กังฟูแพนด้า เรื่องบังเอิญไม่มีในโลก
กังฟูแพนด้า เรื่องบังเอิญไม่มีในโลก

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน

โดย วินิทรา นวลละออง



จัดเป็นภาพยนตร์การ์ตูนที่ทำให้หัวเราะได้เต็มเสียงที่สุดในรอบปีนี้เลยค่ะ "กังฟูแพนด้า" ภาพยนตร์การ์ตูน (แอนิเมชั่น) ของค่ายดรีมเวิร์คฝั่งอเมริกันซึ่งถูกพ่อสารถีลากไปดูเนื่องจากพ่อคุณเห็นว่าแพนด้าน่ารักดี โดยส่วนตัวไม่ค่อยสันทัดกับมุขและลำดับภาพของการ์ตูนอเมริกันเท่าไรค่ะ ไปดูด้วยความคาดหวังไม่สูงนักแต่เมื่อดูปรากฏว่าดีกว่าที่คิดมาก

แพนด้าตัวเอกของเรื่องคือ "อาโป" แพนด้าหนุ่มลูกชายคนเดียวของเตี่ยร้านขายก๋วยเตี๋ยว อาโปเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเหล่ากังฟูไฟเตอร์ โดยเฉพาะ 5 นักสู้ ซึ่งประกอบไปด้วยพยัคฆ์, กระเรียน, ตั๊กแตน, อสรพิษ, และวานร (ในเรื่องชื่อหรูกว่านี้แต่จำไม่ได้ค่ะ) นักสู้เหล่านี้เป็นศิษย์ของปรมาจารย์ชิฟูผู้เก่งกาจ นอกจากนั้น ชิฟูยังเป็นผู้เก็บรักษา "คัมภีร์มังกร" ซึ่งกล่าวว่าหากใครได้ครอบครองก็จะกลายเป็นเจ้ายุทธจักร เรียกว่าทางโปรดักชั่นทำการบ้านหนังจีนมาเต็มที่ นำเสนอให้คนชอบดูหนังจีนไม่ขัดเขินเลยล่ะค่ะ

แต่แล้ววันหนึ่งในงานเลือกนักสู้มังกรผู้จะได้รับสืบทอดคัมภีร์ ความบ้าดาราและวงการกังฟูของอาโปทำให้เขาพยายามเข้าไปชมการประลองแต่ก็ไม่ทัน อาโปตัดสินใจเอาดอกไม้ไฟผูกติดตัวเองและบินข้ามกำแพงเข้าไปดู แต่ไม่ทราบโชคดีหรือโชคร้าย เขาตกลงกลางวงขณะอาจารย์เต่ากำลังชี้นิ้วเลือกผู้สืบทอด และบังเอิญอาโปตกลงตรงปลายนิ้วเสียด้วย!

ผลคืออาโปต้องฝึกวิทยายุทธ์เพื่อให้เหมาะสมกับการรับคัมภีร์โดยที่มีอาจารย์ชิฟูกับศิษย์ทั้ง 5 ของเขาแอบดูอย่างไม่พอใจอยู่เงียบๆ

สาเหตุที่ไม่พอใจคืออาโปเป็นแพนด้าตุ้ยนุ้ยที่ไม่มีวิทยายุทธ์เลยค่ะ เขาคือ โอตาคุ (เป็นศัพท์แสลงหมายถึงคนที่บ้าคลั่งในบางสิ่งมากๆ (มักเป็นการ์ตูน) จนถึงขนาดศึกษาประวัติศาสตร์ เก็บของสะสม และพยายามทุกอย่างเพื่อที่จะได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม) ที่ชอบวงการกังฟูมาก รู้ทุกเรื่องและเป็นแฟนเหนียวแน่นของนักสู้ทั้ง 5 เช่นกัน แต่ความรู้ของอาโปไม่ทำให้เขาเก่งกังฟูได้ เหมือนเด็กอ่านหนังสือเรื่องชกมวยโดยไม่เคยฝึกซ้อมก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นนักมวย ผลคือเขาถูกคนส่วนใหญ่ดูถูกว่าไม่คู่ควรกับคัมภีร์

แม้จะโดนคนอื่นไม่ชอบขี้หน้า แต่อาโปก็มองโลกในแง่ดีว่าทุกคนเข้มงวดกับเขาเพราะอยากให้เขาเก่งขึ้น ไม่ได้ต้องการกลั่นแกล้ง (มองโลกเชิงบวกได้น่ารักมาก) นอกจากนั้น เขายังทำสิ่งที่ถนัดให้กับเหล่านักสู้ทั้ง 5 ด้วย นั่นคือก๋วยเตี๋ยวที่ฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก

ชอบใจจุดนี้ของหนังมากค่ะ ฉากนี้ทำให้เด็กๆ รู้ว่าการเป็นฮีโร่อาจต้องเก่งกังฟู แต่การเป็นคนเก่งและได้รับการยอมรับไม่จำเป็นต้องเป็นฮีโร่ เพียงแค่มุ่งมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเต็มที่และรู้จักพัฒนาตัวเองเช่นเดียวกับอาโปฝึกทำก๋วยเตี๋ยว เราก็สามารถเป็นอัจฉริยะในเรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของเราได้

