อ่านเรื่อยๆ มาเรียง ๆ ทุกวันของ หนี่งหน่อง นะครับ
(บทความพิเศษ) หรือ Metaverse จะมาถึงตอนอวสานแล้ว ?

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หลาย ๆ คนคงต้องได้รู้จักกับคำว่า ‘Metaverse’ (เมตาเวิร์ส) กันจนหนาหูแน่นอน ผ่านมาจนถึงปี 2023 คำว่าเมตาเวิร์สค่อย ๆ หายไปจากวงการเทคโนโลยี ตอนนี้เมตาเวิร์สไปไหนแล้ว หรือว่าเมตาเวิร์สจะมาถึงตอนอวสานแล้วกันแน่ ?

เรื่องทั้งหมดมันเริ่มขึ้นตั้งแต่มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทของตัวเองจาก Facebook Inc. ไปเป็น Meta Inc. เมื่อเดือนตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา ในตอนนั้น มาร์คคิดว่า Facebook หรือ Meta ในตอนนั้น ไม่ใช่บริษัทที่เกี่ยวกับ Social Media อย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นการเข้าสู่ยุคของโลกเสมือนหรือ Metaverse มากขึ้น 
                         The Hype Train – เมื่อยักษ์ใหญ่เริ่ม ก็ต้องมีคนตาม  

หลังจากที่ซักเคอร์เบิร์กได้ตัดสินใจเบนเข็มบริษัททั้งหมดไปสู่ Metaverse อย่างเต็มตัว ก็ได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั้งวงการเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้ เพราะซักเคอร์เบิร์กเองก็มั่นหมายในเมตาเวิร์สของเขาหนักมาก ถึงขนาดเคยบอกว่า “เมตาเวิร์สน่ะ คืออนาคตของอินเทอร์เน็ต”

ในงาน Facebook Connect 2021 ที่เฟซบุ๊กได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการ ก็ได้มาพร้อมกับคลิปวิดีโอโปรโมตสวยหรู ที่เราจะสามารถพูดคุยกันได้ในโลกจำลอง (Virtual Worlds) กันแบบไร้รอยต่อ ผู้ใช้ที่ได้เข้าโลกเมตาเวิร์สก็จะได้ทั้ง “จ้องตากันได้” หรือจะ “รู้สึกได้ว่าอยู่ในห้องเดียวกัน” รวมทั้งเมตาเวิร์สจะทำให้คนรู้สึกได้ถึงประสบการณ์ที่ ‘สมจริง’ (Immersive) ที่มากขึ้นได้ไปพร้อม ๆ กัน

และนั่นทำให้คนทั้งโลกตื่นตัวเรื่องเมตาเวิร์ส หรือ ‘จักรวาลนฤมิต’ ตามคำที่ราชบัณฑิตยสภา ได้บัญญัติคำไทยของเมตาเวิร์สหลังจากที่มาร์คเปลี่ยนชื่อบริษัทได้ประมาณ 4 เดือน นั่นแปลว่าคนไทยเองก็ให้ความสนใจในเรื่องของเมตาเวิร์สอยู่ไม่น้อย หลาย ๆ คนมองว่า เมตาเวิร์สนี่แหละคืออนาคตของอินเทอร์เน็ต (รวมถึงผู้เขียนที่ตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์ปริญญาตรีเรื่องนี้เช่นกัน) 

แน่นอนว่าพอมีคนเริ่ม ก็ต้องมีคนตาม โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่าง ‘เมตา’ ที่ในตอนนั้นเริ่มขยับตัวเข้าสู่การพัฒนาเมตาเวิร์สอย่างเต็มตัว ทำให้มีคนเริ่มสนใจ ลงทุน หรือผลิตเมตาเวิร์สในแบบของตัวเองขึ้นมา รวมถึงในไทยเอง ที่มีคนตัดสินใจลงมาเล่นกับเทรนด์เมตาเวิร์สเยอะพอสมควรเลย เช่น ทรานส์ลูเซีย (Translucia Metaverse), แอนิเวิร์ส เมตาเวิร์ส (Aniverse Metaverse), เมตาโพลิส (Metapolis), MQDC Idyllias หรือกระทั่ง ออมสินเมตาเวิร์ส เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่าต่อให้เมตาเวิร์สเป็นคำที่เป็นที่นิยม เป็นเทรนด์ที่มาแรงมาก ๆ ในตอนนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าคำว่าเมตาเวิร์สกลับค่อย ๆ หายจากพื้นที่สื่อ และหายไปจากความสนใจของผู้คน

