำ  (เฉพาะตัวบ้านนะครับ)  เป็นคุ้มของเจ้าศรีตุมมาผู้เป็นหลานของเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 61  (พ.ศ. 2251 - 2276)   เดิมตั้งอยู่ติดกับคุ้มแก้ว  ซึ่งที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครน่าน  ถ้าจะนับอายุของตัวบ้านจริงๆ  ก็มีอายุไม่ต่ำกว่า  200  ปี  แล้วครับ  ....
 
(อย่างที่เคยเล่าไปในบล็อกพาเที่ยวพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจังหวัดน่านนะครับ  ก่อนสมัยของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ  เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่  62  ถ้าใครได้ขึ้นครองเมืองน่านก็จะเอาบ้านที่อยู่ในปัจจุบันหรือจะปลูกขึ้นใหม่ ณ ที่ใดก็ได้เป็นค้มหลวง  แล้วเรียกว่า  “คุ้มแก้ว”  ภายหลังเมื่อพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ  เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่  62  ขึ้นครองเมืองน่านแล้วจึงได้สร้างคุ้มหลวงขึ้นเป็นการถาวรแล้วโปรดเกล้าฯ  ให้ผู้ครองนครน่านคนต่อๆไปย้ายมาอยู่ในคุ้มหลวงที่ท่านได้สร้างไว้ให้  เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในสมัยของเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 61  คุ้มหลวงหรือคุ้มแก้วไม่ได้ตั้งอยู่  ณ  ที่ๆ  พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจังหวัดน่านตั้งอยู่นะครับ
 
 
แล้วคุ้มแก้วในสมัยของเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 61  ตั้งอยู่ที่ไหน  ....  ในสมัยรัชกาลที่  1  เมืองน่านตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า
  “เวียงใต้”   คือบริเวณเมืองน่านในปัจจุบัน  แต่พอในสมัยรัชกาลที่  2  ในปี พ.ศ.2360  เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่  น้ำในแม่น้ำน่านไหลเข้าสู่ตัวเมืองน่านด้วยความแรงและเชี่ยว ได้พัดพากำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกพังทลายลงทั้งแถบ บ้านเรือนพังทลายเกือบหมด วัดวาอารามในนครน่านหักพังเป็นอันมาก  ใน  พ.ศ.2362  พญาสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่  58  (พ.ศ. 2353 - 2368) จึงได้ย้ายเมืองไปอยู่บริเวณดงพระเนตรช้าง ซึ่งเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเดิม  ใช้เวลาสร้าง 6 เดือน จึงแล้วเสร็จเรียกว่า "เวียงเหนือ" (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านมหาโพธิ์ และบ้านสถารส อ.เมือง  ใกล้ๆสนามบินน่านและตามเส้นทางของถนนสุมนเทวราช)  
 
ศูนย์กลางนครน่านอยู่ที่เวียงเหนือสืบกันมาได้ 36 ปี จนถึงปี พ.ศ.2397 สมัยเจ้าอนันตวรฤิทธิเดชฯ ผู้ครองนครน่านองค์ที่  63  จึงได้ย้ายเมืองมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน)
 
 
ที่นี้ก็กลับมาที่เรื่องของ 
โฮงเจ้าฟองคำ  กันต่อ  เมื่อเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ย้ายเมืองน่านกลับมายังพื้นที่ปัจจุบัน คุ้มแก้ว  (ที่ตั้งอยู่บริเวณเวียงเหนือ)  จึงถูกทิ้งร้างไว้  ในปี พ.ศ.2443 รัฐบาลไทยต้องการใช้ที่ของคุ้มแก้ว  (บริเวณเวียงเหนือ)  )  และบริเวณใกล้เคียงสร้างค่ายทหารพรานม้าภูเขาที่7  (ถูกยุบในปีพศ.2470 สมัยรัชการที่7)   ตัวโฮงได้ถูกย้ายมาอยู่ในซอยที่เงียบสงบหลังวัดพระเกิดโดยเจ้าบุญยืนธิดาคนสุดท้องของเจ้าศรีตุมมากับเจ้ามโน (หลานของเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ)  มารดาของเจ้าฟองคำ ปัจจุบันเป็นที่อยู่ของบุตร-ธิดา
ของเจ้าฟองคำ  จากนั้นตกทอดมายังนางวิสิฐศรี คงกระจ่าง ธิดาคนสุดท้องของเจ้าฟองคำ และนายมณฑล คงกระจ่าง ผู้เป็นบุตรชาย ตามลำดับ
 
