"Jelly Beans" เอกลักษณ์คือความกล้าที่จะแตกต่าง
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน โดย วินิทรา นวลละออง



สำหรับ
ท่านใดที่เคยผ่านวัยรุ่นมาแล้ว
จำช่วงชีวิตหนึ่งที่เรารู้สึกไม่สบายใจหากทำอะไร "ไม่เหมือนเพื่อน"
ได้ไหมคะ ในช่วงนั้นถ้าใครฮิตอะไรกันเราต้องทำตามถึงจะน่าภูมิใจ
หนังสือแฟชั่นคือไบเบิลของเหล่าวัยรุ่นผู้อินเทรนด์
แต่จะไปว่าเขาไร้สาระไม่ได้นะคะเพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้
เขาเติบโตขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ก็ได้
สูตรสำเร็จในการเป็นผู้นำทางความคิดของคนอื่นคือ
เมื่อเดินตามแรงบันดาลใจเหล่านี้จนอิ่มตัว
อยากเห็นผลงานที่ไม่ได้เกิดจากสมองคนอื่นแต่เกิดจากสมองเราเองบ้าง
ตรงนั้นล่ะค่ะคือจุดเริ่มต้นของ "เอกลักษณ์"
และเป็นตัววัดคุณค่าของเราได้อย่างดีเยี่ยม


Jelly Beans
คือการ์ตูนที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกเหมือนมีไฟลุกท่วมตัวและอยากจะลุกขึ้น
มาสร้างผลงานที่มี "เอกลักษณ์" ของตัวเองขึ้นมาเหลือเกินค่ะ!


"มา
เมะโกะ" สาวน้อยวัย 14 ปี
เรียนอยู่ในโรงเรียนต่างจังหวัดไกลปืนเที่ยงที่ไม่มีโอกาสได้เดินกระทบไหล่
เหล่าผู้คนที่แต่งตัวกันเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดเหมือนคนเมืองค่ะ
เธอชอบเสื้อผ้าสวยๆ และใฝ่ฝันอยากเป็นนางแบบ
แต่ความจำกัดเรื่องเงินทองและอุปกรณ์ทำให้เธอไม่สามารถซื้อเสื้อสวยๆ แพงๆ
มาใส่ได้ ดังนั้น
มาเมะโกะจึงพยายามเรียนรู้การตัดชุดด้วยตัวเองเพื่อให้เสื้อผ้าแสนธรรมดาที่
มีอยู่กลายเป็นเสื้อผ้าทันสมัยแห่งบ้านทุ่งขึ้นมา
ความผิดหวังครั้งแรกของมาเมะโกะคือ
เมื่อเพื่อนสนิทของเธอกลายเป็นนางแบบและทิ้งห่างเธอไปไกล
สิ่งเดียวที่มาเมะโกะทำได้เมื่อหันกลับมามองตัวเองและรู้ตัวว่าการเป็นนาง
แบบคือความฝันที่ไกลเกินไป
คือเธอหันไปตัดชุดให้เหล่านางแบบเสียแทนก็ได้นี่นา


ก้าวแรกที่มาเมะ
โกะเดินเพื่อทำให้ความฝันเป็นจริงคือ
สอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายซึ่งเป็นแหล่งรวมของเหล่าหนุ่มสาวที่รักแฟชั่น
เธอไม่เลือกฝันว่าเรียนจบแล้วจะได้ทำงานหาเงินเพื่อไปซื้อเสื้อผ้าสวยๆ
แต่เธอเลือกที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนตัวเองเป็นคนสร้างเสื้อผ้าสวยๆ
ให้คนอื่นได้ใส่กันเสียแทน


ตรงนี้อ่านแล้วน่าสนใจค่ะ Jelly Beans
ไม่ได้นำเสนอค่านิยมการ "บ้าของแบรนด์เนม"
เลยแม้แต่นิดเดียวเพราะทราบดีว่าแม้ของแบรนด์เนมเหล่านั้นจะมีคุณค่าแต่ก็
เทียบไม่ได้กับผลงานที่คิดและตัดออกมาด้วยตนเอง
การซื้อของแบรนด์เนมที่ออกแบบอย่างพิถีพิถันส่วนหนึ่งก็คือ
การซื้อประสบการณ์และฝีมือของดีไซเนอร์
เช่นเดียวกับการสวมเสื้อที่ตัดเองกับมือย่อมหมายถึงเราให้เกียรติประสบการณ์
และฝีมือของตัวเอง การสร้างค่านิยมให้เด็กเหล่านี้ชื่นชมในพลังแห่ง
"เอกลักษณ์" คือจุดสำคัญของเรื่องนี้นะคะ ดังนั้น
ของก๊อบปี้แบรนด์ทั้งหลายนอกจากจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว
ยังเป็นการย่ำยีคุณค่าของเหล่าดีไซเนอร์ที่สร้างผลงานอย่างยากลำบากด้วยค่ะ


สังคมที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับแฟชั่นที่ลอกคนอื่นมาจะไม่สามารถสร้างผลงานที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ได้เลยนะคะ


