Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
30 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 

พักยกround6 อาจารย์ยูโดสายดำขั้น7 กับความเหมือน

พักยกround6 อาจารย์ยูโดสายดำขั้น7 กับความเหมือน

อาจารย์ที่สอนตอนนี้อายุ70กว่าแล้ว แต่ว่าแรงยังดีอยู่ สอนดีด้วย (ถึงแม้การซ้อมแต่ละครั้งแอบโหดนิดหน่อย) วันนี้มีคนอยากรู้ประวัติ จากการซ้อมก็กลายเป็นการเล่าเรื่องแทน

อาจารย์คนนี้เริ่มรู้จักกับยูโด ตอน10ขวบ เริ่มต้นซ้อมที่กรมตำรวจก่อนประมาณ2-3เดือนแล้วก็เลิกไป พอขึ้นม.ต้นก็ไปเรียนว่ายน้ำ ท่าที่ถนัดคือท่าผีเสื้อ ทำให้รู้ว่าคนที่ว่ายน้ำบ่อยๆจะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อที่แข็งแรงแบบยึดหยุนแล้วจะได้เปรียบตอนเล่นยูโด (อย่างนี้ว่างๆผมก็ต้องไปว่ายน้ำบ้าง แต่ว่าผมว่ายท่าผี้เสื้อไม่เป็น เป็นแต่ท่ากบใช้แทนกันได้มั้นหนอ) ถัดมาม.3 มีเทศกาลงานวัดมีจัดแข่งซุโม่ เนื่องจากเคยเล่นยูโดมาเล็กน้อยก็เลยลงแข่งดู ไม่ถึงกับชนะเลิศแต่ว่าก็ทำให้สนใจและหลงใหลยูโดมากขึ้น

พอม.4 ก็มาเริ่มเล่นจริงจังกับยูโด โดยมาซ้อมที่โคโดกัง สมัยก่อนโคโดกังไม่ได้เป็นตึกเหมือนที่ตั้งในปัจจุบัน ในสมัยก่อนจะตั้งอยู่ติดกับสถานีซุยโดบาชิเลย เรียกได้ว่าออกจากสถานีก็เจอเลยไม่ต้องเดินเหมือนตอนนี้ สมัยก่อนชุดยูโดไม่ใช่ว่าใครก็จะซื้อมาใส่กันได้ง่ายๆ ต้องฝึกไปซักพัก แล้วในการแข่งขัน ต้องชนะ5คนติดต่อกัน ถึงจะได้เสื้อยูโดมา ตอนนั้นผมก็ไม่ได้ถามเหมือนกันว่าสมัยก่อนใส่ชุดอะไรซ้อมกัน เพราะว่าถ้าเริ่มเล่นยังไม่มีสิทธิ์ได้ชุดยูโดใส่นี่น่าแต่ช่างเถอะต่อดีกว่า ด้วยความที่อาจารย์อยากได้ชุดยูโด2ชุด (สมัยก่อนชุดยูโดแพงมาก ตอนนี้ก็ยังแพงอยู่) ก็เลยซ้อมหนักมากๆเพื่อที่จะชนะ5คนติดต่อกัน2ครั้ง แล้วก็ทำได้ในที่สุด

หลังจากที่อาจารย์มีชุดยูโดแล้วได้ชุดมาแล้วต่อไปก็สายดำ แรกๆทุกคนที่เริ่มเล่น จะคล้ายๆกันคืออยากได้สายดำ เพราะว่ามันดูเท่ห์ อาจารย์คนนี้ก็เหมือนกัน แต่ว่าสายดำในสมัยก่อน ยากกว่าสมัยนี้เยอะ ต้องชนะติดต่อกันจำไม่ได้กี่คน รู้แต่ว่ารวมๆกันแล้ว กว่าจะได้โชดั้งหรือสายดำขั้นแรกก็ ชนะอิปป้งคู่ต่อสู้ไป30กว่าคน ว่าแต่เรื่องทั้งหมดนี้อาจารย์จัดการได้ภายในปีเดียว คือตอนอยู่ม.4

