ทุกคนได้กลับไปตั้งตัวกันใหม่ เริ่มจากผมก็กลับมาตั้งตัวรักษาขากันไป เพื่อนผมที่เป็นคู่ซ้อมรวมถึงเพื่อนที่เป็นคู่สอบคาตะก็ต้องหาคู่ซ้อมกันใหม่ อาจารย์ที่เตรียมตัวประกาศให้จบในการแข่งวันนั้นก็ต้องกลับไปตั้งหลักกันใหม่ จนสุดท้ายก็ไดข้อสรุป
สอบสายครั้งล่าสุด ที่ผมได้มีโอกาสไปดูเพื่อนๆแข่งกัน ก่อนที่จะเลิกต้องมีการรวมทำความเคารพและสรุปผลการแข่งขัน อาจารย์ให้เรียกผมเข้าไปในแถวด้วย แล้วอาจารย์ก็บอกว่าวันนี้คนที่จบคอร์สมี2คน ก็คือเพื่อนผม(คนที่เป็นคู่คาตะของผมนั้นแหละครับ)กับ ผม เพื่อนบางคนจะงงๆว่ามีเรื่องแบบนี้ด้วยเหรอ คล้ายๆกับการฉีกกฏเลยก็ว่าได้ แรกสุดคือ ถ้าใครไม่ได้ลงทะเบียนสอบ(จ่ายตังค์300เยน)ไม่ว่าจะเป็นการสอบกี่คิวก็ตาม จะไม่สามารถผ่านหรือจบได้เพราะว่าไม่ได้ลงทะเบียนก็จะไม่มีชื่ออยู่ในรายชื่อ อีกอย่างคือผมไม่ได้ใส่ชุดยูโด เสื้อยืดขาสั้น(ต้องใส่ขาสั้นเพราะตอนเดินมันจะไม่กระเทือนแผล) แถมการแข่งวันนี้ก็ไม่ได้ลงแข่ง แต่อาจารย์เรียกเข้าไปรวมในแถวและประกาศให้จบ
ถัดมา ใครที่ไม่เกี่ยวข้องก็ให้ไปซ้อมในสนามตามปกติ ส่วนคนที่จะสอบท่าทุ่มคาตะก็เริ่มสอบไป เพื่อนที่เป็นคู่คาตะของผมก็ไปจับคู่กับเพื่อนสายดำแทนเพื่อทำการสอบ ส่วนผมแม้แต่การคุกเข่าทำความเคารพของยูโดยังไม่สามารถทำได้ เลยได้แต่ยืนดูอยู่ข้างสนาม จบท่าทุ่มอาจารย์บอกต่อว่าเพื่อนผมจบเรียบร้อยได้โชดั้งส่วนผมก็จบเหมือนกัน จุดนี้เรียกว่าอาจารย์ใจดีจริงๆ ปกติคนที่จะได้โชดั้งมันต้องผ่านการสอบท่าทุ่มทุกคน แต่อาจารย์ก็ช่วยเต็มที่จนสามารถถึงสายดำโชดั้งจนได้
ทำไมผมถึงได้โชดั้งเป็นกรณีพิเศษเรื่องนี้มีคำตอบครับ
1.การตัดสินใจให้โชดั้งใครนั้นจริงๆแล้วที่โคโดกังไม่ใช่แค่อาจารย์คนเดียวที่จะตัดสินใจ โคโดกังจะมีประชุมกันระหว่างอาจารย์ผู้สอนทุกๆเดือนก่อนที่จะทำการสอบสาย รวมถึงจะมีการประชุมกันอีกครั้งหลังจากการสอบแข่งขันได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก่อนที่จะออกใบประกาศของแต่ละคิว เรียกได้ว่าจบไม่จบนั้นอาจารย์ตัดสินใจกันตั้งแต่ก่อนการสอบแข่งขันกันแล้วครับ ส่วนโชดั้งนั้นจะมีประชุมพิจารณากันอีกรอบหลังจากที่ผู้สอบได้สอบท่าทุ่มนาเกโนกาตะไปแล้ว