และ
ตามธรรมเนียมของการ์ตูนแนวแฟชั่น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าลายเส้นสวยๆ
เป็นออปชั่นบังคับสำหรับการ์ตูนแฟชั่นค่ะ อาจารย์โมโยโกะ อันโนะ
ผู้เขียนเรื่องนี้วาดด้วยลายเส้น (ในขณะนั้น) อยู่ในเกณฑ์ "ไม่สวย" เลยค่ะ
ขออภัยแฟนๆ ของอาจารย์อันโนะที่ต้องพูดตรงๆ นะคะ แต่ทั้งที่ไม่สวย
เชื่อไหมคะว่าตอนอ่านต้องคอยสังเกตแฟชั่นในเรื่องว่าเหล่าหนุ่มสาวในการ์ตูน
แต่งตัวกันอย่างไรบ้าง กระทั่งหน้าตาที่วาดเบี้ยวๆ
ขอไปทีกลับซ่อนเทคนิคการแต่งหน้าที่เข้ากับแฟชั่นไว้ภายใต้ลายเส้นยุ่งๆ
ค่ะ! มันเก๋มาก!
แม้ศัพท์จะโบราณไปหน่อยแต่อยากสื่อให้เข้าใจค่ะว่าการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ควรมา
วิจารณ์เรื่องลายเส้นเพราะ "เอกลักษณ์"
อยู่ที่เนื้อเรื่องซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าวัยรุ่นผู้รักแฟชั่นได้
อย่างล้นหลาม
อาจารย์อันโนะได้แสดงให้เห็นด้วยตัวเธอเองแล้วว่าการ์ตูนแฟชั่นไม่จำเป็น
ต้องเดินตามธรรมเนียมวาดสวยลายเส้นเทพเหมือนที่ใครๆ ว่าไว้
เธอกล้าที่จะแตกต่างและงานของเธอก็กลายเป็นงานที่มีเอกลักษณ์และน่าจดจำค่ะ


Jelly
Beans คือการ์ตูนที่ดีกว่าที่คาดไว้มากนะคะ
อาจจะไม่ได้ดีถึงขนาดที่ต้องกล่าวขานไปชั่วลูกชั่วหลาน
แต่ก็โดดเด่นพอที่จะทำให้ลืมไม่ลงจากความแหวกแนวนี่ล่ะค่ะ


//www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun02120452§ionid=0120&day=2009-04-12





Free TextEditor



Create Date : 12 เมษายน 2552
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 17:06:08 น.
Counter : 998 Pageviews.

1 comment
Mushishi ธรรมชาติคือมารดาของสรรพสิ่ง

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน โดยวินิทรา นวลละออง



ขึ้น
ต้นชื่อเรื่องด้วยประโยคที่ได้ยินตั้งแต่เด็กแต่ไม่เคยซาบซึ้งมาก่อน
"ธรรมชาติคือมารดาของสรรพสิ่ง"
อาจเป็นเพราะอาศัยอยู่ในเมืองจึงไม่เห็นว่าแท้จริงธรรมชาติยิ่งใหญ่เพียงใด
ค่ะ (เว้นตอนฝนตกหนักแล้วน้ำท่วม) แต่แอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน)
"Mushishi" ทำให้ความทึ่งในธรรมชาติพอกพูนขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
ทั้งที่เนื้อเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่าไม้หรือวิกฤตโลกร้อน
แต่อย่างใด


Mushishi (มุชิฉิ) เป็นเรื่องราวการเดินทางของ "กิงโกะ"
ชายหนุ่มซึ่งเป็นหมอรักษาโรคที่เกิดจาก "มุฉิ" แปลตรงตัวคือ "แมลง" ค่ะ
แต่มุฉิในเรื่องนี้ไม่ใช่แมลง
กลับเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างธรรมชาติซึ่งไม่มีชีวิตกับเหล่าสรรพสัตว์
ที่มีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้
บางคนอาจมองว่ามุฉิคือวิญญาณของธรรมชาติที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
หรือบางคนคิดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานที่เกิดจากธรรมชาติแต่มีชีวิต
โดยสรุปคือ
หากมุฉิมีจริงก็สามารถอธิบายโรคภัยและปรากฏการณ์ประหลาดทั้งหลายในโลกนี้ได้
ไม่ว่าจะเป็นอาการตาบอดโดยไม่ทราบสาเหตุ หูหนวกทั้งที่ไม่พบความผิดปกติ
หรือแม้แต่โรคหลงลืมในคนอายุน้อย
หลายโรคเหมือนที่เคยพบคนไข้ในชีวิตจริงเลยค่ะ
ความรู้ในโลกความเป็นจริงทำให้เราวินิจฉัยโรคที่ตรวจไม่พบความผิดปกติว่า
"มีสาเหตุจากจิตใจ" ในระหว่างที่โลกของมุชิฉิบอกว่า "มีสาเหตุจากมุฉิ"
เสียแทน


