อ่านเรื่อยๆ มาเรียง ๆ ทุกวันของ หนี่งหน่อง นะครับ
4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน (+1) กับวิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง โดยรัฐตำรวจของคณะรัฐประหาร

ปรีดี พนมยงค์ และ 4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน กับ 1 การเมืองไทย
ในแง่ของประวัติ การเมืองไทย สมัยใหม่ ภาพของการต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้ว นั่นคือ ระหว่าง “ประชาธิปไตยกับเผด็จการ” หรือระหว่าง “ทหารกับพลเรือน” ระหว่าง “ธรรมะกับอธรรม” หรือท้ายที่สุดระหว่าง “เทพกับมาร” นั้น ดูเหมือนจะได้รับการตอกย้ำและยอมรับกันโดยทั่วไป

ดังนั้น เรื่องราวของ 2475 จึงเป็นการต่อสู้ระหว่าง “คณะเจ้า” กับ “คณะราษฎร” หรือระหว่าง “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” กับ “ประชาธิปไตย” และเมื่อ การเมืองไทย เข้าสู่ “วัฏจักรแห่งความชั่วร้าย” ของการ “ปฏิวัติและรัฐประหาร” ก็กลายเป็นเรื่องของการต่อสู้ของ “เสรีประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการทหาร”

หรือแม้กระทั่งเป็นเรื่องของ “ฝ่าย” และ/หรือ “ค่าย” เช่น “ฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม” กับ “ฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์” และ/หรือ “ค่ายสี่เสาเทเวศร์” (ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์) กับ “ค่ายซอยราชครู” (ของผิน ชุณหะวัณ และเผ่า ศรียานนท์) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากจะมองให้ลึกลงไปแล้ว จะพบว่ามีหลายครั้งหลายหน ที่มีความพยายามที่จะสร้างกลุ่มก้อนทางการเมืองขึ้นใหม่ หรือให้มีทางเลือกที่มากกว่า 2 ให้เป็นทางออกของประชามหาชน แต่ความพยายามและกลุ่มก้อนดังกล่าวก็ถูกทำลายพิฆาตฆ่า ทำให้ไม่สามารถจะเติบโตขึ้นมาได้ในแผ่นดินนี้

กรณีของ “4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน + 1” เป็นตัวอย่างอันชัดเจนที่จะนำมาศึกษาหาความรู้ให้เห็นภาพของ การเมืองไทย ให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการปิดงานการเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2544/2001 

ในยุคที่ประชาธิปไตยเริ่มจะเบ่งบานขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475 นั้น ในช่วงของการเมืองในระบบรัฐสภา ที่มีสภานิติบัญญัติ มีการเลือกตั้ง และ/หรือมีพรรคการเมือง นับตั้งแต่ปี 2476 ที่มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงต้นทศวรรษ 2490 อันเป็นช่วงเวลาเข้าสู่ “ยุคทมิฬ” และ/หรือ “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ที่อำนาจ “รัฐตำรวจ” (ในสมัยของการเมือง “คณะรัฐประหาร” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพล ผิน ชุณหะวัณ) ที่ในส่วนของการจัดการ “รักษาความสงบเรียบร้อย” (ซึ่งแปลได้ตรงตัวตามลายลักษณ์อักษรว่า ฆ่าและปราบปราม นำโดยเผ่า ศรียานนท์ และบรรดา “อัศวิน”) ได้กระทำต่อบุคคลที่ไม่ลงรอยทางการเมืองกับตนจำนวนมากนั้น

กล่าวได้ว่า กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “อีสาน” ดูจะโดดเด่นเป็นพิเศษในฐานะที่พยายามทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ จาก “วงนอก” และจาก “ชายขอบ” เป็นปากเสียงและต่อรองให้ผู้ที่อยู่นอกศูนย์กลางของอำนาจ (กรุงเทพฯ) 
                                                    4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน  
 

4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี เกิด 2449-ตาย 2492) นายจำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม 2453-2492) นายถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด 2452-2492) และนายเตียง ศิริขันธ์ (สกลนคร 2452-2495) ส่วน + 1 ก็คือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ (สมุทรสาคร 2454-2492)

