โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย

The Power of Love

พลังแห่งรัก สร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นได้มากมาย

ขอให้ทุกคนมีความสุขกับความรักในทุกรูปแบบนะคะ :-)

The Power of Love 

//boonthiss.wordpress.com/2014/08/19/the-power-of-love






 

Create Date : 19 สิงหาคม 2557   
Last Update : 19 สิงหาคม 2557 19:28:36 น.   
Counter : 1219 Pageviews.  

เจาะเวลาหา “ทะเลสีคราม”

ไพเราะ เลิศวิราม
Positioning Magazine สิงหาคม 2550

เกือบทุกธุรกิจเวลานี้ ล้วนแต่กำลังแสวงหา กลยุทธ์“ทะเลสีคราม” หรือ Blue Ocean หลังจากที่ต้องเวียนว่ายอยู่ในทะเลสีแดง Red Ocean ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน จนยากจะหาความแตกต่างทางธุรกิจ

ธุรกิจที่อยู่ใน “Red Ocean” การแข่งขันเอาชนะคู่แข่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องวิ่งไล่กวดกับคู่แข่งตลอดเวลา คู่แข่งมีอะไรก็ต้องมีตาม คู่แข่งออกอะไรใหม่ก็ต้องมีเหมือนกัน เพื่อสร้างข้อได้เปรียบ แย่งชิงลูกค้ามาอยู่ในมือให้ได้มากที่สุด ส่วนแบ่งตลาดกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการบอกถึงชัยชนะของธุรกิจ

เมื่อแข่งขันกันหนักเข้า ก็เริ่มไม่เห็นความแตกต่างของสินค้าและบริการ จึงต้องหันไปมุ่งเน้นเรื่อง “ราคา” เมื่อเอาราคามาเป็นตัววัด การสร้างความยั่งยืนในธุรกิจย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะเมื่อลดราคาจนไม่มีกำไร ก็ต้องบาดเจ็บ เลือดซิบไปตามๆ กัน

ในขณะที่กลยุทธ์แบบ Blue Ocean เป็นการมองคนละมุม คิดกันคนละแบบ ทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่ Red Ocean ทำมาก่อน
แทนที่จะไปแย่งชิงกับคู่แข่งในตลาดเดิมๆ ก็เปลี่ยนไปเสาะแสวงหาน่านน้ำใหม่ที่มีคลื่นลมสงบ บริสุทธิ์ สะอาด ยังไม่มีผู้ที่กล้ำกลายมาก่อน เป็นลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยมีใครมอง

จากข้อสรุปที่ได้จากงานสัมมนา Blue Ocean Strategy ที่จัดขึ้นโดยศูนย์พัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยมี ดร.เบน เอ็ม บองซาอู อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนานาชาติ ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายกลยุทธ์ Blue Ocean มาเป็นวิทยากร ระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2550 สรุปได้ว่า ความคิดนอกกรอบทำลายกำแพงวัฒนธรรมการทำตลาดแบบเดิม กลยุทธ์แบบ Blue Ocean เรื่องของการ “คิดนอกกรอบ” หรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ จึงเป็นอาวุธสำคัญ

การสร้าง “นวัตกรรม”นี้ ไม่ได้หมายถึงการวิจัยและพัฒนาสินค้าแปลกใหม่จากผู้ผลิตฟากเดียว แต่ต้องยึด “ลูกค้า” เป็นศูนย์กลาง โดยทำให้ผู้ซื้อมีความสุขมากที่สุด หรือรู้สึกคุ้มค่ากับราคาที่เขาจ่ายยอมออกไป

เรื่องของการศึกษาวิจัยพฤติกรรมลูกค้าจึงมีความจำเป็นมาก และไม่ได้หมายถึง “ลูกค้าเดิม” ในตลาดเดิม และคู่แข่งหน้าเดิมเท่านั้น เพราะการแสวงหาน่านน้ำสีฟ้ากุญแจสำคัญอยู่ที่การศึกษาพฤติกรรมผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้า หรือต้องดูว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกค้าไม่ยอมซื้อสินค้าหรือใช้บริการของเรา

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ดร.เบน เอ็ม บองซาอู ยกตัวอย่าง ไวน์ยี่ห้อ “Yellow Tail” ที่สร้างความสำเร็จจากกลยุทธ์ Blue Ocean

แทนที่จะกระโดดเข้าไปแข่งขันในตลาดไวน์แบบเดิมๆ Yellow Tail เลือกทำในสิ่งตรงกันข้าม พวกหันมาศึกษาพฤติกรรมผู้ที่ไม่ดื่มไวน์ ว่า “อะไรเป็นสาเหตุ” ที่ทำให้ “ไม่เลือกดื่มไวน์” หรือเลือกดื่มเบียร์ไม่ดื่มไวน์

ผลการวิจัยพบว่า ไม่ชอบรสชาติ ดื่มเบียร์ง่ายกว่า หาซื้อยาก เข้าใจยาก ภาพลักษณ์ของคนดื่มไวน์เป็นคนตกยุค เป็นเครื่องดื่มของคนแก่ ดูเป็นผู้หญิง ดื่มเฉพาะบางโอกาสไม่เหมือนดื่มเบียร์ น่าเกรงขามมากเกินไป มีความยุ่งยากในการดื่มและเก็บรักษา เปิดยาก

ภายใต้ปัญหาเหล่านี้ได้กลายมาเป็นคำตอบในการสร้างตลาดไวน์ใหม่ Yellow Tail ที่สามารถฉีกรูปแบบไวน์ดั้งเดิมอันเคร่งขรึมตั้งแต่ขวดบรรจุไวน์ ที่ใช้สลากสีสันมาช่วยให้ดูทันสมัย ไม่มีอักษรบนขวดให้ยุ่งยาก ให้ความรู้สึกง่ายๆ ไม่ต้องอธิบายมาก แทนที่จะใช้จุกก๊อกแบบเดิม ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีการไข เพื่อทลายข้อจำกัดในเรื่องการเปิดยาก

