หลักการซ้อมยูโดแบบญี่ปุ่นของเยาวชนโทไก 2/4
11.รันโดริ ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของการรันโดริ รันโดริคือการซ้อมการจู่โจมการทุ่มไม่ใช่การป้องกันการจู่โจมและก็ไม่ใช่การแข่งขัน เนื่องจากเป็นการซ้อมดังนั้นไม่มีผลแพ้ชนะ โดนทุ่มก็ตบเบาะแล้วเริ่มซ้อมกันต่อ -3อย่างสำคัญที่ต้องคำนึงในการรันโดริ หนึ่ง รีบชิงจังหวะจับ แข่งจริงอาจต้องใช้เวลานานในการชิงจับแก้ทางกัน แต่นี้เป็นการซ้อมไม่ควรเสียเวลากับการแก้ทางไปมากับการชิงจังหวะจนไม่ได้ออกท่า สอง การเข้าท่าจู่โจม จับได้แล้วให้ออกท่าทันที โดนสวนหรือโดนทุ่มกลับไม่เป็นไร สิ่งสำคัญคือการซ้อมหาจังหวะในการจู่โจม บ่อยครั้งผมมักเห็นและเจอกับคู่ซ้อมที่ไม่ทำอะไรเลยนอกจากรอสวน แบบนั้นผิดจุดประสงค์ในการซ้อม สาม ซ้อมจนหมดเวลาก็ให้เน้นเรื่องการจู่โจม ง่ายๆคือจับได้แล้วมีโอกาสต้องออกท่าทันที ไม่ใช่รอสวนเพื่อหวังชนะ เพราะในการซ้อมไม่มีแพ้ชนะนั้นเอง พยายามฝึกออกท่าและหาจังหวะในการออกท่าจู่โจมไปเรื่อยๆนั้นแหละคือการรันโดริ ความเห็นส่วนตัวของผมคือ คนที่จะมารันโดรินอกจากจะตบเบาะเป็นแล้วต้องคิดและเข้าใจความหมายของการรันโดริให้ถูกต้องเสียก่อน หลายอย่างที่ผมเจอมามันผิดก็มีเช่น บางคนคิดไปซะว่ารันโดริคือการแข่งขัน บ้าไปกว่านั้นคิดว่าเป็นสงครามเป็นการเอาชีวิตรอด แบบว่าไม่ได้เป็นการซ้อม ทุ่มมั่วๆ ทำยังไงก็ได้ให้ทุ่มอีกฝั่งได้ ทั้งการจับแบบผิดๆ การทุ่มแบบทิ้งตัว และออกลูกมั่วเพื่อให้ตัวเองคิดว่าทุ่มได้คือชนะแล้ว หรืออีกประเภทนึงไม่ออกท่า กลัวถูกทุ่ม กะรอให้อีกฝั่งออกท่ามาแล้วเล่นง่ายค่อยสวนกลับไป เจอกับ2ประเภทนี้ การซ้อมไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่ในการพัฒนาฝีมือ นานๆไปการซ้อมจะเป็นความน่าเบื่อเมื่อต้องเจอกับคู่ซ้อมลักษณะนี้ -กีฬาการต่อสู้แบบยูโดมีหลักการเล่นทั่วๆไปอยู่4แบบ คือ หนึ่งโจมตีด้วยการจู่โจม สองป้องกันด้วยการจู่โจม สามโจมตีด้วยการป้องกัน สี่ป้องกันด้วยการป้องกัน ก็แล้วแต่ว่าคนเล่นจะวางแผนการเล่นแบบไหน แต่โดยรวมแล้วแผนการเล่นทั้งหมดนั้นจะเริ่มต้นจากการชิงจังหวะจับนั้นเอง