ในตอนที่เมตาได้เปลี่ยนชื่อบริษัท ก็ได้เปิด ‘ที่ทำงานจำลอง’ ที่ชื่อ ฮอไรซอนเวิร์ครูม (Horizon Workrooms) ซึ่งแม้ว่าคอนเซ็ปต์หลักของการสร้างห้องประชุมจำลองในตอนนั้นถือว่าทำได้ดีมาก แต่กลายเป็นว่า Horizon Workrooms เป็นเหมือนกับเกมโลกเสมือนที่หน้าตาธรรมดา และเพิ่มหน้าจองานเข้าไปแทน ในมุมมองของหลาย ๆ คนก็มองว่าเป็นอะไรที่ไม่จำเป็นเอาได้หรือเปล่า โดยเฉพาะจากที่เราสังเกตกันในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เทรนด์การทำงานที่บ้านเข้ามา แต่ไม่ได้มาในรูปเมตาเวิร์ส แต่มาในรูปแบบ Zoom !

กลายเป็นว่า การทำงานในคอมพิวเตอร์ที่บ้านแบบธรรมดา แต่มีโปรแกรมประชุมออนไลน์ที่สามารถเข้าได้พร้อมกันหลาย ๆ คนอย่าง Zoom, Google Meet, Microsoft Teams แทน และที่ทำงานจำลอง ที่ไม่ได้มีแค่ Horizon Workrooms แต่รวมไปถึง Gather.town ซึ่งคนสนใจเพียงชั่วครู่เท่านั้นเอง

                                                                                                                         

แน่นอนว่าพอมีคนเริ่ม ก็ต้องมีคนตาม โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่าง ‘เมตา’ ที่ในตอนนั้นเริ่มขยับตัวเข้าสู่การพัฒนาเมตาเวิร์สอย่างเต็มตัว ทำให้มีคนเริ่มสนใจ ลงทุน หรือผลิตเมตาเวิร์สในแบบของตัวเองขึ้นมา รวมถึงในไทยเอง ที่มีคนตัดสินใจลงมาเล่นกับเทรนด์เมตาเวิร์สเยอะพอสมควรเลย เช่น ทรานส์ลูเซีย (Translucia Metaverse), แอนิเวิร์ส เมตาเวิร์ส (Aniverse Metaverse), เมตาโพลิส (Metapolis), MQDC Idyllias หรือกระทั่ง ออมสินเมตาเวิร์ส เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่าต่อให้เมตาเวิร์สเป็นคำที่เป็นที่นิยม เป็นเทรนด์ที่มาแรงมาก ๆ ในตอนนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าคำว่าเมตาเวิร์สกลับค่อย ๆ หายจากพื้นที่สื่อ และหายไปจากความสนใจของผู้คน

ในตอนที่เมตาได้เปลี่ยนชื่อบริษัท ก็ได้เปิด ‘ที่ทำงานจำลอง’ ที่ชื่อ ฮอไรซอนเวิร์ครูม (Horizon Workrooms) ซึ่งแม้ว่าคอนเซ็ปต์หลักของการสร้างห้องประชุมจำลองในตอนนั้นถือว่าทำได้ดีมาก แต่กลายเป็นว่า Horizon Workrooms เป็นเหมือนกับเกมโลกเสมือนที่หน้าตาธรรมดา และเพิ่มหน้าจองานเข้าไปแทน ในมุมมองของหลาย ๆ คนก็มองว่าเป็นอะไรที่ไม่จำเป็นเอาได้หรือเปล่า โดยเฉพาะจากที่เราสังเกตกันในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เทรนด์การทำงานที่บ้านเข้ามา แต่ไม่ได้มาในรูปเมตาเวิร์ส แต่มาในรูปแบบ Zoom !

