Group Blog
 
All Blogs
 

บันทึกของผู้เฒ่า (๖) เรื่องของเทวดา

บันทึกของผู้เฒ่า

เร่ื่องของเทวดา

เมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๓ ได้ไปทำบุญที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ท่าพระจันทร์ ตามปกติที่ไปทำบุญทุกวันอาทิตย์ เมื่ออาทิตย์แรกของเดือนมกราคม

คืออาทิตย์ที่ ๓ ไปทำบุญที่วัดอินทรวิหาร และวัดระฆังโฆสิตาราม

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ อยู่บ้าน เพราะได้ไปทำบุญบริจาคเงินที่ มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ ซึ่งเป็นวันเด็กแห่งชาติแล้ว

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ไม่ค่อยสบายอยู่บ้าน รุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ ๑๘ ก็ไปทำบุญที่ วัดปทุมวนาราม แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าใบเสร็จหมด จึงไปบริจาคเงินบำรุงโรงพยาบาลสงฆ์แทน

วันที่ ๒๓ มกราคมนี้พระเจ้าหน้าที่รับบริจาคให้หนังสือมาสองเล่ม คือวารสารพุทธจักรรายเดือน และหนังสือที่ระลึก งานบำเพ็ญกุศลอุทิศให้เจ้าของทุน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ครบรอบ ๔๕ ปี ประจำปี ๒๕๕๓

หนังสือชื่อ นิธิกถา ซึ่งก็แปลว่า เรื่องของมูลนิธิ ที่ท่านเจ้าคุณพระเทพสุวรรณโมลี (สะอิ้ง สิรินันโท) เจ้าคณะสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์ ได้เทศน์ไว้เมื่อปีที่แล้วนั่นเอง

เนื้อเรื่องที่เทศน์คือการปรารภถึงการก่อตั้ง และการดำเนินงานของมูลนิธิ ฯ ซึ่งได้เริ่มก่อกำเนิดมาเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๐๗ มีทุนเพียงน้อยนิดเมื่อดำเนินการมาจนถึงบัดนี้ ก็มีทุนอยู่เพียง ๑๔๐ ล้านบาทเศษเท่านั้น โดยเฉพาะในเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ ดอกผลที่ได้จากธนาคารจึงไม่พอกับค่าใช้จ่ายของมูลนิธิ ฯ สรุปว่าท่านหวังว่าถ้ามีต้นทุนสัก ๕๐๐ ล้านบาทก็คงจะพอ และองค์แสดงพระธรรมเทศนา ก็อธิบายถึงบุญที่ได้จากการบริจาคเงินให้มูลนิธิ ฯ และเชิญชวนให้ร่วมกันบริจาคให้มากขึ้น

เราเองเมื่อแรกที่มาบริจาคเพียงสองร้อยบาท โดยตั้งใจว่าจะมาทำทุกเดือน พระท่านก็ชวนให้ตั้งมูลนิธิเข้าร่วมกับมูลนิธิ มจร. แต่เราคิดว่าอีกไม่นานก็จะตายแล้ว เงินก็ยังไม่งอกงออกมาสักเท่าไร จึงถวายเป็นค่าอาหารภิกษุสามเณร ที่มาศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งหมดจะดีกว่า เพราะถ้าบริจาคครบปีได้ต้นทุน ๒๔๐๐๐ บาท จะได้ดอกเบี้ยอย่างมากร้อยละสาม ก็คงจะได้เงินมาใช้ประโยชน์เพียง ๖๐๐ กว่าบาท ยิ่งมาถึงสมัยนี้ คงจะไม่ถึง ๓๐๐ บาทเสียด้วยซ้ำ แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้นปีละ ๒๔๐๐๐ บาทก็ตาม จึงขอให้ท่านที่มีเงินมาก ๆ บริจาคเป็นกองทุนไว้เถิด เราขอให้เท่าที่มีก็แล้วกัน คาดว่าทางมูลนิธิคงจะไม่ผิดหวังกับความคิดของเราสักเท่าไรนัก

ในหนังสือที่ได้รับมาจากวัดมหาธาตุ ฯ นี้ ยังมีบทความอีกเรื่องหนึ่งคือ อานุภาพพระปริตร ซึ่งพิมพ์
จากปาฐกถาของ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธัมมจิตโต) อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๒ ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวรมุนี

ท่านได้อธิบายถึงพระคาถาที่สวดชุมนุมเทวดา ที่ขึ้นต้นก่อนที่สวดพระปริตร มีข้อความเป็นคาถาดังต่อไปนี้

สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน
ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต
ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา
ติฏฐันตา สันติเกยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ

ซึ่งมีคำแปลว่า ขอเชิญเทวดาทั้งหลาย ผู้สิงสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นกามภพด้วย ในชั้นรูปภพด้วย ผู้สิงสถิตอยู่บนยอดเขา และที่หุบผาด้วย ทั้งที่สถิตอยู่ในวิมานบนอากาศด้วย และภุมมเทวดาทั้งหลาย ซึ่งสิงสถิตอยู่ในทวีป ในรัฐ ในหมู่บ้าน บนต้นไม้ ในป่าชัฏ ในเหย้าเรือน และเรือกสวนไร่นา รวมทั้งบรรดายักษ์ คนธรรพ์ และนาคทั้งหลาย ผู้เป็นสาธุชน ซึ่งสิงสถิตอยู่ในน้ำ บนบก ณ ที่ลุ่มที่ดอน ที่ใกล้คียง จงมาชุมนุมกัน ขอเชิญฟังคำของพระมุนีเจ้าผู้ประเสริฐกันเถิด

แล้วพระท่านก็ประกาศต่อไปว่า ธัมมัสสะวะนะกาโล อยัมภะทันตา สามจบ แปลว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาฟังธรรม
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาฟังธรรม
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาฟังธรรม

จากนั้นท่านประธานสงฆ์จึงเริ่มสวด ด้วยบทนมัสการพระรัตนตรัย ตามด้วยไตรสรณาคมณ์ ต่อด้วยบทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จากนั้นจะเริ่มสวดพระปริตรสิบสองตำนานตามลำดับ

ตรงนี้ที่น่าสนใจว่า เราไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลยว่า คำสวดชุมนุมเทวดา ที่ได้ยินพระท่านสวดนำก่อนเจริญพระพุทธมนต์ ในงานพิธีต่าง ๆ ตั้งแต่เด็กจนแก่ และแม้จะเคยบวชเป็นพระมาแล้วนั้น มีคำแปลว่าอย่างไร

ได้รู้แล้วจึงเข้าใจว่า ทำไมพุทธศาสนิกชนที่เคารพนับถือพระรัตนตรัย ยังคงเคารพบูชาเทวดา เทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายร่วมไปด้วยเป็นส่วนมาก

แล้วก็หวนไปนึกถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในโลก ที่ได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปคราวละมากมาย อย่างเมื่อปีก่อนพายุพัดถล่มอดีตเมืองหลวงของพม่า และแผ่นดินไหวในประเทศจีน รวมทั้งเฮติเมื่อต้นปีนี้ด้วย

บรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนเหล่านั้นเคารพนับถือ ไม่ได้ช่วยปกปักษ์รักษาเขาให้รอดพ้นภัยธรรมชาติเลยหรือ.

##########




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2558    
Last Update : 8 มิถุนายน 2558 8:29:43 น.
Counter : 409 Pageviews.  

บันทึกของผู้เฒ่า (๕) สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ตอนแรก

บันทึกของผู้เฒ่า (๕)

เมื่อวันพุธที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๓ ได้ไปทัศนาจรกับเพื่อน ที่เคยรับราชการในกรมการทหารสื่อสารด้วยกันมาเมื่อ ๔๐ ปีก่อน รวม ๙ คน เป็นทหารสื่อสาร ๕ คน ทหารสรรพาวุธ ๒ คน เป็นเพื่อนพลเรือนหนึ่งคน และเป็นลูกทหารสื่อสารหนึ่งคน แยกออกเป็นชายสี่คน หญิงห้าคน ออกเดินทางจากสวนอ้อยประมาณ ๐๖.๓๐ น. ขาไปแวะวัดญาณสังวราราม เดินดูมุมที่ยังไม่เคยเยี่ยมแม้จะมาแวะหลายครั้งแล้วก็ตาม

แล้วไปแวะฐานทัพเรือสัตหีบ ลงชมเรือโดยการขึ้นบันไดไปบนดาดฟ้าของ ร.ล.จักรีนฤเบศรพร้อมกับยลโฉม ร.ล.พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งจอดเทียบอยู่ด้านหัวเรือ และ ร.ล.ตากสิน ที่กำลังแล่นผ่านออกไปในทะเลหลวงอย่างสง่างามด้วย

แล้วไปดูศูนย์เพาะพันธุ์เต่าทะเลที่หน่วยรักษาฝั่ง จากนั้นแวะกินก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารกลางวัน ที่ตลาดสัตหีบ แล้วจึงเข้าที่พักอาคารรับรองของสวัสดิการทหารเรือ อ่าวเตยงาม โดยจ่ายค่าที่พักในราคากันเองเพราะเป็นทหารบก

เวลาประมาณสี่โมงเย็นขึ้นรถตู้คันเดิม จะไป หาอาหารเย็นที่สโมสรหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ่าวดงตาล แต่สโมสรปิดปรับปรุงจึงขึ้นภูเขาไปถึงแหลมฟ้าผ่า ซึ่งเป็นที่ตั้งประภาคารหรือกระโจมไฟ อาภากร และเป็นที่ตั้งศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แล้วก็ย้อนกลับมากินอาหารเย็นที่สโมสรเรือใบ ติดกับอาคารที่พักของเรานั่นเอง

รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๓ กินอาหารเช้าฟรีของที่พักแล้ว ก็ออกเดินทางกลับโดยเส้นทางเลียบทะเลพัทยาผ่านหาดจอมเทียน จนมาจอดแวะหนองมนเพื่อให้ฝ่ายสตรีลงไปจ่ายเงิน แล้วก็เลี้ยวเข้าบางแสน ผ่านแหลมแท่นอ้อมเขาสามมุขไป แวะกินอาหารกลางวันที่ร้านโพธิ์ทะเลหลวง ซึ่งลัดเลี้ยวเข้าไปจนถึงริมทะเล ในขณะนั้นน้ำขึ้นเต็มเปี่ยม มีลมหนาวพัดแรงจนเย็นยะเยือกตลอดเวลา ขนาดพัดลมหมุนได้เองโดยไม่ต้องเปิดไฟ

อิ่มท้องแล้วก็ออกเดินทางไปแวะที่หมู่บ้านอ่างหินหรืออ่างศิลา นึกว่าจะมีใครลงซื้อครกหินหรือสาก(กระเบือ) มีแต่แม่บ้านคนหนึ่งซื้อกระถางดินเผาเล็ก ๆ เป็นรูปน่ารักสำหรับปลูกไม้ประดับ

จากนั้นก็แวะวิหารเซียน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก เป็นวิหารที่มีรูปปั้นเซียนของนิกายมหายาน ปางต่าง ๆ เป็นตึกสูงสี่ชั้น ซึ่งผู้เฒ่าเดินขึ้นบันไดไปชั้นเดียวก็เข่าอ่อน ต้องวนเวียนชมความวิจิตรพิสดารแค่ภายนอก ปล่อยให้หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ขึ้นไปเพียงสามคน