2.อาจารย์ย้อนกลับไปดูผลการเรียนการซ้อมและการสอบของผม ก็ถือว่าผ่านเรียบร้อยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว ขาดแต่รอเวลาให้ครบ1ปีตามกฏของโคโดกังเท่านั้นเอง
3.ในมุมส่วนตัวของอาจารย์ เข้าใจความรู้สึกว่าคนที่เริ่มเล่นยูโดตอนแรกๆจะรู้สึกยังไงสำหรับการได้โชดั้ง
4.อันนี้คงมาจากสิ่งที่ผมสะสมวันละเล็กวันละน้อย เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มันสะสมมาเรื่อยๆตั้งแต่แรก การมาซ้อมสม่ำเสมอ การวางตัวในสนาม ทัศนคติและอื่นๆที่ทำให้ผมได้กลายไปเป็นศิษย์ที่น่ารักของอาจารย์
วิธีการเป็นลูกศิษย์ยูโดที่น่ารักนั้นทำได้ไม่ยากครับ
-ซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นไปได้มาให้ทันเช็คชื่อ กว่าจะมาซ้อมได้แต่ละครั้ง ผมเดินทางข้ามจังหวัดมา เสียทั้งเวลาและทรัพย์สินจริงๆ ทำให้แต่ละครั้งที่ผมมาซ้อมต้องทุ่มเทเต็มที่ บางคนพยายามหลบช่วงวอร์มอัพเพราะว่ามันเหนื่อยแต่ไม่ได้เทคนิคยูโด แต่จริงๆแล้วช่วงวอร์มอัพถ้าทำได้ดีมันก็จะพัฒนาร่างกายไปปรับใช้กับยูโดได้หลายอย่างครับ เช่น การทำท่าบริดจ์ การวอร์มขาในท่านอน การวิดพื้น ซิทอัพ การเข้าท่าคนเดียว และที่สำคัญที่สุดท่าเดอาชิบารัย ของพวกนี้มันค่อยๆสะสม ไม่มีคนบังคับ คุณทำคุณได้ คุณไม่ทำก็ไม่มีใครเอามาให้ แล้วสิ่งเหล่านี้ที่ทำตลอดการวอร์มในแต่ละวัน ก็อยู่ในสายตาของอาจารย์มาโดยตลอด ใครทำ ใครหลบ ใครทำแบบขอไปที ผมว่าคนที่เป็นอาจารย์ดูยังไงก็มองออกครับ
-เรื่องเช็คชื่อ อันนี้บางคนติดธุระจริงๆเช่นติดเรียน ติดงาน ทำยังไงก็ไม่สามารถมาทันเช็คชื่อได้ ถ้ามาทันจะได้วงกลม ถ้ามาสายจะได้เป็นขีดไขว้ แต่จะเป็นวงกลมหรือขีดไขว้มันก็ถือว่าเป็นการมาซ้อม1ครั้งเหมือนกัน แต่ว่าการทำงานของคนญี่ปุ่นถนัดเรื่องเก็บข้อมูลอยู่แล้ว แล้วบางครั้งที่หวุดหวิดจะผ่านไม่ผ่านจุดนี้ก็น่าจะนำออกมาใช้พิจารณาด้วยเช่นกัน
-เข้าใจความหมายของคำว่ารันโดริ แรกๆที่ผมเริ่มซ้อมรันโดริได้ เหมือนกับว่าเพิ่งหลุดออกมาจากกรง หลายๆคนรวมทั้งผมในตอนนั้น ไปหาท่าไปหาจังหวะการทุ่มโดยดูจากหนังสือหรืออินเตอร์เน็ท โดยลืมสิ่งที่สำคัญมากๆไปอย่างนึงคือ อาจารย์พวกที่สอนอยู่ตรงหน้านี้ คุณวุฒิทุกคนล้วนแต่สายแดงขาวกันหมด ตัวเป็นๆมาสอนอยู่ตรงหน้า