|
| 1 | 2 | 3 |
4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 |
25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 |
|
|
|
|
|
|
|
ยูโดสายดำ (ภาคเมืองไทย)4 - การปรับเปลี่ยนพื้นฐานอีกครั้ง
9สค2015 การซ้อมครั้งที่6 หลังจากหายไป1เดือนเต็มจากการไปโคโดกัง (กับพัทยา) ก่อนหน้านี้กำลังใจในการซ้อมร่อยหรอไปบ้างจากการซ้อมรันโดริแล้วเล่นไม่ออก แต่ก่อนซ้อมวันนี้กำลังใจเต็มเปี่ยมจากการโผล่ไปดูการแข่งขันยูโดมหาชัยแชมเปี้ยมชิพ ที่สมุทรสาคร เห็นความมุ่งมั่นเยอะแยะของนักกีฬารุ่นยุวชนแล้วมันผลักดันให้อยากตั้งใจซ้อมขึ้นมาทันที ส่วนอีกจุดนึงคืออยากซ้อมอยู่แล้วและคิดถึงอาจารย์เป้ (ไม่ได้เจอตั้งเดือน แถมซ้อมครั้งนี้แล้วผมจะหายไปอีก2-3อาทิตย์ เพราะไปเมืองจีน)
ก่อนการซ้อม ผมได้อัพเดทสิ่งที่ผมได้มีโอกาสไปเจอและได้เรียนรู้มาจากการไปโคโดกังรอบนี้ รวมถึงคำถามหลายๆอย่างที่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญยูโดอย่างอ.เป้แนะนำ
เริ่มต้นกันที่ฮาเนโกชิ ท่านี้ผมครุ่นคิดมานาน มีการปรับกันหลายครั้งแต่ผมยังเข้าไม่ถึงมันอยู่ดี วันนี้รู้สึกแย่ลงกว่าการซ้อมคราวที่แล้วเพราะว่าคราวก่อนทำได้13-15ครั้งอัพ ตอนนี้ได้แค่10แล้วเหนื่อย แสดงว่ายังซ้อมไม่พอ
ซ้อมท่าเดียวติดๆอาจจะเบื่อ อ.แนะนำว่าให้ใส่ของแถมลงไปบางในการการเข้าท่า โดยบางครั้งทำการเพิ่มท่าเกี่ยวโออุจิใส่เข้าไป ทำบ่อยๆเป็นนิสัยเราก็จะได้อีกท่านึงติดมาเพิ่มด้วย
ถัดมาอาจารย์แนะนำให้เพิ่มเติมท่าหมุนซ้ายเข้าไปหน่อยนึง จะได้สามารถออกอาวุธได้ทั้งสองข้าง แน่นอนจับขวาหมุนซ้ายแบบไม่ต้องไปเรียนรู้กันใหม่คงไม่พ้นต้องเป็นท่าโซเดทรึริโกมิโกชิ ท่านี้ผมเคยศึกษามานิดหน่อย และเป็นท่าหมุนซ้ายเพียงท่าเดียวที่ผมมี (เคยมีไทโอซ้ายแต่มันหายไปแล้ว) โซเดที่ผมใช้กับของน้องคู่ซ้อมมันแตกต่างกันในรายละเอียด (ของผมด็แย่กว่า555) เพราะน้องคู่ซ้อมใช้แบบยึดดึงมือตรงไปจะคุมได้ทั้งแขน แต่แบบของผมเป็นแบบมั่วซั่ว อ.เป้เลยแนะนำและปรับเปลี่ยนให้ผมใช้แบบพาดไหล่และกดลง ซึ่งมันก็ให้ผลดีกว่าแบบมั่วๆของผมเยอะ ตรงที่ต้องแก้ไขคือเรื่องขาที่ต้องย่อลงไปอีก กับทิศทางที่หมุนยังน้อยไปไม่ครบวงจร ส่วนการหมุนกับสะโพกถือว่าพอใช้ได้
การเข้าท่าตรงนี้อ.แนะนำเพิ่มเติมว่าน่าจะใส่ความเร็วลงไปบ้างจะได้เพิ่มลิมิตของตัวเราเอง (คราวหน้าจะใส่เพิ่มเติมลงไปครับ)
ท่านอนวันนี้ซ้อม2ท่า คือท่าชุดเซไกอิดชูของโคโดกัง (ตัวนี้ผมว่าพื้นฐานท่านอนของผมหลักๆแล้วเกิดจากสิ่งนี้แหละครับ) ส่วนอีกท่าที่ซ้อมคือท่าหักแขน ท่าหักแขนของอาจารย์เป้ล้ำลึกมาก เพราะไม่ว่าจะเข้าจากมุมไหน จะใช้มือขวามือซ้าย หรือจะไปหักแขนขวาแขนซ้าย ล้วนแล้วแต่สามารถปรับใช้ได้ทุกมุม (ต้องพยายามฝึกซ้อมบ่อยๆให้ชำนาญจะได้หักได้ทุกมุม)