โปรดสังเกตว่าปีเกิดของบุคคลเหล่านี้อยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ต้นรัชกาลที่ 6 หรือราวๆ ค.ศ. 1910 ทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษใหม่ อายุอ่อนกว่า ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ (เกิด 2444/1900) ประมาณ 10 ปีเช่นกัน 
                                                      1. ทองอินทร์ ภูริพัฒน์  
 

เป็น ส.ส. จากอุบลราชธานี รวม 4 ครั้ง นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476, 2480, 2481, 2489 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 6 สมัย (ชุดของนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์, ทวี บุณยเกตุ, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ชุดแรก, ปรีดี พนมยงค์ ชุด 3, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ชุด 1 และ 2 และได้ควบ 2 ตำแหน่งอีกด้วย)

ทองอินทร์นับได้ว่าเป็นชนชั้นผู้นำในระดับภูมิภาค เรียนหนังสือจบมัธยม 6 จากอุบลฯ แล้วมาจบมัธยม 8 จากสวนกุหลาบฯ ได้ประกาศนียบัตรครูประโยคมัธยม ดังนั้นก็มีชีวิตรับราชการเป็นครู ก่อนที่จะย้ายไปเป็นนายอำเภอ โยกย้ายไปหลายจังหวัด ทำให้เขา “ตีนติดดิน” และมองเห็นปัญหาของสังคมในระดับของประชาชน

ทองอินทร์เป็นผู้แทนครั้งแรกเมื่ออายุ 24 (เมื่อมีการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มธก. เป็น “ตลาดวิชา” ครั้งแรก ทองอินทร์ก็เรียนจนได้ปริญญา “ธรรมศาสตรบัณฑิต” หรือ ธ.บ.)

กล่าวได้ว่าทองอินทร์เป็นเสมือนหัวหน้าทีมของ “4 เสืออีสาน” มีความเชี่ยวชาญในการอภิปรายอย่างมีสาระยิ่งในสภา ทองอินทร์สมรสกับเจ้าสิริบังอร ณ จัมปาศักดิ์ สร้างความสัมพันธ์สองฝั่งโขง มากเสียกว่าข้อหา “กบฏแบ่งแยกดินแดน” ที่รัฐนำมายัดเยียด ทองอินทร์เป็นพลพรรค “เสรีไทย” และถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ ก.ม. 14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน โดยผู้นำของ “รัฐตำรวจ” ของ “คณะรัฐประหาร” เมื่อ 4 มีนาคม 2492 พร้อมกับเพื่อน ส.ส. รมต. อีก 3 นาย 
                                                     2. จำลอง ดาวเรือง 
 

เป็น ส.ส. จากมหาสารคามรวม 3 ครั้ง (พ.ศ. 2480, 2481, 2489 และเป็นพฤฒิสภาสมาชิก 1 ครั้ง) เป็นรัฐมนตรี 4 สมัย (ชุดนายกรัฐมนตรีทวี, เสนีย์, ธำรงฯ) อาจจะเป็น ส.ส. ในกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยสุด ดังนั้น ประสบการณ์ชีวิตที่ต้องต่อสู้มานับแต่วิ่งรถในอีสาน ข้ามไปทำงานในลาว (ร่วมสร้างความสัมพันธ์สองฝั่งโขง แต่ก็ถูกข้อหา “กบฏแบ่งแยกดินแดน” ที่รัฐนำมายัดเยียดภายหลังเช่นกัน)

จำลองเคยเป็นนักมวยหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นครูประชาบาล จนสอบไล่ชุดครูได้ก้าวขึ้นมาเป็นเสมียนศึกษาธิการและเป็นเจ้าของกิจการโรงเรียนราษฎรแห่งแรกในจังหวัดมหาสารคามที่เปิดสอนจนถึงชั้นมัธยม

จำลองได้ธรรม ศาสตรบัณฑิต (ธ.บ.) ในภายหลังก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2480 เป็นผู้แทนเมื่ออายุ 27 ปี กล่าวกันว่า จำลองเก่งในเรื่องของการประสานรอยร้าวในหมู่คณะและเข้ากับผู้คนได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกัน จำลองเป็นพลพรรค “เสรีไทย” และถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ ก.ม. 14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน โดยผู้นำของ “รัฐตำรวจ” ของ “คณะรัฐประหาร” เมื่อ 4 มีนาคม 2492 พร้อมกับเพื่อน ส.ส. รมต. อีก 3 นาย 
                                                            3. ถวิล อุดล 
 