จากนั้นก็บึ่งรถเข้ากรุงเทพทางถนนมอร์เตอร์เวย์ เป็นระยะทางเท่าไรไม่รู้ แต่ใช้เวลากว่าชั่วโมง ทำให้มีการกระสับกระส่าย อยากจะลดน้ำหนักแต่หาที่จอดไม่ได้เลย คิดจะจอดตรงที่จอดรถฉุกเฉิน แล้วเอารถบัง แต่ฝ่ายสตรีที่มีจำนวนมากกว่าห้ามไว้ เพราะเธอเหล่านั้นก็มีความประสงค์เช่นเดียวกัน จำต้องกัดฟันทนจนถึงด่านเก็บเงินครั้งสุดท้าย จึงมีที่ให้ปลดทุกข์ ดูลักษณะแล้วเป็นสถานที่สร้างใหม่เอี่ยม เข้าใจว่าคงจะมีผู้ร้องเรียนหลายราย ที่มีทุกข์เช่นเดียวกับเรา

แล้วก็มาลงจากทางด่วนที่ถนนพระรามหก ข้างคลองประปาสามเสน แล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาของตน ซึ่งมีทั้งรังสิต บางกรวย พรานนก และสวนอ้อย ด้วยความเรียบร้อย

วันรุ่งขึ้นศุกร์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๓ ผู้เฒ่าปวดเมื่อยไปหมดทั้งต้นคอ หัวไหล่ บั้นเอว และหัวเข่า ด้วยความที่ต้องมุดเข้าเข้ามุดออกรถตู้ เดินขึ้นลงที่ลาดเขา และเรือจักรี ฯ รวมทั้งขึ้นบันไดเพื่อไปไหว้พระไหว้เซียนหลายแห่ง

แต่ก็ยังคิดถึงเพื่อนในไร้สังกัด รีบเอาสามก๊กฉบับย่นย่อมาวางไว้ก่อน รุ่งขึ้นจะได้เอาตอนแรกมาวางให้ทันใจ

ปรากฏว่าเมื่อมาถึงวันนี้ เสาร์ที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๓ วางสามก๊กฉบับลิ่วล้อตอนแรกชุด โจรปล้นเมือง เมื่อเวลาประมาณ ๐๖.๓๐ น. ได้หมายเลข m8798105 แล้วก็เตร่ไปดูกระทู้อื่น ๆ พอจะเลิกไปกินอาหารเช้า ๐๗.๐๐ น. ลองดูว่าจะมีใครเห็นหรือยัง ก็อันตรธานไปเสียแล้ว

เรื่องสามก๊กอันเป็นวรรณคดีไทย จากพงศาวดารจีน ที่ว่ากันว่าเป็นยอดของวรรณคดีร้อยแก้ว ในยุครัตนโกสินทร์นี้ ช่างเป็นอาถรรพ์ใน รัตนโกสินทร์ศกสองร้อยยี่สิบกว่าปีเสียจริง ๆ

คงจะต้องใช้วิธีเล่าเรื่องย่อแบบ ตอนเกริ่นนำนั้นเสียทั้งหมดก็เป็นได้



สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ชุด โจรปล้นเมือง

สามก๊กฉบับลิ่วล้อ

ขุนโจรปล้นเมือง

"เล่าเซี่ยงชุน"

ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ มีโจรก๊กหนึ่งเป็นพี่น้องกันสามคน โจรก๊กนี้มีอิทธิพลแผ่กระจายออกไป ครอบคลุมประชาชนถึงแปดหัวเมือง หัวหน้าใหญ่มีสามคนพี่น้อง คนโตชื่อ เตียวก๊ก คนรองชื่อ เตียวโป้ และคนสุดท้องชื่อ เตียวเหลียง
พี่น้องทั้งสามอาศัยอยู่ในเมืองกิลกกุ๋น วันหนึ่งพี่ชายใหญ่เดินทางไปเที่ยวหายาบนภูเขา พบชายแก่คนหนึ่งผิวหน้าอ่อนดังทารก ตาเหลืองเหมือนตาเสือ มือถือไม้เท้า พาเตียวก๊กเข้าไปในถ้ำ แล้วมอบตำราให้สามฉบับ ให้เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ สำหรับช่วยเหลือคนทั้งปวงให้อยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าคิดร้ายมิซื่อตรงต่อแผ่นดินแล้ว จะมีภัยอันตรายมาถึงตัว เตียวก๊กก็กราบไหว้รับเอาตำรานั้นมาศึกษาที่บ้านทั้งกลางวันกลางคืน จนมีความรู้กว้างขวาง จึงตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ เรียกว่า โต๋หยิน

พอดีปีนั้นมีโรคห่าระบาดใหญ่ในเมืองกิลกกุ๋น ชาวเมืองเจ็บไข้ได้ป่วยกันแทบจะทุกหลังคาเรือน เตียวก๊กจึงเขียนเลขยันต์ตามตำรา แจกให้ชาวเมืองเก็บไว้รักษาก็หายไข้ มีคนนับถือเลื่อมใสมาสมัครเป็นลูกศิษย์ ให้สั่งสอนวิชาประมาณร้อยเศษ

เตียวก๊กก็ตระเวนเดินทาง ไปรักษาคนไข้ตามหัวเมืองใหญ่น้อยต่าง ๆ ผู้คนก็นับถือเพิ่มมากขึ้นทุกที จนมีศิษย์เอกที่ตั้งให้เป็นนายบ้านตามตำบลต่าง ๆ ทั่วไป ตำบลใหญ่ก็มีคนอยู่ประมาณหมื่นเศษ ตำบลน้อยก็ประมาณหกเจ็ดพัน จัดเป็นหมวดหมู่มีธงบอกยี่ห้อรวมถึงสามสิบตำบล