กลับมาที่การ์ตูน ข่าวนักรบมังกรรู้ถึงหูของไต้ลุง เสือดาวที่หมายปองคัมภีร์มังกรอยู่แต่แรก เขาอาละวาดเพราะไม่ได้รับเลือกเป็นนักรบมังกรเมื่อ 20 ปีก่อน จึงถูกคุมขังมาตลอดแต่บัดนี้เขาแหกคุกมาเสียแล้ว ด้วยจุดมุ่งหมายคือล้มอาโปและครอบครอบคัมภีร์มังกรให้ได้

อาจารย์ชิฟูหมดหนทางแล้วค่ะ เขาคิดมาตลอดว่าอาโปได้รับเลือกเพราะความบังเอิญ แต่เมื่อระลึกถึงคำผู้อาวุโสเต่า "ความบังเอิญไม่มีจริง" เขาจึงมองดูแพนด้าไม่ได้ความอีกครั้งด้วยดวงตาของครู จนรู้ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะสอนศิษย์ตุ้ยนุ้ยคนนี้ให้ได้ผล

ชื่นชมการนำเสนอตรงนี้มากๆ ค่ะ หนังไม่ดำเนินตามรอยหนังจีนโบราณที่ศิษย์ไม่ได้ความมีหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือพยายามให้มากขึ้นเพื่อจะสำเร็จเคล็ดวิชา กังฟูแพนด้าให้แง่คิดที่ต่างไปหน่อย ชิฟูบังคับอาโปให้ฝึกไม่เคยได้ผลแต่เขาสังเกตว่าอาโปทำได้ทุกอย่างเมื่อมีอาหารมาล่อ เขาจึงฝึกอาโปโดยเอาบรรดาอาหารเป็นรางวัล ผลคือฝึกได้สำเร็จในที่สุด

การเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์และพยายามสื่อสารเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการโดยเอาธรรมชาติของผู้อื่นเป็นที่ตั้งคือทักษะ "ความเป็นครู" ที่เด็กควรได้เรียนรู้

พ่อแม่ก็ควรเรียนรู้ด้วยนะคะ การสอนให้ลูกทำตามไม่ใช่การบังคับแบบชิฟูสอนศิษย์ยุคแรกๆ อีกแล้ว ระเบียบวินัยต้องมี แต่แรงจูงใจเป็นสิ่งที่ใช้ได้ผลกว่าการออกคำสั่งมาก ดังนั้น อาโปจึงเป็นคนที่ทำให้ชิฟูเป็นทั้งครูและพ่อได้อย่างแท้จริง ในทางกลับกันชิฟูและความตั้งใจของอาโปทำให้เขากลายเป็นแพนด้าผู้เยี่ยมวรยุทธ์ได้ในที่สุดเช่นกัน

กังฟูแพนด้าคือการ์ตูนที่เหมาะกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่จริงๆ ค่ะ พล็อตไม่ซับซ้อนทำให้เด็กเข้าใจได้ง่ายและเรียนรู้คุณธรรมอย่างรวดเร็ว ส่วนมุขขำเสียดสีหลายตอนช่วยให้ผู้ใหญ่ดูและหัวเราะได้เต็มเสียงเช่นกัน จัดว่าเป็นพายุลูกใหญ่ที่ทำให้วงการแอนิเมชั่นอเมริกันถล่มญี่ปุ่นจนคลอนได้เลยทีเดียว

//www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01sun02220651&day=2008-06-22§ionid=0120



Create Date : 22 มิถุนายน 2551
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 17:01:28 น.
Counter : 1585 Pageviews.

0 comment
ซึโบมิจังกับบ้านประหลาด
ซึโบมิจังกับบ้านประหลาด

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน

โดย วินิทรา นวลละออง



ปิดเทอมเป็นช่วงที่แห้งแล้งการ์ตูนเสมอค่ะ ไม่แน่ใจว่าเพราะเด็กปิดเทอมทำให้ไม่มีโอกาสออกจากบ้านมาซื้อการ์ตูนกันหรือเปล่า เหล่าสำนักพิมพ์จึงไม่ปล่อยการ์ตูนฮิตติดตลาดออกมามากนักในช่วงนี้ ข้อดีคือการ์ตูนที่ไม่ค่อยติดตลาดแต่คุณภาพดีหลายเรื่องก็จะได้ฤกษ์คลอดออกมาเสียที "ซึโบมิจัง ลืมอะไรหรือเปล่าจ๊ะ?" คืออีกหนึ่งเรื่องที่ไม่น่าจะขายดี แต่มีความร่วมสมัยและสะท้อนสังคมยุคนี้ได้ดีอย่างคาดไม่ถึง

"ผิดด้วยหรือที่จะพยายาม" คือชื่อตอนแรกสุดที่แค่อ่านก็น่าสนใจแล้วค่ะ "ซึโบมิ" ตัวเอกของเรื่องคือเด็กสาวนักศึกษามหาวิทยาลัยปีสองที่ต้องใช้ความพยายามมาตั้งแต่จำความได้ น่าเห็นใจที่ความพยายามหลายอย่างของเธอไม่ประสบความสำเร็จ แต่เธอก็ยังพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เสมอ

