เทวตานุสสติกรรมฐาน
เทวตานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์ เทวดา แปลว่า ผู้ประเสริฐ ความประเสริฐของเทวดามีอย่างนี้ ถ้าพูดกันตามความนิยมแล้ว ท่านที่จะเป็นเทวดาก็ต้องเกิดเป็นคนก่อน เมื่อเป็นคนก็ต้องศึกษาหลักสูตรของเทวดาว่า จะเป็นเทวดานั้นต้องเรียนรู้แล้วปฏิบัติอะไรบ้าง หลักสูตรที่ทำคนให้เป็นเทวดานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่ามี ๒ แบบ คือ
เทวดาแบบที่ ๑ เป็น เทวดาชั้นกามาวจร คือ ชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี รวม ๖ ชั้นด้วยกัน ทั้ง ๖ ชั้นนี้ บวกภูมิเทวดาที่เรียกว่าพระภูมิเจ้าที่ และรุขเทวดา พวกเทวดาที่มีวิมานอยู่ตามสาขาของต้นไม้ ที่เรียกว่า นางไม้ เข้ากับเทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดา ๖ ชั้นนี้ ท่านว่าใครจะไปเกิดในที่นั้น ๆ เพื่อเป็นเทวดา ต้องศึกษาและปฏิบัติตามเทวตาหลักสูตรเสียก่อน คือท่านให้เรียนรู้เทวธรรมที่ทำตนให้เป็นเทวดา ได้แก่
๑. หิริ ความละอายต่อความชั่วทั้งหมด ไม่ทำความชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่วจะลงโทษ ไม่ยอมประพฤติชั่วทั้งกายวาจาใจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
ทั้งนี้ก็หมายความว่า ต้องเป็นคนมีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และมีจิตเมตตาปรานี ตลอดกาลตลอดสมัย ถึงแม้ยังไม่ได้ฌานสมาบัติก็ไม่เป็นไร เอากันแค่ศีลบริสุทธิ์ มีจิตเมตตาปรานีใช้ได้ ท่านว่าใครศึกษาและปฏิบัติหลักสูตรนี้ได้ครบถ้วน เกิดเป็นเทวดาได้ หากปฏิบัติได้อย่างเลิศก็เป็นเทวดาอย่างเลิศ ถ้าปฏิบัติได้อย่างกลางก็เป็นเทวดาปานกลาง ถ้าปฏิบัติอย่างหยาบ ก็เป็นเทวดาเล็กๆ เช่น ภูมิเทวดา หรือรุขเทวดา พระพุทธเจ้าท่านตรัสหลักสูตรของเทวดาประเภทที่ ๑ ไว้อย่างนี้ ท่านผู้อ่านจงจำไว้ให้ขึ้นใจ จะได้ไม่สงสัยเรื่องเทวดา
* สรุปจากหนังสือไตรภูมิ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน | เทวดาประเภทที่ ๒ นี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า พรหม ท่านจัดพรหมรวมทั้งหมด ๒๐ ชั้นด้วยกัน ท่านแยกประเภทไว้ดังนี้
รูปพรหม มี ๑๖ ชั้น แยกเป็น ๒ ประเภทคือ พรหมที่ได้ฌานโลกีย์ ท่านจัดไว้ ๑๑ ชั้น กับพรหมที่เป็นพระอนาคามี และได้ฌาน ๔ ด้วย ๕ ชั้น รวมพรหมที่มีรูป ๑๖ ชั้น
อรูปพรหม มี ๔ ชั้น พรหมที่ไม่มีรูปนี้ เป็นโลกียพรหม ในหนังสือไตรภูมิท่านกล่าวว่า อรูปพรหมนี้ไม่ได้ตั้งปนอยู่กับพรหม แล้วก็ไม่ได้อยู่สูงกว่าพรหมที่มีรูป อยู่ในช่องกึ่งกลางระหว่างพรหมชั้นที่ ๘ กับพรหมชั้นที่ ๙
๏ หลักสูตร รูปพรหม