รสชาติมีความคงที่ ลดเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ ทำให้ดื่มง่ายขึ้น วางตำแหน่งให้เป็นไวน์สำหรับทุกโอกาส ทำในสิ่งที่ผู้ผลิตไวน์ไม่เคยทำมาก่อน ตั้งแต่การโฆษณาจับคู่กับเบียร์อัมสเทล แทนที่จะขายบริเวณสำหรับขายไวน์ ก็เปลี่ยนไปวางขายบนขายชีส แฮม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคนขายไวน์ แต่ Yellow Tail ทำ

สิ่งที่ไวน์ยี่ห้อนี้ได้รับกลับมาคือ การเป็นไวน์ที่เติบโตมากที่สุดในออสเตรเลีย ในปี 1999 ต่อมาในปี 2001 ก็ได้ขายในประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี ปัจจุบันมีขายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย

ความสำเร็จของไวน์ Yellow Tail เป็นการทลายกำแพงทางความคิดแบบเดิมไปหาน่านน้ำใหม่ ลูกค้าใหม่ ตลาดใหม่ ผลที่ได้รับจากการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้าใหม่ คือ ความสุขของลูกค้า ซัพพลายเออส์ และช่องทางจำหน่ายจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น

กรณีที่สอง เป็นเรื่องของธุรกิจโรงแรมของกลุ่ม “แอคคอร์” ที่ต้องการเสาะแสวงหาเส้นทางเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม ในสหรัฐฯ โรงแรมระดับ 5 ดาว มีคู่แข่งเต็มไปหมด มีโรงแรมเป็นโหลให้เลือก คุณภาพบริการใกล้เคียงกัน ตลาดอยู่ในภาวะอิ่มตัว แอคคอร์จึงหันไปหาโรงแรมระดับ 1 ดาว

คำถามต่อจากนั้นของพวกเขา คือ ใครผู้ที่ไม่ใช้บริการโรงแรม และพบว่า คนขับรถบรรทุก นักท่องเที่ยวแบ็กแพ็ก เป็นกลุ่มคนที่ปฏิเสธโรงแรม อีกกลุ่มคือเซลส์แมน ที่ต้องการห้องพักเพียง 1 คืน

คำตอบที่ได้นำไปสู่โอกาสของการสร้างธุรกิจโรงแรมรูปแบบใหม่ แทนที่จะอยู่ในทำเลใจกลางเมือง ก็มาตั้งอยู่ที่ถนนไฮเวย์ ใกล้สถานีรถไฟฟ้า สถาปัตยกรรมของโรงแรมคือการออกแบบให้บรรจุห้องให้ได้มากที่สุด เก็บเสียงได้ดี ไม่มีบริการอาหารเช้า ไม่มีรีเซฟชั่น ไม่มีคอฟฟี่เลานจ์

ภายในห้องพักขนาดเล็กมีฟังก์ชันครบ ทีวีขนาดเล็ก โทรศัพท์ผ่านระบบ Call Center สามารถจองห้องผ่านอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ ชำระเงินที่ตู้รับชำระเงินสดที่ตั้งอยู่ด้านล่างโรงแรม เพื่อนำรหัสเข้าห้องพัก โดยที่อาจไม่เจอเจอใครเลยในโรงแรมแห่งนี้

แอคคอร์ เปลี่ยนจากการสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาว ราคาแพง การแข่งขันสูง และไม่มีความแตกต่าง ในตลาด Red Ocean แทนที่ด้วยแนวคิดใหม่ของการทำโรงแรมที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน พวกเขาสามารถหาซื้อที่ดินในราคาถูกในเมือง ลดต้นทุนเรื่องของคน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วย ทั้งเรื่องการจองห้อง ชำระเงิน แม้แต่ห้องน้ำที่สามารถทำความสะอาดด้วยตัวเอง

ผลที่แอคคอร์ได้รับคือ กำไรเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จากลูกค้าคนขับรถบรรทุกและเซลส์แมน ที่เต็มใจจ่ายกับราคาห้องพักเสมอต้นเสมอปลาย แลกกับการได้นอนเต็มอิ่มกับบริการที่ตอบสนองเขาได้ในแบบที่เป็นการบริการตนเอง และความสม่ำเสมอของราคา ซึ่งเป็นราคาเดียวทั่วประเทศ

ข้อเสนอแนะที่ ดร.เบน เอ็ม บองซาอู ให้กับผู้สัมมนา คือ การที่ต้องให้ลูกค้าเป็น “ศูนย์กลาง"” ฟังสิ่งที่ลูกค้าพูด และต้องใช้ภาษาเดียวกับลูกค้า เพราะยิ่งใช้ภาษาลูกค้ามากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเข้าใกล้ “แก่น” มากขึ้นเท่านั้น

เขายกตัวอย่าง รถยนต์ LEXUS ของค่ายโตโยต้า ที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างความพึงใจให้กับลูกค้ากลุ่มที่พอใจความสะดวกสบาย ความหรูหรา อย่างที่หาได้ในรถยนต์หรูอย่าง BMW หรือ BENZ แต่พวกเขาไม่มีเงินซื้อ ดังนั้นเมื่อ Lexus ตอบสนองความพอใจเหล่านี้ได้ไม่ต่างไปจากรถยนต์หรูเหล่านี้ แต่ขายในราคาที่ถูกลง 20% ทำให้ Luxus ประสบความสำเร็จ ได้ลูกค้าผู้ที่ชื่นชอบรถยนต์หรูราคาแพงแต่ไม่มีเงินพอซื้อได้ มาอย่างงดงาม

บางธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จจากการตอบสนองอารมณ์ความรู้สึก Emotional ให้กับลูกค้าล้วนๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับเหตุและผลแต่อย่างใด

กรณีนี้เกิดขึ้นกับ นาฬิกา “Swatch” จากสวิส ที่สามารถฝ่าด่านอรหันต์ แจ้งเกิดท่ามกลางตลาดที่เต็มไปด้วยนาฬิการะบบ “ควอทซ์” ที่ผู้ผลิตจากญี่ปุ่น ไซโก้ ซิตี้เซ็น ที่เคยทำลายอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสแบบดั้งเดิม

