Mazda CX-5 SKYACTIV-G ลองรุ่นเบนซิน 2.0 และ 2.5 บนเส้นทาง กรุงเทพฯ-กุยบุรี

ทิ้งช่วงจากการขับ
รุ่นดีเซล XDL ประมาณ 1 เดือน
บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็จัดทริปทดสอบเอสยูวีรุ่น
CX-5 อีกครั้งกับเครื่องยนต์
SKYACTIV-G เบนซิน 4 สูบ แบ่งเป็นรุ่น
2.0 S 165 แรงม้า ราคา 1,300,000 บาท และ
2.5 S 192 แรงม้า ราคา 1,440,000 บาท รุ่นละ 10 คัน ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ - กุยบุรี ระยะทางรวมประมาณ 330 กิโลเมตร มีการสลับรถและผู้ขับตามที่ทีมงานกำหนดไว้

จุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้อยู่ที่โรงแรม
อิมพีเรียล ควีนส ปาร์ค ช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก
คุณสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี รองประธานกรรมการบริหาร
บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวต้อนรับสื่อมวลชน และบรรยายสรุปข้อมูลของ
CX-5 SKYAVTIV G โดย
คุณธีร์ เพิ่มพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งทั้ง 2 ท่านร่วมเดินทางไปกับคณะสื่อมวลชนด้วย จากนั้นจึงออกเดินทางในแบบ Free-Run โดยมีจุดเปลี่ยนผู้ขับที่ปั๊ม
ปตท. บนถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 35

คุณสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี รองประธานกรรมการบริหาร
บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย)

ผมและเพื่อนได้ขับรุ่น
2.5 S ก่อน ออกจากโรงแรมมุ่งหน้าไปขึ้นทางด่วนท่าเรือ เส้นทางช่วงแรกแน่นอนว่าเจอรถติดแบบเต็มๆ เพราะเป็นช่วงสายของวันธรรมดา ก่อนออกเดินทางได้เซต 0 ข้อมูลการขับใหม่ทั้งหมด ขึ้นทางด่วนได้แล้วเริ่มโล่งขึ้นบ้าง แต่ก็ยังใช้ความเร็วได้ไม่สูงมากนัก อาศัยช่วงที่ถนนโล่ง ลองกดคันเร่งลึกๆ ดูพบว่าให้อัตราเร่งรวดเร็ว แม้จะไม่ได้ดึงแบบหนักหน่วง แต่ก็มาแบบต่อเนื่องโดยที่ไม่ต้องรีดเค้นแต่อย่างใด

ลงทางด่วนใช้ทางราบถนนพระราม 2 การจราจรค่อนข้างหนาแน่นเพราะบางช่วงทำถนน จึงทำความเร็วได้แค่ประมาณ 100 - 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาพักใหญ่จึงถึงจุดเปลี่ยนผู้ขับ ระยะทางช่วงแรก 48.3 กิโลเมตร ความเร็วเฉลี่ย 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 12.98 กิโลเมตรต่อลิตร ประหยัดจนน่าแปลกใจเพราะการจราจรค่อนข้างติดขัด และเป็นการขับใช้งานทั่วไป ไม่ได้เน้นปั้นอัตราสิ้นเปลือง ถ้าขับความเร็วไม่สูงมากและรักษาความเร็วได้ต่อเนื่อง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยที่มาสด้าระบุไว้
15.2 กิโลเมตรต่อลิตร ก็น่าจะเป็นไปได้

