โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย

ร้านหนังสือ & ร้านกาแฟ : "บุ๊คคาเฟ่" หนังสือบวกกาแฟ ไปด้วยกันได้


โพสต์5 ก.ค. 2554 01:42โดยTheeraparb Tputti   [ อัปเดต 5 ก.ค. 2554 02:50 ]

 

ใครอยากเปิดร้านหนังสือ+กาแฟ เชิญอ่าน


จาก ช่องทางสร้างอาชีพ
นิตยสาร เส้นทางเศรษฐี
วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

  คุณวรวิทย์ พูดให้ฟังถึงระบบการขายหนังสือว่า ปกติทุกสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือ อาจจะเป็นบริษัทในเครือของสำนักพิมพ์นั้นเอง หรืออาจจะไปจ้างให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง จัดจำหน่ายก็ได้ ดังนั้น การที่เขาจะขายทั้งหนังสือที่เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กและนิตยสาร เขาจะไปติดต่อกับบริษัทจัดจำหน่าย




   ยุคสมัยเปลี่ยนไป ธุรกิจย่อมต้องปรับตัว เช่นเดียวกับร้านหนังสือที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ขายหนังสือเท่านั้น หากยังพยายามเน้นสร้างบรรยากาศให้น่ารื่นรมย์กับการอ่านหนังสือมากขึ้น แถมพ่วงด้วยร้านกาแฟหอมกรุ่น ที่นับว่าไปด้วยกันได้ดีทีเดียว

   ที่ซอยเสนานิคม 1 พหลโยธิน ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ตรงไปจากแยกวังหินราว 700 เมตร ทางซ้ายมือ พบร้านหนังสือไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่จัดรูปแบบได้สะดุดตา หากตัดบรรยากาศโดยรอบออกไป ร้านหนังสือร้านนี้ ไปตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้สบายๆ

   ตัวร้านขนาดตึกแถว 1 คูหา ตกแต่งภายในอย่างเรียบง่าย แต่เก๋ไก๋เป็นที่สุด มีชั้นหนังสือวางไว้ด้านหนึ่งของร้าน แถมเชื่อมชั้นล่าง กับชั้นลอยด้วยบันไดเล็กๆ และเสริมด้วยโคมไฟ ทำให้ร้านดูมีมิติมากขึ้น ส่วนอีกด้านหนึ่งของร้านเป็นมุมกาแฟ พร้อมที่นั่งจิบกาแฟ ด้วยโต๊ะ เก้าอี้ ที่ไม่เหมือนใคร ส่วนด้านหน้าของร้าน มีชั้นวางนิตยสารและหนังสือพิมพ์ รวมทั้งโต๊ะ เก้าอี้ อีก 2 ชุด เพื่อให้ลูกค้าได้ออกมานั่งทัศนาภายนอกร้านได้อย่างสบายใจ

ยืนตรงหน้าร้าน แหงนหน้าขึ้นไป พบกับป้ายชื่อร้านที่เขียนว่า Bookcafe ที่บ่งบอกได้ถึงสไตล์ของร้านว่า ร้านนี้ขายทั้งหนังสือและกาแฟ

เข้าไปในร้านอีกครั้ง ถามหาเจ้าของร้าน เมื่อพบกันแล้ว จึงไม่ค่อยแปลกใจที่รูปแบบของร้านออกมาทันสมัยขนาดนั้น เพราะเจ้าของร้านเอง ก็เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่มีความคิดออกจะแตกต่าง

   คุณวรวิทย์ ไชยทิพย์ วัย 32 ปี เจ้าของร้านหนังสือแห่งนี้ เล่าให้ฟังว่า เปิดร้านหนังสือมาได้ประมาณปีเศษ โดยก่อนหน้านี้ ก็เคยมีประสบการณ์ในเรื่องร้านหนังสือมาบ้างเช่นกัน

"เคยขายเล่นๆ ใต้ถุนตึกคอนโดฯ แห่งหนึ่ง ด้วยความที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ตอนนั้นทำงานประจำไปด้วย จึงได้ประสบการณ์กับร้านขายหนังสือมา" คุณวรวิทย์ ว่าอย่างนั้น

ราวปี 2542 คุณวรวิทย์ ทำงานประจำที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ตำแหน่งเกี่ยวกับการผลิตหนังสือ นับว่าเป็นงานที่มั่นคงมากงานหนึ่ง แต่เขายังพยายามที่จะหาธุรกิจเป็นของตัวเองให้ได้ เขาว่า "เราก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า เป็นลูกจ้างไม่มีทางรวย แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะรวยอะไรมาก แค่จะทำในสิ่งที่ชอบ คือผมชอบอ่านหนังสือ ชอบงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเป็นทุนเดิม และที่สำคัญที่บ้านผมเคยทำร้านขายของชำมาก่อน ซึ่งเราได้บทเรียนว่า การทำร้านขายของชำต้องใช้เงินสดไปลงเป็น เงินทุน ในขณะที่ร้านหนังสือไม่ต้องใช้เงินสด เพราะมีระบบฝากขาย เราไม่ต้องลงเงินทุนกับสินค้า แต่ถ้าขายได้เท่าไหร่ก็หักกันไป"

จะว่าไปแล้ว ร้านหนังสือ เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีคนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันกันมาก แต่ก็นับว่าเป็นธุรกิจปราบเซียนทีเดียว เพราะหากทำเลไม่ดีจริงๆ ถึงกับปิดตัวกันง่ายๆ หรือแม้ว่าทำเลดีแล้ว แต่กลุ่มคนอ่านกับสินค้าที่วางขายไม่สัมพันธ์กัน ก็ไปไม่รอดเหมือนกัน

"คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ" หลายคนพูดกันมากทีเดียวกับประโยคนี้ พร้อมกับยกสถิติต่างๆ ขึ้นมาเปรียบเทียบกับประเทศโน้นประเทศนี้ สรุปก็คือ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจร้านหนังสือมักจะยกขึ้นมา แต่สำหรับคุณวรวิทย์ แล้ว เขาว่า เขาได้ยินทฤษฎีใหม่ อันเป็นของเจ้าของร้านหนังสือชั้นนำของประเทศที่ว่าไว้ว่า จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่จะทำอย่างไรให้หนังสือไปอยู่ใกล้ชิดกับคนอ่านต่างหาก

"ถ้าทฤษฎีนี้ถูกจริง ผมก็ว่า ผมมาถูกทาง เพราะร้านของผมเป็นร้านสแตนด์อะโลน ที่ไม่อยู่ในห้าง พร้อมให้บริการกับคนในชุมชน" คุณวรวิทย์ ว่าอย่างนั้น

คุณวรวิทย์ พูดให้ฟังถึงระบบการขายหนังสือว่า ปกติทุกสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือ อาจจะเป็นบริษัทในเครือของสำนักพิมพ์นั้นเอง หรืออาจจะไปจ้างให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง จัดจำหน่ายก็ได้ ดังนั้น การที่เขาจะขายทั้งหนังสือที่เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กและนิตยสาร เขาจะไปติดต่อกับบริษัทจัดจำหน่าย อาทิ นานมี อัมรินทร์ เคล็ดไทย ประพันธ์สาร สารคดี ดวงกมล งานดี เพ็ญบุญ

การจ่ายเงิน ใช้ระบบเครดิต หรือการฝากขาย โดยจะได้ส่วนลดจากหน้าปกมาประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ และเครดิต ประมาณ 3 เดือน เมื่อพ้น 3 เดือนแล้ว ทางบริษัทผู้จัดจำหน่ายจะมาเก็บหนังสือกลับไป พร้อมกับมีหนังสือใหม่เข้ามา โดยขายได้เท่าไหร่ ก็จ่ายเท่านั้น

แต่ทั้งนี้ ในบริษัทผู้จัดจำหน่าย จะต้องเรียกเงินมัดจำไว้ อาจจะเป็น 20,000-30,000 บาท ดังนั้น ผู้ประกอบการเอง อาจจะต้องมีเงินทุนสำหรับเงินมัดจำนี้ และนี่เอง ที่เป็นเหตุผลว่า ร้านหนังสือร้านเล็กๆ ที่มียอดขายไม่มาก แต่ต้องการขายหนังสือของหลายๆ สำนักพิมพ์ หรือจากหลายๆ บริษัทผู้จัดจำหน่าย จึงต้องจ่ายเงินมัดจำเป็นจำนวนไม่น้อยเลย

"ตอนนี้ ผมเองก็พยายามทำในหลายๆ แนวทาง อย่างร้านที่ขายนิตยสารจะไม่มีพ็อคเก็ตบุ๊ก ดังนั้นผมกำลังจะทำตัวเป็นสายส่งด้วยคือ เอาหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊กไปวางขายที่ร้านขายนิตยสารเหล่านี้ หรือนำหนังสือประเภทสัตว์เลี้ยงไปฝากขายไว้ที่ร้านสัตวแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาก็พอขายได้" คุณวรวิทย์ เล่าให้ฟัง และต่ออีกว่า

"เรื่องการลดราคาหนังสือ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เพราะดูจากราคาส่วนต่างที่ร้านได้รับ (กำไร) ไม่มากเลย แต่ในขณะที่การแข่งขันสูง ก็เลี่ยงการลดราคาได้ยาก อย่างที่ร้านผม อยู่ในย่านที่ร้านขายหนังสือลดราคากันหมดเลย แต่ผมก็ไม่ลดราคานะ ผมจะใช้วิธีแถมเป็นของเล็กๆ น้อยๆ มากกว่า ที่ผมไม่ลดราคาเพราะว่า สมมติว่า เราลดราคาไป 10 เปอร์เซ็นต์ การที่เราจะทำเม็ดเงินให้ได้เท่ากับที่เราไม่ลดราคา นั่นคือ เราต้องทำยอดขายเพิ่มขึ้นอีก"

เรื่องส่วนลดราคาหนังสือนี้ คุณวรวิทย์ ว่า ในวงการธุรกิจขายหนังสือได้คุยกันว่า ไม่ควรลดราคาเพราะอย่างในต่างประเทศ ถ้าหนังสือออกมาใหม่ ไม่ถึง 6 เดือน จะห้ามลดราคาเลย นอกจากนี้ การลดราคาในร้านใหญ่ อาจจะทำได้ แต่ถ้าเป็นร้านเล็กๆ ซึ่งได้กำไรน้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้ได้น้อย แต่ถ้าไม่ลด กลายเป็นว่า ร้านเล็กๆ เป็นผู้ร้ายในสายตาของลูกค้า

