Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2558
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
13 กรกฏาคม 2558
 
All Blogs
 

ยูโดสายดำ (ภาคเมืองไทย)3 - การปรับเปลี่ยนพื้นฐานอีกครั้ง

5ก.ค.2015
การซ้อมครั้งที่4 ถึงแม้จะทำได้ดีขึ้นกว่าคราวก่อนๆแต่ยังมีข้อผิดพลาดอยู่มาก และยังไม่มีความแน่นอน อาจารย์เป้บอกว่าในตอนนี้เข้า10ครั้งขอให้เลือกเอาครั้งที่ดีที่สุดออกมาก่อน

เริ่มต้นด้วยท่าโอโกชิ โดยอาจารย์เป้เป็นหุ่น รู้สึกได้ถึงความทุ่มเทของอาจารย์มากๆเพราะการที่เป็นหุ่นทำให้อาจารย์สามารถประเมินสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ได้เป็นอย่างดี จุดไหนที่เพี้ยนไปอาจารย์ก็พยายามจัดแก้ไขให้ (เพี้ยนเยอะมาก เรียกว่าแทบทุกจุด) พออาจารย์จัดแก้ไขให้ผมรู้สึกถึงความสมดุลย์ พลัง และการดึงเอาทุกส่วนมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีเซ็ทนึงที่อาจารย์เป้ลองเลือกที่จะไม่จัดท่าให้ มันผิดเพี้ยน การเข้าท่ากลายเป็นเรื่องไม่เข้าท่าไม่เลยครับ ทั้งๆที่เป็นเพียงท่าพื้นฐานอย่างโอโกชิ

ผมพยายามรวบรวมรายละเอียดของท่าแบ่งออกมาได้เป็น6จุดหลักๆ
① เข่า การย่อเข่าจนได้ระยะที่เหมาะสมน่าจะเป็นหัวใจสำคัญของท่าโอโกชิ
②ไหล่ สืบเนื่องจากการย่อเข่า ไหล่ของเราโดยเฉพาะไหล่ซ้าย ต้องหมุน180องศาชิดติดกับหุ่น
③สะโพก หรือบริเวณก้นด้านหลัง พอย่อถึงจุดแล้วสะโพกต้องโผล่ออกมาช้อนตัวหุ่นให้ไหลขึ้นไป และเตรียมพร้อมในการรับน้ำหนักของหุ่นที่โถมเข้ามา เรียกว่าการย่อเข่าถ้าย่อไม่ถึงจุดที่มันควรจะเป็นจะส่งผลกระทบกับไหล่และสะโพกให้มันผิดเพี้ยน ท่านี้ก็เสียหายทันที
④มือของที่เอาไปโอบเอว ข้างนี้ก็สำคัญถ้าโอบไม่ลึก ทิ้งระยะห่างเกินไป มันจะไม่มีพลังในการเข้าทำ
⑤หัวและทิศทางการมอง หลักของยูโดมันบ่งบอกอยู่แล้วในเรื่องของสกุริ คือการที่เราเข้าท่าจะต้องไม่เสียสมดุลย์ของตัวเราเอง ศรีษะและทิศทางการมองต้องอยู่ในแนวตรง ถ้าคอเอียงร่างกายก็เอียงตาม สมดุลย์ก็เบี้ยวตามไปด้วย
⑥ขา สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญคือขา เพราะตอนที่ช้อนหุ่นขึ้นไปแล้วขาเราต้องทรงให้อยู่ไม่ล้มไปหลังและไม่ทรุดตามน้ำหนักที่โถมลงมา อาจารย์แบ่งสัดส่วนเรื่องขาให้ซ้าย60ขวา40 ถือว่าท่านี้ลงตัวเลย เพราะเข่าขวาผมมีปัญหามานานแล้ว ทำให้ความแข็งแรงทางกายภาพน้อยกว่าขาซ้ายอยู่