๑. ได้ฌานที่ ๑ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑, ๒, ๓
๒. ได้ฌานที่ ๒ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๔, ๕, ๖
๓. ได้ฌานที่ ๓ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๗, ๘, ๙
๔. ได้ฌานที่ ๔ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑๐ และ ๑๑
ทั้งหมดนี้เป็นพรหมชั้นโลกีย์ |
๏ หลักสูตร รูปพรหม อนาคามี
พรหมอีก ๕ ชั้น คือชั้นที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๑๕ และ ๑๖ รวม ๕ ชั้นนี้ ต้องได้บรรลุมรรผลเป็น พระอนาคามี ได้ฌาน ๔ มาก่อน
๏ หลักสูตร อรูปพรหม ๔ ชั้น
ท่านทั้ง ๔ ชั้นนี้ ท่านต้องเจริญฌานในกสิณแล้วเจริญอรูปฌาน ๔ ได้อีกจึงจะมาเกิดเป็นอรูปพรหมได้ แต่ท่านก็ได้เพียงฌานโลกีย์ ไม่ใช่พระอริยเจ้า
|
หลักสูตรเทวดาและพรหมมีอย่างนี้ ท่านสอนให้ระลึกนึกถึงความดี คือคุณธรรมที่เทวดาและพรหมปฏิบัติมาแล้ว จนเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมได้ ก็ชื่อว่าท่านได้รับผลความดีที่ท่านปฏิบัติมาแล้ว ถ้าเราปฏิบัติอย่างท่าน เราก็อาจจะมีผลความสุขเช่นท่าน เพราะเทวดาขนาดเลวนั้น ดีกว่ามนุษย์ชั้นดีอย่างเปรียบกันไม่ได้เลย เพราะเทวดามีกายเป็นทิพย์ มีที่อยู่เป็นทิพย์ ไปไหนก็เหาะไปได้ ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเหมือนเรา
ฉะนั้นความดีของเทวดานี้ ถึงจะยังไม่ถึงความดีในนิพพาน แต่ก็เป็นสะพานสำหรับปฏิบัติเพื่อผลในพระนิพพานได้เป็นอย่างดี ดีกว่ามาคิดว่าเทวดาไม่เป็นเรื่อง เทวดาไม่มี เราเป็นพุทธสาวก เมื่อพระพุทธเจ้าท่านว่ามีเราก็ควรเชื่อไว้ก่อน แล้วสร้างสมาธิทำทิพยจักษุญาณให้เกิด ตรวจสอบคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง จะพบว่าที่ท่านสอนว่า เทวดา พรหม นรก สวรรค์ มีจริงนั้น ท่านสอนตรง ไม่ใช่สอนแบบยกเมฆ ท่านบูชาเทวดา ท่านอาจดีตามเทวดา แต่ถ้าท่านด่าเทวดา ท่านอาจไม่ได้พบเทวดาเลย
เทวตานุสสตินี้ ถ้าฝึกจนเกิดอุปจารฌานแล้วท่านเจริญวิปัสสนาญาณต่อ ท่านจะเข้าถึงมรรคผลได้ไม่ยาก เพราะเป็นภูมิธรรมที่ละเอียด และมีแนวโน้มเข้าไปใกล้พระนิพพานมาก จากหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี |
๏ คำว่าเทวดาอีกหมวดหนึ่ง ศัพท์เขาเรียกว่าเทพคือพระหรือเทวดานี่ เขาแปลว่าประเสริฐ แบ่งเป็น ๓ ชั้นด้วยกัน
๑. สมมุติเทพ คนที่ทรงจิตมีคุณธรรมอยู่ในด้านของเทวธรรม คือมีหิริความละอายต่อความชั่ว โอตตัปปะ เกรงกลัวผลของความชั่วจะให้ผลเป็นทุกข์ และก็ไม่พยายามคิดชั่ว ไม่พยายามพูดชั่ว ไม่พยายามทำชั่ว อย่างนี้ท่านเรียกว่า สมมุติเทพ ถึงแม้ว่าจะเป็นคนก็มีสภาพเหมือนเทวดา สมมุติว่าท่านผู้นั้นเป็นเทวดาได