กลายเป็นว่า การทำงานในคอมพิวเตอร์ที่บ้านแบบธรรมดา แต่มีโปรแกรมประชุมออนไลน์ที่สามารถเข้าได้พร้อมกันหลาย ๆ คนอย่าง Zoom, Google Meet, Microsoft Teams แทน และที่ทำงานจำลอง ที่ไม่ได้มีแค่ Horizon Workrooms แต่รวมไปถึง Gather.town ซึ่งคนสนใจเพียงชั่วครู่เท่านั้นเอง

และนี่คือสัญญาณแรกเท่านั้น  
                            Identity Crisis – ปัญหาด้านตัวตนของเมตาเวิร์ส  

ในขณะเดียวกัน เมตาเวิร์สก็เจอกับปัญหาด้านอัตลักษณ์อย่างหนักตั้งแต่เริ่มเลย จากบทความในประเด็นเดียวกันนี้ของ Business Insider บอกว่าสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจไปต่อ และประสบความสำเร็จได้จะต้องประกอบไปด้วย : การใช้งานที่ชัดเจน, กลุ่มเป้าหมาย และความต้องการของลูกค้าที่อยากจะ ‘ย้าย’ มาใช้สินค้านั้น ๆ โดยในตอนนั้น มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กก็ได้ยืนยันว่า เมตาเวิร์สจะเป็นวิสัยทัศน์ของบริษัทอื่น ๆ ต่อไป และเป็นถึง ‘ขั้นต่อไปของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบพกพา’ เลยก็ว่าได้ แต่เอาจริง ๆ เมตาเวิร์สยังไม่สามารถตอบคำถามเรื่องส่วนประกอบก่อนหน้านี้ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

ถ้าพูดกันจริง ๆ แล้ว คอนเซ็ปต์ของความเป็น ‘โลกเสมือนที่จะให้แต่ละคนเข้าสู่โลกจำลอง และมีปฏิสัมพันธ์ด้วยตัวละครที่สร้างขึ้นเอง’ นั้นถือเป็นคอนเซ็ปต์ที่เก่ามาก ๆ แล้ว ย้อนไปจนถึงยุคของเกมออนไลน์สมัยก่อน ถ้าแกนกลางของเมตาเวิร์สคือสิ่งนั้นแล้ว Ragnarok Online เองก็ไม่ได้ต่างกันนัก

แม้เมตาเวิร์สในตอนนี้จะยังเป็นโครงค่อนข้างมาก แต่ผลงานที่เข้าใกล้เมตาเวิร์สของซักเคอร์เบิร์กอย่าง Horizon Worlds (ฮอไรซอน เวิลส์) โลกเสมือนที่ต้องใช้แว่น VR หนาเตอะในการเข้าร่วม (ซึ่งตอนนี้ราคาก็ยังแรงจนเข้าถึงทุกคนไม่ได้) ก็ยังไม่ได้ทำอะไรที่เข้าใกล้วิสัยทัศน์ที่มาร์ควางเอาไว้เลย 
                                 Emerging Martet ? – ตลาดใหม่จริงหรือเปล่า ?   

อย่างที่อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ว่าเมตาเวิร์สนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่มาก (และเก่าไปพร้อม ๆ กัน) และยิ่งมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ตัดสินใจลงมาเล่นเรื่องนี้ และมุ่งพัฒนาเมตาเวิร์สของตัวเองแล้ว ก็มีคนตามอย่างต่อเนื่องเลย และหลาย ๆ ผู้ผลิตก็ตัดสินใจลงมาเล่นโดยที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบถึงแกนหลักของเมตาเวิร์สด้วยซ้ำไป

สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) CEO ของ Microsoft เคยพูดในการประชุม Ignite Conference ของบริษัทในปี 2021 ที่ผ่านมา ว่าเขาไม่สามารถพูดได้เลยว่า Metaverse เป็นความก้าวหน้ามากแค่ไหน สำหรับ Microsoft, อุตสาหกรรมไอที และโลกใบนี้

