|
| 1 | 2 | 3 |
4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 |
25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | |
|
|
|
|
|
|
|
อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ ๑๖ / ๑๘
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
สอนพระกรรมฐานในระหว่างเข้าพรรษาปี ๒๕๒๑ อานาปานุสสติกรรมฐาน ตอนที่ ๑๖ พระอนาคามีมรรค (ต่อ)
...............สำหรับโอกาสนี้ บรรดาท่านทั้งหลาย ได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อนี้ไปขอทุกท่านตั้งใจสดับ ปฏิปทาที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงพระอนาคามี เมื่อคืนที่แล้วได้พูดมาถึงตอนตัดกามฉันทะ ความจริงตอนนี้ ถ้าจะกล่าวว่าหนักมันก็ไม่หนัก สำหรับคนที่มาใหม่ก็รู้สึกว่าจะหนักสักหน่อย แต่ว่าคนเก่าถ้าใช้อารมณ์จริงๆ มันก็ไม่มีอะไรจะหนัก เพราะว่าความรู้ของพระโสดาบัน สกิทาคามี ก็ผ่านกันมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระที่บวชมาตั้งหลายปี ฟังกันมาทุกวันและก็ฟังกันวันละหลายครั้ง ถ้าใช้อารมณ์เป็นกุศลจริงๆ หรือว่าตั้งใจจริงๆ ว่าเราบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาเพื่อหวังจะตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ก็ไม่เห็นจะมีอะไรหนัก ถ้าใช้อารมณ์นั้นให้มันเป็นปรกติ
...............สำหรับวันนี้ก็จะพูดถึง การตัดโทสะ และก็จะสรุปเรื่องอนาคามีเลย เพราะว่าเป็นของไม่ยาก การศึกษามาตามลำดับไม่ใช่ของหนัก ถ้าโดยวิธีปฏิบัติแล้ว ท่านไม่ได้แยกกันออก หลังจากที่ได้สกิทาคามีผลแล้ว วิธีพิจารณาเขาพิจารณารวมกันเลย เพราะว่าของเหล่านี้เราผสมกันมาแล้วตั้งแต่สกิทาคามี เป็นอันว่าอารมณ์สำหรับอนาคามีนี้ อย่าลืมว่าต้องใช้สมาธิหนัก คำว่าสมาธิหนักไม่ใช่นั่งหนัก ไม่ใช่ว่าไปนั่งตะบันกันตั้งเก้าชั่วโมง สิบชั่วโมง ไม่ใช่อย่างนั้น อย่างนั้นเขาเรียกว่าโง่หนัก ไม่ใช่ฉลาดหนัก คำว่าใช้สมาธิหนักก็หมายความว่าใช้ให้มันเป็นอารมณ์เป็นปรกติ อย่างในด้านอสุภสัญญาตัดกามฉันทะ เราเห็นคนเห็นสัตว์เห็นเราเห็นเขา เห็นใครทั้งหมดมันสกปรกไปเสียทั้งหมด จับอสุภกรรมฐานให้ซึ้งใจ ให้มันทรงอยู่ในใจ มันไม่คลายไปจากจิต ความรักในเพศ ความปราถนาในรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส มันจะมาจากไหน เพราะความปราถนาจริงๆ มันมาจากใจ ในเมื่อใจของเรามันตัดเสียแล้ว แล้วก็อะไรมันจะเกิด เนื้อแท้ของอารมณ์มันมีอยู่เท่านี้