เป็น ส.ส. จากร้อยเอ็ดรวม 2 ครั้ง (พ.ศ. 2480, 2481 และเป็นพฤฒิสภา 1 ครั้ง) เป็นรัฐมนตรี 2 สมัย (ชุดนายกรัฐมนตรีทวี, เสนีย์) ถวิลเข้ามาเรียนจบมัธยม 8 จากสวนกุหลาบฯ และในปี 2473 ยังจบโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมอีกด้วย ถวิลออกไปทำงานเป็นทนายความในอีสาน และ รับราชการในกรมราชทัณฑ์ในเวลาต่อมา จนกระทั่ง ได้เป็นผู้ตรวจการเทศบาลอุบลฯ แล้วก็สมัคร ส.ส. เป็นครั้งแรกในปี 2480 เป็นผู้แทนเมื่ออายุ 28 ปี

ถือกันว่านายถวิลเป็นเหรัญญิกของกลุ่ม มีความชำนาญในการขีดเขียนโต้ตอบจดหมาย และร่างนโยบาย เช่นเดียวกัน ถวิลเป็นพลพรรค “เสรีไทย” ถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ ก.ม. 14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน โดยผู้นำของ “รัฐตำรวจ” ของ “คณะรัฐประหาร” เมื่อ 4 มีนาคม 2492 พร้อมกับเพื่อน ส.ส. รมต. อีก 3 นาย 
                                              4. เตียง ศิริขันธ์  
 

เป็น ส.ส. จากสกลนครรวม 5 ครั้ง (2480, 2481, 2489, 2492 และ 2495) เตียงได้เป็นรัฐมนตรี 3 สมัย (ชุดนายกรัฐมนตรีทวี, เสนีย์ และธำรงฯ) เตียงเรียนจบชั้นมัธยม 6 จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล เรียนต่อในโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศน์ และได้ประกาศนียบัตรประโยคมัธยมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เคยรับราชการเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ที่โรงเรียนเก่าของตนที่อุดรฯ เคยถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ ถูกขัง 3 เดือนเมื่อปี 2476 เตียงเคยเรียน มธก. แต่ไม่จบ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรกเมื่ออายุได้ 28 ปี

ถือกันว่าในกลุ่มอีสานนี้ เตียงเป็นประหนึ่งเลขาธิการ มีความเชี่ยวชาญในการวางแผน เป็นผู้ประสานงาน “เสรีไทย” ในอีสานให้ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เตียงมีรหัสชื่อลับว่า “พลูโต” ทำการก่อสร้างสนามบินเพื่อรับเครื่องบินและอาวุธ (เอาซ่อนไว้ในถ้ำที่ภูพาน) จากฝ่ายสัมพันธมิตร ได้รับฉายาว่า “ขุนพลภูพาน” หนึ่งในบรรดาผู้ร่วมงาน “กู้ชาติ” ครั้งนั้นคือ ครอง จันดาวงศ์ (ที่ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประหารชีวิตด้วยการ “ยิงเป้า” ด้วยมาตรา 12)

กล่าวกันว่าเตียงรู้จักกับจิม ทอมป์สัน สายลับของอเมริกาเป็นอย่างดีในช่วงงาน “เสรีไทย” ผู้ที่ต่อมาเป็น “ราชาไหมไทย” เคยไปพักที่บ้านของเตียงถึง 3 ครั้ง เตียงเล่นบทผู้นำของภูมิภาค “อุษาคเนย์” ด้วยการตั้งและเป็นประธาน Southeast Asian League หรือสันนิบาตเอเชียอาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เมื่อสิงหาคม 2490 ที่มาก่อนกาลเวลาของ ASEAN ถึง 10 กว่าปี

