โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย

เจาะลึกกลยุทธ์ "S&P"..ถอยเพื่อก้าว ผนึก "วิลเลี่ยม ไฮเน็คกี้" ลึกกว่า Synergy

การ Synergy ผนึกกำลังความร่วมมือทางธุรกิจ อาจไม่ใช่คำตอบเดียว ที่ทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเอสแอนด์พี "4 พี่น้องตระกูลไรวา" ตัดสินใจขายหุ้น "บิ๊กล็อต" มูลค่า 204 ล้านบาท ให้กับ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เติมเต็มอาณาจักรของ วิลเลี่ยม ไฮเน็คกี้

เอส แอนด์ พี มองว่าการแข่งขันระหว่างกันมันเป็นอดีตไปแล้ว แต่ความร่วมมือกัน หรือการ Merging น่าจะเป็นอนาคตมากกว่า


ภายหลังการพูดคุยระหว่างกลุ่มพี่น้อง ภัทรา ศิลาอ่อน พี่สาวคนโต กับน้องชายอีก 3 คน ร้อยโทวรากร ไรวา, ขจรเดช ไรวา และ ประเวศวุฒิ ไรวา จึงมีมติร่วมกันว่าพวกเขาต้องขายหุ้น S&P "บางส่วน" ให้กับ กลุ่มบริษัท บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ของ วิลเลี่ยม เอลล์วู๊ด ไฮเน็ค หรือ วิลเลี่ยม ไฮเน็คกี้ ผู้ก่อตั้งกลุ่มไมเนอร์

"การแข่งขันระหว่างกันมันเป็นอดีตไปแล้ว แต่ความร่วมมือกัน หรือการ Merging น่าจะเป็นอนาคตมากกว่า" ประเวศวุฒิ ไรวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เอส แอนด์ พี ซินดิเคท (S&P) น้องชายคนสุดท้องในจำนวน 4 พี่น้อง กล่าว

พร้อมทั้งเล่าเบื้องหลังว่า "การขายหุ้นไม่ได้ทำให้รวยขึ้น เป็นการมองอนาคตมากกว่า...เป็นช่วงที่เรา (กลุ่มพี่น้อง) คิดว่า น่าจะหาคนมาช่วย พูดตรงๆ ผมก็เกือบเป็นคนสุดท้ายในเจเนอเรชั่นนี้ ผมอายุมากแล้ว คนที่อายุน้อยกว่าผมก็มีภรรยาผม เกษสุดา (ไรวา) ซึ่งคิดว่าเขาก็เหนื่อยพอสมควร เป็นช่วงจังหวะที่คิดว่าน่าจะหาใครมาช่วยเราได้บ้าง "

การตัดสินใจขายหุ้น S&P ของ "4 พี่น้องตระกูลไรวา" จำนวน 4 ล้านหุ้นๆ ละ 29 บาท และใบสำคัญแสดงสิทธิแปลงสภาพ อีก 8 ล้านหน่วยๆ ละ 11 บาท รวมมูลค่า 204 ล้านบาท หรือ เท่ากับ 13.67% นับเป็นดีลที่น่าจับตามองไม่แพ้ ดีลการเทคโอเวอร์ "แมคโดนัลด์" ของ "เสี่ยเมเจอร์" วิชา พูลวรลักษณ์ เลยทีเดียว

การเปิดเกมของ "วิลเลี่ยม ไฮเน็คกี้" เขาต้องการผนึกกำลังทางธุรกิจกับ เอส แอนด์ พี เพื่อเป้าหมายที่มากกว่าการ Synergy กันธรรมดา

ขณะที่ การถอย 1 ก้าวของตระกูลไรวา ก็คือ การรุก 1 ก้าว ในช่องทางธุรกิจที่กว้างกว่าเดิมของ เอส แอนด์ พี

ในด้านของ "วิลเลี่ยม ไฮเน็คกี้" ก็กำลังคิดที่จะต่อยอดธุรกิจร้านอาหารของตัวงเอง ที่ "เดอะพิซซ่า คอมปะนี" "สเวนเซ่นส์" "ซิซซ์เล่อร์" "แดรี่ควีน" และ "เบอร์เกอร์คิง" ก็อยู่ในภาวะเดียวกันกับ เอส แอนด์ พี

ภายหลังการเข้าซื้อหุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิตามข้อตกลง จะทำให้ กลุ่มไมเนอร์ ถือหุ้น S&P จำนวน 8.67 ล้านหุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิ จำนวน 8.75 ล้านหน่วย รวมเป็น 19.85% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ณ ปัจจุบัน ของ เอส แอนด์ พี

ส่วนการตัดสินใจเปิดทางให้กลุ่มไมเนอร์ เข้ามาถือหุ้นเพิ่มจาก 6.18% เป็น 19.85% และหากไมเนอร์ มีการใช้สิทธิทั้งหมด จะทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจะมีสัดส่วน ถือหุ้น S&P เหลือเพียง 36.88%

"ส่วนโอกาสที่กลุ่มไมเนอร์จะเข้ามาถือหุ้นเพิ่มมากกว่านี้ เป็นเรื่องของอนาคต ถามว่าถ้าเขาเข้ามาถือเพิ่ม (ซื้อในตลาด) เราจะรู้สึกอะไรมั้ย ถ้าเป็นประโยชน์กับบริษัท มันก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร "

ประเวศวุฒิ ชั่งน้ำหนักให้เห็นว่าการทำธุรกิจทุกวันนี้ ต้องมองไปที่อนาคตของตัวธุรกิจ มากกว่าที่จะยึดติดกับความเป็นเจ้าของเหมือนเก่า แม้แต่ปัจจุบัน กลุ่มผู้บริหารยุคใหม่ของ เอส แอนด์ พี ก็ไม่ได้มีแต่คนในครอบครัวอีกแล้ว

"จริงๆ ตอนนี้คนในครอบครัวที่ทำงานด้านนี้ก็มีไม่กี่คน ส่วนมากจะนั่งเป็นกรรมการ"

ปัจจุบัน ประเวศวุฒิ อายุ 55 ปี ซึ่งตามข้อกำหนด ถึงวาระที่ต้องเกษียณ แต่คาดว่าตำแหน่ง "เอ็มดี" จะยังไม่มีการเปลี่ยนตัว เพราะนี่ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนสำหรับองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบ "ครอบครัว" มายาวนาน

และก็นับเป็นความฉลาด ของ วิลเลี่ยม ไฮเน็คกี้ เขาเลือกที่จะแทรกซึมอย่างช้าๆ เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งเดียวในวัฒนธรรมองค์กรของ เอส แอนด์ พี โดยไม่รีบเร่งเข้ายึดครอง เหมือนอย่างนักธุรกิจทั่วไป

ขณะเดียวกันในเจเนอเรชั่นเดียวกัน ต่อจากประเวศวุฒิ ก็มีเพียง เกษสุดา ไรวา ภรรยา ถัดจากนั้นก็เป็นเจเนอเรชั่นที่สอง อาทิเช่น วิทูร ศิลาอ่อน ลูกชายของภัทรา ศิลาอ่อน