อย่างที่กล่าวที่ร้านของคุณวรวิทย์ นอกจากจะมีพ็อคเก็ตบุ๊กอย่างหลากหลายแล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์ และนิตยสารวางขายอยู่หน้าร้านด้วย ซึ่งเขาบอกว่า มีไว้ดักลูกค้า เมื่อลูกค้าแวะซื้อก็จะชวนให้ลูกค้าเข้ามาดูหนังสือในร้านด้วย และสำหรับพ็อคเก็ตบุ๊กและหนังสือทั่วไป ที่ร้านบุ๊คคาเฟ่ แห่งนี้ ยังมีหนังสือประเภทที่หาไม่ได้ทั่วไป หากต้องการบางครั้งต้องเข้าไปหาซื้อในเมือง อย่างสีลม สยาม หรือสุขุมวิท เช่น หนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือท่องเที่ยว หรือหนังสือทางด้านศิลปวัฒนธรรม

คุณวรวิทย์ พูดถึงร้านหนังสือเช่าว่า ร้านหนังสือเช่าที่เกิดในเมืองไทยส่วนใหญ่ เป็นร้านเช่าหนังสือการ์ตูน หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า ที่ว่าร้านหนังสือเช่า ก็คือ ร้านหนังสือการ์ตูนให้เช่านั่นเอง

"ผมเคยทำร้านหนังสือให้เช่า แต่เป็นร้านหนังสือเช่าจริงๆ คือไม่มีหนังสือการ์ตูน และผมก็ได้เรียนรู้ว่า ร้านหนังสือเช่าถ้าจะให้อยู่ได้ ต้องเป็นหนังสือการ์ตูน"

ถึงกระนั้น คุณวรวิทย์ ยังต้องการจะทำหนังสือเช่าอีกครั้ง แต่คราวนี้มาแปลก ลองฟังไอเดียของเขาดู

"ผมคิดโครงการแปลงหนังสือเป็นทุน หรือธนาคารหนังสือ คือจะให้ลูกค้า และคนทั่วไปได้ร่วมสนุกด้วย คือใครที่มีหนังสือที่ไม่หวงแล้ว และต้องการแบ่งปันให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมกับมีรายได้ ให้นำหนังสือมาไว้ที่ร้านของผม ผมจะเปิดให้เช่า โดยผู้ที่มาเช่าจะต้องจ่ายค่ามัดจำราคาเท่าหนังสือ ณ สภาพนั้นๆ และคิดค่าเช่าประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของราคาหน้าปกต่อวัน ค่าเช่าที่ได้ก็แบ่งกับทางร้านคนละครึ่ง ซึ่งวิธีการอย่างนี้ จะทำให้บรรยากาศการอ่านหนังสือสนุกขึ้น ที่ผ่านมา ผมเริ่มทำมาได้สัก 1-2 เดือนแล้ว มีลูกค้านำหนังสือประเภทฮาวทูมาวาง ตอนแรกคิดว่าจะไม่มีคนสนใจ ก็ปรากฏว่ามีคนมาเช่าไปเยอะเหมือนกัน"

ที่ร้านของคุณวรวิทย์ อย่างที่บอก ว่าแต่งร้านได้สวยงามน่าสนใจ จนกระทั่งมีลูกค้าที่เป็นสถาปนิกหรือนักออกแบบตกแต่งภายในมาเยี่ยมชมบ่อยๆ การที่เป็นร้านที่น่าสนใจนี้เอง ที่ชั้นสองและชั้นสามของร้าน เขาจึงแบ่งให้ผู้ที่สนใจมาทำธุรกิจเช่า ธุรกิจที่ว่าได้แก่ โรงเรียนสอนร้องเพลง สถาบันสอนโยคะ สอนภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น

นอกจากนี้ เจ้าของร้านยังพยายามจัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนพบผู้อ่าน ที่เขาจะเชิญนักเขียนผู้ที่เป็นที่ชื่นชอบของหนอนหนังสือมาพบปะพูดคุยกันที่ ร้าน หรืออย่างที่เขาจัดไปเมื่อเร็วๆ นี้คือ "ปาร์ตี้ลุงป้า" โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เกษียณอายุ ได้เข้ามาทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์และเป็นการใช้เวลาว่างของลุงป้าให้เพลิด เพลิน

"ด้วยการออกแบบของร้านในลักษณะนี้ อีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่เรากำลังจะทำคือ กลุ่มนักศึกษา เพราะที่ผ่านมาก็มีนักศึกษามานั่งอ่านหนังสือกันที่นี่ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป็นพลังเงียบ เพราะกลางวันบางวันก็ไม่มีวิชาเรียน ผมกำลังมองว่าจะให้กลุ่มนี้มาร่วมกิจกรรมกับทางร้านได้อย่างไร"

เหล่านี้เป็นกลยุทธ์ที่เขาพยายามสร้างบรรยากาศของร้านหนังสือธรรมดา ให้ดูคึกคัก และเป็นร้านหนังสือที่แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใคร

ที่ฝาผนังของร้านยังมีฝาเขียนสีน้ำมัน ฝีมือศิลปินกลุ่มต่างๆ ซึ่งเจ้าของร้านว่า "ตั้งใจจะให้เป็นที่แสดงงานศิลปะหมุนเวียน เหมือนในต่างประเทศที่เขาจะให้โอกาสศิลปินหน้าใหม่ ได้แสดงผลงาน ที่ผ่านมาก็นำมาแสดง 2-3 รายแล้ว"

ภาพเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะแสดงอย่างเดียว แต่ยังขายด้วย ใครที่สนใจ แวะเวียนไปดูได้

    พูดถึงเงินลงทุน คุณวรวิทย์ เผยว่า ร้านนี้เขาลงทุนไปราวๆ 300,000 บาท ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนร้านหนังสือ และส่วนกาแฟ มุมกาแฟนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 100,000 บาท ที่เหลือเป็นส่วนของหนังสือ ส่วนทำเลที่ตั้งของร้าน อยู่ในย่านธุรกิจพอสมควร ติดกับธนาคาร และยังเป็นธนาคารที่เปิดทำการทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์ จึงทำให้ร้านดูคึกคักตลอดทั้งสัปดาห์

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของอาชีพคนรุ่นใหม่ ที่พยายามสานฝันให้เป็นจริง ด้วยการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง เป็นนายของตัวเอง แม้วันนี้ยังไม่มีตัวเลขมาแสดงให้เห็นว่าเขาประสบความสำเร็จเสียทีเดียว แต่นับเป็นการเริ่มต้น การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่ดีสำหรับหนุ่มวัย 30 ต้นๆ เช่นนี้

https://sites.google.com/site/mrsavebook/ran-khay-hnangsux




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2557   
Last Update : 27 กรกฎาคม 2557 16:21:47 น.   
Counter : 1800 Pageviews.  

ร้านหนังสือ : ทำไม... "สามัญชน" ต้อง "ท้าชน" ยักษ์!

หลังจากที่ลากยาวเรื่อง "เคล็ดไทย" หันมารุกตลาดค้าปลีก ด้วยการทำร้านหนังสือ..ปรากฏว่าเรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร เล่นเอาคนเขียนหน้าบานเป็นจานเ

            แหม...ก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ เขียนไปก็ด้วยความรักและห่วงใย เบาบ้างแรงบ้างก็หวังว่า "ขาใหญ่" ทั้งหลายจะให้อภัยและไม่หมั่นไส้ไปกว่าเดิม (ฮา)
            ด้วยทิ้งท้ายเอาไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะแวะไปจับเข่าคุยกับ ดอนเวียง หรือ เวียง-วชิระ บัวสนธิ์ เจ้าของสำนักพิมพ์สามัญชน ที่ตอนนี้ขยับตัวมารุกด้านธุรกิจค้าปลีกเหมือนกันด้วยการเปิดร้านหนังสือสามัญชน ที่หน้าห้างคาร์ฟูร์ สาขาอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่


             ด้วยความสงสัยว่าสำนักพิมพ์มืออาชีพที่ไม่เคยแสดงท่าทีความอยากจะเป็นเจ้ายุทธจักรค้าปลีกหนังสือ...ทำไม "ดอนเวียง" ถึงหันมาสนใจลงทุนในสภาวะเศรษฐกิจดิ่งนรกอย่างนี้

              ผมเลยแอบย่องไปดูกับตาตัวเอง เห็นแล้วก็เบาใจ เพราะร้านหนังสือของพี่ท่านอยู่ในทำเลทองคำหน้าห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ ร้านหนังสือถูกรายรอบไปด้วยสำนักงานธนาคารหลายแห่ง ...ซึ่งพอจะเป็นสิ่งการันตีได้ว่า น่าจะมีลูกค้า เพราะว่าทำเลที่ธนาคารไปตั้งมักจะเป็นที่โอ่อ่า เป็นหน้าเป็นตาของสถานที่แห่งนั้น ไม่มีใครอุตริให้ธนาคารไปตั้งอยู่หลังห้างหรือว่าในที่ลับตาคนหรอกครับ  ฉะนั้น เรื่องทำเลที่ตั้งร้านหนังสือสามัญชน กินขาด!!