เมื่อเพื่อน ส.ส. อีสานถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ ก.ม. 14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน เมื่อ 4 มีนาคม 2492 นั้น เตียง ศิริขันธ์ หลุดรอดไปได้ (บ้างกล่าวว่าเพราะภรรยาของเขา คือ นิวาศน์ พิชิตรณการ นั้นเกี่ยวดองกับเผ่า ศรียานนท์ กล่าวคือ น้าของนิวาศน์เป็นภรรยาคนหนึ่งของบิดาของเผ่า)

ภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเมืองของรัฐประหาร 2490 และกบฏวังหลวง 2492 นั้น แม้เตียงจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต่อมาอีกทั้งปี 2492 และ 2495 แต่บทบาททางการเมืองของเขาก็ลดลง และก็ “หายตัวไปอย่างลึกลับ” โดยมาปรากฏภายหลังว่าถูก “รัฐตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนำของอธิบดีตำรวจเผ่า ศรียานนท์ ส่ง “อัศวิน” และพรรคพวกมา “รัดคอตาย” และนำไป “ย่างศพ” ฝังทิ้งที่ป่ากาญจนบุรี เมื่อธันวาคม 2495 หรือกว่า 3 ปีต่อมาพร้อมกับอดีตเสรีไทยอย่าง ชาญ และเล็ก บุนนาค 
                                                    5. ทองเปลว ชลภูมิ 
 

เป็น ส.ส. จากปราจีนบุรี 1 ครั้ง 2489 (และเคยเป็น ส.ส. ประเภท 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง 1 ครั้ง 2488) เป็นรัฐมนตรี 1 สมัย (ชุดนายกรัฐมนตรีหลวงธำรงฯ) ดร.ทองเปลว เกิดที่สมุทรสาคร เรียนจบมัธยม 6 จากโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ฯ และจบจากโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2476

หากจะเทียบกับบรรดา ส.ส. อีสานที่เขาสนิทสนมและคุ้นเคยแล้ว จัดได้ว่าทองเปลวเป็นคน “วงใน” มากกว่าคน “วงนอก” หรือคน “ชายขอบ” เพราะได้ร่วมเป็นหนึ่งในบรรดา “ผู้ก่อการ” ปฏิวัติ 2475 ดังนั้น ก็ใกล้ชิดสนิทสนมกับ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ มาแต่แรกเริ่มได้รับราชการในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ต่อมาได้ทุนไปเรียนต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส จนจบปริญญาเอกทางด้านกฎหมาย ได้เป็นอาจารย์บรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ มธก. ก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงของการเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่ง มีความขัดแย้งกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถูกปลดจากตำแหน่ง

ในช่วงหลังสงคราม ดร.ทองเปลวมีบทบาทมาก รับผิดชอบดูแลองค์การสรรพาหารของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นเป็นการพิเศษ ซึ่งทำหน้าที่ในการจัดซื้อและจำหน่ายสินค้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนยุคสงคราม แต่องค์การนี้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงในเรื่องของการบริหารและคอร์รัปชัน

ภายหลังการรัฐประหาร 2490 ดร.ทองเปลวหนีไปต่างประเทศ และถูกจับครั้งหนึ่งในปี 2491 ในห้องขังนั้น เขาได้เขียนหนังสือที่น่าสนใจและได้รับการตีพิมพ์แล้ว คือ หว่องอันยื้อ รัฐบุรุษผู้ตายอย่างหมากลางถนน เป็นเรื่องราวจากพงศาวดารจีนที่นำมาสะท้อนสถานการณ์หลังสงครามของไทยและองค์การสรรพาหารได้เป็นอย่างดี

เมื่อออกจากคุก ดร.ทองเปลวก็ไปลี้ภัยทางการเมืองที่ปีนัง เขาได้ถูกลวงให้กลับมาในช่วงของ “กบฏวังหลวง 2492” (หรือที่ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492) และท้ายที่สุดเช่นเดียวกันกับสหายอีสาน ส.ส. รมต. และพลพรรค “เสรีไทย” อีก 3 นาย เขาก็ถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ ก.ม. 14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน โดยผู้นำของ “รัฐตำรวจ” ของ “คณะรัฐประหาร” เมื่อ 4 มีนาคม 2492 
                     ชีวิตงานและความตายของ 4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน (+1) 
 

