โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย

'ซื้อ-ขาย' ลิขสิทธิ์หนังสือแปล อย่าง 'มืออาชีพ'

ธุรกิจ "หนังสือแปล" ในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 หรือเมื่อพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ กำเนิดขึ้น..

หนังสือแนวตื่นเต้น เร้าใจ อย่าง "The Firm" หนังสือเอาใจผู้หญิงอย่างเช่น "The Scarlet Letter" หรือหนังสือเด็ก เช่น "Charlie and the Chocolate Factory" ได้รับความนิยมจากผู้อ่านในยุคนั้นอย่างสูง

ขณะที่ปัจจุบัน หนังสือแปลแบบฮาวทู การตลาด ไฟแนนซ์ สูตรสำเร็จเพื่ออยู่รอดหลังเศรษฐกิจล่ม ได้รับการ "ตอบรับ" ที่ดี

หรืองานแนวใหม่ "Chiclit" สร้างอารมณ์ขัน และค่านิยมให้แก่ผู้หญิงเช่น..Bridget Jones's Diary เป็นต้น

แต่จะทำ "ธุรกิจหนังสือแปล" ให้ประสบความสำเร็จ ออกมาดัง "เปรี้ยงปร้าง"

ต้องทำอย่าง "มืออาชีพ"

"พิมลพร ยุติศรี" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทัทเทิล-มอริ เอเจนซี กล่าวว่า การทำธุรกิจหนังสือแปล อย่างมืออาชีพ ก็คือ จะต้องยอมรับในกติกาสากลในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้รับการยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์

ขณะเดียวก็จะต้องผลิตหนังสือให้ได้มาตรฐาน ตั้งแต่การแปลต้องมีคุณภาพและมีมาตรฐานเทียบเท่าภาษาต้นแบบ การออกแบบปก รูปเล่ม ตัวอักษร รวมถึงการเลือกใช้กระดาษต้องดี และต้องดูแลตัวสะกดให้ถูกต้อง

ที่สำคัญก็คือ ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการวางแผนการตลาด ซึ่งสำนักพิมพ์ต้องวางแผนเพื่อให้หนังสือขายได้และเป็นที่นิยม

ขั้นต่อมา เมื่อพิมพ์หนังสือเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องส่งหนังสือตัวอย่างให้เจ้าของลิขสิทธิ์ อาจผ่านเอเยนซี หรือส่งเองโดยตรง เพื่อโปรโมทหนังสือในฉบับภาษาไทย บนชั้นหนังสือของเจ้าของลิขสิทธิ์

นอกจากนั้น จะต้องทำรายงานการขาย (Royalty Report) ทุกๆ 6 เดือนอย่างตรงไปตรงมา อาจทำกลางปีและสิ้นปี เพื่อให้ตรงเวลา

สุดท้าย ต้องตั้งใจผลิตงานเขียนของนักเขียนใดนักเขียนหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ผลิตเล่มเดียวหรือสองเล่มแล้วเลิก จะทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์เสียสิทธิในการขายให้รายอื่น

"ถ้าทำได้ดังที่กล่าวมาทั้งหมด จะเป็นมืออาชีพในการทำหนังสือแปล และทุกๆ คน (เจ้าของลิขสิทธิ์) ก็อยากจะทำงานด้วยกันต่อสำหรับหนังสือเล่มต่อๆ ไป"

การซื้อและขายลิขสิทธิ์กับนักเขียนต่างชาติ นอกจากจะต้องทำอย่างมืออาชีพแล้ว ผู้ดำเนินธุรกิจหนังสือแปล หรือสำนักพิมพ์ จะต้องรู้จัก กฎ กติกา และมารยาทในการติดต่อค้าขายระหว่างกันด้วย..

พิมลพร บอกว่า การติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ จะใช้วิธี ใครติดต่อก่อนมีสิทธิก่อน

ขณะที่การพิจารณาให้ลิขสิทธิ์ของหนังสือเล่มหนึ่งๆ จะอยู่ที่ 2 สัปดาห์ หรืออย่างช้าสุด 1 เดือน

"ถ้าหากมีลูกค้าลำดับที่สอง ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์หนังสือที่สำนักพิมพ์ที่หนึ่งให้ความสนใจอยู่ก่อน เขาจะพิจารณาจากระยะเวลาในการพิจารณาของสำนักพิมพ์แรก

