โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย

ร้านหนังสือ & ร้านกาแฟ : "บุ๊คคาเฟ่" หนังสือบวกกาแฟ ไปด้วยกันได้


โพสต์5 ก.ค. 2554 01:42โดยTheeraparb Tputti   [ อัปเดต 5 ก.ค. 2554 02:50 ]

 

ใครอยากเปิดร้านหนังสือ+กาแฟ เชิญอ่าน


จาก ช่องทางสร้างอาชีพ
นิตยสาร เส้นทางเศรษฐี
วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

  คุณวรวิทย์ พูดให้ฟังถึงระบบการขายหนังสือว่า ปกติทุกสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือ อาจจะเป็นบริษัทในเครือของสำนักพิมพ์นั้นเอง หรืออาจจะไปจ้างให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง จัดจำหน่ายก็ได้ ดังนั้น การที่เขาจะขายทั้งหนังสือที่เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กและนิตยสาร เขาจะไปติดต่อกับบริษัทจัดจำหน่าย




   ยุคสมัยเปลี่ยนไป ธุรกิจย่อมต้องปรับตัว เช่นเดียวกับร้านหนังสือที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ขายหนังสือเท่านั้น หากยังพยายามเน้นสร้างบรรยากาศให้น่ารื่นรมย์กับการอ่านหนังสือมากขึ้น แถมพ่วงด้วยร้านกาแฟหอมกรุ่น ที่นับว่าไปด้วยกันได้ดีทีเดียว

   ที่ซอยเสนานิคม 1 พหลโยธิน ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ตรงไปจากแยกวังหินราว 700 เมตร ทางซ้ายมือ พบร้านหนังสือไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่จัดรูปแบบได้สะดุดตา หากตัดบรรยากาศโดยรอบออกไป ร้านหนังสือร้านนี้ ไปตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้สบายๆ

   ตัวร้านขนาดตึกแถว 1 คูหา ตกแต่งภายในอย่างเรียบง่าย แต่เก๋ไก๋เป็นที่สุด มีชั้นหนังสือวางไว้ด้านหนึ่งของร้าน แถมเชื่อมชั้นล่าง กับชั้นลอยด้วยบันไดเล็กๆ และเสริมด้วยโคมไฟ ทำให้ร้านดูมีมิติมากขึ้น ส่วนอีกด้านหนึ่งของร้านเป็นมุมกาแฟ พร้อมที่นั่งจิบกาแฟ ด้วยโต๊ะ เก้าอี้ ที่ไม่เหมือนใคร ส่วนด้านหน้าของร้าน มีชั้นวางนิตยสารและหนังสือพิมพ์ รวมทั้งโต๊ะ เก้าอี้ อีก 2 ชุด เพื่อให้ลูกค้าได้ออกมานั่งทัศนาภายนอกร้านได้อย่างสบายใจ

ยืนตรงหน้าร้าน แหงนหน้าขึ้นไป พบกับป้ายชื่อร้านที่เขียนว่า Bookcafe ที่บ่งบอกได้ถึงสไตล์ของร้านว่า ร้านนี้ขายทั้งหนังสือและกาแฟ

เข้าไปในร้านอีกครั้ง ถามหาเจ้าของร้าน เมื่อพบกันแล้ว จึงไม่ค่อยแปลกใจที่รูปแบบของร้านออกมาทันสมัยขนาดนั้น เพราะเจ้าของร้านเอง ก็เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่มีความคิดออกจะแตกต่าง

   คุณวรวิทย์ ไชยทิพย์ วัย 32 ปี เจ้าของร้านหนังสือแห่งนี้ เล่าให้ฟังว่า เปิดร้านหนังสือมาได้ประมาณปีเศษ โดยก่อนหน้านี้ ก็เคยมีประสบการณ์ในเรื่องร้านหนังสือมาบ้างเช่นกัน

"เคยขายเล่นๆ ใต้ถุนตึกคอนโดฯ แห่งหนึ่ง ด้วยความที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ตอนนั้นทำงานประจำไปด้วย จึงได้ประสบการณ์กับร้านขายหนังสือมา" คุณวรวิทย์ ว่าอย่างนั้น