             คราวนี้เรื่องการออกแบบร้านก็ต้องบอกว่ารสนิยมของ "ดอนเวียง" ไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว ร้านหนังสือแบบอาคารชั้นเดียว หน้าร้านเป็นกระจกใสบานใหญ่แลดูโล่งกว้างแม้ว่าจะมีต้นไม้ใหญ่ปลูกตระหง่านให้ร่มเงาอยู่
 ภายในร้านตกแต่งด้วยโทนสีน้ำตาลตัดขาวสลับดำเล็กน้อยแต่พองาม ในสไตล์เข้มขรึมแบบร้านหนังสือโมเดิร์นคลาสสิก

เก๋ไก๋ด้วยการวางถาดผลไม้ที่อุดมไปด้วย “กล้วย”และผลไม้หลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาเดินเลือกซื้อหาหนังสืออ่านกันได้กินไปดูหนังสือไปแก้หิว-รองท้องพลางก่อน แถมยังมีม้านั่งยาวให้สามารถนั่งอ่านหนังสือ พร้อมมีหมอนขวานให้เอนหลังเอกเขนกอ่านหนังสือกันได้อีก


               นี่ไงครับ....ที่ผมเรียกว่า การสร้างจุดขาย สร้างสไตล์ที่แปลกใหม่ไปจากร้านหนังสือเดิมๆ ทั่วไป ที่มุ่งการขายหนังสือ ขายสินค้าให้มากที่สุด ไม่ค่อยเล่นกับความรู้สึกของลูกค้า

               แต่ร้านหนังสือสามัญชน ไม่สนใจที่จะทำการค้าแบบเต็มสูบ ผมเข้าใจว่า "ดอนเวียง" คงจะเครียดถ้าร้านไปได้สวยจนต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์...สู้ทำร้านหนังสือแบบสบายๆ สไตล์สามัญชนดีกว่า ไม่เครียด... อย่างมากก็แค่ปวดหัวเรื่องหาที่จอดรถเวลาจะแวะเข้าตลาดวโรรสไปซื้อแคบหมู มาให้ลูกค้านั่งเคี้ยวเพลินๆ!

              วันที่ผมแวะไปแอบดูนั้น ปรากฏว่า “ดอนเวียง” กำลังนั่งยองๆ แกะลังหนังสือจัดสินค้าเข้าชั้นอยู่พอดี เลยมีโอกาสได้สนทนากันเล็กน้อยถึงปานกลางว่า เหตุอันใด พอความรักมันเริ่มต้นจะต้องมาเริ่มต้นไกลถึงเชียงใหม่ 
 ทั้งๆ ที่กองบัญชาการอยู่ริมทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ใจกลางกรุงเทพฯ

              "ดอนเวียง" มองหน้าผมแล้วอมยิ้ม ก่อนจะสยายผมล้อลมหนาว แล้วก็บอกเสียงเรียบๆ ว่าทำเลดี ราคาไม่สูงจนเกินไปและที่สำคัญ มีพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่ที่เชียงใหม่ เป็นเพื่อนสมัยเรียนมัธยมมาด้วยกัน จึงวางใจได้ในการดูแลกิจการ จึงลงขันกันคนละไม่กี่มากน้อย เปิดห้างหุ้นส่วนจำกัดร้านหนังสือสามัญชนขึ้นมา

อย่างน้อยเพื่อเป็นร้านหนังสือต้นแบบ...ต้นแบบสำหรับร้านหนังสือที่ไม่มุ่งการค้าแบบขายมันทุกอย่าง เพราะร้านสามัญชนเน้นหนังสือวรรณกรรม หนังสือหาอ่านยากหนังสือดี เพราะ "ดอนเวียง" เชื่อว่าการที่คนเราถ้าได้อ่านหนังสือดีๆ แล้วชีวิตจะดีไปเอง


ผมถามว่าแล้วร้านหนังสือของพี่มันจะไปรอดไหม?

              พี่ท่านมองหน้าผมด้วยสายตาเป็นคำถามว่า "ลื้อ... จะถามทำไม-ใครมันจะไปรู้ฟะ?" แต่ด้วยความเมตตาพี่ท่านก็ตอบผมเป็นการสอนสั่งประมาณว่า บางครั้งคนเราทำงานอะไร กิจการอะไรใช่ว่า คำตอบสุดท้ายมันอยู่ที่ "กำไร-ขาดทุน"

เพราะบางทีดรรชนีชี้วัด "ความสำเร็จ" มันอยู่ที่ "ความสุข" ที่เจ้าของกิจการนั้นๆ ได้รับต่างหาก ในเมื่อมีหุ้นส่วนเป็นถึงเจ้าหน้าที่สรรพากรแห่งอำเภอจอมทอง เรื่องบัญน้ำบัญชี เรื่องรั่วไหลคงจะไม่ใช่ปัญหา 

              ส่วนเรื่องการสั่งสินค้าไปวางจำหน่าย ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่เพราะหนังสือในมือของสามัญชนก็มีมากมายหลายหลาก ล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือดีมีคุณภาพ ไหนจะมีสำนักพิมพ์พันธมิตรอีกหลายต่อหลายเจ้าให้การสนับสนุน มีสายส่งอย่างเคล็ดไทยคอยเป็นเชือกพิงหลังให้เวลาสินค้าขาดแคลน


 ผมมองว่าร้านหนังสือสามัญชนไปเปิดถูกที่ถูกทางครับ...เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ มีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนมากมาย มีปัญญาชนอยู่อาศัยจำนวนมาก รอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถมบรรยากาศ สภาพอากาศก็เอื้อกับการนั่งจิบกาแฟอ่านหนังสือเป็นที่สุด

              เพราะฉะนั้นด้วยเงื่อนไขสัญญา 3 ปี และค่าเช่ารายเดือนไม่แพงจนเกินไป ใช้พนักงานแค่ 2 คนก็เพียงพอแล้ว น้องๆ จะปั่นจักรยานมาเปิดร้านหนังสือก็ยังได้ 


 แฮ่ม....อารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้ คนทำร้านหนังสือทางเลือกโคตรชอบเลยผมจะบอกให้!!

 แต่จะบริหารร้านหนังสือยังไงให้ได้ต่อสัญญาหลังจากครบ 3 ปี...

สัปดาห์หน้า "ดอนเวียง" มีคำตอบพร้อมจะเฉลยว่า ทำไมต้อง "ท้าชน" ร้านหนังสือเครือข่ายขนาดยักษ์ ด้วยการไม่วางจำหน่ายหนังสือที่ว่ากันว่าขายดี และเป็นที่ต้องการของวัยรุ่น...ทำไม...ทำไม...และทำไม...??  แล้วพบกัน...เจ๊า....!


ทำไม... “สามัญชน” ต้อง “ท้าชน”ยักษ์! (2)


อย่างที่ผมทิ้งท้ายไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ด้วยเงื่อนไขสัญญา 3 ปี และค่าเช่ารายเดือนไม่แพงจนเกินไป ใช้พนักงานแค่ 2 คนก็พอ

 มันเป็นห้วงอารมณ์ความรู้สึกที่คนทำร้านหนังสือทางเลือกโคตรชอบเลยผมจะบอกให้!!
 แต่จะบริหารร้านหนังสือยังไงให้ได้ต่อสัญญาหลังจากครบ 3 ปี...

 

“ดอนเวียง-วชิระ บัวสนธิ์” แห่งร้านหนังสือ “สามัญชน” เมืองเชียงใหม่ บอกว่า ปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า จะบริหารอย่างไรให้ได้ต่อสัญญา เพราะทางร้านมีนโยบายอยู่แล้วว่า บริหารแบบไม่บริหาร

           หมายความ “กำไร-ขาดทุน”ไม่ใช่ดรรชนีชี้วัดความสำเร็จว่า ธุรกิจร้านหนังสือแห่งนี้จะอยู่ได้หรือไม่ได้ มันอยู่ที่ “ใจของดอนเอง” ถ้าใจยังมีสนุกอยู่ก็ไม่มีปัญหา แต่ว่าถ้า “ถอดใจ”...มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 


           ส่วนเรื่อง “ท้าชน”หรือว่า “ใครยักษ์-ใครไม่ยักษ์” หลังจากนั่งนวดหัวเข่าคุยกันแล้วก็ได้รับคำตอบว่า การเปิดร้านหนังสือคราวนี้ ไม่ได้เป็นการ “ท้าชน”หรือว่า “ท้าทายใคร” เพียงแต่คิดว่า มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยจะต้องมีร้านหนังสือเฉพาะกลุ่ม

          ไม่ใช่ปล่อยให้ร้านหนังสือเป็น “ชุมชนแออัดทางสิ่งพิมพ์” ไม่ว่า ใครจะพิมพ์หนังสืออะไรออกมาก็ ยัดมันเข้าไปในร้านหนังสือ ใครที่เขียนได้อ่านออกและมีชื่อเสียงก็เร่งผลิตกันออกมาให้มีรูปเล่มหน้าตาเป็น “หนังสือ”
 ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันแค่ “กระดาษเปื้อนหมึก”

 

           ที่สำคัญ สิ่งที่ “ดอนเวียง”มีความรู้สึกและผมพอจะสัมผัสได้คือว่า สิ่งที่ดอนเวียงรับไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆคือ ขนาดของพื้นที่ในร้านหนังสือไม่มีหลงเหลือให้กับเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่า “งานเขียนวรรณกรรม”เลย มันกลายเป็นที่อยู่อาศัยของหนังสืออะไรก็ไม่รู้
           แต่ทะลึ่งไปจัดอยู่ใน “หมวดวรรณกรรม” เพราะสำนักพิมพ์อยากยกระดับสินค้าของตัวเองและบางทีพนักงานขายหนังสือก็ดันไม่อ่านหนังสือ ดูแต่ปกกับรายชื่อเรื่อง!!

 

           การจัดหมวดหมู่ประเภทหนังสือในร้านทั่วไปจึงเละเทะไปหมด บางเล่มบางเรื่องไม่ใช่งานวรรณกรรม มันก็แค่นิยายรักน้ำเน่าไม่ได้มีคุณค่าทางสติปัญญา ไม่ได้อ่านแล้วจะช่วยให้เกิดแง่งามของความคิดหรือมุมชีวิตใหม่ๆ
          แค่นิยายรักวัยรุ่น...ทะลึ่งไปจัดอยู่ในหมวดวรรณกรรม วางเคียงข้างกับ “พี่น้องคารามาซอฟ”....มันน่าเศร้าไหมล่ะครับพี่น้อง 

 เพราะฉะนั้น ร้านหนังสือเฉพาะกลุ่มเฉพาะแนวอย่างร้าน “สามัญชน”จึงเกิดขึ้นมา เรียกว่า มาอย่างไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำธุรกิจ เพราะถ้าตั้งใจให้เป็นธุรกิจคงจะไม่ทำ!!