 

โฮงเจ้าฟองคำ เป็นบ้านสร้างจากไม้สักหลังใหญ่มีรูปแบบตามที่นิยมในล้านนา ยกใต้ถุนสูง รูปแบบล้านนาโบราณ หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินขอ  (เมื่อย้ายมาจากคุ้มแก้วหลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด (หรือไม้เกล็ด) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้มีการรื้อและสร้างขึ้นใหม่ โดยใช้กระเบื้องดินขอแทนแป้นเกล็ด)
 
 
 

โฮงเจ้าฟองคำ  ประกอบด้วยเรือน 4 หลัง แบ่งเป็นห้องต่างๆ ทั้งนอน ห้องรับแขก ห้องครัว  ทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยนอกชานและทางเดิน บันไดทางขึ้นบ้านอยู่ด้านหน้ามีหลังคาคลุม สำหรับไม้สักที่ใช้สร้างบ้านนั้น ใช้วิธีการผ่าและซ้อมถากด้วยขวานและมีด การประกอบตัวบ้านจึงไม่ได้ใช้ตะปู แต่จะใช้วิธีเจาะไม้และเข้าไม้โดยใช้สลักไม้  บริเวณหน้าบ้านมีบ่อน้ำสำหรับใช้สอยในครัวเรือน
 
 
พื้นที่ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีชีวิต  จัดแสดงวิถีชีวิตในอดีตและของโบราณที่มีคุณค่า เช่น เครื่องเงิน และผ้าทอ เป็นต้น   ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทบ้านพักอาศัย (คุ้มเจ้า)  ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิคสยาม




เราขึ้นเฮือนกันครับ




 
 

“ห้องเครื่องเงิน”


อยู่ทางขวามือ  จะมองเห็นเป็นเรือนแรกเมื่อพ้นบันได  แต่เดิมเป็น “ยุ้งข้าว” ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็น ห้องจัดแสดงเครื่องเงิน อันเป็นของสะสมเก่าแก่ของตระกูล











 







“ห้องหน้าโฮง”


เปรียบเสมือนหัวใจของบ้าน มีหิ้งพระ โกศ และภาพถ่ายบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ห้องหน้าโฮง ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบ้าน ที่ใช้ตัดสินคดีความภายในครอบครัว ด้วยเชื่อว่า จะไม่มีใครกล้าพูดปดต่อหน้าผีปู่ย่า










 
 
จากนั้นก็จะเป็นห้องนอน  จัดตกแต่งให้เป็นห้องนอนของเจ้าฟองคำเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่  ส่วนอีกห้องหนึ่งก็เป็นห้องนอนของผู้หญิง  ส่วนผู้ชายจะนอนรวมกันในห้องด้านนอกที่เปิดโล่งครับ













“ครัวไฟ”


ครัวของชาวล้านนาจะแยกออกจากตัวบ้าน มี “หินสามก้อน” หรือ “เส้า” เป็นเตาสำหรับหุงต้ม เหนือเตามีหิ้งไม้ไผ่สาน เพื่อเก็บภาชนะและวัตถุดิบในการปรุงอาหาร  ครัวไฟ มีข้อห้าม หรือ ความเชื่อหลายเรื่อง เช่น ห้ามวางหม้อค้างไว้ที่เตา เพราะจะทำอะไรไม่เจริญ ห้ามหญิงสาวเก็บภาชนะซ้อนกัน เพราะเป็นลางว่าจะมีสามีหลายคน









นอกจากนั้นที่ชั้นบนยังจัดแสดงผ้าทอลายพื้นเมืองของจังหวัดน่านด้วยครับ




ผ้าซิ่นคาดก่าน  (ผ้าซิ่นแบบดั้งเดิม)