นาฬิกา Swatch สามารถทำให้คนเลือกซื้อนาฬิกาที่ผลิตจากวัสดุพลาสติกและยางที่ Swatch ผลิตออกมาหลากหลายรูปแบบ หลายสีสัน ให้ลูกค้านำใช้ในโอกาสต่างๆ ได้ด้วย Emotional ล้วนๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการบอกเวลาแม้แต่นิดเดียว

ดร.เบน เอ็ม บองซาอู ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการเข้าสู่กลยุทธ์ “ทะเลสีคราม” สามารถสร้างขึ้นได้ เริ่มจากขั้นตอนเหล่านี้

ขั้นแรก - การหา Trend หรือแนวโน้มใหม่ ทั้งเรื่องของคน การเมือง เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อค้นหาว่า Trend ไหนไม่สามารถหยุดยั้งได้ หรือ Trend ไหน ที่ต้องใช้เวลา Trend ไหนที่เปลี่ยนความรู้สึกของลูกค้าทันที

สิ่งเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อพยากรณ์ทิศทางของธุรกิจว่า อะไรที่มาเป็นผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคต และควรจะปรับตัวเพื่อรับมือ หรือแสวงหาโอกาสใหม่นี้ได้อย่างไร

ขั้นที่สอง - หาทีมวิจัยพฤติกรรมลูกค้าอย่างละเอียด โดยต้องฟังทุกอย่างที่ลูกค้าพูด รวมถึง “ความเงียบ” ของลูกค้าด้วย ไม่ใช่แค่เสียงอย่างเดียว

ความหมายของดร.เบน เอ็ม บองซาอู ก็คือ ต้องฟังทุกอย่างของลูกค้า ทั้งคำพูด การสังเกตการณ์ เพราะบางครั้งอาจพลาดในสิ่งที่ลูกค้าบอกแล้ว แต่ไม่รู้ว่านี่คือปัญหา หรือไม่ได้ใส่ใจ

เขายกตัวอย่าง บริษัทฟิลิปส์ ที่ผลิต “กาต้มน้ำ” และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่เมื่อนำวางขายในประเทศอังกฤษกลับไม่ได้รับความนิยม ฟิลิปส์จึงต้องส่งทีมงานสำรวจ โดยไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวคนอังกฤษ ในที่สุดพวกเขาก็พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หลังจากต้มน้ำแล้วเกิดฟองตะกอนในน้ำ

ถัดจากนั้น 2-3 สัปดาห์ กาน้ำที่มี “ฟิลเตอร์” ก็ออกสู่ตลาด และทำให้ฟิลิปส์ครองส่วนแบ่งตลาดในอังกฤษไปได้ 25% จากการ “สังเกตพฤติกรรมของลูกค้า”

นั่นคือตัวอย่างของการแก้ปัญหาจากการสำรวจ “ลูกค้า” อย่างละเอียด ทั้งความต้องการ และปัญหา รวมถึง “ความเงียบ” ของลูกค้า
ขั้นที่สาม นำข้อมูลที่ได้มาลดในสิ่งที่ลูกค้าไม่ต้องการ และเพิ่มในสิ่งที่เขาชอบ

แน่นอนว่ากลุ่มที่ขาดไม่ได้คือ “ผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้า” ซึ่งจะทำให้เราได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ เช่นกรณีของ Yellow Tail ที่ได้มาจากกลุ่มผู้ที่ไม่ดื่มไวน์

ถัดจากนั้นคือ การสร้างนวัตกรรม ที่เกิดขึ้นได้ “ทุกคน” ในองค์กร ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่าย HR

สำคัญอยู่ที่ว่า นวัตกรรมนั้นจะต้องมาจากลูกค้า “เพราะไม่มีนวัตกรรมไหนที่เป็นนวัตกรรมจริง ถ้าไม่ใช่นวัตกรรมของลูกค้า”

ที่ขาดไม่ได้ คือ การตั้ง “ราคา” ที่ต้องเป็นราคาที่ลูกค้ายอมรับได้

ในไทยเรามีหลายกรณีศึกษา ในการออกไปหา Blue Ocean ได้สำเร็จ เช่น กรณีของ “แอลพีเอ็น” บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มทำตลาดคอนโดมิเนียมมาเป็นรายแรกๆ แต่มาในช่วงหลังเมื่อมีคู่แข่งเกิดขึ้นในตลาดจำนวนมาก ทั้งรายใหญ่รายย่อยเต็มไปหมด

แทนที่แอลพีเอ็นจะใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเดิมๆ วิ่งชนกับคู่แข่ง ด้วยการสร้างคอนโดมิเนียมกลางเมือง ริมรถไฟฟ้า เจาะลูกค้าคนเมือง มีการศึกษา มีรสนิยม

แอลพีเอ็นกลับวิ่งไปหาน่านน้ำใหม่ ไปหาลูกค้าใหม่ ที่คู่แข่งไม่ทำ คือ คอนโดมิเนียม ระดับล่างลงมา ราคา 6 แสนบาท ซึ่งเป็นลูกค้าที่เคยใช้ชีวิตเช่าอพาร์ตเมนต์และยังไม่เคยมีบ้านของตัวเอง ปรากฏว่าประสบความสำเร็จด้วยดี

กลยุทธ์ Blue Ocean กำลังอยู่ในความสนใจของผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมาก ยิ่งเศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ การแข่งขันเริ่มรุนแรง ดูได้จากผู้เข้าร่วมงานสัมมนาในวันนั้น ที่มีผู้บริหารจาก 337 องค์กรสำคัญๆ อาทิ ธนาคารกสิกรไทย เครือซิเมนต์ไทย ทรูวิชั่นส์ บริษัทแสนสิริ น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อน แม้ว่าหลายคนจะบอกว่ากลยุทธ์ Blue Ocean ไม่ใช่เรื่องใหม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่ากลยุทธ์ Blue Ocean มีขบวนการอะไรบ้าง

ส่วนจะมีสินค้าและบริการใดจะสามารถกระโจนออกจากทะเลสีเลือด แหวกว่ายมาสู่ทะเลสีน้ำเงิน “Blue Ocean” ให้ได้เห็น ไม่นานคงรู้...

//www.positioningmag.com/




 

Create Date : 19 กันยายน 2550   
Last Update : 19 กันยายน 2550 14:09:42 น.   
Counter : 629 Pageviews.  

