All Blog
‘เมื่อความเศร้ามาเปิดหน้าต่างจ๊ะเอ๋ด้วย
เมื่อความเศร้ามาเปิดหน้าต่างจ๊ะเอ๋ด้วย
ดร.พรรณี  เกษกมล
            โดยธรรมชาติคนเราย่อมทุกข์มากกว่าสุข จึงเป็นปกติมากที่เราจะเห็นคนบ่นว่ากลุ้มใจ เบื่อ เซ็ง แล้วน้อยคนนักที่จะหัวเราะเริงร่าได้อย่างสบายใจ หลายวันหลายคืน พอทำท่าจะอารมณ์ดีขึ้นมาสักหน่อย เอาอีกแล้วมีเรื่องมากวนใจให้บูดได้อีก
            ถ้าเราเริ่มต้นคิดว่า นี่คืออารมณ์ รู้เท่าทันมัน การที่มันมาหาเรา มันเข้ามาทักทาย ถ้าเราทักทายตอบ ยิ้มแย้มตอบรับ มันจะจากจรไปได้รวดเร็วมากขึ้น
            คนที่สุขมากกว่าทุกข์เป็นคนที่จัดการกับอารมณ์ของตนได้เป็นอย่างดี ต้องนับว่าเป็นยอดคน เป็นคนที่รู้ว่า เมื่อเห็นกองขี้หมาจะไม่เข้าไปเหยียบให้เหม็นขี้หมาติดฝ่าเท้า คนสติดี ๆ ที่ไหน จะไปเดินเหยียบกองขี้หมา เช่นกัน คนดีที่ไหนจะรับความทุกข์เข้ามาหาตัวให้เสียอารมณ์ไปเปล่า ๆ ปลี้ ๆ
            ถึงแม้สิ่งที่เรียกว่าทุกข์นั้นมักจะจรเข้ามาหาบ่อยครั้งเหลือเกิน แต่ถ้ารู้จักวิธีที่จะจัดการกับมัน ก็ไม่ยากจนเกินไปที่จะไล่มันไปให้พ้นเส้นทาง เมื่อทำบ่อยครั้งเข้า จะคิดว่าง่ายเสียด้วยซ้ำที่จะไม่ปล่อยให้มันมาจ๊ะเอ๋กับเราได้
            คนที่ทนจนชินจะคิดว่า มันธรรมดานะ ถ้าไม่ทุกข์สิเรื่องแปลก บางคนหาคำขวัญปลอบใจตนเอง บอกว่า มันคืออุปสรรคที่ผ่านเข้ามาทดสอบความสามารถของเรา คนเก่งจะเอาชนะความทุกข์ได้ไม่ยากเย็นจนเกินไปนัก บางคนบอกปล่อยให้ทุกข์แค่นาทีเดียวก็มากเกินพอแล้ว
            ความทุกข์มักจะเปิดหน้าต่างมาจ๊ะเอ๋บ่อยเหลือเกิน ถ้ามันผ่านมา แล้วกอง ๆ ไว้ข้างตัว ไม่เอามาสุมในอก หรือโยนทิ้งเสียให้ไกลหูไกลตา มักจะโล่งอก อยากจะจ๊ะเอ๋บ่อยแค่ไหน ก็ช่างหัวมันเถอะ เราก็จ๊ะเอ๋ตอบด้วยอัธยาศัยอันดี คงจบเรื่อง
            ส่วนคนที่เปิดหน้าต่างครั้งไร ความทุกข์เข้ามาจ๊ะเอ๋ด้วยทุกครั้ง และรับมันเข้ามาเต็มอก ไม่ยอมปล่อยหรือโยนทิ้งแม้สักครั้งเดียว เก็บไว้ตามลำพัง ไม่ผ่อนคลาย ปล่อยวาง หรือระบายออก  ไม่ยอมบอกใครแม้คนที่ใกล้ชิดที่สุด มันรู้ตัวว่าคนนี้แหละที่สมควรจะมาจ๊ะเอ๋ได้บ่อยครั้งเท่าที่จะทำได้
            คนที่ปล่อยให้ทุกข์กองอยู่ในตัว สุมอยู่ในอกมาก ๆ และบ่อยครั้ง ความทุกข์นั้นจะสะสมจนกลายเป็นความเศร้า จากเศร้าน้อย ๆ นาน ๆ ครั้ง เผลอแป๊บเดียวมันจู่โจมเข้าไปถึงหัวจิตหัวใจไปซะแล้ว ไม่ว่าจะคิดอะไร กลายเป็นเรื่องเศร้าลงท้ายได้ทุกที จากคนที่เคยคิดบวกมองโลกในแง่ดีกลายเป็นคนคิดลบมองโลกในแง่ร้ายไปเสียทุกเรื่องสิน่ะ
            จากความเศร้าทำให้เราตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า จากที่นาน ๆ ครั้งมันจะมาจ๊ะเอ๋ กลายเป็นมันจ๊ะเอ๋เราได้ทุกลมหายใจทีเดียว
            แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ ถ้าฉันอยากจะซึมเศร้าบ้าง มันเป็นอะไรนักหรือ ฉันเห็นใคร ๆ ก็ซึมเศร้ากันทั้งนั้นแหละ ถ้าคิดเช่นนี้ คงอยู่บ้านไม่ได้แล้วล่ะ
            คนที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าจะไม่รู้ตัว  รู้แต่ว่าจิตใจห่อเหี่ยว อ่อนแอ ท้อแท้ หมดหวัง หมดกำลังใจ  ถ้าไม่รู้ตัวปล่อยให้อาการซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น อาจนำไปสู่การฆ่า
ตัวตายได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ๆ ทีเดียว