ซึโบมิอยู่กับคุณแม่แค่สองคน เนื่องจากคุณแม่เป็นหญิงเก่งที่ทุกคนยอมรับความสามารถ คุณแม่จึงคาดหวังให้ซึโบมิสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับเธอด้วย เรียกว่าเข้มงวดก็คงได้ค่ะ โชคดีที่ซึโบมิรับเอานิสัยของคุณแม่มา แต่ในความโชคดีกลับมีความโชคร้ายที่ยิ่งใหญ่ซ่อนอยู่ นั่นคือเธอไม่ได้รับเอาความเก่งจากคุณแม่มาด้วย ดังนั้นตัวตนของเธอในความคาดหวังของทั้งคุณแม่และตัวเองจึงสูงมาก ในระหว่างที่ความสามารถจริงๆ ต่ำกว่าความคาดหวังไปเยอะ

หลายครั้งที่ซึโบมิดูถูกตัวเองและไม่ชอบตัวเองที่เป็นแบบนี้เลย

ความรู้สึกเช่นนี้เรียกว่า Low self esteem ค่ะ คือความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ จะเห็นชัดเจนในช่วงวัยรุ่นซึ่งเริ่มหันกลับมามองว่าตนเองมีดีอะไรบ้าง คนที่หาไม่พบและยังหลงทางอยู่ว่าชีวิตควรจะเดินไปทางไหนดีมักจะลงเอยที่เกลียดตัวเอง อิจฉาผู้อื่น และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักโต

แต่หากจะโทษว่าเป็นความผิดของคุณแม่ของซึโบมิที่กดดันและบีบบังคับ ตั้งความคาดหวังให้ลูกสูงเกินไป อันนั้นก็คงไม่ใช่ พ่อแม่รักลูกเสมอค่ะ เพียงแต่การแสดงออกของแต่ละคนต่างกันไป การพบกันครึ่งทางระหว่างแม่ลูกอาจจะเป็นคำตอบที่ดีกว่าให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องเป็นฝ่ายปรับตัวเข้าหาอีกคนในทุกเรื่อง (ที่พูดอย่างนี้ได้เพราะพ้นวัยรุ่นมาแล้วค่ะ แต่ย้อนไปมองตัวเองตอนวัยรุ่นก็คิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจเราเหมือนกัน เรื่องปกติค่ะ)

ชีวิตของซึโบมิจังมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อได้พบ "คาโอรุจัง" คุณปู่ที่สดใสร่าเริง คุณปู่คาโอรุจังชวนซึโบมิไปกินข้าวด้วยกันที่บ้าน (เด็กไทยอย่าเลียนแบบ การตามคนแปลกหน้าไปที่บ้านอันตรายค่ะ) และเธอได้พบกับครอบครัวประหลาดที่ทุกคนไม่ได้เป็นญาติกัน แต่กลับใช้ชีวิตร่วมกันในบ้านเหมือนครอบครัวเดียวกัน สมาชิกในครอบครัวยิ่งประหลาดเข้าไปใหญ่ค่ะ

คุณแม่ของบ้านนี้คือหนุ่มใหญ่ที่ตัดสินใจลาออกจากบริษัททั้งที่การงานกำลังรุ่ง ภรรยาของเขาโกรธมากและขอหย่า ทำให้เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่ต้องการ คือ "งานบ้าน" คุณแม่ของบ้านนี้จึงกลายเป็นหนุ่มตัวโตเคราเฟิ้ม ส่วนคุณพ่อของบ้านคือหญิงสาวที่เป็นเวิร์กกิ้งวูแมน สังคมญี่ปุ่นไม่ค่อยยอมรับผู้หญิงทำงานค่ะ เธอจึงอยู่ในบ้านนี้และพิสูจน์ตัวเองว่าผู้หญิงก็เป็นช้างเท้าหน้าได้เช่นกัน แต่ที่ซึโบมิติดใจที่สุดเห็นจะเป็นลูกชาย เขาคือเพลย์บอยเจ้าเสน่ห์ที่ไม่เคยได้รับความรักความอบอุ่นที่แท้จริงเลย สรุปว่าบ้านนี้คือแหล่งรวมคนที่กำลังค้นหาความภาคภูมิใจในตัวเองค่ะ

ซึโบมิกลายมาเป็นสมาชิกคนล่าสุด ปัญหาหลักของเธอคือไม่สามารถสลัดคำสาปของแม่ได้ เธอคิดว่าตัวเองไม่เอาไหนอยู่ตลอดเวลาและไม่มีทางพึ่งพาตัวเองได้เลย การมาอยู่บ้านประหลาดนี้อาจพบหนทางที่เธอจะได้เจอสิ่งที่ตัวเองรักและยืนหยัดด้วยขาของตัวเองบ้างโดยไม่ต้องหลบอยู่ใต้ปีกแม่ตลอดเวลา

เป็นการ์ตูนที่เหมาะกับวัยรุ่นและคนที่รู้สึกว่ายังไม่พบความหมายที่แท้จริงของชีวิตค่ะ ซึโบมิกับบ้านประหลาดอาจไม่ได้ทำให้เราค้นพบสิ่งสำคัญของตัวเองในตอนท้าย แต่อย่างน้อยเราจะได้หยุดเดินวนในเขาวงกตแล้วลองมาพิจารณาตัวเองอีกครั้งว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร

แค่ทำให้เราหันกลับมามองตัวเองได้ การ์ตูนเล่มนี้ก็คุ้มเงินสี่สิบบาทแล้วค่ะ

//www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01sun03270451&day=2008-04-27§ionid=0120



Create Date : 21 มิถุนายน 2551
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 17:01:21 น.
Counter : 1240 Pageviews.