ถัดจากนั้นมาก็ค่อยๆไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ อาจารย์ไม่มีตังค์ที่จะไปสอบเข้าเรียนมหาลัยเอกชน ทำให้ต้องพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะเข้ามหาลัยรัฐบาลให้ได้ ด้วยความที่สนใจซ้อมแต่ยูโดจนทำให้ผลการเรียนตกลงเรื่อยๆ อาจารย์ก็ต้องรีบปรับตัวจนในที่สุดก็เข้ามหาลัยรัฐบาลได้ เป็นมหาลัยเกี่ยวกับการกีฬาที่มีชื่อทางด้านยูโดโดยเฉพาะ สมัยนั้นอาจารย์ก็ยังวนเวียนอยู่กับโคโดกังอยู่ ตอนเปลี่ยนเสื้อผ้าตอนอาบน้ำก็เห็นร่างกายนักกีฬายูโดด้วยกัน แต่ละคนร่างกายยังกับนักเพาะกาย ก็เกิดความอยากขึ้นอีกแล้ว ตอนนี้อยากมีร่างกายมีกล้ามเนื้อเพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ตอนแข่งขัน (ไหนว่ากีฬายูโดเป็นกีฬาที่ให้คนตัวเล็กชนะคนตัวใหญ่ยังไงละ ทำไมถึงต้องมีร่างกายที่ใหญ่โตด้วย แล้วคนตัวใหญ่จะต้องชนะคนตัวขนาดไหนเนี่ยถึงจะเรียกว่าเป็นยูโด แต่ก็อีกนะไม่อยากจะขัดการเล่า) สมัย50ปีก่อนจะไปเล่นเวทก็ยังไม่มีสถานที่ให้เล่นมากนัก จะหาซื้อมาเล่นเองก็แพงอยู่ สุดท้ายก็ทำเองซะเลย ซื้อแค่แท่งเหล็กมาแล้วก็เอาคอนกรีตมาหล่อทำเอง แต่ก่อนที่จะเก็บเงินจนซื้อแท่งเหล็กได้ ก็ยกคอนกรีตที่หล่อเองนี้แหละ จนมีไหล่กับข้อที่แข็งแรงมากขึ้น (มีพื้นฐานมาจากการว่ายน้ำอยู่แล้ว)

การไต่ระดับยูโดก็ทำต่อไปเรื่อยๆจนเกิดความอยากขึ้นอีก ด้วยความที่อาจารย์อยากได้รางวัลพิเศษในการแข่งขันแดงขาว(โคฮะกุ จิไอ เป็นการแข่งขันใหญ่ประจำปีของโคโดกัง จัดขึ้นปีละ2ครั้ง) รางวัลพิเศษจะคล้ายๆกับรางวัลนักกีฬาดีเด่น ทีจะคัดเลือกจากมาจากแต่ละสนาม (แต่จะสนามจะแบ่งตามระดับสาย) ต้องเป็นคนที่ชนะและสามารถทุ่มได้สวยงามที่สุด หรือว่าใช้ท่านอนได้สวยงามที่สุด พูดง่ายๆก็คือสามารถจัดการคู่ต่อสู้แบบอิปป้งได้อย่างมีศิลปะและสวยงามที่สุดก็จะได้โล่รางวัลประกาศเกียรติคุณไป ทำให้อาจารย์ต้องใช้เวลาอย่างหนักในการซ้อม แล้วใช้เวลาในการคิดท่าต่อเนื่อง เพื่อที่จะจัดการคู่ต่อสู้ได้อย่างมีศิลปะที่สุด

แรกๆอาจารย์ชำนาญท่า เซโอนาเกะ แต่ว่าก็เกิดปัญหาขึ้นมาตอนแข่ง เกิดอุบัติเหตุในขณะที่ใช้ ข้อศอกฉีกเส้นเอ็นขาด ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ท่าอื่นแทน แล้วท่าที่ชำนาญก็กลายเป็น ไทโอโตชิ ส่วนท่าที่ทำให้ได้รางวัลมาก็คือ ท่าโออุจิการิแล้วต่อด้วยท่าไทโอโตชิ

ต่อจากนั้นอาจารย์ก็วนเวียนอยู่กับโคโดกัง ผ่านมาหมดทั้งสนามใหญ่ๆอย่างเซ็นนิฮง หรือว่าสนามสากลต่างๆ จนกระทั่งได้6ดั้ง ด้วยความที่วนเวียนอยู่แทบจะทุกวัน ก็เลยเป็นอาจารย์สอนต่อซะเลย ตอนนี้ก็อยู่ที่สายดำระดับ7