 


          แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเปิดเป็นร้านหนังสือ ก็ต้องทำธุรกิจซื้อขายกันล่ะ...ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร เพราะจากประสบการณ์วัยเยาว์ที่เคยช่วยทางบ้านขายข้าวสาร เมล็ดพันธุ์พืชไร่มาบ้างก็พอจะทำให้รู้ว่าระบบการทำบัญชีมันเป็นอย่างไรและทุกอย่างถ้าวางระบบให้เรียบร้อย

 

การบริหารงานก็น่าจะลื่นไหลไปได้ เพราะหัวใจมันอยู่ตรงที่ต้องการให้ร้านหนังสือแห่งนี้ เป็นมิตรกับคนเชียงใหม่และคนทั้งโลกที่มาเยือน ต้องการทำให้ร้านหนังสือแห่งนี้เป็นร้านต้นแบบสำหรับการทำร้านหนังสือเฉพาะกลุ่มวรรณกรรมและหนังสือดีที่มีคุณภาพ

         เขาไม่ต้องการหนังสือวัยรุ่นน้ำเน่า รักใสๆหัวใจละอ่อน ที่สำคัญไม่มีการเปิดหน้าบัญชีกับสำนักพิมพ์ใหญ่ๆหรือว่าสำนักพิมพ์ยักษ์ทั้งหลาย เพราะเชื่อว่า ถึงไม่มีขายในร้านสามัญชนก็คงจะไม่ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทยักษ์เหล่านั้นดิ่งลงแต่ประการใด

         “ผมต้องการให้ร้านหนังสือสามัญชน ท้าชนกลุ่มธุรกิจสำนักพิมพ์ในแง่การท้าชนทางอุดมคติมากกว่า ท้าชนอย่างอื่น เพราะในเชิงอุดมคติแล้วนั้น หนังสือดีๆจะต้องมีพื้นที่ดีๆให้ขายด้วย มันหมดยุคที่ว่า หนังสือดีอยู่ที่ไหนคนก็ตามไปซื้อ ซึ่งมันไม่จริงและใช่ไม่ได้ในสมัยนี้ หนังสือดีเท่าไรจะต้องให้พื้นที่ดีๆกับหนังสือเล่มนั้น เพื่อให้คนดีๆจะได้พอเจอและซื้อหาไปอ่านกัน”

 

        “ดอนเวียง วชิระ”ยังยิ้มกระดิกหนวดแล้วบอกอีกว่า คงจะไม่ต้องถามเขาหรอกว่า หนังสือดีกับหนังสือไม่ดีต่างกันอย่างไร หนังสือแบบไหนคืองานวรรณกรรม หนังสือแบบไหนไม่ใช่งานวรรณกรรม
         เพราะเขาอ่านหนังสือมาจนหนวดหงอกแล้ว....น่าจะพอมีสติปัญญาแยกประเภทหนังสือและคัดสรรหนังสือเข้ามาวางจำหน่ายในร้านได้

 


        แน่นอนว่า การเปิดร้านหนังสืออย่างสามัญชนนี้ อาจจะเป็นความคิดที่ไม่ค่อยฉลาดนักถ้ามองแบบนักธุรกิจ แต่ถ้ามองแบบนักอุดมคตินี่คือ ความสำเร็จที่สามารถเปิดร้านหนังสือให้กับงานเขียนประเภทวรรณกรรมได้

        เมื่อถามว่า แล้วมองความเสี่ยงไว้มากน้อยขนาดไหน เถ้าแก่น้อยของร้านสามัญชนบอกว่า 3 ปีไม่ควรจะขาดทุนเกิน 500,000 บาท คือคำนวนจากต้นทุน ค่าเช่าพื้นที่,ค่าจ้างพนักงาน,ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯแล้วโดยเฉลี่ย น่าจะอยู่ได้

 


        เพราะหลังจากที่เปิดร้านอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาก็ปรากฏว่า มีลูกค้าหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าระยะแรกชาวเชียงใหม่จะออกอาการลังเลที่จะผลักประตูกระจกเข้ามาในร้าน

        เพราะป้ายหน้าร้านเขียนเอาไว้ว่า “ยินดีต้อนรับ...คนดี”

        เล่นเอา หลายคนชะงักเท้า...ยืนทบทวนความดีความชั่วอยู่หน้าร้านกันไปชั่วขณะ! 

 

        แต่หลังจากที่ใคร่ครวญดีแล้วว่า มีความดีมากพอก็เข้ามาในร้านแล้วก็ไม่ผิดหวังกับบรรยายกาศและการบริการที่เหมือนไม่ใช่การบริการของพนักงานร้านหนังสือทั่วไป

 

แฮ่ม...จะเป็นยังไง...มีบริการรับนวดหน้าด้วย.....มั้ย?
เอาไว้มาเล่าให้ฟังนะ....

 

   (อ่านต่อฉบับหน้า)



ทำไม “สามัญชน” ต้องท้าชน “ยักษ์” (จบ)


อย่างที่ผมได้ทิ้งประเด็นไว้สัปดาห์ที่แล้วว่า ร้านหนังสือสไตล์คนเก๋า ตราคนนอนหงายไขว้ขาอ่านหนังสือ อย่างสามัญชน น่าจะมาเปิดในกรุงเทพฯด้วย


             เพราะในฐานะที่ฐานบัญชาการใหญ่ของ “ดอนเวียง วชิระ บัวสนธิ์ ”ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองหลวงของประเทศ ชนิดนั่งจิบกาแฟดำที่สำนักงาน ได้ยินเสียงรถแล่นบนทางด่วนรามอินทร-อาจณรงค์ก็แล้วกัน...

            ปรากฏว่า หลังจากที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นซึ่งกันและกัน 


            ผมพบว่า มีร่องรอยความคิดบางอย่างในน้ำคำของผู้บริหารใหญ่คนนี้...ชายที่ “ศิริวร แก้วกาญจน์” นักเขียนรางวัลศิลปาธร ยกนิ้วให้ว่า เป็น”โอเอซิสแห่งท้องทะเลทรายวรรณกรรมไทย”

            ร่องรอยที่ว่านั้น คือ ต้องการทำร้านหนังสือแห่งนี้เป็นตัวอย่าง! เพื่อว่าจะได้ทำให้ทุกคนในวงการหนังสือในสายงานวรรณกรรมตัวเล็กๆเกิดความคิดที่จะรวมตัวกันให้ได้ ผนึกกำลังกันให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่ไม่ใช่เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลหรือว่าจะเคลื่อนทัพนักเขียนไปยึดกระทรวงศึกษาธิการ!

เพียงเพื่อให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนนั้น มันจะสามารถแสดงพลังอะไรบางอย่างออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นพลังในการนำเสนอมุมมองความคิด การสร้างชุมชุนรักการอ่านที่มั่นคงเข้มแข็ง สามารถกระจายหนังสือดีๆที่มีคุณภาพออกไปสู่สังคม


หมายความว่า ร้านหนังสือสามัญชน อาจจะเป็นร้านต้นแบบ-ต้นร่างความคิดในโครงสร้างใหญ่ จากนั้นก็ต้องให้ทุกคนช่วยกันต่อยอดความคิดนี้และนำไปปฏิบัติใช้ 

 ไม่เฉพาะว่าจะอยู่ที่ไหน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-สุไหงปาดี-หนองคาย-จันทรบุรี ฯลฯ ที่ไหนก็ได้บนผืนแผ่นดินนี้ขอเพียงให้มีนักอ่านและมีคนต้องการทำร้านหนังสือคุณภาพ สามารถติดต่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันกับ”ดอนเวียง”ได้ตลอดเวลาที่ท่านสะดวกรับสาย(ฮา)


ถามว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่คนทำร้านหนังสือและคนทำหนังสือจะต้องแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดกัน

           คงจะต้องตอบว่า มีความจำเป็นมากและมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะถ้าขืนอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ฉันเขียนของฉัน นายขายของนาย ไม่เกี่ยวกับรับรองว่าตายอย่างเขียดแน่นอน เพราะว่า ร้านหนังสือในระบบเครือข่ายหรือว่าร้านใหญ่ๆก็จะเปิดแนวรุกมากขึ้น ไปยึดหัวเมืองต่างๆทั่วประเทศไทย

          ยึดไม่ยึดเปล่า...ไม่เอาหนังสือวรรณกรรมไทยไปขายด้วยอีกต่างหาก !!


          เพราะว่า การสั่งหนังสือเข้าไปขายในแต่ละร้านนั้น จะถูกกำหนดแนวทางมาจากทางกรุงเทพฯ พูดง่ายๆว่า คนคัดหนังสือเข้าร้านหนังสือนั้น นั่งพิจารณาหนังสืออยู่ที่กรุงเทพฯ

         ใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่พิจารณาว่า หนังสือเรื่องไหนของสำนักพิมพ์ไหน ควรจะสั่งเข้ามาวางจำหน่ายในร้าน ถ้าเขาชอบแบบของเขา ก็จะสั่งเข้ามา...เมื่อสั่งเข้ามาแล้วมันก็จะถูกกระจายไปวางจำหน่ายตามร้านหนังสือสาขาต่างๆของบริษัทเขา...ทั่วประเทศ!!


          ถ้ามี 300 สาขา 1,500 สาขา ก็มีมีสินค้าหรือว่าหนังสือเหมือนกันหมดทั่วประเทศ เดินไปไหนก็เจอว่างั้นเถอะ

 ถ้าคนคัดหนังสือ เป็นนักอ่านที่อ่านหนังสือคุณภาพ อ่านเป็นหรือรู้ว่าเล่มไหนคือหนังสือ เล่มไหนคือขยะ...ก็จะคัดแต่หนังสือดีๆ ซึ่งถ้าเป็นหนังสือดีมีคุณภาพ...ก็รอดไป แต่ถ้าคนคัด..คัดหนังสือห่วย ต้องบอกว่านักอ่านซวยกันทั้งประเทศเช่นกัน!

