Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2558
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
23 กุมภาพันธ์ 2558
 
All Blogs
 
ยูโด - การจัดท่าเพิ่มความเร็วให้กับท่าทุ่มของเรา


1. สำหรับคนที่ฝึกซ้อมยูโดมา น่าจะเคยมีคำถามอาจจะอยู่ในใจ หรืออาจจะไขว่คว้าหาคำตอบเกี่ยวกับการเพิ่มความเร็วให้กับท่าทุ่มของเรา ผมก็เคยเสาะหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ สอบถามอาจารย์ เพื่อน และผู้รู้หลายท่าน คำตอบที่ได้มันยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการพัฒนาให้ท่าของเราเร็วขึ้น

2. เอาซักสองตัวอย่างกับคำตอบที่ผมได้มา
- เซโอนาเกะ การจะเข้าท่าให้เร็วขึ้น ในจังหวะที่เราหมุนตัว หลังห้ามงอ เหมือนกับลูกข่าง(ลำตัว)หากแกนเป็นเส้นตรง มันย่อมเร็วกว่าแกนที่เบี่ยงเอียงซ้ายเอียงขวา
- การซ้อมเข้าท่าบ่อยๆ เอาให้มันซึมลึกเข้าไปเป็นสันดาน พอชำนาญแล้วความเร็วมันก็จะค่อยๆมาเอง จนเราคาดไม่ถึง
คำตอบที่ผมหามาได้ มันไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่ผมยังเข้าไม่ถึงกับคำว่าฝึกซ้อมซะมากกว่า

3. เกริ่นนำ ยกแม่น้ำทั้ง5ผ่านมา2ย่อหน้า เอาเป็นว่าคำตอบเหล่านี้คนที่ผมถามไป เค้าสามารถแสดงให้เห็นเป็นภาคปฏิบัติได้ว่า คำตอบที่ผมได้มา มันทำได้จริง ความเร็วในท่าเพิ่มขึ้น แต่....ต้องมีวงเล็บว่า นั้นคือคุณต้องฝึกซ้อมซ้ำแล้วซ้ำอีกให้ถึงสิ่งที่เรียกว่าแก่นของมัน มันถึงจะแสดงผลลัพธ์ให้เห็น

4. จนถึงบัดนี้ผมก็ยังเข้าไม่ถึงแก่นในเรื่องความเร็วของท่า T_T คำปลอบใจจากคนอื่นหรือแม้กระทั่งสิ่งที่ปลอบใจตนเองคือ ความเร็วมันไม่ได้สำคัญเกินกว่าสิ่งที่เรียกว่าไทม์มิ่ง หรือจังหวะเวลาที่พอเหมาะไม่เร็วและไม่ช้าจนเกินไปในการเข้าท่า ยกตัวอย่างเช่นท่าเดอาชิบารัย ขาที่ปัดออกไปนั้นเร็วไปก็ไม่ได้ช้าไปก็ไม่ดี แต่มันต้องมีความลงตัวผสมผสานกันระหว่างแรง จุดศูนย์ถ่วง มือ และ ขา สิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าสิ่งที่เรียกว่าความเร็ว

5. วันนี้ 23 กุมภาพันธ์ 2015 (สดๆร้อนๆอีกแล้ว) ได้มีโอกาสไขข้อข้องใจในเรื่องการเพิ่มความเร็วให้กับท่าของเราอีกครั้ง กับเพื่อนญี่ปุ่น (จริงๆแล้วถือเป็นอาจารย์ของผมครับ) ที่อยู่ในเส้นทางนักกีฬายูโดสายแข่งขัน ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นอุเกะให้เพื่อนคนนี้ซ้อมเข้าท่า ผมเคยดูการรันโดริของเพื่อนคนนี้ ผมเคยสังเกตุดูการเคลื่อนไหวของเพื่อนคนนี้ในการซ้อมหลายๆอย่างบนเบาะยูโด (แม่งทำซะกูแอบจิต แอบส่อง พฤติกรรมชาวบ้านไปซะได้) ผมมั่นใจว่า คนๆนี้สามารถไขคำตอบเรื่องความเร็วในการเข้าท่าให้กับผมได้