้๒. อุปปัติเทพ หมายความว่าเกิดขึ้นไปก็เป็นเทวดาเลย เป็นเทวดาหรือพรหมเราก็เรียกว่าเทวดา นั่นก็หมายความว่า ท่านที่ทรงคุณธรรม ๒ ประการประจำใจ ปฏิบัติจิตใจให้หมดจด ปราศจากความชั่วอันดับต้น ที่เรียกกันว่าชั้นกามาวจรสวรรค์หรือว่าจะสามารถทรงฌานสมาบัติ ทั้ง ๒ ประการนี้ เวลาตายจากคนก็ไปเป็นเทวดาชั้นพรหม
๓. วิสุทธิเทพ หมายความว่าเป็นเทวดาด้วยความบริสุทธิ์ คือพระอรหันต์ที่เข้าถึงพระนิพพาน | ๏ พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ เราจะยึดอะไรเป็นสำคัญ มันจึงจะไม่ลงอบายภูมิ มองไปในอันดับหยาบ เราก็จะทราบว่า ศีล ๕ มีความสำุคัญเป็นที่สุด สำหรับเณรก็คือศีล ๑๐ สำหรับพระก็คือศีล ๒๒๗ นั่นเป็นศีลประจำตัว
ในเมื่อมีความมั่นใจว่า ศีลนี่จะสามารถให้เราทรงความดีเป็นสุขได้เมื่อตายไปแล้ว ชาตินี้เมื่อเรามีศีลบริสุทธิ์ อารมณ์เราก็เป็นสุข ชาติหน้าเมื่อเราตายไปแล้ว ศีลก็พาไปในส่วนแห่งความสุขที่สุด
ก็เป็นอันว่าเราก็ยึดศีลเป็นอารมณ์เกาะไว้ก่อน กันอบายภูมิ มีอารมณ์ตัดสินใจว่า เราจะไม่ยอมเป็นคนหน้าด้านเข้าไปทำลายศีล ถ้าเราทำลายศีลข้อใดข้อหนึ่งนั่นก็แสดงว่า เราหน้าด้าน และก็ใจด้านเต็มที เราเป็นคนไม่มียางอาย
อย่าลืมนะว่า เทวตานุสสตินี่เขามีอารมณ์อาย มีอารมณ์กลัว อายชั่ว กลัวชั่ว ฉะนั้นเมื่ออายชั่ว กลัวชั่ว ก็ต้องมองดูชั่วหยาบเสียก่อน ที่เราจะจับมันได้ง่าย นั่นก็คือจับศีลเข้าไว้ ถ้าเราละเมิดศีลแสดงว่าเราชั่วหยาบ เราทรงศีลบริสุทธิ์ แสดงว่าเราทรงความดีหยาบ ยังไม่ละเอียดพอ จิตใจยึดถือเป็นอารมณ์เป็นจิตตั้งมั่นเรียกว่า เป็นฌานในสีลานุสสติกรรมฐาน |
ตามที่กล่าวมาแล้วว่าจะหลับก็ดี จะตื่นอยู่ก็ดี จะทำกิจการงานใดๆ อยู่ก็ดี ภาระใดมันจะยุ่งสักเท่าใดก็ตามที ในขณะนั้นจิตของเราจะไม่ยอมวางศีลเป็นอันขาด การที่จะทำลายศีลด้วยตนเองก็ดี ยุให้ชาวบ้านทำลายศีลก็ดี หรือยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลก็ดี ไม่มีสำหรับเรา เพราะเรารู้สึกว่านั่นมันเป็นความชั่วที่เราละอายที่สุด และก็เป็นความชั่วที่เราเกรงกลัวที่สุด
นี่เทวตานุสสติกรรมฐานเริ่มต้น เขาจับจุดนี้ พอจับจุดนี้ได้แล้ว เราเป็นอะไร เราก็เป็นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ไม่ยากต่อไป จิตเราก็ก้าวต่อไปว่า ความเป็นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีนี่ยังดีไม่พอ ถ้าเราทรงคุณธรรมเพียงเท่านี้ เราก็เป็นคนที่น่าอายที่สุด เพราะว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงยกย่องอะไรเป็นสำคัญ ส่วนสำคัญที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง ก็คือพระนิพพาน
