|
| 1 | 2 | 3 | 4 |
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
๓. อัชฌาสัยฉฬภิญโญ
อัชฌาสัยของท่านที่ชอบมีฤทธิ์มีเดช ทำอะไรต่ออะไรเกินกว่าสามัญชนจะทำได้ เรียกว่าอัชฌาสัยของท่านผู้มีฤทธิ์ หรือท่านผู้ทรงอภิญญา ๖
อภิญญา ๖ นี้ เป็นคุณธรรมพิเศษสำหรับนักปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องฝึกฝนตนเป็นพิเศษให้ได้คุณธรรมห้าประการก่อนที่จะได้บรรลุมรรคผล หมายความว่าในระหว่างที่ทรงฌานโลกีย์นั้น ต้องฝึกฝนให้สามารถทรงคุณสมบัติห้าประการดังต่อไปนี้
๑. อิทธิฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ ๒. ทิพยโสต มีหูเป็นทิพย์ สามารถฟังเสียงในที่ไกล หรือเสียงอมนุษย์ได้ยิน ๓. จุตูปปาตญาณ รู้การตายและการเกิดของคนและสัตว์ ๔. เจโตปริยญาณ รู้ความรู้สึกในความในใจของคนและสัตว์ ๕. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติต่างๆ ที่ล่วงมาแล้วได้
ทั้งห้าอย่างนี้ จะต้องฝึกให้ได้ในสมัยที่ทรงฌานโลกีย์ ต่อเมื่อฝึกฝนคุณธรรมหกประการนี้คล่องแคล่วว่องไวดีแล้ว จึงฝึกฝนอบรมในวิปัสสนาญาณต่อไป เพื่อให้ได้อภิญญาข้อที่ ๖ คือ อาสวักขยญาณ ได้แก่การทำอาสวะให้หมดสิ้นไป
วิธีฝึกอภิญญา
วิธีฝึกอภิญญานี้ หรือฝึกวิชชาสาม และปฏิสัมภิทาญาณ โปรดทราบว่า เอามาจากวิสุทธิมรรคไม่ใช่ผู้เขียนเป็นผู้วิเศษทรงคุณพิเศษตามที่เขียน เพียงแต่ลอกมาจากวิสุทธิมรรค และดัดแปลงสำนวนเสียใหม่ให้อ่านง่ายเข้าใจเร็ว และใช้คำพูดเป็นภาษาตลาดที่พอจะรู้เรื่องสะดวกเท่านั้นเองโปรดอย่าเข้าใจว่าผู้เขียนแอบเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณไปเสียแล้ว นรกจะเล่นงานผู้เขียนแย่ส่วนใหญ่ในข้อเขียนก็เอามาจากวิสุทธิมรรค และเก็บเล็กผสมน้อยคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์บ้างตามแต่จะจำได้ สำหรับอภิญญาข้อ ๓ ถึงข้อ ๕ ได้อธิบายมาแล้วในวิชชาสาม สำหรับในอภิญญานี้จะอธิบายเฉพาะข้อ ๑ กับข้อ ๒ เท่านั้น
อิทธิฤทธิ์
ญาณข้อ ๑ ท่านสอนให้ฝึกการแสดงฤทธิ์ต่างๆ การแสดงฤทธิ์ทางพระพุทธศาสนานี้ท่านสอนให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้ ท่านให้เจริญคือฝึกในกสิณแปดอย่างให้ชำนาญ กสิณแปดอย่างนั้นมีดังนี้ ๑. ปฐวีกสิณ เพ่งธาตุดิน ๒. อาโปกสิณ เพ่งธาตุน้ำ ๓. เตโชกสิณ เพ่งไฟ ๔. วาโยกสิณ เพ่งลม ๕. ปีตกสิณ เพ่งสีเหลือง ๖. นีลกสิณ เพ่งสีเขียว ๗. โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง ๘. โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว
เหลือกสิณอีกสองอย่างคือ อาโลกสิณ เพ่งแสงสว่าง และอากาสกสิณ เพ่งอากาศ ท่านให้เว้นเสีย ทั้งนี้จะเป็นเพราะอะไรท่านไม่ได้อธิบายไว้ แต่สำหรับท่านที่ทรงอภิญญาจริงๆ ที่เคยพบในสมัยออกเดินธุดงค์ท่านบอกว่า ท่านไม่ได้เว้น ท่านทำหมดทุกอย่างครบ ๑๐ กอง ท่านกล่าวว่า กสิณนี้ถ้าได้กองแรกแล้ว กองต่อไปไม่มีอะไรมาก ทำต่อไปไม่เกิน ๗ วันก็ได้ กองยากจะใช้เวลานานอยู่กองแรกเท่านั้นเอง ต่อไปจะได้อธิบายในการปฏิบัติกสิณพอเป็นตัวอย่าง
ปฐวีกสิณ
กสิณนี้ท่านให้เพ่งดิน เอาดินมาทำเป็นรูปวงกลม โดยใช้สะดึงขึงผ้าให้ตึงแล้วเอาดินทาเลือกเฉพาะดินสีอรุณ แล้วท่านให้วางไว้ในที่พอเหมาะที่จะมองเห็นไม่ใกล้และไกลเกินไป เพ่งดูดินให้จำได้แล้วหลับตานึกถึงภาพดินนั้น ถ้าเลือนไปจากใจก็ลืมตาดูดินใหม่ จำได้ดีแล้วก็หลับตานึกถึงภาพดินนั้น จนภาพนั้นติดตา ต่อไปไม่ต้องดูภาพดินภาพนั้นก็ติดตาติดใจจำได้อยู่เสมอ ภาพปรากฏแก่ใจชัดเจน จนสามารถบังคับภาพนั้นให้เล็ก โต สูง ต่ำ ได้ตามความประสงค์อย่างนี้เรียกว่าอุคหนิมิตหยาบ ต่อมาภาพดินนั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนสีไปที่ละน้อย จากสีเดิมไปเป็นสีขาวใส จนใสหมดก้อน และเป็นประกายสวยสดงดงามคล้ายแก้วเจียระไน อย่างนี้เรียกว่าถึงอุปจารฌานละเอียด ต่อไปภาพนั้นจะสวยมากขึ้นจนมองดูระยิบระยับจับสามตา เป็นประกายหนาทึบ อารมณ์จิตตั้งมั่นเฉยต่ออารมณ์ภายนอกกายคล้ายไม่มีลมหายใจ อย่างนี้เป็นฌาน ๔ เรียกได้ว่าฌานปฐวีกสิณเต็มที่แล้ว
เมื่อได้อย่างนี้แล้ว ท่านผู้ทรงอภิญญาท่านนั้นเล่าต่อไปว่า อย่าเพิ่งทำกสิณกองต่อไป เราจะเอาอภิญญากัน ไม่ใช่ทำพอได้ เรียกว่าจะทำแบบสุกเอาเผากินไม่ได้ต้องให้ได้เลยทุกอย่างได้อย่างดีทั้งหมด ถ้ายังบกพร่องแม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่ยอมเว้น ต้องดีครบถ้วนเพื่อให้ได้ดีครบถ้วนท่านว่าพอได้ตามนี้แล้ว ให้ฝึกฝนเข้าฌานออกฌาน คือเข้าฌาน ๑. ๒. ๓. ๔. แล้วเข้าฌาน ๔. ๓. ๒. ๑. แล้วเข้าฌานสลับฌาน คือ ๑. ๔. ๒. ๓. ๓. ๑. ๔. ๒. ๔. ๑. ๒. ๓. สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้จนคล่อง คิดว่าจะเข้าฌานระดับใดก็เมื่อใดก็ได้