ลุยไฟ "ดับความกลัว" จุดประกายคิดสร้างสรรค์

อัญชรี พรหมสกุล ancharee@nationgroup.com

เพราะ "ความกลัว" เป็นจุดดับการคิดสร้างสรรค์ "ศรัณย์ จันพลาบูรณ์" จึงหาทางขจัดความกลัว จนได้กิจกรรมแหวกแนว "เดินลุยไฟ" เพื่อท้าทายพนักงานในองค์กรให้กล้าคิด กล้าทำ ไม่เกรงกลัวอุปสรรคที่อยู่ตรงหน้า

ลองคิดดูว่าการย่ำเท้าเปล่าไปบนถ่านหินสีแดงๆ ร้อนๆ ระอุสัก 3-4 ก้าว จะเกิดอะไรขึ้นกับเท้าของเรา ความกลัวต่างๆ นานา คงวิ่งวนอยู่ในสมอง

แต่นี่คือการพิชิตความกลัว...กลัวร้อน กลัวเท้าพอง กลัวหกล้มในกองไฟ และสารพัดที่จะกลัว

ถ้าหากว่า เราสามารถเอาชนะความกลัวนี้ไปได้แล้ว..จะมีผลดีอย่างไร .. ต่อชีวิตและการทำงาน

"เมื่อเจอปัญหาแล้ว พยายามหาทางออกไปเรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่กับปัญหานั้น บางทีสิ่งที่เรามองข้ามไปอาจเป็นคำตอบของทางออกที่เราคาดไม่ถึงก็ได้ การเดินลุยไฟนี้จึงเป็นเครื่องมือให้ผู้ร่วมกิจกรรมคิดให้ได้ว่า ขนาดการเดินลุยไฟที่นับว่ายาก เรายังสามารถทำได้เลย ถ้าหากมีอุปสรรคที่ไม่กล้าคิด กล้าทำเกิดขึ้นระหว่างการทำงานให้นึกถึงกิจกรรมท้าทายแบบนี้ที่จะเป็นแรงฮึดในการแก้ปัญหาในอนาคตได้" อ.ศรัณย์ จันทพลาบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ 37.5 องศาเซลเซียส ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดสัมมนาด้านกระตุกต่อมความคิดสร้างสรรค์ กล่าว

คอร์สความคิดสร้างสรรค์จะมี 2 ช่วงในการให้ความรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติโดยผ่านกระบวนการ PPCO (Plus Potential Concern Oppotunity) คือ กระบวนการดัดความคิดนอกกรอบให้มาสู่ความคิดที่ทีมงาน องค์กร และสังคม ยอมรับได้

"การจะได้คำตอบใหม่ๆ ต้องมาจากการคิดไอเดียสารพัดอย่างโดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขต่าง แล้วค่อยๆ ตัดทอนให้เหลือ "ไอเดียเด็ดๆ" ที่มีความเป็นไปได้ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ถึงไอเดียต่างๆ จะถูกตัดให้น้อยลง แต่ถือว่าเป็นไอเดียสดใหม่ที่ต่างไปจากเดิม" อ.ศรัณย์ กล่าว

การเดินลุยไฟจึงเป็นภาคปฏิบัติที่ได้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อเป็นการสาธิตการเอาชนะความกลัว โดยจัดขึ้นในรีสอร์ทต่างๆ จังหวัด ผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นพนักงานในองค์กรสื่อสถานีโทรทัศน์ชื่อดังของเมืองไทย ซึ่งจะมีหน่วยปฐมพยายามคอยเฝ้าระวังอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บเพราะมีการฉีดน้ำไปที่เท้าของผู้เดินข้ามไฟเพื่อป้องกันการเกิดแผลพุพอง

คอร์สหนึ่งๆ จะประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอน อย่างแรก การเอาชนะความกลัว

"คนส่วนใหญ่จะมีความกลัวจึงต้องมีการขจัดความกลัวนี้ออกไป กิจกรรมเดินลุยไฟจึงมีความเป็นสากลเพราะจะไปกระทบความรู้สึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้มีประสบการณ์ในการผ่านความกลัวนี้ไปได้ ประสบการณ์นี้จะไปเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่นับว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยากที่สุด การเปลี่ยนความคิดยังทำได้ไม่ยากเท่ากับการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกเลยครับ" อ.ศรัณย์ กล่าว

และส่วนที่สอง การใช้วิจารณญาณ การวิเคราะห์เพื่อการเสี่ยงอย่างมีเหตุผลและการมองหาความเป็นไปได้ ซึ่งทั้ง 2 ขั้นตอนนี้ควรจะทำในครั้งเดียวกันเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนารู้และเข้าใจตนเองว่าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป

เพราะเขาเชื่อว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการทำงานอย่าง บิล เกตส์ และ ลีโอนาโด ดาวินชี จะมีลักษณะทั้ง 2 ส่วน (บู๊และบู๋น) อย่างสมดุล หรือ เปรียบได้ว่าเป็นหลักของการต่อสู้ บท "บู๊" ที่ใช้ความกล้าหาญ บ้าบิ่น และบท "บุ๋น" ที่ใช้ความนุ่ม สุขุมคัมภีรภาพมาเป็นธงนำในการกระทำ

"แต่ถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป มีทางแก้ปัญหาด้วยการจับคนทั้ง 2 ลักษณะนี้มาทำงานด้วยกันเพื่อให้เกิดความสมดุล" เขากล่าวเสริม

วิธีการเดินลุยไฟถือเป็นการไม่ยอมแพ้กับอุปสรรคที่อยู่ตรงหน้า นับว่าเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติแล้ว แต่สำหรับ อ.ศรัณย์ เป็นสิ่งที่ท้าทายและมักได้ความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงเสมอเมื่อพยายามจะเอาชนะกับอุปสรรค