นอกจากนั้นก็มีคนพยายามเข้าตลาดเมตาเวิร์สกันเรื่อย ๆ รวมถึงคนในวงการสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) ด้วย เช่น Bored Ape Yacht Club NFT ที่พยายามจะทำเมตาเวิร์สของตัวเอง ด้วยการเอาตัว ‘NFT ลิง’ ของแต่ละคนใส่เข้าไปในนั้น (แม้ในตอนนี้จะยังไม่เห็นผลเป็นรูปเป็นร่างก็ตาม) และคนในวงการอื่น ๆ ก็เลือกที่จะนำเอาคริปโทเคอร์เรนซีเข้าไปผสมกับเมตาเวิร์ส ออกมาเป็น NFT ที่ดินในเมตาเวิร์ส หรือ สกุลเงินดิจิทัลในเมตาเวิร์ส เป็นต้น

หรือแม้แต่ธุรกิจที่อาจจะไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเลยอย่าง Disney ก็เคยก่อตั้งแผนกเมตาเวิร์สในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เพื่อวิจัย และสร้างวิธีการใหม่ ๆ สำหรับสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมดิสนีย์ด้วยรูปแบบที่แปลกใหม่ และก็ถูกปิดตัว และเลิกจ้างทีมงานไป 50 คนในปี 2023 นี้เอง และ Walmart ที่เปิดตัว WMT Metaverse เป็นเมตาเวิร์สของตัวเอง แถมเตรียมจะขายเหรียญคริปโทฯ ของตัวเอง และทำตลาด NFT ของตัวเองด้วย ! แต่นั่นเป็นข่าวตั้งแต่เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา และไม่มีอัปเดตอีกเลย

เรียกได้ว่าบริษัทต่าง ๆ ในระดับโลก ต่างพยายามเข้าสู่ ‘ตลาดใหม่’ อย่างเมตาเวิร์สนี้ และการที่มีคนเริ่มลงมือเยอะแบบนี้ ทำให้นักวิเคราะห์ตลาดหลายคนมองว่านี่แหละคือตลาดใหม่ อย่างบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน การ์ตเนอร์ (Gartner) อ้างว่าคนกว่า 25% จะเข้าไปใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อวันใน Metaverse ภายในปี 2026 นี้, หรืออย่าง The Wall Street Journal ก็ออกรายงานว่า Metaverse จะเปลี่ยนวิธีการทำงานของเราไปตลอดกาล, หรืออย่างซิตี้ (Citi) ที่ได้จัดทำรายงานขนาดใหญ่ที่ประกาศว่า Metaverse จะเป็นโอกาสในการสร้างเม็ดเงินได้ถึง 13 ล้านล้านเหรียญเลยทีเดียว

แม้เมตาเวิร์สจะเป็นเหมือนตลาดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาเพื่อเป็น ‘อนาคต’ ของวงการเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้ แต่ถ้าเราข้ามเวลามาถึงตอนนี้ (พฤษภาคม 2023) ก็ต้องเกิดคำถามกันแน่ ๆ ว่า…
                     Where is it now ? – แล้วตอนนี้เมตาเวิร์สหายไปไหนแล้ว ?  

ช่วงกลางปีที่แล้ว (2022) Meta, Microsoft รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีอีกหลายบริษัทได้รวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนามาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมเมตาเวิร์ส โดยมีเป้าหมายในการสร้างโลกดิจิทัลที่แต่ละโลกสามารถเข้ากันได้ (compatible) ในนาม Metaverse Standard Forum และสร้างมาตรฐานในการทำงานที่ต้องร่วมมือกัน แต่โดยพื้นฐานแล้วก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าสรุปแล้วเมตาเวิร์สที่เป็น ‘มาตรฐานกลาง’ นั้นจะต้องเป็นแบบไหนกันแน่