หากไม่ติดต่อกลับมาจะถือว่าเป็นการปฏิเสธ แต่เขาจะแจ้งกับสำนักพิมพ์แรกก่อนว่ามีสำนักพิมพ์ที่สองให้ความสนใจและขอพิจารณาหนังสือเล่มเดียวกันด้วย

หากสำนักพิมพ์ที่สองตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ แต่สำนักพิมพ์แรกพิจารณาอยู่ ก็จะใช้ตัวเวลาตัดสิน โดยถ้าหากเลยเวลา 2 สัปดาห์ตามที่กำหนด เขาจะรับข้อเสนอของสำนักพิมพ์ที่สอง และแจ้งแก่เอเยนซีเจ้าของลิขสิทธิ์ต่อไป"

โดยทั่วไป สำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานนักเขียนคนใดคนหนึ่งอยู่ จะมีสิทธิในการพิจารณาหนังสือเล่มอื่นๆ ของนักเขียนคนนั้นก่อน แต่หากมีผู้อื่นสนใจ ก็จะแจ้งให้สำนักพิมพ์เจ้าหลักทราบ

หากเจ้าแรกปฏิเสธ สำนักพิมพ์รายอื่นถึงจะมีสิทธิ

เว้นแต่ว่า จะได้รับการยินยอมจากนักเขียน หรือเอเย่นต์เจ้าของลิขสิทธิ์

ส่วนเงินจ่ายล่วงหน้า (advance) และค่าลิขสิทธิ์ (royalty rate) ของนักเขียนในเล่มที่สองและต่อๆ มา ควรจะเท่ากับเล่มแรก หรือสูงกว่า แต่ไม่ควรต่ำกว่าเล่มแรก

"ถ้าจำเป็นจริงๆ เช่น เล่มแรกไม่สบความสำเร็จ ก็ต่อรองได้บ้าง แต่โดยมารยาทแล้ว ควรเท่าเดิมหรือมากกว่า ดังนั้น การเสนอขอซื้อลิขสิทธิ์หนังสือแปล เราควรจะมั่นใจในหนังสือเล่มนั้น และต้องทำให้เป็นมาตรฐานที่รับได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องขายหนังสือแพงเพราะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์แพงๆ เช่นกัน"

สำหรับขั้นตอนในการติดต่อขอลิขสิทธิ์นั้น พิมลพร กล่าวว่า อย่างแรกเลยต้องทราบชื่อหนังสือก่อน ชื่อผู้เขียน และเลข ISBN ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลหนังสือได้จากเวบไซต์ต่างๆ เช่น //www.amazon.com //www.publishweekly.com นิตยสาร เช่น publisher Weekly,Bookseller เป็นต้น หรือเอเยนซี เช่น Catalogue จากสำนักพิมพ์หรือเอเยนซีต่างประเทศส่งมาให้ หรือหนังสือตัวอย่างจากสำนักพิมพ์

นอกจากนั้น ยังค้นหาหนังสือได้จากการไปงานแฟร์ในต่างประเทศ หรือเวบไซต์งานแฟร์ในต่างประเทศ เช่น Bologna Children's Book Fair ,Tokyo Book Fair,Frankfurt Book Fair เป็นต้น

ขั้นตอนต่อมา ติดต่อขอตัวอย่างหนังสือเพื่อพิจารณา ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ในการรอหนังสือที่ส่งมาถึง ต่อมา ก็เสนอราคาเงินจ่ายล่วงหน้า และค่าลิขสิทธิ์

"จากนั้นถ้าอยากซื้อหนังสือเล่มนั้น ก็ต้องเสนอค่าลิขสิทธิ์ โดยปกติสูตรการคำนวณค่าลิขสิทธิ์จะใช้ราคาหน้าปกหนังสือ คูณด้วยค่าลิขสิทธิ์ (%) คูณ จำนวนพิมพ์ เช่น ราคาปก 300 บาท * 6% * 3,000 เล่ม =54,000บาท/1,350 เหรียญ (40 บาทต่อเหรียญ)"

หลังจากนั้น รอคำตอบจากเจ้าของลิขสิทธิ์ว่าเขาจะตอบรับหรือไม่ หากตอบตกลง ก็ถึงขั้นตอนการเซ็นสัญญา และจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ขั้นตอนต่อมา ก็ส่งงานให้ผู้แปล ส่งพิมพ์ และในทุก 6 เดือนสำนักพิมพ์จะต้องส่งรายงานการขาย (Royalty Report) ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์