เนื้อหาทั้ง 26
ตอนของแอนิเมชั่นเป็นเรื่องสั้นจบในตอนของคนในหมู่บ้านต่างๆ
ซึ่งกำลังประสบกับเหตุการณ์ประหลาดหรือโรคภัยที่หมอหาสาเหตุไม่ได้
และโชคดีที่กิงโกะผ่านไปขายยาพอดี เรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้า
จึงให้อารมณ์ของภูตผีได้แจ่มชัดมาก
การดำเนินเรื่องไม่ได้ซ้ำไปซ้ำมาเหมือนการ์ตูนเด็ก
ซึ่งจะต้องมีฮีโร่มาปราบมุฉินะคะ
ทุกตอนเหมือนนิทานก่อนนอนซึ่งเต็มไปด้วยจินตนาการน่าตื่นเต้น
แต่กลับให้จังหวะเนิบนาบ
กิงโกะใช้หลักวิทยาศาสตร์โดยการเข้าไปสอบถามประวัติคนป่วยและเก็บตัวอย่างมุ
ฉิที่สงสัยมาตรวจดูก่อนที่จะวินิจฉัยโรค (ใช้กล้องจุลทรรศน์เสียด้วย
ขอย้ำว่ายุคนี้ยังไม่มีไฟฟ้า)
หลังจากนั้นจึงให้ยาซึ่งก็มีทั้งยาที่รักษาแล้วหายขาดกับยาประคองอาการ
ความเป็นวิทยาศาสตร์ของมุชิฉิทำให้ผู้ใหญ่ดูแล้วไม่รู้สึกขัดเขินนักค่ะ
แม้เหตุผลจะดูขี้โม้แต่วิธีการให้ได้มาซึ่งต้นเหตุของโรคภัยจากมุฉิไม่โม้
ค่ะ
สร้างแรงบันดาลใจให้เรามองเหตุการณ์เหนือธรรมชาติตามหลักวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ


นอก
จากเนื้อเรื่องที่ให้อารมณ์แบบภูตผีญี่ปุ่นแล้ว
จุดเด่นของแอนิเมชั่นมุชิฉิคือ "ภาพและเสียง" ซึ่ง...เหนือคำบรรยายค่ะ
ทุกฉากทุกภาพเต็มไปด้วยธรรมชาติซึ่งใช้สีโทนเอิร์ธเทาน้ำตาลนุ่มๆ
แต่ละฉากสามารถเซฟออกมาทำเป็นวอลเปเปอร์สวยๆ บนคอมพิวเตอร์ได้สบาย
หรือต่อให้พิมพ์ออกมาติดฝาบ้านก็ยังงามไม่มีที่ติ
แน่นอนว่าผู้กำกับฯไม่ได้จงใจทำฉากสวยๆ เพื่อแปะไว้เฉยๆ นะคะ
ภาพที่นำเสนอเห็นชัดเจนว่าเมื่อกิงโกะหรือคนในเรื่องอยู่กลางธรรมชาติ
มนุษย์จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ
บนหน้าจอซึ่งทำให้สายตาเราจับจ้องไปที่ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเบื้องหลัง
เสียแทน
ลายเส้นของตัวละครในเรื่องเรียบง่ายตรงข้ามกับฉากธรรมชาติที่สวยไม่มียั้ง
ยืนยันคอนเซ็ปต์ของเรื่องนี้ว่ามุฉิและธรรมชาติยิ่งใหญ่ที่สุด
มนุษย์เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ
แต่ก็มีหัวใจที่เปี่ยมด้วยความพยายามที่จะต่อสู้กับธรรมชาติและโรคภัยที่
เกิดจากมุฉิด้วยเหมือนกัน


เสียงเพลงในเรื่องนี้ให้ความรู้สึกเหมือน
ดึงเราเข้าสู่โลกของมุฉิเลยค่ะ
เป็นเพลงประกอบเรื่องแรกที่ได้ยินแล้วสามารถพูดได้เต็มปากว่านี่คือ
"เสียงวิญญาณของธรรมชาติ"
นอกจากสงบเยือกเย็นแล้วยังออกมาได้ถูกจังหวะทุกครั้ง
เรียกว่าอารมณ์นี้ต้องมีเสียงแบบนี้ออกมาให้เราขนลุกวาบนิดๆ
(คล้ายเสียงอังกะลุง) หรือจังหวะนี้มีเพลงให้เราเศร้าแต่ซึ้ง
ถ้าภาพวาดแบบจีนซึ่งเห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติสามารถส่งเสียงได้ก็คงเป็น
เสียแบบเดียวกับเรื่องนี้เลยค่ะ


โดยสรุป "มุชิฉิ"
เป็นแอนิเมชั่นที่สวย สนุก สร้างสรรค์
แต่ไม่กระตุ้นให้สมองหลั่งอะดรีนาลีนเท่าไร
เพราะไม่ได้ตื่นเต้นเร้าใจหรือน่าติดตามถึงขนาดหยุดดูไม่ได้
ดูไปดูมาแล้วอาจหลับจากความเนิบนาบของเรื่องค่ะ (หลับไปแล้ว 5 ยกระหว่างดู
26 ตอน) แต่ใช่ว่าช้าเนิบนาบแล้วไม่ดีเสมอไปนะคะ


เวลาเรานั่งริมทะเล
ฟังเสียงคลื่นสงบๆ หรืออยู่บนยอดเขาฟังเสียงลมและดูเมฆลอยไปเรื่อยๆ
เราก็มีความสุขแม้ว่าจะหลับในอีกไม่กี่นาทีต่อมาก็ตาม
มุชิฉิให้อารมณ์แบบเดียวกันเป๊ะเลยค่ะ



//www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun03010352§ionid=0120&day=2009-03-01





Free TextEditor



Create Date : 01 มีนาคม 2552
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 17:05:35 น.
Counter : 1477 Pageviews.

