Group Blog
 
All Blogs
 

บันทึกของผู้เฒ่า (๒๖) มรรคมีองค์แปด

บันทึกของผู้เฒ่า (๒๖)

ความหมายของมรรคมีองค์แปด

คำว่ามรรคมีองค์แปด และแต่ละองค์มีความหมายอย่างไรนั้น เราเคยได้ฟังพระธรรมเทศนาจากท่านอาจารย์ต่าง ๆ และจากหนังสือธรรมะหลายครั้งหลายคราวแล้ว แต่ที่จะบันทึกต่อไปนี้ เป็นคำแปลโดยตรงจากบทสวดมนต์ภาษาบาลี ที่อุบาสกอุบาสิกา ใช้สวดกันมานานหนักหนาแล้ว ดังนี้

๑.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเห็นชอบเป็นอย่างเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความรู้อันใด เป็นความรู้ในทุกข์ เป็นความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นความรู้ในความดับแห่งทุกข์ เป็นความรู้ในทางดำเนินให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า ความเห็นชอบ

๒.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความดำริชอบเป็นอย่างไรเล่า ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่มุ่งร้าย ความดำริในการไม่เบียดเบียน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า ความดำริชอบ

๓.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การพูดจาชอบเป็นอย่างไรเล่า เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดหยาบ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า การพูดจาชอบ

๔.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การทำงานชอบเป็นอย่างไรเล่า เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่า เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของไม่ให้แล้ว เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า การทำการงานชอบ

๕.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การเลี้ยงชีวิตชอบเป็นอย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาวกของพระอริยเจ้า ในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีวิตที่ผิดเสีย ย่อมสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ชอบ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า การเลี้ยงชีวิตชอบ

๖.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเพียรชอบเป็นอย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายามปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังอกุศลธรรม อันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะละอกุศลธรรม อันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งอยู่ ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า ความพากเพียรชอบ

๗.ดุก่อนภิกษุทั้งหลาย ความระลึกชอบเป็นอย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและไม่พอใจในโลกออกเสียได้
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและไม่พอใจในโลกออกเสียได้
ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและไม่พอใจในโลกออกเสียได้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า ความระลึกชอบ

๘.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความตั้งใจชอบเป็นอย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปิติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่ เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึงทุติฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ ปิติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่
อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปิติ ย่อมเป็นผู้อยู่ในอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ เข้าถึงตติยฌาน แล้วแลอยู่ และเพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์ เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า ความตั้งใจชอบ.
จบบทสวดเรื่องอริยมรรคมีองค์แปดเพียงแค่นี้ แม้ว่าจะอ่านและเข้าใจยากสักหน่อย แต่คงจะไม่เกินกว่าที่จะทำความเข้าใจได้ในไม่ช้า.

###########




 

Create Date : 15 มิถุนายน 2558    
Last Update : 15 มิถุนายน 2558 19:52:03 น.
Counter : 297 Pageviews.  

บันทึกของผู้เฒ่า (๒๕) ที่พึ่งอันสูงสุด

บันทึกของผู้เฒ่า (๒๕)

เรื่องของที่พึ่งอันสูงสุด

เมื่อกล่าวถึงบทสวดมนต์พิเศษแล้ว ก็ยังมีที่น่าสนใจอยู่อีก ๒-๓ บท เช่นบทที่มีคำแปลว่า
มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเกิดมีภัยคุกคามแล้ว ก็ถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้บ้าง อารามและรุกขเจดีย์บ้าง เป็นสรณะ

นั่นมิใช่สรณะอันเกษมเลย นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด
เขาอาศัยสรณะนั้นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้ว
เห็นอริยสัจจ์ คือความจริงอันประเสริฐสี่ ด้วยปัญญาอันชอบ
คือเห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้

และหนทางอันมีองค์แปดอันประเสริฐ เครื่องถึงความระงับทุกข์
นั่นแหละเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด

เขาอาศัยสรณะนั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.
ต่อจากบทสวดบทนี้ ก็จะมีบทสวดที่ขยายความ ว่ามรรคมีองค์แปดคืออะไรบ้าง

หนทางนี้แล เป็นหนทางอันประเสริฐ ซึ่งประกอบด้วยองค์แปด ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ
สัมมาวาจา การพูดจาชอบ
สัมมากัมมันโต การทำการงานชอบ
สัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีวิตชอบ
สัมมาวายาโม ความพากเพียรชอบ
สัมมาสะติ ความระลึกชอบ
สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ

ส่วนบทสวดที่จะขยายความของมรรคทั้งแปดข้อนี้ จะนำมาบันทึกในคราวต่อไป.