สมเด็จพระพิชิตมารไม่เคยยกย่องอย่างอื่นมีความดีเหนือพระนิพพานเลย เราจะต้องทำกำลังใจของเราก้าวเ้ข้าสู่พระนิพพานให้ได้ในชาตินี้ และก็ในเวลารวดเร็วไม่ใช่ช้านัก เพราะเราไม่แน่ใจว่าชีวิตของเรานี้ มันจะอยู่ไปได้สักกี่วัน วันนี้เห็นดวงอาทิตย์ แต่วันพรุ่งนี้อาจจะไม่เห็นดวงอาทิตย์ก็ได้ วันนี้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า แต่ว่าในตอนบ่ายเราอาจจะไม่เห็นดวงอาทิตย์ก็ได้ เพราะอะไร เพราะเราอาจจะตายก่อน
ฉะนั้นจึงรวบรวมกำลังใจประพฤติทรงธรรม ตามที่องค์สมเด็จพระชินวรตรัส คือว่าทำจิตให้มีความมั่นคง มีความประสงค์ที่จะตัดสังโยชน์อีก ๗ ประการ ก้าวเข้าไป สังโยชน์ ๑๐ ถ้าเราทรงได้ ๓ ข้อ ก็เป็นคนที่น่าอายที่สุด เพราะว่ายังบูชาความชั่วอยู่ ความชั่วที่เราจะต้องตัดนั่นก็ได้แก่อะไร
อันดับแรก กามฉันทะ มีความพอใจในรูปสวย แต่รูปที่มันไม่มีการทรงตัวอยู่ในความสวย มีความพอใจเสียงเพราะ มีความพอใจในกลิ่นหอม มีความพอใจในรสอร่อย มีความพอใจในการสัมผัสระหว่างเพศ จิตมั่วสุมในกามารมณ์ นี่มันเป็นความเลวทรามที่่น่าละอายที่สุด เพราะว่ารูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทั้งหมด มันไม่มีอะไรจริงๆ ไม่มีความจริงจัง ความสวยไม่ได้สวยจริง ร่างกายของคนและสัตว์เต็มไปด้วยความสกปรก วัตถุธาตุที่เราเห็นมีความสวยงาม มันก็ไม่มีการทรงตัว มีความสกปรกด้วย และก็หาการทรงตัวไม่ได้
สำหรับกิเลสข้อที่สอง ที่เราจะต้องเหวี่ยงมันไปให้ไกลที่สุดที่จะไกลได้ คือทั้งสองอย่างนี้ ทั้งกามฉันทะก็ดี ปฏิฆะก็ดี ปฏิฆะหรือว่าข้อที่ ๕ ของสังโยชน์ การที่มีอารมณ์รับการกระทบและเกิดความไม่พอใจ ไอ้คำ่ว่าไม่พอใจนี่ มันเป็นปัจจัยของความเร่าร้อน หรือความทุกข์มันเป็นความเลวที่น่าละอายที่สุด ถ้าจิตใจของเรายังมีสภาพอยู่อย่างนั้น เราก็เลวเต็มที เพราะเราคบกับความชั่ว เราไม่มีความอายในความชั่ว อารมณ์ของตัวเรา ถ้ามีความเร่าร้อนในการกระทบกระทั่งอารมณ์จากบุคคลอื่น ที่กล่าวมาเป็นเครื่องสัมผัส และก็มีความไม่พอใจอันนี้เป็นความเลวใหญ่ เราจะต้องโยนทิ้งไปให้ได้
ถ้าจิตใจก้าวมาถึงตอนนี้ อาศัยความเมตตาปรานี คือจิตทรงอยู่ในพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ ได้แก่มีความรัก มีความสงสาร ไม่อิจฉาริษยาเขา ยินดีในเมื่อเขาทั้งหลายเหล่านั้นได้ดี และก็เฉยในเมื่อถูกต้องกับอารมณ์ที่มาขวางกับความตั้งใจ อารมณ์ใดก็ตาม ที่เราตั้งใจมาแล้ว ถ้ามีอารมณ์อย่างอื่นขวางเข้ามาแทรกซ้อนเข้ามา จิตใจของเราไม่หวั่นไหว ถือว่าในเมื่อขันธ์ ๕ ยังปรากฏในขณะนั้น