วันนี้อ.เป้ติดธุระอยู่ได้ถึงทุ่มครึ่ง ตื้นตันและเกรงใจมากๆ ขนาดติดธุระยังมาช่วยสอนและฝึกซ้อม ขอบคุณมากๆครับ ก่อนกลับเรียนรู้ท่าโอโกชิกันอีกครั้ง เพิ่มเติมและต้องจดจำ - ขาซ้ายท้ายสุดแล้วจะอยู่ต่ำกว่าขาขวาเล็กน้อย และท้ายสุดน้ำหนักจะลงที่ขาซ้ายมากกว่า - ไหล่ขวาจะออกหน้ามากกว่าไหล่ซ้าย - ย่อให้ต่ำ สร้างเกลียวกล้ามเนื้อให้มาก การย่อต่ำทำให้เกลียวมากขึ้น ผลคือหลังทั้งหลังติดกับหุ่นมากขึ้น - ขาตั้งแต่ต่ำกว่าเข่าไม่ขยับ ส่วนที่สูงขึ้นมาจากเข่า สามารถช่วยขยับปรับทิศทางได้ แต่ต่ำกว่าเข่าห้ามขยับ
วันนี้ร่วมๆแล้วเนื้อหาก็ไม่น้อยครับ ที่สำคัญเหนื่อยกว่าซ้อมที่อื่น (เหมือนเคย)
30สค2015 การซ้อมครั้งที่7 คิดถึงการซ้อมแบบนี้มากเพราะห่างหายไปนาน การที่หายไปนานมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือความต่อเนื่องมันขาดตอน อะไรที่เคยซ้อมไว้มาซ้อมต่อมันจะติดๆขัดๆรวมถึงอาจจะห่วยลงไปกว่าเดิม ส่วนข้อดีคือมีช่วงเวลาให้ทบทวนเนื้อหาที่เคยซ้อมมา การทิ้งช่วงแบบนี้ในบางครั้งเป็นการช่วยรีเซ็ตสิ่งที่เคยซ้อมเอาไว้คราวก่อน บางที่คราวก่อนทำไม่ได้ พอมีโอกาสทบทวนทิ้งช่วงหน่อยคราวนี้อาจจะทำได้ขึ้นมาก็ได้
เริ่มต้นกันที่โอโกชิ ผมรู้สึกว่าดีขึ้นกับท่าทางในการเข้าท่า เน้นเพิ่มเติมกับการดันโดยใช้สะโพกฝั่งซ้าย การออกแรงช่วงหน้กอกรักแร้ฝั่งขวา อย่าลืมเรื่องเดิมคือย่อให้ถึงจุด โอบเข้าให้ลึก ซ้อมคราวนี้รู้สึกว่าท่าทางพัฒนาขึ้น แต่ความอึดทนหายไป ดูได้จากจำนวนครั้งที่รู้สึกจะลดน้อยลงกว่าคราวที่แล้ว สิ่งนี้ต้องแก้ไข
ถัดมาเป็นโอโกชิซ้าย การเข้าท่าทางด้านซ้ายผมเคยยอมแพ้กับมันมาแล้ว และทำให้ผมมุ่งมั่นกับเชื่อใจในการเข้าท่าฝั่งขวาข้างเดียว วันนี้เป็นการถูกบังคับให้เข้าซ้าย ถือซะว่าอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของผมในเรื่องยูโดก็ได้ อาจารย์ให้เหตุผลว่าการเข้าท่าอีกฝั่งนึงจะได้ให้ตัวเองเปรียบเทียบท่าของตนเองว่าซ้ายกับขวาต่างกันตรงไหน 4ทีแรกมั่วมากขาสะเปสะปะ แต่ครั้งที่5ขึ้นไปเริ่มจะปรับตัวได้ เออ...มันก็ไม่ได้แย่อย่างแต่ก่อนที่ทำให้ผมยอมแพ้กับมัน ข้อเปรียบเทียบที่ผมรู้สึกได้คือ มือซ้ายของผมโอบเข้าไปได้ไม่ดี(ถ้าเทียบกับขวา) มันรู้สึกตึงๆตรงไหปลาร้าฝั่งซ้ายที่เคยหักด้วย (ข้ออ้างมั้ง555) การย่อมีปัญหาเรื่องน้ำหนักที่ต้องทิ้งลงเข่าขวามากกว่าเข่าซ้ายเล็กน้อย และเข่าขวาผมเคยกระดูกหักมาก่อน มันเลยโอเวอร์โหลดเล็กน้อย แต่เรื่องมือขวาที่จับแขนเสื้อหุ่นนั้น รู้สึกว่าผมจะควบคุมมันได้ดี เผลอๆจะดีกว่าการจับขวาซะอีก มือขวาผมจะมีสิ่งที่แตกต่างกับมือซ้ายมากๆจุดนึง นั้นคือมือขวาผมสำเร็จวิชาแส้ใต้น้ำมาแล้ว การขยับข้อมือการใช้ฝ่ามือจะขยับได้ไหลลื่นทุกทิศทาง ต่อไปคงต้องไปทำให้ฝั่งซ้ายทำลักษณะเดียวกันให้ได้