0 comment
The Top Secret เมื่อความลับไม่มีในโลก
The Top Secret เมื่อความลับไม่มีในโลก

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน

โดย วินิทรา นวลละออง



บางทีดินแดนที่เป็นอิสระที่สุดในจักรวาลคือภายใน "สมอง" ของเราเองค่ะ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างสามารถจินตนาการได้ภายในสมองของเรา ไม่ว่าเรื่องดีหรือไม่ดีล้วนเกิดจากความคิดของเราเองทั้งสิ้น ซึ่งเป็นที่ทราบดีกว่าความคิดเกิดขึ้นจากการทำงานอันซับซ้อนของเซลล์สมองและสารสื่อประสาทมากมายที่มนุษย์ยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมดค่ะ

มีความพยายามจะอ่านสิ่งที่ซ่อนอยู่ลึกที่สุดในสมองของเรามาแต่โบราณแล้ว ที่ทันสมัยที่สุดเห็นจะเป็นแนวคิดในการสะกดจิตเพื่อดึงสิ่งที่หลบในจิตใต้สำนึกออกมา แต่อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราไม่ต้องสะกดจิตกันอีกต่อไป แต่เราสามารถมองเห็นภาพที่คนๆ หนึ่งเห็นได้โดยฉายจากสมองโดยตรงเลย สิ่งที่เราคิดว่าจะเป็นความลับตลอดกาลเมื่อเราตายไปกลับถูกคนอื่นฉายภาพออกมาจากสมองโดยตรงหลังจากเราตายแล้ว โอ้...แย่สิคะเนี่ย

The Top Secret คืองานที่ทำให้เริ่มเสียวว่าความลับจะไม่มีในโลกอีกแล้วค่ะ เล่มนี้คือผลงานใหม่ของ อ.ชิมิสึ เรย์โกะ นักวาดการ์ตูนผู้หญิงที่โด่งดังมาตั้งแต่สมัยยุค 70 ผลงานส่วนใหญ่ของอาจารย์เป็นแนววิทยาศาสตร์ที่น่าทึ่งเลยค่ะ โดยเป็นแนวเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของไซไฟในการ์ตูนผู้หญิงยุค 70 นั่นคือมีการผนวกแนวคิดด้านจิตวิทยากับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขึ้น จนเกิดเป็นภัยพิบัติแบบใหม่ที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน

เรื่องนี้เขียนต่อจากเรื่องสั้นที่เขียนไว้เมื่อปี 1999 ซึ่งเป็นเรื่องต้นแบบ The Top Secret ใหม่นี้คือตอนที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2001 ค่ะ

"อาโอกิ" ชายหนุ่มซื่อๆ ได้รับการบรรจุในหน่วยนิติเวช 9 ซึ่งสืบสวนคดียากๆ จากการดูสมองผ่านเครื่อง MRI เครื่องฉายภาพที่เจ้าของสมองมองเห็นก่อนเสียชีวิตย้อนหลังได้หลายปี (คนละเครื่องกับ MRI ของจริงนะคะ) หัวหน้าหน่วยของเขากลับเป็นเด็กหนุ่มหน้าใส "มากิ" ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวหลังได้ดูสมองของฆาตกรวิปริตที่ฆ่าเด็กหนุ่ม 28 คนด้วยการชำแหละเป็นชิ้นๆ

ครั้งนี้เกิดคดีฆ่าตัวตายพร้อมกัน 9 คน โดยทุกคนเป็นเด็กหนุ่มที่เพิ่งออกจากสถานกักกัน ภาพที่ทุกคนเห็นก่อนตายคือสิ่งที่ตนเองกลัวที่สุดวิ่งไล่ตามมาหลอกหลอน จนในที่สุดพวกเขาก็ฆ่าตัวตายเพื่อหนีสิ่งน่ากลัวที่แม้ตาเห็นแต่ไม่มีจริง มากิตามสืบมาได้จนเขาพบว่าเด็กหนุ่มทุกคนเคยพบกับฆาตกร 28 ศพที่มากิหวาดกลัวที่สุดมาก่อน เขาแทบคลั่งจนทำคดีต่อไม่ได้เลยค่ะ

ด้วยความอยากรู้ อาโอกิจึงไปดู MRI สมองเพื่อนร่วมงานของมากิที่เสียชีวิตหลังจากได้ดูสมองของฆาตกร 28 ศพ ทำให้เขาได้เห็นภาพที่ฆาตกรกำลังฆ่าเหยื่ออย่างโหดร้ายด้วย ภาพเหล่านั้นน่ากลัวจนอาโอกิเกือบตายเหมือนกัน