อีกจุดนึงที่ประทับใจในเรื่องโอโกชิของอาจารย์เป้ คือการควบคุมคู่ซ้อมให้หนีออกได้เพียงทางเดียว เหมือนกับตำราพิชัยสงครามสมัยโบราณตอนบุกตีเมืองคือปิดทางหนีในทุกๆประตูเมือง เหลือไว้เพียงประตูเดียวเพื่อให้ง่ายในการจัดการ โอโกชิที่ผมเจอมานี้มันก็ลักษณะเดียวกัน ทางที่เหลือไว้ให้หนีได้คือทางที่โทริจะควบคุมอุเกะในทิศทางที่จะใช้ทุ่มนั้นเอง

ใครจะไปคิดครับว่า
-ท่าโอโกชิที่ผมเรียนเป็นท่าพื้นฐานท่าแรกๆ
-ท่าโอโกชิที่ผมและอีกหลายๆท่าน ฝึกฝนมาหลายปี
-ท่าโอโกชิที่บางครั้งผมเอาไปสอนเด็กใหม่ที่เพิ่งเริ่มรู้จักยูโด
มันจะมีมุมที่ลึกซึ้ง และมีรายละเอียดที่เกี่ยวเนื่องกันไปหมดในถ่วงท่า (ขอไว้อาลัยกับโอโกชิแบบเดิมของผมซักแป๊บครับ)

บ้านที่ผมอยู่สร้างมาประมาณ50-60ปี จำเวลาที่แน่นอนไม่ได้ และกลางบ้านมีเสาต้นนึงเป็นเสาเข็มลึกลงไปในดินและยาวขึ้นไปถึงดาดฟ้าชั้นหก ผมตัดสินใจแล้วที่จะอาศัยเสาต้นนี้ในการฝึกโอโกชิ หากวันใดเสาต้นนี้ถูกสั่นคลอนด้วยโอโกชิ ผมมั่นใจว่าจะเป็นใครหน้าไหนโอโกชิของผมก็คงยกขึ้น...(เมื่อไหร่หนอ) ปัญหาอีกอย่างที่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้คือ โอโกชิซ้าย!!!! พื้นฐานที่อาจารย์เป้ต้องการต้นๆคือ โอโกชิที่ต้องทำได้ทั้งซ้ายและขวา นั้นก็คือผมต้องเพิ่มเวลาไปซ้อมด้านซ้ายที่ผมไม่ถนัดเลย

ก่อนที่จะไปซ้อมตัวอื่นต่อ อ.ได้แนะนำวิธีการฝึกซ้อมเข้าท่าอิปปงให้อีกหนึ่งรูปแบบ คือการใช้รักแร้หนีบข้อมือของหุ่นแทนที่จะใช้มือจับในการเปิด การซ้อมลักษณะนี้เป็นการซ้อมในเรื่องของระยะของอุเกะและโทริไปในตัว

ถัดจากนี้เป็นการซ้อมฮาเนโกชิ เข้าท่าเหมือนทุกๆครั้งในการซ้อม ที่ไม่เหมือนคือน้องคู่ซ้อมผมวันนี้ไม่มา หุ่นซ้อมวันนี้จึงเป็นอาจารย์เป้ วันนี้ซ้อม4คน ก็สลับกันเข้าท่าคนละ20ครั้ง ผมใช้ฮาเนในการฝึกซ้อมเข้าท่าอยู่แล้ว ส่วนน้องอีกสามคนใช้อิปปงเซโอนาเกะ ผลคือเสื้อของลูกศิษย์ทุกคนได้ช่วยกันถูบริเวณท้องของอาจารย์เป้จนเป็นแผลถลอก ผมซ้อมยูโดกับอาจารย์ผ่านมาก็หลายท่านแต่ผมประทับใจในเรื่องความตั้งใจและความทุ่มเทของอาจารย์เป้ในการสอนเสมอมา

ซ้อมฮาเนวันนี้ ดีกว่าคราวก่อน ถึงผลจะยังไม่เป็นที่พอใจก็ตาม นั้นคือครั้งแรกสูงของการซ้อม ลิมิตการเข้าท่าของผมจะเข้าท่าได้ประมาณ7-8ครั้ง แต่ตอนนี้เซ็ทแรกไม่นับเพราะแรงยังเต็มอยู่ เซ็ทสามเซ็ทสี่ถึงจะรู้ลิมิตเป็นตัวแรกที่แน่นอน นั้นคือ13ครั้ง ถึงจะดีขึ้นแต่ยังห่างไกลกับสิ่งที่ต้องการทั้งของอาจารย์และของผมที่มุ่งหวังไว้ นั้นคือต้องให้ได้30อัพ ไปจนถึง50ครั้ง