            ข่าวคราวที่ประโคมกันได้บ่อย ๆ เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายนั้น ร้อยทั้งร้อยเกิดจากคนนั้นอยู่ในภาวะซึมเศร้านาน ๆ แล้วคนใกล้ชิดไม่พาไปบำบัดรักษา ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากวังวนแห่งการคิดซ้ำ ๆ ว่า เขาเป็นคนไร้ค่า ไม่มีใครต้องการเขาแม้สักคนเดียว
            ถ้าไม่ปรับพฤติกรรม ไม่เปลี่ยนวิธีคิด ไม่จัดการกับสารเคมีที่แปลกปลอมเข้าร่างกาย คงยากนักที่จะถอยห่างจากมันได้ คงถึงเวลาที่จะต้องออกนอกบ้านแล้วไปหาหมอซะแล้ว หมอจริง ๆ ตามโรงพยาบาล ไม่ใช่หมอดู หมอเจ้าเข้าทรงนะ
            แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาไปหาหมอแล้ว คำตอบอยู่ในสิ่งที่เราคิด  เราจะรู้ได้ว่าเศร้าหรือยัง เศร้ามากน้อยเพียงใด
            เมื่อไหร่ที่คิดเกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัวว่าไม่ดี เลวร้าย เราเป็นคนโชคร้าย  ตั้งแต่เกิดมามีแต่ความยากลำบาก  มีความคิดความเชื่อเกี่ยวกับตัวเองในทางไม่ดี  ความคิดไม่มีเหตุผล  คิดว่าตนเป็นคนไม่มีอนาคต  โลกโหดร้ายต่อเรามากเกินไปแล้ว  อนาคตมืดมน  สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นดูจะเลวร้ายไปเสียทุกเรื่อง 
            ถ้าคิดเช่นนี้ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ มากเกินไป รีบแจ้นไปโรงพยาบาลได้เลยนะจะบอกให้
            ความคิดเช่นนี้จะทำลายตัวเราและจิตใจของเรา  เพราะจะมองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเลวร้ายและแปลความหมายทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทางไม่ดี  คิดว่าทุกอย่างรอบตัวล้วนแต่เป็นภาระและอุปสรรค
            การตรวจสอบให้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกเหนือจากสิ่งที่อยู่ในความคิด เพราะบางคน
อาจเข้าข้างตนเอง หรือไม่ยอมรับในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น การตรวจสอบว่าตนมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่  ให้พิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงใน 4 ด้านต่อไปนี้  และพิจารณาว่ามีอาการมากน้อยเพียงใด 
            แบบแผนพฤติกรรม    อยากร้องตะโกนโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด  ไม่อยากอยู่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง   ไม่ใส่ใจเสื้อผ้าที่สวมใส่   ไม่ใส่ใจว่าห้องนอนสะอาดเพียงพอหรือไม่   ไม่เจริญอาหาร  ไม่อยากมีสัมพันธ์ทางเพศกับคู่สมรส  รู้สึกอึดอัดคับข้องใจโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด 
            อารมณ์หรือความรู้สึก  อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก (จากต่ำสุดไปหาตื่นเต้นสุดขีด)  รู้สึกแย่มาก ๆ    รู้สึกโกรธหรือรำคาญง่าย   รู้สึกกลัว  รู้สึกเหมือนกับว่าทุกอย่างต้องใช้ความพยายามมากเหลือเกิน 
            แบบแผนการคิด  หาสมาธิยากในการทำงานที่ต้องใช้ความคิด   เปลี่ยนความคิดอย่างรวดเร็วจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง  มีความคิดในทางไม่ดีในเรื่องต่อไปนี้ :  ฉันคิดว่าฉันน่าจะดูดีกว่านี้   ฉันไม่สามารถทำอะไรที่ถูกต้องได้   ไม่มีใครชอบฉัน  ฉันเกลียดสิ่งที่ฉันเป็นอยู่   ไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงได้   ไม่มีใครรู้สึกอะไรถ้าฉันตาย  ฉันเกลียดชีวิตฉัน  ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโง่