          ขณะที่หนังสือวรรณกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นรวมบทความ,รวมเรื่องสั้น,รวมบทกวี,นวนิยายเชิงความคิด ที่ไม่ใช่ตบจูบที่กำลังเป็นละครโทรทัศน์น้ำเน่ากันอยู่นั้น เป็นเรื่องจริงที่เหลือเชื่อว่ายากที่จะฝ่าด่านอรหันต์ของแก๊งค์คนคัดหนังสือเข้าร้านใหญ่ๆไปได้ง่ายๆ 


          เพราะว่ามันขายยากอยู่แล้วด้วยตัวมันเอง ยิ่งขาดเสียงเชียร์ ขาดการส่งเสริมการขาย คนคัดไม่ชอบอ่านแนวนี้อีก   แถมยังมาแพ้ภัยตัวเองอีกคือ ถ้าเขาสั่งหนังสือไปเข้าร้านใหญ่ ดันไม่มีปัญญาพิมพ์หนังสือให้ได้ตามยอดหนังสือที่เขาสั่งอีก

          เรียกว่า ไม่เฮงแล้วยังจะซวยเอาอีก!! ถ้าขืนบ้าเลือดพิมพ์ตามจำนวนของร้านใหญ่ที่สั่งออร์เดอร์มา เพราะว่าอย่าลืมว่าประเทศนี้ ทำธุรกิจหนังสือด้วยระบบฝากขาย...ทางร้านหนังสือสามารถคืนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์!!


ทางเลือกที่จะทำให้รอด ถ้ายังอยากจะผลิตหนังสือดีๆต่อไปก็คือ จะต้องเลือกร้านให้เหมาะกับหนังสือที่ตัวเองผลิต ซึ่งแน่นอนว่า หนังสือวรรณกรรมจะต้องวางในร้านวรรณกรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่ ร้านสามัญชนคิดเอาไว้และกำลังทำเป็นตัวอย่างให้ร้านหนังสือทางเลือกทั้งหลายเห็นทางรอด

ด้วยการพัฒนารูปแบบร้านหนังสือให้ทันสมัย ได้มาตราฐานเดียวกันไปร้านเครือข่ายใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการตกแต่งร้าน,การให้บริการ,ระบบฐานข้อมูลลูกค้า ฯลฯที่สำคัญเป็นการทำธุรกิจร้านหนังสือที่อยู่บนพื้นฐานกำไร-ขาดทุน แบบมีความสุข คือ หมายความว่า ได้กำไรก็มีความสุข ถ้าขาดทุนก็มีความสุข


 ถ้าใครคิดอย่างนี้ได้ ผมว่าต้องศึกษารูปแบบของร้านสามัญชนและร้านหนังสือทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ร้านหนังสือประตูสีฟ้า,ร้านหนังสือเดินทาง ฯลฯ เพราะร้านเหล่านี้คือ ร้านหนังสือทางเลือกอย่างแท้จริง

           หนังสือที่คุณไม่สามารถหาได้ในร้านหนังสือเครือข่าย คุณสามารถแวะเวียนมาเสาะหาได้ในร้านหนังสือเหล่านี้ ถ้าในจังหวัดต่างๆมีร้านหนังสือลักษณะนี้ตั้งอยู่ มีการร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน อาจจะมีกิจกรรมเดินสายของนักเขียนที่ส่งต่อกันเป็นทอดๆจัดเป็นโครงการมหกรรมหนังสือดีสัญจร  สร้างเครือข่ายนักอ่านคุณภาพในชุมชน ฯลฯ...ก็ว่ากันไป

          ผมรับรองว่า อยู่ได้ดีไม่แพ้ร้านหนังสือเครือข่ายอย่าง ซีเอ็ด,นายอินทร์,B2S อย่างแน่นอนครับ

และนี่คือเหตุผลว่า ทำไม สามัญชนจะต้องท้าชนยักษ์...เพราะแค่ต้องการให้ยักษ์ขยับพื้นที่ให้คนวรรณกรรมตัวเล็กๆบ้าง-ก็เท่านั้น!!

Tags : Mr.QC • ธุรกิจบนกองกระดาษ • ร้านหนังสือสามัญชน •


Life Style : Read & Write

//www.bangkokbiznews.com/

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2557   
Last Update : 27 กรกฎาคม 2557 15:56:24 น.   
Counter : 830 Pageviews.  

ร้านหนังสือ : มาเปิดร้านหนังสืออิสระสู้ยักษ์กันเถอะ

หลังจากที่ผมร่ายยาวเรื่อง ร้านหนังสือสามัญชน ปรากฏว่ามีคนที่สนใจอยากเปิดร้านหนังสือเขียนจดหมาย โทรศัพท์ อีเมล เข้ามาพูดคุยเยอะมากครับ

             ทั้งที่ติดต่อโดยตรงเข้ามาที่ จุดประกายวรรณกรรม และติดต่อสอบถามผ่านอีเมลของผม น่าดีใจนะครับ ที่มีนักอ่านอยากจะเจ๊ง...อุ๊ย...อยากจะประสบความสำเร็จในการทำร้านหนังสือ ซึ่งต้องเรียนตรงๆ ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะการที่มีคนสนใจจะเปิดร้านหนังสือกันมาเท่าไร แสดงว่าโอกาส-ทางเลือกและทางรอดของสำนักพิมพ์เล็กๆ ย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว


             เพราะในเมื่อไม่มีกำลังทางการผลิตมากพอที่จะส่งหนังสือเข้าไปวางจำหน่ายตามร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาเยอะๆ หรือว่าพิมพ์หนังสือออกมาแล้วปรากฏว่าร้านใหญ่ไม่รับเข้าไปวางจำหน่าย อ้างว่าพื้นที่มีจำกัดบ้าง, แนวหนังสือไม่ตรงกับความต้องการของทางร้านบ้าง ฯลฯ

              การสร้างร้านหนังสืออิสระจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญมาก แต่แน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จและโอกาสที่จะล้มเหลวมันมีน้ำหนักพอกัน

              อยู่ที่ว่าเจ้าของร้านหนังสือนั้นๆ มีความสามารถและมีสายสัมพันธ์กับสำนักพิมพ์ต่างๆ รวมไปถึงเงินทุนมากน้อยขนาดไหน ความจริงที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ก็คือว่าไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กหรือว่าร้านใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เงิน!!

             ถ้าอยากเปิดร้านหนังสือเองแบบเต็มรูปแบบ สามารถจะยืนท้าชนกับร้านยักษ์ใหญ่ให้ได้ บอกเลยว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณอย่างน้อย 1-2 ล้านบาทครับ

              สำหรับร้านหนังสือขนาดอาคารพาณิชย์ 2 คูหาซึ่งมันจะทำให้มีพื้นที่ใช้สอยของร้านประมาณ 100  ตารางเมตร ซึ่งต้องเรียนก่อนว่านี่เป็นงบลงทุนที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับค่าตึกนะครับ (เรียกว่าได้ตึกมาฟรีๆ ว่างั้นเถอะ)
 ส่วนในการสั่งหนังสือเข้ามาวางจำหน่ายนั้น ถ้าทำเองบริหารเองทั้งหมด คุณก็ต้องติดต่อกับสายส่งใหญ่ๆ ให้ได้ก่อน เพื่อให้เริ่มต้นง่ายๆ สำหรับหนังสือหน้าแผง ประเภทนิตยสาร, หนังสือพิมพ์รายวัน, รายสัปดาห์ ฯลฯ

ส่วนสำนักพิมพ์เล็กๆ นั้นถือว่าเป็นพันธมิตรสำคัญที่คุณจะต้องทำ เพราะมีร้อยถึงสองร้อยกว่าราย และแม้จะมียอดขายแต่ละรายไม่เยอะมากนัก ถ้าร้านของคุณเป็นร้านหนังสือทางเลือก นี่คือ 'หัวใจสำคัญ' เป็นอาวุธไม้เด็ดที่จะใช้ในการสร้างส่วนแบ่งในตลาด สำนักพิมพ์แต่ละแห่งก็มีจุดเน้นหรือจุดเด่นที่แตกต่างกัน ก็ต้องแล้วแต่คุณว่าต้องการให้ร้านของเรามีจุดเด่นอย่างไร


วิธีการง่ายๆ อีกอย่างก็คือไปดูพวกร้านที่ขายดีๆ และมีสไตล์ร้านอย่างที่คุณชอบว่าเขาเลือกหนังสือของสำนักพิมพ์ไหนมาขายบ้าง เลือกเล่มไหนบ้าง จะสั่งตามเขาก็ได้หรือว่าเลือกหนังสือเฉพาะแนวของร้านคุณก็ได้
 ส่วนวิธีติดต่อก็เพียงดูข้างในตัวหนังสือ จะมีรายชื่อผู้จัดจำหน่ายอยู่ แค่นี้เองครับ

            อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการค้าส่วนใหญ่จะเป็นการฝากขายประมาณ 80% ของสินค้าทั้งหมด แต่ถ้าคุณอยู่ต่างจังหวัด อาจมีสัดส่วนการซื้อขาดมากกว่านี้ ซึ่งอาจเป็นการซื้อขาดเปลี่ยนสินค้าได้ (พูดง่ายๆ คือคุณรับหนังสือของเขามาขาย ถ้าขายไม่ได้ เขาไม่คืนเงินให้นะ แต่ให้เปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นได้) นอกจากนั้น หนังสือที่จะขอเปลี่ยนหรือของคืนจะต้องอยู่ในสภาพที่ขายใหม่ได้เท่านั้น ตรงนี้จะต้องระวังและอบรมพนักงานให้ดีเรื่องการบริหารคลังหนังสือส่งคืน

             ถามว่าความเสี่ยงทางธุรกิจร้านหนังสือมันอยู่ตรงไหน ว่ากันตรงไปตรงมาคือความเสี่ยงอยู่ตรงที่ขายหนังสือไม่ได้ แต่มีค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้าไปๆ มาๆ หรือคืนไม่ได้ หรือมีหนังสือหาย
 อย่าฝันแค่ว่าเอาหนังสือเขามาวางขายในร้านแล้วการกินเปอร์เซ็นต์อย่างเดียวสบายๆ นะ เพราะในการทำงานในการทำธุรกิจไม่มีอะไรง่ายหรือว่าได้มาเพราะฟลุ้คหรอก ทุกอย่างมันต้องผ่านการทำงานอย่างหนัก เอาใจใส่และใช้ความอดทนอดกลั้น ฯลฯ

             ยิ่งจะทำร้านหนังสืออิสระที่ไม่ต้องการใช้แบรนด์ชื่อร้านหนังสือใหญ่ ร้านหนังสือดังๆ จะต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งและต้องหาความแตกต่างในตัวสินค้าให้ได้ ซึ่งผมเชื่อว่าในอนาคตอันไม่ไกลข้างหน้านี้ บรรดาร้านหนังสือทางเลือก ร้านหนังสือเฉพาะแนวจะมีมากขึ้น เพื่อมารองรับสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ไม่สามารถส่งหนังสือเข้าไปวางจำหน่ายในร้านใหญ่ได้ ด้วยข้อจำกัดบ้าง ปริมาณการผลิตบ้าง


             แต่ถ้าคนทำร้านหนังสือเล็กๆ ไม่มีความอดทน ไม่สามารถที่จะสร้างสายสัมพันธ์กับบรรดาสำนักพิมพ์เล็กๆ หรือว่ากลุ่มนักเขียนทางเลือกได้ มันก็อาจจะเป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะทำให้ร้านหนังสือของคุณประสบความสำเร็จ

แต่ถ้าใจสู้เกินร้อยรับรองว่า...ยักษ์ก็ยักษ์เถอะ...เป๋ได้เหมือนกัน!!