อย่างที่เคยบอกเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า แกนหลักของเมตาเวิร์ส (อย่างน้อยก็จนถึงตอนนี้) นั้นยังไม่ได้มีความต่างจาก ‘เกมออนไลน์’ ที่สามารถซื้อ ‘ที่ดินในเกม’ ด้วย ‘สกุลเงิน’ ของเกมนั้น ๆ และคอนเซ็ปต์นี้ของเกมออนไลน์ต่าง ๆ (โดยเฉพาะเกม MMORPG เช่น Black Desert Online หรือ Albion Online) ก็เป็นสิ่งที่มีมานานมาก จนทำให้เมตาเวิร์สที่มาใหม่นี้ ไม่ได้ใหม่อย่างที่ใครหลาย ๆ คนคิด

และทั้งหมดนั้นนำไปสู่ความ ‘ร้าง’ ของเมตาเวิร์ส 

DappRadar ผู้ให้บริการเทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับเกม ได้บอกข้อมูลจำนวนผู้ใช้งาน (Active User) รายวันของ Decentraland หนึ่งในเมตาเวิร์สที่ชื่อดังที่สุดของโลก มีคนสนับสนุนมาก ไร้ตัวกลาง แถมยังมีพื้นฐานบนคริปโทเคอร์เรนซี ที่ 38 ราย และ The Sandbox เมตาเวิร์สชื่อดังอีกแห่ง มีผู้ใช้รายวัน 522 ราย เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา (2022) นี้เอง แม้ทาง Decentraland จะออกมาทวิตบอกว่า ยอดผู้ใช้งานรายวันนั้นถือว่าไม่ถูกต้อง และได้รายงานยอดด้วยตัวเองออกมาว่าตอนนั้นมีคนใช้อยู่ถึง 56,697 ราย ตลอดทั้งเดือนนั้น และมีผู้ใช้ต่อวันช่วงนั้นอยู่ที่ประมาณ 8,000 รายก็ตาม

ทาง Decentraland บอกว่าถ้าอยากดูข้อมูลผู้ใช้ให้เข้าไปดูบนเว็บไซต์ dcl-metrics.com แต่จากที่ผู้เขียนได้ลองไปดูในวันนี้ (24 พฤษภาคม 2023) ก็พบว่าผู้ใช้ในวันนี้มีอยู่แค่ 455 รายเท่านั้นเอง !

ช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงที่แสดงสัญญาณถึงขาลงของเมตาเวิร์สเลยก็ว่าได้ เช่น วิทาลิก บูเทอริน (Vitalik Buterin) ผู้ร่วมก่อตั้งอีเธอเรียม (Ethereum) เหรียญคริปโทอันดับ 2 ของโลก ไม่เชื่อว่าความพยายามที่จะสร้างเมตาเวิร์สทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้จะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเมตาเวิร์สของเมตา, ที่ดินในเมตาเวิร์สราคาลดลงกว่า 85% แถมปริมาณซื้อขายลดลงอย่างมากตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

และจุดแตกหักก็มาถึง เมื่อเมตา ได้เผยภาพแรกของเมตาเวิร์สที่เมตาสร้างขึ้นเองกับมืออย่าง Horizon Worlds พร้อมอวทาร์ ของเขาเองแล้วภาพที่ออกมานั้น… 
             ภาพแรกของ Horizon Worlds ‘เมตาเวิร์ส’ ในแบบของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก  