เรียนรู้เพิ่มเติม ถ้าจะซ้อมโอโกชิเป็นการบ้านแล้ว จุดสำคัญคือหน้าอกไล่ไปถึงรักแร้ขวา ตรงนี้สามารถฝึกคนเดียวได้โดยการเข้าท่ากับยาง ท่าที่ใช้ใกล้เคียงกับมากิโกมิ แต่ไม่ใช่มากิโกมิ เพราะเป็นการใช้อกดึงยางไปด้านหน้าไม่ใช่สอดแขนแล้วทิ้งน้ำหนักตัวลงพื้น
ถัดจากโอโกชิเป็นฮาเน ถึงแม้คราวนี้จะซ้อมเป็นครั้งที่เจ็ดแต่สะโพกผมยังเป็นปัญหาใหญ่โตที่มันไม่ยอมโผล่ออกมาซะที เสียใจที่ทำไม่ได้ และทำให้อาจารย์เสียเวลา ถือว่าตอนนี้ต้องรีบเปลี่ยนความกดดันตรงนี้ให้เป็นโอกาสให้ได้ ผมว่ามันติดอะไรอีกแค่นิดหน่อย ที่ใครก็ไม่สามารถแก้ไขหรือรับรู้ได้นอกจากตนเอง ตรงนี้คงต้องให้เวลาและเอาการขยับตัวมาวิเคราะห์หาจุดที่ทำให้สะโพกโผล่ออกมาให้ได้
เข้าท่าฮาเนแบบเน้นจุดสะโพกทำได้ไม่ดี (แง แง แง รู้สึกผิดหวังในตัวเอง) พอมาเข้าท่าฮาเนแบบเร็วก็ยังไม่ดี ซ้ายขวา ขาดๆเกินๆ แถมสะโพกยังไม่ทำงาน อาจารย์สรุปให้ถึงจุดอ่อนตัวโตคือเรื่องของความลังเล และเรื่องมือขวา
ตอนนี้มือขวาผมพยายามจับคอเสื้อแบบปกติ ทำให้มันไปกั้นทางของร่างกายและสะโพกแบบไม่รู้ตัว ต้องปรับเปลี่ยนเป็นจับคอเสื้อด้านหลังดู พอลองดูมันดีขึ้นมากเลย ที่เหลือคือความลังเล ขอลองใหม่ครับ ปัดความลังเลออกไปเข้าไปเลยเป็นชุดๆ ผมพยายามเข้าให้เต็มจนสุด หมดแรงแล้วขอ+อีกซัก5ที การเข้ารอบสองหลังจากที่เปลี่ยนรูปแบบการจับกับสลัดความลังเลออกไป มันก็ดูดีกว่าครั้งแรก
ถัดมาเป็นการคลายตัวของกล้ามเนื้อด้วยท่านอน เหมือนเดิมคือล๊อคเคซะกาตาเมะแล้วพลิกขึ้นมาให้ได้ รู้เลยว่าจุดอ่อนของตนเองอยู่ที่จิตใจ พอแรงหมดมันสั่งไปที่ใจว่าหมดแรงแล้ว ก็เลยหมด ขอเวลาตั้งตัว คราวหน้าจะต้องพยายามคิดว่าเราทำได้ เราทำได้ เติมก๊อกสองเข้าไป หมดแรงก็หมดสิ ซ้อมเสร็จเดี๋ยวกลับบ้านพักแป๊บนึงมันก็หายเหนื่อย
ซ้อมวันนี้โอโกชิรู้สึกว่าเริ่มไปได้ แต่ฮาเนต้องแก้ไข เรื่องความลังเล ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่อาจารย์เป้บอก ก่อนหน้านี้ที่ญี่ปุ่น อ.ที่มหาลัยก็เตือนเช่นกันว่าตอนใช้อุจิมาตะ เราจะมายึกยักลังเลไม่ได้ ถ้าคิดจะใช้แล้วส่งออกไปให้สุดอย่าหยุดครึ่งๆกลางๆ ต่อจากนี้ก่อนจะไปถึงท่าฮาเน เรื่องความลังเลผมจะต้องตัดทิ้งออกไปให้ได้ก่อน
ช่วงรันโดริลองดูกับท่าฮาเนโกชิ ใช้ไปหลายครั้ง ติดบ้างไม่ติดบ้าง แต่ฮาเนตอนนี้ที่ผมใช้กลับมั่นใจแบบสเต็ปเดียวมากกว่าเพราะมันเร็วกว่า ทำได้ตอนนี้คือกับคนตัวเล็กน้ำหนักน้อย อ.ให้คำแนะนำว่าฮาเนที่ผมใช้ตอนนี้ยังใช้แบบยกขึ้น ไม่ได้ใช้การชนและช้อนดังนั้นไม่แปลกที่ใช้ได้เฉพาะกับคนตัวเล็กน้ำหนักเบา สุดท้ายไม่พ้นวนกลับมาที่เรื่องสะโพก ถ้าสะโพกไม่มา แรงชนไม่เกิด จะไปช้อนก็ทำไม่ได้ สุดท้ายฮาเนก็จะไม่มา .... ต้องไปเริ่มแก้กันแรกสุดที่สะโพกละครับ