...............ทีนี้มาว่ากันถึงปฏิฆะ คือความกระทบกระทั่งในจิต คำว่าปฏิฆะนี่หมายความถึงว่า อารมณ์ที่สร้างอาการของจิตให้เกิดความไม่พอใจ กระทบนิดไม่ชอบใจ กระทบหน่อยไม่ชอบใจ คือว่าในเมื่อเราผ่านพระสกิทาคามีมา ตอนนั้นจะรู้สึกว่าอารมณ์ใจของเรามีอภัยทานเป็นปรกติ เราให้อภัยกับคนที่มีความผิด เว้นไว้แต่ว่าผิดระเบียบวินัย ระเบียบวินัยกฎข้อบังคับนี่เว้นไม่ได้ ถ้าเว้นแล้วเราเป็นคนขาดเมตตา เพราะว่าจะปล่อยเขาเลวเกินไปน่ะไม่ได้ ถ้าเราสั่งสอนไม่ได้ตักเตือนไม่ได้ก็ขับไปเสียเลย อย่างพระพุทธเจ้าท่านทำ ไม่ใช่ว่ามีเมตตาจิตแล้วก็เมตตากันซะเรื่อย จะดีจะชั่วก็เมตตา เขาเมตตาแต่เฉพาะคนดีเท่านั้น เมื่อคนที่เอาดีไม่ได้นี่เขาไม่เมตตากัน แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่เมตตา จะเห็นได้ว่าอย่างพระฉันนะเป็นคนหัวดื้อหัวด้าน พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนให้พระฉันนะเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ อยากดื้ออยากด้านก็ปล่อยส่งเดช สั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์เสีย ไม่คบค้าสมาคมกับพระฉันนะ ในที่สุดพระฉันนะเกิดความน้อยใจ ว่าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดานี่เคยเป็นคู่สหชาติกันมาตั้งแต่เกิด เคยเป็นสหายกันมาตั้งแต่เกิด เล่นกันมาตั้งแต่เด็ก เวลาจะออกมหาภิเนษกรมก็ได้นายฉันนะเป็นคนจูงม้ากัณธกะ ก็มีเราผู้เดียวเท่านั้นเป็นคู่หูกันมาในกาลก่อน เวลานี้องค์สมเด็จพระชินวรสั่งให้สงฆ์ลงพรหมฑัณฑ์ ไม่คบค้าสมาคมด้วย เกิดความน้อยใจ ในที่สุดก็ตัดอาลัยในชีวิต เอามีดโกนมาเชือดคอตาย แต่ทว่าการตายของพระฉันนะไม่ไร้ผล เพราะอาศัยที่ตนตัดอาลัยในชีวิตไม่คิดว่าจะทำอะไรต่อไป เห็นว่าไม่มีใครเขาคบเราก็ไม่ควรจะอยู่ แล้วการที่อยู่นี่มีความทุกข์อาศัยขันธ์ ๕ เป็นปัจจัย มีความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ ในที่สุด พระฉันนะก็ตาย เมื่อตายแล้วก็อาศัยจิตที่หมดอาลัยในขันธ์ ๕ ท่านก็ไปพระนิพพาน
...............อันนี้เป็นจริยาเมตตาอันหนึ่ง เราจะพูดกันว่า พระพุทธเจ้าไม่เมตตาหรือก็ไม่ได้ ที่ว่าไม่เมตตาก็มองอย่างชาวบ้าน ว่าคนที่เป็นสหชาติคบค้าสมาคมมา ทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงให้สงฆ์ตัดขาดจากบุคคลนั้น ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าเห็นว่าถ้าขืนเอาใจมันจะเลวมากเกินไป จะเอาดีไม่ได้ เลยต้องไม่เอาใจ ปล่อยให้รู้สึกตัวเสีย ว่าไอ้การประพฤติปฏิบัติแบบนั้นมันเลวไม่คู่ควรกับผ้ากาสาวพัสตร์ เพราะองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์อาจจะทราบเพราะว่ามีพระพุทธญาณพิเศษ ว่าถ้าองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ลงโทษแบบนั้น พระฉันนะจะมีความรู้สึกตัว และความจริงก็เป็นเช่นนั้น นี่เป็นอันว่าคำว่าเมตตานี่ไม่ใช่ไปนั่งเอาใจกัน ดีก็ให้ หมายความว่านักปกครองมือหนึ่งต้องถือไม้เรียว อีกมือหนึ่งถือขนม ถ้าดีก็ให้รางวัล ถ้าไม่ดีก็ลงโทษ และก็จะมาอ้างเหตุอ้างผลว่าเคยทำความดีอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ดูตัวอย่างพระฉันนะ ซึ่งเป็นคู่สหชาติกันมาแท้ๆ เป็นเพื่อนเล่นกันมา ต่อมาก็เป็นนายสารถึ เป็นคนสนิท จนกระทั่งองค์สมเด็จพระบรมสามิสส์จะเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมย์ ก็ได้นายฉันนะคนนี้แหละเป็นคนจูงม้าออกมา แต่ทำไมสมเด็จพระบรมศาสดาจึงสั่งสงฆ์ลงพรหมฑัณฑ์ ถ้าจะพูดกันอย่างชาวบ้านก็เรียกว่าไม่มีความกตัญญูต่อเพื่อน แต่ถ้าหากว่าจะใช้ความเมตตาปรานี เพื่อนก็จะเลวเกินไป จะมีอเวจีเป็นที่ไป ขอท่านทั้งหลายจำเรื่องนี้ไว้ให้ดี เมื่อบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา จงอย่าคิดว่าจะต้องมีคนเอาใจเสมอไป พระธรรมวินัยมีอยู่ ถ้าเรามีความเคารพในองค์สมเด็จพระบรมครู ปฏิบัติอยู่ในธรรมะและวินัย ไม่มีใครเขาว่าอะไรหรอก นอกจากคนเลวเท่านั้นที่เขาจะว่า แต่วาจาของคนเลวเป็นวาจาที่ ไร้สมรรถภาพยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน เราจะไปสนใจอะไรกับวาจาของคนเลว ถ้าเราเชื่อคนเลว เราก็จะเลวไปด้วย เราไม่ควรจะบูชาวาจาของคนเลว ก่อนที่จะบูชาเขาก็ตูปฏิปทาเขาเสียก่อน ว่าเขามีความประพฤติดีหรือมีความประพฤติเลว ถ้าเขามีความประพฤติเลว ยอมรับนับถือเขา คำว่าบูชาแปลว่ายอมรับนับถือ เราก็เลวไปด้วย
...............อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่จะตัดปฏิฆะ คือ ความรู้สึกในใจที่มีความไม่พอใจเกิดขึ้นกับเรา การตัดปฏิฆะ ความไม่ชอบใจน่ะมันตัดนิดเดียว ตัดตามพระบาลีว่า อัตนา โจทยัตตานัง จงกล่าวโทษโจทก์ความผิดอารมณ์ของเราไว้เสมอ อย่าไปกล่าวโทษโจทก์ความผิดของบุคคลอื่น และก็จงทำใจให้แช่มชื่นด้วยอำนาจเมตตา ความรัก ในพรหมวิหาร กรุณา ความสงสาร อารมณ์จิตชื่นบานปรารถนาในการเกื้อกูล มีอารมณ์อ่อนโยน หมายความว่า เห็นใครเขาดีพลอยยินดีด้วย และก็น้อมเอาความดีที่เขากระทำแล้วมาประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าลอกแบบจากความดีของเขามาใช้ อุเบกขา สิ่งใดที่มันเกิดกับเรา ถ้าเป็นเหตุให้ไม่พอใจ ถ้าสิ่งนั้นเป็นกฎธรรมดาของโลก เราก็วางเฉย เท่านี้มันก็หมดเรื่อง แต่ว่าถ้าหมดเรื่องแค่นี้น่ะ มันก็หมดเรื่องแค่สมถภาวนา เราต้องต่ออีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องวิปัสสนาภาวนา ในด้านวิปัสสนาภาวนานี่ ผมขอยึดอริยสัจเป็นสำคัญ เพราะว่าอริยสัจนี้เป็นธรรมะที่องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงบรรลุเอง ค้นคว้ามาเอง พระพุทธเจ้าจะเทศน์ที่ไหนก็ตาม ถ้าเทศน์ชาดก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงนำเอาเรื่องของชาดกมายกเป็นตัวอย่าง และก็ทรงสรุปด้วยอริยสัจ ๔