12.ความเหนื่อยกับรันโดริ การซ้อมแบบคนยืนเป็นตัวตั้งในการรันโดริ ส่วนคนที่เหลือ4-5คนสลับกันเข้ามารันโดริ เป็นการเสริมสร้างสเตมิน่าและให้คุ้นเคยกับความเหนื่อยล้า -รันโดริสิ่งสำคัญคือเรื่องการจู่โจม ถ้าเอาเวลารันโดริไปพักเหนื่อยแล้วอย่าซ้อมจะดีกว่า เสียเวลาเหนื่อยเปล่าๆ -ถึงจะเหนื่อยก็ให้จู่โจมออกท่าทุ่ม เพราะในจุดนั้นอาจจะจับจังหวะการทุ่มดีๆที่ใช้แรงน้อยก็เป็นได้ -สายตา มองตรงอย่ามองต่ำทำให้เป็นนิสัยในทุกการซ้อม -รันโดริตอนเหนื่อยๆ ออกท่าแล้วอย่าลังเลด้วยการถอนกลับ เพราะจุดนั้นเป็นโอกาสให้คู่ต่อสู้สวนกลับได้ง่าย พยายามใส่เข้าไปให้สุดทุกท่าทุ่มให้เป็นนิสัย ถึงตอนรันโดริจะโดนทุ่มก็ไม่เป็นไร -ในกรณีที่มีพื้นที่การซ้อม ทุ่มแล้วอาจจะต่อเนื่องในท่านอนเพื่อให้เคยชินเมื่อต้องเจอกับการแข่งจริงๆ
13.รันโดริให้ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำกี่อิปป้ง ตัวอย่างเช่นใน5นาทีต้องทำให้ได้3อิปป้ง เป้าหมายเพื่อให้การซ้อมจริงจังและพยายามจู่โจมให้มากเข้าไว้ โดยสิ่งแรกสุดต้องพยายามชิงจังหวะจับให้เร็วเพื่อที่จะมีโอกาสใส่ท่าได้มากขึ้น อย่าลืมว่าในการใช้ท่าเดียวโดดๆใส่เข้าไปอาจจะได้อิปป้งยาก การซ้อมแบบนี้ควรจะพยายามเข้าท่าและใช้ท่าต่อเนื่อง
14.การซ้อมรันโดริแบบ golden score หลังจากการซ้อมรันโดริในแบบปกติแล้ว อาจจะมีการซ้อมต่อไปในอีก2-3นาที ในรูปแบบของโกลเด้นสกอ์ร จุดประสงค์ก็เพื่อให้คุ้นเคยกับการแข่งและความเหนื่อย -การซ้อมอันนี้เน้นเรื่องการจู่โจมให้มากเข้าไว้ พยายามออกท่าทุ่มให้จะแจ้ง เพราะถึงแม้ทุ่มไม่ได้แต่ก็มีผลต่อฮันเตหรือการยกธงเมื่อหมดเวลา -สิ่งสำคัญ2อย่างคือ หนี่งจิตใจที่คิดว่าต้องทำได้ต้องชนะ สองสายตาไม่ก้มต่ำให้มองตรงหน้าคู่ต่อสู้ การมองตรงจะช่วยให้ทรึริเทกับ ฮิกิเทควบคุมได้ดีขึ้นซึ่งนำไปสู่จังหวะในการจู่โจมออกท่าต่อไป
15.คุมิเท พื้นฐานแรกสุดในการจับแบบไอโยตสึ ในกรณีนี้ขออธิบายแบบจับขวาทั้งคู่ในลักษณะไอโยตสึ การจับไอโยตสึสิ่งแรกที่ควรทำคือเริ่มจับจากฮิกิเท(มือที่จับแขนเสื้อของคู่ต่อสู้) -เริ่มจากเอาขาซ้ายนำ(ในกรณีที่จับขวา) -สายตามองที่ตาคู่ต่อสู้ อย่ามองต่ำหรือมองแขน เพราะถ้ามองต่ำถึงจับได้ก็จริงการเข้าท่าจะลำบากเพราะหลังงอ -เริ่มหาจังหวะจับจากมือซ้ายฮิกิเทของเราจับไปที่แขนขวาของคู่ต่อสู้ -หมุนตัวไปทางซ้าย วนไปเรื่อยๆ การทำแบบนี้จะทำให้แขนซ้ายเราเข้าใกล้แขนขวาคู่ต่อสู้ ขณะเดียวกันแขนขวาเราก็จะไกลจากแขนซ้ายคู่ต่อสู้ ทำให้เราได้เปรียบในการชิงจังหวะจับฝั่งฮิกิเท