13กย2015 ซ้อมครั้งที่8 คราวนี้ผมมีทำการบ้านมาก่อนที่จะซ้อม ปัญหาใหญ่ของผมในทุกๆครั้งที่ซ้อมคือเรื่องสะโพกมันไม่ยอมโผล่ออกมา ทำให้การทุ่มในแต่ละครั้งมันต้องพึ่งพาแรงของขาซึ่งมันไม่ถูกต้องในท่าฮาเนโกชิ
ผมซ้อมของผมเองที่บ้าน คิดอยู่จะทำยังไงให้สะโพกโผล่ ผมพยายามรวมความคิดที่ฝึกซ้อมทั้งหมดมาคิดดู อะไรที่น่าจะทำได้ก็ลองดู เช่นการหมุนตัวลองเปลี่ยนเป็นแบบหมุนสะโพกก่อนก้าวขา มันช่วยในเรื่องความเร็วได้นิดหน่อย แต่ก็ติดปัญหาตรงที่ผมจะเอาข้างเอวไปติดตัวหุ่นไม่ได้หมุนเอาก้นไปติดหุ่น
พยายามจะจุดต่างๆ จุดนึงที่เจอคือเรื่องของแขนขวา การจับที่น่าจะดีของฮาเนที่อาจารย์แนะนำมาคือจับหลังคอ ทำไมถึงดี? ผมพยายามคิดดูว่าถ้าเปลี่ยนมาธรรมดาทำไมมันแตกต่าง แล้วมันก็แตกต่างจริงๆในเรื่องของความสูง รวมถึงแขนขวาจะไม่เกะกะหน้าอก การจับหลังคอจะทำให้อกผมกับอกหุ่นชิดกัน ไล่ลงไปถึงเอวกับสะโพกถ้าชิดกันทั้งหมดก็สมบูรณ์แบบเลย
ถัดมาเรื่องมือซ้าย ผมคิดว่ามือขวามีคีย์สำคัญ มือซ้ายมันก็ต้องมีจุดที่ผมมองข้ามไปอยู่ พื้นฐานอุจิโกมิของผมคือแบบดึงแล้วดูนาฬิกาข้อมือ ซึ่งมันเอาไปใช้ได้กับหลายๆท่า แต่กับฮาเนเหมือนจะดี ถึงตรงนี้ผมคิดย้อนกลับไปถึงอาจารย์บางท่านที่โคโดกังตอนสอนท่าฮาเนโกชิ เค้าบอกให้ไม่ต้องเปิดมือซ้ายสูง ในจังหวะที่ดึงคุสุชิไปแล้ว ผมลองเอามาปรับดู มันเหมือนเจอจุดที่ผมหามานาน การเปิดขึ้นไปแล้วปิดรักแร้ลงมา ดันให้ข้อศอกมาอยู่ข้างลำตัวแถวๆเอว มันกลายเป็นตัวส่งให้สะโพกผมโผล่ออกไปได้ (จังหวะแรกที่พยายามให้โผล่มันยังไม่โผล่ แต่ได้จังหวะสองมาก็ถือว่าคุ้มค่าละ)
ฮาเนของผมในแบบที่ผมเข้าใจและต้องการให้มันเป็นไปคือ - เป็นแบบทำคุสุชิดึงหุ่นเข้ามา พร้อมๆกับดันสะโพกของผมด้านข้างไปรับกับหุ่นในจุดกึ่งกลาง - ในจังหวะที่ทั้งหุ่นและผมน่าจะสุดแล้ว ผมจะมีการปิดมือซ้ายเพื่อส่งสะโพกต่อไปอีก โดยที่การดึงในจังหวะแรกค้างอยู่+ไม่เสียสมดุลย์
สะโพกครั้งที่สองที่กระแทกดันต่อไป จะเป็นสิ่งที่ทำให้หุ่นไหลขึ้นมาบนตัวผม ลักษณะแบบนี้ผมเคยเจอมาตอนรันโดริที่โคโดกัง แบบว่าผมคิดว่าเบรคจังหวะแรกได้ที่มาแบบช้าๆไม่ได้กระโชกโฮกฮากแต่จังหวะถัดมามันดันไหลขึ้นไปบนตัวคู่ซ้อมเฉยเลย จังหวะนั้นจะเหลือเหรอ อุจิมาตะแบบลอยหมุนเต็มๆโดยคนทุ่มแทบจะไม่ออกแรงเลย
เอาเป็นว่าก่อนซ้อมครั้งที่แปดผมได้อะไรเพิ่มเติมมาแล้ว ตอนนี้ยังขาดจังหวะแรกเรื่องสะโพกอยู่ ถ้าสองอย่างรวมตัวกันได้น่าจะดูดี....
