|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | |
|
|
|
|
|
|
|
การสอบสายยูโด2คิวที่โคโดกัง
ในที่สุดวันที่จะสอบก็มาถึงซะที วันที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจเท่าไรกับการแข่งขันเพราะว่าไม่ได้ซ้อมมาเกือบ2อาทิตย์แล้วมาเพิ่งนั่งเครื่องบินกลับมาถึงญี่ปุ่นก็สอบเลย เรื่องนอนไม่พอก็เป็นเรื่องใหญ่แถมยังเรื่องที่กินไม่พออีก เพราะว่าวันนี้มหาลัยเรียนตั้งแต่เช้าถึง16.10 พอเลิกปุ๊บก็ต้องรีบนั่งรถไฟไปโคโดกัง อยากไปถึงก่อนเวลาเล็กน้อยเพราะว่าอากาศหนาวแล้ว วอร์มอัพอย่างเดียวมันทำให้ร่างกายร้อนช้า วิธีที่ดีที่สุดคือการแช่น้ำร้อนซัก10-15นาทีก่อนการวอร์มอัพ ดูจากเวลาแล้วมันตารางแน่นมาก ถ้าเลือกกินข้าวก็จะไม่มีเวลาซ้อมซักเท่าไร แต่ถ้าไม่ทานข้าวไปก่อนแข่งแย่แน่ๆมันจะเหนื่อยแบบไม่มีสาเหตุ ทางแก้คือหาอะไรทานง่ายๆไปกินบนรถไฟ แต่ว่าพอถึงสถานีรถไฟเจอกับรถไฟกำลังจะออก ไม่มีเวลาซื้อรีบๆวิ่งขึ้นรถไฟดีกว่า ขึ้นไปถึงก็ไม่ต้องคิดมาก นอนพักซักหน่อยมีเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนที่จะเปลี่ยนรถไฟอีกขบวน ถึงซุยโดบาชิแล้ว ไม่มีทางเลือกเท่าไร กะจะกินแม็คแต่คนต่อแถวยาวเลยเลือกเข้า7/11ดีกว่า ซาลาเปา1ลูก+ข้าวปั้นใส้ทูน่า+น้ำรสกล้วยหอม เผื่อการสอบแข่งขันมันจะได้กล้วยๆเหมือนน้ำที่กิน
ถึงสนามปุ๊บเวลาเป็นเงินเป็นทอง รีบไปแช่น้ำร้อนก่อนซักประมาณ10นาที ต่อจากนี้ก็รีบไปวอร์มอัพเบาๆ แรกสุดคือเรื่องขา เพราะว่าวันนี้กะใช้อุจิมาตะเต็มที่ เลยต้องวอร์มตวัดขาซักหน่อย กลัวไม่ได้ซ้อมมานานแล้วฝืนใช้มันจะทำให้เจ็บเอ็นขาไปอีกหลายวัน ก็ต้องเริ่มจากยืดเบาๆก่อนแล้วค่อยๆตวัดสูงขึ้นๆ ต่อจากนี้ก็ฝึกหมุนในท่าเซโอนาเกะซักเล็กน้อย ก่อนทบทวนแผนและท่าที่จะใช้ในการแข่งวันนี้ให้เป็นระบบระเบียบ
ก่อนการสอบจะเป็นการวอร์มอัพธรรมดาเหมือนการซ้อมทั่วๆไป หลังจากวอร์มเรียบร้อยแล้ว ใครที่ไม่ได้สอบก็ไปซ้อมต่อที่ชั้น7 ส่วนคนที่มีคิวสอบก็เรียงตามลำดับชื่อเพื่อเริ่มสอบจากอุเกมิก่อน เป็นปกติต้องทำอุเกมิขวาซ้ายแล้วก็อุเกมิแบบลุกขึ้นยืนทั้งขวาซ้ายอีกอย่างละครั้ง
ต่อจากนี้จะเริ่มสอบจาก5คิวก่อน แล้วตามด้วย4คิว 3คิว 2 และ 1 การสอบ2คิว จะเหมือนกับการสอบ3คิวในเดือนที่แล้ว คือเป็นการแข่งขัน2นัด ชนะได้1แต้ม เสมอได้0.5แต้ม ส่วนแพ้ไม่มีแต้ม หลังจากอาจารย์แบ่งจับคู่ให้เรียบร้อยแล้ว เจอคล้ายๆกับเดือนที่แล้วคือเป็นต่างชาติ1คน และก็คนญี่ปุ่นอีก1คน คนต่างชาติเป็นฝรั่งจากไอร์แลนด์ตัวสูงแต่ไม่ใหญ่มากนัก น้ำหนักก็น่าจะใกล้เคียงกัน ส่วนคนญี่ปุ่นเป็นเพื่อนซี้ที่เจอกันมาแล้วในการแข่งเดือนที่แล้ว
