อ่านเรื่อยๆ มาเรียง ๆ ทุกวันของ หนี่งหน่อง นะครับ
มณีร้าว นวนิยายตีแผ่ปัญหาครอบครัว กับหญิงสาวที่ต้องตกเป็นเหยื่อทางเพศ

 รีวิวหนังสือนวนิยายเรื่อง มณีร้าว ของ ว.วินิจฉัยกุล #ความทรงจำระหว่างบรรทัดจาก                                                                                  หนังสือที่รัก  


นวนิยายเรื่อง 'มณีร้าว' ผลงานเขียนของ ว.วินิจฉัยกุล เล่มนี้ ฉันได้อ่านหลังจากชมละครที่สร้างขึ้นเมื่อครั้ง ออกอากาศทางช่อง 7 ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 - 26 กุมภาพันธ์ 2534
         ส่วนตัวชอบดารานำคือ นฤเบศร์ จินปิ่นเพชรและกมลชนก โกมลฐิติ มีศตวรรษ ดุลยวิจิตร มารับบทแฟนเก่านางเอก
         ครั้งแรกที่เคยอ่านนั้นนานมาแล้ว เป็นแบบปกแข็ง แบบนวนิยายรุ่นเก่า พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร เป็นการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2531 ตอนที่มีการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ก็ว่าจะซื้อแบบปกใหม่เล่มเดียวมาเก็บสะสม ก็หลงลืมและพลาดไป เพิ่งไปตามหาได้มาจากในกลุ่มหนังสือสะสมเมื่อปีก่อนหน้านี้
         ฉันชอบนวนิยายเรื่องนี้มาก อ่านนานแล้ว เมื่อคิดถึงก็ไปย้อนดูละครทีวีเรื่องนี้ที่ยังมีให้ดูในยูทูปเสมอๆ วันนี้จึงอยากเขียนบันทึกรีวิวนวนิยายเรื่องนี้
         ผู้ประพันธ์ ว.วินิจฉัยกุล ได้เขียนคำนำถึงแรงบันดาลใจและข้อสังเกตของสังคมสองข้อที่ทำให้ท่านเขียนเรื่องราวนี้ขึ้นมา
         คือ หนึ่ง ปัญหาความแตกร้าวในครอบครัวของพ่อแม่ที่ส่งผลกระทบต่อลูก และสอง ข้อสังเกตเรื่องผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศ ที่น่าตกใจว่าในความจริงแล้วมักเกิดจากผู้ชายที่อยู่ใกล้ชิดมากกว่าคนแปลกหน้า
         คล้ายเดือน นางเอกของเรื่องจึงมีชะตากรรมตามแก่นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึงผู้อ่าน คือเป็นหญิงสาวสวยบริสุทธิ์ อ่อนต่อโลก มีแฟนหนุ่มแสนดีตามอุดมคติ ชีวิตเธอน่าจะสวยงาม แต่แล้วเมื่อมีปัญหาครอบครัว พ่อมีเมียน้อย เธอก็ทุกข์และจมอยู่กับความทุกข์ของตน และเมื่อสถานการณ์พาไปให้เธอต้องพบคนอีกสังคมผ่านกลุ่มเพื่อนเก่าที่กลับมาพบกันใหม่ เพื่อนที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากกรอบชีวิตของเธอ เธอก็ถูกโชคชะตาและความประมาทจนตกเป็นเหยื่ออย่างง่ายดาย