สิ่งที่อ่านแล้วคิดไปด้วยคือคุณฆาตกร 28 ศพเขาเป็น "โรคจิตเภท" (Schizophrenia) แหงๆ แต่ใช่ว่าผู้ป่วยโรคจิตเภททุกคนเป็นฆาตกรได้นะคะ โรคนี้ก็มีระดับความรุนแรงอยู่เหมือนกัน โชคดีที่ปัจจุบันมียาดีอยู่มาก คนที่ป่วยรุนแรงแบบคุณฆาตกร 28 ศพไม่ค่อยมีแล้วล่ะค่ะ คนเมายาบ้าหรือเมาเหล้ายังน่ากลัวกว่าเยอะเลย

ผู้ป่วยโรคจิตที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมมักจะมีความคิดหลายอย่างที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง เขาอาจทำหลายอย่างที่คนปกติไม่สามารถทำได้ เช่น ฆ่าตัวตายหรือทำร้ายผู้อื่น ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง A Beautiful Mind ที่ได้รางวัลเพียบในปี 2001 (ปีเดียวกับที่เรื่องนี้เขียนขึ้นพอดี) คงจะทราบว่าพระเอกของเรื่องที่ป่วยเป็น Schizophrenia มองเห็นโลกต่างจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง โลกของเขามีแต่ความน่าหวาดกลัว ดังนั้นคนป่วยโรคนี้คือคนที่น่าเห็นใจอย่างที่สุดค่ะ เพราะเขาไม่สามารถมองเห็นความสดใสของโลกได้เลย (ตราบใดที่ยังไม่ยอมรักษา) "สมอง" ของเขาไม่ใช่ดินแดนอิสระอีกต่อไป กลายเป็นดินแดนที่น่ากลัวเหมือนนรกเลยล่ะค่ะ

แต่ผู้ป่วยโรคจิตไม่ใช่คนน่ากลัวเสียทุกคนนะคะ ถ้าเขาได้รับการรักษาแล้ว เขาก็เหมือนคนเราทั่วไปนี่เอง การรักษาจะช่วยดึงเขาให้กลับมามองเห็นโลกอย่างสดใสได้เหมือนคนทั่วไปค่ะ ดังนั้นมากิคงไม่ต้องเสียเพื่อนไปหลายคนถ้าเจอฆาตกร 28 ศพแล้วพาเขาไปพบจิตแพทย์เสียก่อน

ตอนเขียนคอลัมน์นี้ก็ชั่งใจอยู่เหมือนกันว่าคนทั่วไปจะยิ่งกลัวผู้ป่วยโรคจิตมากขึ้นหรือเปล่าเนี่ย ก็เลยหันมาถามตัวเอง (ในฐานะจิตแพทย์คนหนึ่ง) ว่าเคยกลัวคนไข้กลุ่มนี้ไหม คิดแล้วก็ยิ้มออกมาค่ะว่าไม่กลัวเลยนี่นา แต่ละวันพบตั้งหลายคน น่ารักทุกคนทั้งนั้น

แต่ถ้ามีคนถามว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนเหล่านี้จะลุกขึ้นมาทำอันตรายคนอื่นหรือเปล่า คำตอบคือเคยเห็นคนเมายาบ้าตาขวางๆ ไหมคะ หรือคนเมาเหล้าแล้วอาละวาด ถ้าเห็นคนแบบนี้เราก็ต้องเผ่นก่อนล่ะค่ะ เพราะแยกยากเหลือเกินว่าเขาเมายาหรือป่วยเป็นโรคจิตรุนแรงที่ไม่ได้รับการรักษากันแน่ น่ากลัวประมาณกันเลยค่ะ

//www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01sun03300351&day=2008-03-30§ionid=0120



Create Date : 21 มิถุนายน 2551
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 17:00:44 น.
Counter : 1090 Pageviews.

0 comment
พยัคฆ์สาวแบรนด์เนม
พยัคฆ์สาวแบรนด์เนม

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน

โดย วินิทรา นวลละออง



คำว่า "แบรนด์" มีความหมายกว้างมากและยังแตกต่างกันไปตามมุมมองของแต่ละคน แต่คำที่น่าจะคุ้นเคยกับสาวๆ มากกว่าเห็นจะเป็น "แบรนด์เนม" ซึ่งว่าด้วยสินค้าที่ให้ความรู้สึกหรูหรา อู้ฟู่ มีรสนิยม และน่าจะแพง ถ้าเราลองคิดถึงใครสักคนที่ใช้สินค้าแบรนด์เนมได้เยอะอย่างน่าอิจฉา เขาคนนั้นน่าจะเป็นสาวสังคมผู้ร่ำรวยและรสนิยมดี แต่ไม่น่าใช่ตำรวจหน่วยปราบปรามสาวแบบในการ์ตูนเรื่องนี้แน่ค่ะ