Tags : Mr.QC • ธุรกิจบนกองกระดาษ • เปิดร้านหนังสือ


//www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/read-write/20090311/22683/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%B0.html




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2557   
Last Update : 27 กรกฎาคม 2557 15:33:47 น.   
Counter : 561 Pageviews.  

ร้านหนังสือ & ร้านกาแฟ : โจทย์ชีวิตคืออยากอยู่โคราช จึงมี'เฟื่องนคร'

โจทย์ชีวิตคืออยากอยู่โคราช จึงมี 'เฟื่องนคร' ให้ตกหลุมรัก : คอลัมน์คุยนอกกรอบ

                เราทุกคนล้วนมีความฝัน…แต่บ่อยครั้งที่ความฝันกับความจริงมักสวนทางกัน

               หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านการถ่ายภาพและภาพยนตร์ 'บุรุษ ไชยรัตน์ หนุ่มโคราช จึงไปทำงานเบื้องหลังวงการภาพยนตร์ ต่อมาเปลี่ยนมาสังกัดกองบรรณาธิการนิตยสารแวดวงการแพทย์ ทว่า เขาก็ยังรู้สึกไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตในเมืองหลวง

               ความที่ชื่นชอบฟุตบอล ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ หากนัดไหนมีเตะในจังหวัดหรือใกล้เคียง เขาจะตามไปเชียร์ทีมฟุตบอลโคราช ทำให้ได้พบกับเพื่อนใหม่ซึ่งคอเดียวกัน

               "เพื่อนที่เชียร์บอลโคราช เป็นครูที่โรงเรียน ทำงานราชการ เคเบิลท้องถิ่น คิดว่าถ้าอยู่บ้าน ก็มีความสุข โหยหา อยากกลับบ้าน จึงเปลี่ยนโจทย์ใหม่ ก่อนหน้านี้มาเรียนภาพยนตร์อยากทำหนัง"  

               "แต่ก่อนตีโจทย์ชีวิตว่าอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร มาก่อนว่าอยู่ที่ไหน ตอนหลังคิดว่าอยากอยู่ที่ไหนแล้วค่อยหางานทำ มาอยู่โคราชบ้านเกิดตัวเอง เป็นจังหวะที่ได้มาทำ ตกหลุมและลุ่มหลงไปกับมัน ตอนแรกจะสมัครเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในโคราช เสาร์อาทิตย์จะได้ดูบอล มีเพื่อน คิดว่าอยู่ที่นี่ก่อนและทำงานอะไรสักอย่างที่เลี้ยงตัวเองได้"


               จุดเปลี่ยนของชีวิตอยู่ที่เย็นวันหนึ่ง ขณะที่เขาและเพื่อนกำลังจะไปกินอาหารญี่ปุ่น ย่านทองหล่อ น้องสาวโทรศัพท์มาหาบอกว่า หม้อแปลงไฟที่บ้านหาย

               "เราเป็นห่วง ได้คิด เราเที่ยวกับเพื่อนเฮฮา แล้วแม่เรา น้องเราอยู่ที่โน่น บ้านก็ย้ายไม่ได้ ก็อยากมาดูแลใกล้ๆ อยู่กับเขา เป็นวันที่ฉุกคิด แม่เป็นข้าราชการเงินเดือนไม่มาก ผมมาอยู่กรุงเทพฯ ก็ใช้เงินฟุ่มเฟือย"

               เบื้องแรกเขาคิดว่าจะสมัครเป็นพนักงานในมหาวิทยาลัย แต่ในที่สุดมาทำร้านหนังสือในร้านกาแฟ โดยตั้งชื่อร้านว่า "คาโมเมะ" เพราะดูหนังเรื่องคาโมเมะ โชกุโด ซึ่งเป็นหนังญี่ปุ่น และซีกัล เรสเตอรองต์ แล้วชอบ ชอบตัวละครที่เป็นคนทำร้านว่าเป็นคนน่านับถือในการให้บริการลูกค้า


               ร้านแรกไปได้สวยทั้งยอดขายกาแฟและหนังสือ แต่มีปัญหาบางประการทำให้เขาต้องย้ายร้านใหม่ ร้านที่สอง-ตั้งอยู่ในย่านคอมมูนิตี้มอลล์ เป็นแหล่งวัฒนธรรม ชื่อ "ตลาด 100 ปีเมืองย่า" ตอนไปจองพื้นที่ทำร้าน คิดว่าจะบูมเหมือนตลาดสามชุกปรากฏว่าการณ์กลับตรงกันข้าม


               พอออกจากร้านที่สองแล้วขาดทุน บุรุษคิดว่าจะหยุดและไปสมัครทำงานอื่น ลูกค้าก็ให้เช่าที่ราคาไม่แพง บ้านสวย แต่ทำเลไม่เหมาะสำหรับร้านหนังสือ เพราะอยู่ในซอย เขาทำได้เจ็ดเดือน จึงย้ายมาตั้งในที่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นร้านที่สี่ และว่าเป็นครั้งแรกที่ลูกค้าไม่โทรมาถามทาง

               นับจากร้านที่สองเป็นต้นมา เขาตั้งชื่อร้านหนังสือว่า "เฟื่องนคร" ซึ่งเป็นชื่อที่อยากใช้ตั้งแต่แรก ครั้นปรึกษาแม่ แฟน เพื่อนสนิท ก็บอกว่าเหมือนก๊อบปี้ชื่อจากที่อื่น เพราะเฟื่องนครเป็นชื่อถนนในกรุงเทพฯ และชื่อฟังดูเชยๆ


               ทว่า เฟื่องนครในความหมายเขาคือ อยากให้โคราชกลับมาเฟื่องฟู เหมือนสมัยที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี


               "โคราชเป็นเมืองที่เคยบูม คึกคัก มีโรงหนัง โบว์ลิ่ง ไอซ์สเกต ร้านหนังสืออิสระก็เยอะ อยู่มาวันหนึ่งผมไปเรียนมหาวิทยาลัย ทำงาน นานๆ กลับมาบ้านที รู้สึกว่าเมืองเปลี่ยนไป สองทุ่มเงียบแล้ว โรงหนัง ร้านหนังสือก็ปิดไป ร้านดวงกมล-เหมือนโกดังหนังสือเรียน ไม่ค่อยมีที่ไป พออยากทำร้านกาแฟ คุยกับหลายคนว่าทำร้านกาแฟอย่างเดียว ไม่มีอะไรแตกต่างจากร้านอื่น เป็นคนชอบอ่านน่าจะลอง เป็นคนชอบอ่าน หาข้อมูล เริ่มศึกษา ไปร้านหนังสือเดินทาง ก็องดิด ร้านเล่า เลยคิดว่าบ้านเรายังไม่มี ไม่มีคนริเริ่มทำแบบนี้ มาทำดีกว่า เริ่มทำด้วยความไม่รู้" 


               "พอมองย้อนกลับไป เราทำร้านเร็วไป ทำร้านตอนอายุ 25 ปี เพิ่งทำงานสามปีประสบการณ์ยังน้อย ลาออกจากงานประจำเร็วไป เหตุที่ออกเพราะอยากหาอะไรทำที่บ้านมากกว่า ช่วงนั้นบอลไทยลีกกำลังบูม ทีมฟุตบอลไปเตะแข่งขันตามจังหวัดต่างๆ คิดว่าถ้าทุกจังหวัดมีคนมาทำแบบนี้เหมือนที่ฟุตบอลบูม คนไม่ต้องอยู่กรุงเทพฯ ก็ได้ อย่างเพื่อนๆ นักอ่านที่โคราช รอซื้อหนังสือจากงานสัปดาห์หนังสือที่กรุงเทพฯ หรือเสาร์อาทิตย์เข้ามากรุงเทพฯ เราได้กลุ่มนี้มาบ้าง แต่ไม่มาก"


               ส่วนลูกค้าประจำมี 50 คน แวะมาทุกสัปดาห์ ไม่เคยทิ้งเราไปไกล ห่างสุดสองเดือนครั้ง รอให้เราอัพเดทหนังสือ มีหลายคนไปร้านทั้งสี่แห่ง


               เปิดร้านมาสี่ปี ต้องย้ายร้านทุกปี ไม่คิดไปทำอย่างอื่น? บุรุษตอบว่า

               "ทำครั้งแรกด้วยความไม่รู้ คนกินกาแฟประมาณนี้เขาคงต้องอ่านหนังสือ เราต้องสร้างผู้อ่านหน้าใหม่ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ร้านอื่นอาจมีนักเขียนเป็นเจ้าของ แต่ผมเป็นใครก็ไม่รู้ เพื่อนที่เรียนมัธยม หรือประถมก็อยู่ กรุงเทพฯ กันหมด การกลับมาทำร้านหนังสือที่บ้าน ต้องต่อสู้กับบางอย่างเยอะมาก" 


สรุปคือทำด้วยความไม่รู้ ?