 

Create Date : 15 มิถุนายน 2558    
Last Update : 15 มิถุนายน 2558 19:49:03 น.
Counter : 442 Pageviews.  

บันทึกของผู้เฒ่า (๒๔) ทางแห่งความเสื่อม

บันทึกของผู้เฒ่า (๒๔)

ทางแห่งความเสื่อม

เมื่อวันก่อนเพื่อนในไร้สังกัดท่านหนึ่ง เล่าถึงการไปทำบุญฟังธรรม และกราบสรีระท่านปัญญานันทภิกขุ ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ ปากเกร็ด นนทบุรี และมีผู้เข้ามาออกความเห็นหลายราย บางรายนำบทสวดมนต์ที่เกี่ยวกับความตายมาเสนอ ทำให้เรารำลึกถึงความหลังที่เกี่ยวกับวัดนี้ขึ้นมาทันที

เราไปทำบุญและสวดมนต์ สมาทานศีลห้า กับฟังธรรมที่วัดนี้ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๕๒๕ ท่านปัญญานันทะภิกขุยังไม่ชราภาพ ก่อนที่จะขยายถนนติวานนท์ออกไปกว้างขวางอย่างเดี๋ยวนี้ ไปเป็นประจำทุกวันอาทิตย์อยู่หลายปี จนเขาทำถนนรถติดกว่าจะเดินทางจากสวนอ้อยไปถึงวัด ต้องใช้เวลาเกือบสองชั่วโมง แล้วก็ไปไม่ทัน สวดมนต์ฟังเทศน์ เลยงดไป จนถนนเสร็จเรียบร้อยราบรื่นจึงกลับไปใหม่

สมัยนั้นทางวัดมีหนังสือสวดมนต์แปล ฉบับของสวนโมกขพลาราม ให้อุบาสกอุบาสิกายืมอ่านเวลาสวดมนต์เสร็จกิจแล้วก็คืน หนังสือก็ชำรุดหลุดลุ่ยขาดวิ่นไปตามกาลเวลา มีผู้ศรัทธาซื้อหามาบริจาคเพิ่มเติมอยู่เสมอ เราก็เห็นดีด้วยจึงซื้อติดมือไปบริจาคอาทิตย์ละ สองสามเล่ม สมัยนั้นเล่มละ ๖บาทถ้านับรวมแล้วก็น่าเป็นร้อยๆเล่มต่อมาเห็นมีมากมายกองโตแล้วจึงเลิกบริจาค หันมาทำอย่างอื่นแทน

เมื่อไปทันสวดมนต์ก็เปิดหนังสืออ่านตามทุกครั้ง ไม่เคยท่องได้เลย แต่ก็จำเวลาเขาสวดได้ ทุกครั้งเป็นบททำวัตรเช้า แล้วก็มีต่อด้วยบทพิเศษเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างเช่นบทหนึ่งเป็นเรื่องของ ทางแห่งความเสื่อมมีคำแปลว่า

ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม

ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดชังธรรมเป็นผู้เสื่อม

ผู้ใดทำความรักในคนพาล ไม่ทำความรักในบัณฑิต
เขาชอบใจธรรมของคนพาล ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ผู้ใดมักชอบนอนหลับ ชอบพูดคุย ไม่ขยันมักเกียจคร้านการงาน
และเป็นคนมักโกรธ ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ผู้ใดมีความสามารถอยู่ ไม่เลี้ยงดูบิดามารดา
ผู้แก่เฒ่าชราแล้ว ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ผู้ใดหลอกลวงสมณพราหมณ์ หลอกแม้วณิพกคนขอทานอื่นใด
ด้วยมุสาวาจา ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ผู้ใดมีทรัพย์สินเงินทอง มีของเหลือกินเหลือใช้
เขาบริโภคของที่ดี ๆ นั้นแต่ผู้เดียว ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ผู้ใดหยิ่งเพราะชาติกำเนิด หยิ่งเพราะทรัพย์ หยิ่งเพราะโคตร
ดูหมิ่นซึ่งญาติของตน ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ผู้ใดเป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา และนักเลงการพนัน
เขาได้ทำลายทรัพย์ที่หามาได้ให้พินาศชิบหายไป ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ผู้ใดไม่พอใจรักใคร่ในภรรยาตน กลับไปเที่ยวซุกซนกับหญิงแพศยา
และลอบทำชู้กับภรรยาผู้อื่น ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ชายใดผู้ถึงวัยแก่เฒ่าชราแล้ว ได้นำหญิงสาวแรกรุ่นมาเป็นภรรยา เขานอนไม่หลับ เพราะความหึงหวง และห่วงอาลัยในหญิงนั้น ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ชายใดตั้งหญิงนักเลงใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายมาเป็นแม่เรือน และหรือหญิงใดตั้งชายนักเลงใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายมาเป็นพ่อเรือน ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ผู้ใดเกิดในตระกูลกษัตริย์ มีโภคะน้อย แต่มีความอยากใหญ่
ปรารถนาราชสมบัติ ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ผู้เป็นบัณฑิตสมบูรณ์ด้วยความเห็นอันประเสริฐ ได้เห็นแห่งความเสื่อมทั้งหลายเหล่านั้นชัดแล้ว ท่านย่อมเว้นสิ่งเหล่านี้เสีย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงพบและเสพแต่โลกซึ่งมีแต่ความเจริญ ฝ่ายเดียว ด้วยประการฉะนี้แล.

##########




 

Create Date : 15 มิถุนายน 2558    
Last Update : 15 มิถุนายน 2558 6:58:59 น.
Counter : 419 Pageviews.  

บันทึกของผู้เฒ่า (๒๓) การให้

บันทึกของผู้เฒ่า (๒๓)

เรื่องของการให้

เมื่อนานมาแล้ว ได้ยินจากวิทยุว่าการให้มีหลายอย่างคือ ให้เป็นบุญ ให้เป็นคุณ ให้เป็นทุน ให้ไม่เป็นบุญ ให้ไม่เป็นคุณ ให้ไม่ลงทุน

แล้วก็ไม่ได้ยินว่าอธิบายขยายความอย่างไรต่อไป จึงคิดพิจารณา ด้วยตนเอง ดังนี้

ให้เป็นบุญก็คือ ทาน บริจาคเพื่อเอาบุญ หวังจะได้บุญ หรือสวรรค์

ให้เป็นคุณก็คือ ทาน บริจาคให้แก่ผู้ใดก็หวังจะให้ผู้นั้นตอบแทนบุญคุณ

ให้เป็นทุนก็คือ ทาน บริจาคให้เขาไปเป็นต้นทุนเพื่อขยายผลต่อไป หรือให้บุตรเพื่อสร้างตัวในอนาคต เป็นต้น

ให้ไม่เป็นบุญก็คือ จาคะ บริจาคเพื่อลดกิเลสของตนเอง

ให้ไม่เป็นคุณก็คือ จาคะ บริจาคโดยไม่หวังผลตอบแทน

ให้ไม่ลงทุนก็คือ อภัยทาน การให้อภัยแก่ผู้ที่ประพฤติผิดต่อเราทุกคน

ไม่ทราบว่าจะตรงกับของเดิมหรือไม่ แต่เกิดความเลื่อมใสในคตินี้ และเชื่อว่าความเข้าใจของตนเองนั้น น่าจะใช้ได้

คติข้างต้นนั้นทำให้ความคิดขยายออกไปอีก ว่าน่าจะมีการให้อีกชนิดหนึ่งที่ยังไม่มีในสิ่งที่ได้ยินมาแล้วนั้น คือให้เพื่อแทนคุณ

เป็นการให้แก่บุคคลหรือสรรพสิ่งทั้งหลาย ที่เราได้รับผลประโยชน์มาแล้ว ตรงกับข้อ กตัญญูกตเวที นั่นเอง