ต่อจากนี้บิดเกลียวร่างกายกันต่อด้วยท่านอน คนนึงกดคนนึงดิ้นพลิก แล้วก็ตามด้วยการซ้อมเข้าท่าจูจิกาตาเมะ ต่อจากนั้นก็เป็นท่าเต่าหนีบรักแร้และหมุนตัว วันนี้อาจารย์เริ่มมีเกริ่นนำในส่วนของท่าอุเดะการามิกับท่าซังกะกุจิเมะที่เอามาพลิกแพลงใช้กับจูจิกาตาเมะ ความรู้สึกตอนอาจารย์จับใส่คันเซสสึวาซะนั้นเป็นความรู้สึกที่คุ้นเคยและลืมไม่ลงของนิกกิเซนเซอาจารย์ที่เบาะโคเซ็นยูโดที่ญี่ปุ่น มันมีความลงตัวของถ่วงท่า จังหวะ และความเร็วที่เหมาะเจาะ (ใครเจออาจารย์พวกนี้ใส่คันเซ็สสึวาซะตอนแข่ง แต่คิดก็สยองแล้ว)

ถัดมาลองทุ่มจริงดูบ้าง มีน้องที่ซ้อมด้วยกันอีก3คน จึงไปเอาเบาะมารองเพิ่ม ก็เรียงแถวสลับกันทุ่มวนไปเรื่อยๆ พอมาทุ่มจริงผมต้องแก้ไขอีกเยอะเลย ทั้งเรื่องการกระแทกด้วยสะโพก การชู้ตขึ้นทุ่มด้วยสะโพกไม่ใช่แรงขา แรงสปริงจากเข่า ทิศทางแขนและมือดึง โดยเฉพาะเรื่องของมือซ้ายสำคัญมาก เพราะการที่จะชู๊ตทุ่มให้หมุนครบรอบ180องศาในแนวตั้งมือซ้ายต้องช่วยเรื่องการดึงมือให้สุดพร้อมๆกับการบิดข้อมือ (อาจารย์เป้อธิบายภาพให้ชัดเจนโดยการยกตัวอย่างของชิโมยาม่าเซนเซที่ผมเคยถ่ายรูปเก็บไว้ตอนที่ชิโมยาม่าเซนเซสอนเรื่องคุสุชิ)

ถัดมาเก็บแต้มเรื่องการดิ้นให้หลุดจากล๊อคโอไซโกมิ น้องคู่ซ้อมคนนึงใช้คามิชิโฮ 555ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในการดิ้นให้หลุดจากคามิชิโฮ ส่วนที่เหลือก็เป็นเคซะกาตาเมะ คาตะคาตาเมะ ด้วยสรีระและน้ำหนักที่แตกต่างการหนีจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่จุดประสงค์การซ้อมตัวนี้ไม่ได้อยู่ที่หนีได้ไม่ได้ กลับอยู่ที่ว่าทำเต็มที่แล้วรึยัง รอบทั้งเป็นการฝึกซ้อมเพื่อที่จะพัฒนาไปพร้อมกันทั้งอุเกะและโทริ คนที่เป็นโทริต้องค่อยคิดและปรับเปลี่ยนให้ท่ามันรัดกุมมากขึ้น ส่วนอุเกะก็ต้องพยายามสร้างจังหวะและโอกาสให้สามารถหนีพลิกออกมาให้ได้