"ตอนนี้ผมก็แก่แล้ว พี่ชายผมก็รีไทร์ มีคุณภัทรา (ศิลาอ่อน) ที่ยังเอ็นจอย ทำงานอยู่ รุ่นต่อไปก็มีที่เข้ามาช่วย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน ใครสนใจเราก็ให้ทำ"

อย่างไรก็ตาม ประเวศวุฒิ ยืนยันว่า การถือหุ้น S&P ของตระกูลคงไม่ลดน้อยลงไปกว่านี้ และในครอบครัว คงไม่มีใครที่ "แตกแถว" ขายหุ้นออกไป เพราะไม่มีใครเดือดร้อน เรื่องเงิน

เขาเล่าด้วยว่า วิลเลี่ยม ไฮเน็คกี้ กับครอบครัวของเรารู้จักกันมานานแล้ว วิลเลี่ยมเคยคุยเรื่องนี้กับพี่สาว..ภัทรา ศิลาอ่อน อยากจะขยายงานทางด้านโปรดักชั่น (ผลิตอาหาร) ซึ่งทางเขาเห็นว่าทางเอส แอนด์ พี ทำโปรดักชั่น ได้ดี

ก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ฝ่ายก็เคยจับมือกันก่อตั้ง บริษัท เอสแอนด์พี ไมเนอร์ ฟู้ด จำกัด (ปัจจุบัน คือ บริษัท เอส แอนด์ พี แอสเซท จำกัด) ร่วมกันพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างตึกให้เช่า เปิดเป็นร้านอาหาร และร้านค้าในซอยสุขุมวิท 26

"จริงๆ เราติดต่อกันมานานแล้ว ในหลายๆ ด้าน เอส แอนด์ พี ก็ช่วยผลิตอาหารให้กับไมเนอร์บ้างแล้วเหมือนกัน"

ผู้บริหาร เอส แอนด์ พี ยังบอกอีกว่า ที่ วิลเลี่ยม แสดงความจำนงอยากเข้ามา เขามองว่าการรวมกำลังกันน่าจะมีผลประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย

ก่อนจะไขความลับต่อว่า สิ่งหนึ่งที่เอส แอนด์ พี "มี" แล้วไมเนอร์ ไม่มี ก็คือ "ยี่ห้อ" ไมเนอร์มียี่ห้อเดียว คือ เดอะพิซซ่า คอมปะนี ส่วนอันอื่นเป็นไลเซ่น ผมคิดว่าเรามีจุดแข็งในเรื่องแบรนด์ เพราะเราทุ่มสร้างแบรนด์มาเยอะ

เอส แอนด์ พี และไมเนอร์ มีทั้งบางอย่างที่เหมือนกัน และบางอย่างที่แตกต่างกัน ประเวศวุฒิ อธิบายตรงนี้ว่า ทั้งความเหมือน และความต่าง เป็นจุดที่ทั้ง 2 ค่าย สามารถ Synergy เสริมความแข็งแกร่ง ซึ่งกันและกันได้

"ยกตัวอย่าง ไมเนอร์ มีคอลล์เซ็นเตอร์ เอส แอนด์ พี ก็มี หรือไมเนอร์มีเอาท์เล็ตเยอะเป็นร้อยแห่ง ก็เป็นช่องทางที่เราจะสามารถขยายช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของเอส แอนด์ พี ได้ ซึ่งเรามีโรงงานผลิตเบเกอรี่ที่นับว่าใหญ่พอสมควร

เราทำอาหารให้ไมเนอร์ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารอิตาเลียนเราก็ทำได้ เรามีโรงงานไส้กรอกเอง ในด้านการจัดซื้อจัดหา ถ้าเราสามารถร่วมมือกันได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการสร้างอำนาจต่อรองที่ดี หรือด้านจัดหาพื้นที่โลเคชัน การเปิดร้านอาหาร หรืออย่างเอส แอนด์ พี มีกาแฟบลูคัพ แต่ไมเนอร์ไม่มี ก็อาจจะมีโอกาสเข้าไปจัดจำหน่ายในช่องทางของไมเนอร์ ก็ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย "

แต่เป้าหมายใหญ่จริงๆ ของการ Synergy ครั้งนี้สำหรับเอส แอนด์ พี อยู่ที่การบุกขยายตลาดต่างประเทศ

ประเวศวุฒิ เผยความลับนี้ว่า เอส แอนด์ พี ต้องการเข้าไปในเครือข่ายของไมเนอร์ในต่างประเทศ เพื่อมาขยายธุรกิจร้านอาหารไทย โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง จีน อินเดีย ซึ่งมีโอกาสสำหรับอาหารไทยค่อนข้างสูง จากปัจจุบันที่ เอส แอนด์ พี เน้นอยู่แต่ในยุโรป และเอเชียรอบๆ บ้าน

ดังนั้นการขายหุ้นให้กลุ่มไมเนอร์ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนกับผลตอบแทนที่ "สมน้ำสมเนื้อ" ขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นตระกูลไรวา ก็สามารถ Cash Out หุ้นตัวเอง กำเงินสด 204 ล้านบาท โดยมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างไมเนอร์ เข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจ

นับเป็นการแลกเปลี่ยนแบบ..วิน-วิน ที่ชาญฉลาด ไม่มีใครเสียเหลี่ยมใคร!

ที่มา : //www.bangkokbizweek.com / ถนนนักลงทุน 03-11-2549




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2549   
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2549 16:37:06 น.   
Counter : 4667 Pageviews.  

"ดร.นิเวศน์" ทำนาย เทรนด์หุ้น 2550 เก็งหุ้น "โมเดิร์นเทรด-ฟาสต์ฟู้ด-โรงแรม"

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เปิดเผยกลวิธีการเล่นหุ้นปี 2550 บนเวทีสัมมนา "เซียนโซน" ซึ่งจัดขึ้นโดย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ร่วมกับ บล.บีฟิท และมหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยเตือนให้นักลงทุน "ต้องระวัง" การลงทุนในหุ้นกลุ่ม "ธนาคารพาณิชย์" เอาไว้บ้าง



เนื่องจากตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ธนาคารพาณิชย์จะเริ่มถูกเข้มงวดจากกฎเกณฑ์ใหม่ของแบงก์ชาติ โดยเฉพาะการกำหนดให้หนี้ค้างชำระตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ต้องถูกจัดไว้ในส่วนของเอ็นพีแอล ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องตั้งเงินสำรองเพิ่มขึ้น

ขณะที่ หุ้นใน "กลุ่มพลังงาน" หากเป็นไปได้...ควรหลีกเลี่ยง เพราะหุ้นในกลุ่มนี้จะเริ่มไม่ Growth