เริ่มต้นจากฝรั่งไอร์แลนด์ก่อน คู่ต่อสู้คนนี้ผมไม่มีข้อมูลเลยครับ เพราะไม่เคยซ้อมด้วยกันแม้แต่ครั้งเดียว รู้แต่ว่าเข้าเรียนมาก่อนผมแล้วก็มาๆขาดๆ จนเดือนนี้มาสม่ำเสมอแล้วก็มาสอบพร้อมกัน คนๆนี้ไม่ได้สอบเมื่อเดือนที่แล้วทำให้ไม่รู้ว่าท่าเด็ดของผมคือท่าเซโอนาเกะ ก็ดีแล้วสำหรับจุดนี้ เริ่มต้นผมถูกความสูงใหญ่ของคู่ต่อสู้กดดันเล็กน้อย จนเริ่มคิดว่าถ้าไม่ออกอาวุธไปก่อนจะยิ่งแย่
เริ่มจากใช้ o-uchigari ในจังหวะที่ใช้o-uchigari ออกไปแล้วมีความรู้สึกว่าคู่ต่อสู้เคลื่อนไหวแปลกๆกลับมาคล้ายๆกับท่า tani otoshi อะไรกันหว่ากะจะใช้ท่านี้จริงๆเหรอ ทำให้ผมต้องกลับไปตั้งหลังใหม่ ช่วงที่เริ่มตั้งหลัก คู่ต่อสู้เริ่มมาด้วยการปัดขา ทั้งซ้ายและขวา (หลังจากการแข่งเปิดขาขวาที่รู้สึกเจ็บๆดู ปรากฏว่าเป็นแผลถลอกเลือดออกซิบๆเลย คงมาจากการกระหน่ำเตะของคู่ต่อสู้แน่ๆ) ในจังหวะที่เตะมาเรื่อยๆของคู่ต่อสู้เป็นจังหวะที่ผมถอยมาเรื่อยๆ แบบนี้ก็เข้าทางของท่าเซโอนาเกะซิครับ ไม่รอช้าครับรีบหมุนตัวใส่เต็มที่ ได้ผลครับคู่ต่อสู้ลอยมาตามท่าที่ผมทุ่มมาหล่นทางด้านหน้า แต่เพราะว่าผมคิดมากกับท่าจบมากไปหน่อย เพราะอาจารย์เคยบอกเดือนที่แล้ว และเตือนอีกหลายครั้งว่า ให้พยายามจบในท่ายืนให้ได้แล้วผมดันไปช่วยดึงแขนคู่ต่อสู้ในจังหวะสุดท้ายสูงเกินไป เลยออกมาแปลกๆได้แค่ วาซะอะริ (หรือว่าครึ่งคะแนน) จังหวะนั้นสมควรจะใส่ต่อด้วยท่าเนวาซะ หรือท่านอน แต่ผมไม่มั่นใจในท่านอนเท่าไร เพราะว่าถ้าพลาดจะโดนสวนกลับได้และกลายเป็นการแพ้ที่น่าเสียดายมากๆ
ผมยอมทิ้งเนวาซะแล้วกลับมาในท่ายืนเหมือนเดิมดีกว่ายังไงตอนนี้ก็ได้มาครึ่งแต้มแล้ว คนที่ต้องกดดันเร่งเดินเกมไม่ใช่ผมแล้วคร้าบ.... การเตะตัดขาเริ่มแรงและมาถี่ขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่คิดว่าอยู่ในการแข่งยูโด ผมคงสวนไปด้วยก้านคอแล้วมั้งครับ เอาไงดี ใช้ sode tsurigomi goshi ไปดูก่อนละกัน อีกครั้งละที่มีความรู้สึกว่าคู่ต่อสู้จะสวนด้วยท่า tani otoshi ก็ถอยกลับมาตั้งหลักอีกครั้ง เวลาก็เดินไปเรื่อยๆจนรู้สึกว่าถ้าไม่ทำอะไรหลังจากถูกเตะจนระบบไปทั้งขาแล้วคงจะจบด้วยหมดเวลาและเป็นฝ่ายชนะ แต่มันจะน่าเกลียดเกินไปในความรู้สึกที่จะให้จบแบบนี้ ก็ลองหาจังหวะดูว่าจะใช้อะไรดี คู่ต่อสู้ก็ยังเตะเหมือนเคยทำให้จังหวะใช้เซโอนาเกะ โผล่ออกมาเหมือนเคย ครั้งที่สองนี้ไม่พลาดครับ จนได้ครับชนะไปแบบเจ็บๆขาจากการโดนเตะ