เตียวก๊กก็ตั้งตนเป็นใหญ่คิดจะเป็นฮ่องเต้ ทางเมืองลกเอี๋ยงราชธานีจึงจัดกองทัพ ออกมาปราบปราม และป่าวร้องให้หัวเมืองต่าง ๆ ข่วยกันจัดทหารมาร่วมด้วย

จึงมีผู้มีฝีมือหลายคนยกกองทหารของตนมาช่วยปราบปรามโจรก๊กนี้ ตนสามพี่น้องตายไปหมด บ้านเมืองก็สงบลง ผู้ที่อาสามาปราบโจรก็ได้รับราชการเป็นเจ้าเมืองไปตาม ๆ กัน

ในจำนวนผู้อาสาเหล่านี้ ต่อมาก็เป็นตัวเอกของนิยายเรื่องสามก๊กทั้งสิ้น เช่น
เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย โจโฉ ตั๋งโต๊ะ ซุนเกี๋ยน

และบรรดาคนหนุ่ม ที่อาสาเข้ามาปราบโจรโพกผ้าเหลืองครั้งนี้ ต่อมาก็ได้เจริญเติบโต มีกำลังเข้มแข็ง แยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า สู้รบแย่งชิงอำนาจกันเอง

ทั้งฝ่าย แซ่โจ แซ่เล่า และ แซ่ซุน จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน อีกเก้าสิบเจ็ดปี จึงหมดยุคของสามก๊กลงโดยสิ้นเชิง.

##########




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2558    
Last Update : 6 มิถุนายน 2558 8:11:57 น.
Counter : 316 Pageviews.  

บันทึกของผู้เฒ่า (๔) เรื่องของปฏิทินหลวง (ต่อ)

บันทึกของผู้เฒ่า

เรื่องของปฏิทินหลวง (ต่อ)

การลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประจำทุกปีนั้น มีอยู่สองวาระด้วยกัน คือ วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม และ วันขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม ซึ่งทั้งสองวันนี้ก็จะมีการจัดงาน ณ ท้องสนามหลวงด้วย ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา จะแจกหนังสือธรรมะที่มีผู้พิมพ์ถวายพระราชกุศล วันขึ้นปีใหม่จึงแจกปฏิทินหลวง

ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาก็มีงาน ๕ ธันวามหาราช ให้ประชาชนเข้าร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพร และจุดพลุเฉลิมฉลองในเวลา ๑๙.๐๐ น.เศษ ส่วนในวันขึ้นปีใหม่ก็จัดงานตักบาตรในเวลาเช้า ประชาชนที่มาใส่บาตรแล้วก็จะกระจายกันออกไปทำบุญ ตามวัดต่าง ๆ ที่ใกล้บริเวณนั้นด้วย เช่นวัด ชนะสงคราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ ฝั่งธนบุรีเช่น วัดระฆังโฆษิตาราม ตรงข้ามกับ ท่าช้างวังหลวง วัดอรุณราชวราราม ตรงข้ามกับท่าเตียน และวัดประยูรวงศาวาส เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นต้น

ในปีนี้เมื่อ ๑๔ มกราคม มีเรือนำนักทัศนาจรไปไหว้พระ ๙ วัดในกรุงเทพมหานคร ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ พอมาถึงท่าจอดเรือหน้าวัดอรุณราชวราราม เครื่องสูบน้ำเข้าไประบายความร้อนของเครื่องยนต์ขัดข้อง สูบเข้าไปแล้วไม่ไหลกลับออก ทำให้น้ำถ่วงท้ายเรือค่อย ๆ จมลง แม้จะมีเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยมาช่วย ก็ไม่สามารถประคองไว้ได้ต้องปล่อยให้จม ดีแต่ว่าได้ช่วยให้ผู้โดยสาร ร้อยกว่าคน ขึ้นฝั่งได้หมดแล้ว จึงได้ทำบุญทำเจตนาเดิม โดยไม่ต้องรับเคราะห์ไปด้วย

เมื่อหมดจากเรื่องอุบัติเหตุแล้ว เราก็มาดูรายละเอียดในปฏิทินหลวงกันต่อ

รายการที่ ๑๑ วันประสูติสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร วันศุกร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๕๖

รายการที่ ๑๒ วันพระราชสมภพพระบรมวงศ์

วันเสาร์ ที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

วันจันทร์ ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๕ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร

วันประสูติพระบรมวงศ์และพระอนุวงศ์

วันพฤหัสบดี ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๐ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

วันเสาร์ ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๐๐ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุ

วันอังคาร ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

วันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๑๔ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศม์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร

รายการที่ ๑๔ วันสำคัญทางศาสนาอิสลาม

รายการที่ ๑๕ วันสำคัญทางคริสต์ศาสนา

รายการที่ ๑๖ วันสำคัญทางวัฒนธรรมและประเพณีจีน

รายการที่ ๑๗ ตารางเทียบปีต่าง ๆ

รัชกาลที่ ๑ ปีที่ ๑ ปีขาล จ.ศ.๑๔๔ ร.ศ.๑ พ.ศ.๒๓๒๕ ค.ศ.๑๗๘๒ – ๑๗๘๓

รัชกาลที่ ๑ ปีที่ ๒๘ ปีมะเส็ง จ.ศ.๑๑๗๑ ร.ศ. ๒๘ พ.ศ.๒๓๕๒ ค.ศ.๑๘๐๙-๑๐

รัชกาลที่ ๒ ปีที่ ๑ ปีมะเส็ง จ.ศ.๑๑๗๑ ร.ศ.๒๘ พ.ศ.๒๓๕๒ ค.ศ.๑๘๐๙ – ๑๐

รัชกาลที่ ๒ ปีที่ ๑๖ ปีวอก จ.ศ.๑๑๘๖ ร.ศ.๔๓ พ.ศ.๒๓๖๗ ค.ศ.๑๘๒๔ – ๒๕

รัชกาลที่ ๓ ปีที่ ๑ ปีวอก จ.ศ.๑๑๘๖ ร.ศ.๔๓ พ.ศ.๒๓๖๗ ค.ศ.๑๘๒๔ – ๒๕

รัชกาลที่ ๓ ปีที่ ๒๘ ปีกุน จ.ศ.๑๒๑๓ ร.ศ.๗๐ พ.ศ.๒๓๙๔ ค.ศ.๑๘๕๑ – ๒

รัชกาลที่ ๔ ปีที่ ๑ ปีกุน จ.ศ.๑๒๑๓ ร.ศ.๗๐ พ.ศ.๒๓๙๔ ค.ศ.๑๘๕๑ – ๒

รัชกาลที่ ๔ ปีที่ ๑๘ ปีมะโรง จ.ศ.๑๒๓๐ ร.ศ.๘๗ พ.ศ.๒๔๑๑ ค.ศ.๑๘๖๘ - ๙

รัชกาลที่ ๕ ปีที่ ๑ ปีมะโรง จ.ศ.๑๒๓๐ ร.ศ.๘๗ พ.ศ.๒๔๑๑ ค.ศ.๒๘๖๘ – ๙

รัชกาลที่ ๕ ปีที่ ๔๓ ปีจอ จ.ศ.๑๒๗๒ ร.ศ.๑๒๙ พ.ศ.๒๔๕๓ ค.ศ.๑๙๑๐ – ๑

รัชกาลที่ ๖ ปีที่ ๑ ปีจอ จ.ศ.๑๒๗๒ ร.ศ.๑๒๙ พ.ศ.๒๔๕๓ ค.ศ.๑๙๑๐ – ๑

รัชกาลที่ ๖ ปีที่ ๑๖ ปีฉลู จ.ศ.๑๒๘๗ ร.ศ.๑๔๔ พ.ศ.๒๔๖๘ ค.ศ.๑๙๒๕ – ๖

รัชกาลที่ ๗ ปีที่ ๑ ปีฉลู จ.ศ.๑๒๘๗ ร.ศ.๑๔๔ พ.ศ.๒๔๖๘ ค.ศ.๑๙๒๕ – ๖

รัชกาลที่ ๗ ปีที่ ๑๐ ปี จอ จ.ศ.๑๒๙๖ ร.ศ.๑๕๓ พ.ศ.๒๔๗๗ ค.ศ.๑๙๓๔ – ๕

รัชกาลที่ ๘ ปีที่ ๑ ปีจอ จ.ศ.๑๒๙๖ ร.ศ.๑๕๓ พ.ศ.๒๔๗๗ ค.ศ.๑๙๓๔ – ๕

รัชกาลที่ ๘ ปีที่ ๑๓ ปีจอ จ.ศ.๑๓๐๗–๘ ร.ศ.๑๖๔ – ๕ พ.ศ.๒๔๘๙ ค.ศ.๑๙๔๖

รัชกาลที่ ๙ ปีที่ ๑ ปีจอ จ.ศ.๑๓๐๗ – ๘ ร.ศ.๑๖๔ – ๕ พ.ศ.๒๔๘๙ ค.ศ.๑๙๔๖

รัชกาลที่ ๙ (ปัจจุบัน) ปีที่ ๖๕ ปีชาล จ.ศ.๑๓๗๑ – ๒ ร.ศ.๒๒๘ – ๙ พ.ศ.๒๕๕๓ ค.ศ.๒๐๑๐

รายการที่ ๑๘ กำหนดชำระภาษี (มีฃ่องไว้ให้กรอก)

รายการที่ ๑๙ เลขหมายโทรศัพท์ (หน่วยงานสำนักพระราชวัง)

รายการที่ ๒๐ บันทึกประจำวัน

รายการที่ ๒๑ บันทึกความจำ

############




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2558    
Last Update : 8 มิถุนายน 2558 8:33:27 น.
Counter : 388 Pageviews.  

บันทึกของผู้เฒ่า (๓) เรื่องของปฏิทินหลวง

บันทึกของผู้เฒ่า



ได้บันทึกไว้ด้วยความสบายใจว่า วันขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ร้ายแรงในประเทศไทย แต่กลับมีเหตุการณ์ร้ายแรงของโลก คือเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๗ ริกเตอร์ ที่ประเทศเฮติ ซึ่งเป็นเกาะอยู่ในทะเลแคริเบียน ย่านอเมริกากลาง ซึ่งร้ายแรงที่สุดในรอบ ๒๐๐ ปี

เหตุเกิดห่างจากเมืองเปอร์โตแปรงซ์ซึ่งเป็นเมืองหลวงประมาณ ๑๕ ก.ม.เมื่อเวลา ๑๖.๕๓ น.ของวันอังคารที่ ๑๒ มกราคม ตรงกับเวลา ๐๔.๕๓ น.ของวันพุธที่ ๑๓ มกราคม ในประเทศไทย จึงทำให้สถานที่ราชการสำคัญ ๆ อย่าง ทำเนียบประธานาธิบดี สำนักงานสหประชาชาติ อาคารสถานทูตเสียหายอย่างยับเยิน ประชาชนล้มตายมากมาย เพียงสองสามวันนับศพได้ครึ่งแสน