            อาการทางกาย  มีปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  รู้สึกไม่ค่อยดีหรือไม่ค่อยสบายตัว  ร่างกายหนักอึ้ง   สีหน้าเรียบเฉย
 
            ถ้าแค่เริ่มต้นเศร้า ก่อนเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า ลองทำสิ่งต่อไปนี้ดูไหม อาจจะดีขึ้นก็ได้นะ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง จำเอาไว้ ไม่เช่นนั้นอาจสายเกินแก้
            การเพิ่มกำลังใจให้ตนเองหรือรู้จักเอาชนะความเศร้าจะช่วยให้เรามีกำลังใจ  และมีจิตใจที่เข้มแข็ง  พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ
            วิธีที่คุ้นเคยมากที่สุด  คือ การหาธรรมะยึดเป็นหลักประจำใจ   การอ่านหนังสือธรรมะก่อนนอน การทำสมาธิ การไปวัดทำบุญทำทาน  การเรียนรู้หลักโลกธรรม รู้เท่าทัน  คิดว่าไม่มีทุกข์ตลอดกาล   คนเราเดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์   เราก็จะมีกำลังใจต่อสู้ให้ผ่านทุกข์ครั้งนี้ไปได้
            การเอาชนะความเศร้า ต้องพยายามให้ใจของเราปรับเปลี่ยนแนวคิด   ให้คิดแต่เรื่องที่จะทำให้เรามีความสุข  มีกำลังใจที่จะต่อสู้  สมัยนี้หนังสือประเภทเสริมสร้างกำลังใจ  วิธีเอาชนะทุกข์   ก้าวไปข้างหน้า  มีมากมาย  ลองหามาอ่านบ้าง  จะได้รู้วิธีสร้างเป้าหมายใหม่ให้กับตนเอง  ทำให้เรามีความคิดที่จะทำโน่นทำนี่   ให้มีความคิดที่ดีที่จะต่อสู้ชีวิตและนำชีวิตไปสู่ความก้าวหน้ารุ่งเรือง
            สิ่งที่จะต้องทำ คือ ให้ความรู้สึกว่าตนคือผู้แพ้  ทำไมโลกจึงโหดร้ายกับเราหมดสิ้นไปจากใจให้ได้  ความรู้สึกว่าตนสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่าต้องลดน้อยลง  ต้องเร่งสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง  เลิกนิสัยการพึ่งพาผู้อื่น 
            การหัดคิดแต่สิ่งที่เป็นปัจจุบัน  ที่นี่และเดี๋ยวนี้  ไม่คิดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว  ไม่นึกถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง  ฝึกการคิดแบบมีเหตุผล  เลิกความเชื่อที่งมงายไร้สาระ 
            ตัวอย่างความคิดที่ไร้เหตุผล เช่น  ฉันจะสุขก็ต่อเมื่อทุกคนรักฉัน   คนที่ดีพร้อมทุกอย่างเท่านั้นจึงจะเป็นคนที่มีคุณค่า  แท้ที่จริงคนทุกคนเหมือนกันหมดมีทั้งดีเลวปะปนกัน   ไม่จำเป็นต้องคิดว่าเราต้องทำดีที่สุด  พลาดไม่ได้  
            ท้ายนี้คนที่ปล่อยให้ความเศร้ามาจ๊ะเอ๋บ่อย ๆ และรับเข้ามาไว้กับตัว ขอให้ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนวิธีคิด ให้เป็นคนที่มีอารมณ์แจ่มใส มีความสุขบ่อยครั้งกว่าความทุกข์  จำไว้ว่าถ้าวันนี้อารมณ์ไม่ดีหนึ่งครั้ง พรุ่งนี้จะอารมณ์ไม่ดีสองครั้ง  และจำนวนครั้งจะเพิ่มขึ้นทุกวัน  จนกลายเป็นคนที่อารมณ์ไม่ดีได้ตลอดเวลา  แล้วตัวเราเองจะไม่มีความสุข
            อย่าปล่อยให้ความเศร้ามาจ๊ะเอ๋บ่อย ๆ และรับเข้ามาไว้กับตัวนะจ๊ะ
 



Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2565 15:24:07 น.
Counter : 589 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 4665919
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ดร.พรรณี เกษกมล นักเขียน ข้าราชการบำนาญ ครูซี 9 แนะแนว
New Comments