หมึกสีดำของไผ่สีทอง
ความโศกทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีจิตมั่นคง ไม่ประมาท เป็นมุนี ศึกษาในทางปฏิบัติถึงมโนปฏิบัติ เป็นผู้คงที่ ระงับแล้ว มีสติทุกเมื่อ,, การไม่ทําบาปทั้งปวงหนึ่ง การยังกุศลให้ถึงพร้อมหนึง การชําระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วหนึ่ง นี่แลเป้นคําสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
27 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
๔. อัชฌาสัยปฏิสัมภิทัปปัตโต



อัชฌาสัยของท่านผู้มีความต้องการในความรู้พิเศษ ที่มีความรู้รอบตัวยิ่งกว่าท่านผู้ทรงอภิญญา ๖ เรียกว่าอัชฌาสัยของท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทัปปัตโต

ท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทัปปัตโตนี้ แปลว่ามีความรู้พร้อม คือท่านทรงคุณธรรมพิเศษกว่าท่านเตวิชโช ฉฬภิญโญหลายประการ เช่น

๑. มีความสามารถทรงความรู้พร้อม ไม่บกพร่องในหัวข้อธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ได้โดยครบถ้วน แม้ท่านจะย่างเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาเพียงวันเดียว ทั้งๆ ที่ไม่เคยศึกษาคำสอนมาก่อนเลย ตามนัยที่ปรากฏในพระสูตรต่างๆ ที่มาในพระไตรปิฎกว่า มีมากท่านที่มีความเลื่อมใสในสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วพอฟังเทศน์จบ ท่านก็ได้บรรลุอรหันต์ชั้นปฏิสัมภิทาญาณ ท่านทรงพระไตรปิฏก คือเข้าใจในข้อวัตรปฏิบัติครบถ้วนทุกประการได้ทันท่วงที

๒. มีความฉลาดในการขยายความในธรรมภาษิต ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยย่อให้พิสดารได้อย่างถูกต้อง