0 comment
Natsume Yujin-Cho เพื่อนดีเริ่มที่ใจ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน โดย วินิทรา นวลละออง



วัน
ที่นั่งเขียนคอลัมน์นี้เป็นวันหลังจากที่มีหิมะตกหนักที่สุดในรอบ 18
ปีของลอนดอนค่ะ สำหรับคนที่ไม่เคยเห็นหิมะ
การได้เห็นนอกบ้านขาวโพลนถือเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อยู่
แต่คิดในทางกลับกันหิมะทำให้รถหยุดวิ่ง มหาวิทยาลัยยกเลิกการสอน
ทุกคนอยู่แต่ในบ้านและรอบตัวเงียบจนเหงา ยามที่ความเหงารุมเร้าแบบนี้
วิธีที่ดีที่สุดคือดูการ์ตูนที่ทำให้อบอุ่นหัวใจค่ะ
และเรื่องที่ทำให้อุ่นไปทั้งตัวก็คือ Natsume Yujin-Cho
มีตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนภาษาไทยชื่อ "นัตซึเมะกับบันทึกพิศวง"
แต่เวอร์ชั่นที่ดูเป็นแอนิเมชั่นซึ่งออกมาถึงซีซั่นที่สองแล้วค่ะ


"
นัตซึเมะ ทากาชิ" คือเด็กหนุ่มที่เย็นชาเหมือนหิมะ
เนื่องจากเขามีความสามารถพิเศษในการมองเห็นภูตผีได้เช่นเดียวกับ "เรย์โกะ"
คุณย่าของเขาทำให้เขาต้องเจอเรื่องที่เลวร้ายพร้อมกันถึงสองสิ่งตั้งแต่เด็ก
สิ่งแรกคือเหล่าภูตผีที่เขามองเห็น (ในแอนิเมชั่นวาดออกมาน่ารัก
ไม่กระตุกขวัญค่ะ)
และอีกสิ่งคือคนรอบตัวที่รังเกียจเพราะคิดว่าเขาพูดโกหกเรื่องมองเห็นภูตผี
ได้
ความเจ็บปวดหล่อหลอมให้นัตซึเมะตัดสินใจไม่บอกใครเรื่องที่เขามองเห็นภูตผี
อีก
แม้เขาจะมีเพื่อนที่โรงเรียนแต่ก็บอกไม่ได้ว่าที่ต้องวิ่งจนหอบลิ้นห้อย
เพราะกำลังวิ่งหนีภูตผีอยู่
จนกระทั่งวันที่เขาได้รับสมุดที่มีภาษาประหลาดเขียนอยู่ภายในซึ่งตกทอดมาจาก
คุณย่าเรย์โกะ
รอบตัวเขาก็มีศัตรูนับไม่ถ้วนขึ้นมาอัตโนมัติเนื่องจากสมุดเล่มนั้นคือสมุด
บันทึกชื่อของภูตผี
เหล่าภูตผีที่ต่อสู้และพ่ายแพ้ให้กับเรย์โกะจะต้องถูกผนึกชื่อลงสมุดส่งผล
ให้นัตซึเมะโดนภูตผีเหล่านั้นตามมาขอชื่อคืนไม่เว้นแต่ละวัน


"มาดาระ
" หรือ "อาจารย์เหมียวหง่าว"
คือหนึ่งในเหล่าภูตผีที่ทราบเรื่องสมุดบันทึกของนัตซึเมะค่ะ
มาดาระเองต้องการครอบครองสมุดเล่มนี้เนื่องจากต้องการพลังของเหล่าภูตผีที่
ถูกผนึกชื่อในสมุดเช่นกัน แต่ไปๆ มาๆ
เขากลับยอมสิงในร่างตุ๊กตาแมวกวักน่าเอ็นดูและกลายเป็นฝ่ายที่ช่วยปกป้องนัต
ซึเมะจากภูตผีที่ต้องการชิงสมุดเสียแทน
แม้นัตซึเมะจะไม่ได้ชอบเหล่าภูตผีนักเพราะชีวิตเขาต้องถูกทอดทิ้งและ
ถูกกลั่นแกล้งมาตลอดจากการมองเห็นภูตผี
แต่เขาก็ไม่คิดจะเก็บผนึกเหล่านี้ไว้เป็นตัวประกัน
ทางออกที่ดีที่สุดคือการคืนชื่อในสมุดให้เหล่าภูตผีไปเรื่อยๆ
เพราะนัตซึเมะเชื่อว่าทุกคนเป็นเพื่อนกันได้โดยไม่จำเป็นต้องกุมจุดอ่อนซึ่ง
กันและกันไว้


เมื่อได้มีโอกาสสัมผัสกับภูตผีมากกว่าเดิมที่เอาแต่
วิ่งหนีลูกเดียว นัตซึเมะจึงเริ่มเข้าใจว่าไม่ใช่เขาคนเดียวที่เหงา
เหล่าภูตผีเองก็เหงาและปรารถนาจะเป็นอิสระจากความทรมานที่ต้องเวียนว่ายอยู่
ในโลกนี้เช่นกัน
หลายครั้งที่นัตซึเมะถูกหลอกจนเกือบโดนภูตผีจับกินแต่สุดท้ายเขาก็ยังศรัทธา
ในความเป็นเพื่อนเสมอ
เขาเชื่อว่าถ้ามีโอกาสได้คุยเปิดใจและสร้างสัมพันธ์ด้วยการคืนชื่อให้
เหล่าภูตผีก็คงยอมเป็นมิตรกับเขาแน่นอน