ต่อไปก็ฝึกนิรมิตก่อน ปฐวีกสิณเป็นธาตุดิน ตามคุณสมบัติท่านว่า สามารถทำของอ่อนให้แข็งได้ สำหรับท่านที่ได้กสิณนี้ เมื่อเข้าฌานชำนาญแล้ว ก็ทดลองการนิรมิต ในตอนแรกท่านหาน้ำใส่แก้วหรือภาชนะอย่างใดก็ได้ ที่ขังน้ำได้ก็แล้วกัน เมื่อได้มาครบแล้วจงเข้าฌาน ๔ ในปฐวีกสิณ แล้วออกฌาน ๔ หยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน คือ พอมีอารมณ์นึกคิดได้ ในขณะที่อยู่ในฌานนั้น นึกคิดไม่ได้ เมื่อถอยจิตมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌานแล้วอธิษฐานว่าขอน้ำตรงที่เอานิ้วจิ้มลงไปนั้น จงแข็งเหมือนดินที่แข็ง แล้วก็เข้าฌาน ๔ ใหม่ ถอยออกจากฌาน ๔ หยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน ลองเอานิ้วมือจิ้มน้ำดู ถ้าแข็งก็ใช้ได้แล้วก็เล่นให้คล่องต่อไป ถ้ายังไม่แข็งต้องฝึกฝนฌานให้คล่องและมั่นคงกว่านั้น เมื่อขณะฝึกนิรมิต อย่าทำให้คนเห็น ต้องทำที่ลับเฉพาะเท่านั้น ถ้าทำให้คนเห็น พระพุทธเจ้าท่านปรับโทษไว้เราเป็นนักเจริญฌาน ต้องไม่หน้าด้านใจด้านจนกล้าฝ่าฝืนพระพุทธอาณัติ เมื่อเล่นน้ำในถ้วยสำเร็จผลแล้ว ก็คำว่าสำเร็จนั้น หมายความว่าพอคิดว่าเราจะให้น้ำแข็งละน้ำก็แข็งทันที โดยเสียเวลาไม่ถึงเสี้ยวนาที อย่างนี้ใช้ได้ ต่อไปก็ทดลองในแม่น้ำและอากาศ เดินบนน้ำ บนอากาศ ให้น้ำในแม่น้ำ และอากาศเหยียบไปนั้น แข็งเหมือนดินและหิน ชำนาญดีแล้วก็เลื่อนไปฝึกกสิณอื่น ท่านว่าทำคล่องอย่างนี้กสิณเดียว กสิณอื่นพอนึกขึ้นมาก็เป็นทันที อย่างเลวสุดก็เพียง ๗ วัน ได้กอง เสียเวลาฝึกอีก ๙ กองเพียงไม่เกินสามเดือนก็ได้หมด เมื่อฝึกครบหมดก็ฝึกเข้าฌานออกฌานดังกล่าวมาแล้วและนิรมิตสิ่งต่างๆ ตามความประสงค์ อานุภาพของกสิณ จะเขียนไว้ตอนว่าด้วยกสิณ ๑๐ ทิพยโสตญาณ
ญาณนี้เป็นญาณในอภิญญาหก เป็นญาณที่สองรองจากอิทธิฤทธิญาณทิพยโสตญาณนี้เป็นญาณสร้างประสาทหูให้มีคุณสมบัติพิเศษกว่าประสาทหูธรรมดา สามารถฟังเสียงจากที่ไกล เกินหูสามัญจะได้ยินได้ เสียงเบาเสียงละเอียด เช่น เสียงอมนุษย์ เสียงเปรต เสียงอสุรกาย ที่นิยมเรียก กันว่าเสียงผี เสียงเทวดา เสียงพรหมและเสียงของท่านที่เข้าถึงจุดจบของพรหมจรรย์ ทิพยโสตญาณถ้าทำให้เกิดมีได้แล้ว จะฟังเสียงต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วได้อย่างอัศจรรย์
เสียงหยาบละเอียดไม่เสมอกัน
เสียงต่างๆ ที่จะพึงฟังได้นั้น มีความหยาบละเอียดชัดเจนหนักเบาไม่เสมอกัน เสียงมนุษย์และสัตว์ที่ปรากฏร่างที่เห็นชัดเจน ย่อมมีเสียงดังมาก ฟังชัดเจน พวกมด ปลวก เล็น ไร ฟังเสียงเบามาก แต่ก็ยังเป็นเสียงหยาบ ฟังง่ายและสะดวกกว่าเสียงอมนุษย์ เสียงเปรต อสุรกาย และพวกยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ นาค มีเสียงเบากว่าเสียงมนุษย์ และสัตว์ที่สามารถเห็นได้ด้วยตา และเห็นได้ด้วยการใช้กล้องขยายส่องเห็น แต่ถ้าจะเปรียบกับพวกอทิสมานกายด้วยกันแล้ว บรรดาเสียงเปรต อสุรกายยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ นาค ก็จัดว่ามีเสียงหยาบมาก เสียงหนัก ดังมาก ได้ยินง่ายและชัดเจน เสียงของเทวดาชั้นกามาวจร ที่เรียกว่าอากาศเทวดา ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตตวสวัสดี รวมหกชั้นนี้ เรียกว่าเทวดาชั้นกามาวจร เพราะยังมีอารมณ์ ท่องเที่ยว คือมีความใคร่ในกามารมณ์ เป็นภูมิชั้นของเทวดาที่ยังมีความเสน่หาในกาม ยังมีการครองคู่เป็นสามีภรรยากันเยี่ยงมนุษย์ เทวดาทั้งหกชั้นนี้มีเสียงละเอียดและเบากว่า พวกเปรต อสุรกาย ยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ นาค เสียงเทวดาชั้นกามาวจร ละเอียด เบาและไพเราะมาก ฟังแล้วรู้สึกนิ่มนวล สดชื่น แต่ทว่าเทวดาทั้งหกชั้นนี้ก็ยังมีเสียงหยาบกว่าเสียงพรหม พรหมมีเสียงละเอียดและเบามากฟังเสียงพรหมแล้ว ผู้ที่ได้ยินใหม่ๆ อาจจะเข้าใจว่า เป็นเสียงเด็กเล็กๆ หรือเสียงสตรี เสียงพรหมจะว่าแหลมคล้ายเสียงสตรีก็ไม่ใช่จะว่าเหมือนเสียงเด็กเล็กๆ ก็ไม่เชิง ฟังแล้วก้ำกึ่งกันอย่างไรชอบกล ทุกท่านที่ได้ยิน ใหม่ๆ อดสงสัยไม่ได้
สำหรับเสียงท่านที่จบพรหมจรรย์นั้น เป็นเสียงที่ละเอียดและเบามาก ไม่ทราบว่าจะพรรณนาอย่างไรถึงจะตรงกับความเป็นจริง
เรื่องของเสียงมีความหนักเบาแตกต่างกันอย่างนี้ แม้เสียงที่หยาบเป็นเสียงของมนุษย์และสัตว์ที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าอยู่ไกลสักหน่อย หูธรรมดาก็ไม่สามารถจะได้ยิน แต่ท่านที่ได้ทิพยโสตญาณ ท่านสามารถได้ยินเสียงได้ แม้ไกลกันคนละมุมโลก ท่านก็สามารถได้ยินเสียงพูดได้และรู้เรื่องละเอียดทุกถ้อยคำ แม้แต่เสียงอมนุษย์ เทวดา พรหม และเสียงท่านผู้จบพรหมจรรย์ก็เช่นเดียวกัน ท่านสามารถจะพูดคุยกับ เทวดา พรหม ยักษ์ เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก ตลอดจนท่านผู้จบพรหมจรรย์ได้ทุกขณะที่ปรารถนาจะพูดคุยด้วย ท่านที่ได้ทิพยโสตญาณนี้ ดูเหมือนจะมีกำไรในส่วนของการฟังมากเป็นพิเศษ
วิธีฝึกทิพยโสตญาณ
ทิพยโสตญาณจะมีขึ้นได้แก่นักปฏิบัติกรรมฐาน ก็ต้องอาศัยการฝึก สำหรับท่านที่เป็นอาทิกัมมิกบุคคล หมายถึงท่านที่ไม่เคยได้ทิพยโสตญาณมาในชาติก่อนๆ ตามนัยวิสุทธิมรรคท่านให้ฝึกดังต่อไปนี้