"เล่นหุ้นพลังงานตอนนี้ต้องหัวใจแข็งแรง โดยเฉพาะธุรกิจโรงกลั่น จะเหมือนรถที่วิ่งอยู่บนแกรนด์แคนยอน...ขึ้นแรง แต่ลงน่ากลัว

หุ้นในกลุ่ม "ที่อยู่อาศัย" ต้องถามตัวเองก่อนว่า ปีหน้ามันจะโตอีกหรือไม่...เพราะถึงโตก็โตช้า ไม่มีทางผิดแปลกไปจากนี้ ถ้า (กำไร) โตขึ้นไปได้สัก 4-5% ก็ดีมากแล้ว และหากกำไรโตได้เท่านี้...ราคาหุ้นคงไม่ไปไกลจากเดิม เนื่องจากสมัยนี้อัตราคนเกิดใหม่มันเริ่มที่จะลดลง ครอบครัวนิยมมีลูกแค่คนเดียว

และต้องยอมรับว่าตอนนี้ "เทรนด์หุ้น" กลุ่มที่อยู่อาศัยมันหมดความหวือหวา ขณะที่การแข่นขันก็ยังสูงมาก ไม่มีภาพของ "ผู้ชนะ" ที่ชัดเจน

เพราะการทำธุรกิจบ้านจัดสรร สิ่งสำคัญที่สุดคือ "ทำเล" ถ้าหากโครงการในทำเลนี้ขายหมดก็ต้องไปขึ้นอีกที่ทำเลใหม่ แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทั้งตลาดใครคือผู้ชนะ ต้องดูแต่ละทำเลไป

ส่วนหุ้นที่เน้นทำคอนโดมิเนียม แม้ธุรกิจจะโตขึ้นมามาก แต่ยังไม่มีผู้ชนะที่ชัดเจนเช่นกัน บางรายอาจจะพยายามทำภาพตัวเองไว้เด่นมาก แต่เราก็ไม่รู้แน่ว่า รายที่ 4-5 จะเด่นขึ้นมาเทียบชั้นเมื่อไรก็ได้

"เพราะฉะนั้น ถ้าจะเลือกลงทุนในยามนี้ต้องพยายามเลือกลงทุนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบเพียงเล็กน้อย คือไม่ว่าตลาดจะเป็นยังไงสินค้าของธุรกิจนั้นก็ยังต้องขายได้"

ดร.นิเวศน์ ยกตัวอย่างหุ้นที่น่าลงทุนว่า อย่าง "หุ้นบะหมี่" (ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ หรือ TF) ตอนนี้ผมมีอยู่ 20,000 หุ้น เคยซื้อไว้ตั้งแต่ราคา 30-40 บาท แต่ตอนนี้ราคามันขึ้นมาตั้ง 436 บาท เป็นหุ้นที่อดทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดีมาก

แต่หากเปรียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในยามนี้ "ผมยังยืนยันว่า ยังคงสนใจหุ้นโมเดิร์นเทรด มากที่สุด เพราะมันเป็นหุ้นค้าขาย...ที่มีเครือข่ายจำนวนมาก เป็นธุรกิจที่มีระบบจากศูนย์กลาง มีความทันสมัย ลูกค้าเข้าไปแล้วได้ของครบ

...ซึ่งลักษณะค้าขายแบบนี้ ผมว่ามันเป็นอะไรที่เป็นฟิวเจอร์ของโลก"

นอกจากนี้ หุ้นโมเดิร์นเทรดยังถือเป็นหุ้นที่มี "ความเสี่ยงต่ำ" แถมกำไรยังมีความมั่นคงมาก เพราะเป็นธุรกิจประเภทซื้อมาขายไป และการเติบโตของมันก็ค่อนข้างที่จะแน่นอน อาจจะมีการเปิดสาขาใหม่ปีละ 10- 20 สาขา

ลองมองธุรกิจประเภทนี้ให้เป็น จะเห็นเลยว่า ยากมากที่สาขาแต่ละแห่งจะต้องปิดตัวลง เพราะเปิดไปแล้วมีแต่อยู่...ไม่ค่อยมีเลิก โอกาสที่แต่ละสาขาจะประสบความสำเร็จมีสูงมาก ยิ่งบ้านเรามันเมืองร้อน ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ต้องไปเดินห้างสรรพสินค้ากัน เพื่อต้องการอยู่ภายในห้องแอร์

ปัจจุบันหุ้นในกลุ่มโมเดิร์นเทรด ที่ ดร.นิเวศน์ ถือหุ้นรายใหญ่ก็คงมี "โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์" (HMPRO)

"ส่วน "ซีพี เซเว่นฯ" (CP7-11) นี่ก็น่าสนใจ ตอนนี้เขามีสาขาทั่วประเทศ และเพิ่มขึ้นตลอดเวลา"

รวมถึงหุ้น "ซีเอ็ด ยูเคชั่น" (SE-ED) ...ตัวนี้ผมก็ลงทุน และมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มของ "โมเดิร์นเทรด" เช่นเดียวกัน เพราะเป็นหุ้นที่มีเครือข่ายสาขา คนอ่านหนังสือก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น และมันเป็นธุรกิจที่เก็บแคช (เงินสด) มีเงินไหลเข้ามาตลอดเวลา ก็เหมือนกับ CP 7-11 ...แม้ตอนนี้ตัวธุรกิจจะมีปัญหากับค่ายไทยรัฐ แต่ผมก็ถือเป็นแนเชอรัลเป็นเรื่องปกติของธุรกิจซึ่งกำลังเติบโต

เพราะเมื่อใดที่ธุรกิจของคุณใหญ่หรือเก่งขึ้นเท่าไร โอกาสพบกับปัญหามันก็ย่อมเข้ามาหามากขึ้นเป็นธรรมดา

โดยที่ ดร.นิเวศน์ ยังคงเชื่อว่าศึกระหว่าง "ซีเอ็ด" กับ "ไทยรัฐ" น่าจะได้ทางออกหรือข้อยุติในที่สุด ...และถึงยังไงเทรนด์ของธุรกิจก็จะคงอยู่ ไม่ใช่ว่ากิจการจะเจ๊งไป

"หุ้นโมเดิร์นเทรดซื้อไปเราไม่ต้องกังวลเลย เพราะเรารู้ว่ากิจการของเขามันดีตลอด ยอดขายมีแต่เพิ่มไม่มีลง เราต้องคิดว่าเราลงทุนระยะยาว คือไม่ต่ำกว่า 5 ปี เราซื้อแล้วทิ้งไว้เลยโดยที่ไม่ต้องทำอะไร"

หุ้นในกลุ่ม "โรงแรม" ก็ถือว่าอยู่ในมุมมองที่น่าลงทุน แต่ต้องเน้นลงทุนในหุ้นโรงแรมที่มี "เชน" ซึ่งหุ้นในกลุ่มนี้จะมีปันผลสม่ำเสมอ และการเติบโตของกำไรค่อนข้างต่อเนื่อง ...ไม่ค่อยสนใจกับดัชนีตลาดสักเท่าไร

นอกจากนี้ ดร.นิเวศน์ ยังแนะนำให้ลงทุนใน "หุ้นอาหาร" อีกเช่นกัน

หุ้นที่ผมชอบก็ต้องหุ้น "ฟาสต์ฟู้ด" เพราะผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก แค่ถามว่าคุณจะเลือกกินอะไรระหว่างไก่ทอดเคเอฟซี กับไก่ย่างจีรพันธ์ ...เพราะเดี๋ยวนี้ราคากินในห้างกับกินข้างทางมันแทบไม่ต่างกันเลย เย็นกว่า สบายกว่า อร่อยกว่า

"ฟาสต์ฟู้ดมันเป็นเทรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น และคนรุ่นใหม่ๆ ก็จะต้องบริโภคมากขึ้นทุกๆ ปี เพราะคนรุ่นใหม่มันมีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ แล้วคนก็มีรายได้มากขึ้น"

นักลงทุนบางกลุ่มที่กำลังมองว่า "หุ้นโรงพยาบาล" กำลังดี แต่ขอเตือนก่อนว่า "บังเอิญคุณอาจจะรู้ช้าไปนิด"

โดยเฉพาะบางตัวที่ราคาค่อนข้างจะหวือหวา แต่ตอนนี้ราคา (แพง) ไปมากแล้ว และเป็นหุ้นที่ผม "ไม่แนะนำ"

เพราะธุรกิจโรงพยาบาลมันเป็นสิ่งที่การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เพราะเป็นเรื่องของสุขภาพประชาชน รัฐบาลสามารถเข้าไปแทรกแซงได้ โดยเฉพาะในเรื่องของค่ายา

สรุปคือ การเลือกหุ้นที่ดีนั้นเราต้องดูว่า "หนึ่ง" ธุรกิจมันเติบโตหรือไม่ "สอง" เป็นผู้ชนะหรือไม่ และ "สาม" ราคาหุ้นเป็นอย่างไร ...ซึ่งถ้าราคาหุ้นยังถูกด้วย ตัวนี้สุดยอดเลย

หุ้นตัวที่ว่าเราจะดูผิดหรือดูถูก...สำหรับผมคือ ตัวนี้เมื่อเราดูมานาน สตอรี่ของมันคือเรื่องอะไร จนเมื่อเวลาผ่านไปสัก 1-2 ปี เราต้องรู้สึกแล้วว่าที่เราคิดไว้...มันผิดหรือถูก ถ้าผิดปุ๊บเราต้องขายทิ้ง

"พอร์ตหุ้นของผมต้องไม่มีหุ้นที่ขาดทุน เพราะถ้าตัวไหนที่ขาดทุน...ผมจะขายทิ้งทันที เพื่อไปหาตัวอื่นที่ดีกว่า"

หรือหากถ้าซื้อมาแล้ว ราคาหุ้นกลับขึ้นมา ทำให้เรามีกำไรเป็นเท่าตัว เราก็ต้องไม่ขาย แต่ยิ่งต้องซื้อเพิ่มอีก...เพราะว่าเราเลือกถูกตัวแล้ว ยกตัวอย่างหุ้น "ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า" (STANLY) แม้ตอนนี้ผมจะขายไปจนเกือบหมดแล้ว แต่ตอนที่ผมเข้ามาซื้อ ราคามัน 5-6 บาท พอขึ้นไปถึง 30-40 บาท ผมก็ยังซื้อเพิ่มต่อไป

เพราะถ้าเรารู้ว่าเราซื้อหุ้นถูกตัว แค่ตัวเดียวก็ทำให้เรารวยได้แล้ว แต่ตัวเดียวก็น้อยเกินไป ควรกระจายออกไป เอาอีกสัก 2-3 ตัวก็ได้

ดร.นิเวศน์ ยังฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า "การลงทุนในหุ้น...ถ้าเป็นไปในลักษณะว่ามันเหนื่อย แล้วก็น่าเบื่อ จะได้ตังค์...แต่ถ้าเหนื่อยด้วย แล้วสนุกด้วย เสียตังค์...ก็ต้องเลือกเอาว่า เราจะลงทุนแบบไหน"

ที่มา : //www.bangkokbizweek.com / ถนนนักลงทุน 10-11-2549




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2549   
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2549 16:03:22 น.   
Counter : 806 Pageviews.  

Transumerism : เทรนด์ล่าแห่งลูกค้าอนาคต

จับเข่าชนคนกลยุทธ์ : ผศ.ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค

สังคมที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่คนในสังคมเช่นกันครับ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสนใจ เนื่องจากประชาชนในสังคมก็คือลูกค้านั่นเอง


ดังนั้นการจับกระแสสังคมได้ทันท่วงที จึงทำให้เราเข้าใจแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างถ่องแท้ ทันเหตุการณ์มากขึ้น

กระแสล่ามาแรงในช่วงนี้ หนีไม่พ้นไลฟ์สไตล์ล่าสุดของคนยุคปัจจุบัน ที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติไปอย่างมากด้วย นั่นคือ กระแส “Transumerism” หรือ คือกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของลูกค้า

โดย Transumerism นี้ จะหมายความถึง ทัศนคติและความต้องการของลูกค้าที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง เพราะถูกผลักดันด้วยปัจจัยต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ๆ การค้นพบใหม่ๆ ที่อยู่รอบตัว

บางครั้งอาจไม่ได้เกิดจากสิ่งเร้าภายนอกด้วยซ้ำ แต่เกิดจากความต้องการต่อสู้กับความเบื่อหน่ายของตนเอง

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ลูกค้าเริ่มมีความพอใจที่ไม่ยั่งยืน รักชอบอะไรประเดี๋ยวก็เปลี่ยนใจไปเสียแล้ว วงจรอายุผลิตภัณฑ์ก็จะสั้นลงไปเรื่อยๆ ด้วย อนาคตจึงเปี่ยมไปด้วยความไม่แน่นอน และกระแสนี้นำไปสู่ประเด็นหลักๆ ของพฤติกรรมในการจับจ่ายบริโภคของลูกค้า ดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก Transumerism นำไปสู่ความความพอใจและอิสระในการบริโภค

จากความต้องการที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ลูกค้ามีความต้องการหลากหลาย และอยากบริโภคหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาใกล้เคียงกัน กอปรกับทางเลือกมากมาย และเบื่อหน่ายง่าย ทำให้เกิดแนวคิดของ Leasing Lifestyles ขึ้นมาครับ

ไลฟ์สไตล์นี้ จะทำให้ลูกค้ามีพฤติกรรมการจับจ่ายในลักษณะ “เช่า” มากขึ้น แทนที่จะซื้อสินค้าทุกอย่างมาอยู่ในครอบครองของตนอย่างถาวร ซึ่งอาจเป็นเจ้าของสินค้านั้นแค่บางส่วน (ในลักษณะ sharing) หรือแม้แต่ไม่มีความเป็นเจ้าของเลยก็ได้