ซึ่งหลังจากที่ภาพนี้ออกสู่สายตาชาวโลก ก็สร้างกระแส (ในทางลบ) ให้กับเมตา และเมตาเวิร์สในภาพรวมขึ้นมาทันที เพราะขนาดเจ้าที่เป็นผู้นำอย่างเมตา ยังไม่สามารถทำเมตาเวิร์สให้ออกมาดีได้ หลาย ๆ คน (โดยเฉพาะคนเล่นเกม) ก็จะมอง Horizon Worlds เป็นเกมที่กราฟิกดูเก่าเกินกว่าจะเป็น ‘โลกเสมือน’ หรือ ‘จักรวาลนฤมิต’ ที่หลาย ๆ คนวาดฝันเอาไว้ ซึ่งแม้แต่ผู้บริหารของ Meta ยังบอกเลยว่า แอปเมตาเวิร์สของเมตานั้นบั๊กเยอะเกินไป แม้แต่ทีมพัฒนายังใช้งานไม่มากเท่าที่ควร โดย The Wall Street Journal เองก็รายงานว่า มีแค่เพียงประมาณ 9% ของโลกใน Horizon Worlds ที่ผู้ใช้สร้างขึ้นแค่นั้น ที่ถูกเยี่ยมชมโดยผู้เล่นมากกว่า 50 คนนั่นแปลว่าแม้แต่เมตาเองก็ไม่อาจจะดึงคนให้เข้ามาใช้เมตาเวิร์สของเขาได้เลย และอีกไม่นานต่อมา (ตุลาคม 2022) หุ้นของบริษัท Meta ก็ร่วงลงไปถึง 24% ซึ่งนับเป็นจุดต่ำสุดตั้งแต่ปี 2016 ที่ผ่านมาเลย

และยังเคราะห์ซ้ำ กรรมซัดยิ่งขึ้นอีก เมื่อเมตาเวิร์สต้องเผชิญกับ ‘คลื่นลูกใหม่กว่า’ ที่จะเข้ามาซัดใส่เมตาเวิร์สที่ไม่มีเสถียรภาพอยู่แล้ว ให้สั่นคลอนยิ่งขึ้นไปอีก อย่าง ‘AI’ 
                           AI : The ‘newer’ wave – ผู้ปิดฉากเมตาเวิร์สที่แท้จริง  

ในขณะที่เมตาเวิร์สกำลังอยู่ในช่วงซบเซาอย่างมาก ผู้ท้าชิงใหม่อย่าง OpenAI หน่วยงานวิจัยที่ได้ศึกษา และพัฒนา AI ที่เป็นมิตร ก็ได้ออก ‘AI’ ที่เขย่าวงการเทคโนโลยีในช่วงปลายปี 2022 อย่าง DALL-E ที่แค่พิมพ์คำอธิบายเข้าไป ก็ออกมาเป็นภาพวาดได้ และ ChatGPT โมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ถูกฝึกมาเพื่อตอบคำถามทุกอย่างที่เราพิมพ์ใส่เข้าไปให้ได้ จากข้อมูล, ความน่าจะเป็นที่คาดเดาคำตอบให้เราได้ ซึ่งจะสามารถตอบคำถามได้หลายอย่างมาก ๆ โดยไม่ต้องต่ออินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ นอกจากนั้นยังมี MidJourney ที่สามารถสร้างภาพวาดจากคำที่เรากำหนดให้มันได้ แถมยังทำได้ง่าย ๆ ผ่าน DIscord อีกด้วย

ซึ่งการเข้ามาของ AI นี้ก็ได้เบนเข็มความสนใจของผู้คนออกจากเมตาเวิร์ส ไปตามทาง AI เหล่านี้อย่างรวดเร็ว ถ้าใครได้ตามอ่านข่าวอยู่เรื่อย ๆ จะพบว่า ChatGPT ล่มบ่อยมากในช่วงที่บูม หรือกระทั่งจนมาถึงทุกวันนี้ คนก็ได้ให้ความสนใจกับ AI อย่างมากด้วย

ซึ่งจากก่อนหน้านี้ ปัจจัยที่จะทำให้สินค้านั้น ๆ ประสบความสำเร็จอย่างการใช้งานที่ชัดเจน, กลุ่มเป้าหมาย และความต้องการของลูกค้าที่อยากจะ ‘ย้าย’ มาใช้สินค้านั้น ๆ ในขณะที่เมตาเวิร์สยังไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีนัก AI ที่เข้ามาใหม่สามารถตอบโจทย์สิ่งเหล่านั้นได้ทั้งหมด