16.คุมิเท รูปแบบการเริ่มจับของเก็งกังโยตสึ  สิ่งที่เราเห็นและเจอะเจอในการจับแบบเก็งกังโยตสึนั้นคือการเริ่มจับจากทรึริเท(มือที่จับคอเสื้อ) แต่จริงๆแล้วพื้นฐานของการจับทั้งแบบไอโยตสึหรือแบบเก็งกังโยตสึนั้นให้เริ่มจับจากฮิกิเทก่อน เหตุผลเพราะฮิกิเทอยู่ไกลจับได้ยากกว่าทรึริเท -ให้เอามือขวาไปจับเสื้อที่แขนขวาบริเวณข้อมือก่อน(กรณีจับขวา) จากนั้นให้ดึงมาแล้วสลับเอามือซ้ายมาเปลี่ยนจับแทนที่ -พื้นฐานการชิงจับทั้งสองแบบมีอยู่3ข้อ หนึ่งคือท่าที่ถูกต้อง ตำแหน่งสายตา หลังไม่งอ หัวไม่ก้ม สองคือใช้ทั้งสองมือ สามคือเดินเข้าหาสร้างจังหวะสร้างแรงกดดัน
17.คุมิเท ว่าด้วยเรื่องของเก็งกังโยตสึ  ข้อที่16ที่ว่าจุดสำคัญของการจับอยู่ที่ฮิกิเทที่สมควรจะจับก่อน แต่ทั่วไปอาจจะต้องจับกันที่ทรึริเท หากเป็นเช่นนี้ทรึริเทเราควรจะอยู่วงในเพื่อที่จะสามารถใช้ในการกด การเปิด สร้างแรงกดดันเพื่อหาจังหวะให้กับฮิกิเท -เจอกับเก็งกังโยตสึลักษณะนี้ ให้ตั้งท่าในลักษณะมิกิชิเซ็นไต(ขาขวานำในกรณีจับขวา) ทรึริเทจับคอเสื้อจากวงใน ถ้าอยู่วงในเราสามารถที่จะคุมคู่ต่อสู้ได้ง่ายด้วยการเปิดแขนหรือการกดลง -บางครั้งฮิกิเทไม่สามารถจับที่แขนเสื้อคู่ต่อสู้หรือจุดที่เราถนัดได้ ก็ให้จับไปที่ระหว่างคอเสื้อ หน้าอก กับรักแร้ก่อน ต่อจากนั้นก็ออกท่าตามปกติในการทุ่ม(การทุ่มและการคุมจะยากกว่าการจับในแบบปกติ) หรือถ้ามีโอกาสค่อยเปลี่ยนฮิกิเทไปจับในจุดที่ตนเองถนัด -พื้นฐานในการจับทั่วๆไปนั้นคือทรึริเทอยู่คอเสื้อ ฮิกิเทอยู่ที่แขนเสื้อ เปรียบเสมือนกับพวงมาลัยรถนั้นเอง จุดนี้พวงมาลัยจะเป็นวงกว้างการที่จะทุ่มหรือควบคุมคู่ต่อสู้จะง่ายกว่าการจับแบบทรึริเทอยู่ที่คอเสื้อและฮิกิเทอยู่ที่คอเสื้อ เพราะเมื่อวงพวงมาลัยเล็กทิศทางการทุ่มและควบคุมร่างกายคู่ต่อสู้ก็จะทำได้ยากขึ้น
18.ในรูปแบบของเก็งกังโยตสึ ควบคุมคู่ต่อสู้ด้วยการเคลื่อนไหวของทรึริเท  อย่างที่อธิบายก่อนหน้านี้ว่าในการจับแบบเก็งกังโยตสึส่วนใหญ่มือแรกที่จับกันได้ก็คือทรึริเท ดังนั้นถ้าหากเราใช้ทรึริเทได้อย่างฉลาดแล้วก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน -การเคลื่อนไหวทรึริเททำได้โดย หนึ่งการจับที่ถูกต้อง สายตามองตาคู่ต่อสู้ไม่ก้มหน้า สองข้อมือและข้อศอกขยับขึ้นลงเคลื่อนที่ไปมาซ้ายขวา สามไม่เพียงแต่แขนเท่านั้นที่เคลื่อนไหวแต่ในการขยับแขนนั้นให้ออกท่าขาไปด้วยเพื่อสร้างแรงกดดันและความวุ่นวายให้กับคู่ต่อสู้หรือให้เอาฟุตเวิคร์เข้ามาช่วยในระหว่างการขยับข้อมือและข้อศอก การเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาดของทรึริเทในการจับแบบเก็งกังโยตสึ มีผลทำให้เราคุมคู่ต่อสู้ได้ง่ายในขณะเดียวกันทรึริเทของคู่ต่อสู้จับในตำแหน่งที่ไม่ดีหรือว่าไม่สามารถจับได้ ก็จะเป็นการป้องกันไปในตัวที่จะทำให้คู่ต่อสู้ไม่สามารถออกท่ามาได้ ยุทธวิธีการเล่นแบบนี้เป็นทฤษฏีการเล่นในแบบที่4(ข้อ11)คือการป้องกันด้วยการป้องกัน
19.คุมิเท ในกรณีที่ใช้ทรึริเทจับไปที่คอเสื้อได้แล้ว  กรณีนี้ใช้ได้ทั้งแบบไอโยตสึและเก็งกังโยตสึ จุดสำคัญคือเรามีจังหวะจับคอเสื้อได้ก่อนแต่ยังไม่มีจังหวะในการใช้ฮิกิเทไปจับที่แขนเสื้อ ให้เอาฮิกิเทไปจับที่คอเสื้ออีกฝั่งก่อนเพื่อที่จะหาจังหวะต่อไป -ก่อนอื่นจับคอเสื้อให้ถูกต้องมั่นคงก่อน ตามองตาหน้าไม่ก้ม -พอจับคอเสื้อ2ฝั่งแล้วข้อห้ามคือห้ามเหยียดแขนตึงให้งอข้อศอกเข้าเพื่อที่จะคุมคู่ต่อสู้ได้ง่ายขึ้น -ทฤษฏีพวงมาลัย การจับคอเสื้อทั้ง2ฝั่งเปรียบเสมือนวงพวงมาลัยรถวงเล็กการเข้าท่าออกแรงจะทำได้ยากกว่าการจับแบบปกติ(จับแบบนี้ให้จับได้แค่ไม่เกิน6วินาที) ดังนั้นเมื่อมีโอกาศแล้วควรเปลี่ยนไปจับในรูปแบบปกติ
20.ฉวยโอกาสตอนที่คู่ต่อสู้กังวลหรือกำลังแก้ทางคุมิเท ออกท่าทุ่มทันที  ก่อนหน้านี้พูดถึงการชิงจังหวะจับ แต่ไม่ได้พูดถึงคู่ต่อสู้ออกท่าแก้ชิงจับ ข้อนี้อธิบายถึงตอนที่ทรึริเทจับคอเสื้อได้แล้วคู่ต่อสู้ดึงออกให้ฉวยจังหวะที่ออกแรงดึงนั้นใส่ท่าเข้าไป -แรกสุดเหมือนเดิมกับการจับที่ถูกต้อง ตามองตา หน้าไม่ก้ม หลังไม่งอ -ในขณะที่คู่ต่อสู้ใช้2มือมาแกะทรึริเทนั้นให้ฉวยโอกาสใช้ฮิกิเทจับแขนเสื้อ พอทรึริเทถูกปลดออกได้ให้รีบแก้ไขจับกลับเข้าไปทันที ตอนนี้เราจะคุมได้2แขนให้รีบใส่ท่าเข้าไปทันที
21.คุมิเท เก็งกังโยตสึ เริ่มคุมจากทรึริเท  -ก่อนอื่นให้คุมทรึริเทของเราให้อยู่วงในให้ได้ก่อน เริ่มจากถอยเล็กน้อยให้แขนทรึริเทของคู่ต่อสู้ยึดตรงออกมา จากนั้นเอาฮิกิเทของเรามาช่วยปัดข้อมือทรึริเทของคู่ต่อสู้ พร้อมๆกับการขยับข้อศอกให้แขนทรึริเทของเราเข้ามาอยู่วงในแทน จุดสำคัญคือให้แขนทรึริเทของคู่ต่อสู้ยืดตรงก่อน เพราะแขนยืดตรงจะใส่ท่าได้ลำบาก -คุมทรึริเทได้แล้ว ให้ใช้แขนฮิกิเทของเราไล่จับจากวงในออกไปทางวงนอกของแขนเสื้อคู่ต่อสู้ก็จะสามารถใช้แขนฮิกิเทของเราหนีบแขนของคู่ต่อสู้พร้อมๆกับการจับในตำแหน่งที่ได้เปรียบ -แพ้ชนะของยูโดอยู่ที่การทุ่ม ดังนั้นจังหวะจับที่ได้เปรียบมาแล้วต้องออกท่าทุ่มทันที