หลังจากจบนัดแรกแล้วก็แข่งต่อนัดที่2เลย คู่ต่อสู้เป็นเพื่อนชาวญี่ปุ่น เดือนที่แล้วคู่ต่อสู้คนนี้โดนเซโอนาเกะตอนเริ่มเกมไปได้6-7วินาที เดือนนี้คนๆนี้กลับมาพร้อมกับพัฒนาการใหม่ นั้นคือการใช้เป็นจับทางด้านซ้ายแทน หลังจากเป็นคู่ซ้อมให้หลายครั้งมากๆ ทำให้รู้ว่าคู่ต่อสู้คนนี้ท่าหลักๆมีอยู่3ท่า คือท่า osotogari, kosotogariแล้วตามด้วยtaiotoshi กับท่า osotogariแล้วตามด้วยsasae tsurigomi ashi ส่วนท่านอนก็อันตรายพอสมควรกับท่า เคซะกาตาเมะ คู่ต่อสู้จับซ้ายแต่ผมจับขวา ทำให้ต้องแย่งชิงจังหวะกันบริเวณมือขวาของผมกับมือซ้ายของคู่ต่อสู้ เหมือนเคยตามหลักทฤษฏีแขนที่ชิงหาจังหวะกันอยู่นั้นต้องให้อยู่วงในถึงจะได้เปรียบ แต่ผมรู้เพื่อนคู่ต่อสู้ของผมก็รู้ ต่างคนก็ต่างหาจังหวะกันเข้าด้านใน (เหมือนกับเกมโอเทโล่ที่ต่างคนก็อยากเข้ามุมให้ได้)
แย่งกันอยู่ซักพัก จนผมยอมแพ้ที่จะแย่งดีกว่าอยากเข้าในก็เข้าไปละกัน แต่ผมขอเอาแขนกดทับละกัน สรุปคู่ต่อสู้เข้าในได้แต่โดนแขนผมกดทับ ทำให้ท่าที่จะใช้มันเริ่มจำกัดวงเข้ามา ตามคาด kosotogari ออกมาก่อนแล้วตามด้วยtaiotoshi อันนี้ผมรออยู่แล้วแต่ว่าไม่ได้ซ้อมมา10กว่าวัน ตอนสำคัญการสวนกลับดันใช้ไม่ออก เสียดายจังหวะนี้เหมือนกัน แขนขวาของคู่ต่อสู้ป้องกันดีมาก ไม่เห็นจังหวะที่จะใช้เซโอนาเกะได้เลย ถึงใช้ไปก็คงจะทุ่มไม่ได้เสียแรงเปล่าๆ ก็รอดูจังหวะกันซักพัก ลองใช้อุจิมาตะดูดีกว่า เผื่อฟลุ๊ค แต่ว่าแรงดึงจังหวะแรกยังไม่มากพอที่จะเป็นเปอร์เซนต์สำเร็จ ก็ยังไม่กลับตัวใส่ท่า กลับมาเริ่มต้นในท่าเตรียมพร้อมกันอีกครั้ง
เมื่อกี้คู่ต่อสู้ใช้kosotogariแล้วตามด้วยtaiotoshiมาแล้ว คราวนี้ผมขอใช้แบบเดียวกันบ้างครับ ครั้งแรกที่ใช้ไปดึงได้แต่ไม่ถึงกับล้ม ก็ลองใหม่อีกครั้ง คราวที่สองสำเร็จทุ่มได้ ไม่คิดว่าจะเป็นอิปป้ง คู่ต่อสู้ก็ยังไม่คิดว่าเป็นอิปป้งคิดว่าคงเป็นแค่วาซะอะริ ก็กำลังจะใส่เนวาซะต่อ ส่วนผมก็กำลังจะหนีขึ้นมาเป็นท่ายืน จังหวะที่คู่ต่อสู้เริ่มใส่เนวาซะโดยเริ่มจากการเอาขามาวนๆหรือทำอะไรซักอย่างบริเวณคอ ไหล่ของคู่ต่อสู้ดันแตะพื้นซะได้ แต่ว่าตั้งแต่ช่วงล้มจนเริ่มเอาขามาพันคอผมนั้นมันเกิดขึ้นต่อเนื่องและรวดเร็วเลยทำให้กรรมการมองเป็นว่าผมทุ่มคู่ต่อสู้ลงไปอย่างสมบูรณ์แล้วให้เป็นอิปป้งแทน อย่างนี้เรียกว่าโกงรึเปล่า แต่กรรมการ(อาจารย์)ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผมนะครับ ก็เป็นไปตามนั้น