"เมงุมิ อิจิโกะ" สารวัตรแผนกยาเสพติดคือตำรวจที่ดูแตกต่างไปจากตำรวจหญิงทั่วไปอย่างชัดเจนเนื่องจากเธอนิยมสินค้าแบรนด์เนมทุกประเภทค่ะ ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ทุกอย่างต้องเป็นแบรนด์ยอดนิยมเท่านั้นเธอถึงจะยอมใส่ ในความคิดของคนทั่วไป สาวๆ บ้าแบรนด์น่าจะเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อและยกอะไรที่หนักกว่าขวดยาทาเล็บไม่ขึ้น แต่อิจิโกะตรงข้ามค่ะ เธอใส่รองเท้าส้นสูงวิ่งไล่จับคนร้ายเป็นประจำ เอากระเป๋าราคาเหยียบแสนฟาดหน้าคนร้ายก็เคยมาแล้ว ชุดสูทราคาหลายแสนอาจขาดยับเยินเมื่อเธอเข้าจับกุมชุลมุนกับผู้ต้องหา อิจิโกะจึงเป็นสาวแกร่งอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่จุดอ่อนของสาวงามที่มีพละกำลังพอๆ กับก๊อดซิลล่าคนนี้คือ "เธอต้องการผู้ชาย 5 ดี" อย่างแรงค่ะ! คือต้องดีทั้งรูปร่างหน้าตา,นิสัย,รสนิยม,มารยาท,และหัวดีด้วยจึงจะเข้าตากรรมการ แต่ทุกครั้งที่เธอพบผู้ชาย 5D ที่คิดว่าจะใช่ตัวจริงเมื่อไร เขามีอันต้องขาดข้อใดข้อหนึ่งไปสักข้อเสมอ ถ้าไม่เป็นอาชญากรก็อาจจะมีข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ เหตุนี้เองสารวัตรอิจิโกะจึงยังโสดสนิทอยู่จนทุกวันนี้

มีตอนหนึ่งที่น่าสนใจมาก อิจิโกะต้องร่วมมือกับชายหนุ่มซึ่งถูกจับในข้อหา "หลอกแต่งงาน" ค่ะ นักต้มตุ๋นคนนี้แต่งงานกับผู้หญิง 16 คนเพื่อหลอกล่อให้ผู้หญิงเหล่านั้นโอนทรัพย์สมบัติให้แล้วก็หนีหายต๋อมไป แต่ผู้หญิงคนที่ 17 ที่เขาหลอกกลับไปพัวพันในคดีค้ายาเสพติดเข้า อิจิโกะจึงขอความร่วมมือจากเขาเพื่อตามหานักค้ายาเสพติดคนนั้น

ระหว่างที่ร่วมงานกัน คุณนักต้มตุ๋นบอกว่าแท้จริงเขาไม่ได้หลอกลวงผู้หญิง แต่เขาเกิดมาเพื่อเยียวยาหัวใจผู้หญิงโดยเป็น "ชายในฝัน" ตามที่เธอต้องการ การเยียวยาต้องใช้ความสามารถอย่างสูงจึงต้องการค่าตอบแทนมากเป็นธรรมดา (คือหลอกเอาสมบัตินั่นแหละ)

สุดท้ายผู้หญิง 16 คนยกฟ้องชายคนนี้ค่ะ เพราะระหว่างที่เขาอยู่กับพวกเธอ เขาให้ความอบอุ่นและความภูมิใจตลอดเวลาจนถึงวันที่จากกัน พวกเธอคิดว่าเขาคือผู้ชายที่ดีเหนือกว่าผู้ชายทั่วไปมาก เป็นผู้ชายที่ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นชายในอุดมคติของผู้หญิงทุกแบบได้

เขาจึงไม่ใช่เพชรแท้ แต่เป็น Rhine Stone ของชาแนล ซึ่งเป็นเครื่องประดับทำจากหินสีเม็ดโต ดูปุ๊บก็รู้ว่าไม่ใช่อัญมณีแท้แน่นอนเพราะใหญ่เกินไป แต่ชาแนลก็ไม่ได้สนใจจะทำให้ Rhine Stone เหมือนของแท้ เขากลับนำหินเม็ดเขื่องมาออกแบบอย่างสวยงามด้วยคอนเซปต์ว่า "เหนือกว่าของจริง" คือสวยกว่า เปล่งประกายกว่า สะดุดตากว่า แม้ทั้งคนใส่และคนเห็นรู้ว่า "ปลอม" แต่ก็ยินดีหลงใหลกับของปลอมและการหลอกลวงที่สวยงามกว่าของจริงนี้ค่ะ เช่นเดียวกับหญิงสาวทั้ง 16 คนที่รู้ว่าโดนหลอกแต่ก็อยากให้หลอกเหลือเกิน เพราะไม่เคยเจอผู้ชายที่ดีเหนือกว่าผู้ชายจริงๆ แบบนี้เลย

ถึงตรงนี้โปรดใช้วิจารณญาณนะคะ คุณนักต้มตุ๋นผิดแน่ที่หลอกเอาเงินเพราะถือเป็นการหลอกลวง แต่พวกเธอไม่ได้ทำผิดที่ยกฟ้องเพราะนักต้มตุ๋นคนนี้ก็เหมือนกระเป๋าราคาแพงที่สาวๆ ถือแล้วมีความสุข เธออยากเสียเงินแล้วได้ถือก็เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ แต่จะเอามาปะปนกับ "คู่ชีวิต" ที่ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกันไม่ได้ "คู่ควง" กับ "สามี" ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าใครได้สามีที่ควงได้อย่างภาคภูมิใจได้ตลอดชีวิตถือว่าโชคดีค่ะ