...............ผมไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าสรุปด้วยอะไร สรุปด้วยอริยสัจ ๔ ฉะนั้นวิปัสสนาญาณผมถืออริยสัจ ๔ เป็นหลัก และอริยสัจ ๔ ก็คือขันธ์ ๕ หรือว่าวิปัสสนาญาณก็มองขันธ์ ๕ นั่นเอง แต่ว่าคำอธิบายหรือคำพูดสำนวนแตกต่างกัน ถ้าเราฉลาดจะเห็นว่าอาการทั้ง ๓ อย่างนี้ไม่ต่างกัน คือ อริยสัจ ๔ ก็ดี การพิจารณาขันธ์ ๕ ก็ดี หรือพิจารณาวิปัสสนาญาณ ๙ ก็ดี เหมือนกัน ถ้าฉลาด ถ้าโง่มันก็ไม่เหมือน ถ้าฉลาดใช้ปัญญานิดเดียว ไม่ต้องสอนกันมาก มันก็เหมือน ไอ้ประเภทที่บอกว่าไม่รู้เนี่ยเก็บไว้เสียมั่งเถอะ อะไรก็ไม่รู้ อย่างโน้นก็ไม่รู้ นี้ก็ไม่รู้ ไอ้คำว่าไม่รู้เนี่ยมันไม่น่าจะมี มันต้องแกล้งไม่รู้ เลวทำไมเราจึงรู้ รู้จักการทำความเลวเรารู้จัก ถ้าเราจะรู้จักการทำความดีเสียบ้างไม่ได้หรือ
...............เป็นอันว่าเราต้องโทษใจของเราเสมอ มองดูความเลวของใจไว้เป็นสำคัญ อย่ามองดูความดี แล้วก็มาร้อนใจว่าไอ้ปฏิฆะ ความไม่ชอบใจ ทำให้อารมณ์ใจขุ่นมัวนี่มันดีตรงไหน มันเกิดประโยชน์กับใครบ้าง มีใครคนไหนบ้าง ที่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ขึ้โมโหโทโส ไม่ชอบใจคนนั้น ไม่ชอบใจคนนี้ คนประเภทนี้ชาวโลกพวกไหนเขานิยม คนที่จะนิยมพวกนี้ก็คือคนบ้า ก็เพราะอาการอย่างนั้นมันเป็นอาการของคนบ้า คนดีเขาไม่คบ ที่จะชอบใจกันก็เฉพาะคนบ้าก็เท่านั้น แต่เราก็มานั่งนึกว่าไอ้บ้านี่เราชอบมั้ย คนโมโหโทโสนี่มันไร้สติสัมปชัญญะ อยากจะพูด อยากจะด่า อยากจะอะไรก็ว่าตามอารมณ์ อยากจะทำชั่ว อยากจะทำเลว อยากจะทำทรามก็ทำตามอารมณ์ ไม่ได้มองดูกำลังใจของชาวบ้านชาวเมือง ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ตั้งใจสร้างแต่ความชั่วอย่างเดียว อย่างคนอื่นเขาสร้างเราก็ทำลายมันเสีย เขาสร้างความดีเราก็สร้างความชั่ว เขาต้องการความสงบเราก็ส่งเสียงรบกวน อันนี้มันเป็นอาการของความชั่ว ดีมั้ยล่ะ ไม่ดีเพราะถ้าเขากวนใจเราบ้างล่ะ เราก็ไม่ชอบใจ ถ้าเราไปกวนใจเขา เขาจะชอบใจมั้ย ไม่มีใครเขาบูชาเราหรอก มันเลว แล้วก็นั่งด่าตัวเองไว้ทุกวัน อย่าไปชมตัวเอง แล้วก็น้อมมาถึงอริยสัจควบกับพรหมวิหาร ๔ หรือว่าควบกับกสิณ ๔ ก็ได้ ตอนนี้ต้องเร่งอริยสัจให้มาก อนาคามีนี่ถ้าพวกคุณทิ้งอริยสัจ พวกคุณพัง ไม่มีทาง ความจริงอริยสัจนี่เรารู้กันมาตั้งแต่ต้น เราทำกันมาแล้ว เราประพฤติกันมาแล้ว แต่ว่าเราไม่จำกันเอง นี่ผมพูดถึงว่าคนที่ไม่สนใจ อริยสัจเป็นไง เป็นทุกข์ ตัวทุกข์ตัวนี้แหละต้องมองให้มันเห็น หนึ่ง คนที่มีความโหดร้ายในจิต คนนั้นมีแต่ความทุกข์ เห็นมั้ย มือไว ลักขโมยเขา ทุกข์ ใจเร็ว คบหาสมาคมกับใครไม่ได้ ยื้อแย่งลูกเขาเมียเขา เราก็ทุกข์ เพราะเขาจะล่อกบาลเข้า ตีหัวยังดี เจอปืนเข้าให้ ตายไป พูดปดมดเท็จ ใครเขาจะคบค้าสมาคมด้วย คนเวลานี้ตายกันมากก็เพราะว่าขาดสัจจะ ดื่มสุราเมรัย เหลว เลวทั้งนั้น มองดูมุมของความเลว กฎ ข้อบังคับ ระเบียบวินัย ประเพณี กฎหมาย ถ้าเราละเมิดเมื่อไหร่ เราเลวเมื่อนั้น