ราวปี 2542 คุณวรวิทย์ ทำงานประจำที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ตำแหน่งเกี่ยวกับการผลิตหนังสือ นับว่าเป็นงานที่มั่นคงมากงานหนึ่ง แต่เขายังพยายามที่จะหาธุรกิจเป็นของตัวเองให้ได้ เขาว่า "เราก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า เป็นลูกจ้างไม่มีทางรวย แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะรวยอะไรมาก แค่จะทำในสิ่งที่ชอบ คือผมชอบอ่านหนังสือ ชอบงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเป็นทุนเดิม และที่สำคัญที่บ้านผมเคยทำร้านขายของชำมาก่อน ซึ่งเราได้บทเรียนว่า การทำร้านขายของชำต้องใช้เงินสดไปลงเป็น เงินทุน ในขณะที่ร้านหนังสือไม่ต้องใช้เงินสด เพราะมีระบบฝากขาย เราไม่ต้องลงเงินทุนกับสินค้า แต่ถ้าขายได้เท่าไหร่ก็หักกันไป"

จะว่าไปแล้ว ร้านหนังสือ เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีคนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันกันมาก แต่ก็นับว่าเป็นธุรกิจปราบเซียนทีเดียว เพราะหากทำเลไม่ดีจริงๆ ถึงกับปิดตัวกันง่ายๆ หรือแม้ว่าทำเลดีแล้ว แต่กลุ่มคนอ่านกับสินค้าที่วางขายไม่สัมพันธ์กัน ก็ไปไม่รอดเหมือนกัน

"คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ" หลายคนพูดกันมากทีเดียวกับประโยคนี้ พร้อมกับยกสถิติต่างๆ ขึ้นมาเปรียบเทียบกับประเทศโน้นประเทศนี้ สรุปก็คือ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจร้านหนังสือมักจะยกขึ้นมา แต่สำหรับคุณวรวิทย์ แล้ว เขาว่า เขาได้ยินทฤษฎีใหม่ อันเป็นของเจ้าของร้านหนังสือชั้นนำของประเทศที่ว่าไว้ว่า จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่จะทำอย่างไรให้หนังสือไปอยู่ใกล้ชิดกับคนอ่านต่างหาก

"ถ้าทฤษฎีนี้ถูกจริง ผมก็ว่า ผมมาถูกทาง เพราะร้านของผมเป็นร้านสแตนด์อะโลน ที่ไม่อยู่ในห้าง พร้อมให้บริการกับคนในชุมชน" คุณวรวิทย์ ว่าอย่างนั้น

คุณวรวิทย์ พูดให้ฟังถึงระบบการขายหนังสือว่า ปกติทุกสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือ อาจจะเป็นบริษัทในเครือของสำนักพิมพ์นั้นเอง หรืออาจจะไปจ้างให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง จัดจำหน่ายก็ได้ ดังนั้น การที่เขาจะขายทั้งหนังสือที่เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กและนิตยสาร เขาจะไปติดต่อกับบริษัทจัดจำหน่าย อาทิ นานมี อัมรินทร์ เคล็ดไทย ประพันธ์สาร สารคดี ดวงกมล งานดี เพ็ญบุญ

การจ่ายเงิน ใช้ระบบเครดิต หรือการฝากขาย โดยจะได้ส่วนลดจากหน้าปกมาประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ และเครดิต ประมาณ 3 เดือน เมื่อพ้น 3 เดือนแล้ว ทางบริษัทผู้จัดจำหน่ายจะมาเก็บหนังสือกลับไป พร้อมกับมีหนังสือใหม่เข้ามา โดยขายได้เท่าไหร่ ก็จ่ายเท่านั้น

แต่ทั้งนี้ ในบริษัทผู้จัดจำหน่าย จะต้องเรียกเงินมัดจำไว้ อาจจะเป็น 20,000-30,000 บาท ดังนั้น ผู้ประกอบการเอง อาจจะต้องมีเงินทุนสำหรับเงินมัดจำนี้ และนี่เอง ที่เป็นเหตุผลว่า ร้านหนังสือร้านเล็กๆ ที่มียอดขายไม่มาก แต่ต้องการขายหนังสือของหลายๆ สำนักพิมพ์ หรือจากหลายๆ บริษัทผู้จัดจำหน่าย จึงต้องจ่ายเงินมัดจำเป็นจำนวนไม่น้อยเลย

"ตอนนี้ ผมเองก็พยายามทำในหลายๆ แนวทาง อย่างร้านที่ขายนิตยสารจะไม่มีพ็อคเก็ตบุ๊ก ดังนั้นผมกำลังจะทำตัวเป็นสายส่งด้วยคือ เอาหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊กไปวางขายที่ร้านขายนิตยสารเหล่านี้ หรือนำหนังสือประเภทสัตว์เลี้ยงไปฝากขายไว้ที่ร้านสัตวแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาก็พอขายได้" คุณวรวิทย์ เล่าให้ฟัง และต่ออีกว่า