               "ครั้งแรกอาจดูว่ามีโอกาสมากกว่า เพราะไม่เคยมีใครทำ และเจอเพื่อนในกลุ่มที่ต้องการ ทุกวันนี้ยังมีคนอยู่ในเมือง ชอบอ่านหนังสือแนวนี้ แต่เขาเพิ่งรู้จักร้าน หลังจากมีการประชาสัมพันธ์งาน สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ เขาอาจเห็นข่าวจากสื่อท้องถิ่น ส่วนกลาง มีคนเพิ่งรู้จักร้านเรามากขึ้น"


               อย่างไรก็ดี เขาคิดว่าเรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา โดยเทียบเคียงจากประสบการณ์ของตนเองว่าเคยถามเพื่อนถึงร้านหนังสือเล็กๆ เช่น ถามเพื่อนที่อยู่เชียงใหม่ว่ารู้จักร้านเล่า หรือร้านบุ๊ก รีพับลิก ไหม เพื่อนตอบว่าไม่รู้จัก

               "ก็โอเค ร้านแบบนี้ไม่ใช่คนในรัศมีมาแบบร้านก๋วยเตี๋ยวใกล้บ้าน..อาจมีลูกค้าจากที่อื่นมาสองเดือนครั้ง"


               สำหรับร้านปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมถนน ทำเลค่อนข้างดี แต่ค่าเช่าก็แพงเช่นกัน

 เจ้าของร้านเฟื่องนครบอกว่า เดิมเขาตั้งใจว่าจะทำร้านหนังสือสักสี่ปี เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกิจกรรม


               "ถ้าทำร้านครบสี่ปี ต่อให้มันจะล้ม เจ็บ ดี หรือจะได้ทำต่อไป ก็พอใจแล้ว ผมเริ่มเปิดร้านครั้งแรก 1 กรกฎาคม 2552 นี่อีกเดือนเดียวจะครบสี่ปีแล้ว คิดว่าไปต่อได้ไหม ผมพยายามไม่สร้างกรอบให้ตัวเองมากไป ผมเคยเจอนักอ่านหลายท่านมาที่ร้าน ได้พูดคุยหลายๆ คน พบว่ามีอุดมคติในใจ โดยเฉพาะสายซีเรียส เช่น ผมเอานิยายโรมานซ์ อีโรติกวางจำหน่าย เขาจะรู้สึกว่าเฟื่องนครเปลี่ยนไป รับไม่ได้ ทำไมถึงมีหนังสือแบบนี้มาขาย...


                "ผมพยายามขายหนังสือให้หลากหลาย กาแฟ เบเกอรี่ ก็ให้หลากหลายเช่นกัน แต่สิ่งที่ทำเงินมากกว่าคือขายกาแฟ ผมไม่ซีเรียสตรงนี้ แต่อยากหลุดพ้นความเป็นร้านหนังสือขนาดเล็ก อยากให้เป็นขนาดกลาง (หัวเราะ) ไม่ได้อยากมีแฟรนไชส์หรือสาขา แต่อยากให้พื้นที่กว้างขึ้น มีพื้นที่วางหนังสือมากขึ้น มีหนังสือหลากหลายแนว ให้กว้างขวางครอบคลุม ให้คนมีโอกาสอ่านหนังสือไม่จำกัดแนวใดแนวหนึ่ง และอยากให้ร้านหนังสือเป็นพื้นที่ของครอบครัว เช่น ขณะที่พ่อซื้อวรรณกรรมคลาสสิก ลูกก็ดูหนังสือเตรียมความพร้อมภาษาไทยสำหรับ ป.4 อยากให้มีการเติบโตขึ้นไป ไม่ได้อยากให้ยิ่งใหญ่อะไร"


   ร้านหนังสือในร้านกาแฟ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ผ่านการพูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์แล้วพบว่า หากขายแต่หนังสืออย่างเดียว อยู่ไม่ได้แน่นอน !


บุรุษบอกว่าคราวที่ยังทำงานประจำและได้ไปสัมภาษณ์ คุณหมอนิล หรือ "มารุต เหล็กเพชร" เจ้าของนามปากกา "นฆ ปักษนาวิน"  ที่ร้านหนัง (สือ) 2521 ในจังหวัดภูเก็ต คุณหมอบอกว่าต้องเอาเครื่องดื่มและเบเกอรี่นำคนเข้าสู่หนังสือ สัดส่วนการขายของในร้านหนังสือถ้าเป็นต่างจังหวัด ต้องวางสินค้าอื่นๆ 70 เปอร์เซ็นต์ หนังสือ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขาเห็นว่าได้ผล


               แม้ว่ารายได้จากการทำร้านหนังสือจะไม่ดีนัก แต่ดูท่าเจ้าตัวก็มีความสุขใจไม่น้อย เพราะได้สร้าง 'นักอ่านหน้าใหม่' บางครั้งยังชี้ทางสว่างให้ โดยใช้หนังสือเป็นเพื่อน ดังที่เขาเล่าว่าลูกค้าคนหนึ่งเป็นหมอนวด ชีวิตค่อนข้างเศร้า ปกติอ่านแต่นิตยสารแนวบันเทิงดารา วันหนึ่งมาดื่มกาแฟในร้าน เขาจึงแนะนำให้อ่านวรรณกรรมแปลญี่ปุ่น หนังสือสารคดี และอื่นๆ ที่คิดว่าเหมาะกับเจ้าตัว


               "เขาไม่มีกรอบ ไม่เคยอ่าน เราประเมินและเลือกให้เขาไป ตอนหลังอ่านหนังสือเหล่านี้มากกว่านิตยสารดารา เขารู้สึกว่ามันดีขึ้น มีพลังชีวิตมากขึ้น เพื่อนอีกคนเป็นพนักงานบริษัท เบื่องาน ตกเย็นก็ไปสังสรรค์ตามประสาคนทำงาน เหนื่อยก็พักผ่อนสุดเหวี่ยง ใช้เงินซื้อของแพง วันหนึ่งเขามากินกาแฟที่ร้าน เขาก็ เออ มีหนังสือแบบนี้ในโลกด้วยหรือ


               "เคยมีเพื่อนๆ แซวๆ ว่าเหมือนเป็นเภสัชกร บางคนบอกอกหัก อยากลาออกจากงาน เราดูแล้วถามว่ามีงบเท่าไร 500 บาท เอานี่ไป 3 เล่ม อะไรอย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่สนุกดี รู้สึกดีกับการทำงาน"


               ผ่านร้อนผ่านหนาวมาปีที่สี่ เขาเริ่มปล่อยวางมากขึ้น เข้าใจว่าไม่สามารถเปลี่ยนทุกคนให้เป็นนักอ่านได้ จึงทำเท่าที่ทำได้

                "เมื่อก่อนแบกเยอะ ตอนอยู่ร้านคาโมเมะ ยังเด็กน้อยอยู่ มีหนังสือวางอยู่บนโต๊ะกาแฟ พอลูกค้าไม่อ่านก็รู้สึกอย่างโน้น อย่างนี้ พอเราเข้าใจอะไรมากขึ้น เออ ปล่อยมันไป หรือเวลาชงกาแฟตามสูตรกาแฟที่ดีต้องมีความขมความเปรี้ยวซ่อนอยู่ แต่สุดท้ายก็ทำอย่างที่ลูกค้าอยากกิน บางคนสั่งหวานมัน เราก็ทำตามนั้น" 


สำหรับเกณฑ์ในการคัดหนังสือเข้าร้าน บุรุษตอบว่าสายส่งคัดมาระดับหนึ่ง แต่ใช้การจัดวางของตัวเอง ดูความต้องการของคนอ่านว่าคืออะไร เล่มไหนใหม่เล่มไหนเก่า เนื่องจากการหมุนเวียนของหนังสือในร้านอิสระมีน้อยกว่าร้านใหญ่ ก็ใช้วิธีเล่มนี้โชว์สัน เล่มนี้โชว์ปก สลับกัน ลูกค้ามาเห็นบอกหนังสือมาใหม่หรือ?

               "ไม่ได้มาใหม่ครับ มาพร้อมกัน มันเป็นเทคนิคในการดิสเพลย์ หมวดเดียวที่ไม่รับคือไสยศาสตร์"


               เฟื่องนครเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อเขาตอบรับเป็นหนึ่งใน 15 ร้าน ที่เข้าร่วมงาน "สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ ครั้งที่ 1"  ที่เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็กรวมตัวกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 22-29 มิถุนายน 2556 โดยแต่ละร้านขายหนังสือตามปกติ ส่วนกลางจะมีโปรโมชั่นให้ รวมทั้งจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อคืนกำไรให้แก่ลูกค้า 


               บุรุษมองว่าการจัดงานเช่นนี้เป็นงานที่ดี เพราะขนาดยังไม่ถึงวันงาน ก็มีคนเข้าร้านเพิ่มขึ้นแล้ว จากเครือข่ายสังคมออนไลน์

               "วันก่อนมีมารายหนึ่ง ขับรถมาจากอำเภอโชคชัย อยู่ห่างจากร้าน 30 กิโลเมตร เขาเจอเครือข่าย แล้วพีอาร์ว่าโคราชมีร้านเฟื่องนคร คิดว่าเป็นช่องทางที่ดี ทำให้วงการหนังสือพัฒนา เหมือนฟุตบอลมีสโมสรใหญ่ๆ เช่น แมนยู ลิเวอร์พูล บาร์เซโลนา แต่ต้องมีสโมสรเล็กๆ คอยปั้นเยาวชนมาซัพพอร์ท...หนังสือเครือใหญ่ก็ช่วยส่งหนังสือมาขาย การรวมตัวของเครือข่าย ไม่ได้รบราฆ่าฟันกับใคร ไม่ได้แบ่งทุนนิยมรายใหญ่-เล็ก แต่ทำอย่างไรให้ทุกคนมีที่ยืนของตัวเอง"


               ดูรายละเอียดกิจกรรมงานสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ ครั้งที่ 1 และร้านหนังสือที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://th-th.facebook.com/ThaiIndependentBookNetwork

               ว่าแต่อาทิตย์นี้คุณแวะอุดหนุนร้านหนังสือ (เล็กๆ) บ้างหรือยัง ?


//www.komchadluek.net/detail/20130615/161029/%E0%B9%82%E0%B8%88%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%88%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3.html#.Ub8Cv-dShXF



"ไล-บรา-รี่" กรุ่นกลิ่นกาแฟใน "ห้องสมุด"

//www.smesplannet.com/%E0%B9%84%E0%B8%A5-%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2-%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88-library-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99.html




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2557   
Last Update : 27 กรกฎาคม 2557 15:22:59 น.   
Counter : 782 Pageviews.  