ครั้งหนึ่ง เขาเคยเบื่อๆ กับการวิ่งวนอยู่บนเครื่องออกกำลังกายในบ้าน จึงไปหาซื้อวีลแชร์มาปั่นออกไปชมวิวในหมู่บ้านจัดสรร ทันใดนั้น เพื่อนบ้านวิ่งกรูเข้ามาถามเจ้าตัวว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ อ. ศรัณย์กลับยิ้มร่าบอกออกไปว่าอยากออกกำลังกายส่วนแขน จึงหาวีลแชร์มาปั่นเล่นๆ นับว่าเป็นการออกกำลังแขนที่ทำให้เห็นน้ำใจของเพื่อนบ้าน และเห็นคุณค่าของการเดินได้มากขึ้นอีกเป็นกอง

"เป็นการออกกำลังกายที่ดีนะ ไม่แน่อนาคตเพื่อนบ้านอาจจะมากดออดหน้าบ้าน แล้วเป็นคนชวนเราไปออกกำลังกายโดยการใช้วีลแชร์ก็ได้ ดังนั้น การที่เราจะช่วยให้ผู้รับการฝึกอบรมคิดสร้างสรรค์ เราต้องฝึกตัวเองหลายๆ ครั้ง"

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ขณะที่กำลังเตรียมตัวจะออกไปจ๊อกกิ้งรอบหมู่บ้าน แต่เจ้ากรรมฝนตกลงมาทำให้เกือบจะล้มเลิกความคิดในการออกกำลังกาย แต่แล้วลองคิดต่อไปว่าจะหาทางออกกับอุปสรรคที่อยู่ตรงหน้าจะทำอย่างไร เขาจึงไปหยิบร่มกอล์ฟออกมากางออกกันฝน พร้อมพาตัวเองออกไปวิ่งรอบหมู่บ้านตามปกติ เพื่อนบ้านก็ประหลาดใจกับภาพของของหนุ่มคุณพ่อลูกสองในชุดกีฬา รองเท้าผ้าใบ กางร่มกอล์ฟวิ่งกลางสายฝนอย่างทะมัดทะแมง

"แรกๆ ก็อายนะ แต่มาลองคิดอีกมุมว่า การออกกำลังกายท่ามกลางสายฝน มีนัยว่า หนึ่ง ไม่มีอะไรมาหยุดเราได้ สอง ถ้าเราคิดหาทางออกย่อมมีทางออกแน่นอน และสาม การเอาชนะความกลัวจะเป็นการกำจัดอุปสรรคในการคิดสร้างสรรค์ หลังๆ ถ้ามีฝนตกผมจะออกกำลังกายอย่างนี้เป็นประจำ โดยที่ไม่รู้สึกอาย" อ.ศรัณย์ กล่าว

ตัวอย่าง อาการของความกล้าคิด กล้าทำ ของ อ.ศรัณย์ ยังไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะเขาพยายามหาทางออกในการสร้างโฮมออฟฟิศให้เป็นดินแดนของการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างดี

ทีมงาน BizWeek แปลกใจกับโฮมออฟฟิศที่ได้นำเต็นท์ขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่มากางที่สนามหญ้าข้างบ้าน มีเตียงผ้าใบและเก้าอี้สนามแทนโต๊ะและเก้าอี้ทำงาน ใช้ตู้กับข้าวใส่หนังสือเล่มโปรดโดยให้ชื่อตำราพวกนี้ว่าเป็น "อาหารสมอง" ซึ่งในช่วงกลางวัน อ.ศรัณย์มักจะง่วนอยู่กับการนั่งและนอนอยู่กับโน้ตบุ๊คตัวโปรด ท่องโลกอินเทอร์เน็ต และการอ่านหนังสือ เพื่อเตรียมตัวเป็นวิทยากรในคอส์ทต่างๆ ที่มีเข้ามาเดือนละประมาณ 18-20 วัน จากทั้งหมด 5-6 องค์กร

"ถ้านั่งทำงานในบ้าน เป็นการอยู่กับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ปกติความคิดของคนเราจะเชื่อมโยงอยู่กับสิ่งแวดล้อม ถ้าอยากมีความคิดใหม่ๆ ต้องพาตัวเองออกมาจากสิ่งแวดล้อมที่ต่างไปจากเดิมๆ ผมคิดว่าความคิดสร้างสรรค์เหมือนกับการผจญภัย เช่น การเดินป่า ตั้งแคมป์ไฟ จึงนำเต็นท์มากางเป็นออฟฟิศแทนการนั่งทำงานในบ้าน คำศัพท์ใหม่ที่เราคิดได้คือ Toffice มาจาก Tent + Office" อ. ศรัณย์ กล่าว

"Toffice" แห่งนี้จึงเป็นการนั่งทำงานใต้ร่มไม้ มีความเงียบสงบและเป็นส่วนตัว ที่แสนจะแตกต่างจากการนั่งทำงานในบ้าน บรรยากาศข้างบ้านยังมีทะเลสาบที่ให้ลมเย็นๆ โชยมาตลอดเวลา เหมาะแก่การนั่งทำงานและใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างดี หรือ ถ้าเบื่อๆ เขามักจะพายเรือคายัคไปออกกำลังกายในทะเลสาบบ้าง

"ถ้าใครจะลองนำ Toffice นี้ไปใช้ไม่หวงห้ามเลยครับ ถ้าใครนำไปใช้แล้วมีอะไรอยากจะแลกเปลี่ยน หรือ เจอกับอุปสรรคปัญหา ติดต่อมาคุยกันได้" เขากล่าว

----------------------------------------------


ผมคิดว่าความคิดสร้างสรรค์เหมือนกับการผจญภัย เช่น การเดินป่า ตั้งแคมป์ไฟ จึงนำเต็นท์มากางเป็นออฟฟิศแทนการนั่งทำงานในบ้าน

----------------------------------------------

ที่มา : //www.bangkokbizweek.com / B School 27-10-2549




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2549   
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2549 18:05:54 น.   
Counter : 1149 Pageviews.  

Marketing Weapon : Means กับ End

ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เกือบ 5 ทุ่ม เสียงโทรศัพท์กรีดก้องขึ้น ดิฉันกำลังเตรียมเข้านอน เลยไม่คิดจะรับสาย 5 ทุ่มโทรศัพท์ดังอีกครั้ง คราวนี้เริ่มไม่มั่นใจ มีเหตุด่วนอะไรหรือเปล่า?