22.คุมิเท ไอโยตสึกับวิธีจัดการกับการใช้ทรึริเท  -บางครั้งคู่ต่อสู้ใช้2มือในการแกะทรึริเทของเราที่เข้าจับคอเสื้อ ให้เรายกศอกดึงมือเข้าหาไหล่อีกข้างนึง (ถ้าใช้แขนขวาเป็นทรึริเทก็ให้ยกศอก บิดมือไปที่ไหล่ซ้ายของเรา) พอตำแหน่งที่คู่ต่อสู้จับแขนเราแล้วให้เราจับกลับเข้าไปใหม่ที่คอเสื้อ
*ตั้งแต่ข้อ23-28ในรูปถ่ายโทริจะเป็นชุดขาวส่วนอุเกเป็นชุดน้ำเงิน 23.เก็งกังโยตสึ ในกรณีที่คู่ต่อสู้ตัวเล็กกว่า  -จุดสำคัญแรกสุดคือต้องเข้าไปใกล้ตัวคู่ต่อสู้ในระยะประชิด ทรึริเทจับไปทางหลังเล็กน้อย ฮิกิเทถ้าจับแขนไม่ได้ก็ให้จับคอเสื้ออีกฝั่ง -ถัดมา ให้เปิดมือทรึริเทกับฮิกิเทให้กว้าง ตามหลักทฤษฏีของวงพวงมาลัยคือวงใหญ่จะทุ่มหรือเข้าท่าได้ง่ายกว่าวงเล็ก -เพิ่มแรงกดดันโดยการให้กดมือทรึริเทพร้อมๆกับดึงมือฮิกิเท เมื่อคุมได้สมบูรณ์แล้วก็ให้ออกท่าโดยเร็ว -การจับทั้งแบบเก็งกังโยตสึหรือไอโยตสึ พื้นฐานทั่วไปคือทำให้คู่ต่อสู้ออกแรงได้ไม่เต็มที่ สิ่งแรกคือการเข้าประชิดตัวคู่ต่อสู้ ออกแรงกดดันให้คู่ต่อสู้งอตัวลง เมื่องอตัวแล้วสมดุลย์ก็จะเสียไป
24.เก็งกังโยตสึ ต้องใช้ท่าขาทำลายสมดุลย์เพื่อสร้างจังหวะจับให้กับฮิกิเท  -ส่วนใหญ่แล้วการจับแบบเก็งกังโยตสึแขนที่จับกันง่ายคือแขนทรึริเท เพื่อสร้างจังหวะจับให้กับฮิกิเท ควรใช้ท่าขาต่างๆเช่น เดอาชิบารัย อาชิกุรุม่า แต่การใช้ท่าขานี้ เป้าหมายไม่ใช่ทำให้ล้มแต่เป็นการทำให้คู่ต่อสู้เสียสมดุลย์ หรือสร้างแรงกดดัน ซึ่งเป็นโอกาสในการใช้ฮิกิเทจับแขนเสื้อนั้นเอง -ฝั่งผู้ใช้อย่าเสียสมดุลย์เอง ตามองตา หน้าไม่ก้ม หลังไม่งอ หลังใช้ท่าขาออกไปแล้วให้รีบคว้าจับทันทีเพราะจุดประสงค์คือการคว้าจับ ถ้าใช้ท่าขาไปแล้วไม่สามารถคว้าจับได้ก็เสียของ ตรงจุดนี้อย่าลืมการวางตัวที่ถูกต้อง ตาตรง หน้าตรง หลังไม่งอ -หลังจากจับได้แล้วก็ต้องออกท่าไปทันทีเช่นกัน ถ้าไปหยุดชะงักหรือไม่ออกท่าการคว้าจับก็สูญเปล่าเช่นกัน -เทคนิคนี้ไม่เฉพาะเก็งกังโยตสึ แต่การจับแบบไอโยตสึก็ใช้ได้เช่นกัน