อิจิโกะเองคงตามหาผู้ชาย 5D ด้วยความรู้สึกเช่นเดียวกับการตามหาคอลเลคชั่นล่าสุดของสินค้าแบรด์เนมเช่นกัน เพราะเธอมีความสุขกับหนุ่มๆ เหล่านั้นเพียงช่วงสั้นๆ แต่สุดท้ายเมื่อพิจารณาว่าเหมาะเป็นคู่ชีวิตหรือไม่ก็เป็นอันสอบตกทุกรายไป หลังจากนั้นเธอก็ดื่มด่ำกับความผิดหวังของตนเองและสนุกกับการมองหาชายหนุ่ม 5D คนใหม่ ราวกับเธอไม่ได้ทุกข์ที่หาแฟนไม่ได้ แต่กลับสนุกกับการหาแฟนไปเรื่อยๆ มากกว่า

ใครมีเพื่อนแบบนี้ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะไม่พบรักแท้นะคะ เพราะเขาจะไม่พบในช่วงนี้ชัวร์ค่ะ (ฮ่าๆๆๆ) จนกว่าจะถึงวันที่แยกความแตกต่างระหว่างคู่ควงกับคู่ชีวิตได้นั่นล่ะค่ะ รักแท้ถึงจะเข้ามา

//www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01fun11230351&day=2008-03-23§ionid=0140



Create Date : 21 มิถุนายน 2551
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 17:00:38 น.
Counter : 1346 Pageviews.

1 comment
การ์ตูนผู้ชายที่ไร้พระเอก
การ์ตูนผู้ชายที่ไร้พระเอก

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน

โดย วินิทรา นวลละออง

สมัยก่อนเราอาจแยกคร่าวๆ ว่าการ์ตูนเรื่องนี้เป็น "การ์ตูนสำหรับผู้หญิง" หรือ "การ์ตูนสำหรับผู้ชาย" ได้โดยดูว่าตัวการ์ตูนที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดเป็นใคร เช่น ดรากอนบอลล์มีโกคูเป็นพระเอก หมายความว่าเรื่องนี้เป็นการ์ตูนผู้ชาย ในระหว่างที่ฮานาโยริดังโงะ (หรือ F4 ที่โด่งดัง) มีสึกุชิเป็นนางเอก ดังนั้นน่าจะเป็นการ์ตูนผู้หญิง

ความรู้สึกแปลกๆ ครั้งแรกที่ตัวเองสังเกตได้น่าจะเป็นยุคที่ "เซเลอร์มูน" ซึ่งควรจะเป็นการ์ตูนผู้หญิงร้อยเปอร์เซ็นต์กลับเป็นที่นิยมในหมู่ชาวคอสเพลย์ "ผู้ชาย" บางท่านค่ะ เซเลอร์มูนคงมีบางอย่างที่ "โดนใจ" หนุ่มๆ บางคนซึ่งอธิบายไม่ได้ ต่อมาได้เห็นกระแสนี้อีกครั้งเมื่อ "ซุซุมิยะ ฮารุฮิ" ซึ่งเป็นการ์ตูนที่มีฮารุฮิสาวน้อยน่ารักเป็นตัวเอก หนุ่มๆ ชอบเธอมากค่ะ แต่ไม่ใช่เพราะอยากได้เธอเป็นแฟนดังเช่นที่หลายคนเดา หนุ่มๆ เหล่านั้นรักและนับถือเธอเลยล่ะค่ะ! เรียกได้ว่าหนุ่มๆ หลายคนแต่งคอสเพลย์เป็นฮารุฮิ (ในชุดนักเรียนกระโปรงและที่คาดผมน่ารัก) เลยทีเดียว

อะไรทำให้ฮีโร่ในใจนักอ่านการ์ตูนชายหลายท่านเปลี่ยนชายผู้ชายบ้าพลังเป็นสาวน้อยน่ารักได้กันแน่ นี่คือคำถามที่ยังหาข้อมูลอ้างอิงไม่เจอค่ะ แต่ลองมองย้อนอดีตไปหน่อยว่าอะไรบ้างที่ทำให้ชายหนุ่มอยากกลายเป็นฮีโร่สาว นึกออกแต่ "คาบุกิ" ค่ะ

การให้ผู้ชายแต่งกายแบบผู้หญิงและร่ายรำรวมถึงแสดงท่าทางผู้หญิงดังปรากฏในตัวนางของ "ละครคาบุกิ" ศิลปะการแสดงที่งดงามและทรงคุณค่ามาหลายศตวรรษของญี่ปุ่นคือสิ่งที่ชาวตะวันตกหลายคนไม่เข้าใจ ด้วยค่านิยมตะวันตกที่ว่าผู้ชายจะต้องแข็งแกร่ง เป็นผู้นำ กล้ามโต กลายมาเป็นความน่าสนใจว่าภาพการมอง "บทบาทของเพศชาย" ในแต่ละสังคมมีความแตกต่างที่ละเอียดอ่อนบางอย่างแฝงอยู่