...............วันหนึ่งๆ เราก็มาจ้องมองอารมณ์ความเลวของเรา เอาสังโยชน์สิบประการมานั่งอ่านนั่งดู ว่าอีตรงไหนหนอที่เรายังค้างอยู่ หนึ่งถึงห้า คือสักกายทิฏฐิ เรายังมีความหลงใหลใฝ่ฝันในร่างกายของเราหรือเปล่า เห็นว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเราหรือเปล่า ถ้ายังเห็นอยู่ เราเลว วิจิกิจฉา คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกอบไปด้วยเหตุผล เราพยายามฝ่าฝืนกฎข้อบังคับนี้บ้างหรือเปล่า หรือฝ่าฝืนคำแนะนำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า ถ้าฝ่าฝืน เราเลว นี่นะ ระเบียบประเพณี กฏข้อบังคับประจำถิ่นที่เขามีอยู่ เราฝ่าฝืนหรือเปล่า เรามีความทะนงตนหรือเปล่า ถ้ามี เราเลว รวมความว่ามองเลวมันให้พบ สีลัพตปรามาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระอนาคามีนี่ถ้าคนทรงถึงแล้ว อารมณ์จิตของท่านผู้นั้นจะมีอุโบสถศีลเป็นประจำ หรือว่ากันง่ายๆ จะมีศึล ๘ เป็นประจำ การหิวข้าวหิวปลานี่มันไม่มีหรอก ศึล ๘ ประจำใจเป็นปรกติขึ้นมาเองโดยไม่ต้องสมาทาน ความดีมันปรากฎขึ้นมาเต็มที่ จำไว้ให้ดีนะ ว่าท่านที่ทรงอนาคามีผลน่ะ เป็นท่านที่ทรงศีล ๘ เป็นปรกติ ถ้าฆราวาส คือว่าไม่ต้องบังคับให้ใจมันศึกษาศีล ๘ ศีล ๘ มันเกาะติดใจเอง ปลดมันไม่ได้ นี่เป็นจุดหนึ่งที่เราจะมองอนาคามี
...............นี้เมื่อความโกรธมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ทำไมเราจึงจะต้องโกรธ อารมณ์ของเราปล่อยมันนิ่งๆ ไม่ได้หรือ ใครเขาจะดีใครเขาจะชั่ว ไม่เกี่ยวที่หมู่คณะ ปล่อยมันไปเลย ช่างเขา ถ้าเขาพูดดีเป็นความดีของเขา เขาพูดเลวเป็นความเลวของเขา เขาทำดีเป็นความดีของเขา เขาทำเลวเป็นความเลวของเขา แต่เราสิ อย่าให้มันเลวอย่างเขา คุมกำลังใจในด้านความดีไว้ ทำใจให้มันเป็นปรกติจิตเป็นสุข เราจะไม่ยอมทุกข์เพราะอารมณ์ใจเลว ความสุขจะมีมาจากไหน ความสุขก็มีมาจาก หนึ่ง เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร มุทิตา ไม่อิจฉาริษยาใคร อุเบกขา วางเฉยในเมื่อเขาเลว เพราะอะไร เพราะว่าเราต้องการอารมณ์อย่างนี้เพราะเกรงความทุกข์ ความทุกข์ที่มันมีมาคือมันจะพาเราเกิดอีก เราไม่ต้องการความเกิด เท่านี้เอง ไม่ยาก ใจทรงอารมณ์อย่างนี้เดี๋ยวมันก็หาย ไอ้ความโกรธไอ้การกระทบกระทั่งใจ เราก็ถืออุเบกขาว่าช่างมัน เอ็งอยากจะเลวเอ็งจงเลวไปแต่ผู้เดียว เราจะไม่เลวกับเอ็งด้วย หมดเรื่อง รวมความว่านี่ขอสรุป เพราะมันง่าย ไม่ยาก ถึงอนาคามี ผมไม่เห็นมีอะไร เราผ่านสกิทาคามีมาแล้ว มันก็หมดแล้วนี่ ความจริงสกิทาคามีนี่ ผมสอนน่ะมันถึงอรหันต์แล้วนะ นี้ก็มาย่ำเท้าให้ฟังนิดหน่อยเท่านั้น มาย่ำเท้ามันก็เสียเวลาคนฟัง แต่เอ้า เสียเวลาก็เสียเวลากัน เดี๋ยวจะมาหาว่าไม่บอก