หลังจากเปลี่ยนผู้ขับก็มุ่งหน้าสู่ที่พักจุดต่อไป ปั๊ม
ปตท. NGV หนองหญ้าปล้อง ยังคงขับกันแบบ Free-Run ออกจากปั๊มใช้ถนนพระราม 2 ที่ค่อนข้างโล่ง เลี้ยวซ้ายแยกวังมะนาวเข้าสู่ถนนเพชรเกษม เพื่อนที่ขับคู่กันใช้ความเร็วค่อนข้างสูงเพราะทางโล่ง ระยะทางช่วงนี้ 88 .5 กิโลเมตร แวะพักที่ปั๊มไม่นานก็ออกเดินทางต่อโดยผมกลับมาเป็นผู้ขับอีกครั้ง ระยะทางช่วงนี้ 77.4 กิโลเมตร มุ่งหน้าร้านอาหารกลางวัน
Hua Hin Hills Vineyard แม้ยังเป็นการขับแบบ Free-Run แต่เมื่อออกจากปั๊มรถทุกคันก็พร้อมใจขับตามกันเป็นขบวน

ทางช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นแบบ 2 เลนสวน จึงต้องมีการเร่งแซงบ่อยครั้ง การคิ๊กดาวน์เปลี่ยนเกียร์ลงต่ำให้อัตราเร่งที่กระฉับกระเฉงและทันใจ มีเสียงเครื่องยนต์กระหึ่มเข้ามาในห้องโดยสารไม่มากนัก การตอบสนองของระบบส่งกำลัง
SKYACTIV-DRIVE ยังคงให้ความรวดเร็ว และมีความนุ่มนวลในการเปลี่ยนเกียร์ ทั้งการคิ๊กดาวน์เปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ และการเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้นที่รอบสูง
อัตราเร่งจากเครื่องยนต์ 2,500 ซีซี 192 แรงม้า ที่ 5,700 รอบต่อนาที และแรงบิด 26 กก.-ม. ที่ 3,250 รอบต่อนาที กับระบบขับเคลื่อนล้อหน้า เหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไป ตอบสนองดีตั้งแต่รอบต่ำจรดรอบสูง ถ้าเป็นคนที่ชอบขับรถเร็วไม่น่าผิดหวังถ้าเลือกรุ่น 2.5 S

ระบบกันสะเทือนแม้จะใช้รูปแบบเดียวกันในทุกรุ่นย่อย แต่การปรับเซตสปริง และช๊อคแอ็บซอร์เบอร์ก็แตกต่างกันทั้งหมด เพื่อให้เหมาะสมกับน้ำหนักของตัวรถ จึงไม่มีรุ่นย่อยใดที่เซตช่วงล่างเหมือนกัน 100 เปอร์เซ็นต์ ความรู้สึกในการขับยังคงหนึบแน่นเช่นเดียวกับ
รุ่นดีเซล ที่เคยขับมาก่อนหน้านี้ ล้อแม็ก 7x19 นิ้ว ยาง 225/55 R19 เท่ากับรุ่นดีเซล ไม่ได้สะเทือนจนผิดปกติ การดูดซับแรงสั่นสะเทือนยังทำได้ดี แม้บางช่วงต้องขับผ่านทางลูกรังขรุขระก็ยังคงให้ความนุ่มนวล แต่ก็ต้องช่วยแบ่งเบาภาระด้วยการชลอความเร็วหรือหลบเลี่ยงหลุมบ่อบ้าง