ไลฟ์สไตล์นี้ ให้ประโยชน์กับลูกค้าหลายประการ อาทิเช่น ลดความยุ่งยากวุ่นวายในการดูแลรักษา หากว่าตนต้องเป็นเจ้าของสินค้านั้นๆ รวมถึงไม่ต้องกังวลว่าสินค้าดังกล่าวจะล้าสมัย ตกยุค ไม่มีใครใช้หรือแม้แต่เสียหาย สูญหายต่างๆ

รวมถึง ยังสอดคล้องกับแนวคิดความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า ที่ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจ ไม่ต้องอยู่กับสินค้าชิ้นใดชิ้นหนึ่งนานๆ จนเกินไป ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุดกับการเกาะติดและล้ำกระแสอยู่เสมอ

การบริโภคในลักษณะนี้ ยังนำไปสู่ ภาพลักษณ์และสถานะทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าหลายๆ กลุ่มคำนึงถึงอย่างมากอีกด้วย

ดังนั้น จึงเปิดโอกาสให้กับธุรกิจหลายประเภทที่นำแนวคิดนี้ไปดำเนินการ เช่น ร้าน //www.bagborroworsteal.com ซึ่งเป็นธุรกิจให้เช่ากระเป๋าถือแบรนด์ดังออนไลน์ที่โด่งดังมาก

ลูกค้าเพียงแต่จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนก็จะสามารถยืมหรือเช่ากระเป๋าราคาแพง ไปใช้ได้ตามความพอใจ

ไม่เพียงแต่สินค้าแฟชั่นพวกประเป๋าถือเท่านั้น สินค้าหรูหราอย่างเครื่องประดับราคาสูง ก็นำโมเดลธุรกิจนี้ไปใช้จนเติบใหญ่เช่นกัน อาทิเช่น //www.rkjewelleryhire.com ซึ่งให้เช่าเครื่องประดับสำหรับสวมใส่ออกงานหรือ ให้บริการยืมเสื้อผ้าหรูหรา อย่างร้าน One Night Stand ของอังกฤษ ก็กำลังเฟื่องฟูมากทีเดียว

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงสินค้าอย่าง รถนต์หรูหรา เครื่องบิน เรือยอชท์ อพาร์ตเมนต์ และบ้านพักตากอากาศ ซึ่งได้นำโมเดลธุรกิจแบบ ไทม์แชริ่ง (Time Sharing) เข้ามาใช้ด้วยเช่นกัน

ธุรกิจลักษณะนี้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล แต่สามารถจะเป็นเจ้าของบางส่วนและนำไปใช้งานได้ในเวลาที่ต้องการเท่านั้น รวมถึงยังอาจได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นมีราคาตลาดสูงขึ้นอีกด้วยครับ

เพื่อที่จะสื่อภาพให้ชัดเจนขึ้น ลองดูตัวอย่างของ Limited Edition Club ซึ่งเป็นคลับหรูหราไฮโซ ของทางออสเตรเลีย ที่อนุญาตให้สมาชิก สามารถร่วมเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรูหราหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ราคาแพง เรือยอชท์ บ้านพักผ่อนตามสถานที่ดังๆ ของโลก

คลับนี้ มีสโลแกนว่า สมาชิกของเรา จะไม่ต้องเผชิญกับความกังวลและความยุ่งยากใจ เกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์สินราคาแพง การทำประกัน หรือ แม้แต่การเสื่อมมูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าว เพราะประเด็นปัญหาทั้งหมด จะถูกรับผิดชอบโดยมืออาชีพของทางคลับทั้งหมด ซึ่งท่านสามารถเข้าดูรายละเอียดของธุรกิจดังกล่าวได้ที่ //www.limitededition.com.au/ ครับ

Leasing Lifestyles ยังนำไปสู่ธุรกิจในอนาคตที่เกี่ยวเนื่องอีกด้วย นั่นคือ เข้าสู่ยุคแห่ง การประมูล (Auction Culture) เนื่องจากในโมเดลธุรกิจของการเช่าสินค้านั้น ทำให้เกิดสินค้ามือสองขึ้นมากมายที่ยังอยู่ในสภาพดีที่พร้อมใช้งาน

สินค้าเหล่านี้สามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ ซึ่งทำให้ธุรกิจในลักษณะของตัวกลางการแลกเปลี่ยน เช่น อีเบย์ดอทคอม หรือ เวบไซต์ทางด้านการประมูลต่างๆ ยิ่งจะบูมมากขึ้น และจะมีการเข้ามาช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจอีกมาก

ดังนั้น ลักษณะกิจการแบบ “เปิดท้ายขายของ” หรือ ร้านค้าสินค้ามือสองทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบบดั้งเดิมหรือออนไลน์ก็ตาม น่าจะเฟื่องฟูตามแนวโน้มนี้ด้วย

เมื่อลูกค้าเริ่มเบื่อ ก็จะมีตัวกลางมารับซื้อและขายต่อไปยังลูกค้าคนอื่นๆ ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งเช่นกัน จากสินค้าที่ครั้งหนึ่งนอนนิ่งอยู่และแทบไม่มีคุณค่าในการใช้งานแล้ว

หลักการนี้ก็สอดคล้องกับแนวคิดของ Future Shop ที่กำลังกล่าวถึงกันมากในปัจจุบันครับ

แนวคิด Future Shop บอกไว้ว่า โลกการค้าในอนาคต จะได้รับอิทธิพลมากขึ้นจากการเติบโตของสินค้าเช่าต่างๆ และสินค้ามือสองต่างๆ

ถ้าการขายสินค้าเดิมที่ตนครอบครองอยู่ มีมูลค่าสูงกว่าการครอบครองอยู่ต่อไป จะก่อให้เกิดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจสูงขึ้น และน่าจะได้รับความนิยมคล้ายๆ กับตลาดรองของผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ทีเดียว

กระแส Transumerism ยังไม่หมดครับ ยังมีแนวคิดที่น่าสนใจอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การนำสู่ความตื่นเต้น นำสู่ความเป็นปัจเจกของตน และนำสู่แนวคิดต่อสังคม ซึ่งต้องติดตามกันต่อคราวหน้าครับ

ที่มา : //www.bangkokbiznew.com / B School 10-11-2549




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2549   
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2549 15:57:13 น.   
Counter : 847 Pageviews.  

เงินทองต้อง "สมดุล" ตำรับ.. "วีระ ธีระภัทร"

นิยามการจัดการทรัพย์สมบัติให้เป็นสุข ตำรับ.. "วีระ ธีระภัทร" นักจัดรายการวิทยุเงินๆ ทองๆ ชื่อดังและฝีปากกล้า บอกว่า ตัวเขาจะมองทรัพย์สมบัติเป็นเพียง "เครื่องมือ" ในการจัดการให้ชีวิตมี "ความสุข"
ไม่ใช่ "เป้าหมาย" เพียงเพื่อสร้างความร่ำรวยล้นฟ้าเท่านั้น...