ก่อนที่จะรันโดริกับน้องๆยูโดที่กกทมีการซ้อมท่ายืนอีก3ตัว คือท่าฮาไรทรึริโกมิอาชิ เป็นแบบสลับกันเข้าคนละครั้ง คล้ายๆกับการเต้นรำตามจังหวะ เริ่มจับทิศทางได้เล็กน้อยคราวหน้าจะต้องทำให้ดีกว่านี้ ซ้อมฮาไรทรึริโกมิอาชิทีไร ผมนิสัยเสียทุกที เกี่ยวกับเรื่องการเขย่ง การเขย่งเป็นการหวังดีแต่มันจะฉุดรั้งคู่ซ้อมทำให้การซ้อมออกมาไม่เต็มที่ เพราะเป็นการสร้างคุสุชิแบบถวายพานให้กับโทริ ทำให้โทริติดนิสัยไม่ทำคุสุชิดอใช้จริงมันจะใช้ไม่ออก จุดนี้รับทราบและจะรีบแก้ไขครับ

การซ้อมอย่างที่สองคือท่าทรึบาเบะไคเอชิ ท่านี้ (อีกแล้ว) เหมือนกับอีกหลายๆท่าที่ซ้อมมา นั้นคือเรื่องจังหวะหรือท่ามันแตกต่างกับสิ่งที่ผมเคยเรียนรู้มา ทรึมาเมะของผมจะหลบโดยการชักเท้าถอยออกมาให้เฉียดๆกับการปัดของหุ่นคือประมาณ5เซนแล้วกลับเข้าไปปัดกลับ แต่ทรึบาเมะฉบับอาจารย์เป้จะหลบโดยการยกขึ้นแล้วหมุนกลับลงมาปัดกลับ คิดๆดูการบินของทรึบาเมะหรือนกนางนวล ท่าของอาจารย์เป้น่าจะดูใกล้เคียงและสวยงามกว่า เพราะธรรมชาตินกนางนวลจะบินขึ้นก่อนที่จะโฉบกลับลงมาจัดการเหยื่อที่อยู่ด้านล่าง

การซ้อมอีกตัวคือเรื่องการเบรคจังหวะและสวนกลับ ตรงนี้มันกว้างมากๆเพราะท่าแต่ละท่าจังหวะเบรคอาจไม่เหมือนกัน (ที่คล้ายกันก็มี) และท่าที่จะใช้โจมตีสวนออกมาก็มีเยอะแยะ เลยต้องลองตกลงกับคู่ซ้อมดูว่าเอาแบบไหน แน่นอนท่าที่ผมเลือกเข้าก็ต้องเป็นฮาเนโกชิ ส่วนน้องคู่ซ้อมเลือกอุชิโร่โกชิ (อาจจะเป็นอุสุริโกชิก็ได้ เพราะซ้อมกันแค่จังหวะยก ยังไม่ถึงจังหวะทุ่ม) การเข้าท่าฮาเนของผมยังไม่นิ่ง สะโพกออกบ้างไม่ออกบ้าง สมดุลย์ ทิศทางยังไม่ลงตัว แต่สิ่งที่พัฒนาขึ้นและผมรู้สึกได้คือเรื่องความเร็วในการเข้าท่า ผมรู้สึกว่ามันย่นระยะได้มากขึ้นและเข้าถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ถ้าความเร็วเท่านี้แล้วสะโพกมีแรงชู๊ตจะดูดีมากกว่านี้

ถัดจากนี้เป็นการรันโดริ คู่ซ้อมที่หนักใจคือนักมวยไทย(คนเดียวกับอาทิตย์ที่แล้ว) เพราะฝีมือพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เทียบกันเรื่อง พลัง ความคล่องตัว ความอึด ผมแพ้ทุกอย่าง จะมีก็แต่เทคนิคยูโดที่ผมพอจะรู้เยอะกว่านิดหน่อย สรุปทุ่มยากครับ ถ้าไม่ใช้เหลี่ยม เช่นการหลอกว่าจะเข้าท่าทุ่มแบบจับขวาปกติแล้วพลิกกลับมาใช้ซาซาเอะที่ขาซ้ายของคู่ซ้อม อีกท่าที่เห็นผลคือการรอสวนท่าฮิสะกุรุม่าของฝั่งตรงข้าม อันนี้เป็นท่าถนัดของผมอยู่แล้วเพราะมันอาศัยจังหวะการเข้าท่าของฝั่งตรงข้าม แน่นอนฝั่งตรงข้ามขยับสมดุลย์ย่อมเคลื่อนย้ายถ้าไม่รักษาให้ดี ผมช่วยขยับเพิ่มให้อีก สมดุลย์มันจะกระจัดกระจายกลายเป็นผมที่ได้เปรียบ