การซ้อมวันนี้ ทำเอาผมเลือดลมตีกลับธาตุไฟเข้าแทรก (เว่อร์ไปละ) มีอาจารย์อีกท่านนึงที่ผมเคารพนับถือมาช่วยชี้แนะ เพราะอาจารย์ท่านนี้คงเห็นผมแล้วขัดใจท่ว่าทำยังไงก็ทำไม่ได้ซักที555
คิดดูมันก็น่าแปลก ที่ท่าทุ่มพื้นฐานทั่วๆไปอย่างฮาเนโกชิ มันมีหลายแบบ มีหลายแบบไม่น่าแปลกเท่ากับสองแบบที่ผมอยู่บนทางแยกและถึงจะแปลก ผมก็ต้องเลือกเอาซักแบบ สองแบบที่ว่านี้คือ ①แบบยูโดสำเพ็งที่ต้นแบบก็มาจากอาจารย์โคโดกังสายดั้งเดิม ②แบบของอาจารย์ญี่ปุ่นที่ผมเคารพนับถือ แบบนี้เป็นแบบที่ผมเรียนรู้และฝึกฝนที่โคโดกังเช่นกัน
เอาละวะ สองแบบมาจากโคโดกัง แต่มันไม่เหมือนกันทั้งสองแบบ ผมโลภมากนะ แต่คราวนี้มันโลภไม่ได้ที่จะเอาทั้งสองแบบมารวมกัน เพราะคีย์หลักๆเรื่องสะโพกมันต่างกัน
แบบที่วันนี้อ.ญี่ปุ่นแนะนำมานี้ ผมเรียนรู้มาจากโคโดกัง และพยายามค้นหาอยู่เกือบจะครบ3ปีแล้ว ยังไม่สามารถใช้จริงได้ มันคงต้องมีอะไรผิดพลาดหรือยังหาไม่เจอแก่นมันแน่ๆ ถ้าให้ทุ่มหุ่น ลักษณะนี้ผมทุ่มได้สวย แต่มันก็ยังติดขัดเรื่องช้า แล้วหุ่นมันลอยขึ้นแต่ไม่ได้คุม หุ่นจะตกในสภาวะทิ้งตัว ตุ้บ ลงมา แค่สองจุดนี้ผมเจอปัญหาแก้ยังไงก็แก้ไม่ได้
จนผมถอดใจ..... ใครว่าละ ถอดใจยอมแพ้กับท่านี้ ก็เท่ากับขาดทุนยับเยินสิ วนเวียนกับมันมาจะสามปีจะให้เลิกไปไม่มีทาง แต่ไม่ใช่ว่าแบบที่ผมพายเรือวนอยู่ในอ่างจะไม่ดีนะ เพราะสิ่งที่ผมเฝ้าลองผิดลองถูก อย่างน้อยมันได้เป็นการฝึกพื้นฐานซ้ำๆไปมา แล้วไอ้การสะสมพื้นฐานตรงนี้มันสามารถดึงเอาใช้กับแบบสำเพ็งที่ผมกำลังศึกษาอยู่
การซ้อมในเจ็ดครั้งที่ผ่านมา มันบอกอะไรได้เยอะเกี่ยวกับความก้าวหน้าของท่านี้ (ถึงตอนซ้อมผมจะไม่เอาไหนก็ตาม) ตอนนี้แม้จะยังเข้าไม่ถึงแก่น แต่ตอนรันโดริผมรู้สึกมั่นใจขึ้นกับท่านี้ ทุ่มได้ก็ศึกษา ทุ่มไม่ได้ก็ศึกษาต่อ บางครั้งมันลูกผีลูกคนจริงๆ อยู่ดีๆก็ระเบิดออกมาได้ ดังนั้นเมื่อต้องเลือกว่าท่าฮาเนผมจะเอาแบบไหน จะเดินไปในทางไหน ผมขอเลือกแบบสำเพ็ง แต่ไม่ทิ้งแบบที่ผมเสียเวลาไปสามปี (รักพี่เสียดายน้อยอะ) ถ้าทำแบบสำเพ็งได้แล้ว ก็คงต้องเอาอีกแบบมาวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งหาทางใช้ให้ได้ทั้งสองแบบ (บอกแล้วว่าโลภมาก)
ซ้อมวันนี้ทำได้ไม่ดีนัก ผมเหนื่อยเร็ว เพราะช่วงนี้งานยุ่งๆทำให้ไม่ค่อยไปซ้อม และการซ้อมเข้าคู่น้อยลง ร่างกายไม่เคยชิน
หลังจากเข้าท่า (ไม่รู้กี่เซ็ต) ก็เป็นการขยับตัวเข้าท่าเดินไปเดินกลับ สลับกันกับคู่ซ้อม ขามั่วเป็นพัลวันเลย อาจารย์แนะนำให้ทำแบบท่าทุ่มมาตรฐาน นาเกะโนะกาตะในท่า ทรึริโกมิโกชิ ถอยหลังแต่ตอนทุ่มเป็นแบบวางขาหมุนตัวหน้า ในระหว่างที่หุ่นก้าวหน้ามา1ก้าวผมต้องก้าวถึงสามก้าว(หลัง หน้า หน้า) ตรงนี้ขอไปซ้อมขยับเป็นการบ้านต่อครับ