สิ่งที่ทำให้ Natsume
Yujin-Cho ไม่ใช่ "การ์ตูนผี" แม้มีภูตผีป้วนเปี้ยนเต็มเรื่องแต่เป็น
"การ์ตูนเพื่อการรักษาแผลใจ"
คือการดำเนินเรื่องในแต่ละตอนซึ่งไม่เน้นจิตหลอนหรือกระตุกขวัญสั่นประสาท
แต่เน้นความรู้สึกสับสนในใจของนัตซึเมะเองค่ะ
เขาปรารถนาที่จะเชื่อใจคนรอบข้างแต่ก็ต้องหันหน้าหนีตลอดเนื่องจากกลัวที่จะ
ต้องถูกทอดทิ้งหรือหัวเราะเยาะ และเมื่อเขาปรารถนาที่จะเชื่อใจภูตผี
แสดงเจตนาดีด้วยการยินดีมอบชื่อที่ผนึกในสมุดคืนให้
เขาก็ยังคงถูกเหล่าภูติผีหลอกเอาหลายครั้งจนต้องให้อาจารย์เหมียวหง่าวออก
โรงช่วยเหลือ
สุดท้ายแม้ความจริงใจของนัตซึเมะจะไม่ได้ทำให้ภูตผีบางตนกลับตัว
เขาก็ยังเชื่อมั่นเสมอว่าถ้าอยากเป็นเพื่อนกับอีกฝ่ายก็ต้องเป็นคนทุ่มเทและ
เปิดใจให้เสียก่อน
ความมุ่งมั่นของนัตซึเมะนี่ละค่ะที่ช่วยเยียวยาหัวใจคนดูให้รู้สึกว่าความ
ปรารถนาดีต่อกันอย่างจริงใจก็มีอยู่จริงในโลก


เนื่องจากเหล่าภูตผี
หน้าตาเหมือนในภาพวาดญี่ปุ่นโบราณ
บรรยากาศของเรื่องจึงให้ความรู้สึกถึงแฟนตาซีย้อนยุคสุดคลาสสิค
นอกจากนั้นใบหน้าเย็นชาแบบหิมะเรียกพี่ของนัตซึเมะยังช่วยให้คนดูไม่รู้สึก
หวาดผวาเวลาเจอภูตผี
เราแทบจะไม่เจออะไรในสีหน้าหรือคำพูดของนัตซึเมะว่าเขาเกลียด กลัว หรือรัก
แต่การกระทำของเขาที่ยอมทุ่มเทเสียพลังงานในการคืนชื่อให้เหล่าภูตผีก็ทำให้
เราเชื่อว่าคำพูดสวยงามไม่ใช่เครื่องแสดงความจริงใจได้เท่าการกระทำที่เป็น
มิตร


Natsume Yujin-Cho
ไม่ได้เป็นการ์ตูนที่ให้ข้อคิดอะไรมากมายค่ะ
แต่เป็นการ์ตูนที่ดูแล้วรู้สึกอุ่นในหัวใจ
นัตซึเมะทำให้คนดูเชื่อว่ามิตรดีมีจริงในโลกและคนชั่วที่หลอกลวงหักหลังก็มี
ในโลกเช่นเดียวกัน
แต่จะเก็บมาคิดมากเป็นสาระทำไมในเมื่อเราก็ยังมีเพื่อนดีๆ
รอบตัวอีกตั้งเป็นกระบุง



//www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun03220252§ionid=0120&day=2009-02-22





Free TextEditor



Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 17:04:32 น.
Counter : 1114 Pageviews.

0 comment
Whisper of the Heart เสียงกระซิบที่ปลายทางของหัวใจ
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน โดย วินิทรา นวลละออง



ตอน
นี้ในลอนดอนมีแต่ฝน หมอก มืด และความหนาวค่ะ
บรรยากาศเช่นนี้เหมาะกับการดูการ์ตูนที่ทำให้หัวใจเบิกบานพองโตและการ์ตูน
ที่ได้ดูด้วยความบังเอิญคือ Whisper of the Heart
ภาพยนตร์การ์ตูนที่ฉายในปี 1995 ในญี่ปุ่น (14 ปีก่อน)
และนำมาใส่ระบบเสียง Dolby Digital โดยค่าย Buena Vista
ก่อนออกฉายในอเมริกาเหนือเมื่อต้นปี 2006 นี่เอง


Whisper of the
Heart เปิดเรื่องในเมืองเล็กๆ "ทามะนิวทาวน์"
ซึ่งกำลังถึงจุดเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม
หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนระบบยืมหนังสือในห้องสมุดจากการใช้กระดาษเป็นบาร์
โค้ด "ชิสึคุ" เด็กสาวทราบเรื่องนี้จากคุณพ่อซึ่งเป็นบรรณารักษ์
เธอจึงหยิบกระดาษยืมหนังสือที่ท้ายเล่มมาดูและเพิ่งสังเกตว่าทุกเล่มที่เธอ
ยืมมามีชื่อของ "อามาซาวะ เซอิจิ" เขียนยืมก่อนเธอ
เด็กสาววัยสิบสี่ซึ่งหลงใหลโลกของหนังสือที่เต็มไปด้วยจินตนาการจึงเริ่มคิด
ภาพเซอิจิและใฝ่ฝันที่จะได้พบตัวจริงสักครั้ง
นอกจากระบบบาร์โค้ดซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาแล้ว
หัวใจของชิสึคุก็มาถึงจุดเปลี่ยนด้วยภาพของเซอิจิในจินตนาการเช่นกัน