๓. ย่อความในคำสอนที่พิสดารให้สั้นเข้า โดยไม่เสียใจความ

๔. สามารถเข้าใจ และพูดภาษาต่างๆ ได้ทุกภาษา ไม่ว่าภาษามนุษย์หรือภาษาสัตว์

ตามข้อความในข้อ ๔ นี้ เคยพบพระองค์หนึ่งในสมัยปัจจุบันนี้ คือ พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๕ ต่อกัน พระรูปนั้นมีชื่อว่า "พระสร้อย" ท่านบอกว่า ท่านเป็นชาวจังหวัดสระบุรี ไม่เคยเรียนหนังสือมาก่อนเลย แม้หนังสือไทยนี้ ปกติท่านก็อ่านไม่ออก ท่านว่าเมื่อท่านอายุได้ ๗ ปี มีพระในถ้ำเขตสระบุรีท่านหนึ่ง ไปเยี่ยมโยมท่านที่บ้าน ตัวท่านเองเมื่อเห็นพระรูปนั้นเข้าท่านก็เกิดความรักขึ้นมา เมื่อพระรูปนั้นจะกลับถ้ำ ได้ออกปากชวนท่านไปอยู่ด้วย ท่านก็ขออนุญาตโยมหญิง - ชายจะไปอยู่กับพระรูปนั้น โยมทั้งสองก็อนุญาตด้วยความเต็มใจ ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อไปอยู่กับพระรูปนั้นก็ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะในถ้ำนั้นมีพระอยู่ ๒ - ๓ รูป ท่านบิณฑบาตกลับมาแล้ว ท่านฉันจังหันเสร็จต่างก็บูชาพระแล้วนั่งภาวนากันตลอดวันตลอดคืน ไม่ใคร่มีเวลาพูดคุยกัน ท่านก็สอนให้ท่านอาจารย์สร้อยภาวนาด้วย ทำอยู่อย่างนั้นจนครบบวช พระที่ท่านพาไปก็พาออกมาบวชที่บ้าน บวชแล้วก็พากลับมาอยู่ถ้ำ นั่งภาวนาตามเดิม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๔ ท่านป่วย ได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่บางกะปิ พระนคร ใครจะนิมนต์ท่านเข้าไปในชายคาบ้านท่านไม่ยอมเข้า ต่อมาพลเรือตรีสนิทจำนามสกุลไม่ได้ เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือไปพบเข้ามีความเลื่อมใส นิมนต์ให้มารักษาตัวที่กรมแพทย์ทหารเรือ ให้พักอยู่ที่ตึก ๑ เป็นตึกคนไข้พิเศษ ปฏิปทาของท่านอาจารย์สร้อยที่มาอยู่ที่กรมแพทย์ทหารเรือก็คือ ตอนเช้าท่านจะต้องออกบิณฑบาตทุกวัน ท่านไม่ได้ไปไกล ออกจากตึก ๑ ไปที่ประตูกรมแพทย์ฯ ที่ตรงนั้นมีต้นมะฮอกกานีอยู่ต้นหนึ่ง เป็นต้นไม้ มีพุ่มไสว สาขาใหญ่มาก ท่านเอาบาตรของท่านไปแขวนที่กิ่งมะฮอกกานี แล้วท่านก็ยืนหลับตาอยู่สักครู่ ไม่เกิน ๑๕ นาที ท่านก็ลืมตาขึ้นแล้วเอาบาตรมา เดินกลับเข้าห้องพักคนป่วย ที่ท่านไปยืนอยู่นั้นเป็นทางผ่านเข้าออกของคนไปมาเป็นปกติไม่มีขาดระยะคนเดินผ่าน ทุกคนเห็นท่านยืนเฉยๆ ไม่เห็นใครเอาอะไรมาใส่ให้ แต่ทุกครั้งที่ท่านเอาบาตรกลับมา จะต้องมีข้าวสุกสีเหลืองน้อยๆ และดอกไม้แปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นในภพนี้ติดมาด้วย ๒ - ๓ ดอกทุกครั้ง สร้างความแปลกใจแก่ผู้พบเห็นเป็นประจำ บาตรที่ท่านจะเอาไปแขวนนั้นนายทหารเป็นคนจัดให้ นายทหารผู้นั้นยืนยันว่า ผมตรวจและทำความสะอาดทุกวัน ผมรับรองว่าบาตรว่างไม่มีอะไรจริงๆ เมื่อท่านเอาบาตรไปแขวนก็อยู่ในสายตาของพวกผมเพราะไปไม่ไกลห่างจากตึก ๑ ประมาณไม่ถึง ๑๐ เมตร และติดกับยามประตูกรมแพทย์ หมายถึงที่ท่านไปยืนเอาบาตรแขวนต้นไม้ แต่แปลกที่พวกเราไม่เห็นว่าใครเอาของมาใส่เลย ทุกครั้งที่ท่านเอาบาตรมาส่งให้กลับมีข้าวและดอกไม้ทุกวัน ปกติท่านสอนเตือนให้คณะนายทหารละชั่วประพฤติดีทุกวัน ทำเอานายทหารเลิกสุรายาเมาไปหลายคน


รู้ภาษาต่างประเทศ

วันหนึ่งผู้เขียนได้ไปที่กรมแพทย์ทหารเรือ พอไปถึงพวกนายทหารก็เล่าให้ฟังแล้วคิดในใจว่าท่านผู้นี้อาจจะไม่ใช่ปุถุชนคนธรรมดา ประเภทไม่เป็นเรื่องเป็นราวอย่างผู้เขียน คิดว่าอย่างน้อยท่านอาจจะได้ฌานโลกีย์ อย่างสูงอาจเป็นพระอริยะก็ได้ ที่คิดอย่างนั้นไม่ใช่หมายความว่าผู้เขียนมีฌานพิเศษเป็นเครื่องรู้ ความจริงไม่มีอะไรนอกจากสนใจและสงสัยเท่านั้น จึงคุยกับบรรดานายทหารว่าเอาอย่างนี้ซิ เรามาลองท่านดูสักวิธีหนึ่ง คือลองพูดภาษาต่างๆ กับท่าน ถ้าท่านรู้เรื่องและพูดได้ทุกภาษาแล้ว ฉันคิดว่าพระองค์นี้เป็นพระอริยะขั้นปฏิสัมภิทาญาณ เพราะท่านผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณนั้นต้องเป็นพระอรหันต์ก่อน คุณสมบัติปฏิสัมภิทาญาณจึงปรากฏ ไม่เหมือนเตวิชโชและฉฬภิญโญทั้งสองอย่างนี้ ได้ตั้งแต่ฌานโลกีย์ จึงรวบรวมนายทหารที่พูดภาษาต่างประเทศได้ ๖ ภาษา คือ