คนโทร: “ฮัลโหล...นอนหรือยังคะ”

ดิฉัน: “กำลังจะนอนค่ะ”

คนโทร: “งั้นขอพูดเร็วๆ เลยค่ะ คือ เพื่อนทำปริญญาเอกอยู่ อยากได้คนมาช่วยเขียนวิทยานิพนธ์ทั้งไทย-อังกฤษให้มันเสร็จๆ ไปน่ะค่ะ ไม่ทราบพอจะรู้จักใครมั้ยคะ แบบว่าก็มีค่าตอบแทนนะคะ”

ดิฉัน: (อึ้งงงงง) “ไม่ทราบค่ะ และไม่สนับสนุนด้วย คิดว่าเค้าควรจะทำเองนะคะ”

คนโทร: “คือเค้าก็มีไอเดียหมดแล้วอยู่ในหัวนะคะ แต่เค้าไม่มีเวลาน่ะค่ะ”

ดิฉัน: “ส่วนหนึ่งที่สำคัญของการทำงานวิชาการคือ ความสามารถถ่ายทอดไอเดียให้คนอื่นเข้าใจค่ะ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าคิดได้แล้วในหัว แค่นี้นะคะ สวัสดีค่ะ”

ตำราบอกว่าคนท้องควรทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ แต่เจออย่างนี้เข้าดิฉันควันออกหู...อึ้งไปอยู่พักใหญ่ อึ้งในความมักง่าย หวังสบาย สนใจเพียงผลลัพธ์คือให้ได้ใบปริญญา พร้อมคำนำหน้าชื่อมาแสดงสถานะทางสังคม แค่นี้หรือ?

หลักปรัชญาระบุไว้ถึงแนวคิดเกี่ยวกับ Means (วิธีการ) และ End (ผล, เป้าหมาย) และในการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคก็ได้นำหลักปรัชญานี้มาศึกษาอย่างแพร่หลาย คนบางกลุ่มมุ่งหวังเพียงไปให้ถึงเป้าหมายปลายทางโดยไม่สนวิธีการหรือประสบการณ์ที่น่าเก็บเกี่ยวไประหว่างทาง ขณะที่คนบางพวกเห็นว่าความสุขความพอใจเกิดขึ้นได้ทุกขณะของการเดินทาง จึงให้ความใส่ใจกับวิธีการเพื่อซึมซับประโยชน์และความงดงามทุกช่วงขณะ

พ่อค้าแม่ค้านักการตลาดรุ่นใหม่มุ่งหวังให้ลูกค้าเป็นแบบคนพวกหลัง เพราะเขาจะเกิดความรู้สึกผูกพัน เห็นในคุณค่าของสินค้าที่เป็นเสมือนเครื่องมือนำพาเขาไปสู่ความพอใจแบบยั่งยืน กระแส Experiential Marketing ตอกย้ำให้เห็นถึงสาระดังกล่าว คือต้องการให้คนสัมผัสถึงประสบการณ์มากกว่าการวัดผลกันเพียงยอดขายบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือเปล่า ขนาดร้านขายของในตลาดนัดหลายเจ้าเดี๋ยวนี้ยังปรับตัว เรียกคนเข้ามาชมมาดู ชวนคุยให้ถูกคอถูกอัธยาศัยกัน ไม่ซื้อไม่หา (วันนี้) ไม่ว่ากระไร แต่ความรู้สึกดีๆ จากการเข้าไปเลือกชมสินค้าจะพาเขาแวะเวียนกลับมาในโอกาสต่อๆ ไปอีกแน่นอน

Molvey, Olson, Celsi และ Walker (1994) ศึกษาไว้ถึงเรื่อง Means-End โดยเชื่อมโยงกับลูกค้าต่างรูปแบบ เขาพบว่าลูกค้าที่ใส่ใจสนใจสินค้าบริการมาก (High Involvement) จะมีความเข้าใจถึงคุณสมบัติของสินค้า อันจะเป็นผลให้เกิดประสบการณ์บริโภค (Means) รวมไปถึงผลลัพธ์ (End) ที่มีความหมายเชิงลึกกับตัวเอง จากการวิจัยโดยใช้ตัวอย่างสินค้าไม้เทนนิส เขาพบว่าคนกลุ่มนี้กล่าวถึงความรู้สึกดี มั่นใจ สบาย อบอุ่นที่ได้ใช้สินค้า ทำให้รู้สึกว่าได้เล่นอย่างเต็มที่ เกิดเป็นความสุขสนุกสนาน เกิดความผูกพันกับกับแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือสำคัญนำไปสู่ความรู้สึกดีๆ

ในทางตรงกันข้าม พวกที่สักแต่เพียงหาไม้เทนนิสมาเล่น (Low Involvement) มุ่งหวังผลเป็นการได้เล่นหรือชัยชนะ (End) จะเป็นพวกประเมินคุณสมบัติตามหน้าที่ของสินค้าเป็นหลัก เช่น ดูว่าน้ำหนักเบาก็น่าจะทำให้เล่นดีขึ้น มากกว่าที่จะกล่าวถึงความรู้สึกสบาย มั่นใจ หรือความเป็นเจ้าของไม้ จะเห็นว่าระดับความลึกในความหมายของประสบการณ์ของคนกลุ่มนี้แตกต่างไปจากคนกลุ่มแรกอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบันกิจการที่เน้นการขายประสบการณ์ (Experience) กำลังเฟื่องฟู ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว บันเทิง หรือ สปา เหล่านี้แม้ไปใช้บริการแล้วจะไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันติดมือกลับมา แต่ความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นจะยังคงฝากอยู่ในความทรงจำ ในการทำการตลาดจึงต้องพยายามให้ลูกค้าตระหนักและเข้าใจถึงคุณค่าจากประสบการณ์หรือวิธีการ (Means) อย่างร้านฟาสต์ฟู้ดแมคโดนัลด์ มีสโลแกนว่า We love to see your smile (เราอยากเห็นรอยยิ้มของคุณ) ความพอใจไม่ใช่เพียงจากจ่ายเงินได้อาหารคุ้มค่า แต่เกิดจากความสุขในการบริโภคการใช้บริการ หรือร้านหนังสือดอกหญ้ามีสโลแกนว่า “เพียงแวะเข้ามาชม เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ” จะเห็นว่าเป้าประสงค์ไม่ใช่เพียงการขายสินค้าให้ได้ แต่เป็นความอยากเห็นลูกค้ามีความสุขในโลกของหนังสือ