25.เก็งกังโยตสึ เมื่อถูกทรึริเทของคู่ต่อสู้คว้าจับได้ก่อน  -เป็นการแก้ทางเมื่อถูกคู่ต่อสู้คว้าคอเสื้อไปก่อน เริ่มจากยึดอกตัวตรงไม่ก้มหน้า ถ้าก้มหน้างอตัวไปแล้วการเคลื่อนไหวต่อไปจะช้สและไร้พลัง -เอามือฮิกิเทไปจับข้อมือคู่ต่อสู้ข้างที่คว้าคอเสื้อเราไว้ ออกแรงกดหรือบิดเล็กน้อย แล้วให้เอาทรึริเทของเราคว้าคอเสื้อคู่ต่อสู้จากวงนอก จากนั้นกดข้อศอกสลับแขนเข้าสู่วงในพร้อมๆกับดึงคู่ต่อสู้เข้ามา จังหวะนี้อย่าลืมทำคุสุชิเพื่อที่จะทำลายสมดุลย์คู่ต่อสู้ เพราะปกติแล้วทรึริเทคุมแขนของคู่ต่อสู้ได้เพียงชั่วขณะเท่านั้น ต้องรีบทำลายสมดุลย์เพื่อสร้างโอกาสต่อไป -เมื่อทรึริเทของเราคุมทรึริเทคู่ต่อสู้ได้แล้ว ฮิกิเทให้รีบจับ จะจับวงในหรือว่าที่แขนเสื้อก็ได้ พอคว้าได้แล้วออกท่าทันที
26.คุมิเท ในกรณีที่ตัวใหญ่กว่าคู่ต่อสู้  ไม่ว่าจะจับแบบเก็งกังโยตสึหรือไอโยตสึก็ตาม เปิดเกมมาปุ๊บให้ยกแขนทั้ง2ข้างขึ้นสูงและแผ่ออกไปด้านข้าง จะทำให้คู่ต่อสู้ใช้ฮิกิเทมาจับไม่ถนัด(ตัวเล็กกว่าเลยต้องเอื้อมสูง) -การจับของเราจะเป็นแบบจากบนลงล่าง ตามองตรง หน้าไม่ก้ม -ให้เล่นอยู่กลางสนามเพราะจะมีที่ให้วนหลบซ้ายขวา อย่าไปเล่นที่ใกล้ขอบเพราะจะเป็นการจำกัดพื้นที่ตนเอง อีกอย่างที่ต้องระวังเมื่อเจอกับคนตัวเล็กคือการมุดเข้าวงใน
27.คุมิเท ในกรณีที่คู่ต่อสู้ตัวเล็กกว่า ให้ใช้ทฤษฏีห่อหุ้มคู่ต่อสู้เอาไว้  -ข้อก่อนหน้านี้อธิบายไว้ว่าเริ่มต้นให้ยกมือขึ้นทั้งสองมือ อาศัยรูปร่างในการสร้างจุดได้เปรียบ เพราะคู่ต่อสู้จะออกฮิกิเทลำบากในขณะที่การจับของเราจะเป็นแบบบนลงล่าง -ทำยังไงก็ได้เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้จะจับคอเสื้อทั้งคู่ จับหลังเสื้อ หรือที่ไหนก็ตามเพื่อห่อหุ้มและหยุดการเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้ก่อน กรณีนี้หยุดได้ประมาณ4วินาทีตามกติกายูโด -จากนั้นให้ออกท่าทันที เพื่อที่จะเปลี่ยนจุดจับให้ถนัด แต่เนื่องจากคู่ต่อสู้ตัวเล็กกว่าจึงควรจะต้องห่อหุ้มคู่ต่อสู้เอาไว้ก่อน
28.คุมิเท ในกรณีที่คู่ต่อสู้ตัวเล็กกว่าใช้ทรึริเทจับที่คอเสื้อเราแบบสลับฝั่ง  -ก่อนอื่นจับในยืนในรูปแบบถูกต้อง ตามองตรง หน้าไม่ก้ม หลังไม่งอ แล้วเอาฮิกิเทของเราไปจับที่ใต้รักแร้คู่ต่อสู้ -จากนั้นทรึริเทจับที่คอเสื้อคู่ต่อสู้พร้อมๆกับดึงเข้าหาตัวเพื่อทำลายสมดุลย์การยืนของคู่ต่อสู้ จากนั้นออกท่าทันที -การจับในลักษณะนี้ถึงจะทุ่มได้ยาก แต่ก็อาศัยความได้เปรียบที่เราตัวใหญ่กว่าและเป็นการทำลายสมดุลย์เพื่อจังหวะต่อๆไป
Create Date : 27 มีนาคม 2556 |
Last Update : 27 มีนาคม 2556 11:23:30 น. |
|
0 comments
|
Counter : 1952 Pageviews. |
 |
|