พ้นจากเรื่องอุบัติภัยแล้วก็เปิดปฏิทินหลวงดูรายละเอียดต่อจากคราวก่อน

รายการที่ ๖ ในสมุดปฏิทินหลวง ที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๓ นั้น เป็นการแจ้งให้ทราบถึงเวลาที่จะเกิดอุปราคาขึ้นในโลก ตลอดปีจะเกิด ๕ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ เกิดจันทรุปราคาบางส่วน บริเวณที่เห็น เริ่มจากทวีปแอฟริกา ทวีปยุโรป ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลียทางตะวันตกสุด และมหาสมุทรอินเดีย
เริ่มตั้งแต่ ๐๐ นาฬิกา ๑๕ นาที ๑๘ วินาที จนถึง ๐๔ นาฬิกา ๓๐นาที ๐๖ วินาที
แรกจับฉายาจากทิศเหนือไปทางตะวันออก ๑๗๓.๐ องศา ออกจากฉายานับจากทิศเหนือไปทางตะวันออก ๒๐๗.๒ องศา ความเข้มของคราส ๐.๐๘๒

ครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓ เกิดสุริยุปราคาวงแหวน นานที่สุด ๑๑ นาที ๐๔ วินาที บริเวณที่มองเห็น เริ่มจากตอนปลายสุดทางใต้ ของสาธารณรัฐชาด สาธ่รณรัฐแอฟริกากลาง ตอนเหนือของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐยูกันดา สาธารณรัฐเคนยา ตอนปลายสุดทางใต้ของ สาธารณรัฐอินเดีย ตอนเหนือของสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ตอนปลายสุดทางตะวันออกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ สหภาพพม่า และทางตะวันออกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
เริ่มตั้งแต่ ๑๑ นาฬิกา ๐๕ นาที ๒๔ วินาที จนถึง ๑๗ นาฬิกา ๐๗ นาที ๓๖ วินาที

ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๓ เกิดจันทรุปราคาบางส่วน บริเวณที่เห็นเริ่มจากบางส่วนของทวีปอเมริกา มหาสมุทรแปซิฟิก ทวีปแอนตาร์ติกา ทวีปเอเซียทางตะวันออก เครือรัฐออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ และหมู่เกาะใกล้เคียงในมหาสมุทรแปซิฟิก
เริ่มตั้งแต่ ๑๕ นาฬิกา ๕๕ นาที ๓๐ วินาที สิ้นสุดเวลา ๒๑ นาฬิกา ๒๑ นาที ๒๔ วินาที
แรกจับฉายาจากทางทิศเหนือไปทางตะวันออก ๓๗.๔ องศา ออกจากฉายานับจากทิศเหนือไปทางตะวันออก ๓๐๗ .๒ องศา ความเข้มของคราส ๐.๕๔๒

ครั้งที่ ๔ วันที่๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงบริเวณที่มองเห็น เริ่มจากหมู่เกาะคุกเฟรนซ์โปลินีเซีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก และพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐชิลี และสาธารณรัฐอาร์เจนตินา
เริ่มตั้งแต่ ๐๐ นาฬิกา ๑๐ นาที ๓๖ วินาที สิ้นสุดเวลา ๐๔ นาฬิกา ๕๗ นาที ๑๒ วินาทีสุริยุปราคาเต็มดวง เกิดขึ้นนานที่สุด ๕ นาที ๑๕ วินาที

ครั้งที่ ๕ วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง บริเวณที่มองเห็น เริ่มจากทวีปยุโรป ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา หมาสมุทีแปซิฟิก ทางตะวันออกของทวีปออสเตรเลีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และทางตะวันออกและทางเหนือของทวีปเอเชีย
เริ่มตั้งแต่ ๑๒ นาฬิกา ๒๗ นาที ๔๒ วินาที เริ่มเต็มดวงเวลา ๑๔ นาฬิกา ๔๐ นาที ๒๔ นาที ถึง ๑๕ นาฬิกา ๕๓ นาที ๓๖ วินาที สิ้นสุดเวลา ๑๘ นาฬิกา ๐๖ นาที ๐๖ วินาที
แรกจับฉายาจากทิศเหนือไปทางตะวันออก๑๑๔.๐ องศา ออกจากฉายา นับจากทิศเหนือไปทางตะวันออก๒๕๖.๔ องศา ความเข้มของคราส ๑.๒๖๑

รายการที่ ๗ เป็นวันหยุดราชการประจำปี ๒๕๕๓

รายการที่ ๘ เป็นระเบียบการชักธงชาติ ในวันสำคัญของชาติ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการตามรายการที่ ๗

รายการที่ ๙ เป็นวันหยุดทำการของธนาคารพาณิชย์ สำหรับธนาคารพาณิชย์ ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสตูล ให้หยุดในวันตรุษอิดิ้ลฟิตริ (เว้นวันรายอปอซอ) ตามประกาศสำนักจุฬาราชมนตรีอีกหนึ่งวัน หากวันตรุษดังกล่าว ไม่ตรงกับวันหยุดตามที่กล่าวข้างตน หรือวันหยุดประจำสัปดาห์

รายการที่ ๑๐ วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีนาถ และวันที่ระลึกของประเทศที่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย ตลอดสิบสองเดือน เช่น

๑ มกราคม สาธารณรัฐคิวบา วันแห่งชัยชนะการปฏิวัติ ค.ศ.๑๙๕๙

๑ มกราคม สาธารณรัฐเฮติ วันเอกราช ค.ศ.๑๘๐๔

๑ มกราคม สาธารณรัฐซูดาน วันเอกราช ค.ศ.๑๙๕๖

๔ มกราคม สหภาพพม่า วันเอกราช ค.ศ.๑๙๔๘

๒๒ มกราคม มาเลเซีย วันพระราชสมภพสมเด็จพระราชาธิบดี ฯ ค.ศ.๑๙๖๒

๒๖ มกราคม เครือรัฐออสเตรเลีย วันออสเตรเลีย ค.ศ.๑๗๘๘

๒๖ มกราคม สาธารณรัฐอินเดีย วันสาธารณรัฐ ค.ศ.๑๙๕๐

๒๘ มกราคม ราชอาณาจักรบาท์เรน วันพระราชสมภพสมเด็จพระราชาธิบดี ฮามัด บิน อิซา อัลคอลิฟะห์ ค.ศ.๑๙๕๐