"เรื่องการลดราคาหนังสือ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เพราะดูจากราคาส่วนต่างที่ร้านได้รับ (กำไร) ไม่มากเลย แต่ในขณะที่การแข่งขันสูง ก็เลี่ยงการลดราคาได้ยาก อย่างที่ร้านผม อยู่ในย่านที่ร้านขายหนังสือลดราคากันหมดเลย แต่ผมก็ไม่ลดราคานะ ผมจะใช้วิธีแถมเป็นของเล็กๆ น้อยๆ มากกว่า ที่ผมไม่ลดราคาเพราะว่า สมมติว่า เราลดราคาไป 10 เปอร์เซ็นต์ การที่เราจะทำเม็ดเงินให้ได้เท่ากับที่เราไม่ลดราคา นั่นคือ เราต้องทำยอดขายเพิ่มขึ้นอีก"

เรื่องส่วนลดราคาหนังสือนี้ คุณวรวิทย์ ว่า ในวงการธุรกิจขายหนังสือได้คุยกันว่า ไม่ควรลดราคาเพราะอย่างในต่างประเทศ ถ้าหนังสือออกมาใหม่ ไม่ถึง 6 เดือน จะห้ามลดราคาเลย นอกจากนี้ การลดราคาในร้านใหญ่ อาจจะทำได้ แต่ถ้าเป็นร้านเล็กๆ ซึ่งได้กำไรน้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้ได้น้อย แต่ถ้าไม่ลด กลายเป็นว่า ร้านเล็กๆ เป็นผู้ร้ายในสายตาของลูกค้า

อย่างที่กล่าวที่ร้านของคุณวรวิทย์ นอกจากจะมีพ็อคเก็ตบุ๊กอย่างหลากหลายแล้ว ยังมีหนังสือพิมพ์ และนิตยสารวางขายอยู่หน้าร้านด้วย ซึ่งเขาบอกว่า มีไว้ดักลูกค้า เมื่อลูกค้าแวะซื้อก็จะชวนให้ลูกค้าเข้ามาดูหนังสือในร้านด้วย และสำหรับพ็อคเก็ตบุ๊กและหนังสือทั่วไป ที่ร้านบุ๊คคาเฟ่ แห่งนี้ ยังมีหนังสือประเภทที่หาไม่ได้ทั่วไป หากต้องการบางครั้งต้องเข้าไปหาซื้อในเมือง อย่างสีลม สยาม หรือสุขุมวิท เช่น หนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือท่องเที่ยว หรือหนังสือทางด้านศิลปวัฒนธรรม

คุณวรวิทย์ พูดถึงร้านหนังสือเช่าว่า ร้านหนังสือเช่าที่เกิดในเมืองไทยส่วนใหญ่ เป็นร้านเช่าหนังสือการ์ตูน หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า ที่ว่าร้านหนังสือเช่า ก็คือ ร้านหนังสือการ์ตูนให้เช่านั่นเอง

"ผมเคยทำร้านหนังสือให้เช่า แต่เป็นร้านหนังสือเช่าจริงๆ คือไม่มีหนังสือการ์ตูน และผมก็ได้เรียนรู้ว่า ร้านหนังสือเช่าถ้าจะให้อยู่ได้ ต้องเป็นหนังสือการ์ตูน"

ถึงกระนั้น คุณวรวิทย์ ยังต้องการจะทำหนังสือเช่าอีกครั้ง แต่คราวนี้มาแปลก ลองฟังไอเดียของเขาดู

"ผมคิดโครงการแปลงหนังสือเป็นทุน หรือธนาคารหนังสือ คือจะให้ลูกค้า และคนทั่วไปได้ร่วมสนุกด้วย คือใครที่มีหนังสือที่ไม่หวงแล้ว และต้องการแบ่งปันให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมกับมีรายได้ ให้นำหนังสือมาไว้ที่ร้านของผม ผมจะเปิดให้เช่า โดยผู้ที่มาเช่าจะต้องจ่ายค่ามัดจำราคาเท่าหนังสือ ณ สภาพนั้นๆ และคิดค่าเช่าประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของราคาหน้าปกต่อวัน ค่าเช่าที่ได้ก็แบ่งกับทางร้านคนละครึ่ง ซึ่งวิธีการอย่างนี้ จะทำให้บรรยากาศการอ่านหนังสือสนุกขึ้น ที่ผ่านมา ผมเริ่มทำมาได้สัก 1-2 เดือนแล้ว มีลูกค้านำหนังสือประเภทฮาวทูมาวาง ตอนแรกคิดว่าจะไม่มีคนสนใจ ก็ปรากฏว่ามีคนมาเช่าไปเยอะเหมือนกัน"