ถึงว่าทำไมอาจารย์คนนี้ชอบสอนท่าและจังหวะต่างๆสำหรับท่าไทโอโตชิ คงเพราะว่าเป็นท่าที่ชำนาญที่สุดนั้นแหละ ที่สำคัญ ท่าที่ทำให้อาจารย์ได้รางวัลมาคือ ท่าโออุจิการิ แล้วตามด้วยไทโอโตชิ การแข่งขันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาผมก็ได้ใช้ไปเหมือนกัน สำเร็จด้วย แต่ว่าความเฉียบคมและความสวยงามคงเทียบไม่ได้แม้แต่นิดเดียวกับของต้นฉบับอาจารย์คนนี้

ฟังมาถึงจุดนี้ รู้สึกว่าอาจารย์คนนี้กับผมมีอะไรที่คล้ายๆกันหลายจุด เริ่มจากพื้นฐานการว่ายน้ำ การหลงไหลในยูโด อยากได้สายดำเพราะความเท่ห์เป็นตัวนำ ตามมาด้วยการฝึกซ้อม การพัฒนาร่างกายและกล้ามเนื้อ ถัดมาจนถึงเรื่องการซ้อมการพัฒนาท่าให้ต่อเนื่อง การคิดวางแผนก่อนการลงแข่งทุกนัดว่าจะใช้ท่าอะไรตอนไหนเมื่อไร แม้แต่เรื่องเส้นเอ็นฉีกก็คล้ายๆกันอีก(เพียงแต่ว่าเกิดจากคนละสาเหตุ แต่ว่าก็เกิดจากการซ้อมยูโดเหมือนกัน) ท่าที่ชำนาญคือท่า เซโอนาเกะ กับ ไทโอโตชิ ก็ยังคล้ายกันอีก จะต่างกัน(แถมต่างกันมากด้วย)ก็คือเวลาในการเริ่มรู้จักเริ่มเล่นยูโดมันต่างกันเกินไปกับเรื่องยุคสมัย ขอไม่เหมือนอย่างเดียวคือไม่อยากที่จะเกิดอุบัติเหตุจากยูโดจนทำให้ไม่สามารถใช้เซโอนาเกะได้อีก (กลัวอยู่เหมือนกัน เกี่ยวกับเรื่องข้อศอกขวาที่เคยมีปัญหามาก่อนหน้านี้)

ส่วนสิ่งที่อยากให้เหมือน และเหมือนจะเป็นเป้าหมายในตอนนี้คือ รางวัลนักกีฬาดีเด่นของการแข่งขันโคฮะกุจิไอ ถ้าตอนนี้ฝึกเซโอนาเกะทุกๆวันจนความแรงเพิ่มมากกว่านี้อีกประมาณ2-3เท่า (ส่วนความเร็วคงเพิ่มได้อีกนิดหน่อยแต่จะให้เพิ่มไปมากกว่าเป็นเท่าตัวคงไม่ได้แล้วแหละ) ปีหน้าในการแข่งโคฮะกุจิไอ คู่ต่อสู้จะเป็นใครน่าจะมั่นใจและวางใจในเซโอนาเกะได้อยู่ครับ

ทุกครั้งตอนซ้อมจะคิดถึงคำพูดของอาจารย์คนนี้เสมอๆ ว่า ร่างกายเป็นของเราเอง ถ้าไม่ฝึกซ้อมเองก็ไม่มีใครมาช่วยฝึกซ้อมแทนให้ได้ อยากชนะก็ต้องฝึกให้มันชำนาญเป็นการแข่งกับตัวเอง ถึงเวลาลงสนามถ้าซ้อมมาดีความมั่นใจก็จะมาเอง




 

Create Date : 30 พฤศจิกายน 2554
0 comments
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2554 22:19:46 น.
Counter : 1622 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ablaze357
Location :
Chiba Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




「精力善用」「自他共栄」
Maximum efficient use of energy and mutual prosperity for self and others
New Comments
Friends' blogs
[Add ablaze357's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.