"ปกติการคำนวณค่าลิขสิทธิ์ จะมี 2 แบบ คือแบบ Flat Rate ซึ่งจะอยู่ที่ 6% และแบบขั้นบันได เช่น 6% ที่ 1-3,000 เล่ม อัตรา 7% ถ้าพิมพ์ 3,001-1 หมื่นเล่ม และ 8% ถ้าพิมพ์มากกว่าหมื่นเล่ม เป็นต้น ขณะที่ค่าลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่จะมีอายุสัญญาประมาณ 5 ปี ซึ่งสามารถพิมพ์ซ้ำได้ และภายในระยะ 12-18 เดือนจะต้องดำเนินการจัดพิมพ์"

ส่วนจะทำธุรกิจหนังสือแปลอย่างไร ถึงจะ "อยู่รอด" ในยุคเศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้ นั้น พิมลพร ให้คำแนะนำว่า สิ่งสำคัญคือ จะต้องรู้จักตัวเองและสร้างคาแรคเตอร์ของสำนักพิมพ์ให้ชัดเจนกับสิ่งที่เราตั้งใจจะทำ

"อย่าหลงกระแส เช่น ไม่ชอบแนว Chiclit ก็อย่าทำ ให้ทำในสิ่งที่ถนัด เป็นตัวตนของเราที่ชัดเจน เช่น สำนักพิมพ์ผีเสื้อถนัดทำวรรณกรรมเด็ก หนังสือสวย กระดาษดี วันนี้ผีเสื้อจึงอยู่ได้ หรือกรณีสำนักพิมพ์โกมล คีมทอง ที่ทำแนวจิตใจ ศาสนา ก็อยู่ได้

อยากให้หาตัวเองให้เจอ และสร้างบุคลิกให้ชัดเจน อย่างปราบดา หยุ่น ทำปก มองดูก็จะรู้เลยว่า เป็นงานของเขา "

ประการต่อมา ต้องดูแลให้คุณภาพหนังสือได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นรูปเล่ม การคัดเลือกนักแปล ซึ่งบางคนอาจเก่งกันคนละด้าน ต้องเลือกใช้นักแปลให้ถูกคน ถูกงาน งานถึงจะออกมามีคุณภาพ

จากนั้น ศึกษารสนิยมผู้อ่าน โดยดูว่าคนไทยอ่านหนังสืออะไร ต้องการขายหนังสือให้ใคร คนกลุ่มไหน อายุเท่าไร เช่น วัยรุ่น คนทำงาน หรือนักธุรกิจ เป็นต้น

สุดท้าย ต้องทำการตลาดอย่างจริงจัง และต้องชัดเจนมาก

ถ้าทำได้ทั้งหมด พิมลพรบอกว่า สำนักพิมพ์ถึงจะอยู่รอด โดยไม่ต้องซื้อค่าลิขสิทธิ์หนังสือแพงๆ

-ที่มา : //www.bangkokbizweek.com / B School 27-10-2549


Create Date : 27 พฤศจิกายน 2549
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2549 17:58:40 น. 6 comments
Counter : 13428 Pageviews.  

 
ขอบคุณค่ะ


โดย: miki IP: 221.128.80.78 วันที่: 21 กรกฎาคม 2552 เวลา:18:04:34 น.  

 

ได้ความรู้มากๆเลยค่ะ


โดย: d__d (มัชชาร ) วันที่: 16 เมษายน 2555 เวลา:12:39:24 น.  

 
ถือเป็นวิทยาทาน ขออนุโมทนาบุญค่ะ -/\\-


โดย: reader IP: 171.4.115.75 วันที่: 12 กรกฎาคม 2556 เวลา:21:50:52 น.  

 
ขอบคุณมากครับ


โดย: SaiNoGO วันที่: 9 มกราคม 2557 เวลา:22:44:51 น.  

 
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ สำหรับความรู้ที่แสนมีค่านี้


โดย: Akaito IP: 27.130.54.135 วันที่: 4 ธันวาคม 2561 เวลา:6:55:11 น.  

 
ต้ิงการติดต่อทำไงค่ะ จะสอบถามเรื่องของลิขสิทธิ์ค่ะ


โดย: ทิพยา จุลหวี ฟอร์จูน IP: 49.230.99.33 วันที่: 12 มีนาคม 2563 เวลา:18:05:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sriphat
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย
New Comments
[Add sriphat's blog to your web]