๑. ภาษาอังกฤษ
๒. ภาษาฝรั่งเศส
๓. ภาษาเยอรมัน
๔. ภาษาสเปน
๕. ภาษาญี่ปุ่น
๖. ภาษามลายู

ได้ส่งนายทหารที่ชำนาญภาษานั้น ๆ ไปพูดกับท่าน ท่านก็พูดด้วยได้ทุกภาษา และพูดได้ อย่างเขาเหล่านั้น เล่นเอานายทหารชุดนั้นงงไปตาม ๆ กันเมื่อท่านถูกถามว่าท่านเรียนภาษาต่าง ๆ มาจากไหน ? ท่านตอบว่า ท่านไม่เคยเรียนมาก่อนเลย เห็นเขาพูดมาก็มีความเข้าใจ และพูดได้ ตามต้องการ ท่านว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกับพูดภาษาไทย เมื่อพบเข้าอย่างนี้ทำให้คิดถึงตำรา คือพระไตรปิฎก ว่าท่านผู้นี้อาจเป็นพระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิญาณตามนัยที่ท่านอธิบายไว้ก็ได้ แต่ท่านจะเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ผู้เขียนไม่รับรอง แต่ก็ต้องมานั่งคิดนอนตรองค้นคว้าหาหลักฐานเป็นการใหญ่แต่ละเล่มท่านก็เขียนว่า ท่านที่จะได้ปฏิสัมภิทาญาณมีการรู้ภาษาต่าง ๆ เป็นเครื่องสังเกตต้องเป็นพระอรหันต์ก่อน ท่านอาจารย์สร้อยท่านรู้ภาษาอย่างไม่จำกัดได้ ท่านจะเป็นพระอรหันต์ไหมหนอโปรดช่วยกันค้นคว้าหาเหตุผล มายืนยันด้วย ใครพบเหตุผลหลักฐานก่อนกันก็ควรบอกกันต่อ ๆ ไป เพื่อความเข้าใจถูกในผลของการปฏิบัติสมณธรรม

ปฏิสัมภิทาญาณปฏิบัติ

ปฏิสัมภิทาญาณ หรือปฏิสัมภิทัปปัตโตนี้ เป็นระดับของท่านผู้ทรงคุณพิเศษครอบงำเตวิชโชและฉฬภิญโญทั้งหมด เพราะเหตุนี้ ท่านผู้ทรงปฏิสัมภิทาญาณนี้ จึงต้องปฏิบัติในกสิณทั้งสิบได้ครบถ้วน ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในฉฬภิญโญ เมื่อชำนาญในฉฬภิญโญคือชำนาญในกสิณแล้ว ท่านเจริญในอรูปฌานอีก ๔ คือ

๑. อากาสานัญจายตนะ

ท่านเพ่งอากาศเป็นอารมณ์ โดยกำหนดหมายจิตคิดไว้เสมอว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นแท่งทึบไม่มีอะไรคงสภาพเป็นก้อนเป็นแท่งอยู่ตลอดกาลสมัย ไม่ช้านานเท่าใดก็ต้องอันตรธานสูญไปคล้ายอากาศ ท่านไม่มีความนิยม ในรูปสังขารเห็นสังขารเป็นโทษ เพราะพิจารณาเห็นว่าสังขารทั้งหลายเป็นแหล่งของความทุกข์ และความชั่วช้าสารเลว สังขารเต็มไปด้วยความทุกข์อันเกิดจากความอยากไม่มีสิ้นสุด ความร้อน ความหนาว ความป่วยไข้ ทุกขเวทนาอย่างสาหัส จะพึงมีมาก็เพราะสังขารเป็นปัจจัย ท่านมีความเกลียดชังในสังขารเป็นที่สุด กำหนดจิตคิดละสังขารในชาติต่อ ๆ ไปไม่ต้องการสังขารอีกถือเป็นอากาศธาตุเป็นอารมณ์ คิดว่าสังขารนี้เรายอมเป็นทาสรับทุกข์ของสังขารเพียงชาตินี้ชาติเดียว ชาติต่อ ๆ ไปเราไม่ต้องการสังขารอีก ความต้องการก็คือ หวังความว่างเปล่าจากสังขาร ต้องการมีสภาพเป็นอากาศเป็นปกติ