วีระ บอกว่า ความสุขของเขาต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่าง..อย่างแรก..ต้องมีทรัพย์สมบัติ สอง..ต้องมีอำนาจเป็นที่ยอมรับและใช้อำนาจมาเป็นเครื่องมือ สาม..ต้องมีปัญญา เพราะถ้ามีปัญญาทรัพย์สมบัติและอำนาจก็จะตามมา และสุดท้าย สี่.. ต้องมีสุขภาพที่ดี ถ้าไม่มีสุขภาพกายและใจที่ดี ทุกอย่างที่กล่าวมาก็จะไม่เกิดประโยชน์

องค์ประกอบทั้งหมดนี้ จะต้องจัดการให้เกิดความ "สมดุล"...

"ถ้าตอนนี้ยังมีทรัพย์สมบัติน้อยอยู่ ก็ควรไป "หาเพิ่ม" เฉกเช่นเดียวกันกับ "สุขภาพ" ..หากยังไม่ดีก็ต้องเริ่มออกกำลังกายเสียแต่วันนี้ ซึ่งก็เหมือนกับการฝากออมทรัพย์ ที่เป็นเรื่องการสะสมระยะยาว อย่างตัวผมไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนในชีวิตเพราะไม่มีเวลา แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้วต้องสนใจออกกำลังกาย ..วิ่ง ว่ายน้ำ สลับกันอย่างสม่ำเสมอ พอออกกำลังกาย เวลากลับมีเยอะ ใจเราก็สงบ ทำให้คิดเรื่องอะไรออกมาได้มาก เพราะหัวจะโล่ง"

นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง บอกว่า มนุษย์เรานั้นจะมีความสุข (จากการทำมาหากิน) ได้ ต้องมาจากองค์ประกอบ 4 อย่าง ได้แก่ หนึ่ง..ความสุขจากการหาทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนก็ต้องมีความสุขจากการหาเงินด้วย สอง..สุขจากการใช้ทรัพย์ สาม..สุขจากการรักษาทรัพย์หรือบริหารจัดการทรัพย์ และสี่..การไม่มีหนี้สิน จะมีความสุขอย่างมาก

ส่วนการใช้ทรัพย์ "ไม่ให้" มีปัญหานั้น วีระ ใช้หลักว่า ทรัพย์ที่มีต้องรู้จักจัดการ เพราะคนเรานับวันจะยิ่งมีอายุที่ยาวขึ้น ปัจจุบันเฉลี่ยอายุของหญิงไทยจะอายุที่ 76 ปี และผู้ชาย อายุเฉลี่ย 70 ปี

"ถ้าเอาตัวตั้งที่เกษียณอายุ 60 ปี และมีชีวิตอยู่ถึง 80 ปีถึงจะตาย (เท่ากับพระพุทธเจ้า) ก็เท่ากับจะมีเวลาใช้ชีวิตวัยชราอีก 20 ปี ใครมีการจัดการบริหารทรัพย์สินได้อย่างถูกต้อง เมื่ออายุ 60 ปี ควรต้องมีเงิน 7 ล้านบาท เพื่อไว้ใช้จ่ายปีละ 2 แสนบาท หรือตกเดือนละ 2 หมื่นบาท จึงจะอยู่ได้พอดิบพอดีกับเวลา(มีชีวิต)ที่เหลือ

ฉะนั้น หากตอนนี้อายุยังน้อยก็จะมีเวลาการจัดการหาเงินได้มาก แต่ถ้าอายุมากและยังไม่เริ่มก็ต้องรีบทำเดี๋ยวนี้ หรือถ้าไม่ออกกำลังกายก็ต้องรีบทำ เพื่อเป็นการสะสม ซึ่งมันจะกลับคืนให้เราตอนแก่ เพราะโดยปกติคนเรานั้นเมื่ออายุมากขึ้นจะกลัวอยู่ 2 อย่างคือเรื่องอด กับเรื่องเจ็บป่วยเท่านั้น

เมื่อมีเป้าหมายที่เงินเก็บ 7 ล้านบาท ทีนี้ระหว่างทางที่ "หาทรัพย์" ก็ควรจะจัดสรรให้เป็นด้วย..

วีระ บอกว่า หลักการจัดสรรทรัพย์สินของเขาจะแบ่งที่มาของรายได้มาจาก 4 ทาง คือ หนึ่ง..ค่าจ้าง สอง..ดอกเบี้ยหรือเงินปันผล สาม..ค่าเช่า และสี่..กำไรจากการลงทุน

"ถ้าเราจัดรายได้ให้สมดุลด้วยรายได้มาจาก 4 ทางจะดีมาก ยิ่งอายุมากๆ ควรจะมีรายได้มาจากค่าเช่าในสัดส่วนที่สูง จะมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตมาก"

ส่วนแนวทางการบริหารเงินของ "วีระ" เขาแนะนำให้นำเงินที่หามาได้แบ่งออกเป็น 3 กอง ..

กองที่ 1..25% ของรายได้ หรือ จำนวน 1 ใน 4 ของเงินทั้งหมด ให้กันเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อตัวเองหรือพ่อ แม่ ครอบครัว เช่น หาได้ 1แสน ก็เอาออกมาใช้จ่ายเสีย 2.5 หมื่นบาท เป็นต้น

กองที่ 2.. 50% ของรายได้ ถ้าหากทำธุรกิจส่วนตัว ก็ให้นำเงินก้อนนี้ไปลงทุนต่อ แต่หากเป็นลูกจ้างก็ต้องสะสมเก็บไว้ให้ครบ 7 ล้านบาทเมื่อถึงวัยเกษียณ

กองที่ 3..25% ของรายได้ ให้เก็บเป็นเงินเก็บระยะยาว (Long Term) เพื่อไว้ใช้ตอนแก่ สำหรับเกิดเหตุ "ฉุกเฉิน" เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

"ถ้าเราจัดการทรัพย์ได้แบบนี้ ชีวิตก็จะมีสมดุลและมีความสุข เพราะเราใช้ทรัพย์เป็น "เครื่องมือ" เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย"

เขากล่าวว่า หากเราจัดการทรัพย์ให้เกิดประโยชน์และมีคุณค่า จะทำให้ทรัพย์นั้นเป็น "ทรัพย์อันประเสริฐ" หรือ "อริยะทรัพย์" 7 ประการ คือ ต้องมีศรัทธาในชีวิต มีศีลธรรม ละอายต่อบาป เกรงกลัวบาป มีความรู้ รู้จักเสียสละ และมีปัญญา ในที่สุด

"เมื่อเราจัดสมดุลระหว่าง "ความสุขและทรัพย์" ได้แล้ว ชีวิตก็จะมีความสุขแท้จริง"

ที่มา : //www.bangkokbizweek.com / ถนนนักลงทุน 6-10-2549




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2549   
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2549 14:48:58 น.   
Counter : 1711 Pageviews.  