         ฉายฉาน พระเอกของเรื่องที่เริ่มต้นบทบาทด้วยการเป็นผู้ชายร้ายกาจเจ้าเล่ห์ที่ทำลายชีวิตของคล้ายเดือน ผู้ชายเพลย์บอย ที่ไม่เห็นค่าของผู้หญิงที่เข้ามาอยู่ในวังวนชีวิตสังคมเหลวแหลกของตนเอง เพราะความที่มีพื้นเพเป็นลูกเมียน้อยในครอบครัวเศรษฐีที่พ่อมีเมียมากมาย จนทำให้เขาไม่ศรัทธาในชีวิตแต่งงาน และมองผู้หญิงที่เข้ามาใกล้ชิดเป็นเพียงของเล่นสนุก
         แต่หลังจากความสุขทางกายที่ฉายฉานตักตวง ฉวยเอาจากความอ่อนต่อโลก เชื่อใจคนมากเกินไป จนไปถึงการไม่ทันเล่ห์เหลี่ยม ของคล้ายเดือน เขากลับไม่เคยลืมเธออีกเลย เขาติดตามพัวพัน และสุดท้ายก็คอยช่วยเหลือ เมื่อพบว่าเธอได้รับความทุกข์และผลกระทบจากความสนุกชั่วข้ามคืนของเขาจนชีวิตแทบจะไปต่อไม่ได้
         ฉันชอบเรื่องนี้ที่ได้เห็นพัฒนาการทางอารมณ์และความคิดของตัวละครที่เปลี่ยนไปทีละนิดจากตอนต้นเรื่องจนท้ายเรื่อง
         คล้ายเดือนค่อยๆเรียนรู้จากความทุกข์ตกผลึกจนกลายเป็นความเข้มแข็ง จนสามารถมาทำงานช่วยเยียวยาจิตใจผู้คนในองค์กรที่ช่วยเหลือหญิงสาวที่ผ่านความทุกข์ทรมานเช่นเดียวกับเธอ
         ฉายฉานค่อยๆเรียนรู้จากอารมณ์ความรู้สึกและมโนธรรมพื้นฐานในส่วนลึกก็เอาชนะความเคยชินจากการใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมแย่ๆที่เติบโตมา จนค่อยๆยอมรับความผิดของตนเอง และพร้อมจะแก้ไขไถ่โทษความผิดบาปที่เขากระทำต่อหญิงสาวบริสุทธิ์ แสนดีที่สุดท้าย ความดีของเธอก็เอาชนะจิตใจฉายฉานจนกลายเป็นความรักในที่สุด
         อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในคำนำว่าผู้เขียนไม่ใจแข็งพอที่จะเขียนเรื่องราวนี้ให้จบลงอย่างทุกข์ทรมานตามข้อเท็จจริงและชีวิตจริงของเหยื่อจำนวนมาก เพราะคนที่เป็นแบบฉายฉานในชีวิตจริงอาจจะแทบไม่มีเลย หรือมีน้อยมากๆ
         สำหรับฉันก็รู้สึกขอบคุณผู้เขียนที่ได้เขียนออกมาแบบนี้ และทำให้ฉายฉายและคล้ายเดือนเป็นตัวละครพระนางอีกคู่ที่ฉันประทับใจ และมักจะคิดถึงอยู่เสมอๆ
         สำหรับตอนที่ประทับใจในนวนิยายเรื่องนี้ คือตอนท้ายๆของเรื่องที่ฉายฉายมีความทุกข์เรื่องน้องสาวและไม่มีใครในชีวิตคนอื่นที่เขาอยากปรับทุกข์ด้วยนอกจากคล้ายเดือนคนเดียวที่เขาคิดถึงเธอเสมอ เขาจึงมาพบเธอที่บ้านสวนและขอโอกาสแก้ตัวเพื่อพิสูจน์ตัวเอง 