การเจริญอรูปกรรมฐานนี้ ทุกอย่างจะต้องยกเอากสิณอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นอารมณ์ก่อนเสมอ คือเข้าฌานในกสิณนั้นๆ จนถึงฌาน ๔ แล้วเอานิมิตในกสิณนั้นมาเป็นอารมณ์ในอรูปกรรมฐานเช่น อากาสานัญจายตนะนี้ท่านให้กำหนดนิมิตในรูปกสิณก่อน แล้วพิจารณารูปกสิณนั้นให้เห็นเป็นโทษโดยกำหนดจิตคิดว่า หากเรายังต้องการรูปอยู่เพียงใด ความทุกข์อันเนื่องจากรูปย่อมปรากฏแก่เราเสมอไปหากเราไม่มีรูปแล้วไซร้ทุกข์ภัยอันมีรูปเป็นเหตุก็จะไม่ปรากฏแก่เรา แล้วก็เพิกคืออธิษฐานรูปกสิณนั้นให้เป็นอากาศ ยึดถืออากาศเป็นอารมณ์ ทำอย่างนี้จนจิตตั้งอยู่ในฌาน ๔ เป็นปกติชื่อว่าได้กรรมฐานกองนี้

๒. วิญญาณัญจายตนะ

วิญญาณัญจายตนะนี้ เป็นอรูปฌานที่สอง ท่านผู้ปฏิบัติมุ่งหมายกำหนดเอาวิญญาณเป็นสำคัญคือพิจารณาเห็นโทษของรูป และมีความเบื่อหน่ายในรูปตามที่กล่าวมาแล้ว ในอากาสานัญจายตนะท่านกำหนดจิตคิดว่า เราไม่ต้องการมีรูปต่อไปอีก ต้องการแต่วิญญาณอย่างเดียว เพราะรูปเป็นทุกข์์วิญญาณต้องรับทุกข์อย่างสาหัสก็เพราะมีรูปเป็นปัจจัย ถ้ารูปไม่มี มีแต่วิญญาณ ทุกข์ก็จะไม่มีมาเบียดเบียน เพราะทุกข์ต่างๆ ต้องมีสังขารจึงเกาะกุมได้ ถ้ามีแต่วิญญาณทุกข์ก็หมดโอกาสจะทรมานได้ แล้วท่านก็จับรูปกสิณเป็นอารมณ์ แล้วกำหนดวิญญาณเป็นสำคัญจนตั้งอารมณ์อยู่ในฌาน ๔ เป็นปกติ ท่านที่ได้ฌานนี้มีประโยชน์ในการตรวจสอบจิตวิญญาณของตนเอง และของผู้อื่นได้อย่างชัดเจน

๓. อากิญจัญญายตนะ

อากิญจัญญายตนะนี้ ท่านพิจารณาว่าไม่มีอะไรเลย หรือไม่มีอะไรเหลือต่างจากอากาสานัญจายตนะ เพราะ อากาสานัญจายตนะยังมีการกำหนดว่ามีอากาศเป็นอารมณ์ อากิญจัญญายตนะนี้ ท่านไม่กำหนดหมายอะไรเลย ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องการรูปและแม้แต่มีวิญญาณ ด้วยท่านคิดว่าแม้รูปไม่มี วิญญาณยังมีอยู่ วิญญาณก็ยังรับสุข รับทุกข์ทางด้านอารมณ์ เพื่อตัดให้สิ้นไปท่านไม่ต้องการอะไรเลยแม้แต่ความหวังในอารมณ์ ปล่อยอารมณ์จากความหวังใดๆ ทั้งหมด โดยกำหนดจิตจับอารมณ์ในรูปกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งในรูปฌานแล้วต่อไปก็เพิกรูปกสิณนั้นเสีย กำหนดจิตให้ว่างเปล่าจากอารมณ์เป็นปกติ จนอารมณ์จิตตั้งอยู่ในฌาน ๔ เป็นปกติ

๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ

ฌานนี้ท่านว่า มีวิญญาณก็ไม่ใช่ หรือจะว่าไม่มีวิญญาณก็ไม่ใช่ สร้างความรู้สึกเหมือนคนไม่มีวิญญาณ คือไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งหมด ใครจะชม หรือนินทาว่าร้าย เอาของดีของเลวมาให้ หรือนำไป หนาว ร้อน หิว กระหาย เจ็บ ป่วย รวมความว่าเหตุของความทุกข์ความสุขใดๆ ไม่มีความต้องการรับรู้ ทำเสมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แบบในสมัยนี้เคยพบ อาจารย์กบ วัดเขาสาริกาองค์หนึ่ง ท่านเจริญแบบนี้ วิญญาณท่านมี ท่านรู้หนาวรู้ร้อน แต่ท่านทำเหมือนไม่รู้ ฝนตกฟ้าร้องท่านก็นอนเฉย ลมหนาวพัดมาท่านไม่มีผ้าห่ม ท่านก็นอนเฉย ใครไปใครมาท่านก็เฉย ทำไม่รู้เสียบางรายไปนอนเฝ้าตั้งสามวันสามคืน ท่านไม่ยอมพูดด้วย ถึงเวลาออกมาจากกุฎี ท่านก็คว้าฆ้องตีโหม่งๆ ปากก็ร้องว่า ทองหนึ่งๆๆๆ แล้วท่านก็นอนของท่านต่อไป คนเลื่อมใสมากถึงกับตั้งสำนักศิษย์หลวงพ่อกบขึ้น เดี๋ยวนี้คณะศิษย์หลวงพ่อกบมากมาย สามัคคีกันดีเสียด้วย ทำอะไรก็พร้อมเพรียงกันทำน่าสรรเสริญ ก่อนที่จะกำหนดจิตคิดว่าไม่มีอะไรเป็นจุดหมายของจิต ท่านก็ต้องยกรูปกสิณ จับนิมิต ในรูปกสิณเป็นอารมณ์ก่อนเหมือนกัน การเจริญในอรูปฌานนี้ ท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยได้รูปฌานในกสิณคงจะคิดว่ายากมาก ความจริงถ้าได้ฌานในรูปกสิณแล้วไม่ยากเลย เพราะอารมณ์สมาธิก็ทรงอยู่ขั้นฌาน ๔ เท่านั้นเอง เพราะช่ำชองมาในกสิณสิบแล้ว มาจับทำเข้าจริงๆ ก็จะเข้าถึงจุดภายในสามวันเจ็ดวันเท่านั้น

เมื่อทรงอรูปฌานได้ครบถ้วนแล้ว ก็ฝึกเข้าฌานออกฌาน ตั้งแต่กสิณมา แล้วเลยเข้าอรูปฌานตามนัยที่กล่าวมาแล้วในบทว่าด้วยอภิญญาหก สำหรับอภิญญาหรือญาณในวิชชาสามย่อมใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตั้งแต่ทรงฌานโลกีย์ สำหรับปฏิสัมภิทาญาณคือคุณพิเศษ ๔ ข้อในปฏิสัมภิทาญาณนี้ จะได้ก็ต่อเมื่อสำเร็จอรหัตตผลแล้ว ในขณะที่ทรงฌานโลกีย์อยู่ คุณพิเศษ ๔ อย่างนั้นยังไม่ปรากฏ ปฏิสัมภิทาญาณแปลกจากเตวิชโชและฉฬภิญโญตรงนี้

**********************

ปล. ขอบคุณนะครับ ที่ติดตาม พระอรหันต์มี 4 อย่าง จบแล้วนะครับ
ที่มา เวปพลังจิต
ทำนองเพลง ลาวม่านแก้ว




Create Date : 27 กรกฎาคม 2552
Last Update : 27 กรกฎาคม 2552 18:10:45 น. 1 comments
Counter : 877 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะ พี่ไผ่

โมทนานะคะ


โดย: พ่อระนาด วันที่: 27 กรกฎาคม 2552 เวลา:18:47:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หมึกสีดำ
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add หมึกสีดำ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.