6. ตอบปัญหาคาใจเรื่องความเร็วได้ซักที คำตอบนี้ไม่มีถูกไม่มีผิด ยูโดมันแตกแขนงไปยิบย่อย แต่ละท่านก็มีความรู้ ความสามารถ บางท่านโตมาจากแนวเดียวกัน บางท่านผิดแผกแหวกแนว หลักการใกล้เคียงแต่ไม่เหมือนกัน แต่สำหรับผมคำตอบที่ได้มา มันจับต้องได้ มันเข้าใจง่ายและมันเอามาปรับใช้กับตัวผมเองได้ แต่....สุดท้ายก็ยังติดวงเล็บที่ว่า จะทำได้ไม่ได้อยู่ที่การหมั่นเพียรในการฝึกซ้อม

7. เลขเจ็ดถือเป็นเลขดีของคนญี่ปุ่น เอาเป็นว่าคำตอบอยู่ที่เลข7ก็แล้วกัน เจ็ดอย่างในการพัฒนาความเร็วของท่าทุ่มนั้นคือ

① ข้อมือ - การขยับแค่ข้อมือ มันย่อมได้ความเร็วที่มากกว่าการขยับแขนทั้งท่อน ก่อนอื่นต้องฝึกข้อมือให้หมุนได้ทุกทิศทางซะก่อน ข้อมือเรานี้จะเป็นตัวเปิดเกมในการเข้าท่าทั้งหมด และการเข้าท่าของเพื่อนคนนี้มีลักษณะที่แปลกกว่าคนอื่นๆ (จริงๆคนที่รู้จักและคุยกับผมรู้เรื่องมันก็แปลกกว่าคนอื่นแล้วแหละ555) นั้นคือเรื่องข้อมือ การเข้าท่าทุกครั้งข้อมือจะสบัดสองครั้ง ไม่ว่าจะเป็นท่าอะไรก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นโออุจิการิ ข้อมือเค้าจะดึงเข้าก่อนที่จะดันออก อุจิมาตะ ข้อมือของเค้าจะดึงเข้าก่อนที่จะยกขึ้น เซโอนาเกะ ข้อมือจะดึงเข้าสร้างระยะห่างระหว่างอกกับเสื้อก่อนที่จะม้วนมือหมุนเข้าท่าเซโอนาเกะ การสบัดข้อมือให้จินตนาการเหมือนกับแส้ที่สบัดเหวี่ยงไปมาไม่แข็งๆเป็นแท่งไม้ ลองไปอยู่ในสระว่ายน้ำแล้วสบัดข้อมือมันจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

② ขาที่สอง - ญี่ปุ่นมีคำศัพท์อยู่สองตัวคือ จิกกุอาชิคือขาแรก กับทรึกิอาชิคือขาสอง ขาแรกก็คือขาที่เราก้าวออกไปก้าวแรกในการเข้าท่า ขาสองคือขาที่ก้าวตามมาเป็นลำดับที่สอง คนๆนี้เน้นที่ขาที่สอง ขาแรกคุณจะก้าวช้าก้าวเร็วก้าวหลอกก้าวพลาดมันก็เรื่องของคุณ แต่ขาแรกก้าวไปแล้วขาสองต้องตามติดเข้ามาทันที ฟังถึงตรงนี้ถึงบางอ้อเลยครับ มันเป็นการก้าวขาแบบเดียวกับท่าโคอุจิการิของผม นั้นคือขาแรกไปแล้วขาสองต้องสืบตามเข้ามาทันที ท่าเราจะเร็วจะช้าส่วนสำคัญส่วนนึงก็คือขาสองนี้แหละ แต่เพื่อนผมเค้าให้ความสำคัญกับขาสองมากกว่านั้น เค้าใช้ขาที่สองเป็นตัวส่งแรงเพิ่มแรงและใช้ในการเข้าประชิดตัวตอนออกท่าทุ่มด้วย ขาสองเค้าแนะนำให้กระแทกเพิ่มแรงขึ้นมาช่วยในการทุ่ม อีกเรื่องเกี่ยวกับขาที่สองน้ันคือจะไม่เปิดกว้างเพราะขยับกว้างความเร็วลด สมดุลย์เทออกหมด จากจะรุกกลายเป็นล้มตบเบาะแทนเพราะสมดุลย์เทออกด้านข้างหมดโดนสวนรวบกลับมาล้มง่ายๆ