ด้วย
ความบังเอิญหรืออาจจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในชีวิตของชิสึคุ
เธอได้พบกับแมวอ้วนท่าทางกวนๆ ในรถไฟ
แมวฉลาดตัวนั้นลงป้ายเดียวกับเธอและวิ่งตรงไปทางห้องสมุดซึ่งเธอต้องเอา
ข้าวกล่องไปให้คุณพ่อเช่นกัน
ชิสึคุนึกสนุกตามไปและได้พบกับร้านขายของแอนทีค "The Earth Shop"
ซึ่งมีคุณปู่ "นิชิ" ที่ใจดีดูแล
ที่นั่นเธอได้พบกับตุ๊กตาสูงกว่าไม้บรรทัดที่ศีรษะเป็นแมวแต่ตัวเป็นคนในชุด
ทักซิโด้ตามแบบสุภาพบุรุษยุโรป ตุ๊กตาตัวนั้นคือ "บารอนฮัมเบิร์ต"
บางอย่างในดวงตาแวววาวของบารอนทำให้ชิสึคุถูกดึงไปสู่โลกแห่งจินตนาการที่มี
คนแคระและนางฟ้า เธอก้าวไปสูงขึ้นอีกขั้นหนึ่งแล้วสำหรับจินตนาการ
แต่กลายเป็นถอยหนึ่งก้าวจากความเป็นจริง


ชิสึคุกลับไปร้านขายของแอ
นทีคอีกครั้งเพราะอยากพบกับบารอนซึ่งในความคิดของเธอเต็มไปด้วยเรื่องราวใน
จินตนาการที่บารอนเป็นตัวเอกอัดแน่นจนแทบระเบิด
เธอเป็นนักอ่านที่ดีมานานและคนที่ทำให้เธอคิดว่าได้เวลาถ่ายทอดในฐานะนัก
เขียนบ้างคือเด็กผู้ชายซึ่งเป็นหลานของคุณปู่นิชิ
ภายหลังชิสึคุจึงทราบว่าเด็กผู้ชายอายุเท่ากับเธอคนนี้คือ "อามาซาวะ
เซอิจิ" ที่ยืมหนังสือก่อนหน้าเธอนั่นเอง


งานอดิเรกที่จริงจังของเซ
อิจิคือทำไวโอลินที่ร้านของคุณปู่นิชิ
เขามุ่งมั่นอยากเป็นช่างทำไวโอลินชั้นเลิศให้ได้แม้อายุแค่สิบสี่ปี
ความฝันอันยิ่งใหญ่ของเซอิจิถ่ายทอดมาสู่ชิสึคุอย่างน่ามหัศจรรย์ค่ะ
เธอเองอยากพัฒนาตัวให้ได้มากกว่านี้และเห็นแล้วว่าตัวเองมีพรสวรรค์ทางด้าน
ภาษา นิยายเรื่องแรกที่เธอเขียนใช้ตุ๊กตาแมวบารอนเป็นตัวเอกและแรงบันดาลใจ
ในตอนนั้นเซอิจิได้ไปอิตาลีเพื่อฝึกการทำไวโอลินสองเดือน
ชิสึคุจึงรู้สึกว่าเซอิจิวิ่งทิ้งห่างเธอไปไกลและเธออยากตามให้ทัน
เธอตัดสินใจบอกพ่อแม่ว่าจะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยแต่จะเดินตามความฝันที่จะ
เป็นนักเขียน เหลือเชื่อที่พ่อแม่อนุญาตค่ะ!
ตรงนี้ตอกย้ำให้เรารู้ว่าชิสึคุเติบโตมาในครอบครัวที่ดูแลเธอเป็นอย่างดีและ
เธอได้รับความไว้วางใจที่จะตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตจากการลองผิดลองถูก
ด้วยตัวเอง
ชิสึคุตั้งหน้าตั้งตาเขียนนิยายและนำไปให้คุณปู่นิชิอ่านทั้งน้ำตา
นี่คือผลงานชิ้นแรกในชีวิตของเธอ
ผลงานที่ล้มเหลวแต่ทำให้โลกจินตนการของชิสึคุมาบรรจบกับโลกของความเป็นจริง
ในที่สุด


คุณปู่นิชิบอกว่า ผลงานของเธอคือ
"อัญมณีที่ยังไม่ผ่านการเจียระไน"
ซึ่งชิสึคุทราบได้ทันทีว่าการเจียระไนคือการพัฒนาตัวเองมากกว่านี้
การตัดสินใจไม่เรียนต่อและหันหน้าเข้าสู่โลกของจินตนาการไม่ใช่คำตอบ
แต่การเรียนรู้ให้สูงขึ้นพร้อมกับฝึกฝนตัวเองต่างหากคือคำตอบ
ชิสึคุเปลี่ยนใจเตรียมตัวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยค่ะ พร้อมๆ
กับเซอิจิที่กลับมาจากอิติลีและหอบเอาหัวใจที่ตามเสียงกระซิบของความฝันมาจน
ถึงปลายทางในที่สุด