ในชีวิตของคนเราทุกคน ย่อมได้รับประโยชน์จากบุคคลอื่นมาตั้งแต่เกิด เริ่มแต่บิดามารดา ครูอาจารย์ มิตรสหาย ภรรยา สามี และแม้ผู้อื่นที่เคยเกื้อกูลช่วยเหลือตามโอกาส รวมทั้งธรรมชาติ และสัตว์ทั้งหลายด้วย ท่านสอนให้เรารู้คุณของบุคคลและสรรพสิ่งเหล่านั้น และจดจำไว้ เมื่อมีโอกาสก็จะต้องหาหนทางทดแทนคุณ แก่ผู้มีคุณและสิ่งที่มีคุณเหล่านั้นเสมอ

บางทีอาจจะไม่ได้ตอบแทนตรงกับผู้มีคุณนั้นก็ได้ เช่นบิดามารดาท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว เราก็ทำบุญอุทิศไปให้ ผู้ที่เคยให้ความอุปการะเมื่อเรายังยากไร้ขัดสน เราก็อาจตอบแทนแก่บุตรและญาติของท่าน หรือช่วยเหลือบุคลอื่นที่สมควรช่วยเหลือ ดุจเดียวกับที่เราได้เคยรับการช่วยเหลือมาแล้ว สัตว์ที่เคยมีคุณแก่เรา ก็อาจตอบแทนด้วยการเมตตาสัตว์อื่น ๆ ธรรมชาติที่ เอื้ออำนวยให้เรามีชีวิตอยู่ ก็ตอบแทนด้วยการรักษาธรรมชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้ไม่ได้เป็นแต่เพียงความคิด เราได้ปฏิบัติมาโดยตลอด ในช่วงท้ายของชีวิตซึ่งมีความ สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้แล้ว ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ความกตัญญูกตเวที เป็นธรรมะที่สำคัญสำหรับคนดี.

##########




 

Create Date : 14 มิถุนายน 2558    
Last Update : 14 มิถุนายน 2558 18:08:34 น.
Counter : 315 Pageviews.  

บันทึกของผู้เฒ่า (๒๒) ความอดทน

บันทึกของผู้เฒ่า (๒๒)

เรื่องของความอดทน

เมื่อวันก่อนได้อ้างถึงความอดทน ก็พอดีได้พบ หนังสือเรื่อง ขันติ...ความอดทน ของ พระอาจารย์ เปลี่ยน ปัญญาปทีโป แห่ง วัดอรัญญวิเวก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาที่ขยายความให้ผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรม ด้วยการสมาทานศีลห้า ได้ใช้ ขันติ หรือ ความอดทน ในการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ มีรายละเอียด ดังนี้

ขันติ ความอดทนอีกอย่างหนึ่งนั้น คือขันติความอดทน ในการที่บุคคลจะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง การที่บุคคลจะรักษาศีลก็ต้องมีขันติ ความอดทน

คือความไม่โลภ คำว่าความไม่โลภนี้ ก็มองเห็นได้ว่าคนที่ไม่อยากมาก เพราะถ้าหากมีความอยากมากเกิดขึ้นแล้ว เราก็ใช้ขันติความอดทนเข้าไว้

เหมือนบุคคลที่จะฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็ดี ก็ต้องมีความขันติอดทนไม่กระทำ อดกลั้นเอาไว้ ศีลของตนเองจึงจะได้ในข้อที่ ๑ ก็คือรักชีวิตบุคคลอื่น สัตว์อื่น เหมือนกับชีวิตของตนเองนั่นแหละ ก็เพราะอะไรจึงเกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะเรามีขันติความอดทนเอาไว้

ความโกรธ ความโทสะพยาบาทจะเกิดขึ้นไม่ได้ ก็อาศัยขันติความอดทนเอาไว้เหมือนกัน มันจึงไม่ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์และเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย ทุบตีฆ่าฟันรันแทงกัน อดกลั้นเอาไว้ อันนี้ก็อาศัยซึ่งขันติความอดทน ศีลข้อที่ ๑ จึงได้