เมืองที่ดิฉันไปเรียนต่อ (Evanston) มีร้านอาหารน่าสนใจอยู่แห่งหนึ่งชื่อ Flat Top Grill โถงตรงกลางมีเคาน์เตอร์ให้เราถือชามเดินเลือกหยิบประเภท ผัก เนื้อ และเครื่องปรุงที่ต้องการ เสร็จสรรพเอาไม้เป็นสีต่างๆ เสียบบอกว่า ต้องการให้ต้ม ผัด ย่าง และอื่นๆ ถึงเวลามีคนทำตามที่เราต้องการแล้วเอามาเสิร์ฟให้ที่โต๊ะ ลูกค้านิยมไปร้านนี้เพราะนอกจากจะได้เลือกกินของหลายหลากแล้วยังสนุกดีที่ได้หยิบนู่นผสมนี่เอง ออกมารสชาติประหลาดๆ บ้างแต่ก็มีความสุขกับการรับประทานและได้เอามาแลกกันชิมกับเพื่อน เรียกได้ว่าร้านอาหารนี้ประสบความสำเร็จในการให้ผู้บริโภคเข้าถึงวิธีการ (Means) และความละเอียดอ่อนกว่าจะมาเป็นอาหารอร่อยๆ จานหนึ่ง

เมื่อวันหยุดดิฉันได้ดูหนังทาง UBC เรื่อง Shadows of the Sun เนื้อเรื่องเกี่ยวกับนักเขียนนิยายโด่งดังที่จู่ๆ ก็เลิกเขียนแล้วไปใช้ชีวิตขาดๆ เกินๆ ในอิตาลี เขาได้ค้นพบว่าสาเหตุที่ทำให้ตัวเองไม่สามารถเขียนนิยายได้อีกเป็นเพราะความกลัวการล้มเหลว เขาได้ตระหนักว่าความสุขในชีวิตของการเป็นนักเขียนไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ (End) ว่าจะมีคนมาชื่นชมมากน้อยแค่ไหน แต่อยู่ที่กระบวนการ (Means) ในแต่ละช่วงขณะที่เขาได้ปล่อยให้ความคิดไหลผ่านปลายนิ้ว ได้ถ่ายทอดจินตนาการออกไป

คงเป็นอย่างที่เขาว่ากันไว้ เราเลือกจุดกำเนิดหรือจุดจบไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกสร้างความสุขในทุกช่วงขณะของชีวิตได้ด้วยความเข้าใจในวิถี (Means) ของการดำรงอยู่

----------------------------------------


"ปัจจุบันกิจการที่เน้นการขายประสบการณ์ (Experience) กำลังเฟื่องฟู ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว บันเทิง หรือ สปา แม้ไปใช้บริการแล้วจะไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันติดมือกลับมา แต่ความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นจะยังคงฝากอยู่ในความทรงจำ"

ที่มา : //www.bangkokbizweek.com / Marketing 03-11-2549




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2549   
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2549 16:46:22 น.   
Counter : 2279 Pageviews.  

เรียนธรรมในธุรกิจ : ฝึกอบรมแบบพุทธ

โกศล อนุสิม

ในระยะ 10-20 ปีมานี้ บริษัทที่ปรึกษาและฝึกอบรมทางธุรกิจ เบ่งบานปานดอกเห็ดในโรงเพาะ เพราะบรรดาองค์กรธุรกิจทั้งหลายต้องแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอด เงื่อนไขของการอยู่รอดอย่างหนึ่งก็คือการพัฒนาคุณภาพของบุคลากร



ปัจจัยที่จะทำให้การพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพอย่างหนึ่งก็คือ การส่งไปฝึกอบรมกับผู้เชี่ยวชาญหรือเชิญผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรมโดยตรงในองค์กรดังที่เรียกว่า In-house Seminar หรือ In-house Training ก็ว่ากันไปตามความเหมาะสมของวิธีการและเป้าหมาย และผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวนี้ก็คือบรรดาผู้รู้หรือ กูรู ที่มีประสบการณ์ทั้งด้านทฤษฎีวิชาการและการวิจัยภาคสนาม รวมถึงผู้ที่เคยลงมือทำงานในองค์กรธุรกิจต่างๆ แล้วออกมาตั้งสถาบันที่ปรึกษาบ้าง บริษัทที่ปรึกษาบ้าง

การพัฒนากลยุทธ์และวิธีการให้คำปรึกษาและฝึกอบรมนั้น แต่ละสำนักก็มีคำกล่าวอ้างถึงความสุดยอดของตน ผู้ใช้บริการก็มักจะสรุปว่าสิ่งที่ตนได้จากกูรูมาใช้นั้นได้ผล สร้างผลผลิตให้องค์กรได้มากมาย นับเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้กูรูเติบโตขึ้นไม่หยุด

ในเรื่องของการฝึกอบรมและวิธีการฝึกอบรมหรือสอนคนนั้น พระพุทธเจ้าทรงมีหลักการครอบคลุมทั้งในส่วนของผู้สอน วิธีการสอน และ เป้าหมายในการสอนครบถ้วน ซึ่งพระองค์ทรงใช้ได้ผลมาแล้วอย่างอเนกอนันต์ในสมัยที่ทรงพระชนชีพอยู่ ทั้งขั้นเหนือโลกที่ทรงสอนให้คนบรรลุมรรคผลคือพระนิพพาน และขั้นในโลกคือสอนให้คนทั่วไปมีความสุขในการครองเรือน และสอนให้ผู้ปกครองสามารถปกครองผู้คนให้มีความสุขในอาณาจักรของตน