...............ขอสรุปลัดว่าจิตเราเมื่อตัดจากกิเลสถึงสกิทาคามีแล้ว จงน้อมเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งมั่นตัดราคะกิเลสให้ขาด นี่ความจริงมันก็จะขาดอยู่แล้ว มันร่อแร่เต็มทีตั้งแต่สกิทาคามี ระหว่างที่จิตทรงสกิทาคามีผล ไอ้คนสวยมันหาไม่ได้แล้วในโลก แต่ทว่าอารมณ์ค้างที่เป็นอนุสัยมันยังมี หมายความว่าอารมณ์ที่กำลังปรกติมีจิตสบาย บางทีจิตมันนึกขึ้นมาได้ว่า โอหนอ คนนั้นดีนะ รูปนั้นดีนะ เสียงนั้นดีนะ กลิ่นนั้นดีนะ รสนั้นดีนะ ไอ้พวกติดรสติดชาติ ติดสี ติดกลิ่นเนี่ย ไอ้พวกกิเลสหนักทั้งนั้น มันเป็นอารมณ์เลว ไม่เป็นเรื่อง ทีนี้ในเมื่อเราเจริญในอสุภสัญญามาตั้งแต่สกิทาคามี มันก็ตัดไปแล้ว ทีนี้มาคิดว่า ถ้ายังมีอารมณ์ค้างอยู่ อารมณ์ค้างก็หมายความว่า ตอนที่จิตสบาย มันเป็นอนุสัยเกิดขึ้น พออารมณ์สงบสงัด อารมณ์มันคิดขึ้นมานิดหนึ่ง ถึงรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัสระหว่างเพศ พอจิตคิดมานิดหนึ่ง สติมันก็จะโผล่ขึ้นมาทันกัน มันจะตัดทันทีว่ามึงนี่เลวเท่านั้นรึ จงอย่าใช้คำว่าเอ็ง ใช้คำว่ามึง เราต้องปราบมัน ถ้าจะสอนว่าหยาบก็เชิญสิ ใครอยากสุภาพก็เชิญ ต้องใช้ให้หนักถือว่ามันเป็นศัตรูหนักของเรา ใช้คำในใจของเราให้หนักว่ามึงไอ้ตัวเลวนี่โผล่หน้ามาอีกแล้วรึ กูไม่คบหาสมาคมกับมึง รูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัสที่ไหนวะ ที่มันจะสร้างความสุขให้กับกู กูไม่คบเพราะกูหลงมึงอย่างนี้ กูจึงเกิด ต่อจากนี้ไปมึงกับกูเลิกกัน
...............มาถึงด้านปฏิฆะก็เหมือนกัน อารมณ์ที่มันจะเข้าไปรบอารมณ์ที่สร้างความไม่ชอบใจแก่คนอื่น ตอนนี้ก็จงสร้างความรู้สึกว่าไอ้เจ้านี่เลว เอ็งจะไปนั่งโกรธชาวบ้านชาวเมืองเขาทำไม ไอ้เอ็งมันเลวเองต่างหาก ในเมื่อมันเรื่องความเลวของคนอื่น ก็มึงจะมายุ่งอะไรกับกูล่ะ กูไม่เอาแล้วไอ้ความโกรธ ความพยาบาท ความกระทบกระทั่ง ทำจิตให้ดิ้นรน ทำให้ไม่สบายกูไม่เอา มึงจงไปเสียจากกู กูไม่คบค้าสมาคมกับมึง จิตเราทรงความยิ้มไว้เป็นปรกติ ยิ้มเพราะเมตตา ความรัก ยิ้มเพราะกรุณา ความสงสาร ยิ้มเพราะมีเมตตากับมีความอ่อนโยนของจิต พร้อมยอมรับความดีของบุคคลอื่น จิตมีอารมณ์สบายด้วยอุเบกขาที่เป็นอัพยากฤต คือมีอารมณ์พระนิพพานเป็นอารมณ์ จิตมีอารมณ์โปร่ง จิตมีอารมณ์สบาย เพราะใจของเราหวังได้แล้วกับพระนิพพานเป็นของแน่นอนสำหรับเรา เป็นอันว่าอารมณ์พระอนาคามีนี่ไม่มีอะไร เพราะว่าเราจ้ำจี้จ้ำไชมากันตั้งแต่สกิทาคามี ถ้าถึงอนาคามี ถ้าถึงตอนนี้ยังบอกว่าหนักใจเรื่องกามฉันทะ หนักใจเรื่องปฏิฆะ ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไง ก็ต้องโมทนาด้วย หนักใจก็โมทนา อยู่เกิดต่อไปก็แล้วกัน มันจะได้อยู่กับความทุกข์ให้มันช่ำใจ ให้มีความแน่ใจว่าทุกข์มันมีความดีขนาดไหน จนกว่าจะเบื่อมัน