องค์สมเด็จพระบรมสุคตถือว่า เราจะต้องกระทบกับอารมณ์ทั้ง ๒ ประการ คือ อิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างหนึ่ง แล้วก็ อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาอย่างหนึ่ง เป็นอันว่าอารมณ์ทั้ง ๒ ประการนี้ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ใจของเราก็มีการวางเฉย ถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ใครจะด่าจะว่าก็รู้สึกว่า นั่นมันเป็นเรื่องของความเลวของคน เรากลัวความชั่ว อายความชั่ว เราจะไ่ม่ยอมด่าตอบ เราจะไม่ยอมว่าตอบ เราจะไม่ยอมชั่วตอบ หรือว่าเราจะไม่ยอมร่วมความชั่วกับเขา
เราต้องยอมรับนับถือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระทรงธรรม์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าร่างกายสกปรก ร่างกายมีอารมณ์แทรกแซง และอัฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ปรารถนาและไม่ปรารถนา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้วอดวายไปเสียได้ก็ดี เราจะได้พ้นทุกข์ อารมณ์เราจะมีความสุขเพราะไม่มีกายนี้ เป็นอันว่าสำหรับปฏิฆะนี้ถือเรื่องอารมณ์เป็นสำคัญ อารมณ์สรรเสริญไม่สนใจ อารมณ์ที่เขานินทาว่าร้ายเราก็ไม่สนใจ ตัวที่มีความสำคัญที่สุดตัวนี้ คืออุเบกขา แต่ขณะใดเราทรงอุเบกขาได้ ขณะนั้นชื่อว่าเราเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งหิริ และโอตตัปปะขั้นอนาคามี
ต่อไปก็ก้าวถึงความดีของความเป็นพระอรหันต์ หิริ และโอตตัปปะ อายอะไรสำหรับพระอรหันต์ การจะเป็นพระอรหันต์เราก็ต้องอายจิตที่มันชั่ว แต่ความจริงตอนนี้ง่าย เราจะลำบากอยู่แค่พระโสดาบัน สกิทาคามี เพราะตัดกิเลสหยาบ ตอนนี้เรามาอายกิเลสละเอียด กิเลสละเอียดก็คือ รูปราคะ อรูปราคะ ถ้าหากจิตของเรายังคิดอยู่ว่ารูปฌาน และอรูปฌานนี่เป็นของดีชั้นเลิศประเสริฐ สามารถทำให้คนพ้นทุกข์ได้ก็แสดงว่า อารมณ์ของเรายังชั่ว เพราะว่าแค่รูปฌาน อรูปฌานไม่สามารถจะบันดาลให้คนพ้นทุกข์ได้จริงจัง แต่ทว่าเราก็ต้องเกาะรูปฌาน และอรูปฌานเป็นกำลังใหญ่ สำหรับห้ำหั่นบรรดากิเลสทั้งหลาย
มองดูคนได้ฌาน คนผู้หลงอยู่ในฌาน นั่นท่านทรงอยู่ในฐานะ อนาคามี ก็ยังไม่มีความดีจริงๆ ยังไม่มีความสุขจริงๆ เพราะว่ายังมีความวุ่นวายอยู่ในมานะ คือการถือตัวถือตน ยังมีความวุ่นวายใน อุทธัจจะ คืออารมณ์ยังแทรกซ้อน มีอารมณ์ซ่านไม่เข้าจุดหมายปลายทาง ยังไม่มีอารมณ์สงบ ยังมีอวิชชา ความโง่ยังหลงเหลืออยู่ ที่ยังติดอยู่ในรูปฌาน และอรูปฌาน มานะ และอุทธัจจะ ฉะนั้นในฐานะที่จิตของเราเป็นจิตชั้นเลิศ ที่ทรงเทวตานุสสติเป็นอารมณ์ เทวตานุสสตินี่เขาเรียกว่านึกถึงอารมณ์ประเสริฐ เขานึกถึงคุณธรรมซึ่งทำบุคคลให้มีความประเสริฐ เป็นอันว่าท่านผู้ใดใช้กรรมฐานกองนี้ อารมณ์ของท่านไม่มีชั่ว มีแต่ดีเป็นที่สุด แล้วก็เป็นอรหันต์ง่าย