โจ มณฑานี ผ่านทุกข์จนพบสุข (ตัวอย่างการจัดสรรเงินในชีวิตประจำวัน)

"โจ..มณฑานี ตันติสุข" กับชีวิตใหม่ ผ่าน "ทุกข์" จนพบ "สุข"ทางการเงิน

จากกรุงเทพธุรกิจ BIZ WEEK

"โจ..มณฑานี ตันติสุข" กับชีวิตใหม่ ผ่าน "ทุกข์" จนพบ "สุข" ทางการเงิน
จากคนที่เคยล้มเหลวในชีวิตการเงินอย่าง "รุนแรง"
จนถึงขั้นขึ้นศาลเพราะถูกฟ้องร้องและเกือบล้มละลายจากหนี้สินล้นพ้นตัว
แต่วันนี้ชีวิตใหม่ของ.."โจ" มณฑานี ตันติสุข ดีเจรายการวิทยุ
พิธีกรรายการ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียนเรื่องสั้นแนวไซไฟ
ล่าสุดเป็นผู้เขียนหนังสือ "เงิน..เรื่องใหญ่ที่โรงเรียนไม่เคยสอน" ..
กำลังแปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
สู่อนาคตอันสดใส และมั่งคั่งยั่งยืนทางการเงิน
เธอเล่าว่า จุดเริ่มต้นของปัญหาทางการเงินของตัวเอง
ปะทุขึ้นหลังจากเจอวิกฤติเศรษฐกิจค่าเงินบาทลอยตัว
ผลจากการตั้งบริษัทจัดคอนเสิร์ตครบวงจร
ซึ่งได้นำนักร้องเกาหลีเข้ามาแสดงคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรก
แต่กลับกลายเป็นว่าเกิดหนี้สินรุงรังตามมา จนไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน
และไม่มีเงินผ่อนบ้าน บัตรเครดิต จิปาถะ..
"ตอนนั้นมีภาระหนักต้องส่งค่าผ่อนบ้าน 4 หมื่นบาทต่อเดือน
แถมเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกเกือบแสน"
แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตของโจเปลี่ยนแปลง และหันมาสนใจ "แก้ปัญหา"
การเงินอย่างเป็นจริงเป็นจัง ครั้งแรกเมื่อเกิดไฟไหม้บ้านจนหมดตัว
และอีกครั้งเมื่ออยู่ในเหตุการณ์ซึนามิ เฉียดตาย !!
"ตอนนั้นไฟไหม้หมดตัว แต่ค้นพบว่าเหลือเพียงรองเท้า 200 คู่ที่ซื้อมา
นอกนั้นสิ่งอื่นๆ ไหม้หมด ก็คิดว่าจะซื้อมาทำบ้าอะไรไม่รู้ เอาไปขายก็ไม่ได้
เอาไปช่วยตัวเองตอนไฟไหม้ก็ไม่ได้
นั่นทำให้หันมาเริ่มปรับปรุงชีวิตและการเงินตัวเอง แต่ไม่สำเร็จ
จากนั้นสองปีต่อมาก็เกิดซึนามิ รู้สึกว่าชีวิตไร้ค่ามาก ใช้ชีวิตไปวันๆ"
โจ บอกว่า
ส่วนหนึ่งของปัญหาของเธอเกิดจากการขาดการอบรมความรู้เรื่องการเงินโดยเฉพาะที่บ้าน
พ่อแม่ และครูที่โรงเรียน ไม่ได้สอนการเงินให้แก่เด็ก
"พื้นฐานครอบครัวไม่ได้สอนให้รู้จักการวางแผนการเงินเลย
แม้จะเป็นเด็กที่หาเงินตั้งแต่เด็ก
รู้จักออมเงินและนำเงินมาช่วยพ่อแม่ยามวิกฤติ แต่โตมาก็บริหารเงินไม่เป็น
ทั้งพ่อและแม่มีนิสัยใช้เงินเกินตัว และซื้อความสบายก่อนนึกถึงอนาคต
พ่อมีเงินเดือนหมื่นบาทแต่ใช้สามหมื่นบาท ส่วนแม่เป็นข้าราชการใช้เงินเก่ง
มีหนี้บัตรเครดิต มีมือถือสองเครื่อง
เข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนดเพียงเพราะต้องการเอาบำเหน็จ ได้เงินมา 5 แสน
แต่ใช้หนี้ไป 4 แสน"
เมื่อรอดจากเหตุการณ์ซึนามิมาได้
โจก็เริ่มเรียนรู้การเงินด้วยตัวเองอย่างจริงจังผ่านเวบไซต์การเงินของต่างประเทศ
จนถ่องแท้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
ด้วยการเริ่มจากทำบันทึกการเงิน ก็ทำให้โจค้นพบปัญหาการเงินของตัวเอง
และแนวทางแก้ไข ซึ่งเหมือนกับ "ไฟส่องทาง" ให้แก่ตัวเธอ
เพื่อเป้าหมายล้างหนี้บ้านที่มีอยู่ 3.7 ล้านบาท และหนี้บัตรเครดิตอีก 1.2
แสนบาท หลังจากเกิดปัญหาวิกฤติยุคไอเอ็มเอฟ เธอก็ "หยุด" ผ่อนบ้าน
จนกระทั่งถูกธนาคารเป็นโจทก์ฟ้องร้องต้องขึ้นศาลพิพากษาคดีบ้าน
แนวทางการ "ปฏิวัติ" นิสัยการเงินใหม่ของโจ
ที่เธอต้องการเสนอแนะสำหรับผู้ที่ยังไม่หลุดพ้นจาก "หลุมดำ" การเงิน 6 ข้อ
กล่าวคือ..
หนึ่ง..แยกแยะให้ได้ระหว่าง "อยากได้" กับ"จำเป็น"
สอง..รู้สถานการณ์การเงินของคุณอย่างดี ทั้งตัวเลขในบัญชี ใบแจ้งหนี้
ยอดชำระ เป็นต้น
สาม..ต้องเริ่มทำบันทึกการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อป้องกัน"เงินฉันหายไปไหน ?"
สี่..ให้รางวัลตัวเองด้วยการออม
ห้า..ฝึกนิสัย "มีเงินสดค่อยซื้อ"
หก..ทิ้งมนุษย์พิษที่บั่นทอนสุขภาพเงินของเรา
แต่ให้สะสมมนุษย์ยอดเยี่ยมเก็บไว้ส่วนการบริหารการเงินส่วนตัวของ โจ-มณฑานี นั้น
เธอใช้วิธีออมเงินแยกย่อยออกเป็น "5 ขุมพลัง"พลังแรก..บัญชีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ บัญชีเงินฉุกเฉิน 6เดือน
เพื่อใช้ในยามตกงาน
โจบอกว่า เพราะงานที่ทำส่วนใหญ่เป็นงานฟรีแลนซ์ ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน
ดังนั้นทุกครั้งที่ได้เงินมาจะหักไว้ 10% เป็นเงินออมส่วนนี้ไว้ก่อนทันที
เพื่อจ่ายให้ตัวเองก่อน(Pay yourself first) เงินก้อนนี้เธอหักเก็บไว้ใน
"ธนาคารกรุงเทพ" โดยขณะนี้สำรองไว้ได้แล้ว 6 เดือนของรายได้
(ปัจจุบันโจมีรายได้จากหลายทางราวๆ 6 หมื่นบาทต่อเดือน)
"ตอนนี้ตัวเองมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนราว 4.4 หมื่นบาท ก็จะนำหักรายได้ไว้