โรเจอร์ แฮมิลตัน Wink & Grow Rich

หนุ่มใหญ่ลูกครึ่งสก็อต-ฮ่องกง นาม "โรเจอร์ แฮมิลตัน" คนนี้ นอกจากจะเป็นคนรูปร่างหน้าตาดี คุยสนุกสนานแล้ว เขายังเป็นเศรษฐีเงินล้านตั้งแต่อายุยี่สิบปลายๆ วันนี้ชีวิตของเขาพรั่งพร้อมด้วยภรรยาและลูกสามคน โดยเลือกพำนักอยู่ที่สิงคโปร์ ประเทศที่เขามีธุรกิจหลากหลายอยู่ที่นั่นถึงเก้าธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ โรงแรม/รีสอร์ต ธุรกิจที่ดิน ฯลฯ แต่ธุรกิจที่เด่นคือ การทำนิตยสารเกี่ยวกับการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวและนิตยสารธุรกิจ นอกจากนี้เขายังเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่งคั่ง นักพูด และโค้ชที่บริษัทคอมเพทิทีฟเอดจ์ และมูลนิธิเอเชียส์ลีดดิ้งรีซัลทส์ 

เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในประเทศต่างๆ นับ 10 ประเทศ และยังมีธุรกิจจัดฝึกอบรม ซึ่งเขาต้องตระเวนไปพูดตามประเทศต่างๆ ในงานประชุมสัมมนาและเวิร์กช็อปนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อให้ผู้ฟังเหล่านั้นได้รับทราบถึงกุญแจที่จะนำไปสู่ความร่ำรวยในการทำธุรกิจ ซึ่งเขาย้ำอยู่เสมอว่า "จุดจบอยู่ที่จุดเริ่มต้น" (The end is in the begininning) 

วันก่อนเขามาเมืองไทยเพื่อมาพูดคุยให้คำปรึกษาแก่นักธุรกิจไทย พร้อมกับโปรโมตหนังสือ "คิดเป็นเห็นทางรวย" (Wink and Grow Rich) ภาคภาษาไทย แปลโดยกฤต พิทักษ์นราธรรม และสุพิชชา สัจจะมโนชัย จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ 

โรเจอร์จบปริญญาตรีที่วิทยาลัยทรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สาขาสถาปัตยกรรม แต่เขากลับไม่ได้เป็นสถาปนิกออกแบบอาคาร หรือตึกรามบ้านช่องอย่างคนอื่น ด้วยความที่เป็นคนมีวิสัยทัศน์และเห็นช่องทางรวย เขาจึงเลือกที่จะสร้างบริษัทและทำธุรกิจที่มีโอกาสรวยในระยะเวลาไม่นานนัก 

โรเจอร์บอกว่า การเรียนสถาปนิกมาทำให้เขาตระหนักว่า สถาปนิกใช้เวลาสร้างรากฐานหรือพื้นฐานพอๆ กับการสร้างตัวตึก แต่สำหรับนักธุรกิจในปัจจุบันเรียนรู้ที่จะสร้างธุรกิจก่อนที่จะสร้างรากฐาน 

เขาเล่าถึงเคล็ดลับของการเป็นเศรษฐีและมีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ว่า "ผมเคยถามวิศวกรและสถาปนิกว่าทำไมถึงมีเงินมีชื่อเสียงตอนอายุเยอะ คนเหล่านี้บอกกว่าจะสร้างตึกเสร็จ กว่าจะมีผลงานเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป อย่างน้อยแต่ละโครงการต้องใช้เวลา 8 ปี ฉะนั้น ควรจะหาอาชีพหรือธุรกิจใดๆ ก็ตาม ที่ใช้รอบเวลาในการทำผลงานสั้นๆ ด้วยเหตุนี้ผมจึงเลือกที่จะทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ เริ่มจากการทำหนังสือแนะนำการท่องเที่ยว ประเภทแผนที่ เมื่ออายุ 21ปี ซึ่งประสบผลสำเร็จทำกำไรเกินคาด จนมีนักธุรกิจรายอื่นต้องการเข้ามาซื้อกิจการ" 

ประสบการณ์อีกอย่างที่เขามักถ่ายทอดให้กับคู่สนทนาฟังอยู่เป็นประจำคือ ข้อคิดจากนักธุรกิจรุ่นพี่ที่รวยนับร้อยล้าน ซึ่งสอนเขาว่า "โรเจอร์คุณไม่มีทางรวย คุณจะรวยเมื่อคุณคิดหรือตระหนักว่าคุณโง่ ฉะนั้น คุณจะต้องไปหาคนเก่งเพื่อจะทำงานให้แก่คุณ ไม่ใช่เงินที่ทำเงินแต่เป็นคนที่ทำเงินและคนอื่นๆ ที่จะทำเงินให้คุณ แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณฉลาดคุณก็ต้องทำด้วยตัวเอง ขณะที่คุณคิดว่าคุณโง่คุณก็ให้คนอื่นทำให้" 

โรเจอร์เริ่มทำธุรกิจเมื่ออายุ 9 ปี แต่เขารู้จุดแข็งของตัวเองช่วงอายุ 25 ปี ซึ่งเด่นในเรื่องการเริ่มต้นสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ แต่ไม่ถนัดในเรื่องการสานต่อหรือการเข้าไปดำเนินงานเอง เขาจึงมองหาบุคคลที่มีความสามารถที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้น 

"คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าการทำธุรกิจสำคัญที่สุดคือเงิน ที่จริงไม่ใช่ เราควรเน้นเรื่องเวลา และใช้เวลาที่จะรู้จักกับคนเพราะคนทำเงิน เงินไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำเงิน นอกจากนี้ จะต้องรู้ด้วยว่าตัวเองเก่งหรือถนัดด้านไหน แล้วหาทีมหาโค้ชที่ดี หลักการสร้างเงินอาจฟังดูง่ายแต่การจะเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มันไม่ได้ง่ายเลย ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จต้องเลือกธุรกิจที่มีรอบระยะเวลาให้สั้นที่สุดแล้วจะทำเงินได้มาก" 

ในการลงทุนทำธุรกิจหลายอย่าง บางคนอาจจะมองว่าเสี่ยง แต่ในมุมมองของนักธุรกิจหนุ่มลูกครึ่งคนนี้ เห็นว่า เป็นการได้พัฒนาตัวเอง เขาเปรียบเทียบการทำธุรกิจของเขาเหมือนกับการออกกำลังกาย ตอนแรกที่ออกกำลังกายกล้ามเนื้ออาจจะล้าแต่นานไปๆ จะแข็งแรงขึ้น 

เขาชี้ให้เห็นว่า การทำธุรกิจนั้นวิสัยทัศน์(VISION) มีความสำคัญเป็นอันดับแรก และควรตั้งคำถามอย่างถูกต้องเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องนั่นเอง 

ตอนนี้โรเจอร์มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เขาบอกพอถึงจุดหนึ่งเขาจะไม่นับแล้วว่ามีมากเท่าไหร่ แต่คิดจะให้อะไรกับสังคมมากกว่า 

ในหนึ่งปีเขาจะมาประเทศไทย 4 ครั้ง เพื่อมาให้คำปรึกษากับนักธุรกิจไทย ซึ่งมีทั้งหมด 15 ราย คิดค่าใช้จ่ายเป็น 1,000 เหรียญต่อชั่วโมง โดยจะบินมา 3 เดือนต่อครั้ง และตอนนี้เขากำลังเทรนคนไทยเพื่อสร้างโค้ชแทนเขา 

ในฐานะที่คลุกคลีกับนักลงทุนไทยมานาน เขาให้คำแนะนำว่า "นักธุรกิจไทยต้องเปิดกว้างที่จะทำการค้าระหว่างชาติ การทำธุรกิจไม่ใช่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล นักธุรกิจทุกคนสามารถทำได้แต่ต้องเดินทางออกต่างประเทศบ่อยๆ เพื่อพบนักธุรกิจต่างชาตินั่นคือวิธีการดับเบิลการทำธุรกิจ 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจดีอยู่แล้ว ยังมีคนอีกมากมายที่ต้องการติดต่อธุรกิจกับคนไทย แต่สิ่งแรกที่ต้องทำคือหาพวกเขาให้เจอ ไม่จำเป็นต้องออกงานแฟร์อย่างเดียว เพราะมีเครือข่ายอยู่แล้ว แค่นำทั้งสองสิ่งมาต่อคั่วกัน" 

สำหรับการทำธุรกิจกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีนนั้น โรเจอร์บอก "คุณสามารถมองสถานการณ์แบบเป็นโอกาสหรืออันตรายก็ได้ คนบางคนมองจีนว่าจีนมีกำลังมากถือเป็นอันตราย บางคนมองจีนเมื่อประเทศไม่ค่อยดี เลยบอกว่าจีนอ่อนแอและอันตราย แต่ตอนนี้ธุรกิจจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อให้เกิดธุรกิจจำนวนมหาศาลถ้าคุณนำผลประโยชน์ตรงนั้นมาใช้ซึ่งมันเยอะมาก คุณจะประสบความสำเร็จ" 

เมื่อถามว่า ณ จุดนี้ เวลานี้ คิดว่าประสบความสำเร็จในชีวิตหรือยัง และวางแผนจะทำอะไรต่อ โรเจอร์พูดน่าคิดว่า "คนเราสามารถกินได้มากๆ จริงๆ แล้วสำหรับผมคิดว่าถึงเป้าหมายแล้ว แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายของการช่วยเหลือคนอื่น" 

หลังจบบทสนทนากับ "โรเจอร์" ทำให้ได้รู้ว่าผู้ชายคนนี้ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะวลีสำคัญๆ ของเขาที่ถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รู้ว่า "โอกาสมีอยู่ในทุกขณะ" หรือ "คุณไม่สามารถทำเงินได้ ถ้าคุณไม่เข้าใจมัน รวมทั้งประโยคที่ว่า "ความปรารถนาอย่างแรงกล้าคือเข็มทิศนำทางคุณ" 







 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2557   
Last Update : 25 กรกฎาคม 2557 18:15:26 น.   
Counter : 2343 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  

sriphat
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย
New Comments
[Add sriphat's blog to your web]