แล้วก็มานั่งมอง ว่าการถือตัวถือตนนะมันดีหรือว่ามันเลว ถ้ามองไปจริงๆ ว่าการถือตัวถือตนนี่เลวจริงๆ เพราะอะไร เราไปนั่งถือกันทำไม ผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี เด็กก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี คนแก่ก็ดี หรือว่าสัตว์เดรัจฉานก็ดี ฐานะสูงก็ดี ฐานต่ำก็ดี ความรู้มากก็ดี ความรู้น้อยก็ดี หรือว่ามีตระกูลสูงก็ดี มีตระกูลต่ำก็ดี ก็ไอ้สภาพของ เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีสภาพของร่างกายสกปรก มีความเกิดในเบื้องต้น ร่างกายเสื่อมไปในท่ามกลาง และก็สลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน และก็มานั่งรังเกียจอะไรร่างกาย แร้งต่อแร้งมาเหม็นสาบกันเองนี่ ก็รู้สึกว่ามันจะเลวเกินไป เป็นอันว่าร่างกายของใครต่อของใครก็ตาม มันมีสภาวะเช่นเดียวกัน คนรวยก็ตาย คนมีศักดิ์ศรีใหญ่ก็ตาย คนตระกูลสูงก็ตาย ตระกูลต่ำก็ตาย มีความรู้น้อยก็ตาย มีความรู้มากก็ตาย และก็สกปรกโสมมเหมือนกัน อารมณ์ไม่ทรงตัวเหมือนกัน ทำไมจึงต้องรังเกียจกัน ตัดสินใจง่ายๆ แบบนี้
แล้วก็มาอุทธัจจะอารมณ์ที่มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ตอนนี้ไม่มีอะไรมาก เป็นแต่เพียงว่ามีอารมณ์ยับยั้งไว้ตอนหนึ่งว่า เวลานี้เราทรงความเป็นพระอนาคามีก็มีสุขที่เรา ๑. เรามีศีลบริสุทธิ์ เราไม่ไปอบายภูมิ ๒. เราไม่มีกามฉันทะ ความวุ่นวายมากระทบไม่มี ๓. เราไม่มีปฏิฆะอารมณ์ที่สร้างความเศร้าหมอง อารมณ์อื่นเข้ามากระทบไม่มี ตอนนี้ก็รู้สึกมีความสุขสงัด และถ้าเราตายจากความเป็นคนก็ไปเป็นเทวดา หรือพรหม หรือเราก็ไปนิพพาน ถ้าอารมณ์จิตมันซ่านมันซ่านนิดเดียวเท่านี้ แ่ต่ก็ยังไม่ดีมันยังไม่ถึงที่สุด
ในเมื่อชีวิตของเรายังทรงตัวอยู่ต้องทำความดีให้ถึงที่สุด นั่นก็คือทรงอารมณ์เฉพาะพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าลมปราณของเรายังมีอยู่ เราจะไม่ละธรรมะขององค์สมเด็จพระบรมครูที่สอนไว้ว่า ความสุขที่สุดนั้นไซร้ นั่นก็คือมีอารมณ์เข้าถึงพระนิพพาน นั่นก็เป็นอรหันต์ ถ้าว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านเท่านี้ ระงับง่ายๆ ถ้าตัดสินกำลังใจว่า แค่นี้จะเก็บไว้ทำไม โยนทิ้งไปเสียดีกว่า กิเลสหยาบที่กล่าวมามันใหญ่โตมากกว่านี้ เราก็สามารถจะตัดได้ ไหนๆ เราจะต้องตายแล้ว เมื่อตายแล้วให้มันมีความสุขจริงๆ จะไปพักอยู่ที่เทวดาก็ไม่ได้มีประโยชน์ พักอยู่ที่พรหมมันก็ไม่มีประโยชน์ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเมื่อไปแล้ว เราก็ไปให้มันถึงที่สุด ไม่ต้องมีการงานอะไรต่อไป ตั้งใจเท่านี้มันก็หมด