จากท่ายืนก็มาซ้อมท่านอน ยืดกล้ามเนื้อและสะสมพลังภายใน เคซะพลิกสลับไปมา กับโยโกชิโฮพลิกสลับไปมา
อาจารย์เป้แนะนำท่าแก้โยโกชิโฮเพิ่มเติมอีกหนึ่งท่า คือการใช้ขาไปดันคอฝั่งตรงข้าม จัดการแขนในขณะที่พลิกกลับขึ้นมา การสอนของอาจารย์เป้ ทำผมทึ่งได้เสมอ เพราะการพลิกในท่านี้ใช้ทั้งเทคนิคของท่า แรงและน้ำหนักของคู่ซ้อม รวมทั้งหลักศูนย์ถ่วงและแรงโน้มถ่วงเข้ามาช่วย จะพยายามฝึกให้ชำนาญครับ คราวหน้าเจอใครกดในท่าโยโกชิโฮจะได้มีสองแบบให้เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นอยู่ในโหมดโหดร้ายรึเปล่า555
เรียนผูกต้องเรียนแก้ เราต้องรู้ว่าท่าที่เราใช้มีจุดอ่อนตรงไหน และถ้ากลับกันเราเป็นคนกดโอไซโกมิจะต้องปิดจุดอ่อนตรงนั้นยังไง ... ทุกท่าที่ผมเรียนมา ตอนที่ผมเป็นหุ่นถูกกดแล้วต้องดิ้นให้หลุด ผมจะมีคำถามในใจว่าทำยังไงให้หุ่นดิ้นไม่หลุดถ้าผมเป็นคนกดในจังหวะนั้น ท่าที่อาจารย์สอนในวันนี้ก็เช่นกัน ผมแค่อ้าปากอาจารย์ก็เห็นลิ้นไก่ละว่าผมอยากได้อะไร (ผมอยากได้วิธีทำให้อีกฝั่งดิ้นไม่หลุด ถ้าอีกฝั่งใช้เทคนิคที่กำลังซ้อมอยู่ตรงนี้ใส่ผม) แน่นอนว่าการดิ้นเริ่มจากการใช้ขาช่วงต้นสะโพกดันคอคนกดล๊อค ดัวนั้นแก้ที่คอ เอาคอไปติดชิดกับขาซะ อยากจะดันดีนักเอาไปติดซะ กลายเป็นว่าที่ๆอันตรายกลับปลอดภัย ตรงจุดนั้นจะใช้ขามาดันคอกลับทำไม่ได้ แถมสร้างจังหวะล๊อคได้ดีกว่าเดิมด้วย ซ้อม ซ้อม ซ้อม นอกจากท่านี้ห้ามลืมเด็ดขาดแล้วต้องซ้อมให้ชำนาญแบบสามารถใช้โดยไม่ต้องคิดด้วย
รันโดริท่านอนกับคู่ซ้อมผม ผิดคาดจริงๆเห็นสายขาวกะใช้วิชาแค่นิดนึง ปล่อยๆเปิดๆจังหวะ ดันไปเจอของจริง ผมโดนไปเยอะจนนับไม่ไหว สู้ไม่ได้เลย ทั้งแรง ทั้งความสด ความเร็ว และเทคนิค บีเจเจแน่แน่ หาคู่ซ้อมในการฝึกฝนท่านอนอยู่พอดีเลย คราวหน้าคงต้องให้น้องสายขาวช่วยสั่งสอนซะแล้ว
ซ้อมวันนี้นอกจากทบทวนของเก่าแล้ว ยังได้ของใหม่เสริมเข้ามาทีละนิด เอาแค่ตอนนี้ท่าฮาเนที่ผมฝึกอยู่ประมาณ 1/3 ก็ทำให้ผมมั่นใจกว่าเดิมเยอะแล้ว มันไม่ใช่แต่ฮาเนโกชินะครับ เพราะฮาเนเป็นท่าทุ่มที่ใช้ได้ทั้งจังหวะดึงและจังหวะดัน ถ้าผมวางเกมให้ฮาเนอยู่ในจังหวะดึงทุ่มแล้ว พอไปใช้ร่วมกับท่าเกี่ยวโคอุจิที่ผมวางไว้ในจังหวะดันแล้ว มีทั้งดึงกับดันคงจะสนุกในการสร้างความรำคาญให้กับคู่ซ้อมผมแน่ๆ นอกจากนี้การซ้อมฮาเนยังเป็นการสะสมพลังสะโพกได้เป็นอย่างดีด้วย พลังสะโพกถ้าเอามาใช้ในเกมรับก็จะเป็นประโยชน์มาก ความฝันที่จะไปสอบเลื่อนสาย ถึงจะไม่ใกล้แต่ก็คงอีกไม่นานแล้วละครับ ขอบคุณสำหรับอาจารย์และคู่ซ้อมที่ช่วยๆทำให้ยูโดของผมเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนมากขึ้น