Whisper of the Heart เป็นก้าวเล็กๆ
ที่ยิ่งใหญ่ของการค้นพบตัวเองและผสานโลกของความฝันและความจริงเข้าด้วยกัน
อย่างน่าประทับใจ ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้กำกับโดย "โยชิฟุมิ คอนโด"
ซึ่งกำกับฯ Whisper of the Heart เป็นเรื่องแรกและเรื่องสุดท้ายในชีวิต
สามปีหลังเรื่องนี้ออกฉาย
เขาก็จากไปด้วยโรคหลอดเลือดโป่งพองในสมองด้วยวัยเพียง 37 ปี
แต่ก็ทิ้งผลงานซึ่งทำให้หัวใจของทุกคนพองโตจากเสียงกระซิบเล็กๆ
ในโลกแห่งจินตนาการ


Whisper of the Heart
คือแอนิเมชั่นที่ทำให้เราหยุดวิ่งอย่างไร้ทิศทางและฟังเสียงเล็กๆ
จากหัวใจของเราเองค่ะว่าความปรารถนาสูงสุดของเราแม้อยู่ไกลสุดเอื้อม
แต่ทางเดินก็ปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้วนี่เอง

//www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun04010252§ionid=0120&day=2009-02-01



Free TextEditor



Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 17:03:51 น.
Counter : 1382 Pageviews.

2 comment
Big Windup! การ์ตูนที่เหมาะแก่การสร้างคน (2)
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน โดย วินิทรา นวลละออง



ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วซึ่งเล่าค้างไว้ถึง Ookiku Furikabutte
การ์ตูนเบสบอลที่ได้รับทั้งเงินและกล่องไปอย่างท่วมท้นในปี 2007
และยังดังติดชาร์ตไม่มีตกในปี 2008
ความลับของการ์ตูนที่เป็นพันธมิตรของทั้งนักอ่าน ผู้ปกครอง สำนักพิมพ์
และกระทรวงวัฒนธรรมคืออะไรกันแน่
เพราะเหตุใดสี่เส้าที่มีความต้องการจากการ์ตูนต่างกันสุดขั้วจึงลงตัวที่
การ์ตูนเรื่องนี้ นักอ่านต้องการการ์ตูนที่อ่านแล้วสนุก
ไม่ต้องสร้างสรรค์นักก็ได้
ผู้ปกครองต้องการการ์ตูนที่สร้างสรรค์ให้คุ้มกับเงินที่เสียไป
สำนักพิมพ์ต้องการการ์ตูนที่ทำยอดขายได้ดีๆ
และกระทรวงวัฒนธรรมต้องการการ์ตูนที่จะเปลี่ยนค่านิยมของสังคมไปสู่สิ่งที่
ดีขึ้น อะไรคือสิ่งที่ทำให้ Ookiku Furikabutte ลงตัวกับทุกความต้องการ


คำนิยามสั้นๆ ของการ์ตูนเบสบอลเรื่องนี้คือ Inspiration and Team ค่ะ
ทีมเบสบอลที่ปรากฏในเรื่องทุกทีมดึงเอาสุดยอดแห่งศาสตร์ของการเติบโตเป็น
ผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าจากสองยุคสมัยที่ห่างกันสามทศวรรษมารวมกันอย่างลงตัว
โดย Inspiration หรือ "แรงบันดาลใจ" คือค่านิยมของการ์ตูนเบสบอลในยุค 70
ยุคทองของการ์ตูนที่มองภาพ ?โคชิเอน?
หรือสนามแข่งรอบชิงชนะเลิศสำหรับเบสบอลมัธยมปลายเป็นปลายทางของความฝันฤดู
ร้อน ทุกคนต้องฝึกฝนอย่างหนัก
พลีหยาดเหงื่อและน้ำตาฝ่าฟันอุปสรรค์เพื่อให้ได้ไปยืนอยู่กลางโคชิเอนและ
คว้าถ้วยแห่งชัยชนะมาครอง


Ookiku Furikabutte นำเสนอภาพนี้ใน
"ทุกตอน" ค่ะ
ไม่มีตอนไหนเลยที่สมาชิกชมรมเบสบอลจะไม่ฝึกซ้อมและพัฒนาตัวเอง
การ์ตูนนำเสนอเทคนิคการเป็น "นักเบสบอลมัธยมปลาย"
อย่างชาญฉลาดด้วยการสร้างสมดุลให้ชีวิตของเหล่านักกีฬาซึ่งไม่ใช่แค่เล่นเบส
บอลเป็นงานเดียวในชีวิต
ทุกคนต้องฝึกพื้นฐานร่างกายจิตใจและต้องเรียนหนังสือ
นี่คือการ์ตูนเบสบอลหนึ่งในน้อยเรื่องที่นำเสนอออกมาเต็มปากเต็มคำว่า
"แม้เราจะมุ่งมั่นในเบสบอล แต่เราก็เป็นนักเรียนด้วยเหมือนกัน"
สมดุลนี้ทำให้เหล่าผู้ปกครองต่างสรรเสริญและกระทรวงวัฒนธรรมยกนิ้วให้