                                                          #ตอนที่ประทับใจ  

 คล้ายเดือนเดินไปที่ประตูหน้า รีรออยู่อึดใจก็ค่อยๆเปิดประตู โผล่หน้าออกไปมองที่ระเบียงข้างนอก เพิ่งเห็นว่าไฟฟ้าไม่ได้เปิดอยู่อย่างตอนแรก…ระเบียงนั้นมีแต่แสงจันทร์อาบอยู่เย็นตา และใครคนหนึ่งนอนอยู่บนเก้าอี้ผ้าใบ
         หล่อนไม่แน่ใจว่าเขาเผลอหลับไปหรือเปล่า ถ้าหลับละก็มีหวังยุงหามกันละคืนนี้ หญิงสาวค่อยย่องเข้าไปใกล้โดยระวังมิให้พื้นกระดานเกิดเสียงเอี๊ยดอ๊าดขึ้นมา
         “คุณฉาย” หล่อนเรียกด้วยเสียงเบา แต่ก็ชัดเจนพอจะเรียกให้รู้สึกตัวขึ้นมาได้ หากว่าชายหนุ่มเผลอหลับไปจริงๆ
          ฉายฉานยังคงนอนนิ่ง เสียงลมหายใจของเขาสม่ำเสมอเหมือนคนนอนหลับ
          คล้ายเดือนก้มลงมองดวงหน้าที่เอนนอนรองรับด้วยผ้าใบผืนเก่าๆ มองเห็นได้เด่นชัดในแสงสีเงินยวงราวกับภาพวาดซึ่งจิตรกรเน้นแสงเงาอย่างบรรจง ในยามหลับ…ดวงหน้าเขาละมุนละไมกว่าปกติ คล้ายหนุ่มน้อยผู้ไม่เจนจัดต่อเล่ห์เหลี่ยมของชีวิต ผิดกับยามตื่น…คงจะเป็นดวงตาคมลึกและบุคลิกของผู้มั่นใจในตนเองอยู่เสมอละมังทำให้เขาเหมือนนายพรานผู้มีชั้นเชิงในการล่าเหยื่ออยู่เสมอ
          หญิงสาวนึกขันความผันแปรของชะตาชีวิตผู้คน ใครจะเชื่อได้ว่าวันหนึ่งฉายฉานจะต้องมานอนอยู่บนเก้าอี้ผ้าใบเก่าๆ บนระเบียงในบ้านสวนซึ่งห่างไกลจากแสงสีหรูเริดของชีวิตที่เขาคุ้นเคย ซ้ำร้ายคือต้องนอนเฝ้าความปลอดภัยให้หล่อนราวกับเป็นยามเฝ้าขโมยเสียอีก
          หญิงสาวไม่รู้ว่าหล่อนพิศดูเขาอยู่นาน พอรู้สึกตัว..ขยับจะถอยห่าง ก็พบว่าลำแขนล่ำสันเอื้อมมาตวัดเอวหล่อนไว้ ดึงจนกระทั่งหล่อนล้มลงไปบนตัวเขา แล้ววงแขนของอีกฝ่ายก็โอบรัดแผ่นหลังแน่นไม่ให้ลุกขึ้นมาได้
          เสียงหัวเราะนุ่มๆ ลึกๆ กังวานอยู่ข้างหู ไม่สะดุ้งสะเทือนกับเล็บที่ฝังลงไปบนเนื้อของอีกฝ่าย “ถ้าจะปลุกเจ้าชายนิทรา เดือนต้องใช้วิธีนี้”
          คล้ายเดือนอ้าปากจะรัองค้านออกมา แต่ก็ช้าเกินไป ริมฝีปากบอบบางอ่อนนุ่มของหล่อนประทับลงบนริมฝีปากของอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะแรงจากมือที่เลื่อนขึ้นมากดหลังศีรษะเอาไว้
          โลกหยุดหมุนไปชั่วขณะ…ประกายจากผิวน้ำหยุดเต้นในแสงเดือน แม้สายลมพัดผ่านลอดใบมะพร้าวก็พัดผ่านไปไกลแสนไกล มีแต่เสียงหัวใจเท่านั้นที่เต้นแรงเหมือนจะโลดออกมานอกทรวงอก
          จูบของฉายฉานเลื่อนจากปากไปที่ผิวแก้มบอบบาง หอมกรุ่นด้วยแป้งเด็กเหมือนผิวอ่อนของทารก เขาจูบหล่อนด้วยความรู้สึกห่างไกลจากความเร่าร้อนรุนแรงอย่างที่เคยเป็น มีแต่ความดื่มด่ำเหมือนคนที่คว้าของมีค่ากลับมาได้ในนาทีสุดท้ายก่อนมันจะพลัดแตกกระจายไปต่อหน้าต่อตา
          นวนิยายเรื่องนี้มีเสน่ห์ที่บทรักที่ผู้เขียนบรรยายได้ละเมียดละไมอยู่ตลอดทั้งเรื่อง จนทำให้ฉันหลงรักตัวละคร ‘ฉายฉาน’ ชายหนุ่มร้ายกาจที่สุดท้ายทำให้ผู้อ่านหลงรักได้ในที่สุด 