๓๐ มกราคม ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน วันพระราชสมภพสมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลเลาะห์ ที่ ๒ อิบน์ อัลฮุสเซน ค.ศ.๑๙๖๒

๓๑ มกราคม สาธารณรัฐนาอูรู วันเอกราช ค.ศ.๑๙๖๘

๔ กุมภาพันธ์ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย ศรีลังกา วันเอกราช ค.ศ.๑๙๔๘

๗ กุมภาพันธ์ เกรนาดา วันเอกราช ค.ศ.๑๙๗๔

๑๑ กุมภาพันธ์ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน วันฉลองชัยชนะการปฏิว้ติอิสลามแห่งอิหร่าน ค.ศ.๑๙๗๙

๑๔ กุมภาพันธ์ ราชรัฐลิกเตนสไตน์ วันพระราชสมภพเจ้าชายฮันส์อดัม ที่ ๒ ค.ศ.๑๙๔๕

๑๕ กุมภาพันธ์ สาธารณรัฐเซอร์เบีย วันชาติ ค.ศ.๒๐๐๖

๑๖ กุมภาพันธ์ สาธารณรัฐลิทัวเนีย วันเอกราช ค.ศ.๑๙๑๘

๑๘ กุมภาพันธ์ สาธารณรัฐแกมเบีย วันเอกราช ค.ศ.๑๙๖๕

๒๑ กุมภาพันธ์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์ วันพระราชสมภพ สมเด็จพระราชาธิบดี ฮารัลด์ ที่ ๕ ค.ศ.๑๙๓๗

๒๓ กุมภาพันธ์ เนการาบรูไน ดารุลซาราม วันชาติ ค.ศ.๑๙๘๔

๒๓ กุมภาพันธ์ สาธารณรัฐสหกรณ์ กายอานา วันชาติ ค.ศ.๑๙๗๐

๒๔ กุมภาพันธ์ สาธารณรัฐ เอสโตเนีย วันเอกราช ค.ศ.๑๙๑๘

๒๕ กุมภาพันธ์ รัฐคูเวต วันชาติ ค.ศ.๑๙๖๑

๒๗ กุมภาพันธ์ สาธารณรัฐ โดมินิกัน วันเอกราช ค.ศ.๑๘๔๔

๓ มีนาคม สาธารณรัฐ บัลแกเรีย วันชาติ ค.ศ.๑๘๗๘

๖ มีนาคม สาธารณรัฐ กานา วันเอกราช ค.ศ.๑๙๕๗

๑๒ มีนาคม สาธารณรัฐ มอรอเชียส วันเอกราช ค.ศ.๑๙๖๘

๑๔ มีนาคม ราชรัฐ มอนาโค วันพระราชสมภพ เจ้าชายอัลแบร์ ที่ ๒ ค.ศ.๑๙๕๘

๑๗ มีนาคม ไอร์แลนด์ วันที่ระลึกนักบุญแพททริก ค.ศ.๔๖๑

๒๐ มีนาคม สาธารณรัฐ ตูนิเซีย วันเอกราช ค.ศ.๑๙๕๖

๒๑ มีนาคม สาธารณรัฐนามิเบีย วันเอกราช ค.ศ.๑๙๙๐

๒๓ มีนาคม สาธารณรัฐอิสลาม ปากีสถาน วันปากีสถาน ค.ศ.๑๙๔๐

๒๕ มีนาคม สาธารณรัฐ เฮลเลนิก (กรีซ) วันเอกราช ค.ศ.๑๘๒๑

๒๖ มีนาคม สาธารณรัฐประชาชน บังคลาเทศ วันเอกราชและวันชาติ ค.ศ.๑๙๗๑

สำหรับรายการที่ ๕ และรายการที่ ๑๐ นี้ ขอบันทึกไว้แค่เดือนมีนาคมก่อน และจะมาบันทึกต่อในภายหลัง.

##########




 

Create Date : 05 มิถุนายน 2558    
Last Update : 8 มิถุนายน 2558 8:32:30 น.
Counter : 387 Pageviews.  

สามก๊ก ในแวดวงของ"เล่าเซี่ยงชุน"

บันทึกจากสามก๊ก

แวดวงสามก๊ก ของ “เล่าเซี่ยงชุน”

ผมได้เคยเล่าไว้ว่า ผมเริ่มลงมือเรียบเรียง นิยายอิงพงศาวดารจีน เรื่องสามก๊ก จากฉบับของ ท่านเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ ก่อนเกษียณอายราชการ ๒ ปี เพื่อเตรียมตัวที่จะเขียนหนังสือเป็นงานหลักแทนการทำราชการ หลังเกษียณอายุ และเริ่มส่งไปให้หนังสือพิมพ์ประจำเหล่าต่าง ๆ ของกองทัพบก เช่นฟ้าหม่น ยุทธโกษ เสนาสาร วารสารสรรพาวุธ กองพลทหารราบที่ ๓ กองพลทหารราบที่ ๔ กองพลทหารม้าที่ ๑ และ สุรสิงหนาท (ของ กองพลทหารราบที่ ๙) วารสารรักษาดินแดน วารสารทหารช่าง หลังจากที่ได้เขียนให้นิตยสารทหารสื่อสาร มาตลอด ๓๐ ปีที่รับราชการอยู่ โดยใช้นามปากกาใหม่เอี่ยม “เล่าเซี่ยงชุน”