แต่ดันกลับไปพึ่งพาหนังสือ พึ่งพาอินเตอร์เน็ทหาท่าแปลกๆมาใช้ ทุ่มได้ในตอนนั้นก็รู้สึกว่าเออกูดีกูเก่ง หากแต่ความจริงแล้วเป็นเพราะคู่ซ้อมไม่รู้จักจังหวะท่าพวกนั้นทำให้ฟลุ๊คทุ่มได้ เรียกได้ว่าฝีมืออาจจะไปได้เร็วในตอนแรกแต่ไปถึงจุดๆนึงแล้วมันจะหยุดหาทางไปต่อไปได้ อาจารย์เคยบอกตรงจุดนี้เอาไว้ ทำให้ผมคิดได้ว่ามันต้องปรับเปลี่ยนแล้ว ผมรื้อความคิดเดิมๆทิ้งแล้วกลับมาเริ่มต้นฝึกพื้นฐานจังหวะท่าทุ่มตามที่อาจารย์แต่ละท่านสอนในแต่ละวัน อะไรสมควรใช้ในการซ้อมเพื่อให้มันตรงกับความหมายของคำว่าซ้อมก็เอาออกมาใช้ อะไรที่มันไม่สมควรใช้ก็พยายามที่จะไม่ใช้มันออกไป การซ้อมถือว่าเป็นการได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง2ฝ่ายของคู่ซ้อม ไม่ใช่ว่าเออดียืนแข็งๆยังไงมึงก็ทุ่มกูไม่ได้ แล้วผมจะเสียเวลาเดินทางไปซ้อมเพื่ออะไรกัน หรือว่าเดินทางไปถึงโคโดกังแต่ดันไม่เอาสิ่งที่อาจารย์โคโดกังสอนมาใช้กลับไปเอาท่าจากใครก็ไม่รู้อาจจะเก่งในเวทีระดับโลก แต่ว่าฝีมือพื้นฐานยังไม่แข็งสำหรับคนที่เริ่มเล่นใหม่ๆแล้วมันจะรับความรู้ตรงจุดนั้นได้รึ อีกอย่างคือจุดเล็กๆน้อยๆที่เพื่อนบางคนมองข้ามสิ่งที่อาจารย์สอนไปเช่น การจับคอเสื้อลึกไปทางด้านหลัง การงอตัว การดันคู่ต่อสู้และไม่ออกท่า พวกนี้ล้วนอยู่ในสายตาของอาจารย์ทั้งสิ้น
-ความปลอดภัย การซ้อมหรือการแข่งนั้นผมถือว่ามันไม่ใช่สงครามที่จะต้องเอาให้ตายกันไปข้าง ทุกคนก็คงอยากจะชนะเหมือนกันหมดแหละครับ เพียงแต่ระยะหลังๆทัศนคติของผมเปลี่ยนไป เจ็บเองก็ไม่ดีไปทำคนอื่นเจ็บก็ไม่ดีเหมือนกัน ท่าที่ใช้มันไม่ผิดในยูโดเพียงแต่คู่ซ้อมนั้นจะรับท่าตรงนั้นได้มั้ย การแข่งอาจจะหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การซ้อมผมจะพยายามไม่ใช้ท่าที่มันผิดฝั่งหรือว่าสักแต่ทุ่มอย่างเดียวโดยไม่สนใจคู่ซ้อม ท่าผิดฝั่งที่อาจจะทำคู่ซ้อมเจ็บได้เช่น เซโอนาเกะหรืออิปปงเซโอนาเกะจับขวาแต่หมุนขวาอันนี้ถ้าคนถูกทุ่มอุเกมิไม่ดีมีสิ่งเจ็บ หรือว่าเซโอนาเกะแบบเลียดติดพื้น หรือว่าพวกฮิสะกุรุม่า ซาซาเอะ โอคุริอาชิบารัย พวกนี้ถ้าใช้ผิดฝั่งแล้วคู่ซ้อมยังไม่ตบเบาะไม่แข็งพอมันก็อาจจะทำอีกฝั่งเจ็บได้ ถ้าตั้งใจจะใช้ผิดฝั่งแล้วยูโดมันมีวิธีจับเพื่อช่วยลดความอันตรายลงไปได้ ตรงจุดนี้ส่วนใหญ่ผมระวังก่อนการใช้อยู่แล้วครับ สิ่งเล็กๆพวกนี้ก็ไม่รอดไปจากสายตาของอาจารย์อีกตามเคย