ในการสอนคนหรือภาษาสมัยใหม่เรียกว่าการฝึกอบรมนั้น ทรงกำหนดหลักการหรือจรรยาบรรณของผู้สอนไว้เป็นเบื้องแรก เพื่อสร้างคุณภาพให้แก่ผู้สอน คือผู้จะเป็นครู (คุรุ หรือ กูรู) ของคนอื่น โดยผู้สอนหรือที่ทรงเรียกว่า ธรรมกถึก หมายความว่า ผู้กล่าวธรรม นั้นต้องมีคุณสมบัติ หรือ องค์แห่งธรรมกถึก คือ

1. แสดงไปโดยลำดับ คือธรรมมีอย่างไรก็แสดงไปตามลำดับ ไม่ตัดทอน ไม่คัดออกให้ขาดความ อธิบายจากยากไปหาง่าย จากใกล้ไปไกล จากตื้นไปหาลึก จากหยาบไปละเอียด ทำสิ่งที่คนฟังยังไม่รู้ให้รู้ ให้เข้าใจ หากเทียบกับการฝึกอบรมสัมมนาทั้งหลายในปัจจุบัน ก็ต้องเป็นไปอย่างครบถ้วนตามจุดมุ่งหมาย รู้จริงในสิ่งที่สอน สรุปแล้วก็คือ มีปัญญาความรู้แล้วนำมาสอนให้คนอื่นเข้าใจตามลำดับความสำคัญ

2. มีเหตุผล มีการชี้แจง มีวิธีการให้ผู้ฟังเข้าใจ นั่นคือ มีเครื่องมือ อุปกรณ์ และเหตุผลที่เหมาะสมในการสอนเพื่อให้คนเข้าใจ ในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงมีชีวิตอยู่นั้น เครื่องมือสำคัญที่พระองค์ทรงใช้อย่างหนึ่งก็คือ ทรงยกตัวอย่างชาดกต่างๆ อันเป็นเรื่องราวที่พระองค์บำเพ็ญบารมีเสวยชาติเป็นทั้งคนทั้งสัตว์ มาประกอบให้คนเข้าใจ ศรัทธาและปฏิบัติตาม ดังปรากฏในพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก และก่อนที่จะทรงแสดงธรรมแก่ใครนั้น พระองค์ใช้พระญาณหยั่งรู้ก่อนว่า คนๆ นั้นมีปัญญาขั้นไหน จะใช้วิธีการอย่างไร จะแสดงธรรมเรื่องใดจึงจะบรรลุผล คือเกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง

เปรียบเทียบกับกระบวนการฝึกอบรมในปัจจุบัน ผู้ฝึกอบรม คือ กูรูหรือทีมงานกูรูก็ต้องรู้องค์ประกอบของกลุ่มผู้รับการฝึกอบรม รู้ความต้องการ รู้อารมณ์ รู้วัฒนธรรมขององค์กรนั้น แล้วใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ วิธีการสื่อสารที่เหมาะสม ซึ่งคงมีอยู่ร้อยแปดวิธี เลือกสักวิธีที่สอดคล้องกับพื้นฐานของผู้ฟัง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม

3. มีความปรารถนาที่จะให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์ ธรรมกถึก ย่อมมีจิตเมตตาปรารถนาที่จะให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์ หรือต้องการให้ธรรมที่ตนกล่าวไปนั้นเกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง นั่นคือการยึดประโยชน์ของผู้ฟังเป็นหลักนั่นเอง ดังพระปณิธานของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่บำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เพื่อเกื้อกูลแก่ชนหมู่มากให้มีความสุข ทั้งมนุษย์ เทวดา และสัตว์ทั้งหลายได้ข้ามพ้นความทุกข์ด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนที่พระองค์ทรงค้นพบ ดังนั้น ในสมัยพุทธกาล ก่อนที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกจะทรงแสดงธรรมแก่ใครหรือคนกลุ่มใด จึงต้องวิเคราะห์คนๆ นั้นหรือคนกลุ่มนั้นก่อน เพื่อเลือกวิธีการ หัวข้อธรรม ให้เหมาะ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนๆ นั้นหรือคนกลุ่มนั้น

บรรดากูรูทั้งหลายในปัจจุบัน ย่อมต้องยึดประโยชน์ของผู้ฟังเป็นหลักเช่นกัน หลักสูตรต่างๆ ที่มีอยู่ ย่อมมิใช่สูตรสำเร็จที่จะนำไปใช้กับทุกๆ องค์กรได้ แม้หลักสูตรเดียวกัน เรื่องเดียวกัน แต่ต่างองค์กรย่อมมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน พระพุทธองค์ยังทรงเลือกวิธีการ เลือกหัวข้อธรรมให้เหมาะกับคน ฉะนั้น บรรดากูรูทั้งหลายหากมุ่งประโยชน์ของผู้ฟังหรือลูกค้าเป็นหลัก ย่อมต้องปรับเปลี่ยนหลักการ วิธีการ ของตนให้เหมาะสมในลูกค้าแต่ละราย

คุณสมบัติของผู้กล่าวธรรม หรือธรรมกถึก ดังกล่าวนี้ ทำให้การแสดงธรรมเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ฟัง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงมีอยู่ และสาวกของพระองค์ก็มีอยู่เช่นกัน ดังนั้น หากอ่านพระสูตรที่พระพุทธองค์และพระสาวกแสดงธรรมในสมัยพุทธกาล จะปรากฏเสมอว่า เมื่อผู้ฟังได้ฟังแล้ว มักอุทานว่า พระองค์ทรงแสดงธรรม เหมือน หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด ส่องประทีปในที่มืด คือฟังแล้วเข้าใจและได้ประโยชน์เต็มที่นั่นเอง

ขอเชิญท่านทั้งหลาย ทั้งที่เป็นกูรูและผู้ที่ใช้บริการของกูรู นำวิธีการของพระพุทธเจ้าไปพิจารณา ว่ามีข้อเหมือนหรือข้อแตกต่างอย่างไรกับหลักการที่ตนคุ้นเคยและใช้งานในปัจจุบันบ้าง เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่งานของท่านยิ่งขึ้นไป

ที่มา : //www.bangkokbizweek.com / Local Biz 03-11-2549




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2549   
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2549 16:41:02 น.   
Counter : 1024 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

sriphat
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย
New Comments
[Add sriphat's blog to your web]