ขันติความอดทนจะได้ศีลข้อที่ ๒ นั้น เมื่อเห็นทรัพย์สมบัติของผู้อื่น มากมายก่ายกองก็ดี เห็นสิ่งของต่าง ๆ นานาก็ดี ไปเห็นอยู่ที่ใดก็ไม่คิดจะฉ้อจะโกง เอาของบุคคลอื่นนั้น มาเป็นของตน เพราะอดกลั้นเอาไว้ คิดถึงใจของบุคคลอื่น คิดถึงบุคคลอื่นหามาได้ด้วยความลำบาก ตนเองก็จึงอดกลั้นเอาไว้

ถ้าเราไม่มีขันติความอดทนแล้ว มันก็จะเป็นโจรเป็นขโมย ทั้งปล้นทั้งจี้ เอาทรัพย์ของบุคคลอื่นได้ เพราะอาศัยอะไรจึงเป็นเช่นนั้นไม่ได้ ก็เพราะอาศัยซึ่งเป็นผู้มีขันติความอดทน อดกลั้นเอาไว้ จึงไม่ให้ล่วงเกินในศีลข้อนี้ไป อันนี้เรียกว่าขันติ ความอดทนได้ ศีลข้อที่ ๒ เป็นผลออกมา

ขันติความอดทนนั้น อันที่บุคคลเห็นสามีภรรยาซึ่งกันและกันแล้วไม่ล่วงเกิน ก็อาศัยซึ่งมีขันติความอดทนอยู่ในใจ ไม่เหยียบย่ำจิตใจของบุคคลอื่น เมื่อมีความอดกลั้นอดทนเอาไว้แล้ว เป็นผู้มีขันติตั้งอยู่ในใจแล้วก็ไม่ล่วงเกินสามีภรรยาของบุคคลผู้ใดไปได้ ก็ได้ศีลข้อที่ ๓

ขันติความอดทนจะรักษาศีลข้อที่ ๔ ได้ ก็อาศัยซึ่งว่ามองเห็นแล้วว่า การพูดจาปราศรัยของบุคคล ให้มีสัจจะจริง ตรงไปตรงมานั้น มีคุณค่าสาระ มีประโยชน์ เป็นการพูดจาปราศรัยที่ไม่มีโทษอะไร ถ้าหากพูดจาปราศรัยไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว คนอื่นเขาจะไม่เชื่อฟังคำพูดของเรา คำพูดของเราก็จะเสียประโยชน์ ก็เลยมีขันติความอดทน ไม่โกหกบุคคลอื่น จึงพูดจาปราศรัยคำซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมาต่อกัน ก็อาศัยอะไร ก็อาศัยซึ่งขันติความอดทนนั้น ไม่ล่วงศีลของตนเองไปได้ นี่ขันติความอดทนก็เป็นประโยชน์ได้ศีลข้อที่ ๔

การขันติความอดทนจะได้ศีลข้อที่ ๕ นั้น แม้จะเห็นสุรายาเมาอยู่ที่ไหน แค็ป ฝิ่น เฮโรอีน อยู่ที่ใดก็ตาม เราจะเห็นอยู่ที่ใดแล้ว จะมีขันติความอดทนเอาไว้ ว่าของนี้มันเป็นของที่มีภัย และมึนเมา เป็นฐานแห่งประมาท เสียกิริยามารยาทของมนุษยธรรม ผู้ตั้งอยู่ในธรรม จึงมีขันติความอดทนเอาไว้ไม่ล่วงเกิน ไม่ดื่มสุรา สูบกัญชา ยาฝิ่น แค็ป เฮโรอีน ผงขาวอะไร เพราะอะไร เพราะคนนั้นมีขันติความอดทนเอาไว้ ไม่ล่วงเกินศีลของตนก็เลยเป็นผู้มีศีล

อันนี้แหละเรามาพิจารณาให้เข้าใจ บุคคลจะตั้งอยู่ในศีลได้ ก็ต้องอาศัยซึ่งเป็นผู้มีขันติอดทนเอาไว้ ด้วยไม่เจตนาล่วงเกินในศีลของตนเองนั้นไป ตนเองก็เลยเป็นผู้มีศีลมีธรรมเกิดขึ้นในตน

รู้สึกว่าจะเป็นคำสอนที่น่ารับเอาไปปฏิบัติยิ่งนัก.

##########




 

Create Date : 14 มิถุนายน 2558    
Last Update : 14 มิถุนายน 2558 7:56:31 น.
Counter : 275 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.