สรุป ซ้อมกับอาจารย์เป้ทีไร เหนื่อยเป็น2-3เท่ากว่าการซ้อมปกติ แต่คุ้มกับสิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติม และสิ่งที่จะตอบแทนความทุ่มเทของอาจารย์คงต้องเป็นเรื่องของความตั้งใจและใส่ใจในการซ้อม หมั่นทำการบ้านทบทวนสิ่งที่ได้ซ้อมมาให้มากขึ้น ตอนนี้ผมตอบตนเองได้อย่างเต็มปากว่าทิศทางการซ้อมของผมมันเดินมาอย่างถูกทิศถูกทางแล้ว

ป.ล. วันนี้มีสิ่งที่แว๊บเข้ามาในสมองอีกแล้ว เป็นเรื่องของทิศทางการหักในท่าอุเดะการามิ ท่าอุเดะการามิเป็นท่าที่ผมใช้ไม่ออก มันปรับแต่งยังไงคนที่เป็นอุเกะก็นอนเฉยไม่เจ็บซักที แต่วันนี้สิ่งที่แว๊บผ่านมาในสมองทำให้ระบบสมองอัพเดทตัวเองและรับรู้ได้ว่า คราวหน้าต้องหักยังไงที่จะทำให้อุเกะตบเบาะ

12ก.ค.2015
การซ้อมครั้งที่5 วันนี้เริ่มต้นด้วยภาคทฤษฏีพร้อมปฏิบัติของท่าโคอุจิการิ และโออุจิการิ สองท่านี้มันคงจะไปด้วยกันได้ยากจริงๆด้วย ถึงแม้ว่าบางส่วนจะคล้ายกัน ดีใจครับกับจิกซอล์ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นชิ้นสุดท้ายแล้วสำหรับท่าโคอุจิการิ

ปัญหาโคอุจิการิของผม มันอยู่ที่การเกี่ยวได้แต่ไม่จบเป็นแต้ม มันมีอะไรหลายๆอย่างที่ทำให้ฝั่งตรงข้ามสามารถพลิกหลบออกเอาหน้าลงได้ตลอด อาจารย์หลายท่านว่าเป็นเรื่องของมือ ซึ่งมันก็มีส่วนสำคัญอยู่ แต่เคล็ดวิชาของอาจารย์เป้กลับเป็นที่เรื่องหน้าอกและไหล่ ตรงนี้ไม่ต้องถึงกับรื้อท่ากันทั้งหมด เอาแค่ฝึกฝนให้ชำนาญจนสามารถเติมส่วนนี้เข้าไปในท่าก็น่าจะลงตัว

เคล็ดวิชาอีกจุดนึงที่น่าตกใจ (ตกใจที่ว่าทำไมเพิ่งมารู้เอาตอนนี้) นั้นคือการหันหน้าและหันหลัง โคอุจิเป็นแนวสะบัดหันหลัง ส่วนโออุจิเป็นแนวสะบัดด้านหน้า สิ่งนี้จดจำไม่พอ แต่ต้องเอาไปใส่ในการฝึกซ้อมจนชำนาญด้วย

ถัดมาเป็นการซ้อมเหมือนทุกๆครั้งที่ผ่านมา เชื่อมั้ยครับว่าการที่เว้นไม่ได้ซ้อมกับคู่ของเราไป1อาทิตย์ มันทำให้ท่าแปลกๆไป แปลกทั้งผมและแปลกทั้งน้องคู่ซ้อม แต่ตรงนี้ใช้เวลาซักแป๊บ มันจูนกันได้

จุดที่เน้นย้ำ ยังเป็นเรื่องเดิมที่ผมและคู่ซ้อมละเลยไป เรื่องสะโพกหลุด เรื่องการหันเกินกว่าข้าง(เอาตูดเข้า) ทิศทางของฝ่าเท้า สะโพกโผล่ ลำตัวไม่ติด ขาไม่สร้างแรงหน่วง มือที่จับคอเสื้อไม่ทำงาน มือที่จับแขนเสื้อไม่ปิดลง และ อื่นๆอีกมากมาย (โอ๊ย เยอะมาก ทำไมถึงเป็นแบบนี้)