ที่ร้านของคุณวรวิทย์ อย่างที่บอก ว่าแต่งร้านได้สวยงามน่าสนใจ จนกระทั่งมีลูกค้าที่เป็นสถาปนิกหรือนักออกแบบตกแต่งภายในมาเยี่ยมชมบ่อยๆ การที่เป็นร้านที่น่าสนใจนี้เอง ที่ชั้นสองและชั้นสามของร้าน เขาจึงแบ่งให้ผู้ที่สนใจมาทำธุรกิจเช่า ธุรกิจที่ว่าได้แก่ โรงเรียนสอนร้องเพลง สถาบันสอนโยคะ สอนภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น

นอกจากนี้ เจ้าของร้านยังพยายามจัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนพบผู้อ่าน ที่เขาจะเชิญนักเขียนผู้ที่เป็นที่ชื่นชอบของหนอนหนังสือมาพบปะพูดคุยกันที่ ร้าน หรืออย่างที่เขาจัดไปเมื่อเร็วๆ นี้คือ "ปาร์ตี้ลุงป้า" โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เกษียณอายุ ได้เข้ามาทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์และเป็นการใช้เวลาว่างของลุงป้าให้เพลิด เพลิน

"ด้วยการออกแบบของร้านในลักษณะนี้ อีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่เรากำลังจะทำคือ กลุ่มนักศึกษา เพราะที่ผ่านมาก็มีนักศึกษามานั่งอ่านหนังสือกันที่นี่ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป็นพลังเงียบ เพราะกลางวันบางวันก็ไม่มีวิชาเรียน ผมกำลังมองว่าจะให้กลุ่มนี้มาร่วมกิจกรรมกับทางร้านได้อย่างไร"

เหล่านี้เป็นกลยุทธ์ที่เขาพยายามสร้างบรรยากาศของร้านหนังสือธรรมดา ให้ดูคึกคัก และเป็นร้านหนังสือที่แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใคร

ที่ฝาผนังของร้านยังมีฝาเขียนสีน้ำมัน ฝีมือศิลปินกลุ่มต่างๆ ซึ่งเจ้าของร้านว่า "ตั้งใจจะให้เป็นที่แสดงงานศิลปะหมุนเวียน เหมือนในต่างประเทศที่เขาจะให้โอกาสศิลปินหน้าใหม่ ได้แสดงผลงาน ที่ผ่านมาก็นำมาแสดง 2-3 รายแล้ว"

ภาพเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะแสดงอย่างเดียว แต่ยังขายด้วย ใครที่สนใจ แวะเวียนไปดูได้

    พูดถึงเงินลงทุน คุณวรวิทย์ เผยว่า ร้านนี้เขาลงทุนไปราวๆ 300,000 บาท ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนร้านหนังสือ และส่วนกาแฟ มุมกาแฟนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 100,000 บาท ที่เหลือเป็นส่วนของหนังสือ ส่วนทำเลที่ตั้งของร้าน อยู่ในย่านธุรกิจพอสมควร ติดกับธนาคาร และยังเป็นธนาคารที่เปิดทำการทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์ จึงทำให้ร้านดูคึกคักตลอดทั้งสัปดาห์

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของอาชีพคนรุ่นใหม่ ที่พยายามสานฝันให้เป็นจริง ด้วยการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง เป็นนายของตัวเอง แม้วันนี้ยังไม่มีตัวเลขมาแสดงให้เห็นว่าเขาประสบความสำเร็จเสียทีเดียว แต่นับเป็นการเริ่มต้น การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่ดีสำหรับหนุ่มวัย 30 ต้นๆ เช่นนี้

https://sites.google.com/site/mrsavebook/ran-khay-hnangsux



Create Date : 27 กรกฎาคม 2557
Last Update : 27 กรกฎาคม 2557 16:21:47 น. 0 comments
Counter : 1797 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sriphat
Location :
ภูเก็ต Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




โลกนี้มีเรื่องราวดีๆ ไว้ให้แบ่งปันกันมากมาย
New Comments
[Add sriphat's blog to your web]