                                                    #โปรยปกหลัง 

 การที่เด็กสาวคนหนึ่งสูญเสียความสาวไป ทำให้หล่อนคิดว่าหล่อนเสียทุกอย่างในชีวิต...ก็ไม่ใช่ความผิดของหล่อนหรอกที่คิดเช่นนั้น คงจะเป็นเพราะพ่อแม่หรือสังคมแวดล้อมปลูกฝังหล่อนว่าคุณค่าของผู้หญิงอยู่ที่พรหมจารี หากว่าสูญเสียไปอย่างไม่ถูกต้อง...ก็เท่ากับหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง
          ความร้าวรานครั้งนี้ เหมือนรอยร้าวในเนื้อแก้ว ถึงอย่างไรก็ไม่มีวันจางหาย... มีแต่ทำให้แก้วนั้นแตกเป็นเสี่ยงในวันข้างหน้า
  • มณีร้าว : ว.วินิจฉัยกุล
  • ลงพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย และตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร เมื่อปี พ.ศ. 2531
  • ภาพประกอบโพสต์คือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 โดยสำนักพิมพ์ทรีบีส์
  • จำนวน 529 หน้า
  • ราคาปก 350 บาท
  • ภาพปก-ออกแบบ : ฟารุต สมัครไทย 

                                                 #ความรู้สึกหลังอ่าน  

เมื่อได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้จบลง สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือผู้เขียนสามารถบรรยายตัวละครพระเอกอย่างฉายฉาน ซึ่งถ้าเรามองแบบชีวิตจริง ผู้ชายที่มีพฤติกรรมต่อผู้หญิงเช่นนี้ ไม่น่าจะได้เป็นพระเอกในชีวิตจริงของใครได้ แต่เมื่อผู้เขียนได้แสดงความรู้สึกไว้ในคำนำหนังสือไว้ว่า ไม่อาจใจร้ายให้เรื่องจบลงแบบโหดร้ายต่อชีวิตของนางเอกผู้ถูกกระทำได้ ผู้เขียนได้สร้างเหตุการณ์แวดล้อมที่ทำให้พระเอกได้เรียนรู้ รับรู้ถึงความผิดพลาดที่ทำลงไป และเดินหน้าแก้ไขและพิสูจน์ตัวเองจนสุดท้ายนางเอกยอมรับและให้อภัย (แม้ว่าค่านิยมเรื่องพรหมจรรย์ของผู้หญิงสำหรับสังคมปัจจุบันแบบในนวนิยายอาจจะล้าสมัยไปแล้วก็ตาม)
          และที่ฉันคิดว่าสำคัญมากคือ ทำให้ผู้อ่านอย่างฉันและอีกหลายๆคนที่หันกลับมาให้อภัยตัวละครนี้ และรู้สึกรัก 'ฉายฉาย' จนกลายเป็นหนึ่งในตัวละครพระเอกในนวนิยายของ ว.วินิจฉัยกุล ที่ผู้อ่านพูดถึงบ่อยๆ

 


Create Date : 06 พฤษภาคม 2566
Last Update : 6 พฤษภาคม 2566 11:50:01 น. 0 comments
Counter : 240 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนี่งหน่อง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




pub-1485477287124314
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2566
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
6 พฤษภาคม 2566
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หนี่งหน่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.