  • การใช้งานของ AI นั้นชัดเจน แต่ละ AI มีวัตถุประสงค์ในการสร้างที่ชัดเจนมาก ๆ ตั้งแต่ตอนสร้างมา เช่น ChatGPT มีไว้เพื่อตอบคำถาม, MidJourney มีไว้เพื่อสร้างภาพจากคำที่กำหนด เป็นต้น
  • กลุ่มเป้าหมายของ AI เองแม้จะยังไม่ชัดเจนมาก แต่ก็สามารถสร้างกลุ่มเป้าหมายของตัวเองที่ชัดเจนขึ้นมาได้ อยู่ที่ผู้ใช้เลยว่าจะนำ AI เหล่านั้นไปใช้ในทางไหน
  • แต่จุดสำคัญอยู่ตรงที่ ผู้ใช้แต่ละคนนั้นรู้ว่าเพราะอะไรถึงจะอยากย้ายมาใช้ AI เหล่านี้ ด้วยความสามารถ, กรณีที่จะใช้งานได้ (Use Case), และความสามารถในการแก้ปัญหาของ AI ที่ทำให้สั่นคลอนหลายวงการ จนเกิดคำถามว่า AI จะเข้ามาแทนที่การทำงานของเราแล้วจริง ๆ หรอ ? ขึ้นมา

เมื่อเทรนด์ใหม่ ที่สามารถครองใจผู้คนได้เข้ามา ทำให้เทรนด์เก่าอย่างเมตาเวิร์ส ที่แม้ตอนนี้จะยังคงมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างเงียบ ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการลดหายไปเยอะอย่างน่าเหลือเชื่อ มีหลากหลายบริษัทที่กระโดดเข้ามาทำเรื่องนี้ ได้กระโดดออกไปแล้ว อย่างเช่น Walmart ที่ก่อนหน้านี้จะทำเมตาเวิร์สของตัวเอง ก็ได้ปิดเมตาเวิร์ส (ที่เปิดให้เล่นในเกม Roblox) ซึ่งเปิดมาได้แค่ 6 เดือนเท่านั้น และยังไม่ได้นับรวมถึง Disney ก่อนหน้านี้ที่มีการปิดแผนกเมตาเวิร์สและปลดคนไปแล้วด้วย ซึ่งทำใก้เกิดเป็นเทรนด์การปลดคนระลอกหนึ่งเลยก็ว่าได้

แม้กระทั่งเมตาเอง ที่โดนผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งหุ้นตก, มูลค่าทรัพย์สินของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ลดลง หรือกระทั่งเมตาเวิร์ส Horizon Worlds ที่ยังไม่เห็นภาพการพัฒนาที่มากกว่าที่เคยเห็นภาพกัน ก็ตัดสินใจค่อย ๆ ‘ถอยห่าง’ ออกจากเมตาเวิร์สแล้ว แล้วก็ไปทุ่มทุนกับ AI ต่อแทน โดยซักเคอร์เบิร์ก ได้บอกเองเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า “การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเราคือการทำให้ AI ก้าวหน้าให้มาก และนำ AI เหล่านั้นเข้ามาใส่ในผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นของเราให้ได้” รวมถึงเลิกเสนอเรื่องเกี่ยวกับเมตาเวิร์สในการประชุมกับผู้ลงโฆษณาต่าง ๆ แล้ว แต่ไปเน้นเรื่องการทำวิดีโอแบบสั้น (Reels) และไปเน้นย้ำเรื่องการใช้งานเครื่องมือ AI ของเมตาแทน แม้จะลงทุนไปแล้วมหาศาลเลยก็ตาม แม้จะยังไม่มีการรายงาน หรือแถลงออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็คงสรุปได้ไม่ยากว่า เมตาน่าจะเลิกสนใจในเมตาเวิร์สไปแล้ว

                        The Epilogue (?) – บทสรุปส่งท้าย (?)  