-การทำความเคารพ การทักทาย กฏพื้นฐานของยูโดโคโดกังที่สำคัญที่สุดคือการทำความเคารพคู่ซ้อมทั้งก่อนซ้อมและหลังซ้อม การทำความเคารพตอนเข้าสนามตอนออก รวมไปถึงการเคารพในการแข่งขัน และการทักทายอาจารย์และเพื่อนคู่ซ้อม จะไม่แปลกใจเลยที่ก่อนเข้าสนามผู้คนมันจะทำความเคารพโดยการโค้ง1ครั้ง ไม่พอจะต้องเดินไปใกล้ๆกับโต๊ะเก้าอี้ที่ตั้งรูปของปรมาจารย์แล้วทำการโค้งเคารพอีกครั้ง จุดเหล่านี้สำหรับคนญี่ปุ่นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมที่เป็นต่างชาติสามารถเคารพได้ถูกหลัก จุดนี้ก็ได้ใจอาจารย์ไปอีกเช่นกัน
โดยรวมแล้วสิ่งที่กล่าวมาด้านบนทุกคนสามารถทำกันได้ทั้งนั้น เพียงแค่คิดง่ายๆว่าไปโคโดกังนั้นเพื่ออะไร ถ้าคิดว่าตั้งใจไปซ้อมตั้งใจไปเรียนรู้ ก็ขอให้ตั้งใจไปซ้อมไปเรียนรู้มันก็ไม่ยากที่จะทำ สิ่งต่างๆเหล่านี้มันไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาชั่วข้ามคืน แต่มันเป็นการสะสมค่อยเป็นค่อยไปถึงทำให้ผมเดินมาจนถึงจุดนี้ได้โดยมีอาจารย์ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนอยู่อย่างเต็มที่ครับผม
สรุปข้อมูลและการเดินทางโดยรวมของผม
-เริ่มต้นเรียนที่โคโดกังเมื่อวันพุธที่1มิถุนายน 2011 จบการศึกษาวันเสาร์ที่30 มิถุนายน 2012
-รวมระยะเวลา 1ปีกับอีก1เดือน (396วัน) ไปซ้อมทั้งหมด231ครั้ง ไปสาย1ครั้ง(เพราะจักรยานโซ่ขาดทำให้ไปขึ้นรถไฟไม่ทัน)
-ได้ใบประกาศ การฝึกภาคฤดูร้อนวันที่ 22กรกฏาคม 2011
-ได้ใบประกาศ การจบคอร์สพื้นฐานเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2011
-ได้ระดับ5คิวเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2011
-ได้ระดับ4คิวเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2011
-ได้ระดับ3คิวเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2011
-ได้ระดับ2คิวเมื่อวันที่ 30 พฤษจิกายน 2011
-ได้ใบประกาศ การฝึกภาคฤดูหนาววันที่ 15 มกราคา 2012
-ได้ระดับ1คิวเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2012