ทานอาหารกลางวันอิ่มแล้วจึงเตรียมออกเดินทางต่อด้วยการสลับรถ ผมและเพื่อนเปลี่ยนมาขับรุ่น
2.0 S โดยผมรับหน้าที่ขับก่อน แก้ง่วงด้วยการขับชมไร่องุ่นกับทางกึ่งวิบาก ก่อนจะตั้งขบวนเพื่อขับเป็นคาราวานมุ่งหน้าจุดเปลี่ยนผู้ขับที่
หาดสามพระยา ระยะทางช่วงนี้ 73.2 กิโลเมตร มีหลายช่วงที่ได้ลองอัตราเร่งกันแบบเต็มๆ ก่อนขับคาดว่ารุ่น 2.0 ที่มีกำลังสูงสุด 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 21.3 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบต่อนาที เมื่อต้องแบกน้ำหนักรถ 1,459 กิโลกรัม และเกิน 1.5 ตันเมื่อรวมผู้ขับ น่าจะให้สมรรถนะในระดับแค่พอไปได้
แต่เมื่อได้ทดลองขับก็ต้องแปลกใจอีกครั้ง เพราะอัตราเร่งทันใจพอสมควร จังหวะการเร่งแซงในช่วงความเร็วปานกลาง-สูง แทบไม่รู้สึกว่าอืด แม้จะต้องเรียกกำลังแรงบิดด้วยการคิ๊กดาวน์ แต่เครื่องยนต์ก็ตอบสนองต่อการกดคันเร่งได้ดี รอบตวัดขึ้นสูงได้อย่างรวดเร็วและลื่นไหล รวมทั้งเกียร์ที่เปลี่ยนลงต่ำได้อย่างฉับไวและนุ่มนวล ทำให้อัตราเร่งมีรวดเร็วต่อเนื่องในโหมดเกียร์ D เมื่อกดคันเร่งสุดแช่ไว้ เกียร์จะเปลี่ยนขึ้นที่ 6,500 รอบต่อนาที ส่วนในโหมด +/- ยังสามารถกดคันเร่งเพื่อคิ๊กดาวน์เปลี่ยนเกียร์ลงต่ำได้ แต่เมื่อเปลี่ยนขึ้นเกียร์สูง ต้องดึงคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง + ไม่ได้ลองลากเกียร์ต่อไปว่าเกียร์จะเปลี่ยนขึ้นให้เองหรือรอบจะตัด 
ช่วงออกตัวหรือขับความเร็วต่ำรู้สึกว่าช้าไปนิด ต้องกดคันเร่งลึกหน่อยเพื่อสร้างความกระฉับกระเฉง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะขับรุ่น 2.5 มาก่อน ซึ่งแค่กดคันเร่งเบาๆ รถก็พุ่งออกตัวได้อย่างทันใจแล้ว อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยของรุ่น 2.0 มาสด้าระบุไว้
16.4 กิโลเมตรลิตร ช่วงที่ขับได้ประมาณ
13 กิโลเมตรต่อลิตร เพราะขับค่อนข้างเร็ว และมีการเร่งคิ๊กดาวน์บ่อยครั้ง
ตัวเลข 16.4 กิโลเมตรต่อลิตร ถือว่าท้าทายพอสมควรว่าจะทำได้จริงหรือไม่

ในขณะที่บริษัทรถส่วนใหญ่เน้นการลดขนาดเครื่องยนต์หรือ Downsizing และชดเชยสมรรถนะด้วยระบบอัดอากาศ แต่
มาสด้า กลับมีแนวคิดในการพัฒนาเครื่องยนต์ที่แตกต่าง นั่นคือ
Right Sizing หรือ
การเลือกใช้ขนาดเครื่องยนต์ที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของรถ โดยมองว่าการลดขนาดเครื่องยนต์ และติดตั้งระบบอัดอากาศเพิ่มเติม เป็นการเพิ่มความซับซ้อนให้เครื่องยนต์ และไม่สามารถตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดีพอ

แม้ในรุ่นดีเซล
XDL จะให้ทั้งสมรรถนะที่ดีพร้อมความประหยัด แต่ตลาดหลักของรถรุ่นนี้ก็ยังคงเป็นรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน โดยรุ่น
2.0 มีตลาดใหญ่ที่สุด เนื่องจากมีราคาที่น่าสนใจ และมีความคุ้มค่า เพราะ
มาสด้า ให้ออฟชั่นครบครัน รวมทั้งผู้ที่เลือกซื้อรถรุ่นนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องความประหยัดเชื้อเพลิงเป็นหลัก
มาสด้า จึงออกแบบเครื่องยนต์รุ่น 2,000 ซีซี ให้มีความประหยัด และยังคงขับสนุกตามสไลต์ Zoom-Zoom
ขอบคุณ: บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง //www.motortrivia.com/2013/test-drive-001/168-mazda-cx-5-skyactiv-g.html