ท่านให้สร้างสมาธิในกสิณกองใดกองหนึ่ง จะเป็นกองใดก็ได้ตามใจชอบ จนได้ฌาน ๔ แล้วท่านให้เข้าฌาน ๔ จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์เงียบสงัดจากอกุศลวิตก แล้วถอยหลังจิต คือค่อยๆ คลายสมาธิมาหยุดอยู่เพียงอุปจารสมาธิ แล้วค่อยๆ กำหนดจิตฟังเสียงที่ดังๆ ในที่ไกลพอได้ยินได้ และเสียงที่เบาลงไปเป็นลำดับ เช่น เสียงฆ้อง กลอง ระฆัง กำหนดฟังให้ชัดเจน แล้วค่อยๆ เลื่อนฟังเสียงที่เบากว่านั้น ขณะที่กำหนดฟังอยู่นั้น ถ้าเห็นว่าอารมณ์จะฟุ้งซ่าน ก็เข้าฌาน ๔ เสียใหม่ เมื่อเห็นอารมณ์ใจสงัดดีแล้ว จึงค่อยคลายสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌาน แล้วค่อยๆ กำหนดฟังเสียงที่เบาลงเป็นลำดับจนเสียงเล็นเสียงไร เสียงที่อยู่ไกลคนละทวีป และเสียงผี เสียงเปรต เสียงยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์เสียงนาค เทวดาชั้นกามาวจร เสียงพรหม เสียงท่านที่จบพรหมจรรย์ค่อยเลื่อนขึ้นเป็นลำดับ แต่ทว่าการกำหนดฟังนั้น ต้องฟังให้ชัดเจนเป็นขั้นๆ ไป ถ้าฟังเสียงหยาบยังได้ยินไม่ชัดเจน ก็อย่าพยายามฟังเสียงที่ละเอียดกว่านั้น ต้องฟังเสียงอันดับใดอันดับหนึ่ง ให้ได้ยินชัดแจ่มใสเสียก่อน แล้วจึงเลื่อนไปฟังเสียงที่ละเอียดกว่านั้น แล้วเข้าฌาน ๔ ออกฌาน ๔ ไว้เสมอๆ พยายามทำให้มากวันละหลายๆ ครั้งท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า ทำเป็นร้อยครั้งพันครั้ง ทำเสมอๆ อย่าเกียจคร้าน ถ้าได้แล้วก็อย่าละเลย ต้องทำไว้เสมอๆ จะได้เกิดความเคยชินคล่องแคล่วว่องไว จนกระทั่งคิดว่า จะต้องการฟังเสียงเมื่อไรก็ได้ยินเมื่อนั้น ไม่ว่าเสียงระดับใด อย่างนี้เป็นอันใช้ได้
ทิพยโสตญาณมีวิธีปฏิบัติตามที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคอย่างนี้ ขอนักปฏิบัติที่สนใจในญาณนี้ จงตั้งจิตอุตสาหวิริยะเป็นอันดี ไม่ท้อถอยแล้ว เป็นมีหวังสำเร็จผลทุกราย ไม่มีอะไรที่ท่านผู้มีความวิริยะอุตสาหะจะทำไม่สำเร็จ เว้นไว้แต่จะคุยโวโม้แต่ปากแต่ไม่เอาจริงเท่านั้น สำหรับฉฬภิญโญ ขอเขียนไว้เพียงเท่านี้ ญาณอื่นๆ นั้นได้เขียนไว้ในวิชชาสามครบถ้วนแล้ว
(จบอิทธิฤทธิ์ไว้เพียงเท่านี้) **********************
ปล. พระอรหันต์มี 4 อย่าง โปรดติดตาม ตอนต่อ ๆ ไปนะครับ ที่มา เวปพลังจิต ทำนองเพลง ลาวม่านแก้ว
Create Date : 27 กรกฎาคม 2552 |
Last Update : 27 กรกฎาคม 2552 17:48:33 น. |
|
2 comments
|
Counter : 663 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
อ่านแล้วน่าสนใจจังเลยค่ะ
อยากฝึกให้ได้เป็นหมดเลยค่ะ
อยากเป็นมนุษย์ตาทิพย์
และผู้หยั่งรู้ค่ะ
รู้ค่ะว่าตัวเองคงยาก
แต่มีความอยากจังเลยค่ะ
ตั้งใจอ่านมากเลยค่ะ
แต่ชอบอ่านปรมัติธรรม..ค่ะ
เวลาอ่านน่าเครียดค่ะ
ภาษาธรรม..มักทำคุณแคทปวดหัวเสมอ
แต่พอเริ่มชิน..ก็สุดยอดภาษาธรรมเลยค่ะ
อนุโมทนาค่ะ