10% เก็บไว้ในบัญชีนี้ก่อนเลย
ซึ่งตรงนี้ก็ยังได้กินดอกเบี้ยช่วงที่เรายังไม่จำเป็นต้องเอาออกมาใช้ แรกๆ
ก็เริ่มออมจาก 3 เดือนก่อน พอออมครบ 3 เดือนก็ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 6 เดือน 12 เดือน"
พลังสอง..เงินฉุกเฉินสำหรับค่าใช้จ่ายไม่คาดคิด หลังจากที่เริ่มออม 10%
แล้ว ก็เริ่มออมเพิ่มเป็น 15% โดยนำส่วนที่เพิ่มขึ้น 5%
นี้ใส่ไว้ในบัญชีเงินค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน สำหรับค่าซ่อมแซมบ้าน
ค่าหมอค่ายาเวลาป่วยกระทันหัน ค่าภาษีย้อนหลังหากสรรพากรเรียกเก็บ เป็นต้น
ซึ่งปัจจุบันเธอมีเงินเก็บส่วนนี้ไว้แล้ว 3 หมื่นบาท ฝากไว้กับ
"ธนาคารกรุงศรีอยุธยา"
พลังสาม..เงินประกันชีวิต และสุขภาพ โจ บอกว่า
ญชีนี้เธอใช้วิธีกันเงินออมเพิ่มไว้อีก 5%จากบัญชีที่สองที่เก็บไว้แล้ว
15% หากเมื่อใดที่เจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลจะได้ไม่เดือดร้อนเงินก้อน
และต้องมีเงินไว้ให้แม่ โดยปี ๆ หนึ่งจะกันเงินไว้จ่ายเป็นค่าประกันชีวิต 3
หมื่นบาท ซึ่งจะฝากไว้กับ "ธนาคารทหารไทย"
พลังสี่..เงินลงทุนเพื่องอกเงย และสร้างฝัน
"บัญชีนี้เป็นการออมเงินเพิ่มขึ้นจากสามบัญชี คือเพิ่มจาก 20% เป็น 30%
โดยเอาเงิน 10% ที่เพิ่มขึ้นนี้ไปฝากไว้ในบัญชีเพื่อการลงทุนกับ
ธนาคารไทยพาณิชย์" ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาออมเงินได้แล้ว 4 แสนบาท ก็นำเงิน 3
แสนไปลงทุนทำธุรกิจของตัวเองโดยตั้งบริษัทของตัวเองชื่อ บริษัท
สำนักพิมพ์มณฑานี เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เราตลอด
เหมือนกับห่านที่ไข่เป็นทองคำให้ไม่สิ้นสุด"
ปัจจุบันสำนักพิมพ์มณฑานี
จะจัดพิมพ์หนังสือแนวเปลี่ยนแปลงชีวิตและให้กำลังใจคน
ได้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือของเธอเพียงเล่มเดียวชื่อ "ความรัก"
มีรายได้เข้ามาต่อเนื่องและมีกำไรแล้ว 6 หลัก
สามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้วหลังจากจัดตั้งได้เพียง 1 ปีเท่านั้น
นอกจากนั้นยังวางแผนจัดพิมพ์ "พอคเก็ตบุ๊ค" เล่มใหม่อีก 5 เล่ม
ซึ่งเป็นแนวเปลี่ยนชีวิต ทัศนคติคน ได้แก่ ขั้นเอาชนะ, อยากได้กับจำเป็น,
ชีวิตคู่กับการเงิน, การเงินกับเด็ก และ การเงินกับผู้หญิง
ไม่เพียงเท่านั้น โจ..ยังแบ่งเงินส่วนที่ได้จากกำไรพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ
ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 24 เดือน ที่ออกโดย "ธนาคารอาคารสงเคราะห์"
ได้รับผลตอบแทนปีละ 6% อีกด้วย
พลังห้า..บัญชีค่าใช้จ่ายรายเดือน
จะเป็นบัญชีเงินฝากเพื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว
และเพื่อทำสเตทเมนท์รายได้ของตัวเองด้วย ซึ่งจะเปิดในชื่อบัญชีของบริษัท
เพื่อลดค่าใช้จ่าย และภาษี
นอกจากนั้น หากมีเงินเหลือจากรายเดือนหรือลดค่าใช้จ่ายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ
ก็จะนำเก็บไว้สำหรับการ "ท่องเที่ยว" ซึ่งกำลังจะเปิดอีกบัญชีหนึ่งอีกด้วย
ถ้าแยกแยะเป็นสัดส่วนเงินออม และการลงทุนของมณฑานีนั้น
เธอจะเก็บออมในทุกบัญชีรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้
แต่ในอนาคตต้องการจะเพิ่มเป็น 50% โดยส่วนที่เพิ่มอีก 20%
จะนำไปลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างอนาคต
แต่เป้าหมายเกษียณอายุของโจ วางแผนว่าจะเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี
(ปัจจุบันอายุ 40 ปี) และมีชีวิตอยู่ถึง 80 ปี
ด้วยแผนการเงินที่วางไว้อย่างดีดังกล่าว อีก 15 ปีเธอจะมีเงินถึง 8
ล้านบาทเมื่อเกษียณ ในระยะเวลาอีก 25
ปีเธอก็จะมีเงินไว้ใช้เมื่อแก่ชราและท่องเที่ยวแบบสบายๆ
ผลจากการวางแผนการเงินและเปลี่ยนนิสัยการเงินใหม่ด้วยการเก็บออม
ทำให้ปัจจุบันโจ เหลือหนี้ผ่อนบ้านอีกราว 3 ล้านบาท วางแผนไว้ว่าภายใน 5
ปีจะใช้หนี้ให้หมดจากผลตอบแทนเงินลงทุนที่ได้มา และรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ส่วนหนี้บัตรเครดิตคงค้างอีกเพียง 2 หมื่นบาทเท่านั้น..!!
เป้าหมายของโจ..ไม่ได้อยู่เพียงแค่ต้องการเป็น "อิสระทางการเงิน" เท่านั้น
เธอยังมีจุดมุ่งหมายไกลกว่านั้นคือ การเป็น "นักให้กำลังใจอาชีพ"
ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตแก่คนทั่วไป และใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทั้งด้านการเงิน
ความรัก และอื่นๆ




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2549   
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2549 14:47:38 น.   
Counter : 2746 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  

sriphat
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย
New Comments
[Add sriphat's blog to your web]