ต่อจากฮาเน เป็นฮาไรทรึริโกมิอาชิ เวลาเปลี่ยนท่าก็เปลี่ยนจริงๆ เสียใจครับ การเข้าท่าตัวนี้ วันนี้ถือว่าแย่มาก อ.เป้ต้องมาเน้นย้ำกับสิ่งที่เคยบอกไปแล้วอีกรอบนึง เรื่องมือที่จับแขนเสื้อ ผมลืมไปเลยว่าต้องทำยังไง มัวแต่พยายามจะไปเน้นระยะ สะโพก แล้วก็เรื่องงอขา เรื่องนี้ต้องแก้ไขแบบด่วนๆซะแล้ว

จากนั้นมากันที่ท่านอน สลับกันกด สลับกันพลิกขึ้นมา แล้วต่อด้วยท่าจูจิกาตาเมะ อาจารย์เน้นเรื่องมือก่อนจะต่อท่าให้ถึงปลายทางของจูจิกาตาเมะ เทคนิคการซ้อมตัวนี้ผมจะตั้งใจฝึกซ้อมครับ เอาให้จับปุ๊บหักปั๊บเลยครับ

เข้าแบบช้าของฮาเน วันนี้มีอีกแบบ เป็นการเข้าแบบเร็ว เน้นสปีด คีย์สำคัญคือผ่อนแรงออกครึ่งนึง ขาที่เข้า เข้าแล้วเอากลับมาที่เดิมด้วย ไม่งั้นถือว่าโกง ปกติการเข้าเน้นสปีดผมไม่ชอบมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่คราวนี้ไม่ใช่ ผมรู้สึกว่าการเข้าแบบสปีด ผมทำได้ดีกว่าแบบปกติซะอีก น่าจะเป็นเพราะวิธีการเน้นขาสองของผม ที่ว่าขาแรกก้าวออกไปแล้ว ขาสองให้ตามออกไปติดๆทันที ตรงนี้แหละที่เป็นหลักการเพิ่มสปีดให้ผม

ถัดมา อาจารย์เป้จะดูและประเมินความก้าวหน้าของแต่ละคน โดยให้ทุกคนเข้าท่าโดยที่อาจารย์เป็นหุ่น ท่าใครท่ามันแล้วครับ ตรงจุดนี้สัมผัสได้เลยว่า ท่าของอาจารย์เป้ไม่ได้ติดยึดอยู่กับท่าใดท่าหนึ่ง เพราะนักเรียน5คน ท่าที่แต่ละคนใช้มันก็แตกออกมาหลายท่า แน่นอนผมเลือกฮาเนโกชิ เซ็ทแรกทำได้ไม่ดี เซ็ทสองแก้ตัวที่แรกๆเริ่มปรับตัวได้ แต่พอเข้าไปได้ถึงครั้งที่5 บางสิ่งเปลี่ยนไป เหมือนมีพลังงานบางอย่างที่ทำให้อาจารย์ตัวหนักขึ้น สิ่งนี้ก็เป็นความละเอียดอ่อนของอาจารย์เช่นกัน คือพอเราถึงจุดที่น่าจะก้าวผ่านได้แล้ว อาจารย์ก็ยังหาสิ่งที่น่าท้าทายมาให้พวกเราได้เสมอ จากที่กำลังจะดีในเซ็ทสองพอเจอถ่วงก็แย่ลง จบเซ็ทสอง อ.เป้แนะนำและแก้ไขฮิกิเทะในจังหวะสกุริก่อนที่จะคาเคะ คือให้ปิดทิศทางและทำให้มันตึง จะทำให้เราคุมหุ่นได้ดีขึ้น ทำในจังหวะที่ควรทำประสานกับสะโพกจะได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก เซ็ทสามเริ่มกันใหม่ครับ คำพูดของอาจารย์เป้ที่บอกว่า ในสิบครั้งมันเป็นไปได้ยากที่จะเข้าท่าได้เหมือนกันทั้งสิบครั้ง แรกสุดขอให้เราจงจำครั้งที่ดีที่สุดของเราแล้วพยายามทำให้ครั้งที่ดีที่สุดออกมาหลายๆครั้ง เซ็ทสามเดินไปจากครั้งที่1-2-3-4....18-19 และครั้งที่ดีที่สุดในความคิดผมก็โผล่มานั้นคือครั้งที่20หรือว่าครั้งสุดท้ายนั้นเอง ดีตรงไหน? มันคงเป็นความบังเอิญที่ลงตัวหรือที่เรียกว่าฟลุ๊คนั้นแหละ
ขาผมค่อยๆปรับเอาให้มันงอสร้างแรงเหนี่ยว
สะโพกผมค่อยๆปรับเอาให้ดึงสุดแล้วยังมีอีกก๊อกนึงโผล่ออกไป
เข่าผมค่อยๆปรับเอาให้มันย่อลงไปในระยะที่ควรจะเป็น
แขนขวาผมค่อยๆปรับเอาให้มันดึงหุ่นเข้ามาในระยะที่สมควรจะเป็น
มือซ้ายผมค่อยๆปรับเอาให้ระยะมันชิดสนิทกับลำตัว
ทุกอย่างลงตัว จุดระเบิดพอดี เป็นครั้งแรกที่ผมสัมผัสและรู้สึกว่างัดลอยแบบฮาเนโกชิเป็นอย่างไร
อยากจะให้สิ่งบังเอิญที่ลงตัวนี้เกิดขึ้นบ่อยๆจัง