4ตุลาคม2015 การซ้อมครั้งที่9 หายไปนานเพราะเวลาไม่ลงตัว แต่ช่วงที่ผมไม่ได้ซ้อมกับอาจารย์ตรงนี้ ผมก็พยายามปรับแต่งท่าไปเรื่อยๆ มันเริ่มจะใช้ออกมาได้บ้าง แต่ยังมีปัญหาที่ไม่ค่อยเข้าใจ วันนี้ก่อนซ้อมเลยต้องขอเริ่มต้นที่คำถาม2ข้อก่อน (ว่าจะไม่คิดปัญหาขึ้นมาแล้ว แต่ผมติดจริงๆไม่รู้จะแก้ยังไงดี)
คำถามข้อแรกคือ ทำไมในทุกๆการทุ่มฮาเนของผมมันแปลกๆ ท่ามันคือฮาเนโกชิแน่นอน แต่คนที่ถูกทุ่มจะถูกส่งลอยขึ้นไป แล้วแรงส่งรวมถึงทุกๆอย่างหยุดไปดื้อๆ หุ่นที่ถูกทุ่มก็จะถูกปล่องทิ้งดิ่งลงมาอยู่ข้างๆ มันเหมือนขาดแรงดีดส่งให้ครบทั้งวงจร คำตอบที่ได้รับ - สะโพกของผมยังไม่ได้ทำงานเต็มที่ เอาจริงๆคือใช้งานออกไปแค่20%ยังขาดอีก80% - สูงไป ต้องก้มตัวลงในจังหวะเข้าให้มากกว่านี้ - ฝึกยังไม่พอ ลิมิตที่อาจารย์ต้องการอยู่ที่30ครั้ง แต่ผมยังไปได้แค่14-17ครั้ง - มือขวาที่จับคอเสื้อ มันขวางทางทุ่มของตนเอง (น่าจะคล้ายๆกับท่าไทโอที่ทุ่มแล้วเอาสะโพกไปขวางทางทุ่มของตนเอง) วิธีแก้ต้องจับลึกไปด้านหลัง มันถึงจะมีแรงดึง แรงส่งออกไป - มือซ้าย ผมดึงลงเร็วไป จริงๆแล้วสมควรที่จะดึงค้างไปในจังหวะที่ส่งหุ่นขึ้นไปให้สุดๆก่อนที่จะปิดกลับ แต่ผมปิดกลับเร็วไป วงจรมันเลยชะงัก เรียกว่าต้องแก้ไขกันใหม่อีกครั้ง
คำถามที่สอง จังหวะใช้ท่าฮาเน ผมฝึกเดินสเต็ปขาขวาหนึ่ง ขาซ้ายสอง ขาขวาสาม แต่ตอนใช้จริงผมไม่สามารถใช้ในรูปแบบนี้ได้ กลายเป็นเหลือสองสเต็ปคือ ซ้ายหนึ่ง ขวาสอง เพราะการออกขาแบบปกติจะติดตัวหุ่นและช้าไปในจังหวะเข้าทำ จะต้องทำยังไงให้มันสามารถเข้าท่าเป็นสเต็ปปกติเหมือนกับที่ซ้อมเข้าท่า
คำตอบ ขาขวาเอาออกไปแต่ลองเปลี่ยนเป็นลักษณะเดินออกข้าง (คล้ายกับการเดินลักษณะที่เอาขาซ้ายนำนั้นแหละ) ออกข้างแล้วที่เหลือเหมือนเดิม พอผมลองทำดูก็ดูดีขึ้นกว่าแต่ก่อน และช่วยตอบคำถามที่คาใจผมไปได้อีกข้อ นั้นคือทำไมบางครั้งจะใช้ฮาเนแต่ขาดันสอดเข้าหว่างขากลายเป็นอุจิมาตะ มันคงเป็นเพราะผมเสียบขาในตำแหน่งที่ตื้นเกินไป พอมันพลาด(ส่วนใหญ่จะพลาด) กลายเป็นเข้ากลางแทน
คำตอบที่ค้างคาใจสองข้อ ได้รับคำตอบที่น่าพอใจแล้ว จากนี้ก็ฝึกต่อ เริ่มจาก โอโกชิ ท่านี้ไม่ได้ซ้อมนานรู้สึกถดถอย แต่วันนี้ได้เคล็ดลับเพิ่มเติม เรื่องการขยับตูดออกมาในการเสริมแรงส่งก่อนที่จะทุ่ม
จุดสำคัญของโอโกชิที่ใช้ในการทุ่มหลักๆมีสองจุด คือบริเวณสะโพก กับบริเวณแถวรักแร้กับหน้าอก พอซ้อมเข้าท่าโอโกชิ ความรู้สึกนึกคิดผมดันไปทับซ้อนกับทาคิยะเซนเซที่เคยมาสอนและแนะนำเรื่องจูโนะกาตะ วิธีการเข้าโอโกชิมันใกล้เคียงกันมากๆกับจูโนะกาตะ (จูโนะกาตะจะใช้อุกิโกชิในการเข้า ก่อนที่จะบิดยกหุ่นขึ้นไปเอาขาชี้) ถ้าความคิดผมถูกต้องท่าโอโกชิที่ผมกำลังซ้อมอยู่ ต้นแบบส่วนนึงน่าจะมาจากจูโนะกาตะนี้แหละ