และได้ลงมือเขียนอย่างจริงจัง ตั้งแต่ ตุลาคม ๒๕๓๕ ทั้งเรื่องสั้น บันทึกของคนเดินเท้า วรรณคดีไทย และนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่องอื่น ๆ ส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือของเหล่าต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว เลยไปถึงนิตยสารในวงการตำรวจ ชื่อ โล่เงิน วารสารข่าวทหารอากาศ สยามอารยะ ของสยามสมาคม และ นิตยสารต่วยตูน อันลือชื่อ

จนถึง พ.ศ.๒๕๔๑ จึงได้รับการรวมพิมพ์ สามก๊กฉบับลิ่วล้อ โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ๓ เล่ม ซึ่งต่อมาก็มีสำนักพิมพ์อื่น ได้พิมพ์สามก๊กของ “เล่าเซี่ยงชุน” และเรื่องจีนอื่น ๆ อีกรวม เป็น ๙ เล่ม

เมื่อถึง พ.ศ.๒๕๔๘ ได้เข้ามารู้จักเวปพันทิป อันมีชื่อเสียงรู้จักกันเป็นอย่างดี เปิดหน้าถนนหนังสือ ในห้องสมุด จึงได้นำเรื่องที่เขียนและลงพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ เหล่านั้น มาวางให้สมาชิกได้อ่าน และรู้จักนามปากกา อื่น ๆ ของ ”เล่าเซี่ยงชุน” ด้วย

จนพันทิปได้เปิดคลับสามก๊ก ขึ้นในเวลาใกล้เคียง จึงได้ย้ายสามก๊กมาวางในคลับสามก๊ก เป็นเอกเทศ ซึ่งมีสมาชิกในยุคนั้นสนใจอ่าน และพูดคุยเสวนากันเป็นจำนวนมาก พอที่จะจัดงานพบปะสรรค์ได้หลายครั้ง ในช่วงเวลาของ พันทิปยุคเก่า ในจำนวนนั้นก็มีล็อกอิน ที่จำได้และได้พบตัวจริงกันหลายคน

ที่ติดต่อกันนานที่สด ก็น่าจะเป็นคุณ zodiac 28 ซึ่งคุยกันอยู่นานหลายปี จนถึงบัดนี้

แล้วผมก็ได้ติดต่อกับ เวปไทยสามก๊ก เพื่อขอให้ช่วยเผยแพร่ สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ออกไปให้กว้างขึ้น ต่อมาก็ได้รับการติดต่อจาก สามก๊กวิทยา ซึ่งเป็นชื่อเวป และเป็นชื่อล็อกอิน ในพันทิปด้วย ขอนำสามก๊กฉบับ ฮูหยิน และฮ่องเต้ ไปเผยแพร่ในเวป สามก๊กวิทยา ที่มีคำขวัญว่า ใครว่าอ่านสามก๊กสามจบแล้วคบไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันเวปนี้ได้เผยแพร่ สามก๊กคำกลอนประกอบภาพ ของ”เจียวต้าย”ด้วย

อีกรายหนึ่งคือ อินทรีย์สามก๊ก หรือ eagle ที่ติดต่อกันใน คลับสามก๊ก อยู่บ้าง ไม่นานนัก เพิ่งจะได้ข่าวว่า จัดพิมพ์หนังสือ สามก๊กฉบับจดหมายเหตุ ซึ่งไม่ซ้ำกับใครเลย

ผมซึ่งไม่ได้ออกไปนอกวงของ สามก๊กฉบับ หลอก้วนจง ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดย คณะของท่านเข้าพระยา พระคลัง(หน) ก็มีความสนใจว่า สามก๊กในนิยายอิงพงศาวดาร กับ สามก๊กในประวัติศาสตร์ จะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

จะจริง ๗๐ แต่ง ๓๐ หรือจริง ๓๐ แต่ง ๗๐ กันแน่ จึงรอฟังข่าวอยู่ จนได้พบข่าวในสามก๊กวิทยา ว่าหนังสือที่ว่านั้น ได้ออกมาวางตลาดแล้ว จึงรีบไปหามาอย่างรีบด่วน ด้วยราคาที่ไม่แพงเลย คือ

จดหมายเหตุสามก๊ก ภาค ยอดขุนพลจ๊กก๊ก

และ จดหมายเหตุสามก๊ก ภาค ยอดขุนพลวุยก๊ก โดย ยศไกร ส.ตันสกุล

ภาพหนังสือ







ซึ่งเป็นประวัติของบุคคลสำคัญในสามก๊ก เช่นเดียวกับการเรียบเรียงเล่าเรื่องของตัวละครสำคัญ ในสามก๊ก ของ ”เล่าเซี่ยงชุน” เช่นกัน ทำให้อ่านเทียบกันไปทีละคน โดยเข้าใจง่ายที่สุด ว่า จดหมายเหตุว่าอย่างไร และในนิยายว่าอย่างไร กับความเห็นเพิ่มเติมของผู้เรียบเรียงเท่านั้น

ไม่ได้ตำหนิว่าใครผิดใครถูก เพียงแต่ต่างมุมมองกัน ระหว่างประวัติศาสตร์ กับวรรณกรรม เช่นเดียวกับการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง สามก๊ก ที่ถ่ายทำเอามาฉายกันอยู่ในเวลานี้ หรือภาพยนตร์ตำนานประวัติศาสตร์ ของไทยเราที่ผ่านมา เท่านั้น

จึงนำมาบันทึกไว้ด้วยความยินดี ในข่าวคราวของแวดวงสามก๊ก ที่ผมหลงรักมาตลอดชีวิต.

#############





 

Create Date : 05 มิถุนายน 2558    
Last Update : 6 มิถุนายน 2558 6:00:40 น.
Counter : 713 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.