รันโดริวันนี้ เจอกับหนึ่งอาแบค ขนาด1เจ็บเข่ายังเล่นเหมือนคนปกติ ผมโดนปัดลอยไปเป็นสิบ พยายามจะจับจังหวะที่หนี่งใช้แต่มันยังไม่ถึงขั้นแว๊บเข้ามาในสมอง รู้แต่ว่าแขนเสื้อข้างซ้ายของผมถูกคุมแปลกๆทุกครั้งก่อนที่ขาขวาของผมจะโดนหนึ่งใช้ขาซ้ายปัดลอย ก่อนหมดเวลาผมเกี่ยวโคไปได้ทีนึง หลงมโนไปว่าเกี่ยวได้เพราะความฟลุ๊คในจังหวะและไทม์มิ่ง พอมาคิดอีกครั้ง สิ่งที่ทำให้เกี่ยวได้ไม่ใช่ท่าของผมเฉียบคมแต่เป็นเพราะเข่าขวาของหนึ่งมีปัญหาแล้วผมดันลืมไปยุ่งกับอาการเจ็บของเค้าซะได้ โดยสัตย์จริงผมลืมไปชั่วขณะว่าคู่ที่ผมซ้อมรันโดริอยู่ มีอาการบาดเจ็บ ขอโทษจากใจจริงครับ (ก็พี่ท่านรันแบบสบายอารมณ์ ทำผมลอยได้ทุกๆ6วิ เป็นใครก็ลืมครับว่าเฮียแกเจ็บอยู่)

ซ้อมวันนี้ ผมจะจดจำอาการเหนื่อย ใช่...ตอนที่ซ้อมอยู่มันเหนี่อย ล้า ไปซะตัวสั่น แต่พอผ่านพ้นไปแล้วมันก็คืออดีต เป็นpast tense ที่เราเรียกว่า เคยเหนื่อย เคยล้า ปัจจุบัน เราก็หายเหนื่อยใช้ชีวิตได้ปกติ ดังนั้นคราวหน้าถ้าเหนื่อยล้า ผมจะต้องปรับปรุงทัศนคติและค่อยๆพยายามก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปให้ได้




 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2558
0 comments
Last Update : 13 กรกฎาคม 2558 0:21:45 น.
Counter : 1078 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ablaze357
Location :
Chiba Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




「精力善用」「自他共栄」
Maximum efficient use of energy and mutual prosperity for self and others
New Comments
Friends' blogs
[Add ablaze357's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.