...............เป็นอันว่าสำหรับเรื่องพระอนาคามีนั้น ไม่มีอะไรยาก วันนี้เราก็มาว่ากันว่า ถ้าจะตัดปฏิฆะได้ จิตจะต้องทรงในอารมณ์ของพรหมวิหาร ๔ ให้เป็นปรกติ ควบกันกับอริยสัจ ๔ เพราะว่าตัวไม่ชอบใจเป็นปัจจัยของความทุกข์ เราไม่ต้องการมันเพียงเท่านี้ ท่านก็จะทรงอารมณ์เป็นพระอนาคามี พอถึงความเป็นพระอนาคามีนี่ อารมณ์จะมีความสุขมาก จิตจะไม่ดิ้นรนด้วยรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส ลองนึกดู มีแต่ความสุข มีแต่ความสบาย รังเกียจในระหว่างเพศ ร่างกายของเราก็ดี คนอื่นก็ดี เราเต็มไปด้วยความรังเกียจเพราะมันสกปรก จิตใจเป็นสุขเพราะไม่มีความโกรธไม่มีความพยาบาท มีแต่ความชุ่มชื่นด้วยอำนาจพรหมวิหาร ๔ มีการยอมรับนับถือว่าการเกิดแก่เจ็บตายนี้มันเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการ อันนี้เราเหยียบย่างเข้ามาใกล้พระนิพพานแค่มือเอื้อม เรามีความพอใจ
...............เอาละบรรดาท่านทั้งหลาย คำแนะนำสำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าท่านจะเห็นว่าเวลานั้นเป็นกาลอันสมควรสำหรับท่าน สวัสดี
ส่งให้เพื่อน
Create Date : 05 เมษายน 2553 |
|
49 comments |
Last Update : 5 เมษายน 2553 21:12:16 น. |
Counter : 1029 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
โดย: cengorn 6 เมษายน 2553 16:43:27 น. |
|
|
|
| |
โดย: อุ้มสี 6 เมษายน 2553 23:45:34 น. |
|
|
|
| |
โดย: มินทิวา 7 เมษายน 2553 5:36:00 น. |
|
|
|
| |
โดย: อัสติสะ 7 เมษายน 2553 7:28:39 น. |
|
|
|
| |
โดย: พี่นู๋อ้อ (pinuaoo2006 ) 7 เมษายน 2553 12:50:51 น. |
|
|
|
| |
โดย: tukta (tukta510 ) 7 เมษายน 2553 19:40:47 น. |
|
|
|
| |
โดย: Chulapinan IP: 125.25.87.224 8 เมษายน 2553 18:50:21 น. |
|
|
|
| |
โดย: ooyporn 8 เมษายน 2553 23:26:52 น. |
|
|
|
| |
โดย: พธู 9 เมษายน 2553 16:35:19 น. |
|
|
|
| |
โดย: cengorn 9 เมษายน 2553 18:02:27 น. |
|
|
|
| |
โดย: อะนิตา IP: 212.198.99.113 9 เมษายน 2553 20:17:41 น. |
|
|
|
| |
โดย: อุ้มสี 10 เมษายน 2553 22:08:20 น. |
|
|
|
| |
โดย: maxpal IP: 121.137.34.3 11 เมษายน 2553 1:20:16 น. |
|
|
|
|
|
|
|
รู้สึกว่ายากจัง ถ้าจะทำให้ได้
แต่ถ้าใครทำได้ จะสบายไปตลอดเลยค่ะ ใช่ป่าว
อนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณที่นำสิ่งดีๆ มาให้ฟังค่ะ