ต่อไปองค์สมเด็จพระบรมสุคต ว่าตัดอวิชชา แต่ความจริงตัดอวิชชาตัวเดียวก็พอ เข้าไปตัดแต่เพียงว่า ร่างกายมันเป็นทุกข์ เกิดเป็นคนเป็นทุกข์ เกิดเป็นพรหม เทวดา พักทุกข์ชั่วคราวไม่ได้มีประโยชน์ ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีโทษเข้าถึงอบายภูมิก็ยังไม่เสร็จกิจ กิจที่ดีที่สุดนั่นก็คือ เข้าถึงพระนิพพาน
คนที่จะเข้าถึงพระนิพพานเขาทำอย่างไร นั่นก็คืออารมณ์ใจของเขา ละความพอใจในการเป็นมนุษย์ เทวดา หรือพรหม มีความนิยมเฉพาะพระนิพพานอย่างเดียว และจิตมีความประกอบไปด้วย ความเมตตาปรานี มีความเยือกเย็น ไม่สนใจกับอารมณ์ทั้งหลาย ที่เป็นปัจจัยของความสุขและความทุกข์ ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ยิ้มให้แก่อาการที่เข้ามาสนองที่เป็นปัจจัยให้หวั่นไหวทางกาย คือโรคภัยไข้เจ็บก็ดี ความป่วยไข้ไม่สบายก็ดี ความแก่ก็ดี ความตายก็ดี จะมาถึงเรานี้เมื่อไหร่ ยิ้มได้เป็นปกติ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
จนกระทั่งจิตใจของเราไม่มีอารมณ์ติดอยู่ในกามฉันทะ มีความสุขใจ อารมณ์ไม่ติดอยู่ในความโลภ มีความสุขอย่างยิ่ง อารมณ์ไม่ติดอยู่ในความโกรธ มีความชื่นบานหรรษา อารมณ์ไม่มีสันดานเกาะอะไรทั้งหมดแม้แต่ขันธ์ ๕ ของเรา จิตใจเรามีความต้องการอย่างเดียว คือนิพพาน มีความรู้สึกว่า ร่างกายนี้มันมีแต่ความแหลกลาญเป็นปกติ ไม่ช้ามันก็เป็นผุยผงไปเป็นความตาย แค่นี้ใจสบาย
เทวตานุสสติกรรมฐานถือว่าเป็นอารมณ์ที่สูงสุดในอนุสสติอันหนึ่ง ซึ่งบุคคลใดมีความนิยมในเทวตานุสสติกรรมฐานนี้ไซร้ เราจะพยากรณ์ว่าท่านผู้นั้นควรจะเป็น พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ในชาติปัจจุบันนี้ก็รู้สึกว่าจะต่ำเกินไป เพราะว่ากำลังใจของท่านมีความพอใจในอนุสสติกรรมฐาน มันเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ ๏ การทรงเทวตานุสสติกรรมฐาน ไม่ใช่ไปนั่งท่องจำให้จิตมันทรงตัว คิดว่าอะไรมันชั่วเราไม่ยอมทำเราอาย เรียกว่าเราเป็นคนหน้าบางไม่ใช่คนหน้าด้าน เป็นคนใจบาง ไม่ใช่เป็นคนใจด้าน และก็กลัว เป็นคนขี้ขลาดในความชั่วทั้งหมดที่จะปรากฏกับใจ | ที่มา เวปพระรัตนตรัย
Create Date : 26 พฤษภาคม 2553 |
Last Update : 27 พฤษภาคม 2553 0:00:02 น. |
|
108 comments
|
Counter : 3065 Pageviews. |
|
|
เนื่องด้วย ระยะนี้ จขบ. ติดภารกิจ
จึงจำเป็นต้องขออนุญาต ขอลาพักบล็อกชั่วคราวครับผม
...