แม้ท้ายที่สุดแล้วเมตาจะตัดสินใจถอยห่างออกจากเมตาเวิร์สอย่างช้า ๆ แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพราะเมตาเวิร์สยังคงมีปัญหาด้านการหาตัวตนในแบบของตัวเอง แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จนถึงตอนนี้ หลาย ๆ เจ้าที่เริ่มลงทุนลงแรงในเมตาเวิร์ส และยังไม่ถอยห่างออกมา ก็อาจจะยังซุ่มพัฒนาเมตาเวิร์ส ‘ในแบบของตัวเอง’ อยู่ก็ได้

ซึ่งแม้ในภาพรวม บทสรุปของเมตาเวิร์สอาจจะจบลงไปแล้ว แต่อีกหลายเจ้าที่ยังคงดำเนินการสร้าง หรือเปิดให้บริการอยู่ เช่นรายใหญ่อย่าง Decentraland, The Sandbox หรือกระทั่งเมตาเวิร์สในไทยที่ได้ยกตัวอย่างเอาไว้ก่อนหน้านี้ อาจจะประสบความสำเร็จก็ได้ เมื่อเราสามารถหาลู่ทางให้คนมาใช้ และหา ‘เหตุผลในการย้าย’ ให้กับผู้ใช้ได้

บางคนอาจจะมองว่าเรื่องราวของเมตาเวิร์สนั้นจบลงไปแล้ว บางคนอาจจะมองว่าเมตาเวิร์สยังอยู่อีกนาน และบางคนก็อาจจะบอกว่านี่เพิ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น

แต่ในมุมมองของผู้เขียนเองนั้นสามารถมองได้ 2 มุม

  • ตอนนี้โลกของเรายังไม่พร้อมสำหรับ ‘เมตาเวิร์ส’ ด้วยปัญหาด้านตัวตนที่บอกมาก่อนหน้านี้ ทำให้ภาพเมตาเวิร์สในมุมของนักลงทุน, นักธุรกิจ ไปจนถึงผู้สร้างเอง ยังไม่เป็นรูปธรรมมากพอ และติดกับดักภาพจำเกมออนไลน์แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกมออนไลน์ทำ ‘เมตาเวิร์ส’ ของตัวเองได้ดีกว่าที่หลายคนประกาศว่าจะทำเสียอีก (ลองดู Final Fantasy XIV เกมที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2013 หรือสิบปีที่แล้ว และยังให้บริการถึงตอนนี้ ยังให้ภาพ Metaverse ที่มีสีสัน มีเนื้อหา มีอะไรทำ มีวัตถุประสงค์มากกว่าสิ่งที่ประกาศว่าเป็น Metaverse อีก)
  • เมตาเวิร์สตอนนี้อาจจะยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น และแม้จะผ่านมานานหลายปีแล้วก็ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่เดิมอยู่ ถ้าเรายังหาเหตุผลให้คนต้องลงทุนซื้อแว่น VR ราคาหลักหมื่นบาท รวมไปถึงไม่เดินทางออกไปไหน อยู่แต่ที่บ้าน ไม่ต้องออกไปทำงาน (เพราะทำในเมตาเวิร์ส) หรือไม่ต้องใช้ชีวิตนอกบ้านอีกแล้ว อยู่แต่ในเมตาเวิร์ส เสมือนเป็นโลกใบที่ 2 ของเราไปเลย (ตามภาพจำแนวภาพยนตร์ Ready Player One) เมตาเวิร์สอาจจะมีเหตุผลให้มีอยู่ก็เป็นได้

โดยสรุปแล้ว ถ้าถามว่าเมตาเวิร์สมาถึงตอนอวสานแล้วหรือยัง ? คงต้องตอบว่า ถ้าในตอนนี้เมตาเวิร์สยังหาตัวตน หาเหตุผลให้คนย้ายจากสิ่งที่เขาใช้อยู่เดิม มาอาศัยในเมตาเวิร์สแทนไม่ได้ เมตาเวิร์สก็ยังไม่อาจจะก้าวหน้าไปกว่านี้ และนำไปสู่ ‘อนาคตของอินเทอร์เน็ต’ ได้




Create Date : 25 พฤษภาคม 2566
Last Update : 25 พฤษภาคม 2566 10:41:35 น. 0 comments
Counter : 304 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนี่งหน่อง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




pub-1485477287124314
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2566
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
25 พฤษภาคม 2566
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หนี่งหน่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.