จากท่าโอโกชิ ซ้อมต่อในท่าฮาเน... ไม่ได้ซ้อมให้อาจารย์ดูนาน มันเริ่มเพี้ยน ต้องมาแต่งกันอีกรอบ เรื่องขาสองที่วางดันไปติดนิสัยวางแล้วสูงๆ (ท่องไว้ฮาเนต้องเข้าจากต่ำไล่ไปสูง) ถ้าวางสูงแต่แรกวงจรกับพลังของมันจะไม่ครบองค์ประกอบ อันนี้แหละที่ทำผมทุ่มคู่ซ้อมแล้วจะทิ้งดิ่งมาอยู่ข้างๆ
ต่อจากฮาเน ก็เป็นการขยับเดินหาจังหวะทุ่ม พอเริ่มได้ก็เป็นจังหวะขยับแล้วลองทุ่มจริง ตรงนี้เป็นสันดานแย่ๆของผมอีกอัน แต่อาจารย์มองปุ๊บรู้ทันที 555ต้องแก้ไขอีกแล้ว เป็นเรื่องของจังหวะเดินถอยหลังทุ่ม ผมเป็นพวกขี้เกียจดึงหุ่นเข้ามาแล้วสอยเลย ทุ่มแบบนี้ผิดมั้ย? ไม่ผิดครับแต่มักง่าย จุดนี้ด้วยแหละที่ทำให้ฮาเนผมไม่มีแรงส่งออกไป ลักษณะการเข้าทำที่ต้องเปลี่ยนใหม่คือ เข้าทำแบบท่าทรึริโกมิโกชิในท่านาเกะโนะกาตะ (ถอยหลังก็จริง แต่เสริมแรงเป็นเดินหน้าหมุนตัวทุ่ม) วิธีแก้ท่าทุ่มตรงนี้เริ่มไม่ง่ายแล้ว เพราะผมติดนิสัยการทุ่มแบบมักง่ายไปแล้ว (แต่จะพยายามแก้ไขครับ)
ถัดจากนี้ อาจารย์ให้โจทย์เพิ่มเติม คือลองหาจังหวะใช้ท่าอื่นทุ่มดู ... ไปไม่เป็นแล้ว เลยกลับไปดึงเอาเซโอนาเกะมาใช้งาน เซโอนาเกะของผมตอนนี้มันแปลกไปแล้วคือเป็นลักษณะใช้การปิดไหล่และสะโพกช่วยทุ่ม ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบเซโอนาเกะแบบนี้เพราะมันไม่ได้เป็นเซโอนาเกะแบบพื้นฐานทั่วไป
จากนั้นซ้อมคลายกล้ามเนื้อในส่วนท่านอน พลิกแก้ท่าเคซะกาตาเมะทั้งซ้ายขวา ถัดมาซ้อมหักแขน การซ้อมหักแขนอยากได้คู่ซ้อมที่สามารถมาช่วยกันซ้อมได้ในทุกๆครั้งจังเลย (หาใครมาช่วยดีเนี่ย)
จากนั้นทดลองรันโดริดูนิดๆหน่อยๆ ช่วงรันโดริ ผมโฟกัสไปที่ท่าฮาเน ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันมีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นเล็กๆ ก่อนหน้านี้ตอนรันโดริกับคู่ซ้อมคนนี้ หรือว่ารันโดริก่อนกว่านี้ ฮาเนผมไม่ติดเลย แต่ตอนนี้มีจังหวะเข้าทำ บางครั้งก็ติดบางครั้งก็ยังไม่ติด เพียงแต่ไอ้สิ่งที่ติดไม่ใช่ว่าจะสวย (ก็ยังดีกว่าไม่ออกเลยละกัน)
การบ้านวันนี้ - ฝึกอุกิโกชิ เพื่อดึงสะโพกออกมาใช้งาน - ไปซ้อมกับน้องๆทหาร(แถวบ้าน) ให้พยายามหาจังหวะสอยด้วยฮาเน แต่ไม่ทุ่ม ให้พยายามเลี้ยงไว้บนหลังให้อยู่แล้วเอากลับลงมาวางที่เดิม
Create Date : 05 ตุลาคม 2558 |
Last Update : 5 ตุลาคม 2558 22:54:48 น. |
|
2 comments
|
Counter : 2067 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: Jiho IP: 110.171.164.94 วันที่: 17 ตุลาคม 2558 เวลา:0:03:42 น. |
|
|
|
โดย: Sweet_pills วันที่: 1 มกราคม 2559 เวลา:22:31:39 น. |
|
|
|
| |
|
|