กล่าวโดยสรุป ชีวิตงานและความตายของ 4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน (+1) ที่ไพวรินทร์ ขาวงาม ขนานนามว่า “ดาวหนึ่งทองอินทร์นั้น เลือดอุบล ดาวหนึ่งเตียงเลือดสกล เลือดสู้ ดาวหนึ่งถวิลเลือดคน ร้อยเอ็ด ดาวหนึ่งจำลองกอบกู้ เลือดเนื้อสารคาม” เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามของ “วงนอก” และ “ชายขอบ” ที่จะต่อรองเพื่อสิทธิของตนในระดับชาติ

ดังนั้น ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรและค่ายประชาธิปไตย บรรยากาศทางการเมืองไทยก็เบ่งบาน มีเสรีภาพทางการเมือง มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมากมายกว่า 10 พรรค ถ้าหากเราจะแบ่งขั้วทางการเมืองในสมัยนั้นออกมาให้เห็นชัด ก็จะมี 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มอํานาจนิยมและลัทธิทหารที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับกลุ่มที่จะรวมตัวกันเป็น “คณะรัฐ ประหาร” ที่นำโดย ผิน ชุณหะวัณ, เผ่า ศรียานนท์, สฤษดิ์ ธนะรัชต์, ถนอม กิตติขจร มีฐานกำลังสำคัญจากราชการทหาร (บก) กฎหมาย และพลเรือน กลุ่มนี้ต้องสูญเสียอำนาจและบทนำไปชั่วคราว แต่จะหวนกลับมาปักหลักในหลังการรัฐประหาร 2490 และจะผลัดกันขึ้นมาครองอำนาจได้ยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ จนกระทั่งถูกโค่นล้มลงโดยขบวนการนักศึกษาเมื่อ 14 ตุลาคม 2516

2. กลุ่มอนุรักษนิยม ที่เป็นเชื้อสายของเจ้าและขุนนางเก่า กลุ่มนี้จะมีผู้นำ เช่น ควง อภัยวงศ์, ม.ร.ว.เสนีย์ และ คึกฤทธิ์ ปราโมช กลุ่มนี้จะมีองค์กรพรรคของตน เช่น ประชาธิปัตย์ และก้าวหน้าเป็นแกนนำ และในระยะแรก ๆ มีฐานสนับสนุนจากเจ้าที่ดินและผู้มีสมบัติและผู้ดีเก่าจากเขตกรุงเทพฯ ก่อนที่จะขยายไปมีฐานมั่นในปักษ์ใต้ในทศวรรษ 2510 ภายหลัง

3. กลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม (สหกรณ์) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มผสมรวมตัวกันหลวม ๆ ที่ให้ความสนับสนุน ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ส่วนหนึ่งมาจากระบบราชการทั่วไปฝ่ายพลเรือน ทหารเรือ และนักธุรกิจผู้ประกอบการทั่วไป

ดังนั้น ก็มีพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นผู้นำ อีกส่วนหนึ่งเป็นตัวแทนของ “วงนอก” และ “ชายขอบ” เช่นอีสานดังที่กล่าวมาแล้ว และมีพรรคสหชีพที่มีแนวทางเด่นชัดด้านสังคมนิยมบวกกับเสรีนิยมเป็นแกนนำ มีผู้นำอย่างทอง อินทร์ จำลอง ถวิล เตียง ฯลฯ และได้รับความสนับสนุนจากต่างจังหวัด จากผู้นำท้องถิ่น และจากข้าราชการครู

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าในแง่ของพันธมิตรและขั้วทางการเมือง ผู้นำ ส.ส. อีสานจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 เป็นการรวมตัวกันหลวม ๆ และโดยธรรมชาติมักจะอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับกลุ่มที่ 1 และ 2 และก็มักจะเป็นมิตรกับกลุ่มที่ 3 
                                                             กรณีศึกษา 
 

อย่างไรก็ตาม แต่จากประวัติความเป็นมาก็เห็นได้ชัดว่ากลุ่มนี้มีแนวทางความเป็นตัวของตนเองสูง และมีกรณีศึกษาที่น่าจะยกมาประกอบ ดังนี้