จบจากการแข่งขันทั้งหมด อาจารย์สรุปภาพรวมให้ฟัง เตือนเล็กๆน้อยๆสำหรับบางคนในท่าอุเกมิ การล้มตัว แล้วสุดท้ายก็มีเรียกชื่อผมเหมือนเคย กำลังคิดว่าโดนด่าอีกแล้วว่าแต่เรื่องอะไรละ ไปทำอะไรผิดตอนไหน ผิดคาดอาจารย์กลับกลายเป็นชมซะเนี่ย บอกว่าดีใช่มั้ยละ สำหรับการแก้ไขได้ในท่าเซโอนาเกะแล้วสามารถกลับมาอยู่ในท่ายืนได้ (เดือนที่แล้วทิ้งเข่าเลยกลายเป็นท่า เซโอโอโตชิ)
ส่วนอาจารย์อีกคนที่เป็นกรรมการก็บอกเพิ่มเติมว่า การแข่งไม่เหมือนกับการซ้อมรันโดริในแต่ละวัน ถ้าในจังหวะที่ทุ่มแล้วไม่เป็นอิปป้ง ไม่ควรพลาดโอกาส ควรจะใส่ต่อในท่าเนวาซะตามไปทันที การแข่งขันในวันนี้ มีแค่ผมคนเดียวที่ทิ้งเนวาซะอย่างน่าเสียดายในการทำแต้มในนัดแรกที่แข่ง เพื่อผมหลายคนก็งงๆว่าไอ้นี้มันทำอะไรได้จังหวะในการใช้ท่านอนแล้วดันยืนขึ้นมาซะงั้น (ไม่อยากจะบอกว่า ผมมั่นใจและขอใช้ท่ายืนดีกว่าที่จะไป50/50กับเนวาซะ) เอาเป็นว่าต่อจากนี้จะพยายามฝึกฝนเพิ่มเติมในส่วนของท่านอนก็แล้วกันครับ
เท่าที่ดูจากผลการสอบในวันนี้ กับความพึงพอใจของอาจารย์ น่าจะผ่านระดับ2คิวไปได้ นอกจากนับชั่วโมงซ้อมพลาดไป ยังไงก็ต้องดูผลกันอีกทีตอนต้นเดือนว่าจะผ่านรึเปล่า เดือนหน้าก็คงต้องซ้อมให้มันสม่ำเสมอหน่อย เพราะรู้สึกว่า คู่ต่อสู้แต่ละคนมันก็ยากขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้ทำไม นอกจากกลัวแพ้แล้วยังกลัวเสมออีกต่างหาก แบบว่าอยากได้แต้มเต็มๆทุกนัดที่แข่ง
ขากลับเพื่อนคนเดิมบอกว่า เดือนหน้าจะต้องแก้แค้นให้ได้ พลาดท่าแพ้มาถึงสองครั้งแล้วครั้งที่สามยอมไม่ได้ ก็ลองดูน่าสนุกดีเหมือนกัน การสอบในวันนี้รู้สึกว่าเหมือนกันโชคช่วยหลายๆครั้งเหมือนกัน รวมทั้งรู้สึกว่าท่าเซโอนาเกะยังร้อนแรงและสามารถพึ่งพาได้อยู่เหมือนเคย แต่ว่าต่อจากนี้คงต้องพัฒนาท่าที่2 3 4 ขึ้นมาเผื่อในกรณีหาจังหวะใช้เซโอนาเกะไม่ได้
Create Date : 28 พฤศจิกายน 2554 |
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2554 21:01:12 น. |
|
2 comments
|
Counter : 1070 Pageviews. |
 |
|
|
| |
|
|
วาวววว
วันนี้ได้เจิม