③ ท่อนแขนและข้อศอก - การทุ่มของยูโดจะเข้าประชิดตัวติดกัน เช่นฮาไรโกชิเราต้องดึงให้ตัวอุเกะเข้ามาติดกับเรา ยิ่งบางครั้งตัวเราชิดติดกันเป็นก้อนเท่าไหร่ท่าทุ่มเราจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ท่อนแขนบางครั้งมันเป็นอุปสรรค ถ้าเราแขนตึงข้อศอกไม่งอตามจังหวะแทนที่จะติดกันกลายเป็นการดันอุเกะออกไป ระยะห่างระหว่างตัวเรากับหุ่นยังเหมือนเดิมนั้นคือหนึ่งช่วงแขน บางครั้งท่าทำมาดีเสียเรื่องระยะห่าง อย่าไปพูดถึงเรื่องความเร็วเพราะว่าแม้แต่จังหวะในการทุ่มยังไม่เกิดเลย

④ แนวสายตา - คำแนะนำจากเพื่อนท่านนี้เรื่องแนวสายตา คือการมองตรง แนวสายตาของเราจะไม่เบี่ยงออกข้างไปก่อนสะโพกและลำตัว จังหวะหมุนสะโพกจะหมุนก่อนคอและแนวสายตา ตรงนี้เหมือนจะขัดกับหลักดูนาฬิกาข้อมือซ้ายของผม แต่แท้จริงแล้วหลักดูนาฬิกาข้อมือซ้ายตอนเข้าท่ามันเป็นหลักพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการเช็คเรื่องคุสุชิ โดยในเบื้องต้นความเร็วยังไม่ใช่สิ่งที่โหยหา หากแต่เป็นการเข้าท่าที่ถูกต้องครบทั้งคุสุชิ สกุริ และคาเคะ พอทำครบจนชำนาญแล้วเรื่องความเร็วค่อยมาคิดกัน เอาเป็นว่าเข้าท่าชำนาญแล้วเราจะย่อเรื่องคุสุชิให้สั้นลง (ใช้ข้อมือเป็นตัวช่วยคุสุชิ) แต่ไอ้ที่สั้นลงตรงนี้มันไม่ได้ลดทอนความสำคัญของคุสุชิลงไปเลย กลับกันมันกลับจะมากขึ้นแต่ใช้แรงน้องลง

⑤ สะโพก - หลักการหมุนเข้าท่า สะโพกมีส่วนช่วยมากๆ ถ้าสะโพกหมุนช้าอะไรๆมันก็ช้าตามไปด้วย อันนี้ไม่มีทางลัดต้องค่อยๆหมั่นฝึกซ้อม ญี่ปุ่นมีท่าฝึกที่เรียกว่านินจา จินตนาการเอาว่าเหมือนกับตอนที่นินจาหมุนตัวแปลงร่างนั้นแหละ นั้นคือการหมุนตัว180องศา ระหว่างหมุนหลังตรง ลำตัวตรง ไม่ก้มไม่เอียงซ้ายขวา (อุ๊ย..ตรงกับคำตอบก่อนหน้านี้ของผมเรื่องการหมุนของลูกข่าง) ไหนๆก็ซ้อมสะโพกแล้ว เอาเรื่องแนวสายตามาซ้อมพร้อมๆกันเลย