จะต้องทำการมัดย้อมเส้นใยที่จะทอก่อน  โดยอาจจะทำการมัดย้อมเฉพาะเส้นยืนหรือเส้นพุ่ง  หรือทั้ง  2  เส้นเลยก็ได้  เราจะรู้จักการทอแบบนี้ว่า  "มัดหมี่"  แค่เมืองน่านเรียกว่า  "คาดก่าน"  ความสวยงามอยู่ที่การผูกลวดลายด้วยเชือกกล้วยก่อนเอาไปย้อม  





ซิ่นป้อง


ความโดดเด่นของซิ่นป้องคือมีการวางช่องไฟในแนวนอนเป็นระยะที่เท่าๆกันตลอดทั้งผืน  อาาจะมีการทอลายมุกสลับบ้างแต่คามสวยงามอยู่ที่การวางช่องไฟมากกว่า  








ซิ่นม่าน


ความสวยงามของซิ่นม่านอยู่ที่การวางช่องไฟในแนวนอนที่ไม่เท่ากันและการให้สีของช่องไฟ  สีที่นิยมกันมากคือสีน้ำเงินและสีชมพู  มีคำเรียกว่า  "จั๊ดออนจั๊ดแล"  หมายถึงความเด่นชัดของสี









ซิ่นเชียงแสน


เป็นผ้าพื้นสีแดง  ทอริ้วด้วยการขัดสานด้วยสีดำ  น้ำเงิน  ทั้งผืน  เป็นผ้าซิ่นที่เป็นอัตตลักษณ์ของชาวเชียงแสนที่อพยพมาอยู่ในเมืองน่าน









ซิ่นคำเคิบ


คือสุดยอดของซิ่นเมืองน่าน  เป็นผ้าซิ่่นที่ใช้เฉพาะในราชสำนัก  ใช้เส้นไหมหุ้มเงินหรือทองเป็นเส้นพุ่ง  ถ้าทอด้วยไหมเงินเรียก  "เคิบไหมเงิน"  ถ้าทอด้วยไหนทองเรียก  "เคิบไหมทอง"





 




ซิ่นตามะนาว


เป็นซิ่นที่ใช้นุ่งอยู่กับบ้าน  ไม่ใช่เทคนิคการทอ  ไม่มีลวดลาย  มีความโดดเด่นที่ช่องไฟในแนวนอนถี่  และให้สีที่หลากหลาย










พื้นที่ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่งสำหรับตั้งกี่ทอผ้า และสาธิตการทอผ้า
 



 ถ้าใครเป็นแฟนประจำของรายการ  “เทยเที่ยวไทย”  คงจะจำคุณพี่ในเสื้อสีส้มได้  เพราะเป็นดาราแจ้งเกิดที่รายการเทยเที่ยวไทย  เทปนั้นฮาสุดๆด้วยมุขร้องเพลงปั่นฝ้ายของคุณพี่  แล้วยังได้ติดโผผู้ร่วมรายการสุดฮาของรายการเทยเที่ยวไทยอีกหลายครั้งหลายหน  ....   คุณพี่บอกว่า  “คุณพี่ได้ประกบกับน้องแต้ว  ณฐพร  มาแล้ว  เมื่อตอนมาถ่ายละครเรื่อง  “เกมสเน่หา””  ขอบอกว่าถ้าไปโองเจ้าฟองคำแล้วไม่ได้เจอคุณพี่คนนี้ให้ไปใหม่เลยครับ  คุณพี่แซ่บบบบบบ มากมายย  เป็นไอดัลของเจ้สของบล็อกเลยครับ  ....  หลานสาวตัวดีของเจ้าของบล็อกนั่งฟังคุณพี่คุยเรื่องการทอผ้าอย่างสนอกสนใจ  (คาดว่าจะติดใจมุขตลกของคุณพี่เค้าครับ ฮ่าๆๆ)






















 
 135137140
Create Date :16 มีนาคม 2563 Last Update :16 มีนาคม 2563 14:36:05 น. Counter : 1638 Pageviews. Comments :12