มีฝรั่งคนหนึ่งถามไว้ในเวบไซท์รวมคลิปวิดีโอ Youtube หัวข้อคาบุกิว่า "ตอนนี้ญี่ปุ่นก็มีผู้หญิงที่มีความสามารถตั้งเยอะแยะ ทำไมต้องจำกัดให้คาบุกิมีแต่นักแสดงชายด้วย" เรื่องนี้ "ทามะซาบุโร่ บุนโด" นักแสดงคาบุกิในบทตัวนางตอบไว้ได้น่าฟังมากค่ะ เขาบอกว่า "เราไม่ได้แสดงเป็นผู้หญิงจริงๆ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ชายจะเข้าใจมุมมองของผู้หญิงไปทุกอย่าง แต่สิ่งที่เราแสดงคือ "ผู้หญิงในความเข้าใจของผู้ชาย" ซึ่งอาจมีความงดงามอ่อนช้อยหรืออารมณ์อ่อนไหวรวมถึงจริตมารยามากกว่าผู้หญิงจริงๆ"

สิ่งนี้ตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่าเพราะเหตุใดตัวนางในคาบุกิซึ่งบางครั้งสวยกว่าผู้หญิงจริงๆ จึงยังคงมีแฟนผลงานเป็นผู้หญิงด้วย นั่นเพราะเขามีความสามารถในการตีความ "ความเป็นผู้หญิง" ได้อย่างดีเยี่ยมและเข้าถึงบทบาทนั่นเอง เขาคือ "ผู้ชายที่มีความสามารถ" ไม่ใช่ "ผู้ชายที่ดูเหมือนผู้หญิง"

สังคมญี่ปุ่นไม่เห็นว่าการที่ผู้ชายแสดงบทบาทของผู้หญิงคือเรื่องผิดแปลกค่ะ อาจจะเหมือนกับโขนไทยซึ่งตัวนางอาจแสดงโดยนักแสดงชายผู้มากความสามารถ หรือตลกสามช่าที่เมื่อแต่งเป็นผู้หญิง คนดูก็ยังยอมรับและเข้าใจโดยไม่ตะขิดตะขวงใจแต่อย่างใด

กลับมาที่ภาพชายหนุ่มแต่งชุด "เซเลอร์มูน" แขนกุดขนรักแร้ปลิวบ้างค่ะ

อืม...คิดอย่างใจเป็นกลางคือเขาก็อยากแต่งตัวเป็นบุคคลซึ่งเป็นฮีโร่ประจำใจนะคะ เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่พึงจะทำได้ ไม่ผิดเลยแม้แต่น้อย ใครไม่อยากดูก็หลับตาไปสิ หรือถ้าโชคดีเขาแต่งออกมาสวยก็น่าภูมิใจไม่ใช่เหรอ แล้วในเมื่อมีชายหนุ่มที่เห็นสาวน้อยน่ารักเป็นฮีโร่ จึงไม่น่าแปลกที่ตลาดการ์ตูนสำหรับผู้ชายจะขายการ์ตูนที่ตัวเอกคือ "นางเอก" ไม่ใช่ "พระเอก" (คืออาจมีผู้ชายในเรื่องแต่ไม่ใช่บุคคลที่คนอ่านชื่นชมจนอยากแต่งตัวเหมือนเขา)

เหล่านางเอกในการ์ตูนผู้ชายที่ไร้พระเอกเหล่านี้จึงอาจเป็น "ผู้หญิงที่มีความสามารถ" ในการเข้าใจ "ความเป็นผู้ชาย" อย่างลึกซึ้งค่ะ เธออาจเข้าใจความอ่อนแอขี้ใจน้อยของผู้ชายได้ หรืออาจรักแต่แสดงออกไม่เก่ง ไม่ก็แค่ทำตาเหงาๆ ก็มีคนมารุมรักโดยไม่ต้องพูด สรุปว่าเธอคือผลผลิตจากความปรารถนาลึกๆ ของผู้ชาย ซึ่งเป็นความปรารถนาที่คนทั่วไปนิยามว่า "นิสัยแบบผู้หญิง" นั่นเองค่ะ และเพื่อความกลมกล่อมจึงได้นำเสนอผ่านตัวการ์ตูนผู้หญิงเสียแทน เป็นที่มาว่าทำไมการ์ตูนที่นางเอกเด่นจึงอาจไมใช่การ์ตูนสำหรับผู้หญิงเสียทีเดียว

ช่างเป็นวัฒนธรรมที่ซับซ้อนเหลือเกินค่ะ เชื่อว่าใครวิเคราะห์ความต้องการเช่นนี้ได้ น่าจะเป็นผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับกลุ่มคนที่นิยามตนเองด้วยเพศที่ติดตัวแต่กำเนิดไม่ได้ในอนาคตค่ะ

//www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01sun03090351&day=2008-03-09§ionid=0120



Create Date : 21 มิถุนายน 2551
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 17:00:32 น.
Counter : 1118 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  

iamZEON
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 111 คน [?]



ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ ^^/

ข่าวสารการ์ตูนญี่ปุ่น
กับเกี่ยวข้องอย่างภาพยนตร์-เพลง
รายชื่อการ์ตูนออกใหม่-งานหนังสือ
เรื่องทั่วๆไปทั้งในและนอกประเทศก็มีบ้าง
New Comments
Group Blog
All Blog
MY VIP Friend