⑥ รีแล็กซ์ - จำไว้ว่าความแรงจะลดทอนความเร็ว รีแล็กซ์ทำตัวให้มันยุ่ยๆซะ อย่าออกแรงเกร็ง อย่าใส่แรงเข้าไป ถึงตรงจุดนี้เค้าได้อธิบายว่าในการแข่งขันเห็นนักกีฬาแต่ละคนใส่แรงก็จริงแต่ไม่ใช่การเกร็ง หรือการใช้แรงในการทุ่ม จังหวะที่นักกีฬาใช้ตอนแรกสุดก็มาจากข้อมือ การขยับตัว สร้างจังหวะ ซึ่งจังหวะตรงนั้นไม่ได้ใช้แรงเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก ดังนั้นหลักใหญ่ๆที่จะเร็วได้จะทุ่มได้ต้องเริ่มจากตัวเรารีแล็กซ์และผ่อนคลายเอาแรงออกไปก่อน

⑦ พื้นฐาน และการฝึกซ้อม นอกเหนือจากเรื่องความเร็ว การใช้ท่าเดียวเพียวๆมันไม่ง่ายในการแข่งขันระดับสูง ท่าต่อเนื่อง ท่าที่มีทิศทางแรงตรงกันข้ามกันมักจะถูกนำออกมาใช้ ตัวอย่างวันนี้ที่โดนกับตัวผมเองคืออุจิมาตะมาผมเอาสะโพกดันต้านออกไปจังหวะนั้นแทนที่เป็นอุจิมาตะกลับกลายเป็นโออุจิการิ (หงายเงิบเลยครับ) หรือว่าจะโออุจิแล้วตามด้วยอุจิมาตะ ยังมีอีกหลายท่าแต่เอาเป็นว่า การที่จะใส่ท่าออกมาได้ต่อเนื่องแบบพริ้วๆมันอยู่ที่การฝึกซ้อมพื้นฐานเบื้องต้น ชำนาญจนสามารถเอามารวมกันเป็นท่าของตนเองได้

8. สุดท้ายแล้วยูโดไม่ว่าจะทำยังไง มันก็ไม่มีทางลัดนอกจากขยันฝึกซ้อมเป็นลำดับขั้นตอน สำหรับเรื่องความเร็ว ถึงผมจะไขว่คว้าสนใจแต่ผมก็ยังเชื่อว่า พื้นฐานการเข้าท่าที่ถูกต้อง การเหมาะเจาะในเรื่องของไทม์มิ่งมันสำคัญมากกว่าความเร็วและแรง อาจารย์ท่านนึงเคยบอกผมว่า เริ่มฝึกซ้อมยูโดให้เน้นที่ความถูกต้องของท่าก่อน ทำได้แล้วความเร็วจะมาเอง แต่ถ้าเราไปเน้นความเร็วแต่ต้นมันเหมือนกับเด็กที่เริ่มคลานจะให้วิ่งเลยคงไม่พ้นหกล้มร้องไห้ ที่สำคัญ จะเข้าท่ามันแต่ไปคิดเรื่องความเร็ว ทำเร็วๆแต่ท่าผิดเพี้ยนไปหมด บรรลัยกันละครับ เอาเป็นว่าคนที่ซ้อมพื้นฐานมาจนถึงจุดที่เรียกว่าพร้อมค่อยมาเพิ่มเติมด้านอื่นเช่นเรื่องความเร็ว ความแรง และการใช้แรงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะดีกว่า


Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2558 23:17:49 น. 0 comments
Counter : 2293 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ablaze357
Location :
Chiba Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




「精力善用」「自他共栄」
Maximum efficient use of energy and mutual prosperity for self and others
New Comments
Friends' blogs
[Add ablaze357's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.