การเล่นเบสบอลใน Ookiku Furikabutte
ไม่ใช่การขว้างและตีสาดไปมาพร้อมกับทำแต้มเพื่อชัยชนะให้คนดูลุ้นจนอดรีนาลี
นหลั่ง
แต่การเล่นทุกจังหวะมีเสียงความคิดของผู้เล่นว่าเขาทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร
ตัวอย่างเช่น "ทาจิมะ" มือตีฝีมือดีที่ตีลูกได้ทุกประเภท
การ์ตูนไม่ได้นำเสนอแค่ทาจิมะตีสาดจนลูกลอยไปไกลเท่านั้น
แต่ก่อนตีเราได้เห็นว่าทาจิมะเลือกตีไปยังบริเวณที่การป้องกันอ่อน
หรือเลือกที่จะไม่ตีเพื่อดูทิศทางและแนวการขว้างของลูก
อีกคนหนึ่งคืออาเบะซึ่งแม้เป็นแคชเชอร์หรือผู้รับบอลซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังคน
ตี ก่อนเขาส่งสัญญาณบอกมิฮาชิซึ่งกำลังจะขว้างลูกมา
เราจะได้ยินเสียงคำพูดของเขาบอกว่าเขาศึกษาคู่แข่งคนนี้มาแล้วว่ามีจุดอ่อน
จุดแข็งอย่างไร
หลังจากนั้นจึงวางแผนว่าควรให้มิฮาชิขว้างลูกแบบไหนจึงจะเหมาะที่สุด
การนำเสนอความคิดในทุกขั้นตอนคือการเล่นอย่าง "นักวิเคราะห์วิจัย" ค่ะ
และแนวคิดนี้คือการสร้างคนเพื่อให้กลายเป็นนักวิจัยที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต
ถ้าเด็กมัธยมปลายในญี่ปุ่นดูการ์ตูนเรื่องนี้แล้วพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์
แบบเดียวกับนักศึกษาระดับปริญญาโท
ประเทศนี้ในอีกสิบปีข้างหน้าจะน่าทึ่งขนาดไหน


ส่วน Team หรือ
"การทำงานเป็นทีม" คือค่านิยมของการทำงานในปัจจุบันค่ะ
ไม่มีตัวเอกฉายเดี่ยวแบบอดีตอีกแล้วเพราะเราไม่ต้องการฮีโร่ที่เก่งคนเดียว
แต่เพื่อนพ้องล้มเหลวทุกคน Ookiku Furikabutte
นำเสนอทักษะการทำงานเป็นทีมและการทำให้ทีมเวิร์กมันออกมาเวิร์ก
หมายถึงทุกคนในทีมต้องร่วมมือเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือโคชิเอน
เมื่อทำดีทุกคนต้องชื่นชม
เมื่อทำพลาดทุกคนก็ช่วยกันวิเคราะห์ว่าพลาดเพราะอะไรและให้กำลังใจสำหรับ
ครั้งหน้า การพลาดแล้วเหยียบซ้ำแบบอดีตไม่มีในเรื่องนี้แม้แต่ฉากเดียว
แรงกดดันที่ทำให้เป็นทุกข์เกิดจากความพยายามที่จะก้าวข้ามขีดความสามารถของ
ตัวเองล้วนๆ ดังนั้นเรื่องนี้จึงนำเสนอ "การมองโลกในเชิงสร้างสรรค์"
อย่างน่าทึ่ง ไม่ได้หมายถึงมองทุกอย่างดีไปหมดนะคะ
แต่หมายถึงมองทุกอย่างว่าล้วนแล้วแต่แก้ไขได้ พัฒนาได้
ทำให้ดีขึ้นกว่านี้ก็ยังได้


Ookiku Furikabutte
ได้สร้างค่านิยมใหม่ให้สังคมและดอกผลก็สามารถเห็นได้ใน 10-30
ปีข้างหน้าเมื่อเด็กเหล่านั้นกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลทางความคิดในสังคม
เช่นเดียวกับที่ผู้เขียน "อาสะ ฮิกุจิ"
ชื่นชมการ์ตูนเบสบอลเมื่อสามสิบปีก่อนตอนเป็นเด็ก
และกลายมาเป็นนักเขียนการ์ตูนเบสบอลซึ่งทรงอิทธิพลทางความคิดที่สุดใน
ญี่ปุ่นตอนนี้


ถ้าโดราเอมอนคือการ์ตูนที่จะให้ลูกอ่านตอนประถม
Ookiku Furikabutte
คือเรื่องที่ควรให้ลูกได้ดูตอนขึ้นชั้นมัธยมแน่นอนเลยค่ะ
แต่น่าเสียดายที่การ์ตูนซึ่งให้ประโยชน์สูงสุดใน Top 50
การ์ตูนขายดีในญี่ปุ่นประจำปี 2008 อย่างเรื่องนี้กลับไม่มีแปลเป็นภาษาไทย!


ไม่เป็นไร...ดูเป็นภาษาอังกฤษก็ถือเป็นการฝึกฝนอย่างหนึ่งเช่นกัน นี่คือตัวอย่างของการมองโลกอย่างสร้างสรรค์นะคะ

//www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun03250152§ionid=0120&day=2009-01-25





Free TextEditor



Create Date : 25 มกราคม 2552
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 17:03:45 น.
Counter : 1060 Pageviews.

3 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  

iamZEON
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 111 คน [?]



ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ ^^/

ข่าวสารการ์ตูนญี่ปุ่น
กับเกี่ยวข้องอย่างภาพยนตร์-เพลง
รายชื่อการ์ตูนออกใหม่-งานหนังสือ
เรื่องทั่วๆไปทั้งในและนอกประเทศก็มีบ้าง
New Comments
Group Blog
All Blog
MY VIP Friend