-จบการศึกษาวันที่ 30 มิถุนายน 2012
-ได้โชดั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2012 ตรงนี้แปลกหน่อยนึงคือ ปกติแล้วตามกติกาของโคโดกังต้องจบก่อนถึงจะไปสอบท่าทุ่มมาตรฐานในเดือนถัดไปแล้วค่อยได้โชดั้งครับ แต่ของผมได้ก่อนจบ เพราะเวลามันสลับกันมั่วๆมาตั้งแต่ตอนขาหักแล้วครับ (ถ้าวันนั้นที่แข่งขาไม่หักอาจารย์ก็ตั้งใจจะให้จบวันนั้นแหละครับ แล้วค่อยไปสอบโชดั้งในเดือนถัดไป)
-แข่งไปทั้งหมด14ครั้ง
-แข่งชนะ11ครั้ง ชนะอิปป้ง10ครั้ง และ ชนะยูโก1ครั้ง
-แพ้3ครั้ง แพ้ให้กับเพื่อนคู่ซ้อมคาตะไป2ครั้งตอนเดือนธันวาคมกับเดือนมกราคม(แพ้อิปป้ง1ครั้งกับแพ้วาซะอาริ1ครั้ง) และยอมแพ้ตอนขาหักตอนเดือนเมษายน
-จุดที่เคยบาดเจ็บจากการซ้อมจนถึงโชดั้ง แขนขวาบริเวณข้อศอก แขนซ้ายบริเวณข้อศอก นิ้วชี้มือขวา นิ้วก้อยมือขวา นิ้วโป้งมือซ้าย ข้อมือขวา ไหล่ซ้าย ไหล่ขวา คิ้วข้างซ้าย คอ ลูกกระเดือก หน้าอก หลัง ซี่โครงซ้าย เอวด้านขวา ขาหนีบซ้าย ขาหนีบขวา เข่าซ้าย เข่าขวา ข้อเท้าซ้าย ข้อเท้าขวา นิ้วนางเท้าขวา และท้ายสุดจานเข่าด้านขวา
-ท่าที่พอจะใช้ทุ่มชาวบ้านเค้าได้ เซโอนาเกะ ไทโอโตชิ ฮาเนโกชิ โอโซโตการิ โออุจิการิ โคอุจิการิ เดอาชิบารัย ซาซาเอทรึริโกมิโกชิ ส่วนท่าที่มีความมั่นใจในการใช้ที่สุดคือ โออุจิการิ
-ท่านอนที่คิดว่ามั่นใจ ใช้แล้วกดได้30วิ คือ ท่าคามิชิโหที่ใช้ต่อจากท่าซังกะกุจิเม
สุดท้ายแล้วถ้าเป็นหนังภาพยนตร์ไตรภาค นี่คงเป็นบทสรุปทั้งหมดของภาคแรก คือการเริ่มต้นเดินทางจนถึงเป้าหมายการเริ่มต้นของยูโดหรือโชดั้งนั้นเอง แต่ก็ต้องกลับไปพักฟื้นร่างกายกับอาการบาดเจ็บจากขาหัก เป็นการจบที่เหลือเส้นทางไว้ให้เลือกคือจะเล่นต่อ(บาดเจ็บกระดูกหักกันต่อไป)หรือเลิกเล่น(ทิ้งทุกอย่างไว้แค่ความทรงจำว่าครั้งนึงก็เคยได้สายดำ) ต้องรอดูภาคสองครับว่าเริ่มต้นเปิดมาด้วยการหักมุมแบบตัวเอกภาคแรกตายเลิกเล่นไปขายก๋วยเตี๋ยวหรือว่าจะเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ยูโดแบบเต็มตัว ด้วยการพัฒนาหาท่าถนัดของตัวเองให้ยิ่งๆขึ้นไป แต่ทั้งหมดนี้ผมมีคำตอบมีเป้าหมายอยู่ในใจอยู่แล้วครับ เพียงแต่ว่าขอรอดูเงื่อนไขเวลาอีกซักหน่อยครับ
ชัดๆอีกรูปกับใบประกาศตรงภาษาอังกฤษ