ในกรณีแรก ปี 2481 ถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด) เคยยื่นญัตติให้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ให้ชี้แจงรายรับรายจ่ายอย่างละเอียดในงบประมาณที่เสนอต่อสภา ทั้งนี้เพื่อ “ความโปร่งใส” และป้องกัน “การงุบงิบ” ที่ผู้นำไทยใน “ศูนย์กลาง” ของอำนาจมักจะทำเสมอมา รัฐบาลตอบว่า ทำไม่ได้ ครั้นเมื่อมีการลงคะแนนเสียงในสภาฯ รัฐบาลก็แพ้ไป ถึงกับนายกรัฐมนตรีต้องยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่

ในกรณีที่สอง ปี 2487 ส.ส. อีสานเป็นพลังหลักในการต่อต้านโครงการนครหลวงเพชรบูรณ์และพุทธบุรีมณฑลสระบุรีของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 โครงการ “ย้าย” เมืองหลวงไปเพชรบูรณ์นี้ ออกมาเป็นพระราชกำหนดขึ้นก่อน และสร้างความทุกข์ยากให้ประชาชนที่ถูกเกณฑ์แรงงานเป็นอย่างยิ่ง เพราะเพชรบูรณ์สมัยนั้นเป็นป่าทึบ เต็มไปด้วยไข้มาลาเรีย ถึงกับกล่าวกันว่า ใครที่ถูกเกณฑ์ไปทำงาน ก็ต้องเอาหม้อดินติดตัวไป ด้วยเพื่อใส่กระดูกของตนเองกลับ

ปรากฏว่าในปี 2487 เมื่อการก่อสร้างดำเนินไปได้ 1 ปี มีประชาชนถูกเกณฑ์ไปถึงกว่า 1 แสนคน (คือ 127,281 คน ป่วยเสีย 14,316 คน และตายไปแล้ว 4,040 คน)

ประชาชนที่ถูกเกณฑ์ (โดยได้รับสัญญาว่าจะจ่ายค่าจ้างให้ “แต่ก็มักไม่ค่อยได้จ่าย” วันละ 5 สตางค์) นั้นส่วนใหญ่มาจากอีสาน

ดังนั้น เมื่อเรื่อง “พระราชกำหนด” นี้เข้าสภาฯ ก็ถูกอภิปรายคัดค้านอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลฯ) และเมื่อลงคะแนนเสียง รัฐบาลก็แพ้ไปด้วยคะแนน 48 ต่อ 36 เป็นผลให้รัฐบาลต้องลาออก และหน้าที่ในการรับสถานการณ์ตอนปลายสงคราม ก็ตกอยู่กับฝ่ายของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ขบวนการเสรีไทย (ทั้งในและนอกประเทศ) และ “การกู้ชาติ” ของ ส.ส. สายอีสาน กับ “เพื่อนครู” พลพรรคของเขา

อีกกรณีหนึ่งที่จะช่วยให้เราเห็นบทบาทของ ส.ส. อีสาน ชัดเจน ก็คือการช่วงชิงบทบาทนำทางการเมืองสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม (ควง อภัยวงศ์, ม.ร.ว. เสนีย์ และคึกฤทธิ์ ปราโมช) กับฝ่ายเสรีนิยม (ปรีดี พนมยงค์ และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) นั้น ทางฝ่าย ส.ส. อีสานก็เป็นกำลังสำคัญในการที่จะสกัดกั้นฝ่ายอนุรักษนิยม ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อควง อภัยวงศ์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ครั้งที่สอง ก็เป็นอยู่ได้เพียงเดือนกว่า ๆ เท่านั้นเอง

ทั้งนี้โดยพ่ายแพ้ต่อญัตติของทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชน หรือการให้มีการปักป้ายราคาสินค้า ในช่วงที่มีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักหน่วงหลังสงครามโลก รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อลงคะแนน ก็ต้องแพ้ไปด้วย 65 ต่อ 63 เสียง รัฐบาลต้องลาออก

จากจุดนี้แหละที่ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ก็ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้น ๆ ระหว่าง 24 มีนาคม – 8 มิถุนายน 2489 และ 11 มิถุนายน – 21 สิงหาคม 2489 ที่มีการคั่น 2 วัน คือ 8-9 มิถุนายน ก็เพราะรัฐบาลลาออกเนื่องจากกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แต่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาใหม่ เป็นที่น่าสังเกตว่าในรัฐบาลชุดแรกของปรีดีนั้น ไม่มี 4 ส.ส. อีสานเหล่านี้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด แต่ในชุดที่สองจึงจะมีทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม

ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ถูก “เกมการเมือง” ของฝ่ายอำนาจนิยม-อนุรักษ์นิยม ใส่ร้ายป้ายสีในกรณีสวรรคต จนต้องถูกรัฐประหาร 2490 ทำให้ต้องออกไปลี้ภัยต่างประเทศ และได้กลับเข้ามาพยายามที่จะยึดอำนาจคืนด้วยความร่วมมือของข้าราชการพลเรือนและทหารเรือ (บางส่วน) และ มธก. ใน “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “กบฏวังหลวง”

ความล้มเหลวของการปฏิบัติการครั้งนี้ ส่งผลกระทบทางการเมืองไทยอย่างมากมายมหาศาล ความหวาดกลัวต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง และความอยู่รอดของ “คณะรัฐประหาร” เอง ทำให้ผู้นำของฝ่ายอำนาจนิยมและลัทธิทหาร เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม, ผิน ชุณหะวัณ, เผ่า ศรียานนท์ ฯลฯ ใช้มาตรการรุนแรงปราบปรามฝ่ายตรงข้าม มีการทำลายชีวิตอย่างทารุณโหดร้าย เพื่อกำจัดบุคคลสำคัญ ๆ ในยุคนั้นกว่า 20 คน (นอกเหนือจากที่ได้เอ่ยนามมาแล้ว) เช่น ทวี ตะเวทิกุล, บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข, โผน อินทรทัต, หะยีสุหรง ฯลฯ

อำนาจนิยม (ร่วมด้วยช่วยกันจากอนุรักษนิยม) คุกคามไม่เว้นทั้งเมียและลูกของบุคคลเหล่านี้ (ซึ่งเป็นหัวข้อที่ควรจะได้รับความสนใจและศึกษาเป็นอีกประเด็นต่างหาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทความเป็นสตรี-ภริยา-แม่ของท่านผู้หญิงพูนศุข (ณ ป้อมเพชร์) พนมยงค์, เจ้าสิริบังอร (ณ จัมปาศักดิ์) ภูริพัฒน์, ทองดำ (ธนสีลังกร) ดาวเรือง, บุญทัน อุดล, นิวาศน์ (พิชิตรณการ) ศิริขันธ์ และนิมนวล ชลภูมิ

ที่น่าสนใจและน่าประหลาดใจก็คือ จากการศึกษาและข้อมูลที่พอจะรวบรวมได้ นอกเหนือจากความสัมพันธ์ในการเมืองในระบบรัฐสภากับงานของเสรีไทยกับ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ แล้ว ไม่มีหลักฐานเด่นชัดว่า 4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน + 1 นี้ จะมีความเกี่ยวพันกับ “กบฏวังหลวง” แต่ประการใด

ดังนั้น “วิสามัญฆาตกรรม” ด้วยการ “ยิงทิ้ง” ที่ ก.ม. 14-15 บางเขน ถนนพหลโยธิน จึงน่าจะเป็น “เกมการเมือง” ที่ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ใช้ “คนนอก” หรือ “ชายขอบ” เป็น “สัญญาณมรณะ” ให้ทั้ง “คนในและคนนอก” ต้องยอมสยบกับอำนาจนิยม (ร่วมด้วยช่วยกันจากอนุรักษนิยม) และในขณะเดียวกันก็สามารถหยุดยั้งพลังที่ 3 หรือทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับสังคมไทยไปได้นานแสนนาน อย่างน้อยก็กว่า 2 ทศวรรษ 
หมายเหตุ :
 คัดเนื้อหาจากบทความ “ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสานกับ 1 การเมืองไทย” เขียนโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2545 




Create Date : 14 มีนาคม 2567
Last Update : 14 มีนาคม 2567 13:31:24 น. 0 comments
Counter : 23 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนี่งหน่อง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




pub-1485477287124314
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2567
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
14 มีนาคม 2567
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หนี่งหน่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.